ชีวิตจิตใจของ “บอส ฉัตรมงคล” หนุ่ม รปภ. ผู้เผชิญหน้าคดี ม.112

ถ้าจำไม่ผิด เขาเคยเดินทางมาจังหวัดเชียงราย 2 ครั้ง เป็นการมาท่องเที่ยวทั่วไป หากตั้งแต่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ เขาต้องแวะเวียนมาที่จังหวัดทางภาคเหนือสุดนี้อย่างต่อเนื่อง รวมในรอบปีที่ผ่านมา 6-7 ครั้งแล้ว

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 “บอส” ฉัตรมงคล วัลลีย์ เป็นอีกคนที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 โดยคดีของเขามีประชาชนผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊ก “ศรีสุริโยไท” ซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ที่ สภ.เมืองเชียงราย เหตุจากมีผู้ใช้เฟซบุ๊กไปคอมเมนต์ในโพสต์ข้อความของเพจดังกล่าว

ไม่ได้คาดคิดว่าจะถูกดำเนินคดีข้อหานี้ แต่ก็ไม่ได้แปลกใจมากนัก, บอสบอกความรู้สึก เมื่อข้อหามาตรา 112 กลายเป็นเรื่องที่ใช้กล่าวหากันทั่วไป เขาบอกว่าราวกับกลายเป็น “เทรนด์” ที่ใครๆ ก็โดนกันไปแล้ว

แม้จะไม่ได้หวั่นเกรงเท่าไร เนื่องจากยังเห็นว่าตัวเองไม่ได้ทำผิด และเขาพอมีประสบการณ์ถูกดำเนินคดีทางการเมืองมาบ้าง แม้ไม่ใช่ข้อหาเช่นนี้ แต่คดีที่เกิดขึ้นก็ยังสร้างภาระและผลกระทบในการเดินทางมาต่อสู้ให้กับเขา

เกือบ 1 ปีเศษผ่านไป ศาลจังหวัดเชียงรายกำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดีของบอส ในวันที่ 27 มี.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ เป็นอีกครั้งที่เขาต้องเดินทางไปจังหวัดเชียงราย โดยยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นใด

ชวนฟังเรื่องราวของบอส คนเล็กๆ อีกคนหนึ่งผู้ต่อสู้ดิ้นรนกับเศรษฐศาสตร์ของชีวิต แต่ยังวาดหวังถึงการเมืองและกฎหมายที่ดีกว่าที่เป็นอยู่

.

.

ว่าด้วยเศรษฐกิจของชีวิตพนักงานรักษาความปลอดภัย

บอส ฉัตรมงคล ในวัย 28 ปี เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เขาบอกว่าครอบครัวมีฐานะยากจน พ่อเคยเป็นเจ้าอาวาสวัด แต่ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว ที่บ้านยังมีแม่ในวัย 60 ปลายๆ และอาม่า ในวัย 90 กว่าแล้ว ล้วนเป็นผู้สูงอายุ ไม่ได้มีรายได้ทางใด นอกจากสวัสดิการผู้สูงอายุจากภาครัฐ ขณะเดียวกันเขามีพี่สาวอีกหนึ่งคน ที่คอยอยู่ดูแลแม่และอาม่าอยู่

บอสแยกมาเช่าห้องพักอยู่ในย่านปทุมธานีที่เขาทำงานอยู่ แต่ก็ยังต้องรับผิดชอบส่งเงินกลับบ้านทุกๆ อาทิตย์ เพราะที่บ้านไม่ได้มีรายได้เท่าใดนัก

เขาเคยเรียนโรงเรียนย่านบางบอน แต่ต้องออกมาทำงานตั้งแต่เด็ก ราวๆ ป.4 เคยไปช่วยร้านขายของเก่าทำงาน เพื่อช่วยหารายได้ให้ทางบ้าน ทำให้การเรียนสำหรับเขากลายเป็นเรื่องรอง เขาจำได้ว่ามีครูมาตามกลับไปเรียนด้วยซ้ำ จนเมื่อเรียนถึงชั้น ม.2 บอสก็ยุติชีวิตการเรียนในโรงเรียนลงไป

หากต่อมา เขายังพยายามกลับไปลงเรียนในรูปแบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) โดยเริ่มเรียนระดับชั้น ม.1 ใหม่ จนถึงตอนนี้ได้วุฒิการศึกษา ม.3 มาแล้ว แต่ยังไม่จบในระดับชั้น ม.6

บอสบอกว่า หลังจากหันหลังให้โรงเรียนแล้ว เขาก็กลายเป็นคนทำงานรับจ้างรายวันเต็มตัว เคยไปช่วยทำงานตามโรงเจบ้าง จนได้เริ่มมาทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย และได้ปักหลักกับอาชีพนี้เรื่อยมา ช่วงแรกๆ เขาย้ายที่ทำงานไปมาหลายที่ โดยที่ทำงานสุดท้ายก่อนสถานการณ์โควิด-19 ระบาด คือที่ห้างฟิวเจอร์พาร์ครังสิต

บอสเล่าว่า เมื่อโควิด-19 ระบาด ทางห้างต้องปิดทำการ และลดวันทำงาน ให้สลับ รปภ. มากันคนละวันเว้น ทำให้รายได้เขาลดลงมาก จึงตัดสินใจลาออกจากงานนั้น จนเดือนพฤศจิกายน 2563 เขาจึงได้งานใหม่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของคอนโดแห่งหนึ่งย่านปทุมธานี และยังคงทำงานนี้มาจนถึงปัจจุบัน ตอนนี้ก็เกิน 2 ปีแล้ว

บอสเล่าถึงงาน รปภ. ว่าเป็นการทำงานไม่มีวันหยุด ทำวันละ 12 ชั่วโมง แต่ก็ให้รายได้ดีกว่าการทำงานในระดับเดียวกันอื่นๆ ที่รายได้อยู่ที่ค่าแรงขั้นต่ำ วันละราว 300 บาทเท่านั้น

หากทำงานในกะกลางวัน เขาต้องทำงานตั้งแต่เวลา 7.00 ถึง 19.00 น. หากทำงานในกะกลางคืน ก็สลับเป็น 19.00 ถึง 7.00 น. ของเช้าอีกวัน ซึ่งเขาก็ถูกสลับไปมาทั้งสองกะแล้ว

งานที่เขาทำอยู่นี้ได้ค่าจ้างเป็นรายวัน วันละ 480 บาท หากวันไหนหยุดงาน ก็ไม่มีรายได้ เดือนๆ หนึ่ง พนักงานลาได้ประมาณ 4 วัน เฉลี่ยๆ ก็ได้รายได้ราว 13,000 บาท เศษๆ ต่อเดือน แต่ก็พอมีโบนัส หากทำงานครบรอบ 1 ปี ได้อีกปีละราว 7,000 บาท

เมื่อพูดต่อไปถึงการจัดการรายได้ของตัวเอง บอสแจกแจงว่า เขาจะต้องส่งเงินกลับไปให้ที่บ้านสัปดาห์ละราว 2,000-3,000 บาท เพื่อสนับสนุนชีวิตความเป็นอยู่ของอีกสามชีวิต ได้แก่ อาม่า แม่ และพี่สาว เขายังต้องชำระค่าห้องเช่าของตัวเองเดือนละ 2,000 บาท แต่ละเดือน บอสยังกันเงิน 1,000 บาท ไว้สะสมซื้อสลากออมสิน ซึ่งจะไม่แตะต้องเงินในส่วนนี้ บวกลบแล้วเหลือราวเดือนละ 2,000-3,000 บาท เป็นค่าใช้จ่าย สำหรับค่ากินค่าอยู่ในแต่ละวันของชีวิตตัวเอง

บอสยังเคยไปกู้ยืมเงินในช่วงโควิด-19 ระบาดที่ไม่มีงานทำ อีกประมาณ 10,000 บาท ทำให้ต้องทยอยจ่ายหนี้ แต่ตอนนี้ก็ชำระใกล้หมดแล้ว

หากคำนวณค่าเฉลี่ย วันๆ หนึ่ง บอสจะใช้จ่ายเงินได้ไม่น่าเกิน 100 บาท ซึ่งเขาบอกว่ายังไงก็ต้องกินอยู่ให้พอ

.

ฉัตรมงคลขณะถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบควบคุมตัว
บริเวณสถานีรถไฟบ้านโป่ง เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2558 ขณะร่วมกิจกรรมเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ (ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)

.

ว่าด้วยการเมืองของคนรุ่นม็อบเหลืองแดง และรัฐประหาร คสช.

บอสเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อช่วงปลายปี 2558 ในสมัยที่คณะรัฐประหารยังอยู่ในอำนาจและมีมาตรการเข้มงวดในการควบคุมการแสดงออก เมื่อปรากฏเป็นข่าวว่า ฉัตรมงคลในวัย 21 ปี ได้เข้าร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตกรณีอุทยานราชภักดิ์ แล้วหลังจากนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจบุกไปควบคุมตัวเขาถึงบ้าน โดยแจ้งกับทางบ้านว่า “ขอเอาตัวไปคุย เดี๋ยวจะพามาส่ง” และทหารยังอ้างกับผู้สื่อข่าวที่ติดตามถามถึงกรณีดังกล่าว ว่าเป็นการพาตัวไปทานข้าวร่วมกันเท่านั้น เนื่องจาก “ผู้พัน” ลงพื้นที่

หลังจากนั้นได้มีการปล่อยตัวเขาออกมาในวันเดียวกัน หลังบอสได้ยินยอมเซ็นเอกสารกับทางทหาร ว่าจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง นี่คือสิ่งที่เขาเผชิญในการใช้อำนาจเผด็จการยุค คสช.

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น บอสบอกว่าเขาเคยไปร่วมสังเกตการณ์ชุมนุมทางการเมืองของทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดงมาก่อนแล้ว โดยตอนแรกช่วงที่มีการชุมนุมของเสื้อเหลือง มีพี่ที่ร้านเกมส์ที่เขาไปนั่งเล่นช่วงค่ำ ชักชวนไปดูม็อบด้วยกัน เขาก็ตามไปดู ก่อนกลับมานั่งเล่นเกมส์ต่อ ส่วนช่วงเสื้อแดง เขาก็เคยไปนั่งดูการปราศรัยอยู่บ้าง และโดยพื้นฐานทางบ้านก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงด้วย ทำให้เขามีมุมมองทางการเมืองมาทางฝั่งนี้มากกว่า แต่ก็ไม่ได้เรียกว่าเป็นผู้ชุมนุมที่ไปม็อบบ่อยแต่อย่างใด

“มีช่วงที่เราเห็นคนเสื้อแดงโดนยิงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็เลยสนใจ รู้สึกฟังทั้งสองม็อบแล้ว ม็อบเสื้อแดงดูมีเหตุผลมากกว่า” บอสสรุป

นอกจากนั้น บอสยังติดตามอ่านข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ ทำให้เพิ่มพื้นฐานความสนใจทางการเมืองมาก่อน จนหลังรัฐประหาร 2557 บอสบอกว่าเขาเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหาร โดยหลังจากไปร่วมเสวนาเวทีหนึ่งที่ธรรมศาสตร์ ทำให้ได้รู้จักกับ “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่ขณะนั้นยังเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์และมีบทบาทในการเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. จึงได้เข้าไปช่วยเหลือนิวในการทำกิจกรรม และร่วมกับกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “ประชาธิปไตยศึกษา”

“บ้านเราจนเหมือนกัน เลยดูเข้ากันได้ นิวเป็นคนไม่ถือตัว ผมเคยไปนอนบ้านนิวด้วย เลยไปไหนไปด้วยกันในช่วงนั้น” บอสบอกเล่าถึงความสัมพันธ์กับนิวในช่วงนั้น

ระยะนั้น หากมีเวลาว่างจากการงาน บอสก็จะไปร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง และคอยช่วยนิวจัดกิจกรรมของกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา อันเป็นที่มาทำให้เขาถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับตา กระทั่งขุดเรื่องที่เขาไม่ได้ไปเกณฑ์ทหารขึ้นมากล่าวหาดำเนินคดีด้วย โดยหลังจากกรณีทหารควบคุมตัวไปพูดคุยแล้ว บอสถูกฟ้องคดีเรื่องหลบหนีการเกณฑ์ทหาร ต่อมาในช่วงปี 2559 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 เดือน แต่ให้รอลงอาญาไว้

บอสย้อนเล่าให้ฟังว่าในช่วงที่สมัครเกณฑ์ทหาร พ่อของเขาล้มป่วย ต้องเข้าโรงพยาบาล ทำให้เขามีภารกิจต้องดูแลพ่อ เลยไม่ได้ไปรายงานตัวกับสัสดี ทำให้เป็นที่มาของการถูกดำเนินคดีนั้น

แม้เผชิญสถานการณ์คุกคามเช่นนั้น แต่การเคลื่อนไหวก็ไม่ได้จบลง บอสยังเข้าร่วมการชุมนุมช่วงคนอยากเลือกตั้งในช่วงปี 2561 เพื่อเรียกร้องให้ คสช. ไม่เลื่อนการเลือกตั้งออกไป และเรียกร้องให้เผด็จการยุติการสืบทอดอำนาจ เป็นที่มาของการถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมอีก 2 คดี ได้แก่ คดีคนอยากเลือกตั้งหน้ากองทัพบก (ARMY57) และคดีคนอยากเลือกตั้งพัทยา โดยศาลยกฟ้องทั้งสองคดี

หลังจากนั้น เมื่อเริ่มปรากฏการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกและกลุ่มราษฎร ช่วงปี 2563 เป็นจังหวะเวลาที่บอสว่างงานช่วงหนึ่ง ทำให้ได้ไปร่วมการชุมนุมในระยะนั้น โดยเคยไปร่วมเป็นอาสาสมัครการ์ดของกลุ่ม Wevo อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้บ่อยนัก

ในการชุมนุมระลอกล่าสุดนี้ ยังทำให้บอสถูกดำเนินคดีเพิ่มอีก 1 คดี จากเหตุร่วมทำกิจกรรม #ตามหานาย ซึ่งมีการปาไข่และสาดสีที่หน้า ม.พัน 4 รอ. เพื่อทวงถามการลงโทษเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้าล็อกคอผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2563  

ในระหว่างถูกดำเนินคดี ยังทำให้เขาถูกตำรวจเข้าจับกุมเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2564 เพื่อส่งตัวให้อัยการ หลังมีหมายเรียกให้ไปรายงานตัว แต่เขาไม่ได้รับหมาย จึงไม่ได้ไปตามนัด ทำให้ถูกออกหมายจับนำตัวไปฟ้องคดี โดยบอสต้องถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.เตาปูน ถึง 3 วัน และเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่เขาถูกคุมขังจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ในช่วงปี 2564 เป็นต้นมา บอสระบุว่าได้ลดการไปร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองลง เน้นประกอบอาชีพเพื่อดูแลครอบครัวมากกว่า

“มันหมดยุคของเราแล้ว ให้เด็กๆ ทำได้แล้ว” บอสในวัยยังไม่พ้น 30 บอกเอาไว้

แต่ไม่วาย, แม้จะมุ่งหน้าทำมาหากิน-ดูแลครอบครัว แต่เขายังต้องมาพัวพันกับคดีมาตรา 112 เป็นคดีแรกในชีวิต ทั้งที่ไม่เคยเคลื่อนไหวเรื่องประเด็นสถาบันกษัตริย์มาก่อน

.

ฉัตรมงคลร่วมกิจกรรมโพสต์อิท บริเวณรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2558 (ภาพโดย Banrasdr Photo)

.

ว่าด้วยกฎหมายมาตรา 112 และการเผชิญหน้ากับคดีความ

“ถ้าผมถูกสลากออมสินรางวัลที่ 1 ผมจะบริจาคให้กองทุนราษฎรประสงค์กับกองทุนดา ตอร์ปิโด กองทุนละล้าน” บอสพูดติดตลก

ปัญหาใหญ่ที่สุดของบอสในการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คือเขาไม่คิดว่าตัวเองจะถูกกล่าวหาไกลถึงจังหวัดเชียงราย ซึ่งสร้างภาระให้กับการลางานและการเดินทางอย่างมาก

งาน รปภ. ที่บอสทำ ลาไม่ง่ายหนัก วันลามีจำกัด และการลาก็เท่ากับว่าจะขาดรายได้ต่อวันไปด้วย ก่อนสืบพยานจำเลย เนื่องจากเขาต้องขอลาไปศาลแทบทั้งอาทิตย์ ทำให้ในตอนแรกหัวหน้างานจะให้เขาออกจากงานด้วยซ้ำ แต่หลังการพูดคุยตกลง และหาคนมาทำหน้าที่แทนได้ ทำให้เขายังได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอยู่

ยังดีที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเขาได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนดา ตอร์ปิโด และได้รับความช่วยเหลือเรื่องเงินประกันตัวจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทำให้คนไม่มีต้นทุนมากนักแบบเขา ยังเข้าถึงในการโอกาสในการต่อสู้คดี เพราะหากไม่มีความช่วยเหลือเหล่านี้ บอสคาดว่าตัวเองอาจจะติดคุกไปแล้ว

แต่การมาต่างจังหวัดแต่ละที ก็มีค่ากินค่าอยู่ที่ประหยัดได้ยากกว่าการอยู่หอพักตามปกติ ในรอบการเดินทางมาสืบพยานช่วงปลายปี 2565 บอสก็ต้องใช้ค่าใช้จ่ายจากโบนัสประจำปีที่ได้รับมาจากการทำงานไปก่อน ทำให้เขาไม่เหลือเงินเก็บ

โชคดีอีกอย่างหนึ่ง ทั้งที่ทำงานและที่บ้านของบอส พอจะเข้าใจถึงการถูกดำเนินคดีแบบนี้ บอสบอกว่าเพื่อนที่ทำงาน รปภ. ด้วยกัน ส่วนใหญ่เข้าใจคดีทางการเมืองแบบนี้ ส่วนที่บ้าน เนื่องจากมีแนวทางสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง จึงไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการออกมาเคลื่อนไหว แต่ก็แน่นอนว่าไม่อยากให้ไปโดนคดีอะไร ที่ทำให้ชีวิตมีผลกระทบมากนัก เพราะเขาหารายได้เป็นเสาหลักของครอบครัวอยู่

เอาจริงๆ ตั้งแต่ปี 2564 บอสก็แทบไม่ได้มีบทบาทหรือเข้าร่วมการเคลื่อนไหวมากนัก เขาก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมตัวเองยังถูกจับตาอยู่

“ไม่เคยคิดเลยว่าจะโดน 112 แต่มันกลายเป็นเทรนด์ไปแล้ว เห็นคนโดนกันเยอะ แต่เราก็ไม่ได้กลัวอะไร คิดว่าถ้าตามตัวบทกฎหมาย เราไม่ได้ทำผิด แต่ก็อยู่ที่ผู้พิพากษาว่าเป็นยังไง

“แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะต้องเดินทางมาไกลขนาดนี้ ถ้าสู้ในกรุงเทพฯ ก็จะไม่ต้องเดินทางเยอะ เราก็ยังงงว่าทำไมคดีแบบนี้ เขาจะฟ้องที่ไหนก็ได้ แล้วใครจะแจ้งก็ได้ แล้วเราก็ขอย้ายไปที่ๆ เราอยู่ก็ไม่ได้ ถ้าสมมติเราไม่ผิดแบบนี้ ใครจะเอารูปเอาไปโพสต์ลง ดัดแปลงใส่ชื่อเรา ค่าเดินทางอะไรที่เรามาต่อสู้คดี จะทำยังไง”

พูดตรงไปตรงมา, เขาก็ไม่ได้อยากติดคุก หลังจากเคยถูกขังในห้องขังในสถานีตำรวจเป็นเวลาสามวันก่อนหน้านี้ ก็ทำให้บอสรู้สึกแย่มากแล้ว และยังกังวลถึงภารกิจในการหารายได้ให้ครอบครัว ว่าจะจัดการอย่างไรต่อไป ถ้าเขาไม่สามารถทำหน้าที่ได้อีก

บอสเล่าอีกว่าหลังจากถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกหลายๆ คดีแบบนี้ ทำให้หากมีโอกาสเรียนไปถึงระดับปริญญาตรี เขายังคิดเล่นๆ เลยว่าจะลงเรียนคณะนิติศาสตร์

“ง่ายๆ คือผมอยากรู้เรื่องที่เขาฟ้องมา จะได้รู้เรื่องกับเขาบ้าง เวลาอัยการถามแบบนี้ ผมก็สับสน ถามว่า ‘…ไม่ใช่ใช่ไหม’ แล้วผมต้องตอบว่าอะไร (หัวเราะ)” บอสเล่าถึงความสับสนต่อคำถามของอัยการที่ประสบพบมา เมื่อเขาเข้าเบิกความในศาล

บอสยังบอกอีกว่า เมื่อก่อนเขาคิดอยากเป็นตำรวจอยู่เหมือนกัน เพราะคิดว่าจะเป็นตำรวจแบบที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิในการชุมนุมของประชาชน นั่นดูเป็นฝันที่ขยับออกไปอีกจากการเรียนนิติศาสตร์

ขณะที่ในแง่ภาพต่อสังคมที่เขาอยากเห็น เขาตอบสั้นๆ สองเรื่อง ได้แก่ อยากเห็นการกระจายอำนาจในสังคมไทย ทำให้ทุกอย่างไม่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้คนต่างจังหวัดไม่ต้องเข้ามาหางานทำและมีชีวิตที่ดีได้จากบ้านเกิดของใครของมัน และอยากเห็นการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ รวมทั้งสวัสดิการผู้สูงอายุให้กับประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่เขาเห็นอยู่ตรงหน้าจากการงานและสถานะครอบครัวตัวเอง

ไม่ว่าคดีจะเดินทางหน้าต่อไปเช่นไร, นั่นคือบทบันทึกถึงภาพฝันของคนแบบบอส ผู้ยังคงต่อสู้กับการใช้ “กฎหมาย” แบบที่เห็นและเป็นอยู่

.

คดีของฉัตรมงคล มีนัธทวัฒน์ ชลภักดี เป็นผู้กล่าวหา พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุว่าเมื่อประมาณปี 2562 ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ได้ก่อตั้งและดูแลเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ศรีสุริโยไท” จนในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เวลาประมาณ 14.00 น. นัธทวัฒน์ได้โพสต์ข้อความว่า “เป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะครับ หัวใจของเราคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สิ่งที่พวกเราต้องการที่สุดคือกำลังใจ ไม่มีแบ่งพรรค แบ่งพวก แบ่งสี” ในเพจ

ต่อมาผ่านไป 2 ชั่วโมง ได้เปิดดูเพจดังกล่าว พบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อเฟซบุ๊กชื่อเช่นเดียวกับฉัตรมงคล ได้คอมเมนต์ข้อความในโพสต์ดังกล่าว ซึ่งนัธทวัฒน์เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย

.

X