คดี ม.116 จากยุค คสช. ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้องรวมกว่า 73.5% แต่ต้องสู้คดีอย่างยาวนาน

หลังจากเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีข้อหา “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กรณีอดีตนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่และดาวดิน ชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558 โดยคดีใช้เวลาต่อสู้กว่า 4 ปี และหลังจากวันเกิดเหตุมากว่า 8 ปีครึ่ง

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 อัยการเพิ่งมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีตามมาตรา 116 ในอีกคดีหนึ่ง ซึ่งดำเนินมากว่า 8 ปีครึ่ง เช่นเดียวกัน ได้แก่ คดีของ “อดีต 14 นักศึกษา” พร้อมทั้ง ส.ศิวรักษ์-บารมี ชัยรัตน์-ทนายจูน ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ถูกกล่าวหาจากกรณีชุมนุมเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2558 โดยเป็นแสดงออกเพื่อขับไล่คณะรัฐประหารในขณะนั้น โดยที่คดีนี้อดีต 14 นักศึกษา ยังเคยถูกคุมขังระหว่างสอบสวนอยู่ 12 วันด้วย

สองคดีนี้ นับเป็นหนึ่งในคดีมาตรา 116 จากยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นยุคที่ทหารนำข้อกล่าวหานี้ ซึ่งอยู่ในหมวดความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาใช้กล่าวหาประชาชนซึ่งออกมาชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองอย่างเข้มข้น หลังจากช่วงก่อนหน้านั้น ไม่ได้มีคดีมากนัก และสถานการณ์ดังกล่าว ยังดำเนินสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 จนถึงสิ้นสุดบทบาทของ คสช. ในปี 2562 มีการดำเนินคดีข้อหาตามมาตรา 116 เท่าที่ทราบข้อมูลอย่างน้อย 53 คดี และผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 129 คน 

จนถึงปัจจุบัน (2566) พบว่าคดีเหล่านี้ มีผลคดีออกมาแทบจะหมดแล้ว ได้แก่

  • ศาลพิพากษายกฟ้อง 26 คดี (โดยมีจำนวน 5 คดี ที่ศาลยกฟ้องข้อหา 116 แต่ไปลงโทษในข้อหาอื่น โดยมากเป็นคดีในกลุ่มคดีสหพันธรัฐไท ซึ่งศาลเห็นว่ามีความผิดในข้อหาอั้งยี่)
  • พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง 13 คดี
  • คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ และศาลพิพากษาลงโทษ 3 คดี
  • คดีที่จำเลยต่อสู้คดี และศาลเห็นว่ามีความผิด 5 คดี (โดย 3 คดี เป็นคดีที่พ่วงกับข้อหาตามมาตรา 112)
  • คดีที่ไม่ทราบความคืบหน้า 5 คดี
  • คดีที่ยังดำเนินอยู่ในศาลชั้นต้น 1 คดี (ได้แก่ คดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง เดินขบวนไปหน้าองค์การสหประชาชาติ หรือคดี UN62)

โดยหากรวมคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องและอัยการสั่งไม่ฟ้อง มีเท่ากับ 39 คดี หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.5 ของคดีทั้งหมด หรือเกือบ 3 ใน 4 

.

.

ส่วนคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด จำนวน 3 คดี เป็นคดีที่พ่วงไปพร้อมกับมาตรา 112 เนื่องจากเป็นการแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทำให้การต่อสู้คดีลักษณะนี้ในช่วงดังกล่าว เป็นไปอย่างยากลำบาก ขณะที่อีก 3 คดี ก็เป็นการลงโทษโดยจำเลยให้การรับสารภาพ ทำให้ไม่ได้มีการพิจารณาข้อต่อสู้ในเชิงเนื้อหาใด ๆ

ทำให้โดยสรุปมีคดีมาตรา 116 ซึ่งไม่มีข้อหาหลักอื่น ๆ พ่วง เพียง 2 คดีเท่านั้น ที่จำเลยต่อสู้คดี และศาลมีคำพิพากษาลงโทษ คิดเป็นเพียงร้อยละ 3.7 ของคดีทั้งหมด ได้แก่ คดีของ “พลวัฒน์” กรณีโปรยใบปลิวต่อต้านการรัฐประหารที่จังหวัดระยอง และคดีของ 3 จำเลยที่ถูกกล่าวหาเรื่องการติดป้าย “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา”

ขณะที่คดีที่ศาลยกฟ้องส่วนใหญ่นั้น เป็นคดีจาการชุมนุมและแสดงออกต่อต้าน คสช. และถูกโอนย้ายกลับมายกฟ้องในศาลพลเรือน หลังจากในยุค คสช. มีการประกาศให้คดีที่อยู่ในหมวดความมั่นคงต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งใช้เวลาพิจารณาคดีอย่างยาวนาน ก็ยังไม่เสร็จสิ้น อาทิ คดีพลเมืองรุกเดิน, คดี 8 แอดมินเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์”, คดีส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนการลงประชามติ, คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์, คดีของจาตุรนต์ ฉายแสง, คดีของธเนตร อนันตวงศ์ หรือคดีของเสงี่ยม สำราญรัตน์ เป็นต้น 

รวมถึงชุดคดีของคนอยากเลือกตั้งช่วงปี 2561 ที่ศาลอาญายกฟ้องคดีแกนนำไปแล้ว 3 คดี แต่ยังเหลือคดี UN62 ที่การสืบพยานยังไม่เสร็จสิ้น

.

คดีคนอยากเลือกตั้ง UN62 เมื่อปี 2561 เป็นคดีมาตรา 116 เดียวจาก ยุค คสช. เท่าที่ทราบว่ายังอยู่ระหว่างต่อสู้ในศาลชั้นต้น

.

รูปแบบของการกล่าวหาในคดีเหล่านี้ โดยมากมีนายทหารที่ทำงานภายใต้คำสั่ง คสช. เป็นผู้กล่าวหา ในช่วงการเริ่มกล่าวหา ฝ่าย คสช. หรือกองทัพ มักมีการแถลงข่าวหรือให้ข่าวอย่างต่อเนื่อง ในลักษณะโจมตีฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาอย่างครึกโครม กล่าวอ้างว่าการดำเนินคดีนั้นเป็นไปตาม “กฎหมาย” แต่เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา ประกอบกับพยานหลักฐานในการดำเนินคดี กลับพบว่าจำนวนมากมีลักษณะกล่าวหาเกินจริง และบิดเบือนการใช้กฎหมาย 

หลังการต่อสู้คดีดำเนินไปอย่างยาวนาน สร้างภาระให้กับผู้ถูกกล่าวหา ในที่สุดศาลมักมีคำพิพากษายกฟ้องคดีอย่างเงียบ ๆ (หรืออัยการสั่งไม่ฟ้องคดี) หลายคดีศาลยังระบุว่าเนื้อหาเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นและติชมโดยสุจริต แต่การยกฟ้องก็เกิดขึ้นโดยไม่ได้มีการชดเชยเยียวยาภาระของจำเลยที่อดทนต่อสู้คดีนานหลายปี บางคดีนานกว่า 6-8 ปี ทั้ง คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนร่วมดำเนินคดีต่าง ๆ ยังไม่เคยต้องรับผิดชอบใดจากการใช้อำนาจอย่างเป็นระบบเช่นนี้

แม้แต่แกนนำของพรรคเพื่อไทยหลายคน ก็เคยถูกกล่าวหาจากข้อหามาตรา 116 ทั้งกรณี ชูศักดิ์ ศิรินิล, วัฒนา เมืองสุข และ จาตุรนต์ ฉายแสง ถูกกล่าวหาจากการแถลงข่าวในโอกาสครบรอบ 4 ปี การรัฐประหาร ในหัวข้อ “4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำไปสู่ความมืดมนและอันตราย” คดีใช้เวลา 1 ปี เศษ อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้

หรือแม้แต่คดีเตรียมแจกจ่ายขันแดงของนักการเมืองพรรคเพื่อไทยที่จังหวัดน่าน ซึ่งรวมถึงนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ก็ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหานี้เช่นกัน แต่ในที่สุด อัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเช่นกัน

การใช้มาตรา 116 กล่าวหาผู้แสดงออกทางการเมือง ยังดำเนินสืบเนื่องต่อมา ในยุคหลังการชุมนุมเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่จนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงปลายปี 2566 มีสถิติผู้ถูกกล่าวหาข้อหานี้ไปแล้ว อย่างน้อย 138 คน ในจำนวน 43 คดี 

ในจำนวนนี้ เป็นคดีที่ถูกกล่าวหาพร้อมกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 23 คดี ซึ่งเพิ่มมากขึ้นจากยุค คสช. และยังพบว่ามีคดีที่เด็กเยาวชนถูกกล่าวหาจำนวน 3 คดี โดยที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีมาก่อนด้วย  

โดยล่าสุด เจ้าหน้าที่ทหารได้กล่าวหานักกิจกรรม 4 คน ในจังหวัดเชียงใหม่ ว่า “ยุยงปลุกปั่นฯ” จากการนำประกาศคณะราษฎร 2475 มาอ่านในกิจกรรมเกี่ยวกับการกระจายอำนาจอีกด้วย

.

4 นักกิจกรรม-นักศึกษา ที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 116 ที่จังหวัดเชียงใหม่ จากการอ่านประกาศคณะราษฎร 2475

.

สถานการณ์ภาพรวมดังกล่าว ชี้ให้เห็นการใช้ “กฎหมาย” และกระบวนการดำเนินคดี เป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้แสดงออกคัดค้านผู้มีอำนาจทางการเมือง ทั้งปัญหาในเชิงกฎหมาย ที่ถูกบัญญัติไว้แต่เดิมในหมวดความมั่นคงของรัฐ ปัญหาเชิงตัวบทที่ใช้ถ้อยคำซึ่งเปิดช่องให้ตีความได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ง่ายจะนำมาใช้กล่าวหาดำเนินคดีเอาไว้ก่อน และอุดมการณ์ของผู้ใช้กฎหมายอย่างตำรวจและทหารที่มุ่งปราบปรามการแสดงออกทางการเมืองเป็นหลัก โดยสังคมไม่มีกระบวนการตรวจสอบการใช้กฎหมายเช่นนี้ได้อย่างเพียงพอ ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อไป

.

X