2566 ปีแห่งคำพิพากษาคดีการเมือง: คดีเพิ่มเกือบร้อย และมีคำพิพากษาแทบทุกวันทำการ

ปี 2566 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป สำหรับนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชนจำนวนมาก ยังนับเป็นปีที่การต่อสู้คดีที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมและแสดงออกในช่วงปี 2563-65 ยังดำเนินสืบเนื่องมาจากปีก่อนหน้า และยังเป็น “ปีแห่งคำพิพากษา” เมื่อคดีต่าง ๆ ศาลชั้นต้นทยอยมีนัดฟังคำพิพากษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเริ่มมีคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์เพิ่มมากขึ้น

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563 ซึ่งเริ่มต้นการชุมนุมเยาวชนปลดแอก จนถึงวันที่ 26 ธ.ค. 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,938 คน ในจำนวน 1,264 คดี

ตลอดทั้งปีนี้ มีคดีความเพิ่มขึ้นใหม่ไม่น้อยกว่า 99 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 50 คน (นับเฉพาะคนที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) เฉลี่ยแล้วในแต่ละเดือน มีคดีจากการแสดงออกทางการเมืองเพิ่มขึ้นเดือนละ 8-9 คดี ถือว่าได้ลดน้อยลงจากปีก่อนหน้านี้ เมื่อปีนี้การชุมนุมทางการเมืองไม่ได้มีมากนัก และยังเป็นปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง ทำให้การส่งเสียงทางการเมืองของประชาชนไปอยู่ในคูหาเลือกตั้งเป็นหลัก

สำหรับคดีใหม่ในปีนี้ เป็นคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาเกิดขึ้นภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นมา จำนวน 14 คดี แต่ส่วนใหญ่เหตุที่ถูกกล่าวหาเป็นกรณีการชุมนุมหรือการแสดงออกที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น (นอกจากนั้นยังมีคดีละเมิดอำนาจศาลอีก 4 คดี ที่ศาลตั้งเรื่องพิจารณาใหม่)

จากจำนวนคดีทั้งหมดดังกล่าว มีคดีที่สิ้นสุดไปแล้วจำนวน 469 คดี ทำให้ยังมีคดีอีกไม่น้อยกว่า 795 คดี อยู่ระหว่างการต่อสู้ในกระบวนการต่าง ๆ หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 63 ของทั้งหมด คดีเหล่านี้จะดำเนินสืบเนื่องในปีต่อไป

ในปีนี้ ศาลชั้นต่าง ๆ ยังมีคำพิพากษาในคดีจากการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2563 ไม่น้อยกว่า 284 คดี เฉลี่ยเดือนละกว่า 23 คดี กล่าวได้ว่าตลอดปีนี้ แทบจะทุกวันทำการของราชการ จะมีนัดฟังคำพิพากษาใน 1 คดี

.

.

คดี 112 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 3-4 คดี ศาลมีคำพิพากษาต่อเนื่องทั้งปีกว่า 97 คดี

ปี 2566 สถานการณ์การดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยังเพิ่มขึ้นเป็นระยะ แต่ไม่ได้มากเท่าสองปีก่อนนี้ โดยพบว่ามีคดีใหม่เกิดขึ้นในรอบปีอย่างน้อย 44 คดี เฉลี่ยมีคดีใหม่เดือนละ 3-4 คดี คิดเป็นผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่ไม่น้อยกว่า 37 คน

(สถิตินี้นับเฉพาะคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหา โดยอาจมีคดีลักษณะที่มีการแจ้งความไว้ โดยยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาอยู่อีก และเป็นจำนวนเท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ทราบข้อมูลเท่านั้น ในจำนวนนี้ยังมี 4 คดี ที่เป็นคดีเดิมจากปีก่อน แต่มีการฟ้องแยกจำเลยเป็นคนละคดี หรือจำเลยแต่ละคนให้การแตกต่างกัน ทำให้การพิจารณาถูกแยกออกจากกัน จึงต้องนับจำนวนคดีแยกกันใหม่)

สำหรับ ยอดรวมสถิติผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 ตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมา ถึงสิ้นปี 2566 มีไม่น้อยกว่า 262 คน ในจำนวน 287 คดี แล้ว คาดว่าในช่วงปีหน้าสถิติคดีน่าจะแตะหลักสามร้อยคดีต่อไป

แนวโน้มในปีนี้ เหตุแห่งการถูกดำเนินคดียังเป็นกรณีจากการโพสต์ แชร์ ไลฟ์ หรือเผยแพร่ข้อความทางออนไลน์เป็นหลัก ได้แก่ จำนวน 24 คดี, ลำดับต่อมา ได้แก่ กรณีการกล่าวปราศรัยจำนวน 5 คดี, กรณีการร้องเพลงของวงไฟเย็นจำนวน 3 คดี และกรณีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น ชูสามนิ้วขณะมีขบวนเสด็จหรือที่อนุสาวรีย์ฯ จำนวน 3 คดี

.

ย้อนอ่าน 10 ข้อสังเกตในรอบ 3 ปี หลังการกลับมาของ ม.112

.

ขณะเดียวกัน คดีในช่วงปีก่อนหน้า ศาลก็ได้ทยอยมีคำพิพากษาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ศาลมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ออกมา ไม่น้อยกว่า 97 คดี โดยแยกเป็นคำพิพากษาในศาลชั้นต้นจำนวน 79 คดี ศาลอุทธรณ์จำนวน 15 คดี ศาลฎีกา 1 คดี และมีคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในปีเดียวกันอีก 2 คดี

แนวโน้มคำพิพากษาในศาลชั้นต้น หากจำเลยต่อสู้คดี (มีจำนวนทั้งหมด 44 คดี) พบว่ามีแนวโน้มที่หากศาลเห็นว่ามีความผิด จะพิพากษาให้ลงโทษจำคุก โดยไม่รอการลงโทษ โดยพบจำนวน 19 คดี ส่วนคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องมีจำนวน 12 คดี และยังมีอีก 6 คดี ที่ศาลยกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่ไปลงอาญาในข้อหาอื่น ๆ นอกจากนั้นยังมีคดีที่ศาลลงโทษโดยให้รอลงอาญาไว้จำนวน 6 คดี และยังมีอีก 3 คดี ที่ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยบางคน แต่ลงโทษจำคุกจำเลยคนอื่น ๆ

ส่วนคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ (มีจำนวนทั้งหมด 35 คดี) ศาลให้รอการลงโทษจำคุกไว้มากกว่าคือ จำนวน 20 คดี และให้รอกำหนดโทษอีก 1 คดี แต่ก็มีคดีที่ศาลไม่ให้รอการลงโทษจำคุกจำนวนมากเช่นกัน คือ 14 คดี

ส่วนคดีในชั้นศาลอุทธรณ์และฎีกา มีแนวโน้มที่ศาลจะพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นมากกว่า ทั้งในแง่การยกฟ้องคดี และลงโทษโดยไม่รอลงอาญา แต่ก็มีคดีที่ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทั้งกลับเป็นยกฟ้องคดีจำนวน 1 คดี ได้แก่ คดีของนรินทร์ กรณีถูกกล่าวหาติดสติกเกอร์ “กูKult” หรือมีการแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทั้งแก้เป็นให้รอการลงโทษ หรือแก้เป็นไม่ให้รอการลงโทษ อย่างละ 1 คดี

สำหรับคดีที่ถูกลงโทษสูงที่สุดในรอบปี คือคดีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร ซึ่งถูกศาลจังหวัดเชียงรายลงโทษจำคุกใน 2 คดีที่พิจารณารวมกัน เห็นว่ามีความผิดใน 14 กรรม ลงโทษจำคุกรวม 28 ปี นอกจากนั้นบัสบาสยังถูกลงโทษในคดีที่สาม เห็นว่ามีความผิดอีก 2 กรรม ลงโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน รวมโทษจำคุกในสามคดีของเขา คือ 32 ปี 6 เดือน โดยยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ในคดีทั้งหมด แต่ต้องติดตามคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ต่อไป

ปัญหาการให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างต่อสู้คดียังเป็นปัญหาหนึ่งของคดีมาตรา 112 โดยถึงสิ้นปีนี้ ยังมีคดีที่ผู้ต้องหาถูกคุมขังในชั้นสอบสวน ได้แก่ กรณีของ “เจมส์” ณัฐกานต์ และ “แม็กกี้”, ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น ได้แก่ คดีของ “วุฒิ” ที่ศาลอาญามีนบุรี, ถูกคุมขังหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก อย่างน้อย 7 คน  และถูกคุมขังหลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาอีกอย่างน้อย 3 คน  

การไม่ได้รับการประกันตัว ยังส่งผลต่อการตัดสินใจต่อสู้คดีต่อไป อย่างกรณีของ “วัฒน์” ช่างตัดผมจากราชบุรี หลังถูกศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน และไม่ให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ทำให้เขาตัดสินใจรับโทษและไม่อุทธรณ์คำพิพากษาอีก

แต่การพิจารณาประกันตัวของศาลในคดีต่าง ๆ ก็ไม่ได้มีความแน่นอนมากนัก โดยจำเลยหลายคดียังคงได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา แม้จะถูกลงโทษจำคุกในลักษณะเดียวกันและไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีก็ตาม

สิ้นปีนี้ ยังมีกรณีของเยาวชนที่ถูกคุมขังในสถานพินิจฯ จากคดีมาตรา 112 อีก 2 ราย เนื่องจากศาลเยาวชนและครอบครัวฯ สั่งให้ใช้มาตรการพิเศษแทนมีคำพิพากษา โดยให้ควบคุมตัวเยาวชนไว้ในสถานพินิจฯ จนถึงปัจจุบันด้วย

การคุมขังจากคดีมาตรา 112 จึงยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตาในปีต่อไป เมื่อคดีจำนวนมากจะทยอยมีคำพิพากษาในศาลสูงเพิ่มขึ้นอีก

.

.

คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม ไม่เพิ่มขึ้น แต่คดีมีคำพิพากษาเกือบ 100 คดีในรอบปี

สถานการณ์การดำเนินคดีต่อการชุมนุมทางการเมือง ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 2563-65 แม้ไม่มีคดีใหม่เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว แต่คดีจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมทั่วประเทศในช่วงดังกล่าว ไม่น้อยกว่า 664 คดี หลายคดียังต้องต่อสู้สืบเนื่องต่อมา ไม่ได้สิ้นสุดไปตามสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์โควิด-19 ด้วย จนถึงสิ้นปี 2566 ยังมีคดีที่ยังไม่สิ้นสุดกว่า 443 คดี

ตลอดทั้งปีนี้ คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมที่จำเลยต่อสู้คดี ศาลในชั้นต่าง ๆ มีคำพิพากษาออกมาไม่ต่ำกว่า 98 คดี ในจำนวนนี้แยกเป็นคำพิพากษาให้ยกฟ้องข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 52 คดี และเห็นว่ามีความผิดในข้อหานี้ จำนวน 46 คดี นอกจากนั้นยังมีคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องอีกจำนวน 19 คดี

สัดส่วนของแนวคำพิพากษาจะเห็นได้ว่าเป็นไปพอ ๆ กัน โดยมีจำนวนคดีที่ยกฟ้องมากกว่าเล็กน้อย แต่หากดูโดยภาพรวมคำพิพากษาในปีก่อนหน้าด้วย จะมีคดีที่ศาลยกฟ้องมากกว่าในสัดส่วนราว 3 ต่อ 2 แต่ฝ่ายจำเลยก็ต้องใช้ระยะเวลาต่อสู้คดีนับปี หลายคดียังต้องต่อสู้ในชั้นศาลอุทธรณ์/ฎีกาต่อไป

ในปีนี้ คดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด ส่วนใหญ่จะลงโทษเป็นการปรับ แต่หากลงโทษจำคุก ก็มักจะให้รอลงอาญา แต่ก็มีคดีที่ศาลลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญาด้วย อย่างน้อยใน 4 คดี โดยสองคดีเป็นคดีที่พ่วงกับการถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 ได้แก่ คดีของสิทธิโชค และคดีของ “ฮ่องเต้” 

อีกสองคดีซึ่งศาลลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ได้แก่ กรณีของ “ปัณณพัทธ์” นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ไปร่วมชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมา ใน #ม็อบ1กุมภา2564 และกรณีของอานนท์-ไผ่-บุ๊ค ในคดีชุมนุม #ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร แม้ศาลให้รอลงอาญาจำเลยคนอื่น ๆ ในคดี โดยทั้งสองคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

ในปีนี้ ยังเริ่มมีคำพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์เพิ่มขึ้นด้วย โดยมีทั้งคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับจากยกฟ้อง ไปเห็นว่ามีความผิด ไม่น้อยกว่า 4 คดี แต่ก็มีคดีที่ศาลอุทธรณ์กลับพิพากษาจากเห็นว่ามีความผิด ไปเป็นยกฟ้อง อีก 2 คดี

โดยภาพรวม แนวคำวินิจฉัยของศาลต่าง ๆ แยกเป็นสองทิศทางอย่างชัดเจน ระหว่างแนวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม และจำกัดการใช้อำนาจตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามความจำเป็นและพอสมควรแก่เหตุ พิจารณารายละเอียดของกิจกรรมและการชุมนุม หากไม่แออัดหรือสร้างความเสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค ก็เห็นว่ายังเป็นการใช้สิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ  กับแนวทางคำพิพากษาที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางสาธารณสุข โดยรับรองการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินของฝ่ายบริหาร

ในปีต่อไป ต้องจับตาคำพิพากษาในศาลอุทธรณ์และฎีกาในเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีออกมาเพิ่มมากขึ้นอีก

.

ย้อนอ่าน คดี ม.116 จากยุค คสช. ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้องรวมกว่า 73.5%

.

คดีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพิ่ม 15 คดี คดี ม.116 เพิ่ม 4 คดี

ในปี 2566 นับเป็นปีที่การดูแลจัดการการชุมนุมสาธารณะของเจ้าหน้าที่รัฐ กลับมาใช้กฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นหลักตลอดปี หลังจากปีก่อนหน้านั้น การชุมนุมถูกกำกับควบคุมภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินมาอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่าสถานการณ์ชุมนุมไม่ได้เข้มข้นนัก เนื่องจากเป็นปีที่มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป โดยยังมีการชุมนุมของประชาชนในประเด็นปัญหาปากท้องและทรัพยากรอยู่เป็นระยะ รวมถึงการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลและเรียกร้องให้วุฒิสภาเคารพเสียงของประชาชน

ในส่วนการดำเนินคดีจากการชุมนุม พบว่ามีคดีที่ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เพิ่มขึ้น 15 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่สืบเนื่องจากช่วงการประชุมเอเปค #ราษฎรหยุดAPEC2022 ปลายปี 2565 แต่เพิ่งมีการแจ้งข้อกล่าวหา จำนวน 7 คดี ส่วนอีก 8 คดีเป็นคดีจากการชุมนุมที่เกิดขึ้นในปี 2566 นี้

ในคดีที่ถูกกล่าวหาใหม่ พบว่ามีหลายคดีที่น่าตั้งคำถามว่าเข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ ได้แก่ คดีของ “สายน้ำ” และ “ออย” โพสต์ภาพชูสามนิ้วบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า, คดี 5 นักกิจกรรม เขียนคำว่า “ยกเลิก 112” บนธง และขับขี่ไปบริเวณรอบวัดพระแก้ว โดยไม่ได้มีการนัดหมายชุมนุมใด ๆ หรือคดีนักกิจกรรมใส่ชุดนักโทษขึ้นรถไฟฟ้า เพื่อแสดงสัญลักษณ์ครบรอบการหายตัวไปของบิลลี่ และเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คดีเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังดำเนินอยู่ในชั้นสอบสวน

ตลอดปี 2566 ยังมีคดีข้อหา “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 คดี คิดเป็นผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่ 11 คน

คดีที่น่าสนใจ ได้แก่ กรณีเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหานักกิจกรรม 4 คนในจังหวัดเชียงใหม่ จากการนำประกาศคณะราษฎร 2475 มาอ่านในกิจกรรมเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ กรณีนี้ชี้ให้เห็นปัญหาการใช้และตีความมาตรา 116 ที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายความมั่นคงนำมาใช้กล่าวหาอย่างกว้างขวาง

รวมทั้งการใช้ข้อหานี้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าในช่วงปลายปีนี้ มีคดีใหม่ ๆ ถูกกล่าวหาเพิ่มขึ้น อาทิ กรณีของ 5 นักศึกษา-นักกิจกรรม ถูกกล่าวหากรณีทำบัตรแสดงความเห็นประชามติจำลองเรื่องสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชนปาตานี

ขณะที่ปีนี้ คดีมาตรา 116 ที่สืบเนื่องมาจากยุค คสช. ก็พบว่าศาลทยอยยกฟ้อง หรืออัยการสั่งไม่ฟ้องเพิ่มเติม ทำให้คดีแทบจะสิ้นสุดทั้งหมดแล้ว

สถานการณ์การใช้และตีความ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ รวมถึงมาตรา 116 ที่กระทบต่อเสรีภาพการแสดงออก จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาในปีต่อไป หากมีการชุมนุมสาธารณะหรือแสดงออกทางการเมืองต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น

.

.

จับตาสถานการณ์การนิรโทษกรรมประชาชน/การใช้กฎหมายในรัฐบาลเพื่อไทย

ในปี 2567 ที่กำลังจะมาถึง สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองจะเข้มข้นขึ้น เมื่อหลายคดีจะมีคำพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์และฎีกา อาจนำไปสู่การถูกคุมขังนักกิจกรรมและประชาชนเพิ่มมากขึ้น ประเด็นผู้ต้องขังทางการเมืองในแง่มุมต่าง ๆ จะยังเป็นเรื่องสำคัญ  ทั้งข้อเรียกร้องเรื่องการยุติคดีหรือนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น และเป็นประเด็นที่รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจต้องพิจารณาเพื่อจัดการความขัดแย้งต่อไป

ขณะเดียวกัน สถานการณ์การใช้กฎหมายและการดำเนินคดีที่กระทบต่อเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมในยุครัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องจับตา ว่าจะเปลี่ยนแปลงแนวทางแบบที่เป็นอยู่ กล่าวคือ กฎหมายหลายฉบับถูกนำมาใช้กล่าวหาดำเนินคดีต่อผู้แสดงออกทางการเมืองเอาไว้ก่อน สร้างภาระให้ผู้ถูกดำเนินคดีต้องต่อสู้เป็นระยะเวลานาน และส่งผลเป็นการระงับยับยั้ง/ปราบปรามการแสดงออกทางการเมือง หรือแนวทางการใช้กฎหมายเช่นนี้จะดำเนินต่อไป

.

X