“ผมเป็นผู้บริสุทธิ์” – นาทีชีวิตจากปาก ‘พลพล ทะลุแก๊ส’ หลังพยายามฆ่าตัวตายในคุกประท้วงศาลสั่งไม่ให้ประกัน  

บ่ายวันที่ 28 มิ.ย. 2565 ทนายความเดินทางไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เพื่อเข้าเยี่ยม “พลพล” ผู้ต้องขังทะลุแก๊ส อายุ 20 ปี ทางวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ขณะอยู่ระหว่างการเข้ารับการรักษาหลังกินยาแก้ปวดเข้าไป 64 เม็ดเพื่อหวังจบชีวิตตัวเองในเรือนจำ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 24 มิ.ย. 2565 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประท้วงศาลที่มีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวเรื่อยมาถึง 2 ครั้ง รวมถึงความเครียดสะสมจากความเป็นห่วงครอบครัวและแฟนสาวที่ตั้งครรภ์อยู่ในขณะนี้

พลพลปรากฏตัวผ่านจอภาพในชุดผู้ป่วยของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เขาเดินนั่งลงบนเก้าอี้และเริ่มต้นบทสนทนา พลพลถูกตัดผมเป็นรองทรงสั้น ดูแปลกตาไปจากเดิม สีหน้าและแววตายังคงมีความกังวล ตลอดการพูดคุยเสียงดูสั่นเครือและหลายครั้งก็ถึงขนาดสั่นมากเหมือนจะร้องไห้ด้วย

พลพลเล่าว่า “ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว” เจ้าหน้าที่พยาบาลเข้ามาตรวจอาการอยู่ตลอดทั้งวัน โดยมีการตรวจเลือด ความดันโลหิต และให้น้ำเกลือ นอกจากนี้แพทย์ยังจ่ายยาให้รับประทาน ซึ่งมีทั้งยาก่อนอาหารและหลังอาหาร รวม 2-3 ตัวด้วยกัน

ในช่วงวันที่ 26 และ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา พลพลเล่าว่ามีอาการเวียนหัวตลอดทั้งวัน แต่ปัจจุบันอาการดีขึ้นตามลำดับแล้ว กินข้าวได้เยอะขึ้น แพทย์ให้รับประทานอาหารอ่อน พลพลจึงได้กินเพียง ‘ข้าวต้ม’ ทุกวันที่อยู่โรงพยาบาล โดยแพทย์แจ้งว่าขณะนี้เขามีอาการ ‘ไตอักเสบ’ และต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปอย่างน้อย 7-10 วัน เพื่อให้แพทย์ดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด

นาทีชีวิตหลังพยายามฆ่าตัวตาย หมอแจง “ถ้ามา รพ.ช้ากว่านี้ อาจตายไปแล้ว’”

พลพลเริ่มต้นย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ในค่ำวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา “ผมแอบกินยาพาราช่วงเวลา 6 โมงเย็นของวันศุกร์ ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาสำหรับให้ผู้ต้องขังดูทีวี ทุกคนจดจ่อกับการดูทีวีอยู่ ผมแอบอยู่หลังๆ ค่อยๆ แอบกินยาทีละนิดเข้าไปจนหมด 

“ทั้งหมด 64 เม็ด”

“ตอนแรกผมคิดว่ากินยาเข้าไปแล้วมันจะหลับ แต่ปรากฏว่าไม่เป็นอะไรเลย แต่พอเวลาผ่านไปถึงช่วงประมาณเที่ยงคืนผมก็อาเจียน 10 กว่ารอบ อ้วกได้จนถึงเช้าเลย”

เช้าวันต่อมา ช่วงเวลาประมาณ 07.00 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้ามาตรวจนับยอดจำนวนผู้ต้องขังและเห็นว่าพลพลมีอาเจียนผิดปกติ เจ้าหน้าที่จึงได้เรียกออกไปถามถึงอาการเบื้องต้น ตอนนั้นพลพลโกหกไปว่า ‘ปวดหัวเฉยๆ’ เจ้าหน้าที่จึงปล่อยตัวกลับเข้าห้องขังโดยไม่ได้มีการตรวจและคาดคั้นความจริงแต่อย่างใด

หลังกลับมาอยู่ในห้องขังแล้วพลพลก็ยังอาเจียนอยู่อย่างต่อเนื่อง จนเพื่อนร่วมห้องช่วยกันคาดคั้นถึงอาการและสาเหตุที่แท้จริง 

หลังถูกเพื่อนผู้ต้องขังทะลุแก๊สในห้องเดียวกันคาดคั้นอยู่นาน พลพลสารภาพสั้นๆ เพียงว่า “เมื่อวานกินยาพาราเข้าไปเยอะเกิน”

หลังผู้คุมขังเข้ามาตรวจนับยอดจำนวนผู้ต้องขังในเวลา 07.00 น. ในระหว่างวันนั้นไม่มีผู้คุมย่างกรายเข้ามาตรวจตราอีกเลย จนกระทั่งเวลาผ่านไปจนถึงช่วง 19.00 – 20.00 น. เจ้าหน้าที่เดินกลับมาตรวจนับยอดอีกครั้งหนึ่งเพื่อส่งผู้ต้องขังเข้านอน เพื่อนๆ ทะลุแก๊สในห้องขังจึงรีบแจ้งว่า ‘พลพลพยายามฆ่าตัวตาย ด้วยการกินยาพาราเข้าไปเยอะมาก” ผู้คุมจึงรีบพาพลพลออกไปล้างท้องที่ ‘สถานพยาบาลภายในเรือนจำ’ ก่อนจะถูกพาตัวไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ต่อไปในกลางดึกวันนั้นทันที

หลังไปถึงโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ‘พลพลยังไม่ได้รับการรักษาโดยทันที’ เนื่องจากที่โรงพยาบาลไม่มียารักษาอาการเฉพาะของพลพลในตอนนั้นได้ โรงพยาบาลจึงต้องไปนำตัวยาจาก ‘โรงพยาบาลตำรวจ’ มาใช้ทดแทน

เขาจึงต้องรอรับการรักษาอยู่พักใหญ่ ขณะที่ร่างกายเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤตแล้ว 

หลังพลพลรับการรักษาฉุกเฉินแล้วเสร็จ แพทย์ได้บอกกับเขาว่า “ถ้ามาช้ากว่านี้ ไตคงจะวายเฉียบพลันและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย” ในคืนนั้นพลพลต้องนอนพักอยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าระวังอาการ เขาเล่าว่ายังคงนอนไม่หลับ เพราะเครียดและครุ่นคิดอยู่กับเรื่องที่ศาลไม่ให้ประกันตัวสักที 

‘พยายามฆ่าตัวตาย’ วิธีแสดงออกเพื่อประท้วงต่อคำสั่งไม่ให้ประกันของศาล

พลพลเล่าว่า เขาตั้งใจแอบสะสมยาแก้ปวดมาตั้งแต่วันแรกที่ถูกคุมขังในเรือนจำแล้ว จากการขอเพื่อนและผู้คุม

“แสดงว่าตั้งใจจะฆ่าตัวตายตั้งแต่แรกเลยเหรอ” ทนายถาม

“ใช่, เพราะผมไม่รู้ว่าจะทำยังไงแล้ว” พลพลตอบ

เขาเล่าต่อว่า ตนเองมีอาการเครียดมากตั้งแต่วันที่ถูกศาลให้ฝากขัง เพราะไม่คิดเลยว่าจะต้องติดคุก นอกจากนี้คิดถึงคนที่บ้าน เป็นห่วงเรื่องเรียน อยากกลับไปเรียน และบอกอีกว่า หลังถูกขังในอยู่คุกไม่นานก็เพิ่งทราบข่าวว่า ‘แฟนตั้งท้อง’ พลพลจึงยิ่งมีความเครียดรุนแรงมากขึ้นไปอีก

ย้อนกลับไปในวันที่ตัดสินใจเลือกเดินทางเข้าแสดงตัวกับตำรวจที่ บช.ปส. พลพลเล่าว่า เป็นเพราะมีคนที่ไปรับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้านั้นบอกกับเขาว่า ตำรวจมีรายชื่อพลพลอยู่ด้วย แต่ทั้งนี้ ตำรวจไม่ได้มีหมายจับหรือหมายเรียกใดๆ เลย หลังพลพลได้ยินจากปากเพื่อนเช่นนั้น เขาจึงเลือกที่จะเข้าไปแสดงตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์กับพนักงานสอบสวนในช่วงกลางดึกของวันนั้น (16 มิ.ย. 2565) ทันที

ในคืนนั้นหลังไปแสดงตัวกับตำรวจ พลพลถูกปล่อยตัวกลับไป โดยตำรวจได้นัดหมายเขาให้เข้าพบพนักงานสอบสวนใหม่อีกครั้งในตอนเช้าของวันถัดไป (17 มิ.ย. 2565) ที่ บช.ปส. ต่อมาพลพลเดินทางไปพบตำรวจอีกครั้งตามนัด แต่ปรากฏว่าตำรวจแจ้งว่า เขามีหมายจับแล้วและตำรวจจะต้องคุมตัวพลพลไว้เพื่อยื่นขอฝากขังต่อศาล ซึ่งต่อมาศาลอนุญาตให้ฝากขังพร้อมกับผู้ชุมนุมทะลุแก๊สอีก 10 ราย และมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

หลังถูกส่งตัวมาคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ พลพลสารภาพว่า เริ่มต้นวางแผนที่จะฆ่าตัวตายตั้งแต่วันนั้น เพราะรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรม 

“ผมพูดกับภูมิ (ศศลักษณ์) ประจำว่า ‘อยากฆ่าตัวตาย’ แต่ที่ผ่านมาถึงจะเครียดมาก แต่ก็ยังได้พูดระบายกับเพื่อนๆ ในห้องขัง” แต่กระนั้นพลพลก็ยอมรับว่า ‘คิดเรื่องการฆ่าตัวตายอยู่ตลอดเวลา’

กระทั่งเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ญาติได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องขัง 5 คน ต่อศาลอาญาเป็นครั้งที่ 2 และศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเช่นเดิม 

“วันนั้นผมเลยเครียดมาก ผมถูกกล่าวหาว่า ‘เผารถตำรวจ’ ซึ่งเป็นข้อหาที่หนักหนากว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาก ฉะนั้นผมเลยเครียดว่า คงจะไม่ได้ประกันตัวในเร็วๆ นี้แน่เลย” การที่ศาลยังคงไม่ให้ ‘สิทธิในการให้ประกันตัว’ คือ ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ที่ทำให้พลพลตัดสินใจลงมือพยายามฆ่าตัวตายในช่วงเย็นของวันนั้น 

เหตุเผารถตำรวจระหว่าง #ม็อบ11มิถุนา65 ภาพจาก ไข่แมวชีส

“ตอนแรกคิดว่าจะตายด้วยวิธีไหนดี ระหว่าง ‘ผูกคอ’ กับ ‘กินยา’ แต่พอคิดๆ ดูแล้ว ถ้าผูกคอตายก็คงตายเร็วและไม่ทรมานดี แต่ถ้ากินยาก็คงจะไม่ตายในทันที และ ‘ผู้มีอำนาจจะได้เห็นความทรมานของผม’ เพราะผมต้องการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเองและเพื่อนทุกคน”

“ผมรู้สึกว่าเราไม่ได้รับความยุติธรรมเลย ถ้าผมทำผิดจริง ผมคงจะไม่เครียดขนาดนี้หรอก แต่นี่ผมไม่ได้ทำจริงๆ ผมเลยรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมต่อผม”

พลพลยืนยันเป็น ‘ผู้บริสุทธิ์’ ไม่ได้เผารถตำรวจ ที่ผ่านมายึดหลักชุมนุมอย่างสันติตลอด   

จากนั้นพลพลเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ชุมนุม  #ม็อบ11มิถุนา65 บริเวณดินแดง ที่เขาถูกกล่าวหาว่าร่วม ‘เผารถตำรวจ’ ระหว่างการชุมนุมดังกล่าว คดีนี้ยังเป็นคดีแรกที่เขาถูกกล่าวหา ก่อนหน้านี้เขาไม่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมใดๆ มาก่อนเลย เขารับว่า ในวันนั้นเดินทางไปร่วมชุมนุมจริง แต่เหตุการณ์รถตำรวจถูกเผาเกิดขึ้นหลังจากที่เขาเดินทางกลับบ้านไปแล้ว และเขายืนกรานเสียงแข็งว่า ตัวเองเป็น ‘ผู้บริสุทธิ์’

เหตุเผารถตำรวจระหว่าง #ม็อบ11มิถุนา65 ภาพจาก ไข่แมวชีส

“ผมออกมาม็อบ ผมแค่ออกมาเรียกร้องตามสิทธิที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ผมออกมาเรียกร้องสังคมที่ดีกว่านี้ ขนาดพวกเรายังลำบากขนาดนี้ แล้วเด็กรุ่นต่อไปเขาคงต้องลำบากกว่า 

“ผมไม่เคยคิดจะไปทำร้ายใคร จริงอยู่ว่าผู้ชุมนุมมีการยิงพลุ แต่พวกเขาไม่เคยยิงเพื่อหวังอยากจะให้ใครตายเลยนะ เรื่องเผารถหรือทำลายทรัพย์สินอะไรก็ยังยืนยันไม่ได้ว่าใครเป็นคนทำ ส่วนตัวผมไม่เคยทำอยู่แล้วเพราะการทำลายทรัพย์สินหรือใช้ความรุนแรงมีโทษที่สูงมาก ผมรู้ดี ผมกับเพื่อนไม่กล้าทำกันอยู่แล้ว

“คดีนี้เป็นคดีแรกในชีวิตที่ผมถูกกล่าวหา และที่สำคัญคือ ‘ผมไม่ได้เป็นคนทำด้วย’ แต่ศาลก็ยังสั่งขังมาจนถึงทุกวันนี้ ทำไมตำรวจถึงยัดข้อหาให้ผม แล้วโยนผมเข้าคุกแบบนี้ …”

“ตั้งแต่ไปม็อบตลอดเกือบ 2 ปี ผมไม่เคยถูกดำเนินคดีเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะผมเชื่อมั่นในการชุมนุมโดยสันติและปราศจากอาวุธ จนถูกขังในคดีนี้แหละ ผมหวังว่าจะได้ประกันตัวมาโดยตลอด เพราะยิ่งได้ออกไปเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสในการไปหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าผมบริสุทธิ์ ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ผมไม่ได้เผารถตำรวจ” 

“ผมไม่มีโอกาสไปหาหลักฐานมาต่อสู้คดี ได้แค่เพียงนั่งรอว่าศาลจะให้ประกันตัวเมื่อไหร่และถูกขังต่อไปเรื่อยๆ อย่างไร้ความหวัง”

“ผมพยายามฆ่าตัวตายครั้งนี้ เพราะอยากได้รับความยุติธรรมจากศาลบ้าง” 

“ผมยอมแลก ถ้ามันจะเปลี่ยนอะไรได้”

ไทม์ไลน์ ‘พลพล’ พยายามฆ่าตัวตายในคุกประท้วงศาล

และเหตุจากความเครียดสะสม

  1. 16 มิ.ย. 2565 พลพลเข้าแสดงตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ บช.ปส. หลังทราบจากเพื่อนที่เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้าว่า ตำรวจมีรายชื่อของตนเองอยู่ด้วย แต่ไม่ได้มีหมายจับและหมายเรียกแต่อย่างใด เจายืนยันว่าไม่ได้ก่อเหตุเผารถตำรวจระหว่าง #ม็อบ11มิถุนา65 บริเวณดินแดง แต่ยอมรับว่าเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวจริง 
  1. หลังเข้ามอบตัว ตำรวจปล่อยตัวพลพลกลับไป เพราะไม่มีหมายจับ แต่นัดหมายให้เข้าพบตำรวจใหม่อีกครั้งในเช้าวันต่อมา ที่ บช.ปส.
  1. 17 มิ.ย. 2565 พลพลเดินทางไปพบตำรวจอีกครั้งตามนัดหมาย แต่ปรากฏว่าตำรวจแจ้งว่ามี ‘หมายจับ’ แล้ว และยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญาทันที ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขังและไม่ให้ประกันครั้งที่ 1 ทำให้พลพลและเพื่อนทะลุแก๊ส รวมทั้งหมด 11 คนต้องถูกตัวส่งไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันทีในเย็นวันนั้น
  1. ระหว่างถูกขังอยู่ พลพลทราบว่า แฟนสาวของตัวเองตั้งครรภ์ จึงยิ่งมีความเครียดมากขึ้นไปอีก
  1. 24 มิ.ย. 2565 ญาติผู้ต้องขังบางส่วนได้ยื่นคำร้องขอประกันต่อศาลอาญาเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งศาลก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเช่นเดิม ทำให้ทวีความเครียดมากขึ้นไปอีก พลพลจึงตัดสินใจกินยาแก้ปวด จำนวน 64 เม็ด ในเย็นวันนั้น ขณะที่ผู้ต้องขังคนอื่นๆ ในห้องกำลังจดจ่อกับการดูทีวีกันอยู่
  1. พลพลเริ่มต้นอาเจียนตั้งแต่เวลาประมาณเที่ยงคืน ไปถึงเช้าของวันที่ 25 มิ.ย. 2565 ประกอบกับมีอาการสับสน ปวดหัว ต่อมา เวลาประมาณ 1-2 ทุ่ม เพื่อนผู้ต้องขังแจ้งกับผู้คุม พลพลจึงถูกนำตัวไปล้างท้องที่สถานพยาบาลในเรือนจำ ก่อนจะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์
  1. แพทย์ประเมินว่า หากมาโรงพยาบาลช้ากว่านี้ อาจเสียชีวิตจากอาการไตวายฉับพลันได้ และตอนนี้พลพลมีอาการ ‘ไตอักเสบ’ จากการกินยาแก้ปวดเข้าไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปอีก 7-10 วัน

ขณะนี้ พลพลถือว่าพ้นภาวะวิกฤตและปลอดภัยดีแล้ว โดยต้องอยู่รักษาอาการ ‘ไตอักเสบ’ จากการพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินยาแก้ปวดเข้าไปรวม 64 เม็ด อยู่ที่โรงพยาบาลราชทักณฑ์ต่อไป อย่างน้อย 7-10 วัน กระนั้นระหว่างที่เขาเข้ารับการรักษาตัวอยู่นี้ก็ยังคงมีอาการเครียด นอนไม่หลับ และวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา โดยมีสาเหตุหลักมาจาก “การที่ศาลไม่ให้สิทธิในการประกันตัว” 

สำหรับ “พลพล” ถูกกล่าวหาจากการเผารถยนต์ตำรวจ สน.ดินแดง หลังเหตุการณ์ชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 โดยเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 พลพลเดินทางไปแสดงความบริสุทธิ์กับตำรวจที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) 

แต่กลับถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา 5 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับผู้ต้องหา 4 รายแรกในคดีนี้ โดยที่คนอื่นๆ ตำรวจมีการขอศาลออกหมายจับ แต่กรณีของพลพลยังไม่ได้มีการออกหมายจับแต่อย่างใด 

ในคืนนั้นพลพลไม่ได้ถูกควบคุมตัวไว้ เนื่องจากไม่มีหมายจับ ตำรวจจึงไม่มีอำนาจควบคุมตัวไว้ แต่ได้นัดหมายเขาไปยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น และศาลได้อนุญาตให้ฝากขังมาตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 จนถึงปัจจุบัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง 

“พลพล ทะลุแก๊ส” พยายามกินยาฆ่าตัวตายในคุก ก่อนถูกส่งล้างท้อง จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม

ตร.ดำเนินคดีผู้ชุมนุมทะลุแก๊ส รวม 13 ราย ใน 4 คดี ก่อนไม่ให้ประกันตัว 11 ราย 

รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมืองตั้งแต่มีนาคม 2565

X