11 ส.ค. 2565 เวลา 08.00 น. ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ “เมธิน” (นามสมมติ) พลทหารอายุ 21 ปี กรณีถูกกล่าวหาว่าพูดพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 ขณะโต้เถียงกับคู่กรณีที่ขับรถยนต์มาเฉี่ยวชนกลางดึก เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 เมธินได้ตัดสินใจให้การรับสารภาพตามที่ถูกฟ้อง ศาลจึงอ่านคำพิพากษาทันที โดยพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา
เมธิน วัย 21 ปี ตั้งแต่เมื่อปี 2564 เมธินเข้ารับการเกณฑ์ทหาร โดยเขาเลือกสมัครเข้าเป็นทหาร แทนการจับใบดำใบแดง ก่อนจะถูกเรียกตัวไปทำการฝึกในค่ายทหารตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. 2564 เมื่อถูกฝึกฝนครบกำหนด เมธินถูกส่งไปประจำการที่สังกัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อช่วงปลายปี 2564 เรื่อยมาจนกระทั่งเกิดเหตุในคดีนี้
เปิดคำพิพากษา ศาลทหารสั่งจำคุก 5 ปี “เมธิน” แต่รับสารภาพลดโทษให้เหลือ 2 ปี 6 เดือน และยกคำร้องขอให้รอลงโทษ ศาลชี้สภาพความผิด-พฤติการณ์คดียังไม่มีเหตุให้รอลงโทษ อีกทั้งเป็นการลงโทษสถานเบาแล้ว
ศาลพิพากษา มีรายละเอียดโดยสรุปว่า จําเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ลงโทษจําคุก 5 ปี ลดโทษที่จําเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา อันเป็นเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลงกึ่งหนึ่ง คงให้จําคุกไว้มีกําหนด 2 ปี 6 เดือน
ตามที่จําเลยยื่นคําร้องขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจําคุกให้จําเลย พร้อมทั้งได้แนบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาด้วยนั้น ศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามสภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีที่จําเลยได้กระทําไป ยังไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจําคุกให้จําเลย ประกอบกับศาลได้ลงโทษจําเลยในสถานเบาอยู่แล้ว จึงให้ยกคําขอของจําเลยในส่วนที่ขอรอการลงโทษ
ผลจากคำพิพากษาดังกล่าว จะทำให้หากเมธินถูกคุมขังจนครบระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน โดยจะต้องหักล้างเวลาที่เขาถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำ มทบ.11 มาตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2565 จนถึงวันนี้ เป็นเวลารวมประมาณ 4 เดือนเศษแล้ว ฉะนั้นหลังจากนี้เมธินจะถูกคุมขังต่อไปอีกเป็นเวลาประมาณ 2 ปี กับอีกประมาณ 1 เดือนเศษ ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา
หลังฟังคำพิพากษา แม่และพี่สาวที่เดินทางมาพบเมธิน ได้ให้เขากินน้ำอัดลม ขนมหวาน ช็อกโกแลต ของชอบของเขา เมธินมีสีหน้าที่สดใสขึ้น ยิ้มได้ เผยว่ารู้สึกโล่งใจและมีเป้าหมาย เพราะตลอดการถูกคุมขังเกือบ 5 เดือนที่ผ่านมา ไม่เห็นปลายทางเลยว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร
เมธินย้ำว่า ทำใจและยอมรับผลของคดีตั้งแต่วันที่ถูกเรียกตัวกลับค่ายทหารแล้ว ไม่เคยคิดจะหนีไปไหน แม้โทษจะหนักแค่ไหนก็พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
แม่ยังได้มอบข้าวกล่องให้เมธินได้รับประทานเป็นมื้อเที่ยงด้วย เป็นข้าวผัดกะเพราทะเลไข่ดาว เมนูโปรดของเมธินที่เขาขอให้แม่ทำมาให้เมื่อครั้งล่าสุดที่พบหน้ากัน
หลังทั้งครอบครัวกอดร่ำลากัน โดยเมธินให้คำสัญญากับแม่ว่า “จะทำตัวให้ดี จะได้ออกมาอยู่กับแม่กับพ่อเร็วๆ ขอให้รอน้องนะ” ก่อนจะถูกนำตัวกลับเรือนจำ มทบ.11
ย้อนไทม์ไลน์เหตุคดี ม.112 ของเมธิน และการถูกขังคุกทหารนานเกือบ 5 เดือน พร้อมถูกตรวนโซ่เท้าหนักกว่า 3 กิโล นาน 3 เดือน แม้ศาลยังไม่มีคำพิพากษา
- เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 เมธินลาพักราชการและเดินทางกลับบ้านที่ จ.นนทบุรี ในคืนนั้นเขาสังสรรค์กับเพื่อนจนมึนเมา ต่อมาเพื่อนคนหนึ่งโทรมาบอกเมธินว่า ประสบอุบัติเหตุและรับการรักษาตัวอยู่ที่ห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาล จึงขอให้เมธินเดินทางไปช่วยดู
- เมธินตัดสินใจขับรถจักรยานยนต์ออกไปหาเพื่อนที่โรงพยาบาลเพียงลำพัง ระหว่างทางเมธินถูกคู่กรณีขับรถยนต์เฉี่ยวชน และระหว่างจอดรถดูความเสียหายที่เกิดขึ้น เมธินได้มีปากเสียงกับคู่กรณี โดยช่วงหนึ่งได้พูดพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 โดยมีผู้ทำการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นวิดีโอไว้ได้
- ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์คู่กรณีในคืนวันดังกล่าว ครอบครัวเมธินได้ชดใช้เป็นเงินสดให้กับคู่กรณีจนยุติข้อพิพาทต่อกันแล้ว
- แต่ต่อมา นายทรงฤทธิ์ เอี่ยมครอง และ นายประภพ นิติธัญกุล ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคู่กรณีที่ขับรถเฉี่ยวชนได้เดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.บางบัวทอง ให้ดำเนินคดี ม.112 กับเมธิน โดยผู้กล่าวหาทั้งสองมอบหลักฐานแก่พนักงานสอบสวนเป็นคลิปวิดีโอขณะเกิดเหตุ
- เมธินถูกเรียกตัวกลับค่ายทหาร ระหว่างยังอยู่ในวันลาหยุดราชการ หลังกลับค่ายเขาถูกคุมขังในค่ายทหารเป็นเวลา 5 วัน ก่อนจะถูกปล่อยออกมาให้ทำงานในค่ายทหารตามปกติ
- หลังจากนั้นไม่นานเมธินถูกส่งไปธำรงวินัย ที่ มทบ.11 นาน 30 วัน จากนั้นได้ถูกตำรวจ สภ.บางบัวทอง จับกุมตามหมายจับและยื่นขอฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพ และศาลได้อนุญาตให้ฝากขังเมธินที่เรือนจำ มทบ.11 มาตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2565 โดยไม่มีทนายเข้าร่วมในกระบวนการต่างๆ
- 2 เดือนแรกที่เมธินถูกคุมขังอยู่ เขาได้รับอนุญาตให้โทรหาครอบครัวเดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละประมาณ 5 นาที ครอบครัวจะส่งจดหมายถึงเมธินที่เรือนจำหลายฉบับ แม้เขาจะได้อ่านทุกฉบับ แต่ก็ไม่สามารถส่งจดหมายตอบกลับได้ เนื่องจากร้านค้าในเรือนจำไม่มีซองจดหมาย แสตมป์ และกระดาษเปล่า ขายแก่ผู้ต้องขังนานแล้วตั้งแต่ก่อนถูกคุมขังในคดีนี้
- หลังถูกคุมขังย่างเข้าเดือนที่ 3 เรือนจำไม่อนุญาตให้ผู้ต้องขังโทรติดต่อหาครอบครัว ครอบครัวของเมธินจึงไม่รู้ว่าเขายังคงปลอดภัยดีหรือไม่ แม้จะพยายามเขียนจดหมายติดต่อไปแล้วหลายฉบับ รวมถึงโทรหาเรือนจำแล้วหลายครั้ง ก็ถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ ไม่ให้พูดคุยกับเมธิน ครอบครัวจึงตัดสินใจติดต่อมายังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อขอความช่วยเหลือ
- เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2565 ทนายความได้เดินทางไปเยี่ยมเมธินยังเรือนจำ มทบ.11 จังหวัดนครปฐม เป็นครั้งแรก ก่อนจะทราบว่า คดีของเมธินถูกอัยการยื่นฟ้องไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 แต่ศาลยังไม่ได้กำหนดนัดหมายคดีต่อไป
- เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ศาลทหารกรุงเทพ นัดสอบคำให้การคดีนี้ เมธิน แม่ และพี่สาว ได้พบหน้ากันเป็นครั้งแรกตั้งแต่ถูกคุมขัง แต่ทนายความยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดออกไป เนื่องจากเพิ่งได้รับคำฟ้อง
- 8 ก.ค. 2565 ทนายเข้าเยี่ยมเมธินที่เรือนจำ มทบ.11 ครั้งนี้เมธินเปิดเผยว่า ตนถูกตรวนข้อเท้าและโซ่ น้ำหนักรวมประมาณ 3 กิโลกรัม ตลอด 24 ชั่วโมง มาเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 เนื่องจากถูกโยงกับเหตุทะเลาะวิวาทในเรือนจำ โดยเมธินยืนยันว่าตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่ผู้คุมไม่ยอมรับฟังเหตุผลจากเขา
- 11 ส.ค. 2565 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การคดีของเมธินอีกครั้ง และเมธินตัดสินใจให้การรับสารภาพ โดยยื่นคำให้การประกอบคำรับสารภาพ จากนั้นศาลได้อ่านคำพิพากษาต่อทันที โดยพิพากษาจำคุก 5 ปี แต่ให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา
เรื่องที่เกี่ยวข้อง