คดี “ไมค์-หอย-บอส” ร่วม #ตามหานาย หน้า ม.พัน 4 ศาลลงโทษจำคุกและปรับ โดยให้รอลงอาญา จำเลยยังเชื่อไม่ได้บุกรุก-ทำลายทรัพย์สิน

1 ธ.ค. 2565 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “หอย” ธนชัย เอื้อฤาชา และ “บอส” ฉัตรมงคล วัลลีย์ ที่ถูกฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น, ทำให้เสียทรัพย์, ทำให้โสโครกเปรอะเปื้อนทรัพย์ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีร่วมกิจกรรม “ตามหานาย” เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2563 บริเวณหน้ากองพันทหารม้าที่ 4 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.พัน 4 พล.1 รอ.) เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากผู้บังคับบัญชา ในการลงโทษพลทหารนอกเครื่องแบบจำนวน 3 นาย ที่เข้ามาล็อคแขนและคอผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ก่อนหน้าคดีนี้

เหตุในคดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 ขณะประชาชนแยกย้ายกลับจากการเดินเท้าไปที่รัฐสภา เพื่อนำส่งรายชื่อประชาชนจำนวน 100,732 รายชื่อ ที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ได้มีประชาชนรายหนึ่งที่ร่วมกิจกรรมได้เข้าถ่ายภาพบริเวณป้าย ม.พัน 4 พล.1 รอ. และถูกทหารนอกเครื่องแบบสั่งให้ลบภาพออก ทั้งทหารนอกเครื่องแบบ 3 นาย ได้พยายามเข้าล็อคแขนและคอ พร้อมทั้งแย่งโทรศัพท์ แต่มีผู้ชุมนุมเข้าช่วยเหลือ ทหารทั้งสามนายอ้างว่า ได้รับคำสั่งมาจาก “นาย” หลังตำรวจ สน.บางโพ เข้าระงับเหตุ ผู้เสียหายยืนยันที่จะเข้าแจ้งความ ตำรวจจึงพาตัวทหารทั้งสามนายไปสอบสวนที่ สน.บางโพ ทหาร 3 นายให้การว่าไม่มีใครสั่งให้กระทำลักษณะดังกล่าว และกล่าวขอโทษผู้เสียหาย

ต่อมา วันที่ 28 ก.ย. 2563 ภาณุพงศ์ จาดนอก พร้อมด้วยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้จัดกิจกรรม “ตามหานาย” เพื่อทวงถามความคืบหน้ากรณีดังกล่าว โดยมีการปักหลักรอที่หน้า พัน ม.4 พล.1 รอ. ประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารออกมาพบหรือชี้แจง ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจ และได้ปาไข่ พร้อมสาดสีใส่ป้ายกองพัน และพื้นที่บริเวณด้านหน้า ต่อมามีการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่เข้าร่วมจำนวน 7 ราย โดยแยกเป็น 3 คดี

.

ภาพเหตุการณ์จากข่าวสด

.

เป็นเวลากว่า 2 ปี 2 เดือนนับจากวันเกิดเหตุ ธนชัย เอื้อฤาชา จำเลยที่ 2 และฉัตรมงคล วัลลีย์ จำเลยที่ 3 เดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดี 913 ตั้งแต่เวลา 9.30 น. ส่วนภาณุพงศ์ ผู้เป็นจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ อยู่ระหว่างการเดินทางจากภูมิลำเนาที่จังหวัดระยองตั้งแต่เช้ามืดจนมาถึงห้องพิจารณาคดีในเวลา 11.30 น.

ในวันนี้ศาลนั่งบัลลังก์เพื่อพิจารณาคดีอื่นก่อนแล้ว จนเมื่อคู่ความในคดีนี้มาครบ เวลาราว 11.45 น. ผู้พิพากษาจึงเริ่มอ่านคำพิพากษา เนื้อหาในช่วงแรกได้กล่าวถึงผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า (1) พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2) และ 11 (6) ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 26 และหลักความพอสมควรแก่เหตุหรือไม่ (2) พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เกี่ยวกับประเด็นที่ (1) ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วในคำวินิจฉัยที่ 6/2565 ลงวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ว่า พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2) และ 11 (6) ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และหลักความพอสมควรแก่เหตุ ส่วนประเด็นที่ (2) พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 เห็นว่า การยื่นคำร้องให้มีการวินิจฉัยข้างต้นไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 212 วรรค 1 จึงไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย

.

ต่อมาจึงเข้าสู่ส่วนของการวินิจฉัย สรุปใจความได้ว่า วันที่ 28 ก.ย. 2563 เวลาประมาณ 16.00 น. จำเลยทั้งสามเดินทางไปที่หน้า ม.พัน.4 พล.1 รอ. เพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยของเจ้าหน้าที่ทหารที่ก่อเหตุในวันที่ 22 ก.ย. 2563 จำเลยที่ 1 ได้ใช้เครื่องขยายเสียงเรียกร้องให้มีการดำเนินการทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้อง ต่อมาจำเลยทั้ง 3 ได้ปีนประตูรั้ว ม.พัน.4 พล.1 รอ. และจำเลยที่ 1 และ 2 ได้เทและสาดสีเข้าไปใน ม.พัน.4 พล.1 รอ. และทาสีที่ป้ายชื่อ ม.พัน.4 พล.1 รอ. การรวมตัวดังกล่าวสิ้นสุดลงเวลา 18.00 น. คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

โจทก์มี พ.ต.ท.สรัล สุรเดชานนท์ และ ด.ต.จำนงค์ พลหลวง ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในที่เกิดเหตุ เบิกความทำนองเดียวกันว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ มีการชุมนุมที่หน้า ม.พัน.4 พล.1 รอ. มีผู้ชุมนุมประมาณ 30 คน ซึ่งรวมถึงจำเลยทั้ง 3 ด้วย เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งผู้ชุมนุมให้เลิกการชุมนุม เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้แจ้งจัดการชุมนุมตามกฎหมาย แต่ผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมต่อไป

ในการชุมนุมนี้ จำเลยที่ 1 ได้ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน และจำเลยทั้งสามได้ปีนขึ้นไปนั่งบนหน้าประตูรั้วทางเข้า จำเลยที่ 1 ขว้างไข่เข้าไปใน พัน.4 พล.1 รอ. จำเลยที่ 1 และที่ 2 เทและสาดสีที่ประตูรั้ว และทาสีป้ายชื่อ พัน.4 พล.1 รอ. ต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมได้เลิกการชุมนุมในเวลา 18.00 น รายละเอียดของการชุมนุมเป็นไปตามบันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์ที่อัยการโจทก์นำส่งต่อศาล

ศาลเห็นว่า พยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.สรัล และ ด.ต.จำนงค์ เป็นประจักษ์พยาน เป็นเจ้าพนักงานที่อยู่กับผู้ชุมนุม เบิกความเป็นไปตามลำดับเหตุการณ์ประกอบพยานเอกสาร ซึ่งเป็นหลักฐานภาพถ่ายของจำเลยทั้ง 3 ที่ถูกบันทึกไว้ในวันและเวลาเกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายของจำเลยที่ 1 ขณะใช้เครื่องขยายเสียง ภาพถ่ายของจำเลยทั้งสามขณะปีนประตูรั้วทางเข้า พัน.4 พล.1 รอ. ภาพถ่ายของจำเลยที่ 1 ขณะขว้างไข่เข้าไปใน พัน.4 พล.1 รอ. ภาพจำเลยที่ 1 และ 2 ขณะเท สาด และทาสีในการชุมนุม รวมถึงบันทึกภาพและเสียงของการชุมนุม ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นพยานหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามว่า ได้กระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์หรือไม่

เมื่อพิจารณาแนวทางในการต่อสู้คดีของจำเลยทั้งสามประกอบการนำสืบของจำเลยทั้งสามแล้ว ปรากฏว่าสอดคล้องกับการนำสืบของโจทก์ โดยจำเลยทั้งสามเบิกความรับว่า จำเลยทั้งสามเข้าร่วมชุมนุมในวันดังกล่าวจริง และมีพฤติการณ์ดังเช่นที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามเข้าร่วมชุมนุมในวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ตามภาพถ่ายที่ปรากฏอยู่ในรายงานสืบสวน และเป็นการเข้าร่วมชุมนุมในช่วงเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาทางนำสืบของโจทก์ ไม่สามารถนำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือไม่ ข้อเท็จจริงเพียงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุมตามวันเวลาดังกล่าวเท่านั้น

ขณะที่มีการชุมนุม จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ต่อมาเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยทั้ง สามปีนขึ้นไปนั่งบนประตูรั้วทางเข้า พัน.4 พล.1 รอ. พฤติกรรมที่จำเลยทั้งสามแสดง แสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสามคิดพิจารณาและลงมือทำแล้ว แม้จำเลยทั้งสามอ้างว่าไม่ได้เข้าไปใน พัน.4 พล.1 รอ. แต่ถือได้ว่าจากพฤติการณ์ดังกล่าว จำเลยทั้งสามได้เข้าไปในสถานที่ดังกล่าวบางส่วนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวย่อมเป็นเครื่องชี้เจตนาแล้ว และถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาเข้าไปใน พัน.4 พล.1 รอ. ซึ่งรบกวนการครอบครองของกองทัพบกโดยปกติสุข อันถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานตามฟ้อง

ต่อมา ขณะที่มีการชุมนุม จำเลยที่ 1 ขว้างไข่เข้าไปใน พัน.4 พล.1 รอ. แม้ไข่ที่ขว้างจะเป็นไข่ต้มหรือไข่ดิบ แต่ถือไม่ได้ว่าเป็นสาระสำคัญ เพราะต่างถือได้ว่าเป็นการกระทำให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนหรือน่าจะเปรอะเปื้อนทรัพย์หรือแกล้งทำให้ของโสโครกเป็นที่เดือดร้อนรำคาญ

ส่วนพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 และ 2 แสดงพฤติกรรมในเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการเทและสาดสีที่ประตูรั้วทางเข้า และทาสีที่ป้ายชื่อ พัน.4 พล.1 รอ. พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำให้ประตูรั้วและป้ายดังกล่าวเสียหายและเสื่อมค่า แม้ภายหลังข้อเท็จจริงจะปรากฏหลังเกิดเหตุว่ามีฝนตกลงมา เป็นเหตุให้น้ำฝนชะล้างทำความสะอาดสีดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสามนำสืบว่าเป็นสีน้ำอะคลีริค สามารถล้างออกได้ด้วยน้ำเปล่า ก็ไม่ทำให้ความผิดที่สำเร็จลงไปแล้วกลับกลายเป็นไม่เป็นความผิด

ที่จำเลยที่ 1 และ 2 อ้างว่าการเท สาด และทาสี เป็นเสรีภาพในการเรียกร้องต่อ พัน.4 พล.1 รอ. ให้ รับผิดชอบต่อเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 ซึ่งเป็นการทวงความยุติธรรมและไม่เป็นการใช้ความรุนแรงนั้น เห็นว่า หากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐกระทำการอันไม่ชอบด้วยหน้าที่หรือทำผิดกฎหมาย จำเลยที่ 1 และ 2 ในฐานะพลเมืองของประเทศไทย ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการร้องเรียนและร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าวตามขั้นตอน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวถูกดำเนินการทางวินัยและทางกฎหมาย แต่การร้องทุกข์ดังกล่าวต้องทำด้วยความสงบ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับหน่วยงานของรัฐและประชาชนต่างๆ และต้องกระทำภายใต้กฎหมาย แต่เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 และ 2 ในวันเวลาที่เกิดเหตุ มิได้กระทำภายใต้กฎหมายและยังเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับ พัน.4 พล.1 รอ. และประชาชนต่างๆ ที่พักอาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงและที่สัญจรไปมาอีกด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 และ 2 จึงไม่ใช่การใช้เสรีภาพในการเรียกร้องที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบธรรม

เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานจากการนำสืบของโจทก์ จึงมีน้ำหนักมั่นคง สามาถรับฟังได้โดยไม่สะดุดตามข้อกฎหมายว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ขณะที่เกิดเหตุนั้น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2548 ไม่ใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 3 (6) ที่ไม่บังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

.

การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท, ฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 200 บาท, ฐานร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และ 365 (2) จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท, ฐานกระทำการใดๆ ให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนหรือน่าจะเปรอะเปื้อนทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 389 ปรับ 1,000 บาท และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 จำคุก 4 เดือนและปรับ 5,000 บาท รวมจำคุก 12 เดือน ปรับ 20,200 บาท

จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 2 เดือนและปรับ 4,000 บาท, ฐานร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 4 เดือนและปรับ 5,000 บาท รวมจำคุก 12 เดือน ปรับ 19,000 บาท

จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 2 เดือน ปรับ 4,000 บาท, ฐานร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 6 เดือน ปรับ 14,000 บาท

ทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษจำเลยทั้งสาม หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็น 9 เดือน และปรับ 15,150 บาท คงจำคุกจำเลยที่ 2 เป็น 9 เดือน และปรับ 14,250 บาท คงจำคุกจำเลยที่ 3 เป็น 6 เดือน และปรับ 10,500 บาท

ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ให้คุมประพฤติของจำเลยทั้งสาม คนละ 1 ปี ให้จำเลยทั้งสามไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและระยเวลาตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด และให้จำเลยทั้งสามทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งสามเห็นสมควรเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง

.

ภาพวันเกิดเหตุจากข่าวสด

.

จำเลยยังเชื่อไม่ได้บุกรุกและทำลายทรัพย์สิน เตรียมหารือยื่นอุทธรณ์ต่อ

ภายหลังฟังคำพิพากษาเสร็จ จำเลยทั้งสามถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวให้อยู่ภายในห้องพิจารณาคดีจนกว่านายประกันจะดำเนินการจ่ายค่าปรับเสร็จ รวมค่าปรับทั้งสิ้น 39,900 บาท ได้รับความช่วยเหลือทางกองทุนราษฎรประสงค์

ระหว่างนั้น ธนชัย เอื้อฤาชา จำเลยที่ 2 ได้บอกกล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อคำพิพากษาในวันนี้ “ก็ยอมรับในกระบวนการยุติธรรม แต่ในเรื่องที่เขากล่าวหาว่าเราบุกรุกและทำลายทรัพย์สิน เรายืนยันว่าเรากระทำอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย เราไม่ได้ฝ่าฝืน เพราะว่าไข่ต้มก็เป็นของกิน ไม่ใช่ของโสโครก สีที่เอามาสาด มันก็เป็นสีน้ำ สามารถล้างออกได้ ไม่ใช่ของโสโครกเช่นกัน เรายืนยันในหลักการว่าเราเรียกร้องภายใต้กรอบกฎหมาย เราไม่ได้ใช้ความรุนแรง และไม่ได้ทำลายทรัพย์สินให้เกิดความเสียหาย”

สำหรับความเห็นในเชิงกฎหมายต่อคำพิพากษา จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว หนึ่งในทนายจำเลย กล่าวว่ามีหลายประเด็นที่เธอยังคงไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาของศาล และจะหารือเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป

“ในคดีนี้ ศาลรับฟังพยานโจทก์และวินิจฉัยในส่วนของข้อกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งความจริงแล้ว เรามีความเห็นไม่ตรงกับศาลในหลายประเด็น เช่น เรื่องการบุกรุก ศาลมองว่า ขณะที่จำเลยกระทำ จำเลยได้พิจารณาและมีเจตนาที่จะเข้าไปภายในกองพันฯ แล้ว ทั้งที่พฤติการณ์ของจำเลยมันไม่ใช่ พฤติการณ์ของพวกเขาเพียงแค่ปีนขึ้นไปและอยู่บนรั้ว ถามเราว่าเป็นการรบกวนการครอบครองไหม ความเห็นของเราทั้งในเชิงข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เราเห็นว่ามันยังไม่เข้าองค์ประกอบเรื่องการรบกวนการครอบครอง

“เรื่องการทำให้เสียทรัพย์เองก็เช่นกัน ข้อกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า ทำให้เสื่อมค่าเสื่อมราคา แต่ป้ายกับรั้วที่ถูกเทสาดหรือทาสีในคดีนี้ มันไม่ได้เสื่อมค่าเสื่อมราคาและไม่ได้ถูกทำลายให้เสียหายเลย วันเกิดเหตุเองก็มีฝนตก ฝนก็ชะล้างสีออกไปบางส่วน ดังนั้น จึงไม่มีตัวอักษรโลหะตัวไหนที่ได้รับความเสียหาย และศาลเองก็ไม่ได้อธิบายว่า จำเลยทำให้เสื่อมค่าเสื่อมราคาอย่างไร ซึ่งเราเองก็ได้ถามค้านประเด็นนี้ในชั้นสืบพยานโจทก์ พยานโจทก์เองก็ตอบเราไม่ได้ว่าตัวอักษร ป้าย หรือรั้วนั้นได้รับความเสียหายอย่างไร

เมื่อถามถึงเหตุผลในการวินิจฉัยของศาล ซึ่งระบุว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของจำเลยด้วยการเท สาด หรือทาสีนั้น เป็นการใช้เสรีภาพในการเรียกร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบธรรม จันทร์จิรา ยืนยันว่า เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้และอยู่ภายใต้ขอบเขตของสันติวิธี

“วิธีการทวงถามความยุติธรรมในสังคมไทย มันมีอยู่หลากหลายรูปแบบ ด้วยเหตุผลว่ากลไกการเรียกร้องความยุติธรรมแบบปกตินั้นไม่สามารถใช้ได้จริงในสังคมไทย เราจะเห็นได้จากหลากหลายกรณี เช่น เหตุการณ์ที่ชายคนหนึ่งซื้อรถมือหนึ่ง แต่ว่ารถมีความเสียหายและโชว์รูมไม่ยอมรับผิดชอบ วิธีการทวงคืนความยุติธรรมของเขาตามขั้นตอนนั้น มันไม่ได้รับการพิจารณา มันไม่ได้ผล เขาเลยต้องออกมาทุบรถตัวเอง”

“เราเห็นว่าขั้นตอนตามปกติ ซึ่งผู้เสียหายส่วนใหญ่เขาก็ดำเนินไปตามขั้นตอนแล้ว แต่พอไปแจ้งความแล้วเรื่องกลับเงียบ อย่างเช่น กรณีคดีแพทย์พยาบาลอาสาถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. (ควบคุมฝูงชน) ทำร้ายร่างกายและมีภาพคลิปวิดีโอยืนยันเหตุการณ์ชัดเจน แต่จนถึงตอนนี้คดีก็ยังคงไม่คืบหน้าไปไหน ในสังคมไทย เมื่อเราเป็นฝ่ายตรงข้ามที่แสดงความคิดเห็นคัดค้านหรือต่อต้านรัฐบาล การทวงความยุติธรรมที่เป็นไปตามกระบวนการ มักจะไม่ได้ผล เพราะฉะนั้น การแสดงออกหรือเรียกร้องให้มีการหาตัวทหารที่ทำร้ายประชาชนแบบในคดีนี้ จึงเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้และอยู่ภายในขอบเขตของสันติวิธี”

“เพียงแต่ว่าถ้ามองในมุมของการเป็นผู้พิพากษาที่อยู่กับกรอบของกฎหมาย อาจจะมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่นอกกรอบ ทำไมคุณไม่ทำตามขั้นตอนกระบวนการ ก็มองได้เหมือนกัน แต่เรากำลังพยายามจะบอกกับศาลว่า สิ่งที่เราทำ มันไม่ได้เกินเลยไปจากกรอบที่กฎหมายกำหนดและยังอยู่ในขอบเขตของเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ

.

X