บันทึกเยี่ยม ‘14 ทะลุแก๊ส’ 1 รายติดโควิด-อดอาหาร 3 รายประท้วงศาล ทุกคนเครียดและมีความคิดทำร้ายตัวเอง-ฆ่าตัวตาย

ตั้งแต่วันที่ 27-29 มิ.ย. 2565 ทนายความได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังกลุ่มทะลุแก๊สที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยขณะนี้พบว่า มีผู้ต้องขังกลุ่มทะลุแก๊สทั้งหมด 14 ราย ซึ่งล้วนแต่ถูกฝากขังจากเหตุชุมนุมที่ดินแดงทั้งสิ้น โดยแบ่งได้ตามเหตุแห่งคดี ดังนี้

  1. #ม็อบ11มิถุนา65 จำนวน 4 ราย ได้แก่ วัชรพล, จตุพล, ณัฐพล และพลพล
  2. #ม็อบ14มิถุนา65 จำนวน 8 ราย ได้แก่ ศศลักษณ์, พิชัย, ใบบุญ, สมชาย, อัครพล, ธีรวิทย์,  หนึ่ง และวรวุฒิ
  3. #ม็อบ15มิถุนา65 จำนวน 1 ราย ได้แก่ พุฒิพงศ์
  4. #ม็อบ19มิถุนา65 จำนวน 1 ราย ได้แก่ ร็อก 

สถานการณ์โดยรวมของผู้ต้องขังทะลุแก๊ส ทุกคนต่างก็เผชิญปัญหาความเครียดและความกังวล ซึ่งเกิดมาจากการที่ศาลไม่ให้สิทธิในการประกันตัว ผลกระทบทั่วไปที่เกิดขึ้นและเป็นผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ได้แก่ อาการนอนไม่หลับ กินข้าวได้น้อยลง ฝันร้าย อารมณ์หงุดหงิด ซึมเศร้า และอื่นๆ  

โดยพบว่า มีผู้ต้องขังอย่างน้อย 4 ราย ตัดสินใจแสดงออกเพื่อประท้วงศาลที่ไม่ให้สิทธิประกันตัว ได้แก่ พลพล พยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินยาเกินขนาด, ใบบุญและพุฒิพงศ์ กรีดแขนประท้วง รวมถึงธีรวิทย์ได้ทำการอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. 2565 ถึงปัจจุบัน 

พลพล – อาการไตอักเสบดีขึ้น หลังพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินยาเกินยา  

พลพล อายุ 20 ปี วันที่ 29 มิ.ย. 2565 อาการดีขึ้น แพทย์เจาะเลือดไปตรวจพบว่า ค่าตับลดลง จาก 1,600 เหลือ 400 ตอนนี้ได้รับน้ำเกลือผสมยาทางเหมือนเดิม และต้องรับประทานยาเม็ด ก่อน-หลังอาหาร ตลอดทั้ง 3 มื้อ ได้เขาพบนักจิตวิทยาแล้ว ทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ขณะนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ก็ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่มีทีวีให้ดู จึงมักคิดฟุ้งซ่าน โดยส่วนใหญ่คิดเกี่ยวกับเรื่องการไม่ได้ประกันตัว 

พลพลมีวุฒิ ป.6 เป็นวุฒิการศึกษาสูงสุด เมื่อไม่ได้เรียนแล้ว ต่อมาได้ช่วยพ่อเลี้ยงที่เป็น ‘สัปเหร่อ’ ทำงาน ก่อนจะเริ่มทำงานจริงจังเมื่ออายุ 18 ปี โดยขณะนี้ทำงานรับจ้างทั่วไปและรับจ้างขนส่งศพกับทางโรงพยาบาลบ้างเป็นครั้งคราว

พลพลเริ่มออกมาร่วมการชุมนุมอย่างจริงจังในวันที่มีการฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุมครั้งแรกที่สกายวอร์ค แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 หลังจากนั้นเขาก็พยายามไปให้ได้ทุกม็อบ โดยเฉพาะม็อบดินแดง ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่กลางปี 2564

สาเหตุที่เลือกเข้าร่วมม็อบเป็นประจำ เขาเล่าว่าเป็นเพราะ ‘หลาน’ กับ’ น้องชาย’ เขาไม่อยากเห็นเด็กรุ่นต่อไปมีชีวิตลำบากเหมือนพวกเขาในปัจจุบันนี้ 

“ถ้ายังมีการบริหารประเทศแบบนี้ คนจะยิ่งเดือด ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีกิน” 

พลพลย้ำว่า ได้รับผลกระทบจากการบริหารประเทศโดยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด เขาต้องรับจ้างรับ ‘ศพผู้เสียชีวิตจากโควิด’ ที่โรงพยาบาลไปส่งวัด เฉลี่ยวันละ 6-7 ศพ ส่วนใหญ่ญาติไม่มีเงินทำศพ ไม่มีแม้กระทั่งเงินซื้อโลงศพ 

“ถ้าผู้นำบริหารประเทศดี จะไม่มีคนตายเพราะโควิดเยอะขนาดนี้ โควิดมันทำให้ทุกคนลำบากกันหมด โดยเฉพาะคนอย่างพวกผม แต่รัฐก็ไม่สนใจปัญหานี้เลย”

“ที่พวกผมยังไปม็อบ เพราะอยากเรียกร้องให้รัฐบาลได้ฟังปัญหาของพวกผม แค่รับฟังแล้วช่วยกันแก้ไขปัญหา แค่นี้เอง แต่พวกผมก็โดนสลายการชุมนุมโดยที่รัฐบาลไม่ได้สนใจ ไม่มาเจรจา ไม่รับฟังพวกผมเลย ยิ่งถ้าโดนสลายพวกผมก็ยิ่งไม่หยุด”  

.

ธีรวิทย์ – อดอาหารประท้วงและติดโควิดในเรือนจำ

ธีรวิทย์ อายุ 41 ปี ขณะนี้เขาถูกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องจากตรวจพบว่าติดโควิด เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 ในวันที่ 27 มิ.ย. 2565 ก่อนจะเข้าพบทนายเข้าเยี่ยม เขาได้ตรวจโควิด-19 ด้วย ATK ผลปรากฏว่า “ติดโควิด” ทำให้ธีรวิทย์ถูกแยกออกไปขังอยู่คนเดียว ก่อนถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว ด้านอาการ มีเจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีน้ำมูก แต่พบว่าไม่มีไข้ 

ธีรทย์เริ่มต้นอดอาหารมาตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. 2565 โดยกินเพียงน้ำเปล่าและเครื่องดื่มเกลือแร่เท่านั้น ทำให้เขาอ่อนเพลียและไม่มีแรงเลย สภาพก่อนหน้านี้เขาดูอิดโรย ใบหน้าซีดเซียว และซูบผอม ต่างจากก่อนหน้านี้ที่หน้าตายังดูสดใสและมีรูปร่างที่ค่อนข้างท้วม หลายวันก่อนหมอได้เข้ามาตรวจดูอาการในห้องขัง เขาเดินไปหาหมอไม่ได้ขนาดต้อง ‘คลาน’ ไปแทน หากจะลุกขึ้นเดินก็จะให้น้องๆ ทะลุแก๊สคอยพยุงในลักษณะหิ้วปีกแขนทั้งสองข้าง

เมื่อได้ยินข้อเท็จจริงดังนั้น ทนายจึงถามไปว่า “ไม่ไหวก็บอกนะ” ขณะนั้นเองธีรวิทย์ก็น้ำตาไหล เขาเล่าว่าเขาจะแสดงความอ่อนแอไม่ได้ เขาจะต้องคอยดูแลเด็กๆ ในฐานะที่อาวุโสที่สุด และเขายังเล่าอีกว่าก่อนหน้านี้รู้สึกอ่อนเพลียอย่างมากจากการอดอาหาร แพทย์จึงเสนอว่าจะให้น้ำเกลือ แต่ธีรวิทย์ได้ปฏิเสธการรักษาไป 

ก่อนหน้านี้ธีรวิทย์ไม่เคยโดนถูกดำเนินคดีใดมาก่อนเลย จนกระทั่งถูกแจ้งข้อหา 2 คดีรวด จากเหตุชุมนุมที่ดินแดงวันที่ 11 และ 14 มิ.ย. 

ตลอดการเข้าเยี่ยม เขาพูดพลางน้ำตาคลอไปด้วยเกือบตลอดการสนทนา 

.

ใบบุญ – กรีดแขนประท้วงศาลสั่งไม่ให้ประกัน 

ใบบุญ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 ใบบุญถูกเบิกตัวเข้าร่วมการพิจารณาคดีที่ศาลแขวงดุสิตแบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ หลังถูกสั่งฟ้องในคดีร่วมกิจกรรมเขียนป้ายผ้า 112 เมตร บริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2564  คดีดังกล่าว เขาถูกศาลออกหมายขังอีกคดีหนึ่ง หลังการสั่งฟ้อง นั่นทำให้เขาเครียดมากขึ้นไปอีก

ด้านบาดแผลจากการใช้ฝาปลากระป๋องกรีดแขนหลาย 10 แผลเพื่อประท้วงศาลนั้น มีลักษณะเป็นแผลตามแนวขวางเต็มบริเวณหน้าแขน ตั้งแต่ข้อมือยาวไปจนถึงข้อศอก 

ใบบุญเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์การกรีดแขนประท้วงว่า เริ่มขึ้นในช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ 25 มิ.ย. 2565 ในเวลาประมาณ 1-2 ทุ่ม ขณะที่ทุกคนกำลังจดจ่อกับช่วงเวลาดูโทรทัศน์ ใบบุญและพุฒิพงศ์แอบใช้ฝาปลากระป๋องกรีดแขนกันสองคน ส่วนเหตุผลใบบุญเล่าว่า “ทำไปเพราะอยากประท้วงเรื่องไม่ได้ประกันตัว รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรม”

ช่วงหนึ่งใบบุญพูดว่า “พวกผมแค่ออกมาชุมนุมเรียกร้องตามสิทธิ์ ผมผิดอะไร?” 

หลังใบบุญและพุฒิพงศ์ลงมือกรีดแขนประท้วง ต่อมา เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 เพจเฟซบุ๊ก ‘ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์’ ออกแถลงการณ์ โดยมีส่วนหนึ่งระบุว่า สาเหตุของการกรีดแขนของทั้งสองคนมาจากความเครียดที่ ‘ทนายความไม่เข้าเยี่ยม’ 

เรื่องนี้ใบบุญได้ชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ เขาและเพื่อนมีความเครียดเรื่องทนายไม่มาเข้าเยี่ยมจริง แต่ภายหลังทนายความได้เยี่ยมแล้วครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิ.ย. 2565 ในวันนั้นทำให้เขาและเพื่อนทราบจากทนายว่า ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันหลังญาติยื่นประกันผู้ต้องขังทะลุแก๊ส 5 ราย เป็นครั้งที่ 2 ฉะนั้นเหตุผลหลักของการกรีดแขนในค่ำวันที่ 25 มิ.ย. จึงไม่ใช่เพราะทนายไม่เข้าเยี่ยม แต่เป็นเพราะว่า ‘ต้องการประท้วงศาลที่สั่งขังและไม่ให้ประกันตัว’

นอกจากนี้ ใบบุญยังฝากว่าขอให้ครอบครัวดรอปเรียนให้หน่อย เพราะไม่รู้ว่าจะได้ประกันเมื่อไหร่โดยสถานศึกษาได้เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมาแล้ว

.

พุฒิพงศ์ – กรีดแขนประท้วง ป่วยไทรอยด์ มีอาการตัวสั่นกลางดึก

พุฒิพงศ์ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมาเขาทำการกรีดแขนประท้วงพร้อมกับใบบุญ จากการประเมินด้วยสายตาคาดว่า บาดแผลของพุฒิพงษ์น่าจะลึกกว่าของใบบุญพอสมควร แต่ทั้งสองต่างก็มีจำนวนแผลหลายสิบแผลเท่ากัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นแผลเพียงแค่ “ถลอกคล้ายเวลาเราโดนหนามต้นไม้ขูดข่วน” ตามที่ นายนัสธี ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ให้สัมภาษณ์ไว้กับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565

เขาพูดถึงเหตุผลที่ตัดสินใจกรีดแขนว่า “ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว เพราะศาลไม่ให้ประกัน” ส่วนอาการอื่นๆ พบว่า มีความเครียด กินข้าวไม่ได้ กินเพียงวันละมื้อเท่านั้นและบางวันก็ไม่กินเลย 

นอกจากนี้ พุฒิพงศ์มีโรคประจำตัวป่วยเป็น ‘โรคไทรอยด์’ เขาได้แจ้งทางเรือนจำเพื่อขอรับยาแล้ว แต่เรือนจำกลับให้ยารักษาเป็นคนละตัวกับที่เขาเคยทานก่อนหน้านี้ ทำให้ระหว่างถูกขังเขาจำเป็นจะต้องกินยาของเรือนจำนั้นไปก่อนเพื่อบรรเทาอาการหนาวสั่นกลางดึก ซึ่งมาจากโรคไทรอยด์ 

.

ศศลักษณ์ – ห่วงอาม่าและน้องสาวอยู่บ้านลำพังไม่มีคนดูแล

ภูมิ – ศศลักษณ์ เล่าว่าตั้งแต่ถูกคุมขังวันแรก เขามีอาการชาครึ่งซีกด้านขวา คาดว่าเกิดจากอาการเครียดหลังถูกคุมขัง โดยภูมิได้เข้าพบแพทย์ตรวจอาการและรับการตรวจเลือดที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว ขณะนี้รอฟังผลการตรวจอยู่ว่าอาการชาตามร่างกายเพียงครึ่งซีกที่เป็นอยู่มาจากสาเหตุใดกันแน่

ภูมิมีความกังวลเรื่องคอร์สเรียน ‘การกู้ชีพกู้ภัย’ ที่ลงเรียนไว้ โดยกังวลว่าจะออกไปไม่ทันเรียน ภูมิบอกอีกว่าเขาเป็นห่วงที่บ้านมาก โดยเฉพาะอาม่ากับน้องสาว เพราะไม่มีใครอยู่ด้วยเลย ขณะนี้แม่เดินทางไปต่างประเทศ จึงกังวลมากเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของทั้งสองคน

.

หนึ่ง – มีความผิดปกติทางสมอง เพราะประสบอุบัติเหตุเมื่อหลายปีก่อน

หนึ่ง เมื่อหลายปีก่อนหนึ่งเคยประสบอุบัติเหตุมาก่อน โดยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะต้องเข้ารับการผ่าตัดจนมีอาการปกติทางสมองมาจนถึงปัจจุบัน 

หนึ่งจะพูดได้ช้าและไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ทนายตั้งข้อสังเกตว่า เขาดูไม่น่าจะพิษมีภัยหรือทำอันตรายต่อใครได้ โดยสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าบริเวณศีรษะของเขายุบลงไปจนน่าตกใจจากการเคยประสบอุบัติเหตุ การถูกฝากขังในคดีนี้ทำให้เขามีอาการเครียด นอนไม่หลับ 

.

วรวุฒิ – กังวลย้ายของออกจากห้องเช่าไม่ทัน ถูกขังก่อน

วรวุฒิ มีอาการเครียดและกังวลเกี่ยวกับเรื่องการจัดการ ‘คืนห้องเช่า’ โดยก่อนหน้านี้เขาตกงาน จึงแจ้งย้ายออกห้องเช่าที่พักอยู่เพื่อย้ายไปอยู่กับคนรู้จัก แต่จนถึงขณะนี้ยังย้ายของใช้ส่วนตัวออกมาไม่หมด จึงกังวลว่าข้าวของเหล่านั้นจะถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ไหนหรือไม่ โดยขณะนี้เขาติดต่อครอบครัวเพื่อให้จัดการย้ายของแทนยังไม่ได้ 

.

สมชาย – รับคิดอยากทำร้ายตัวเอง เพราะเพื่อนพูดแต่เรื่องนี้และลงมือทำ 3 คนแล้ว

สมชาย เล่าว่า เมื่อคนอื่นในห้องขังมีความคิด พูด และลงมือ ‘ทำร้ายตัวเอง’ เขาสารภาพว่าเขาเองก็มีความคิดอยากจะทำร้ายตัวเองเช่นเดียวกันด้วย โดยมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องการทำงานว่าจะถูกไล่ออกหรือไม่ หลังจากถูกจองจำ

นอกจากนี้สมชายยังเป็นห่วงแฟนสาวที่อาศัยอยู่ด้วยกันว่า จะต้องเหนื่อยหาเงินมาจ่ายค่าห้องเช่าเพียงลำพัง รวมถึงเป็นห่วงและคิดถึงสัตว์เลี้ยงสุดรักอย่าง ‘กระต่าย’ และ ‘กระรอก’ ที่มีอายุ 30 กว่าปีอีกด้วย ปกติกระรอกจะมีอายุสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 18 ปีเท่านั้น แต่สมชายและแฟนรักและเลี้ยงดูกระรอกตัวนี้อย่างดี มันจึงมีอายุยืนยาวมาถึง 30 ปี

.

ณัฐพล – ยืนยันไม่ได้ก่อเหตุเผารถตำรวจ ล่าสุดมีอาการคล้ายโควิด แต่ผู้คุมยังไม่ให้ตรวจ ATK อ้าง ‘ยังไม่ถึงรอบตรวจ’

ณัฐพล มีอาการเครียด หงุดหงิด จิตตก และรู้สึกแย่ตลอดเวลา โดยเขาดูย่ำแย่กว่าทุกๆ คน สีหน้าและน้ำเสียงการพูดแสดงออกถึงความเครียดและความเศร้าชัดเจน ตลอดการเข้าเยี่ยมเขาเหมือนจะร้องไห้อยู่ตลอดเวลา

ณัฐพลถูกกล่าวหาว่าเผารถตำรวจระหว่างการชุมนุม #ม็อบ11มิถุนา65 แต่เขายืนยันว่าไม่ได้เป็นคนก่อเหตุเผารถตำรวจตามที่ถูกกล่าวหา หลักฐานที่ตำรวจมีเป็นเพียงรูปถ่ายขณะเขายืนอยู่ใกล้บริเวณเกิดเหตุเท่านั้น 

ณัฐพลยอมรับว่าเข้าร่วมการชุมนุมจริง แต่ขณะเกิดรถตำรวจถูกเผา เขาวิ่งเข้าไปดึงเด็กคนหนึ่งที่ยืนอยู่ใกล้ไฟออกมา เพราะกลัวว่าเด็กคนนั้นจะถูกไฟลวกเท่านั้น ณัฐพลยืนกรานเสียงแข็งว่า ไม่ได้เป็นผู้ลงมือก่อเหตุเผารถตำรวจแต่อย่างใด แต่ปรากฏว่า ภาพถ่ายเหตุการณ์ช่วยเด็กด้วยความหวังดีกลับกลายเป็นหลักฐานที่ตำรวจเอามากล่าวหาว่าเขาร่วมก่อเหตุเผารถตำรวจเสียเอง

นอกจากนี้ ณัฐพลยังมีความกังวลเรื่องคนรักเช่นเดียวกับพลพล โดยขณะนี้แฟนของเขาตั้งท้องอยู่ ก่อนหน้านี้เขาและแฟนทำงานรับจ้างขนของอยู่ที่ย่านสำเพ็งด้วยกัน จึงกังวลว่าแฟนที่ท้องอยู่จะทำงานไหวหรือไม่ และนายจ้างจะเลิกว่าจ้างเขาหรือไม่

ล่าสุด หลังทนายเข้าเยี่ยม ‘ณัฐพล’ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2565 ณัฐพลแจ้งว่า ตนเองน่าจะ ‘ติดโควิด’ โดยคืนที่ผ่านมาพบว่า มีไข้ อาการก็เหมือน ‘คิม-ธีรวิทย์’ ผู้ต้องขังที่ถูกขังห้องเดียวกันที่ตรวจพบว่าติดโควิดไปก่อนหน้านี้ คือ มีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย เขาได้แจ้งผู้คุมไปว่าต้องการตรวจ ATK แต่ผู้คุมยังไม่มาตรวจให้ และตอบกลับมาว่า ‘ต้องรอให้ถึงรอบตรวจก่อน’  

.

อัครพล – ป่วยสมาธิสั้น แจ้งราชทัณฑ์แล้ว แต่ได้แค่ยาพาราให้กินแทน

อัครพล เล่าว่าเครียดมาก เพราะคิดถึงแม่กับน้อง มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับ ‘สมาธิสั้น’ ต้องกินยาก่อนอาหารทุกวัน แต่ตั้งแต่ถูกคุมขังในคดีนี้ยังไม่ได้รับยาเลย ทั้งที่แจ้งผู้คุมไปแล้ว ตอนนี้ยังไม่มีอาการจากสมาธิสั้นหนักเท่าไหร่ มีเพียงอาการปวดหัวเล็กน้อยบ้างเท่านั้น แต่หากป่วยจริงๆ จะรู้สึกปวดหัวหนักมากคล้ายกับเป็นไมเกรนเลย ทำให้ขณะนี้อัครพลทำได้เพียงอาศัยกิน ‘ยาแก้ปวด’ บรรเทาอาการไปเท่านั้น

.

พิชัย – มั่นใจเป็น ‘ผู้บริสุทธิ์’ เครียดที่ต้องกลับเข้าเรือนอีกครั้ง 

พิชัย รู้สึกเครียดว่า ‘ทำไมถึงติดคุก’ เลือกไปมอบตัวกับตำรวจเพราะว่ามั่นใจว่าไม่ได้ทำผิดและไม่ได้คิดว่าจะได้กลับเข้ามาอีก ก่อนหน้านี้เคยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนนี้กินข้าวได้แค่วันละมื้อเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอาหารในเรือนจำไม่อร่อยและกินไม่ได้  

.

จตุพล – ถูกขังแยกกับทะลุแก๊สคนอื่น ไม่มีเพื่อน – ทีวี – หนังสือให้คลายเครียด หน้ำซ้ำถูกผู้คุมเพ่งเล็ง เกือบถูกลงโทษโดยใช้กระบองฟาด 

จตุพล ถูกกล่าวหาว่าเผารถตำรวจระหว่าง #ม็อบ11มิถุนา65 ที่บริเวณดินแดง ตอนนี้จตุพลถูกขังอยู่ในแดน 2 ห้อง 12 มาเกิน 10 วันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 2565 และจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ย้ายไปแดน 4 เลย ซึ่งเขาไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม 

จตุพลเล่าว่า เขาค่อนข้างมีความเครียดพอสมควร เพราะในห้องขังไม่มีโทรทัศน์หรือหนังสือให้คลายเครียดเลย แม้จะเคยแจ้งผู้คุมไปแล้วว่าต้องการทีวี แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

จตุพลถูกขังอยู่ในห้องขังที่ 12 ร่วมกับผู้ต้องขังอื่น โดยไม่มีเพื่อนทะลุแก๊สอยู่เลย เขาเล่าว่านอกจากจะเครียดเรื่องคดีและไม่ได้ประกันตัวแล้ว ยังรู้สึกกดดันจากการที่ถูกผู้คุมเพ่งเล็งห้องขังนี้เป็นพิเศษอีกด้วย หลายครั้งผู้คุมเดินมาเตือนว่า ห้องขังที่ 12 คุยกันเสียงดัง ทั้งๆ ที่ห้องขังนี้ทุกคนเงียบมาก เป็นห้องเดียวที่เงียบที่สุดแล้วในแดน 2 

วันนั้นผู้คุมเรียกผู้ต้องขังทั้งหมด รวมถึงจตุพล ไปซ่อมด้วยการลงโทษสารพัด เช่น ให้หมุนตัวกลับไปกลับมา, ลุกนั่ง 100 ครั้ง, ให้ทำท่ากางมุ้ง และให้นอนกับพื้นยืดแขนและขาขึ้นตรงคล้ายกำลังแบกโลก ซึ่งท่าสุดท้ายนี้จตุพลทำไม่ได้ เนื่องจากเคยผ่าตัดแขนและดามเหล็กมาจนถึงตอนนี้ เขาจึงแจ้งผู้คุมไป

แม้ผู้คุมจะอนุญาตตามคำขอของจตุพล แต่อยู่ๆ ก็มีผู้คุมอีกคนหนึ่งเดินเข้ามายกกระบองขึ้น ทำท่าคล้ายจะเอาไม้ตีที่แขนของจตุพร แต่ผู้ต้องขังคนอื่นพูดห้ามไว้ก่อนว่า “ถ้าทำ จะแจ้งญาติให้รู้” ผู้คุมจึงหยุดและไม่ได้ทำอะไรต่อ หลังจากเหตุการณ์วันนั้นทุกคนในห้องขังที่ 12 ถูกผู้คุมตัดผมสั้นเกรียนกันทั้งหมด ตลอดการพูดคุยจตุพลสะอื้นมีน้ำตาและร้องไห้ตลอด

ความทุกข์อีกอย่างหนึ่งของเขา คือ ‘น้ำดื่มในห้องขัง’ จตุพลต้องดื่มน้ำในถังที่เรือนจำจัดให้ แต่เขาดื่มไม่ได้เลย เพราะน้ำมีกลิ่นเหม็นคลอรีนฉุนจมูกมาก ด้านอาหารในเรือนจำก็เช่นกัน จตุพลเล่าว่า ‘กินได้บ้าง ไม่ได้บ้าง’ เพราะรสชาติจืดมาก ไม่มีเนื้อสัตว์เลย แต่ยังดีที่เขาและเพื่อนๆ มีน้ำปลาและน้ำตาล โดยจะใช้เครื่องปรุงรสปรุงอาหารให้มีรสชาติพอจะกินได้มากขึ้น

.

วัชรพล – พบน้ำดื่มของเรือนจำมี ‘ลูกน้ำยุง-ตะกอน’ หลังดื่มมานาน ทำอ้วกแทบพุ่ง ห้องขังติดรถไฟฟ้าทำเครียด นอนไม่หลับ

วัชรพล เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกขังอยู่กับผู้ต้องขังคนอื่น โดยไม่มีเพื่อนทะลุแก๊สอยู่ด้วยเลย เพราะเขาถูกฝากขังต่อศาลเพียงคนเดียว เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2565 และต้องกักกันโรคเป็นเวลา 10 วัน แต่จนถึงตอนนี้เขาก็ยังไม่ได้ย้ายแดนและต้องถูกกักกันตัวต่อไปอีก เนื่องจากไม่นานมานี้ เพิ่งมีผู้ต้องขังร่วมห้องตรวจพบว่าติดโควิด

หลังเกิดกรณีใบบุญและพุฒิพงศ์ใช้ฝาปลากระป๋องกรีดแขนตัวเอง วัชรพลเล่าว่าตอนนี้เรือนจำเข้มงวดกับการห้ามนำของมีคมและอาหารกระป๋องเข้าไปในห้องขัง โดยจะอนุญาตให้กินอาหารกระป๋องเฉพาะตอนอยู่ข้างล่างเท่านั้น จากมาตรการคุมเข้มดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้ต้องขังกลุ่มทะลุแก๊สยิ่งถูกเพ่งเล็งและถูกเขม่นจากทั้งผู้คุมและผู้ต้องขังคนอื่นๆ ในเรือนจำอีก จนพวกเขารู้สึกอึดอัดอยู่พอสมควร

วัชรพลยังกังวลเกี่ยวกับเรื่องการเรียน ก่อนหน้านี้เขาเพิ่งสมัครเรียน ปวส. ที่วิทยาลัยฐานเทคโนโลยีบางบอน แต่ยังไม่ได้ทำการชำระค่าเทอมเลย กลัวว่าจะไม่มีสิทธิ์ได้เข้าเรียนตามความตั้งใจไว้ และกังวลเรื่องภาระหนี้สินของครอบครัว ซึ่งจะไปตกอยู่ที่พ่อกับแม่

ด้านความเป็นอยู่อื่นๆ เขาเล่าว่า ห้องขังที่ 12 เมื่อมองผ่านหน้าต่างออกไปจะเห็นรถไฟฟ้าวิ่งผ่านอยู่ตลอดเวลา ทำให้เขายิ่งว้าวุ่นใจ บางวันจึงมีอาการนอนไม่หลับ โดยมักจะหลับตาลงได้หลังเวลาเที่ยงคืนเสมอ นอกจากนี้ปัญหาสำคัญที่วัชรพลพบเจอในเรือนจำก็คือ น้ำดื่มไม่สะอาด น้ำดื่มดังกล่าวเป็นน้ำที่เรือนจำจัดไว้ให้เป็นถัง แต่ไม่นานมานี้ทุกคนเพิ่งจะสังเกตเห็นว่า ในถังน้ำดื่มมี ‘ลูกน้ำยุง’ และก้นถังยังมีตะกอนจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งพวกเขาได้เททิ้งไปแล้ว

นอกจากนี้เขายังมีประจำตัวเป็น ‘โรคหอบ’ อีกด้วย ซึ่งหากติดโควิดในเรือนจำขึ้นมาอาจมีภาวะความรุนแรงมากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งขณะนี้เพื่อนทะลุแก๊สติดโควิดไปแล้ว 1 ราย คือ ธีรวิทย์ และมีอาการเฝ้าระวังอีก 1 ราย คือ ณัฐพล

ร็อก – เครียดหนัก เพราะอยากกลับไปเรียน 

ร็อก วัย 18 ปี โดนขังอยู่ห้อง 13 แดน 2 คนเดียว โดยไม่มีเพื่อนทะลุแก๊สคนอื่น เพราะเพิ่งถูกส่งตัวเข้าไปคุมขังในเรือนจำ ทำให้ไม่มีเพื่อนหรือคนรู้จักที่จะระบายความเครียดได้เลย นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่อง ‘การเรียน’ ร็อกจะร้องไห้ทันทีเมื่อพูดถึงเรื่องเรียน เพราะเขาต้องการออกไปเรียนต่อให้จบ  

ขณะนี้ ร็อกเรียนอยู่ชั้น ปวส. สาขาไฟฟ้ากำลัง ที่วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี ซึ่งเปิดทำการเรียนการสอนมาแล้ว 1 เดือน ก่อนหน้านี้เขาก็ไปเรียนตามปกติ โดยช่วงต้นสัปดาห์หน้า (วันที่ 4-8 ก.ค. 2565) ที่วิทยาลัยกำหนดสอบวัดผลเพื่อเตรียมปิดเทอม ซึ่งร็อกกังวลกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตร.ดำเนินคดีผู้ชุมนุมทะลุแก๊ส รวม 13 ราย ใน 4 คดี ก่อนไม่ให้ประกันตัว 11 ราย 

รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมืองตั้งแต่มีนาคม 2565

X