สงกรานต์ปีนี้มีคนไม่ได้กลับบ้าน: 15 ผู้ต้องขังการเมืองยังคงถูกขังในเรือนจำ 7 รายไร้แววได้สิทธิประกันตัว ในจำนวนนี้มีเยาวชนถึง 2 ราย  

วันนี้ (13 เม.ย. 2566) เริ่มต้นเทศกาลมหาสงกรานต์ สัปดาห์แห่งการหยุดพักร้อน หลายคนเดินทางมุ่งหน้ากลับบ้าน หลายคนออกเดินทางใช้เวลาดื่มด่ำกับธรรมชาติ ดนตรีดังครึกครื้น ผู้คนรื่นเริง ทว่าช่วงเวลาตลอดหลายวันนี้จะเป็นเพียงสัปดาห์แสนธรรมดาของเหล่าผู้ต้องขังเบื้องหลังกรงขัง

เวียนมาอีกเทศกาลหนึ่งของปีที่จะหล่นหายไปในห้วงความทรงจำของผู้ต้องขังคดีการเมือง ซึ่งในขณะนี้มีจำนวนอย่างน้อย 15 ราย เป็นผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดแล้วอย่างน้อย 8 ราย และเป็นผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดีอย่างน้อย 7 ราย

นักโทษเด็ดขาด: “ปริทัศน์” คดี ม.112 รายล่าสุดที่ศูนย์ทนายฯ สามารถติดต่อได้ในเรือนจำ

ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่คดีสิ้นสุดแล้วปัจจุบันมีอย่างน้อย 8 ราย ได้แก่ อัญชัญ, ศุภากร, พลทหารเมธิน, ณัฐชนน, กฤษณะ, วรรณภา, คทาธร และปริทัศน์ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 รายล่าสุดที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสามารถติดต่อได้ในเรือนจำ

ปริทัศน์ (นามสมมติ) ประชาชนเพศกำเนิดชาย อายุ 33 ปี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีมาตรา 112 คดีความของปริทัศน์ได้สิ้นสุดลงจากการที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำคุกรวมทั้งสิ้น 1 ปี 6 เดือน ทำให้ปริทัศน์ต้องถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ปริทัศน์จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ก่อนถูกคุมขังในคดีนี้ประกอบอาชีพรับจ้างพิมพ์งานมาก่อน ปริทัศน์สู้คดีความตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนกระทั่งคดีสิ้นสุดลงโดยว่าจ้างทนายความส่วนตัว ไม่ได้ขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากศูนย์ทนายฯ แต่อย่างใด 

กระทั่งเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2566 ทนายความได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่ามีผู้ต้องขังรายหนึ่งถูกขังด้วยข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ทนายความจึงได้ติดต่อขอเข้าเยี่ยมและพูดคุยเบื้องต้น โดยนอกจากปริทัศน์แล้วยังมีผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ที่คดีสิ้นสุดแล้วถูกคุมขังอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ติดต่อมาที่ศูนย์ทนายฯ 

ส่วนอีกรายที่น่าสนใจ คือ “ต๊ะ – คทาธร” ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดีที่ถูกคุมขังยาวนานที่สุดในระลอกล่าสุดนี้ด้วยระยะเวลาเกือบ 1 ปี ตั้งแต่ชั้นสอบสวนเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2565 ต่อเนื่องไปจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี 3 เดือน 15 วัน โดยที่เขาไม่ได้เคยได้รับสิทธิประกันตัวเลยแม้แต่ครั้งเดียว 

ปัจจุบันคดีของคทาธรถึงที่สุดแล้ว เนื่องจากเขาไม่ประสงค์ที่จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไปอีก รวมถึงพนักงานอัยการในคดีนี้ก็ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาภายในระยะที่กำหนดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม คทาธรจะได้รับการปล่อยตัวทันทีเมื่อครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาจำคุกของศาลชั้นต้น ซึ่งจะครบกำหนดประมาณช่วงท้ายเดือนกรกฎาคมปีนี้

ภาพจากไข่แมวชีส

ผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดี: เดือนมีนา พบถูกขังอีก 5 ราย 2 รายเป็นคดี ม.112 ขณะเป็นเยาวชนถึง 2 ราย

ปัจจุบันมีผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 7 ราย โดย 2 ถูกคุมขังมาตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ ถิรนัยและชัยพร ส่วนอีก 5 รายถูกคุมขังในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวมาจนถึงขณะนี้ ในจำนวน 7 รายนี้เป็นคดีมาตรา 112 ถึง 2 ราย ได้แก่ “วุฒิ” ประชาชนวัย 50 ปี ซึ่งถูกคุมขังหลังพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญามีนบุรี ในคดีโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 12 ข้อความ เมื่อช่วงปี 2564 

อีกราย คือ “หยก” เยาวชนวัย 15 ปี (อายุ 14 ปีขณะเกิดเหตุ) ถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านปรานีภายหลังถูกจับกุมตามหมายจับของศาลเยาวชนและครอบครัว จากเหตุการชุมนุมบริเวณลานเสาชิงช้า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2565 แม้ว่าในคดีดังกล่าวหยกได้นัดหมายจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงต้นเดือนเมษายนที่จะถึงอยู่แล้ว การถูกออกหมายจับและจับกุมโดยมิชอบทำให้เธอปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมทุกอย่าง อาทิ การยื่นประกันตัว ลงชื่อในเอกสารต่างๆ รวมถึงปฏิเสธการแต่งตั้งทนายความในคดีด้วย สุดท้ายศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งให้ควบคุมตัวเธอไว้ที่บ้านปรานี จ.นครปฐม จนถึงปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ยังมีเยาวชนอีกรายหนึ่ง คือ “หิน” วัย 19 ปี (อายุ 17 ปีขณะเกิดเหตุ) ถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านเมตตา ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าปา “ลูกกระทบ” ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2564 โดยศาลเยาวชนฯ ยังปฏิเสธการให้ประกันตัว แม้ทนายความจะยื่นประกันแล้ว 3 ครั้ง 

ในจำนวนผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดีทั้ง 7 รายนี้ เป็นผู้ถูกคุมขังชั้นสอบสวนและพิจารณาคดีที่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาถึง 5 ราย ได้แก่ ทัตพงศ์, ชนะดล, หิน, วุฒิ และหยก การถูกคุมขังเป็นระยะเวลายาวนาน โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อ “เสรีภาพ” และ “อิสรภาพ” ในการใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังขัดกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ซึ่งเป็นหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อีกด้วย

ดูเรื่องของผู้ต้องขังคดีการเมืองเพิ่มเติม

X