Recap มิ.ย. 66 : คดี ม.112 ทยอยถูกขังหลังศาลพิพากษา ขณะคดีเก่าศาลก็ยังไม่ให้ประกัน  

จนถึงปัจจุบัน (1 ก.ค. 2566) มีผู้ต้องขังคดีการเมืองถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ อย่างน้อย 17 ราย แบ่งเป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี 7 ราย และเป็นผู้ถูกคุมขังในคดีที่สิ้นสุดแล้ว (นักโทษเด็ดขาด) 10 ราย 

ผู้ต้องขังที่ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี 7 ราย ในจำนวนนี้เกินครึ่งเป็นผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหา มาตรา 112 จำนวน 4 ราย ได้แก่ วุฒิ, เวหา, ทีปกร และวารุณี  อีกส่วนที่เหลือเป็นผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองวัตถุระเบิดปิงปอง จำนวน 3 ราย ได้แก่ “ธี” ถิรนัย, “มาย” ชัยพร และ “มาร์ค” ชนะดล โดยทั้งสามถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลานาน 3-4 เดือนแล้ว

ผู้ต้องขังระหว่างสู้คดี: ถูกขังเพิ่ม 5 ราย ได้ประกันแค่ 3 ราย ขณะ 2 ราย “ทีปกร – วารุณี” ในคดี ม.112 ถูกขังต่อ ศาลอ้างข้อหาอัตราโทษสูง – เชื่อว่าจะหลบหนี

ตลอดเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองถูกคุมขังเพิ่มอีก 5 ราย จากการที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีทั้งสิ้น ได้แก่ ทีปกร, พรพจน์, ธนายุทธ, ปฏิมา และวารุณี ทว่าศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวเพียง 3 รายในคดีของพรพจน์, ธนายุทธ และปฏิมา จำนวนผู้ต้องขังในช่วงเดือนที่ผ่านมาจึงมีความเปลี่ยนแปลงขึ้น-ลงเพียงเล็กน้อย และยังคงเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับ 2 ข้อหาหลัก คือ ม.112 และข้อหาที่เกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิด

ความเคลื่อนไหวแรกของเดือน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา กับ “ทีปกร” วัย 38 ปี ในคดี ม.112 กรณีโพสต์-แชร์คลิปตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์ ทำให้ทีปกรถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนั้น โดยศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว อ้างเหตุผลว่า “ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำของจำเลยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์และกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น”

ต่อมา เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา กับนักกิจกรรมและประชาชน 3 ราย ได้แก่ พรพจน์ แจ้งกระจ่าง, “บุ๊ค” ธนายุทธ และปฏิมา ในคดีที่ถูกฟ้องว่าปาระเบิดปิงปองใส่หน้าบ้านพักประยุทธ์ ในช่วงคืนวันที่ 10 เม.ย. 2565 ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งคำร้องขอประกันตัว ทั้งสามจึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำระหว่างรอคำสั่ง ก่อนศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ในวันที่ 22 มิ.ย. ทั้งสามจึงถูกปล่อยตัว รวมระยะเวลาถูกคุมขัง 3 วัน 

ในวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี กับ “วารุณี” ผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) วัย 30 ปี ในคดีที่มีข้อหาหลักตามมาตรา 112 กรณีโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต” เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari ศาลลดโทษจำคุกเหลือ 1 ปี 6 เดือน เพราะให้การรับสารภาพ แต่ไม่รอลงอาญา 

ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งคำร้องขอประกัน วารุณีจึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ซึ่งต่อมา วันที่ 30 มิ.ย. ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวชั้นอุทธรณ์ อ้างเหตุผลว่า ข้อหามีอัตราโทษสูงจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ 

นอกจากคดีที่กล่าวมาข้างต้น พบว่า ศาลไม่มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดีรายใดอีก แม้ว่าเมื่อเทียบกับคดีอื่นที่มีพฤติการณ์และความหนักเบาคล้ายกัน กลับมีคำสั่งให้ประกันตัว

ผู้ต้องขังคดีสิ้นสุดเพิ่มอีก 2 ราย รวมมีอย่างน้อย 10 ราย ด้าน “ต๊ะ-คทาธร” เตรียมถูกปล่อยตัว 24 ก.ค. นี้

ในเดือนที่ผ่านมา มีผู้ต้องขังคดีการเมืองระหว่างต่อสู้คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไปอีก จำนวน 2 ราย ได้แก่ สุวิทย์และทัตพงศ์ ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวกับการครอบครองวัตถุระเบิด แต่เป็นคนละคดีกัน 

“สุวิทย์” ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาในคดีครอบครองระเบิดปิงปอง กรณี #ม็อบ10สิงหา2564 และเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 1 ปี 3 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และศาลฎีกาก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวในครั้งแรก ต่อมา สุวิทย์ได้ปรึกษากับครอบครัวแล้วจึงตัดสินใจจะไม่ยื่นฎีกาคำพิพากษาต่อไปอีก และจะรับโทษจำคุกให้ครบตามกำหนด 

ส่วน “ทัตพงศ์” คืออีกหนึ่งผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ถูกคุมขังเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ก่อนหน้านี้ทัตพงศ์ถูกจับกุมในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการครอบครองวัตถุระเบิดและยุทธภัณฑ์ในช่วงการชุมนุมของทะลุแก๊ส บริเวณถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2564 เขาถูกคุมขังระหว่างชั้นสอบสวนมาตั้งแต่วันนั้นจนครบกำหนดฝากขัง 84 วัน และได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 8 ก.พ. 2566 

ต่อมา เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 อัยการยื่นฟ้องคดีของทัตพงศ์ต่อศาลอาญา และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ทัตพงศ์จึงถูกคุมขังเป็นหนที่ 2 เรื่อยมา จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 31 พ.ค. 2566 โดยพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ซึ่งทัตพงศ์ตัดสินใจไม่อุทธรณ์คำพิพากษา 

คดีความของสุวิทย์และทัตพงศ์ถึงที่สุดแล้ว ทั้งสองจึงจะถูกคุมขังต่อไปในฐานะ “นักโทษเด็ดขาด” จนกว่าจะครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาของศาล 

อย่างไรก็ตาม เดือนกรกฎาคมนี้ “คทาธร” หนึ่งในผู้ต้องขังคดีการเมืองที่คดีสิ้นสุดแล้ว จะถูกคุมขังจนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาจำคุก 1 ปี 3 เดือน 15 วัน ของศาลชั้นต้น ในคดีครอบครองวัตถุระเบิด โดยคทาธรจะได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันที่ 24 ก.ค. 2566 นี้ 

อ่านรายชื่อผู้ต้องขังคดีการเมืองและพฤติการณ์คดีเพิ่มเติมได้ที่: รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมือง 2566 

X