เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 พนักงานอัยการศาลทหารกรุงเทพ ได้ยื่นฟ้องคดีของ “เมธิน” (นามสมมติ) พลทหาร อายุ 22 ปี ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยถูกกล่าวหาว่าพูดพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 ขณะมีปากเสียงกับคู่กรณีที่เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์กลางดึก เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565
“เมธิน” อายุ 22 ปี มีภูมิลำเนาและพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี เมื่อปีที่ผ่านมา เมธินสมัครเข้าเป็นทหารกองประจําการ และต่อมาถูกสั่งให้ไปอยู่ในสังกัดกองพันทหารในกรุงเทพฯ
คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 เมธินลาพักราชการและเดินทางกลับบ้านที่ จ.นนทบุรี ในคืนนั้นเขาได้ถูกคู่กรณีขับรถยนต์เฉี่ยวชนขณะขับรถจักรยานยนต์อยู่บนท้องถนนกลางดึก และระหว่างจอดรถดูความเสียหายที่เกิดขึ้น เมธินได้มีปากเสียงกับคู่กรณีและช่วงหนึ่งได้พูดพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 โดยมีผู้ทำการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นวิดีโอไว้ได้ จากนั้นนายทรงฤทธิ์ เอี่ยมครอง และ นายประภพ นิติธัญกุล ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ ที่ สภ.บางบัวทอง ในเวลาต่อมา แม้ก่อนหน้านั้นเมธินจะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการมีปากเสียงกันในคืนนั้นแก่คู่กรณีแล้วก็ตาม
ต่อมาเมธินถูกเรียกตัวกลับค่ายทหาร ทั้งที่อยู่ในระหว่างลาหยุดราชการ หลังกลับค่ายเขาถูกธำรงวินัยเป็นเวลา 30 วัน ก่อนถูกพนักงานสอบสวน สภ.บางบัวทอง จับกุมตามหมายจับถึงค่ายทหารและยื่นขอฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งศาลได้อนุญาตให้ฝากขังเมธินที่เรือนจำ มทบ.11 มาตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2565 โดยไม่มีทนายเข้าร่วมในกระบวนการต่างๆ
จนถึงขณะนี้ (24 มิ.ย. 2565) นับเป็นนานกว่า 3 เดือนแล้วที่เมธินถูกคุมขังในชั้นสอบสวนและเรื่อยมาจนถึงชั้นพิจารณาคดี อยู่ที่เรือนจำ มทบ.11 โดยเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวลาที่เมธินถูกคุมขังอยู่ พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดี ม.112 ของเมธินต่อศาลทหารกรุงเทพแล้ว
.
เปิดคำฟ้อง อัยการชี้กล่าวใส่ความ ร.10 ต่อบุคคลที่สาม
อัยการศาลทหารกรุงเทพ บรรยายคำฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 เวลากลางคืน จําเลยได้ใส่ความรัชกาลที่ 10 ต่อนายทรงฤทธิ์ เอี่ยมครอง และนายประภพ นิติธัญกุล ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยกล่าวพาดพิงถึงอาการพระประชวร อันเป็นความเท็จทั้งสิ้น
อัยการระบุว่า ในความจริงแล้วพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรงและทรงเป็นประมุขของประเทศ การกระทําของจําเลยเป็นไปในทางที่มิบังควร อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทรงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง
อัยการจึงได้ฟ้องเมธินในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
_____________
หลังเมธินถูกคุมขังในชั้นสอบสวนอยู่ในคดีนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2565 ญาติไม่สามารถเข้าเยี่ยมเขาได้เลย โดยมีการอ้างถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคของทางเรือนจำ โดยเมธินได้ติดต่อไปหาครอบครัวเพียง 2 ครั้ง ในช่วงปลายเดือนมีนาคมและเมษายน ด้วยการโทรพูดคุยจากภายในเรือนจำเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียงครั้งละ 5 นาที เท่านั้น
ต่อมาเมธินได้ขาดการติดต่อกับครอบครัวไปในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ครอบครัวจึงได้เขียนจดหมายส่งไปถึงเมธินในเรือนจำแทน โดยได้ส่งไปถึง 2 ครั้งในระยะเวลาห่างกันประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ทว่าก็ยังไม่ได้การติดต่อกลับมาหรือได้รับจดหมายตอบกลับ ด้วยความเป็นห่วงความปลอดภัยของเมธิน เมื่อต้นเดือนมิถุนายนพี่สาวของเมธินจึงได้ติดต่อมายังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2565 ทนายความได้ติดต่อเข้าเยี่ยมเมธินที่เรือนจำ มทบ.11 เป็นครั้งแรก ครอบครัวและโลกภายนอกได้ทราบความเป็นไปของเขาเป็นครั้งแรกเช่นกันว่ายังคงปลอดภัยดี หลังขาดการติดต่อกับครอบครัวนานเกือบ 2 เดือน จากนั้นศาลทหารกรุงเทพได้นัดสอบคำให้การไปเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ในวันนั้นเมธินได้พบหน้าแม่และพี่สาวของเขาเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ถูกคุมขังในคดีนี้มานานกว่า 3 เดือน
.
บันทึกจากศาลทหารกรุงเทพ – “เมธิน” พลทหารผู้ต้องคดี ม.112 พบหน้าครอบครัวครั้งแรกในรอบกว่า 2 เดือนที่ขาดการติดต่อเพราะถูกลงโทษซ้ำในเรือนจำทหาร
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ทนายความ พร้อมทั้งแม่และพี่สาวของเมธินเดินทางไปยังศาลทหารกรุงเทพแต่เช้าตรู่ เมื่อถึงในเวลาประมาณ 08.30 น. ทั้งหมดได้ไปนั่งรอการมาถึงของเมธินภายในห้องพิจารณาคดี ขณะเดียวกันเมธินก็ถูกเบิกตัวจากเรือนจำ มทบ.11 มาศาลตั้งแต่เช้าแล้วเช่นกัน แต่ทว่ายังไม่ถูกนำตัวเข้ามายังห้องพิจารณาคดี จนกระทั่งเวลาล่วงเลยไปใกล้พักเที่ยง
เมื่อเป็นดังนั้น แม่และพี่สาวของเมธินจึงได้ลงมาหาเขายังห้องขังใต้ถุนศาลเพื่อนำ ‘กับข้าว’ ที่แม่ตั้งใจทำมาจากบ้านให้เมธินได้รับประทานเป็นมื้อกลางวัน แม่เดินลงมาอยู่บริเวณหน้าหน้าขังแล้วร้องขอกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอฝากกับข้าวให้ลูกชายกินได้ไหม” และได้ร้องขอต่ออีกว่า “ขอเห็นหน้าลูกชายหน่อยได้มั้ย ไม่ได้เจอหน้าลูกนานแล้ว”
ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้แม่ได้เห็นหน้าเมธิน แต่ครู่หนึ่งเจ้าหน้าที่จึงได้แง้มประตูห้องขังออกเล็กน้อยและเมธินได้ชะโงกหน้าออกมา ทั้งสองได้เจอเห็นหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 เดือน ขณะนั้นเองแม่น้ำตาไหลออกมาและหยุดมองหน้าเมธินอยู่ชั่วครู่ ก่อนจะส่งมอบกล่องข้าวที่ข้างในใส่ ‘หมึก-กุ้งผัดกระเทียม’ พร้อมข้าวสวย ซึ่งเป็นเมนูโปรดของเมธินให้ผู้คุมส่งต่อให้กับลูกชายได้รับประทาน
แม่เล่าว่า คืนก่อนหน้านี้เธอเถียงกับพ่อของเมธินอยู่นานว่าจะทำกับข้าวมาให้ลูกชายดีไหม เพราะแม่ไม่แน่ใจว่าผู้คุมจะอนุญาตให้ส่งกับข้าวให้เมธินได้ทานในห้องขังหรือไม่ ส่วนพ่อบอกว่า ทำไปก่อนเถอะและทำเยอะๆ ด้วย ลูกจะได้กินอิ่มๆ สุดท้ายวันนี้แม่ก็ทำมา
หลังแม่ส่งข้าวให้เมธินเสร็จ พ่อของเมธินโทรหาพอดี พ่อถามว่า “ได้เจอหน้าลูกหรือยัง เขาปลอดภัยดีไหม” แม่ตอบว่า “เจอแล้ว ปลอดภัยดี และเอาข้าวให้ลูกทานแล้ว” เมื่อพ่อได้ฟังดังนั้น แม่เล่าว่าพ่อร้องไห้โฮทันที ด้วยความคิดถึงและเป็นห่วงลูกตัวเองมาก และที่วันนี้พ่อไม่ได้มาด้วยก็เป็นเพราะว่า ยังทำใจไม่ได้ที่ลูกชายตัวเองต้องติดคุก ยิ่งคิดว่าถ้าจะต้องเห็นเมธินในชุดนักโทษและตรวนข้อเท้าด้วยแล้ว พ่อคงจะกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่แน่ๆ วันนี้พ่อจึงไม่ได้เดินทางมาด้วย
เวลา 13.00 น. เมธินถูกนำตัวเข้ามาในห้องพิจารณาคดี เท้าทั้งสองข้างถูกตรวน เขาสวมชุดลำลองทหารบกเป็นเสื้อยืดแขนสั้นคอกลมสีเขียวกากี และกางเกงขาสั้นสีเขียวเข้ม แม่เล่าว่า เมธินดูผอมบางจากเดิมอยู่ไม่น้อย อีกทั้งผิวสีแทนเข้มขึ้น พี่สาวและแม่พยายามกวาดตามองดูรอบๆ ร่างกายของเขาว่ามีร่องรอยของบาดแผลหรือรอยฟกช้ำหรือไม่ แต่ปรากฏว่าไม่มี
เมื่อเมธินนั่งลงบนเก้านี้ยาวภายในห้องพิจารณาคดี แม่และพี่สาวพยายามจะไปนั่งประกบอยู่เคียงข้างเพื่อหาโอกาสพูดคุยและอยู่ใกล้ชิด แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ห้ามไว้ไม่ให้ทั้งสองนั่งอยู่บนเก้าอี้ยาวตัวเดียวกับที่เมธินนั่งได้ ทั้งสองจึงขยับไปนั่งเก้าอี้ยาวด้านหลังที่เมธินนั่งแทน และพยายามชะโงกหัวคุย
ช่วงหนึ่งแม่บอกกับเมธินว่า “ออกกำลังกายบ้างสิลูกจะได้มีกล้ามเนื้อเหมือนเดิมบ้าง” เมธินตอบสั้นๆ ว่า “ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไรเลยแม่”
“จดหมายที่ส่งไปให้ 2 ฉบับ ได้รับหรือเปล่า ทำไมน้องถึงไม่ส่งจดหมายกลับมาที่บ้านบ้างเลย” พี่สาวเมธินถาม
เมธินตอบว่า ช่วง 2 เดือนหลังที่ขาดการติดต่อกับครอบครัวไป เพราะถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ลงโทษไม่ให้โทรศัพท์ จากกรณีเพื่อนผู้ต้องขังมีปัญหาทะเลาะวิวาทกัน และเมธินถูกโยงไปมีเอี่ยวด้วย
ส่วนที่ไม่ได้ตอบกลับจดหมายไปนั้น เมธินบอกถึงสาเหตุว่า เครื่องเขียน กระดาษ และซองจดหมายที่ร้านค้าในเรือนจำหมดชั่วคราว จึงไม่สามารถเขียนจดหมายตอบกลับที่บ้านได้ตลอดเวลานานกว่า 2 เดือน
พี่สาวถามอีกว่า แต่เจ้าหน้าที่เรือนจำแจ้งว่า ตอนญาติเขียนจดหมายส่งถึงผู้ต้องขัง ให้แนบซองจดหมายเปล่าติดแสตมป์อากรมาด้วย เพราะจะได้สะดวกต่อการที่ผู้ต้องขังจะส่งจดหมายกลับ และพี่สาวของเมธินก็ได้ทำเช่นนั้นตลอด 2 ครั้งที่ส่งจดหมายหา เมธินตอบกลับว่า “ส่งซองจดหมายเปล่าติดแสตมป์มาได้ยังไง เรือนจำเขาสั่งห้ามนะ”
คำตอบนี้ทำให้พี่สาวสับสนว่า แท้จริงแล้วใครพูดจริงกันแน่ และตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเธอส่งจดหมายไปพร้อมกับซองจดหมายเปล่าพร้อมติดแสตมป์ นั่นทำให้ข้ออ้างของเมธินที่ว่า “ซองจดหมายและเครื่องเขียนไม่มีขาย” ดูไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย
ชีวิตภายในเรือนจำหลังถูกคุมขัง เมธินเล่าว่า เป็นไปตามสภาพของสิ่งที่เรียกว่า “คุก” ทุกวันเขาถูกสั่งให้ทำสวน ปลูกผัก ขุดแปลงปลูกผัก ฯลฯ
ตลอดการนั่งในห้องพิจารณาคดี เมธินตอบคำถามแม่และพี่สาวในท่าทางกึ่งก้มหน้าและนิ่งสงบ จนแม่ถามเมธินถามลูกชายว่า “ทำไมน้องคุยกับแม่ไม่หันหน้ามามองแม่กับพี่เลยล่ะครับ”
“ไม่มองดีกว่า ผมกลัวจะร้องไห้” เมธินตอบ
เมธินบอกอีกว่า แค่ได้เจอหน้าทั้งสองคนวันนี้ก็ดีใจมากแล้ว แม้เป็นการเจอเป็นเวลาสั้นๆ ก็ตาม และยังบอกอีกว่า ถ้ามาเจอครั้งหน้าอยากให้แม่ทำ “ผัดกะเพราทะเลไข่ดาว” มาให้กินด้วย
พี่สาวของเมธินเล่าว่า ตลอดการเจอกันน้องชายมีสีหน้าและท่าทางดูมีความกังวลในใจอยู่ตลอดเวลา ดูไม่เหมือนเมธินคนเดิม และตั้งข้อสังเกตว่า เขาไม่ได้รู้สึกดีใจหรือยิ้มแย้มเหมือนคนที่เพิ่งได้เจอหน้าครอบครัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน พี่สาวตั้งคำถามว่า เมธินเล่าว่าทุกอย่างโอเคดีซึ่งสวนทางกับหน้าตาและท่าทีของเขาที่ดูอึดอัด กังวล อาจเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะถูกห้ามให้พูดอะไรบางอย่างก็เป็นได้ เพราะเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อยู่ด้วยตลอดการสนทนา
หลังกระบวนการนัดสอบคำให้การแล้วเสร็จ ทนายความได้ขอเลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 11 ส.ค. 2565 เนื่องจากเพิ่งได้รับคำฟ้อง เมธินได้ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พาตัวออกจากห้องพิจารณาคดี ขณะนั้นเองแม่และพี่สาวของเมธินได้เดินเข้าไปสวมกอดอยู่ชั่วครู่ ก่อนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะพาตัวเมธินเดินจากไป
22 มิ.ย. 2565
ศาลทหารกรุงเทพ
.
.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง