Recap สถานการณ์ผู้ต้องขังคดีการเมืองในรอบปี 2565: 47 คนถูกขัง 11 คนประท้วงด้วยชีวิต 4 คนถูกขังยาวนานทุบสถิติ ด้านนักโทษเด็ดขาดเพิ่มขึ้นถึง 4 ราย 

ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมามีประชาชนและนักกิจกรรมทางการเมืองทยอยเข้าและออกเรือนจำอย่างต่อเนื่องในหลายคดี ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมจนถึงช่วงสิ้นปี โดยตลอดทั้งปีมีผู้ถูกคุมขังในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง อย่างน้อย 47 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการปล่อยตัวแล้ว 31 ราย และยังคงถูกคุมขังอยู่ 15 ราย แบ่งเป็นการถูกขังระหว่างต่อสู้คดี 11 ราย และเป็นการถูกขังในฐานะนักโทษเด็ดขาด เนื่องจากคดีสิ้นสุดแล้ว 4 ราย เมื่อนับรวม “อัญชัญ” และ “ศุภากร” ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ถูกคุมขังมาตั้งแต่ ปี 2564 จะทำให้ปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังในคดีการเมือง อย่างน้อย 17 ราย

หากยังพอจำกันได้ ช่วงรอยต่อปี 2564 – 2565 มีผู้ต้องขังในคดีการเมืองถูกคุมขังข้ามปี อย่างน้อย 22 ราย แม้ปี 2565 นี้อาจจะมีผู้ถูกคุมขังต่อเนื่องข้ามพ้นปีน้อยกว่าปีก่อน แต่ถือเป็นจำนวนที่ไม่ต่างกันมากนัก และปีนี้เป็นปีที่ทำให้นักกิจกรรมและประชาชนหลายคนถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดียาวนานที่สุดในรอบ 2 ปีผ่านมา ทำลายสถิติ “อานนท์ นำภา” ซึ่งถูกขังข้ามปีด้วยการถูกขังในเรือนจำ รวม 256 วัน (จำนวนวัน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2564) ต่อมาได้รับการปล่อยตัวในต้นปี 2565 รวมถูกขัง 202 วัน

แต่ปรากฏว่า ในปีนี้จะมีผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดีที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวถูกคุมขังเป็นระยะเวลายาวนานเกิน 202 วัน มีจำนวนถึง 4 รายแล้ว ได้แก่ คทาธรและคงเพชร ถูกขัง 265 วัน, พรพจน์ แจ้งกระจ่าง ถูกขัง 264 วัน, สมบัติ ทองย้อย ถูกขัง 245 วัน และยังมีผู้ต้องขังอีก 4 รายที่ถูกคุมขังใกล้จะล่วง 202 วันเต็มที ได้แก่ “อาร์ม” วัชรพล ถูกขัง 201 วัน, “ต้อม” จตุพล ถูกขัง 200 วัน, “แบงค์” ณัฐพล และ “เก่ง” พลพล ถูกขัง 198 วัน (จำนวนวัน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565)

ภาพรวมการเข้าออกเรือนจำตลอดทั้งปี: เปิดต้นปี-ปิดท้ายปีด้วยคดี ม.112 คดีเกี่ยวกับการชุมนุมครองอันดับ 1 ทำคนถูกขังมากที่สุด

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี 2565 มีผู้ต้องขังในคดีการเมืองที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 และถูกขังข้ามปีมีจำนวนอย่างน้อย 20 ราย ต่อมาทยอยได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำทั้งหมดในช่วงเดือนมกราคมไปจนถึงต้นเดือนมีนาคม อาทิ อานนท์ นำภา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, เบนจา อะปัญ เป็นต้น ขณะเดียวกันในช่วงสองเดือนแรกของปีก็ไม่พบว่ามีนักกิจกรรมหรือประชาชนคนใดถูกคุมขังในคดีเกี่ยวกับการเมืองเพิ่มเติมอีก

ช่วงต้นเดือนมีนาคม ผู้ต้องขังในคดีการเมืองที่ถูกขังคุมต่อเนื่องมาจากปี 2564 ได้รับการปล่อยตัวจนหมด แต่เพียงไม่กี่วันต่อมาก็ได้มีผู้ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำเป็นคนแรกของปี 2565 คือ “เวหา แสนชนชนะศึก” ซึ่งถูกจับกุมและคุมขังระหว่างสอบสวนในคดีมาตรา 112 จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าแชร์และโพสต์ข้อความ 2 โพสต์ ต่อมายังถูกถอนประกันตัวในคดีมาตรา 112 กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่ชื่อว่า “ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด” อีกด้วย 

ภายหลังจากนั้นก็มีประชาชนและนักกิจกรรมถูกส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำต่อเนื่อง “ทุกเดือน” จนถึงเดือนธันวาคม ซึ่งเดือนสุดท้ายของปีนี้ พบว่า “เอก” (นามสมมติ) เป็นผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองรายสุดท้ายที่ส่งตัวเข้าไปคุมขังยังเรือนจำ หลังถูกอัยการสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 กรณีถูกกล่าวหาว่าแชร์โพสต์จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” มีเนื้อหาเชื่อมโยงรัชกาลที่ 10 กับคุกวังทวีวัฒนา และศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยอ้างว่า “คดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี”

หมายเหตุ – ข้อมูลเฉพาะสถานการณ์ผู้ต้องขังระลอกล่าสุด ตั้งแต่เดือนมีนาคม – ธันวาคม 2565

หากมองกลับไปดูสถานการณ์ของผู้ต้องขังการเมืองทั้งปี จะพบว่าช่วงเดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่มีผู้ถูกส่งตัวเข้าไปคุมขังในเรือนจำมากที่สุด เป็นจำนวนถึง 15 ราย ซึ่งทั้งหมดถูกกล่าวหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่บริเวณดินแดงที่เกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ต่อมาในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมกลายเป็น 2 เดือนที่มีจำนวนผู้ต้องขังการเมืองสะสมอยู่ในเรือนจำมากที่สุดของปีนี้ เป็นจำนวนมากถึง 31 รายด้วยกัน ทั้งนี้ เดือนกันยายนถือเป็นช่วงเดือนที่ผู้ต้องขังทยอยได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำมากที่สุด โดยได้รับการปล่อยตัวมากถึง 20 ราย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ส่วนเหตุแห่งคดีที่ทำให้มีผู้ถูกคุมขังเป็นอันดับแรกนั้น เป็นคดีอันเนื่องมาจากการแสดงออกในการชุมนุมและเกี่ยวข้องกับการชุมนุม ซึ่งส่งผลให้มีผู้ถูกคุมขังเป็นจำนวน อย่างน้อย 28 ราย เช่น คดีที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมการชุมนุมบริเวณดินแดง, ถูกกล่าวหาว่าสาดสีใส่ป้ายหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์, ถูกกล่าวหาว่าทุบและเผารถตำรวจระหว่างการชุมนุม รวมไปถึงการถูกกล่าวหาว่าตรวจพบวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองขณะถูกตรวจค้นระหว่างกำลังเดินทางไปร่วมการชุมนุม หรือแม้กระทั่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปาระเบิดปิงปองใส่หน้ากรมทหารรอบที่ 1 ในระหว่างการชุมนุมด้วย

รองลงมาเป็นเหตุแห่งคดีที่มีข้อหาหลักเป็นมาตรา 112 ทำให้มีผู้ถูกคุมขังในปีนี้ อย่างน้อย 13 ราย ในจำนวนนี้ต่อมาคดีถึงที่สุดแล้ว จึงต้องถูกคุมขังในฐานะนักโทษเด็ดขาด 1 ราย คือ อดีตพลทหารเมธิน เป็นผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา 2 ราย คือ สมบัติ ทองย้อย และ “ก้อง” อุกฤษฎ์ สันติประสิทธิ์กุล ส่วนอีก 10 รายที่เหลือเป็นการถูกคุมขังระหว่างชั้นสอบสวนไปจนถึงชั้นอุทธรณ์ ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้องขอประกันตัว ได้แก่ “ตะวัน” ทานตะวัน, “เก็ท” โสภณ, บุ้ง, ใบปอ, “ไบร์ท” ชินวัตร, “แซม” พรชัย, มิกกี้บัง, “นิว” จตุพร  ยกเว้น “เอก” ผู้ต้องขังรายสุดท้ายของปี 

เหตุแห่งคดีในข้อกล่าวหาอื่นๆ ได้แก่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, เป็นอั้งยี่ และดูหมิ่นศาล พบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนและนักกิจกรรมถูกคุมขังในจำนวนใกล้เคียงกัน โดยคดีดูหมิ่นศาลทำให้มีผู้ถูกคุมขัง อย่างน้อย 2 ราย ในจำนวนนี้ 1 ราย คือ “จินนี่” จิรัชยา ถูกคุมขังถึง 2 ครั้งในปีนี้ จากการถูกกล่าวหาในข้อหาเดียวกัน ส่วน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และข้อหาเป็นอั้งยี่ ทำให้มีผู้ถูกคุมขังในคดีละ 2 ราย  

เหตุแห่งคดีที่ทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้ต้องขังมากที่สุด

  1. คดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมและแสดงออกอื่นๆ รวม 27 ราย 
  2. คดีในข้อหาตามมาตรา 112 รวม 13 ราย 
  3. คดีในข้อหาดูหมิ่นศาล รวม 2 ราย 
  4. คดีในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวม 2 ราย 
  5. คดีในข้อหาเป็นอั้งยี่ รวม 2 ราย

ผู้ต้องขัง 11 ราย “วางชีวิตเป็นเดิมพัน” แสดงออกประท้วงศาลสั่งขัง – เรียกร้องสิทธิประกันตัว 

ปี 2565 นี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการประท้วงของผู้ต้องขังด้วยการ “วางชีวิตเป็นเดิมพัน” ก็ว่าได้ ตลอดทั้งปีมีการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวเกิดขึ้นให้เห็นไม่ต่างจากปี 2564 ที่ผ่านมา โดยปีนี้นอกจากจะผู้หยิบใช้เครื่องมือการอดอาหารประท้วงที่หลายคนต่างคุ้นเคยแล้ว ยังมีผู้ต้องขังอีกจำนวนหนึ่งใช้วิธีการประท้วงอื่นๆ อีกด้วย ได้แก่ การกรีดแขน และการกินยาเกินขนาดเพื่อพยายามฆ่าตัวตาย

เครื่องมือที่กล่าวมาข้างต้นแม้จะยังอยู่ในขอบเขตของแนวทาง “สันติวิธี” กล่าวคือไม่ได้สร้างความเสียหายหรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ต้องขังที่ทำการประท้วงต่างก็ได้รับผลข้างเคียงในลักษณะอันตรายจนอาจถึงชีวิตกันแทบจะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น “เก่ง พลพล” ผู้ต้องขังในคดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมที่ดินแดงที่พยายามกินยาพาถึง 64 เม็ด เพื่อฆ่าตัวตายและประท้วงต่อศาลที่มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว จนเกือบต้องเสียชีวิตจากอาการตับและไตวายฉันพลัน แต่สุดท้ายแพทย์ก็สามารถล้างท้องได้ทันเวลาและรักษาชีวิตไว้ได้ทัน แต่พลพลก็ต้องรับการรักษาตัวเป็นเวลานาน  

หรือกรณีการอดอาหารของเหล่าผู้ต้องขัง โดยเฉพาะกรณีของ “บุ้ง-ใบปอ” สองผู้ต้องขังที่อดอาหารประท้วงยาวนานที่สุดในระลอกการเคลื่อนไหว ตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ด้วยการอดอาหารประท้วงนานถึง 64 วัน ระหว่างนั้นทั้งสองมีอาการวิกฤตถึงชีวิตหลายครั้ง โดยบุ้งเกือบต้องเผชิญกับ “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย” ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ และใบปอเองก็มีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืดรุนแรง และมีผลข้างเคียงไม่แพ้กัน 

  1. อดอาหารประท้วง 7 ราย ได้แก่ “ตะวัน” ทานตะวัน, “เก็ท” โสภณ, บุ้ง, ใบปอ, “คิม” ธีรวิทย์, “ภูมิ” ศศลักษณ์ และ “โอม” ใบบุญ 

“ตะวัน” ทานตะวัน ถือเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองคนแรกที่เริ่มต้นอดอาหารประท้วงในปี 2565 โดยเธอเริ่มอดอาหารตั้งแต่วันแรกที่ถูกส่งเรือนจำในวันที่ 20 เม.ย. 2565 หลังถูกเพิกถอนประกันในคดีมาตรา 112 หลังจากนั้นไม่นาน “เก็ท” โสภณ ได้ถูกจับกุมตามหมายจับในคดีมาตรา 112 และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำไปในเวลาไล่เลี่ยกับตะวัน ต่อมาโสภณก็ได้เลือกอดอาหารประท้วงเป็นคนที่ 2 ของปี ในวันที่ 5 พ.ค. 2565 

โสภณยุติการประท้วง หลังอดอาหารได้ทั้งสิ้น 20 วัน และเพียง 2 วันต่อมา ตะวันได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เธอจึงยุติการประท้วง รวมอดอาหารได้ทั้งสิ้น 37 วัน และถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการจากการอดอาหารเป็นเวลานานทันที

ผ่านไปเพียง 1 สัปดาห์หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 บุ้งและใบปอ ซึ่งถูกคุมขังมาก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. ได้ตัดสินใจประกาศอดหารประท้วงเป็นคนที่ 3 และ 4 ของปีทันที หลังศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเป็นครั้งที่ 3 ทั้งสองดำเนินการอดอาหารต่อเนื่องอย่างเข้มข้น 

ระหว่างนั้น “คิม” ธีรวิทย์ ผู้ต้องขังในคดีชุมนุมที่บริเวณตัดสินใจอดอาหารเป็นคนที่ 5 ของปี ตั้งแต่วันแรกที่ต้องเข้าเรือนจำ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565 และได้ตัดสินใจยุติการประท้วงไปในวันที่ 26 ก.ค. 2565 รวมทั้งสิ้น 39 วัน สุดท้ายบุ้งและใบปอที่ยังคงดำเนินการอดอาหารประท้วงต่อไปได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและกลายเป็น 2 ผู้ต้องขังที่ทำการอดอาหารประท้วงนานที่สุด ในระลอกการเคลื่อนไหวตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ปี 2557 ด้วยการอดอาหารประท้วงเป็นเวลานานถึง 64 วัน หรือนานกว่า 2 เดือน   

ต่อมาในเดือนกันยายน “ภูมิ” ศศลักษณ์ และ “โอม” ใบบุญ 2 ผู้ต้องขังในคดีชุมนุมที่บริเวณดินแดงได้ตัดสินใจอดอาหารประท้วงเป็นคนที่ 6 และ 7 ของปี แต่อดอาหารได้เพียง 5 วันเท่านั้น ทั้งสองก็ได้ตัดสินใจยุติการประท้วงดังกล่าวไป 

ผู้ที่ทำการอดอาหารประท้วงทุกรายต่างก็เผชิญกับผลข้างเคียงในลักษณะคล้ายกัน ตั้งแต่อาการปวดท้วง อ่อนเพลีย หน้ามืด ไม่มีสติ ตอบสนองช้า และเมื่อดำเนินการอดอาหารต่อไปเป็นระยะเวลานานมากขึ้นก็จะต้องเผชิญหน้ากับอาการที่รุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในรายที่เลือกจะประทังชีวิตด้วยการดื่มเพียงน้ำเปล่าเท่านั้นก็จะยิ่งมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงมากขึ้นด้วย ซึ่งมีตั้งแต่ภาวะเลือดออกตามไรฟัน เหงือกบวม กระพุ้งแก้มลอก ตาพร่ามัว อาเจียนรุนแรง อาการชาตามเนื้อตัว ภาวะขาดสารอาหาร และความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย  

อ่านเรื่องการอดอาหารเพิ่มเติม: จากไผ่ถึงตะวัน: ทบทวนปฏิบัติการ 22 ราษฎร “อดอาหาร” เพื่อประท้วง-เรียกร้อง-ต่อต้าน ให้รัฐและตุลาการมอบความยุติธรรมกลับคืน

  1. กรีดแขนประท้วง 3 ราย ได้แก่ “บอล” พุฒิพงศ์, “โอม” ใบบุญ และหนึ่ง 

เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้ชุมนุมอิสระหวนคืนที่บริเวณแยกดินแดง เพื่อชุมนุมประท้วงขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชาอีกครั้งในหลายวันด้วยกัน จนสุดท้ายทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีจากกรณีดังกล่าวและถูกคุมขัง อย่างน้อย 14 ราย ทั้งหมดถูกทยอยส่งตัวเข้าไปคุมขังในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยส่วนใหญ่ถูกคุมขังหลังตัดสินใจเลือก “เข้ามอบตัว” เพื่อแสดงความบริสุทธิ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ผู้ต้องขังหลายคนยืนยันว่าตัวเองนั้นเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา และส่วนใหญ่มีภาระสำคัญที่ต้องรับผิดชอบรออยู่ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหนังสือ การเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือแม้แต่อุปสรรคในความบกพร่องทางร่างกายและความเจ็บป่วย จากเหตุผลทั้งปวงของแต่ละคนทำให้สภาพจิตใจของพวกเขาในขณะนั้นย่ำแย่เป็นอย่างมาก

การประท้วงของผู้ต้องขังกลุ่มคดีนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “คิม” ธีรวิทย์ ตัดสินใจอดอาหารประท้วงตั้งแต่วันแรกที่ถูกคุมขัง ตามมาด้วยการประท้วงและพยายามฆ่าตัวตายของ “เก่ง” พลพล จากการกินยาแก้ปวดเข้าไป 64 เม็ด หลังจากนั้นเพียง 1 วัน ผู้ต้องขังอีก 2 ราย คือ “โอม” ใบบุญ และ “บอล” พุฒิพงศ์ ตัดสินใจประท้วงที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยการกรีดแขนด้วยฝาปลากระป๋อง เป็นการกรีดในลักษณะตามแนวขวางของหน้าแขนคนละข้าง 1 ข้าง จำนวนหลายสิบแผลด้วยกัน

ภายหลังทั้งสองได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว แต่ต่อมา เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2565 ใบบุญและพุฒิพงศ์ ซึ่งรักษาตัวจากการติดโควิดอยู่ได้พยายามทำร้ายตัวเองเพื่อประท้วงศาลเป็นครั้งที่ 2 ด้วยการนำเส้นลวดมากรีดที่บริเวณข้อมือซ้ายตนเอง โดยครั้งนั้นมี “หนึ่ง” ผู้ต้องขังในคดีเดียวกันร่วมประท้วงด้วยอีกราย

ความรุนแรงจากการกรีดแขนดังกล่าว แม้จะไม่ได้มีความรุนแรงถึงขนาดกับต้องรักษาด้วยการเย็บปิดแผล แต่ก็ทำให้เกิดความเจ็บปวดและตื่นตกใจในหมู่ผู้ต้องขังด้วยกัน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของเรือนจำด้วย เพราะหลังกระทำการประท้วงเลือดจำนวนมากได้ไหลออกจากบาดแผล และเลอะเปื้อนพื้นบริเวณนั้น อย่างไรก็ตามทางเรือนจำได้เคยออกแถลงการณ์โต้กลับกรณีดังกล่าวว่า สาเหตุของการกรีดข้อแขนนั้นเป็นเพราะผู้ต้องขังเกิดความเครียดที่ทนายความไม่ได้เข้าเยี่ยมและบาดแผลนั้นไม่ได้ไม่รุนแรง คล้ายการถูกหนามต้นไม้ข่วนเท่านั้น

ภายหลังเมื่อทนายความเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังอีกครั้ง กลับได้รับคำตอบที่ต่างกันออกไปไม่ตรงกับเรือนจำ ว่าสาเหตุการประท้วงของพวกเขานั้นมาจากความเครียดที่ไม่ได้รับการประกันตัวและต้องการประท้วงศาลที่มีคำสั่งเช่นนั้น ส่วนลักษณะบาดแผลนั้นผู้ต้องขังยืนยันว่าไม่ใช่ลักษณะคล้ายถูกหนามต้นไม้ข่วนอย่างใด

นอกจากนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเรือนจำเองก็ได้เข้มงวดกับการห้ามนำวัตถุมีคมและสิ่งที่อาจนำไปทำร้ายตัวเองได้ขึ้นห้องนอนในเรือนจำเด็ดขาด รวมไปถึงปลากระป๋องและอาหารกระป๋องด้วย มิหนำซ้ำในช่วงนั้นผู้ต้องขังยังเล่าผ่านทนายผู้เข้าเยี่ยมมาว่าผู้เจ้าหน้าที่ของเรือนจำจับตาเป็นพิเศษ ทั้งติดตามและถ่ายรูปอีกด้วย 

อ่านกรณีการกรีดแขนประท้วงเพิ่มเติม: บันทึกเยี่ยม ‘14 ทะลุแก๊ส’ 1 รายติดโควิด-อดอาหาร 3 รายประท้วงศาล ทุกคนเครียดและมีความคิดทำร้ายตัวเอง-ฆ่าตัวตาย

  1. กินยาเกินขนาด 1 ราย ได้แก่ “เก่ง” พลพล

พลพลยืนยันตลอดมาว่า “เป็นผู้บริสุทธิ์” จึงได้เลือกเข้ามอบตัวกับตำรวจพร้อมกับเพื่อนคนอื่นๆ แต่ปรากฏว่ากลับถูกศาลฝากขังและไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมา ทำให้ตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรือนจำ พลพลตัดสินใจวางแผนพยายามฆ่าตัวตายเพื่อประท้วงคำสั่งของศาล เขาเปิดเผยภายหลังว่า ในตอนแรกเขาชั่งใจอย่างหนักว่าจะเลือกประท้วงด้วยวิธีไหนระหว่าง “ผูกคอ” หรือ “กินยาเกินขนาด” 

สุดท้ายพลพลเลือกจะเกินยาเกินขนาด เพราะวิธีนี้จะไม่ตายในทันที และผู้มีอำนาจจะได้เห็นความทรมานและความตั้งใจประท้วงของเขา หลังจากนั้นพลพลจึงแอบสะสมยาพาราอย่างเงียบๆ และตัดสินใจกินมันเข้าไปถึง 64 เม็ดในค่ำของวันที่ 24 มิ.ย. หลังจากทราบผลว่าศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเป็นครั้งที่ 2 

ภายหลังพลพลถูกส่งตัวไปล้างท้องและรับการรักษาได้ทันเวลา โดยแพทย์เปิดเผยว่าหากเดินทางไปถึงมือหมอช้ากว่านั้น เขาอาจจะต้องเสียชีวิตจากภาวะ “ไตวายฉับพลัน” แล้วก็เป็นได้ พลพลรับการรักษาตัวอยู่นาน ขณะเดียวกันความเครียดและความวิตกกังวลที่เป็นอยู่ก็ยังคงส่งผลกระทบต่อจิตใจของเขาทุกวันนี้ ท้ายที่สุด พลพลถูกวินิจฉัยว่า อาการต่างๆ ที่เขาเป็นอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นการนอนไม่หลับ เศร้า ว้าวุ่นใจ ไม่อยากอาหาร รู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ไป เบื่อหน่าย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เข้าข่ายภาวะซึมเศร้า ซึ่งแพทย์ได้จ่ายยาให้พลพลรับประทานตลอดมา

อ่านกรณีของพลพล: “ผมเป็นผู้บริสุทธิ์” – นาทีชีวิตจากปาก ‘พลพล ทะลุแก๊ส’ หลังพยายามฆ่าตัวตายในคุกประท้วงศาลสั่งไม่ให้ประกัน  

X