“ไม่ควรมีใครต้องเป็นเหยื่อมาตรา 112” เสียงสะท้อนจากลูกสาว สมบัติ ทองย้อย – การต่อสู้ของพ่อ เรื่องเล่าของครอบครัว และความหวังถึงการประกันตัวสู้คดี

สายสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกสาว

หากมองข้ามประเด็นเรื่องการเคลื่อนไหว ในรายละเอียด ครอบครัวของ “ณัฐ” คงไม่ได้แตกต่างไปจากครอบครัวของคนอีกมากที่ต้องดิ้นรนมีชีวิตในเมืองหลวง – คนพ่อรับจ้างติดตั้งเครื่องกรองน้ำ พ่วงทั้งรับซ่อมและดูแล คนแม่เป็นผู้ช่วยพยาบาล ต่างช่วยกันดูแลย่า ในขณะที่ลูกสาวคนเดียวของบ้านกำลังเรียนต่อปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์ในขณะนี้

หลายคนรู้จักสมบัติในฐานะการ์ดผู้ชุมนุม-ผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยืนระยะการต่อสู้ตั้งแต่ยุค “คนเสื้อแดง” แต่สำหรับณัฏ สมบัติคือ “พ่อ” ของเธอ ผู้เป็นเสาหลักคอยดูแลสมาชิกอีก 3 ชีวิต ฐานะถึงไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็ไม่ได้ยากจน ตามครรลองธรรมดาสามัญเฉกเช่นครอบครัวอื่นๆ

จนวันที่พ่อต้องถูกพรากอิสรภาพไปเพราะ มาตรา 112 ความสามัญดังเช่นที่เคยเป็นมาจึงถูกสั่นคลอน…

****

ในความทรงจำของลูกสาว ความสนใจเรื่องการเมืองของพ่อก่อตัวขึ้นพร้อมกันกับวิกฤติทางการเมืองของประเทศ ตั้งแต่การลงถนนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อปี 2548 ต่อเนื่องมาจนถึงการรัฐประหารรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร และเข้มข้นขึ้นเมื่อปี 2550 ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร

จากคอข่าวทั่วไป การเมืองได้สร้างหมุดหมายใหม่ กระทั่งต่อมาได้ฟูมฟักจนกลายเป็นอุดมการณ์ในปี 2552 เมื่อสมบัติมีโอกาสแวะเวียนไปร่วมทั้งม็อบเสื้อเหลืองและม็อบเสื้อแดง เริ่มตกตะกอนถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ สบโอกาสครั้งไหน ก็ไม่พลาดที่จะพาสมาชิกทั้งครอบครัวมาเข้าร่วมการชุมนุม

ตั้งแต่ยุคนั้น แม้อุดมการณ์ของพ่อจะหนักแน่น แต่กับณัฐ เขาไม่เคยบีบบังคับให้เธอต้องเห็นพ้องในเรื่องทางการเมือง การที่พ่อพาทุกคนไปม็อบก็เพราะอยากให้ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจ ร่วมสัมผัสการต่อสู้ อุดมการณ์ทางความคิดของผู้คน ไม่ใช่เพื่อโน้มน้าว หลังจากนั้นแล้ว จะคิดเห็นอย่างไรจึงค่อยมาคุยกัน

“แรกๆ ที่พ่อพาไปม็อบ เราไปในฐานะผู้ชุมนุม ไปดูบรรยากาศ เขาไม่ได้อยากให้เราคิดเห็นทางการเมืองแบบเดียวกันกับเขา แต่พาไปเพราะอยากให้เราคิดด้วยตัวเอง อยากให้เราได้เห็นเองว่าคนในม็อบเขามีมุมมองแบบไหน”

“พ่อค่อนข้างแนวแน่ในเรื่องความคิดทางการเมือง อุดมการณ์ คอยบอกคอยสอน แต่ไม่เคยบังคับ เราชอบในจุดนั้นของพ่อ ถ้าเป็นบ้านอื่นอาจจะมาในรูปแบบของการบังคับ ต้องเชื่อแบบนั้นแบบนี้ แต่กับพ่อ เวลาที่เราเห็นต่างกันในเรื่องทางการเมือง แม้แต่ในจุดเล็กๆ เราก็จะคุยกันว่าทำไมแต่ละฝ่ายคิดแบบนั้น แล้วทำไมเราคิดแบบนี้ ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าความคิดของเราหรือของคนอื่นเป็นเหตุเป็นผล พ่อก็จะคล้อยตาม เริ่มที่จะเปลี่ยนความคิดของตัวเอง”

“เราชอบการที่เรากับพ่อเหมือนเป็นเพื่อนกัน พูดคุยถกเกียงกันตลอดว่าอะไรควรจะเป็นไปในทิศทางไหน ไม่ได้บังคับว่าต้องเชื่อพ่อตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง”

.

.

อุดมการณ์ การต่อสู้ทางการเมือง และราคาที่ต้องจ่าย

ปี 2552 สมบัติตัดสินใจยกระดับการเคลื่อนไหวของตัวเอง จากผู้ร่วมชุมนุม ไปสู่บทบาทใหม่ที่เสี่ยงกว่า ถึงลูกถึงคนกว่า คือการเป็นการ์ดในที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ตัดสินใจง่ายๆ เพียงเพราะอยากมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวมากเท่าที่ตัวเองพอจะทำได้ จากม็อบแรกที่สนามหลวง เขายืนหยัดร่วมสู้กับพี่น้องเสื้อแดงจนหยดสุดท้าย จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สลายชุมนุมด้วยความรุนแรงในปี 2553  

ฝุ่นควันของการปะทะเริ่มหายคลุ้ง หลายเสียงยอมรับถึงความพ่ายแพ้ของคนเสื้อแดง แต่สำหรับสมบัติและคนอีกมากที่ยังเชื่อมั่น ไฟของการต่อสู้แค่จางแสงลง เพียงเพื่อรอจังหวะที่จะถูกจุดติดอีกครั้งเท่านั้น

****

ในระหว่าง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับการรัฐประหารอีกครั้ง เปิดทางให้รัฐบาลที่ยึดอำนาจมาจากประชาชน นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ขึ้นเรืองอำนาจ จนล่วงเลยถึงหลังการเลือกตั้งในปี 2562 ความล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้เผยตัวชัดในทุกมิติ ทั้งด้านนโยบายเศรษฐกิจ การละเมิดสิทธิคนเห็นต่าง หรือแม้แต่การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ทั้งหมดก่อเป็นมวลความไม่พอใจ เป็นชนวนนำไปสู่การลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ของนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่ยังเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยในปี 2563 ผู้คนจำนวนมหาศาลต่างตบเท้าลงถนน รวมทั้งพี่น้องเสื้อแดงที่เคยถูกประวัติศาสตร์กระแสหลักหลงลืมไป

ถึงคนเสื้อแดงจะแพ้พ่ายในปี 2553 แต่สมบัติไม่เคยละทิ้งการต่อสู้ ตลอดมา เขายังเคลื่อนไหวต่อเท่าที่โอกาสอำนวย ผลคือการถูกรัฐดำเนินคดีในข้อหาสืบเนื่องจากการชุมนุมต้าน คสช.  – ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเพ่งเล็ง ติดตามคุกคามถึงบ้าน

ถึงจะถูกกดปรามอย่างไร แต่เมื่อสัมผัสได้ว่าไฟของการต่อสู้ถกจุดขึ้นเต็มประกาย มีหรือที่จะไม่เข้าร่วม อดีต “การ์ดเสื้อแดง” รายนี้จึงหวนคืนสู่ท้องถนนในปี 63 ยืนหยัดทำหน้าที่เดิมเพื่อปกป้องลูกหลานจากความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในสายตาของณัฏ เธอมองว่าพ่อมีเหตุผลบางอย่างในการตัดสินใจครั้งนี้ รวมไปถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาเลือกเป็นแนวหน้าในพื้นที่ชุมนุมอีกครั้ง

“พ่อบอกกับเรามาตลอดว่า ที่ออกมา เพราะว่าปัจจุบัน ประเทศไทยแทบไม่เหลือเค้าโครงของความเป็นประชาธิปไตยแล้ว พ่ออยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองที่ดีขึ้น ถึงเราจะมีการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นการเลือกตั้งที่มีปัญหา ต่อให้ประชาชนในประเทศเลือกพรรคไหนมา ก็ไม่ได้มีค่าอะไร เพราะรัฐได้แต่งตั้ง ส.ว. ไว้แล้ว 250 เสียง มันไม่สามารถเรียกว่าประชาธิปไตยได้ในภาวะแบบนี้”

“ก่อนหน้านี้ การต่อสู้ทางการเมืองเคยเป็นการต่อสู้ของคนเสื้อแดง แต่ตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา พ่อมองว่า มันเป็นการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ เขารู้สึกดีมากๆ ที่เห็นเด็กๆ ตื่นตัวทางการเมือง ภูมิใจที่คนรุ่นนี้ตระหนักถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ในระบอบการเมืองปัจจุบัน”

“(ที่อาสาเป็นการ์ด) พ่ออยากจะดูแลทุกคน เขาเป็นห่วง ด้วยความที่ว่า พ่อเคยผ่านสถานการณ์ที่รัฐหันมาใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมมาก่อน ได้เห็นว่าการต่อสู้ทางการเมืองมันรุนแรงแค่ไหน แล้วพอคนรุ่นใหม่เริ่มตื่นรู้ทางการเมือง พ่อไม่อยากให้พวกเขาต้องมาเจอในสิ่งเดียวกับที่คนรุ่นเขาเคยเจอมา ไม่อยากให้ต้องสู้กันลำพัง แม้ว่าพ่ออาจจะไม่ได้เห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ กับข้อเรียกร้อง แต่อย่างน้อย เขาอยากมีส่วนที่ได้ปกป้องทุกคน นี่เป็นเหตุผลที่ว่าเขาไปม็อบทำไม เพราะอะไร ตัวพ่อก็อยากไปฟังความคิดเห็นของเด็กๆ ด้วย”

แม้จะมีอุดมการณ์แค่ไหน อย่างไรก็ยังจำเป็นต้องทำมาหากิน ณัฏเล่าว่า ผลจากการที่พ่อออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองจนเริ่มเป็นที่รู้จัก แม้บางส่วนจะชื่นชม แต่ก็มีมากที่ไม่เห็นด้วย สิ่งที่ตามมาคือการที่ครอบครัวต้องสูญเสียรายได้ ต่างจึงต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์

“ด้วยความที่พ่อทำงานบริการ ก็มักเจอลูกค้าที่มีความคิดเห็นทางการเมืองในด้านตรงข้าม หลายคนเลิกใช้บริการไปเลย บางเจ้าเป็นรายรับหลักของครอบครัว แต่ก็ต้องเสียโอกาสตรงนั้นไป จนหลังๆ ครอบครัวเริ่มปรับตัวได้ พ่อเริ่มรับงานอื่นมาทำเพื่อให้มันพอใช้จ่ายในครอบครัว”

“สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ครอบครัวต้องเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ตอนแรก งานของพ่อเป็นรายได้หลักของบ้านประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ก็ลดลงเหลือ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือกลายเป็นแม่ที่ต้องมาช่วยแบ่งเบาภาระที่มากขึ้น ทั้งๆ ที่เงินเดือนแม่ก็ไม่ได้เยอะมาก เป็นผู้ช่วยพยาบาล ไม่ใช่พยาบาล”

.

ความไม่เป็นธรรมที่มาในนามของกฎหมาย

26 เม.ย. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำพิพากษาในคดีของสมบัติ และด้วยข้อความทั้ง 3 อิสรภาพของเขาก็ถูกพรากไป เมื่อศาลคาดโทษจำคุก 6 ปี และจนถึงวันนี้ สมบัติยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แม้ทางทนายจะพยายามยื่นคำร้องขอประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์คดีไปแล้วถึง 3 ครั้ง

สำหรับลูกสาวที่เฝ้ามองพ่อเผชิญกับการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เป็นธรรมตลอดมาตั้งแต่ต้น คำตัดสินของศาลกลายเป็นแผลบาดลึก กระทบกับทั้งครอบครัว และคงไม่อาจหายได้ตราบใดที่พ่อยังถูกจองจำ

“พ่อเป็นคนที่ไม่ค่อยแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาให้ใครได้รู้ แต่พ่อจะพูดกับคนในครอบครัวตลอดว่า ‘ไม่มีอะไรหรอก ไม่ต้องกังวล’”

“ตอนที่พ่อได้รับหมายฯ เขาพูดแค่ว่า ‘มีหมายศาลมานะ แต่ไม่เป็นไร ก็แค่ต้องไปรายงานตัวกับศาล ไม่ต้องห่วง’ พ่อบอกย้ำตลอดว่าให้ไม่ต้องห่วง เขาเชื่อว่าจะไม่เป็นไร แต่ข้างในใจเขาเป็นอย่างไร เราก็ไม่สามารถรู้ได้”

“วันที่ศาลตัดสินโทษ พ่อแทบไม่มีเวลาได้คุยกับใครเลย เราเองรู้ข่าวจากน้าที่เขาไปกับพ่อ เห็นข่าวคำพิพากษาในเฟซบุ๊ก พยายามโทรหาพ่อ ได้คุยกันนิดหน่อย เราถามว่า สรุปแล้วอะไร ยังไง พ่อก็บอกว่าตามที่อ่านในข่าวนั่นแหละ เขาฝากฝังให้เอาของในรถ แล้วก็ตัดสายไป มีเวลาได้คุยกันเท่านั้น”

“หลังจากที่พ่ออยู่ในคุกพักหนึ่ง เราถึงได้คุยการผ่านทางเฟซไทม์ แล้วพ่อบอกว่า ไม่เป็นอะไรนะ ไม่ต้องเป็นห่วง เขาพูดเหมือนทุกครั้ง แต่สุดท้ายพ่อเขาก็ร้องไห้ออกมา ทั้งๆ ที่พ่อไม่ใช่คนที่จะร้องไห้ให้ใครได้เห็นง่ายๆ (ณัฏเล่า เสียงสั่น)”

“ทุกวันนี้ เรากับแม่ต้องรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ เราเองพยายามหางานเพิ่มเพราะไม่อยากที่จะเป็นภาระ เราเคยเสนอตัวจัดการเรื่องต่างๆ ในบ้าน พ่อก็บอกว่า ไม่ต้อง เดี๋ยวพอเขาออกไปเขาจัดการเอง เชื่อว่าอีกไม่นานก็ได้ออก พ่อคอยย้ำคำนี้กับเราตลอด”

ภายหลังจากที่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่า จะใช้มาตรการทางกฎหมายทุกรูปแบบเพื่อปราบปรามผู้ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 สิ่งที่เกิดตามมาคือการดำเนินคดีประชาชนอย่างแพร่หลายในข้อหาที่เกี่ยวพันกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมไปถึงข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง หลังจากที่พักไปตั้งแต่ช่วงที่ยังอยู่ในคราบของ คสช.

สำหรับณัฏ ในฐานะที่ทั้งเธอและครอบครัวได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เธอสะท้อนความรู้สึกถึงการบังคับใช้ มาตรา 112 เพื่อจัดการคนเห็นต่าง – ถ้อยคำเพียงบางคำถูกนำมาตีความใหม่ว่าเป็นความผิดอาญา นี่คือหลักฐานว่าความอยุติธรรมกำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย

หากไม่ยกเลิกมาตรานี้ไปเสีย เราคงได้เห็นจำนวน “เหยื่อ” เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ

“เรารู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายมาตรานี้ คิดว่ามันเป็นกฎหมายที่สร้างมาเพื่อกลั่นแกล้งคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง เราไม่คิดว่าพ่อจะต้องมาโดนดำเนินคดี หรือแม้แต่คนอื่น ไม่ควรจะมีใครที่ต้องมาโดนดำเนินคดีเช่นนี้อีก มันเป็นกฎหมายที่ไม่ควรมี”

“มันแย่อยู่แล้วที่ต้องเห็นการบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 112 กับคนอื่น แล้ววันหนึ่ง เราต้องมาเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว อิสรภาพของพ่อถูกพรากไปเพียงเพราะคำแค่ 3 คำ”

“ความยุติธรรมในประเทศนี้มันหายไปไหน ทำไมมันช่างหายากเหลือเกิน”

.

เนื่องจากภายในศาลไม่สามารถถ่ายรูปได้ ณัฏจึงวาดรูปเพื่อถ่ายทอดสภาพความเป็นไปของพ่อในวันที่ได้รับการเบิกตัวมาศาล – เป็นครั้งแรกที่สองแม่ลูกได้เจอพ่อทางกายภาพ หลังจากที่ต้องพูดคุยผ่านระบบเฟซไทม์มาโดยตลอด

.

ข้อความที่อยากส่งต่อ

จนกระทั่งตอนนี้ แม้สมบัติจะยังไม่ได้รับการประกันตัว แต่อย่างน้อยที่สุด ผู้คนภายนอกยังไม่มีใครลืมเขาและนักโทษในคดีทางการเมืองอื่นๆ กำลังใจถูกส่งต่อผ่านกิจกรรมหลากหลาย อย่างการส่งจดหมายให้เพื่อนในเรือนจำ ถ่ายทอดความหวังและความรู้สึกของคนภายนอกให้คนข้างในได้มีพลังพอจะสู้ต่อ หรือกิจกรรมอย่างการยืนหยุดขังที่ยังมีอยู่เรื่อยๆ จนกว่าเพื่อนนักสู้ข้างในจะได้รับการประกันตัวออกมาเพื่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม

สำหรับพ่อและลูกสาว เหล่านั้นคือสิ่งหล่อเลี้ยงในโมงยามอันมืดมน – ตราบใดที่คนข้างนอกยังสู้ คนข้างในจะไม่ยอมแพ้โดยเด็ดขาด

“ไม่ว่าจะเป็นตัวเราหรือพ่อ เราต่างเชื่อมั่นในพลังของคนที่อยู่ข้างนอก ต่อให้เป็นเสียงที่เล็กน้อยแค่ไหน แต่ทุกเสียงก็มีค่า การเรียกร้องของทุกคนมันเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เชื่อว่ามันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้”

“กำลังใจที่ทุกคนส่งมา พ่อรับรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นจากทางทนายที่เอาไปบอก หรือทางครอบครัวที่ส่งต่อกำลังใจให้พ่อได้รู้เวลาที่มีใครช่วยเหลือ ใครที่โพสต์เฟซบุ๊กถึงพ่อ เราก็ส่งต่อข้อความนั้นให้เขา พ่อเองฝากขอบคุณทุกคน ยังอยากให้ทุกคนสู้ต่อไป ตัวเขาก็จะดูแลตัวเองให้ดีที่สุดจนกว่าจะถึงวันที่ได้ออกมา”

ก่อนจบการสนทนา ณัฐฝากส่งข้อความถึงศาลอุทธรณ์ ขอให้พิจารณาเรื่องการประกันตัวใหม่อีกครั้ง เพราะสิ่งที่พ่อของเธอทำเป็นเพียงแค่การแสดงความคิดเห็น และไม่มีเจตนาล่วงไปกว่านั้น การอ้างไม่ให้ประกันตัวเพียงเพราะกลัวจะหลบหนีถือว่าไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะพ่อของเธอเดินทางไปตามนัดของศาลทุกครั้ง

หากได้รับการประกันตัว ไม่มีทางที่พ่อจะหนีไปไหน เพราะครอบครัวของเขายังอยู่ที่นี่

“เหตุที่ศาลปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวพ่อ เพราะกลัวว่าจะหลบหนี คดีเป็นเรื่องความมั่นคง มีความร้ายแรง เป็นการอาฆาตมาดร้าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราอยากบอกกับศาลว่า สิ่งที่พ่อทำไปไม่ได้เป็นการอาฆาตมาดร้าย มันเป็นแค่การแสดงความคิดเห็น เป็นการพิมพ์คำพูดโดยที่ไม่ได้มีเจตนามากไปกว่านั้น”

“คำที่พ่อโพสต์ไปก็เป็นคำที่คนทั่วไปพูดถึงกัน แค่อาจจะเป็นเพราะว่าพ่อมีคนติดตามเยอะ มีทั้งคนที่ชอบ ไม่ชอบ ก็เลยเอากฎหมาย มาตรา 112 มาจัดการ ซึ่งตัวกฎหมายเองก็มีช่องโหว่ กล่าวหาว่าพ่อจาบจ้วง ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้มีเจตนาแบบนั้น อ้างอีกว่ากลัวพ่อจะหลบหนี ทั้งๆ ที่พ่อเองไม่เคยคิดจะหลบหนี เพราะครอบครัวเราอยู่ที่นี่ เวลามีนัดศาลเขาก็ไปตามนัดทุกครั้ง”

.

X