ฝืนตื่นประท้วง: วงจรแห่งความทรมาน การต่อต้านด้วยความทนทุกข์

เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์

ท่ามกลางเรือนนอนสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่แออัดไปด้วยผู้คน ผู้ต้องขังกลุ่มหนึ่งกำลังพยายามดำรงสติและความตื่นตัวของตนด้วยทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ร่างกายของพวกเขาวูบหลับลง  ค่ำคืนที่ดูเหมือนจะยาวนานกว่าปกติ  ดวงตาที่จมลึกไร้แวว คำพูดที่เริ่มไม่เป็นภาษา เรือนร่างที่กำลังโอนเอนไปมาต่างพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อกระตุ้นความตื่นตัวแก่กันและกัน ความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสกำลังกัดกินชีวิตของพวกเขาอย่างช้าๆ แน่นอนว่าในสายตาของสาธารณชน การกระทำของพวกเขาเป็นความพยายามที่น่าฉงน พวกเขากำลังทำอะไร? และมันจะส่งผลกดดันได้อย่างไร?

บทความชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพยายามอธิบายและทำความเข้าใจต่อ “การฝืนตื่นประท้วง[1] ในฐานะปฏิบัติการเพื่อการต่อต้านด้วยความทุกข์ทรมานของตนเอง ผ่านคำถามที่สำคัญคือ การฝืนตื่นประท้วงคืออะไร? มันสามารถทำได้อย่างไร? มันส่งผลอย่างไรต่อร่างกายของผู้ประท้วง? และการนำความทุกข์ทรมานมาสู่ตนเองเช่นนี้จะส่งผลให้บรรลุข้อเรียกร้องได้อย่างไร? 

การฝืนตื่นประท้วงคืออะไร?

การอดนอน และการนอนไม่เพียงพอ ดูจะเป็นหนึ่งในประสบการณ์ร่วมที่มนุษย์แทบทุกคนเคยเผชิญ มีรายงานว่า คนไทยกว่า 19 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 มีปัญหานอนไม่หลับ  ดังนั้นการอดนอนจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย และคงไม่น่าแปลกใจนัก หากใครสักคนจะบอกว่า เมื่อคืนเขาเพิ่งนอนไม่เพียงพอ  อย่างไรก็ดี ในฐานะปฏิบัติการเพื่อการต่อต้าน การฝืนตื่นประท้วงนั้นค่อนข้างหายาก แม้ในบรรดาการต่อต้านที่พบได้น้อย อย่างการอดน้ำ การอดอาหาร หรือแม้แต่ การเผาตนเองก็ตาม (Biggs, 2005) การฝืนตื่นประท้วงนั้นพบได้น้อยยิ่งกว่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก หากมันจะชวนสงสัย เมื่อมีใครสักคนลุกขึ้นมาประกาศว่า เขาหรือเธอจะประท้วงด้วยการไม่นอน หรือ “ฝืนตื่นประท้วง”

การฝืนตื่นประท้วง คือ การปฏิเสธที่จะนอนโดยสมัครใจ ด้วยการพยายามแข็งขืนฝืนร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อกดดันหรือชักจูงฝ่ายที่ถูกเรียกร้องให้ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง  

แน่นอนว่า แม้การประท้วงในลักษณะนี้จะก่อให้เกิดอันตรายแก่ตัวผู้ปฏิบัติการอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เพราะมันไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายแก่ผู้อื่น การฝืนตื่นประท้วงจึงเข้าข่ายการเป็น ‘ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง’ (Non-violent Action) ในมุมมองของ ยีน ชาร์ป (Gene Sharp) จำพวก ‘การทุกรกิริยาต่อตนเอง’ (Self – exposure to the elements) ซึ่งชาร์ปถือว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบการแทรกแซงทางจิตวิทยา โดยเป็นการกดดันผู้อื่นทางจิตใจ ศีลธรรม หรืออารมณ์ ด้วยการทำร้ายตนเอง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่ถูกเรียกร้อง เปลี่ยนทัศนะ หรือดำเนินการบางอย่าง โดยที่ผู้ประท้วงยินยอมที่จะแบกรับความรู้สึกไม่สบายใจ ความอัปยศอดสู หรือความทุกข์ทรมานต่อตนเอง โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น (Sharp, 1973)

อย่างไรก็ดี สำหรับการฝืนตื่นประท้วง ในปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์ที่แน่ชัดต่อรูปแบบการประท้วงในลักษณะนี้ ว่าต้องอดนอนเป็นเวลาเท่าใด? หรือในลักษณะใด? จึงจะถือเป็นการฝืนตื่นประท้วง เนื่องจากแทบไม่มีรายงานถึงการใช้เครื่องมือรูปแบบนี้มากนัก กรณีการฝืนตื่นประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นในเรือนจำของไทย ที่นำโดย เก็ท-โสภณ ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ขณะนี้ จึงนับได้ว่าเป็นกรณีแรกๆ ที่มีการนำรูปแบบการต่อต้านด้วยความทุกข์ทรมานต่อตนเองด้วยวิธีการนี้มาใช้

.

ฝืนตื่นประท้วงสามารถเป็นไปได้อย่างไร?

สำหรับมนุษย์โดยทั่วไป การอดนอนเป็นเวลานานติดต่อกันนั้นแทบจะเป็นไปได้ยาก เว้นแต่เขาจะมีความผิดปกติจากโรคที่ส่งผลต่อสารเคมีในสมองเกี่ยวกับการนอนหลับโดยตรง  ผู้คนจำนวนมากต่างเคยมีประสบการณ์ในการฝืนการนอน อย่างการฝืนอ่านหนังสือสอบ การขับรถทางไกลตอนกลางคืน ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ได้ให้ความรู้แก่พวกเขาว่า มันยากที่จะสำเร็จ และมักจบลงที่การผล็อยหลับอย่างไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแทบจะเป็นสภาวะปกติ  และด้วยประสบการณ์ต่อกลไกการทำงานของร่างกายนี้ การไม่นอนเพื่อการประท้วงจึงดูแทบเป็นไปไม่ได้ การฝื่นตื่นประท่วงจึงเป็นวิธีการที่น่าฉงนสงสัย 

แน่นอนว่า ผู้ฝืนตื่นประท้วงย่อมตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว อย่างไรก็ดีสาระสำคัญของการประท้วงด้วยความทนทุกข์ประเภทนี้ อยู่ที่การทำให้ร่างการของตนทรุดโทรมลงอย่างช้าๆ จนอาจนำไปสู่การเสียชีวิต เพื่อดีแผ่ความเลวร้ายของผู้มีอำนาจ ระดมความเห็นอกเห็นใจ และกดดันต่อผู้ที่ถูกเรียกร้อง ดังนั้นสาระสำคัญจึงอยู่ที่ ‘การพยายามทำให้ร่างกายทรุดโทรมลง’  

สำหรับผู้ฝืนตื่นประท้วง  พวกเขาพยายามใช้วิธีการต่าง ๆ ในการแข็งขืน “ฝืน” สภาวะปกติ เพื่อขัดขวางกระบวนการในการนอนหลับ อย่างการดื่มกาแฟเข้มข้นวันละมากๆ การดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง การอาบน้ำ การทำกิจกรรมให้ร่างกายของพวกเขาตื่นตัว  เป็นที่ทราบกันดีว่า เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูงส่งผลขัดขวางกลไกการนอนหลับ ซึ่งการได้รับคาเฟอีนในปริมาณมาก และการรู้สึกง่วงอย่างถึงที่สุดแต่ไม่สามารถนอนหลับได้เป็นเวลานาน ส่งผลต่อจิตประสาท ทำให้ผู้ฝืนตื่นประท้วงต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส  

“วูบหลับ” จุดสิ้นสุดของฝืนตื่นประท้วง?

ในระหว่างการต่อต้านนี้ หากพวกเขาไม่เสียชีวิตไปเสียก่อน แน่นอนว่าแทบเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ฝืนตื่นประท้วงจะไม่ผลอยหลับหรือสลบไป  ถึงแม้จะเคยมีความพยายามของมนุษย์ที่จะฝืนตื่นติดต่อกันเป็นเวลานาน แต่เท่าที่เคยมีการบันทึกสถิติไว้ เวลาประมาณ 11 วัน คือเวลาสูงสุดที่มนุษย์สามารถอดนอนได้ และยังไม่เสียชีวิต  ดังนั้นในไม่ช้าก็เร็ว ผู้ฝืนตื่นประท้วงจะต้องเผชิญกับการวูบหลับหรือสลบไปอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก  

กระนั้นก็ดี ดูเหมือนลักษณะการสิ้นสุดของการฝืนตื่นประท้วงจะแตกต่างจากการประท้วงทำร้ายตนเองที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขเวลาจำพวกอื่น อย่างการอดอาหารประท้วง ที่การประท้วงจะสิ้นสุดลงเมื่อผู้ประท้วงนำอาหารหรือสารอาหารเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารอย่างเต็มใจ (Siméant, Traïni, & Jasper, 2016) หรือถูกจับได้ว่าแอบรับประทานอาหาร เกณฑ์การสิ้นสุดนี้ดูจะใช้ไม่ได้เสียทีเดียวกับการฝืนตื่นประท้วง ที่การหลับเป็นกิจกรรมของร่างกายที่ค่อนข้างไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของจิตใจอย่างสมบูรณ์นักเมื่อเปรียบเทียบกับการกินอาหาร ดังนั้นในระหว่างการต่อต้าน ผู้ฝืนตื่นประท้วงอาจผล็อยหลับหรือสลบลงโดยไม่เต็มใจ ก่อนที่จะถูกปลุก และฝืนตื่นต่อ เป็นวงจรของความทรมานที่เกิดขึ้นซ้ำๆ หลายระลอก พร้อมๆ กับร่างกายที่ทรุดโทรมลงเป็นเท่าทวี  

ด้วยเหตุนี้ ตราบใดก็ตามที่ผู้ประท้วงยังคงมีความพยายามที่จะแข็งขืนการนอนหลับของตนหลังได้สติ การฝืนตื่นประท้วงก็ยังคงจะดำเนินอยู่เป็นวงจรซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตราบที่ผู้ประท้วงยังไม่ได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้อง เสียชีวิต หรือยุติการประท้วงไปเอง

อะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกายของผู้ฝืนตื่นประท้วง?

ผู้คนจำนวนหนึ่งอาจเคยมีประสบการณ์กับการพยายามไม่นอนเป็นเวลานาน อย่างผู้ขับขี่รถระยะทางไกล  ยามรักษาความปลอดภัยที่ทำงานควบกะ แพทย์ที่ถูกขอแลกเวรหลายวัน เหล่านี้คือความพยายามไม่นอนที่พบได้ในชีวิตประจำวัน แต่จะเป็นอย่างไรหากมนุษย์ไม่ได้นอนติดต่อกัน 5-6 วัน เป็นสัปดาห์ หรืออาจจะมากกว่านั้น

การอดนอน (sleep deprivation) นั้นแตกต่างจากการนอนไม่เพียงพอที่เรามักคุ้นเคย  ดูเหมือนประสบการณ์จากการไม่ได้นอนทั่วไปจะเทียบได้ยากกับผู้ที่ฝืนตื่นประท้าง  ในปัจจุบันความรู้ของเราเกี่ยวกับการอดนอนติดต่อกัน/การอดนอนอย่างสมบูรณ์ที่ค่อนข้างยาวนาน (total sleep deprivation) บางส่วนมาจากการทดลองในมนุษย์ อีกส่วนมาจากการทดลองในสัตว์ และอีกจำนวนหนึ่งมาจากการศึกษาผู้ต้องขังที่ถูกขัดขวางการนอนเพื่อการทรมาน   

มีงานศึกษาที่จำแนกการอดนอนออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การอดนอนอย่างสมบูรณ์ในระยะยาว (Long-term total sleep deprivation) คือ การอดนอนมากกว่า 45 ชั่วโมงขึ้นไป การอดนอนอย่างสมบูรณ์ในระยะสั้น คือ การอดนอนน้อยกว่า/หรือเท่ากับ 45 ชั่วโมง และการอดนอนบางส่วน คือ การอดนอนมากกว่า 7 ชั่วโมงในระยะเวลา 24 ชั่วโมง (Barth, et al, 2010) ถึงแม้การจัดจำแนกดังกล่าวจะยังคงเป็นที่ถกเถียง แต่ดูเหมือนสำหรับผู้ฝืนตื่นประท้วง พวกเขาถูกจัดอยู่ในกลุ่มการอดนอนอย่างสมบูรณ์ในระยะยาว ซึ่งเป็นการอดนอนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพค่อนข้างมาก

สำหรับผู้ฝืนตื่นประท้วงความทุกข์ทรมานที่พวกเขาเผชิญอาจถึงขั้นคอขาดบาดตาย แม้จะยังไม่มีระยะเวลาการเสียชีวิตที่ชี้ชัดสำหรับมนุษย์ แต่การรายงานการเสียชีวิตจากการอดนอนที่ติดต่อกันสามารถพบเห็นได้ทั่วไป  รวมถึง มีหลักฐานที่ชัดเจนในความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างการอดนอนและความตายในสัตว์ทดลอง (Everson, Bergmann, & Rechtschaffen, 1989) ซึ่งดูเหมือนระยะเวลาการเสียชีวิตที่แตกต่างนั้น ขึ้นกับสภาพร่างกาย และกิจกรรมของพวกมัน (Bentivoglio & Zucconi, 1997) 

อย่างไรก็ดี ก่อนที่ความตายจะมาเยือน ผู้ประท้วงจะต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวข้องกับจิตประสาท ความทรุดโทรมลงเหล่านี้จะค่อยๆ กัดกินพวกเขาจากภายใน อาการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในความรับรู้ของพวกเขา ผิดกับการอดอาหารประท้วง ที่ประจักษ์พยานของความทรมานปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดจากภายนอก 

แม้ว่าการอดนอนบางส่วนติดต่อกันหลายวัน จะส่งผลต่อความสามารถในการรู้คิด (cognitive performance) และการทำงานของระบบประสาท (Van Dongen, Maislin, Mullington & Dinges, 2003)  แต่อาการเหล่านี้แทบจะเทียบไม่ได้กับอาการจากการฝืนตื่นประท้วงอย่างสมบูรณ์ ที่ผู้ประท้วงจะเผชิญกับภาวะบกพร่องของการรู้คิด (cognitive deficit) และประสิทธิภาพการรับรู้ทางประสาทที่ลดลงอย่างมาก  (Durmer and Dinges, 2005) การตอบสนองและการตัดสินใจของพวกเขาย่ำแย่ เนื่องจากความจำ และสามารถในการรับรู้โอกาสผิดพลาดที่ลดลงอย่างน่าตกใจ (Harrison & Horne, 2000)  อาการเหล่านี้ เป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงทางสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า ซึ่งสำคัญต่อการรับรู้ การคิดระดับสูง ความจดจำในการทำงาน การวางแผน และการไตร่ตรอง ซึ่งทั้งหมดต่างย่ำแย่ลง (Muzur et al., 2002) 

พวกเขาจะมีความสับสน และสภาวะอารมณ์เชิงลบเพิ่มสูงขึ้น (Pilcher & Huffcutt, 1996) รวมถึงความรับรู้คลาดเคลื่อน (misperception) และการบิดเบือนของประสาทสัมผัส (illusions) อาการต่างๆ เหล่านี้จะยิ่งเลวร้ายลงเมื่อผู้ฝืนตื่นประท้วงผ่าน “จุดเปลี่ยนของวันที่ 5” (fifih day turning point) ซึ่งอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวจะรุนแรงขึ้น ความโกรธจะเกิดขึ้นได้แม้แต่กับเรื่องเล็กน้อย  พวกเขาอาจเริ่มแยกตัวสันโดษ การรวมกลุ่มจะลดลง ยิ่งไปกว่านั้นในเชิงพฤติกรรม พวกเขาเริ่มเข้าสู่สภาวะพฤติกรรมถดถอย (Regressive behavior) ที่กิจกรรมบางอย่างที่เคยทำได้อย่างธรรมดาสามัญ กลับกลายเป็นเรื่องยากขึ้นอย่างยิ่ง (Pasnau, Naitoh, Stier, & Kollar, 1968)

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือ ผู้ฝืนตื่นประท้างอาจเผชิญอาการคล้ายผู้ป่วยจิตเวช บุคลิกภาพและพฤติกรรมที่มีเหตุผลเริ่มหายไป พร้อมกับอาการทางจิต อาการคลุ้มคลั่ง การสูญเสียการควบคุมตนเองอย่างรวดเร็ว อาการประสาทหลอนที่รุนแรงมักเกิดขึ้นพร้อมกับความหวาดระแวง (Leach, 2016)  โดยในการทดลองอดนอนต่อเนื่องเป็นเวลา 205 ชั่วโมง อาสาสมัครรายหนึ่งมีอาการเห็นภาพหลอนที่รุนแรง โดยเฉพาะในความมือ มีอาการคลุ้มคลั่ง สูญเสียการควบคุมตนเอง

“เขากรีดร้องด้วยความหวาดกลัว ดึงขั้วไฟฟ้าออก และล้มลงกับพื้นร้องไห้สะอึกสะอื้น พึมพำเกี่ยวกับลิงกอริลลา และขอให้ถอดเขาจากการทดลองซ้ำๆ” (Pasnau, Naitoh, Stier, & Kollar, 1968)

ความหุนหันพลันแล่น สภาวะซึมเศร้า และความรู้สึกเชิงลบ ของผู้ฝืนตื่นประท้วงอาจนำไปความคิดหรือพฤติกรรมการฆ่าตัวตายโดยไม่ได้วางแผน มีงานศึกษาจำนวนมากที่ชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการอดนอนเป็นเวลานานและความเสี่ยงต่อการคิดฆ่าตัวตาย (Porras-Segovia, et al, 2018 และ Killgore,Capaldi, Grandner, & Kamimori, 2021)  รวมถึง มีรายงานถึงผู้ต้องขังที่ถูกทำให้อดนอนเป็นเวลานานร่วมกับปัจจัยอย่างการถูกกดดัน ว่าพวกเขามีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ต่ำลง มีความคิดในการทำพฤติกรรมห่ามๆ ความคิดในการใช้ความรุนแรง และการพยายามฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้น (Sharuk, 2021)

นอกจากนี้ สำหรับอาการทางร่างกาย ผู้ฝืนตื่นแทบจะไม่สามารถควบคุมดวงตาของพวกเขาให้หยุดนิ่ง พวกมันจะส่ายไปมาอย่างไม่อาจควบคุม อีกทั้งพวกเขาจะเผชิญกับสภาวะวูบหลับหรือภาพตัด และมีอันตรายอย่างมาก หากอาการนั้นเกิดขึ้นระหว่างผู้ฝืนตื่นประท้วงกำลังเดินหรือยืน ซึ่งการวูบแต่ละครั้งจะยิ่งกินเวลายาวนานขึ้นตามเวลาการอดนอนที่ยาวนานออกไป  พวกเขาจะเผชิญกับอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และมันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในผู้ฝืนตื่นที่ได้รับคาเฟอีน (Killgore & Kamimori,2020)

ความทุกข์ทรมานต่อตนเอง ส่งผลต่อการบรรลุข้อเรียกร้องได้อย่างไร?

แม้ผลกระทบต่อร่างการของการฝืนตื่นประท้วงจะรุนแรง แต่การไม่นอนในฐานะการต่อต้านก็อาจยังฟังดูน่าฉงน สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก การฝืนตื่นประท้วงดูค่อนข่างจะไกลห่างกว่าจินตนาการในชีวิตประจำวัน  ดูเหมือนประสบการณ์ในการต่อต้านการนอนครั้งท้ายๆ ที่หลายคนคุ้นเคยอาจเกิดขึ้นกับเด็กเล็กๆ ที่พยายามจะต่อรองเวลานอนของพวกเขาเมื่อใกล้ถึงเวลาที่ตกลงกัน ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่า มันค่อนข้างห่างไกลจากการฝืนตื่นประท้วงที่อาจถึงแก่ชีวิต

ด้วยเพราะการฝืนตื่นประท้วงเป็นกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก การทำความเข้าใจกลไกการทำงานของมันจึงอาจต้องอาศัยวิธีวิทยาจากการเทียบเคียงกับกลไกการทำงานของการประท้วงประเภทที่สร้างความทนทุกข์ต่อตนเอง โดยเฉพาะแบบที่ผูกโยงกับเงื่อนไขของระยะเวลา เช่น การอดอาหารประท้วง (ดูเพิ่มเติมใน เสกสิทธิ์, 2565) รวมถึงการประท้วงในรูปแบบอื่นที่มักเกิดขึ้นในบริบทของเรือนจำหรือสถานกักกัน ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งระเบียบวินัย การควบคุม การกล่อมเกลา และการลงทัณฑ์ (Foucault, 1977)

เป็นที่รู้กันดีว่า รัฐไม่เพียงแต่ใช้พื้นที่เหล่านี้ในการคุมขังผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย บ่อยครั้งวัตถุประสงค์ทางการเมืองอย่างการระงับขัดขวางการต่อต้านก็เป็นเป้าหมายเช่นกัน  แต่ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ เมื่อนักโทษการเมืองอยู่พร้อมหน้า พื้นที่เหล่านี้ได้กลายเป็นสถานรวมตัวของบรรดานักเคลื่อนไหว  การสร้างความทนทุกข์ต่อตนเองในพื้นที่แห่งการควบคุม—ซึ่งการฝืนตื่นประท้วงเป็นอีกหนึ่งในทางเลือกนอกจากการอดอาหารประท้วง มักเกิดควบคู่กับ ‘การจัดตั้งผู้คน’ และ ‘การต่อต้านในชีวิตประจำวัน’ (Everyday resistance)  พวกเขาได้เปลี่ยนเรือนจำให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการต่อต้านและการปลดปล่อย  การกระทำเหล่านี้ได้ทำลายความเป็นปกติสุขในเรือนจำ ขัดขวางการบริหารจัดการ เพิ่มต้นทุนในการควบคุมและรักษาระเบียบวินัยให้แก่รัฐ (Norman, 2022) 

การปล่อยให้การจัดตั้งและการต่อต้านลุกลามบานปลายต่อไปไม่ส่งผลดีต่อรัฐ  ขณะเดียวกัน รัฐก็มีพันธกรณีระหว่างประเทศและกฎหมายทำให้ไม่สามารถใช้กำลังกดขี่ปราบปรามอย่างเปิดเผยรุนแรงต่อผู้ต้องขัง โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาอยู่ในการจับจ้องของสาธารณชน ดังนั้น ทางออกที่ชาญฉลาดที่สุดคือการเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อรอง ที่จะไม่มีใครได้ทุกอย่าง และไม่มีฝ่ายไหนเสียทั้งหมด

ในพื้นที่แห่งการควบคุม ทรัพยากรในการต่อต้านและการสื่อสารนั้นค่อนข้างขาดแคลน ร่างกาย—ที่มักจะถูกอ้างสิทธิ์การควบคุมจากรัฐ เป็นทรัพยากรเพียงไม่กี่อย่างที่อยู่ในความควบคุมของผู้ต้องขัง ร่างกายจึงเป็นทรัพยากรอันล้ำค่าเมื่ออยู่ต่อหน้ากับการกดขี่ (Butler, 2014)  แน่นอนว่าโดยปกติพื้นที่แห่งการคุมขังมักไม่ได้รับความสนใจจากสังคมภายนอก เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่สามารถดึงดูดความสนใจ อย่างความทุกข์ทรมานและความตายที่ไม่ค่อยปกติ  ผู้ประท้วงที่หนทางจำกัดจึงเลือกโอบรับความเจ็บปวดไว้ด้วยร่างกายของพวกเขา และเบี่ยงความสนใจของสาธารณชนต่อไปยังข้อเรียกร้องที่มี  สำหรับผู้ฝืนตื่นประท้วง ความเจ็บปวดและร่างกายที่ทุกข์ทรมานคือพาหนะในการส่งสารที่ทรงพลังในสภาวะที่การสื่อสารปกติไม่ได้รับความสนใจ หรือเป็นไปได้ยาก (Vallentine, 2016)

ภายใต้การเมืองแห่งความห่วงใยอาทร (politics of pity) สาธารณชนโดยเฉพาะผู้สังกัดกลุ่มอัตลักษณ์เดียวกับผู้ประท้วงและฝ่ายที่ 3 พวกเขาเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จในข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง เมื่อผู้ฝืนตื่นประท้วงเริ่มเข้าใกล้สภาวะวิกฤต ผู้ที่ห่วงใยอาทรต่อพวกเขาจะพยายามเร่งกำลังระดมทรัพยากรที่พวกเขาเห็นว่าสมควร เพื่อกดดันหรือโน้มน้าวต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจ  

ในอีกฟากหนึ่ง สำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจ การประเมินความเป็นไปได้ที่เลวร้าย จากการไม่ยินยอมตอบสนองข้อเรียกร้อง เช่น ผลตีกลับของสาธารณชน พรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และองค์กรระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจว่าจะยอมตอบสนองข้อเรียกร้องหรือไม่

กระนั้นก็ตาม สำหรับการฝืนตื่นประท้วง ข้อน่ากังวลประการหนึ่งคือ ด้วยเพราะความสนใจ ความสงสาร และความเป็นกังวลต่อสภาวะวิกฤตของสาธารณชนต่อผู้ประท้วงด้วยการทรมานตนเองเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ด้วยเพราะเป็นกรณีที่แทบไม่เคยเกิดขึ้น หมอกม่านของความรู้ต่อการประท้วงนี้จึงยังคงขมุกขมัว ความรับรู้ของสาธารณชนต่อกรอบเวลาที่ผู้ฝืนตื่นประท้วงจะเข้าสู่สภาวะวิกฤตหรือเสียชีวิต—ซึ่งสำคัญต่อการหันมาสนใจของผู้คน ยังไม่กระจ่างชัดนักเมื่อเปรียบเทียบกับการประท้วงที่สร้างความทนทุกข์ในรูปแบบอื่น การฝืนตื่นประท้วงจึงมีความน่าเป็นกังวล จากการที่ผู้ประท้วงอาจตระหนักถึงการไม่ได้รับความสนใจเพียงพอและยุติการประท้วงก่อนได้รับการตอบสนอง หรือไปถึงจุดวิกฤตก่อนที่สาธาณชนจะได้เตรียมตัวระดมสรรพกำลังได้ทัน

กระนั้นก็ดี ตราบใดที่ผู้ฝืนตื่นประท้วงยังคงสู้อยู่ สาธารณชนผู้ห่วงใยอาทรต่อประท้วงยังคงสามารถเป็นกำลังสนับสนุนที่สำคัญแก่พวกเขาได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้ฝืนตื่นประท้วงเข้าใกล้สภาวะวิกฤต

.


.

เชิงอรรถ

[1] ผู้เขียนได้ปรึกษาหารือ และได้เสนอให้ใช้คำว่า “การฝืนตื่นประท้วง” แทน “การอดนอนประท้วง” ซึ่งอย่างหลังแสดงให้เห็นสภาพที่เกิดขึ้นในฐานะที่เป็นผลลัพธ์  ขณะที่ “การฝืนตื่น” ขับเน้นไปที่ความพยายามแข็งขืนฝืนสภาวะปกติของผู้ประท้วง ซึ่งอยู่ในฐานะสาเหตุที่ทำให้พวกเขายังคงตื่นเพื่อประท้วงอยู่ 

.

อ้างอิงท้ายบทความ

เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์. (2565) วางชีวิตเป็นเดิมพัน: พลังของการอดอาหารประท้วง กลไกการทำงานในฐานะปฏิบัติการทางการเมือง ผลลัพธ์และการตอบสนองจากรัฐ, https://tlhr2014.com/archives/44370

Barth, J. T., Isler, W. C., Helmick, K. M., Wingler, I. M., & Jaffee, M. S. (2010). Acute battlefield assessment of concussion/mild TBI and return-to-duty evaluations. Military neuropsychology, 127-174.

Bentivoglio, M., Zucconi, G. G. (1997) The Pioneering Experimental Studies on Sleep Deprivation, Sleep, Volume 20, Issue 7, 570–576, https://doi.org/10.1093/sleep/20.7.570

Biggs, M. (2005). Dying without killing: self-immolations, 1963-2002 (D. Gambetta, Ed.; Accepted Manuscript, pp. 173–208). Oxford University Press.

Butler, J. (2014). Bodily Vulnerability, Coalitions and Street Politics. Critical Studies 37 (1): p.99–119.

Durmer, J. S., & Dinges, D. F. (2005). Neurocognitive consequences of sleep deprivation. Seminars in Neurology, 25, 117–129.

Everson, C. A., Bergmann, B. M., & Rechtschaffen, A. (1989). Sleep deprivation in the rat: III. Total sleep deprivation. Sleep, 12(1), 13–21. https://doi.org/10.1093/sleep/12.1.13

Foucault, M. (1977). Discipline and punish : the birth of the prison. New York :Pantheon Books,

Harrison, Y., & Horne, J. A. (2000). The impact of sleep deprivation on decision making: a review. Journal of experimental psychology. Applied, 6(3), 236–249. https://doi.org/10.1037//1076-898x.6.3.236

Killgore, W., Capaldi, V. Grandner, M., Kamimori, G., (2021). 786 Trait Extraversion is Associated with Increased Suicidal Ideation During Total Sleep Deprivation and Insomnia, Sleep, 44, Issue Supplement_2,,  A306–A307, https://doi.org/10.1093/sleep/zsab072.783

Killgore, W. D. S., & Kamimori, G. H. (2020). Multiple caffeine doses maintain vigilance, attention, complex motor sequence expression, and manual dexterity during 77 hours of total sleep deprivation. Neurobiology of Sleep and Circadian Rhythms, 9, 100051. doi:10.1016/j.nbscr.2020.100051

Leach, J. (2016). Psychological factors in exceptional, extreme and torturous environments. Extrem Physiol Med 5, 7 . https://doi.org/10.1186/s13728-016-0048-y

Muzur, A., Pace-Schott, E. F., & Hobson, J. A. (2002). The prefrontal cortex in sleep. Trends in cognitive sciences, 6(11), 475–481. https://doi.org/10.1016/s1364-6613(02)01992-7

Norman, J. M. (2022). Negotiating detention: The radical pragmatism of prison-based resistance in protracted conflicts. Security Dialogue, 53(2), 95–111. pp.97-98

Pasnau, R. O., Naitoh, P., Stier, S., & Kollar, E. J. (1968). The psychological effects of 205 hours of sleep deprivation. Archives of general psychiatry, 18(4), 496–505. https://doi.org/10.1001/archpsyc.1968.01740040112014

Pilcher, J. J., & Huffcutt, A. I. (1996). Effects of sleep deprivation on performance: a meta-analysis. Sleep, 19(4), 318–326. https://doi.org/10.1093/sleep/19.4.318

Porras-Segovia, A., Pérez-Rodríguez, M. M., López-Esteban, P., Courtet, P., Barrigón, M, M. L., López-Castromán, J., … Baca-García, E. (2018). Contribution of sleep deprivation to suicidal behaviour: a systematic review. Sleep Medicine Reviews. doi:10.1016/j.smrv.2018.12.005

Porras-Segovia, A., Pérez-Rodríguez, M. M., López-Esteban, P., Courtet, P., Barrigón, M, M. L., López-Castromán, J., … Baca-García, E. (2018). Contribution of sleep deprivation to suicidal behaviour: a systematic review. Sleep Medicine Reviews. doi:10.1016/j.smrv.2018.12.005

Siméant, J., Traïni, C., & Jasper, J. (2016). When Hunger Strikes Arise. In Bodies in Protest: Hunger Strikes and Angry Music (pp. 77-96). Amsterdam University Press. doi:10.1017/9789048528264.008

Sharp, G. (1973). The politics of nonviolent action. Boston: Porter Sargent. pp.359

Sharuk, D. (2021). No Sleep for the Wicked: A Study of Sleep Deprivation as a Form of Torture . Maryland Law Review, Forthcoming, https://ssrn.com/abstract=3811736

Vallentine, J. (2016). Bodies in protest: understanding self-harm in immigration detention.

Van Dongen, H. P., Maislin, G., Mullington, J. M., & Dinges, D. F. (2003). The cumulative cost of additional wakefulness: dose-response effects on neurobehavioral functions and sleep physiology from chronic sleep restriction and total sleep deprivation. Sleep, 26(2), 117–126. https://doi.org/10.1093/sleep/26.2.117

.

X