320 คือ จำนวนวันที่ ‘ธิรนัย-ชัยพร’ ถูกคุมขัง ซึ่งนานที่สุดในรอบปี 2566 ที่มี 365 วัน (ยังคงถูกขัง)
67 คือ จำนวนคนทั้งหมดที่ถูกคุมขังในคดีการเมืองตลอดทั้งปี 2566
34 คือ จำนวนคนที่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำ ด้วยคดีมาตรา 112
6 คือ จำนวนคนที่ถูกขังเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว จนต้องตัดสินใจยุติการสู้คดี
9 คือ คนที่ลุกขึ้นประท้วงทวงสิทธิประกันตัว ระหว่างถูกคุมขัง
ปี 2566 นี้อาจนับได้ว่ามีผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองเป็นจำนวน ‘มากที่สุด’ ในรอบหลายปี เพราะตลอดทั้งปีที่ผ่านมามีประชาชนและนักกิจกรรมทางการเมืองทยอยเข้าเรือนจำอย่างต่อเนื่องในหลายคดี อย่างน้อย 56 คน มากกว่าปี 2565 ที่มียอดคนถูกคุมขังอยู่ตลอดทั้งปีที่อย่างน้อย 46 คน
เมื่อนับรวมกับผู้ที่ถูกคุมขังต่อเนื่องมาจากปี 2565 อย่างน้อย 19 คน จะทำให้ตลอดทั้งปี 2566 นี้มีคนถูกคุมขังในเรือนจำ อย่างน้อย 67 คน
จากจำนวนผู้ถูกคุมขังกว่า 67 คนข้างต้น อย่างน้อย 37 คนยังไม่ถูกปล่อยตัวและทำให้พวกเขาจะต้องถูกคุมขังข้ามปีไป 2567 นับว่าเป็นจำนวนที่มากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา โดยรอยต่อปี 2564 – 2565 มีอย่างน้อย 22 คน และรอยต่อปี 2565 – 2566 มีอย่างน้อย 19 คน
ภาพรวมการเข้า – ออกเรือนจำตลอดปี 2566 : ต่อเดือนคนถูกขังมีมากกว่าคนได้ปล่อย 5:3 ขณะ ม.112 ขึ้นแท่นเหตุทำคนถูกขังมากที่สุดกว่า 27 คน
โดยภาพรวมตลอดทั้งปี 2566 แล้วพบว่า ‘ทุกเดือน’ จะต้องมีคนถูกส่งตัวเข้าไปคุมขังในเรือนจำ เฉลี่ยเดือนละประมาณ 5 คน โดยเดือนมีนาคมมีคนถูกส่งเข้าเรือนจำมากที่สุดถึง 14 คน ตามมาด้วยเดือนสิงหาคม จำนวน 10 คน
ขณะการปล่อยตัว เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละประมาณ 3 คนเท่านั้น โดยมีถึง 3 เดือนที่ ‘ไม่มี’ คนได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำเลย ได้แก่ มกราคม, สิงหาคม และกันยายน ช่วงเดือนอื่น ๆ ที่เหลือก็มีผู้ได้รับการปล่อยตัวน้อยมาก ประมาณ 1-3 เท่านั้น และมีเพียง 3 เดือนที่มีจำนวนผู้ได้รับอิสรภาพสูงกว่าช่วงเดือนอื่น ๆ คือ กุมภาพันธ์ รวม 15 คน, มีนาคม รวม 9 คน และพฤศจิกายน รวม 5 คน
TOP 3 คดีความที่ทำให้คนถูกขังมากที่สุด *
อันดับที่ 1 คดีในข้อหาตามมาตรา 112 อย่างน้อย 27 คน ในจำนวน 29 ครั้ง
อันดับที่ 2 คดีที่เกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิด อย่างน้อย 17 คน ในจำนวน 19 ครั้ง
อันดับที่ 3 คดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและแสดงออกอื่น ๆ อย่างน้อย 9 ครั้ง
TOP 3 สาเหตุที่ทำให้คนถูกคุมขังมากที่สุด *
อันดับที่ 1 : ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก รวม 33 ครั้ง
อันดับที่ 2 : ถูกฝากขังชั้นสอบสวน รวม 7 ครั้ง
อันดับที่ 3 : ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก รวม 6 ครั้ง
สาเหตุอื่น ๆ ที่เหลือ 12 ครั้ง ได้แก่ อัยการยื่นฟ้องคดี, ถูกสั่งถอนประกัน , ถอนประกันตัวเอง, ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก และเป็นมาตรการพิเศษของศาลเยาวชนฯ
TOP 3 เหตุผลที่ทำให้ผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัว
อันดับที่ 1 ได้รับการประกันตัว อย่างน้อย 36 คน
อันดับที่ 2 ถูกขังจนครบโทษ อย่างน้อย 3 คน
อันดับที่ 3 อัยการไม่ฟ้องในผัดฝากขัง อย่างน้อย 1 คน
*หมายเหตุ ไม่นับรวมคดีของคนที่ถูกคุมขังต่อเนื่องมาจากปี 2565 จำนวน 19 คน
ผู้ต้องขังระหว่างสู้คดี : ‘ถิรนัย-ชัยพร’ ถูกขังนานไร้สิทธิประกันกว่า 320 วันทุบสถิติปี 64-65 พบที่ผ่านมาถูกขังเฉลี่ย 3 เดือนก่อนได้ประกันตัว
การถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีในปี 2566 นั้น มาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะศาลอนุญาตให้ฝากขังระหว่างชั้นสอบสวน, ไม่ได้รับประกันตัวภายหลังอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล, ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีพิพากษาจำคุก โดยไม่รอลงอาญา และต่อมาไม่ได้ประกันตัว รวมไปถึงการยื่นถอนประกันตัวเองในคดีเดิมที่เคยได้ประกันตัว เพื่อเป็นการแสดงออกทางการเมือง
ผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดีที่ต้องเข้าเรือนจำและไม่ได้ประกันตัวในครั้งแรก ทำให้ต่อมาหลายคนถูกคุมขังเป็นระยะเวลานานนั้น พบว่ากรณีเช่นนี้พวกเขาต้องถูกคุมขังเฉลี่ย 94 วัน หรือประมาณ 3 เดือน ศาลจึงจะให้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
นี่ยังไม่นับรวมผู้ต้องขังระหว่างสู้คดีที่กำลังถูกคุมขังเป็นระยะเวลายาวนาน โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว โดยจนถึงปัจจุบัน (31 ธ.ค. 2566) มีอย่างน้อย 24 รายกำลังอยู่ในเรือนจำ
สำหรับผู้ที่ถูกคุมขังนานที่สุดในรอบปี 2566 โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวนั้น คือ “ถิรนัย – ชัยพร” สองผู้ต้องขังในคดีที่ถูกฟ้องว่าครอบครองวัตถุระเบิด (ระเบิดปิงปอง) ถูกคุมขังเป็นเวลา 320 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2566 หรืออาจพูดได้ว่าในปี 2566 นั้นพวกเขาได้มีอิสรภาพอยู่ด้านนอกเรือนจำเพียง 1 เดือนครึ่งเท่านั้น
การถูกคุมขังที่ยาวนานของทั้งสองคน นับได้ว่าทำลายสถิติการถูกคุมขังที่ยาวนานที่สุดโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวของ 2 ปีก่อนหน้า คือ “อานนท์ นำภา” ที่เคยถูกขังในระลอกปี 2564 นาน 202 วัน ก่อนได้ประกันตัว และคทาธร ในระลอกปี 2565 ที่เคยถูกขังนาน 300 กว่าวัน ก่อนคดีถึงที่สุด
รองจากถิรนัยและชัยพร ในปีนี้คนที่ถูกขังนานที่สุดลำดับที่ 2 และ 3 เป็นของ “มาร์ค” ชนะดล ในคดีที่มีข้อหาเดียวกัน ถูกคุมขังด้วยระยะเวลา 292 วัน ตั้งแต่ถูกอัยการสั่งฟ้องคดีในวันที่ 15 มี.ค. 2566 กระทั่งปัจจุบันศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีของเขาระหว่างที่ถูกคุมขังแล้ว รวมถึง “วุฒิ” ถูกคุมขังในคดี ม.112 นาน 280 วัน
ผู้ต้องขังคดีถึงที่สุด : จาก 3 คนในปี 64 เพิ่มเป็น 13 คนในปี 66 เกือบครึ่งเคยถูกขังระหว่างสู้คดีนานจนถอดใจ สุดท้ายเลือกให้ถึงคดีถึงที่สุด
ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ถูกคุมขังในคดีถึงที่สุดแล้วดูว่าเหมือนจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจำนวนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ถูกคุมขังเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ทำให้พวกเขาตัดสินใจยุติการสู้คดีและรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลต่อไปในฐานะผู้ต้องขังคดีถึงที่สุด
เมื่อปี 2564 มีผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดอย่างน้อย 3 คน ได้แก่ โย่ง ป้าอัญชัญ และศุภากร
เมื่อปี 2565 มีผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดเพิ่มขึ้นอีก อย่างน้อย 5 คน ได้แก่ พลทหารเมธิน, “มะ” ณัฐชนน, ปริทัศน์, วรรณภา และกฤษณะ ส่งผลให้ยอดสะสมอยู่ที่ อย่างน้อย 8 คน
ในปี 2566 มีผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดเพิ่มขึ้นอีก อย่างน้อย 8 คน แต่มีผู้ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากถูกขังจนครบโทษแล้ว 3 คน ในช่วงปีนี้จึงมียอดสะสมอยู่ที่ อย่างน้อย 13 คน
สำหรับผู้ต้องขังคดีถึงที่สุด จำนวน 8 คนที่ถูกคุมขังภายในปีนี้นั้น เป็นผลมาจากคำพิพากษาของศาลฎีกา จำนวน 2 คน ได้แก่ เอกชัย หงส์กังวาน และ กิจจา
ส่วนอีก 6 คนที่เหลือ เดิมทีนั้นถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี ไม่ว่าจะภายหลังถูกอัยการสั่งฟ้อง รวมถึงคำพิพากษาจำคุกของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่เมื่อถูกคุมขัง ‘โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว’ เป็นระยะเวลานาน ประกอบกับอัยการโจทก์ไม่ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาอีก ทำให้พวกเขาทั้ง 6 คนตัดสินใจยุติการต่อสู้คดีและยินยอมรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาในฐานะ ‘ผู้ต้องขังคดีถึงที่สุด’ หรือ ‘นักโทษเด็ดขาด’
ผู้ต้องขังที่ตัดสินใจยุติการสู้คดีจำนวนหนึ่งสะท้อนให้ฟังว่า การเลือกวิธีให้คดีถึงที่สุดนั้น อย่างนั้นก็ยังเห็นจุดสิ้นสุดของการถูกดำเนินคดีว่าจะต้องรับโทษที่แน่ชัดกี่ปี กี่เดือน กี่วันกันแน่ อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีเพื่อรอคอยสิทธิประกันตัวโดยไม่มีวันรู้ได้เลยว่าจะได้ออกไปจากเรือนจำเมื่อใด และการที่คดีถึงที่สุด ยังได้รับโอกาสในการพักโทษ หรือคำนวณวันลดหย่อนโทษอีกด้วย
สำหรับปีหน้า 2567 นักโทษเด็ดขาดในคดีการเมืองที่ปัจจุบันมีอยู่อย่างน้อย 13 คนนั้น ปีหน้า ปี 2567 จะมีผู้ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากถูกคุมขังจนครบโทษตามคำพิพากษาของศาล อย่างน้อย 5 ราย ได้แก่ เอกชัย, ปริทัศน์, โย่ง, สุวิทย์ และเมธิน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ต้องขังคดีถึงที่สุด อย่างน้อย 5 คน ซึ่งจะต้องเข้ากระบวนการเพื่อรับการพิจารณาให้ได้พักโทษต่อไป คาดว่าจะทราบความคืบหน้าภายในต้นปี 2567
ผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดในคดีการเมือง | |||||
ลำดับ | รายชื่อ | อายุ | วันที่ถูกคุมขัง | ระยะเวลาที่ถูกคุมขัง(วัน) | กำหนดปล่อยตัว |
1 | โย่ง | 51 | 1 ธ.ค. 2563 | 1126 | 15 มิ.ย. 2567 |
2 | อัญชัญ ปรีเลิศ | 67 | 19 ม.ค. 2564 | 1077 | 24 ก.ย. 2574 |
3 | พลทหารเมธิน | 23 | 19 มี.ค. 2565 | 653 | ต.ค. 2567 |
4 | มะ ณัฐชนน | 26 | 9 ส.ค. 2565 | 510 | ปี 2568 |
5 | ปริทัศน์ | 33 | 12 ต.ค. 2565 | 446 | เม.ย. 2567 |
6 | วรรณภา | 35 | 30 พ.ย. 2565 | 397 | ปี 2568 |
7 | กฤษณะ | 37 | 30 พ.ย. 2565 | 397 | ปี 2568 |
8 | ทัตพงศ์ เขียวขาว | 26 | 1 มี.ค. 2566 | 306 | ปี 2568 |
9 | อาร์ต สุวิทย์ | 32 | 24 เม.ย. 2566 | 252 | มิ.ย. 2567 |
10 | เอกชัย หงส์กังวาน | 48 | 6 ก.ค. 2566 | 179 | 4 ก.พ. 2567 |
11 | วัฒน์ | 30 | 17 ก.ค. 2566 | 168 | ปี 2568 |
12 | สุดใจ | 53 | 12 ต.ค. 2566 | 81 | ปี 2568 |
13 | กิจจา | – | 1 พ.ย. 2566 | 61 | ปี 2568 |
การประท้วงในเรือนจำทวงสิทธิประกันตัว : รวม 3 ระลอก 10 ครั้ง โดยผู้ต้องขัง 9 คน 2 ระลอกในครึ่งปีหลังไร้การตอบรับข้อเรียกร้อง ทำ ‘วารุณี-เวหา-ภูมิ’ ยังถูกขัง
การประท้วงในเรือนจำ ปี 2566 | ||||||
ลำดับ | ระลอก | รายชื่อผู้ประท้วง | วิธีที่ใช้ | วันที่เริ่มต้น | วันที่ยุติ | รวม |
1 | 1 | ตะวัน – ทานตะวัน(คดี ม.112) | อดอาหาร | 18 ม.ค. 2566 | 11 มี.ค. 2566 | 52* |
2 | 1 | แบม – อรวรรณ(คดี ม.112) | อดอาหาร | 18 ม.ค. 2566 | 11 มี.ค. 2566 | 52* |
3 | 1 | แท็ค – สิทธิโชค(คดี ม.112) | อดอาหาร | 17 ม.ค. 2566 | 10 ก.พ. 2566 | 24 |
ฝืนตื่น | 8 ก.พ. 2566 | 10 ก.พ. 2566 | 3 | |||
4 | 1 | เก็ท – โสภณ(คดี ม.112) | ฝื่นตื่น | 7 ก.พ. 2566 | 20 ก.พ. 2566 | 14 |
5 | 1 | ต้อม – จตุพล | ฝื่นตื่น | 7 ก.พ. 2566 | 10 ก.พ. 2566 | 4 |
6 | 1 | แบงค์ – ณัฐพล | ฝื่นตื่น | 7 ก.พ. 2566 | 10 ก.พ. 2566 | 4 |
7 | 2 | น้ำ – วารุณี(คดี ม.112) | อดอาหาร | 21 ส.ค. 2566 | 6 ต.ค. 2566 | 46 |
8 | 2 | เวหา(คดี ม.112) | อดอาหาร | 23 ส.ค. 2566 | 10 ต.ค. 2566 | 49 |
9 | 3 | ภูมิ หัวลำโพง(คดี ม.112) | อดอาหาร | 15 พ.ย. 2566 | 20 พ.ย. 2566 | 6 |
* การประท้วงครึ่งหลังตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2566 ไปจนกระทั่งยุติการประท้วงในวันที่ 11 มี.ค. 2566 เกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้อยู่ในสถานะผู้ต้องขังแล้ว เนื่องจากได้รับการปล่อยตัวแล้ว
ในปี 2566 มีการประท้วงทุกประเภท เกิดขึ้นอย่างน้อย 10 ครั้ง โดยผู้ประท้วง 9 คน
ปีนี้ยังคงมีการประท้วงอย่าง ‘การอดอาหาร’ เกิดขึ้นอยู่ในจำนวนที่ไล่เลี่ยกับ 2 ปีก่อนหน้า ในจำนวนอย่างน้อย 6 ครั้ง แต่เหมือนว่าจะมีความเข้มข้นกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา เพราะมีการริเริ่มใช้วิธีอดทั้งอาหารและน้ำ หรือ (Dry Hunger Strike) ซึ่งแทบจะไม่พบเลยในประเทศไทย เนื่องจากมีความอันตรายและใช้เวลาเข้าใกล้จุดวิกฤติของร่างกายสั้นมาก
ทั้งยังมีการประท้วงด้วยวิธี ‘ฝืนตื่น’ หรือการบังคับไม่ให้ตัวเองนอนหลับตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิธีแปลกใหม่ที่สังคมไม่คุ้นเคยมาก่อน แต่สร้างผลอันตรายต่อผู้ประท้วงได้รุนแรงแทบไม่ต่างกับการอดอาหารและน้ำ โดยมีผู้ใช้วิธีฝืนตื่นประท้วง อย่างน้อย 4 ครั้ง โดยผู้ประท้วง 4 คน
เมื่อทบทวนดูไทม์ไลน์ของปี 2566 นี้ จะเห็นว่าการประท้วงระลอกใหญ่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี ซึ่งมากถึง 6 ครั้ง ระลอกต่อมาเกิดขึ้นช่วงกลางปี ในเดือนสิงหาคม จำนวน 2 ครั้ง และปิดจบด้วยระลอกที่ 3 ในช่วงปลายปี อย่างน้อย 1 ครั้ง เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน
โดยระหว่างการประท้วงระลอกที่ 1 ของผู้ต้องขังในเรือนจำในช่วงต้นปี 2566 เกิดขึ้นไล่เลี่ยพร้อมกันกว่า 6 คน ไปจนกระทั่งการประท้วงสุดท้ายยุติลงนั้น ปรากฏว่ามีผู้ต้องขัง ‘ระหว่างสู้คดี’ ในขณะนั้นได้รับปล่อยตัวมากถึง 15 คน จากทั้งหมด 18 คน ทว่าการประท้วงระลอกที่ 2 และ 3 แทบจะไม่พบว่าข้อเรียกร้องของพวกเขาได้รับการตอบรับเลย ซึ่งปัจจุบันผู้ประท้วงยังคงถูกคุมขังอยู่
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง