แม้อาทิตย์ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดขอนแก่นจะมีคำพิพากษายกฟ้องคดีมาตรา 112 และ มาตรา 116 ของทิวากร วิถีตน เกษตรกรวัย 46 ปี ผู้สวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ไปแล้ว แต่การต่อสู้ของทิวากรยังไม่สิ้นสุดลง เมื่อยังต้องติดตามว่าคดีนี้จะมีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่ ทั้งเขายังมีคดีที่ถูกกล่าวหา รอคอยฟังคำตัดสินของศาลอยู่อย่างต่อเนื่องอีกคดีหนึ่ง
4 ตุลาคมนี้ ศาลจังหวัดลำปางนัดทิวากรมาฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ซึ่งเขาถูก ทวี อินทะ สมาชิกเครือข่ายเฝ้าระวังปกป้องและพิทักษ์สถาบันฯ ในจังหวัดลำปาง ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ที่ สภ.เมืองลำปาง จากกรณีที่ทิวากรได้โพสต์ข้อความล่ารายชื่อคนที่ต้องการให้ทำประชามติเพื่อให้เลือกว่าจะคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์ พร้อมกับเปิดแคมเปญในเว็บไซต์ Change.org ให้ประชาชนเข้าไปร่วมลงชื่อ
ถ้าติดตามข่าวสารทางการเมือง, ก็พอทราบว่า ทิวากร วิถีตน อาศัยอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น แต่คดีนี้เขาถูกกล่าวหาข้ามภูมิภาค ทำให้ต้องเดินทางในระยะทางจากขอนแก่นมาลำปาง รวมไป-กลับกว่า 1,080 กิโลเมตร มาต่อสู้คดี
นับแต่เดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา ผ่านไป 1 ปี เศษพอดี หลังการถูกกล่าวหาในคดีข้ามภูมิภาคนี้ ทิวากรต้องเดินทางมาที่จังหวัดลำปางรวมทั้งหมด 5 ครั้ง ตั้งแต่การรับทราบข้อกล่าวหาครั้งแรก ที่เขาขับรถจักรยานยนต์ข้ามเขามาลำพัง เนื่องจากหารถประจำทางไม่ได้ ในสถานการณ์โควิด และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้เลื่อนคดี, การเดินทางมาตามนัดส่งสำนวนคดีให้กับอัยการ, การเดินทางมาในนัดสั่งฟ้องคดี นัดตรวจพยานหลักฐาน และนัดสืบพยานเป็นเวลา 4 วันในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเขานั่งรถประจำทางมา
กระทั่งทิวากรจะต้องเดินทางมาครั้งที่ 6 ในนัดฟังคำพิพากษาที่จะมาถึง
.
1
จะมีต้นทุนส่วนตัวมากแค่ไหน คดีทำนองนี้ ยังไงก็สร้างผลกระทบให้กับใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจมากน้อยแตกต่างกัน แต่สำหรับทิวากรนอกจากเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องวันเวลาที่ต้องนำมาใช้กับการต่อสู้คดี เขายังได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการเดินทางไกลนี้
“ได้รับผลกระทบก็คือ เสียเวลางาน แล้วก็ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเฉพาะครั้งแรกที่ผมต้องบิดมอเตอร์ไซต์ จากขอนแก่นมาลำปาง เพราะว่าตำรวจเขาไม่ให้เลื่อนรายงานตัว คือมันจะมีหมายเรียกไปครั้งแรก เขาก็ให้เลื่อน แต่พอเลื่อนครั้งที่ 2 ผมก็จะมา เพียงแต่ว่าพอไปดูแล้วว่ามันมีรถประจำทางหรือเปล่า ปรากฏว่ามันไม่มี เพราะในช่วงนั้นมันเป็นช่วงโควิด รถประจำทางมันไม่วิ่ง คือถ้าไม่มีรถประจำทาง ผมคงต้องบิดมอเตอร์ไซต์มา ผมก็บอกเจ้าหน้าที่ตำรวจไป เขาก็ไม่ให้เลื่อนอีก”
“กลายเป็นว่าผมต้องบิดมอเตอร์ไซต์มา แล้วมันปวดหลัง หลังมันแข็งไป ช่วงวันที่ผมบิดมา ขามา 2 วัน ขากลับอีก 2 วัน ระยะทางมัน 500 กว่ากิโล คือมันต้องแบ่ง จะมาวันเดียวถึงลำปางเลยไม่ได้ มันจะไกลเกินไป ก็หลังแข็งตอนนั้น กลับไปมันก็รู้สึกว่าร่างกายมันก็ไม่ดี ปรากฏว่าหลังมันเหมือนกระดูกหลุดจากกัน คือความรู้สึกมันเป็นอย่างงั้น แล้วก็ทรุดลงไปเลย”
ย้อนกลับไปในการเดินทางครั้งนั้น หนทางไม่ได้เป็นเส้นตรงหรือราบเรียบ โดยเฉพาะบริเวณเขาค้อ ที่เส้นทางขึ้นลงคดเดี้ยว และยังเผชิญกับลมฝนที่ตกในช่วงระหว่างเขาเดินทางพอดี ทำให้ทิวากรไม่สามารถขับรถวันเดียวถึงได้ แต่ต้องแวะพักค้างคืนบริเวณหล่มสัก แล้วค่อยเดินทางต่อ จนใช้เวลาเดินทางรวม 2 วัน และเดินทางกลับก็อีก 2 วัน
“ตอนแรกก็ยังไม่ไปมาหาหมอ แต่อีกวันหนึ่งตื่นนอนมา ก็ปรากฏว่าเดินแทบไม่ไหว พี่ชายต้องขึ้นไปถามที่ห้องนอนว่า ‘ไหวไหม’ ก็เลยต้องให้พี่ชายพาไปที่โรงบาล เขาก็เอารถเข็นมา เข็นไปห้องเอ็กซ์เรย์ เข็นกลับไปหาแพทย์ที่เป็นเจ้าของคนไข้ นี่ก็ผลกระทบจากตรงนั้น
“สรุปว่าเป็น ‘หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท’ ตอนนั้นผมก็ทานยาอยู่ เขาให้ยาแก้ปวดมา แล้วก็ยานวดอะ ก็รักษาอยู่ประมาณน่าจะเดือนหนึ่ง พอหลังจากผมดีขึ้น มันก็ทุเลาขึ้น หลังจาก 1 เดือน แล้วก็หมอนัดไป แต่ผมไม่ได้ไป จำไม่ได้ว่าผมติดธุระหรืออะไรสักอย่างหนึ่ง คือตอนที่ผมเป็นมันเดือนตุลาใช่ไหม จนกระทั่งต้นปี 65 มาเป็นอีกเดือนเมษา จำได้ว่าไปหาหมออีกวันที่ 1 เมษา ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่นะ ก็เป็นเรื่อยๆ เป็นอาการเจ็บปวดหลังอยู่เรื่อยๆ กระทบเยอะในเรื่องนี้”
.
2
หากพูดถึงคดีที่จังหวัดลำปาง หลังการสืบพยานเสร็จสิ้น และศาลกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาออกมา ทิวากรทบทวนถึงคดีที่เขาถูกกล่าวหานี้ว่า นอกจากการต้องเดินทางข้ามภาคแล้ว ยังมีการเดินทางของความคิดความรู้สึกในระหว่างคดี จากความรู้สึกว่าตนเองโดนกลั่นแกล้งในเริ่มแรก ไปสู่ความรู้สึก “ขอบคุณ” ผู้แจ้งความดำเนินคดีกับเขาเช่นนี้อยู่เหมือนกัน
“มันมี 2 อารมณ์อันนี้ ต้องบอกตามตรง คือช่วงแรกผมก็รู้สึกว่า ทำไมผมต้องโดนกลั่งแกล้งด้วย คือผมรู้สึกว่าเขากลั่นแกล้งผมนั่นแหละ เพราะว่าผมดูข้อกฎหมายแล้วก่อนที่จะโพสต์ข้อความนี้ว่ามันไม่ผิด เพราะผมไม่ได้ไปถามว่าใครจะยกเลิกระบอบกษัตริย์ ก็ถามว่าแค่ว่าใครอยากจะทำประชามติ เพราะผมมั่นใจว่ามันไม่ผิด แล้วก็ ‘ความฝัน’ เรื่องฝันถึงระบอบสาธารณรัฐ สหพันธรัฐ มันก็ไม่ผิด ผมมั่นใจ แต่เค้าก็ฟ้องผม
“ถามว่าโกรธไหม คือไม่เข้าใจมากกว่า ว่าคุณทำไมต้องกลั่นแกล้งผม ใจหนึ่งก็เข้าใจว่า มันเป็นความวิตกจริต ความกังวลเกินเหตุของคนที่รักสถาบันกษัตริย์ ถ้ามันอะไรที่ไปแตะสถาบันกษัตริย์นิดๆ หน่อยๆ พวกนี้เขาจะแบบเป็นเดือดเป็นร้อน เหมือนโดนน้ำร้อนลวก อะไรแบบนี้ แล้วเขาก็จะหาทางจัดการเรา พอไปฟ้องแล้วตำรวจก็แบบอะไรที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ต้องรับไว้นะ เดี๋ยวจะโดนย้าย มันจะมีเรื่องพวกนี้อยู่
“คำว่า ‘ขอบคุณ’ ที่ผมโพสต์บอกผู้แจ้งความ ก็คือว่า ประเด็นที่เกี่ยวกับการทำประชามติ มันไม่เคยมีที่เข้าไปสู่กระบวนที่เป็นระบบ คำว่า ‘ไม่เคยมี’ หมายความว่า หลายๆ คนเขาจะคิดว่า มันทำไม่ได้ ทีนี้ถ้าการที่เข้าสู่กระบวนการศาล มีโจทก์กับจำเลยใช่ไหม มันก็มีการดีเบตกันว่าแต่ละคนมันมีเหตุผลยังไง แล้วทีนี้มันก็จะนำมาสู่ข้อสรุปก็คือคำตัดสินของศาล
“มันก็จะมีคำตอบว่า สมมติว่ายกฟ้อง ก็แบบ ‘เฮ้ย อันนี้มันทำได้’ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เราก็จะได้เข้าใจว่า ‘มันทำได้’ แต่ถ้าศาล เผอิญแบบว่าจี้ตัดสินแบบชนิดที่มันไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็จะได้รู้ว่า ‘อ้อ ศาลเป็นอย่างงี้นี่เอง’ แล้วก็เราก็ไม่ถูกอนุญาตให้ทำ
“คำว่า ‘ไม่อนุญาตให้ทำประชามติ’ หมายความว่าอะไร ก็หมายความว่า โดยเนื้อในของประเทศไทย มันไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงหรอก เพราะฉะนั้นมันก็เป็นการส่งสัญญาณให้กับคนไทยทุกคนผ่านคำพิพากษาตัวนี้ พวกคุณไม่มีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดและการแสดงออก คุณรู้ไหมว่าประเทศนี้มันต้องเป็นแบบนี้แหละ แล้วประชาชนไทยก็จะได้ตัดสินใจว่าจะเอายังไงต่อไปดี
“ถ้าเกิดว่าคุณมองเห็นแล้วว่าปัญหาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คุณจำเป็นที่ต้องไปแตะต้องสถาบันกษัตริย์ แต่ในเมื่อสถาบันกษัตริย์ไม่ได้รับอนุญาตในเชิงโครงสร้างแล้ว ไม่ว่าจะปฏิรูป หรือแม้แต่ประชามติ หรือแม้แต่การแสดงความคิดเห็น คุณก็ต้องไปทำการบ้านแล้ว ต้องไปพิจารณาดูแล้วว่าคุณจะเอาไงดี”
“ในเมื่อแนวทางพวกนี้มันถูกปิดกั้นหมด ปฏิรูปก็ไม่ได้ ทำประชามติก็ไม่ได้ คุณอาจจะแบบว่าไม่เอาแล้ว ย้ายประเทศดีกว่า คือมันเป็นคำตอบที่เราก็จะได้รู้กัน ก็คือทั้งในทางยกฟ้อง และทั้งในทางลงโทษ”
.
3
ทิวากรให้ความเห็นต่อไปว่าวิธีการของเขา ที่สอบถามความเห็นอย่างสงบสันติว่า ผู้คนเห็นควรให้มีการทำประชามติหรือไม่นั้น เป็นวิธีการในระบอบประชาธิปไตย ไม่น่าจะเป็นความผิดอะไรได้ และสำหรับมโนสำนึกของตัวเขาเองยิ่งไม่ควรเป็นความผิด หรือแม้แต่ควรจะถูกดำเนินคดีจากเรื่องนี้
“ผมโดน ม.116 แค่ถามประชาชนว่าอยากให้ทำประชามติไหม ผมไม่ได้ถามประชาชนว่าอยากยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไหม ผมไม่ได้ถามอย่างนั้น ผมแค่อยากบอกว่าอยากให้ทำประชามติไหม แค่นั้นเอง ถ้าไม่อยากให้มี ก็ไม่ต้องมี แต่ถ้าอยากให้มี ก็ต้องไปดูประชามติอีกที ที่ให้เลือกว่าจะคงสถาบันกษัตริย์ไว้ หรือว่าจะเลิกสถาบันกษัตริย์
“พอถึงตรงนั้นแล้วเนี่ย คนเขาอาจจะเลือกว่าคงสถาบันกษัตริย์ไว้ก็ได้ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องอะไรที่ธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว ธรรมชาติของระบบปกครองมันไม่ได้อยู่นิ่ง คุณจะล็อคการปกครองไว้อย่างนั้นตลอดกาลไม่ได้ไม่อย่างนั้นฝรั่งเศส จีน รัสเซีย มันก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงซิ ในความเป็นจริงก็คือมันต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
“แล้วรัฐไทย ถามว่าต้องดูตัวเองด้วยนะ เพราะจะฝืนกระแส หรือว่ายอมรับความจริงของตัวเองไม่ได้ มันจะเป็นไปได้อย่างไร คุณปล่อยมันเป็นไปตามธรรมชาติได้ไหม ไม่ใช่สร้างสภาวะการไม่ยอมรับความจริง เหมือนหลอกตัวเองในทุกๆ เรื่อง เราก็พยายามจะหลอกคนอื่นด้วย ซึ่งมันหลอกไม่ได้ใช่ไหม เขาบังคับคนอื่นไม่ให้พูดในสิ่งที่คิดด้วย มันก็ไปไม่ได้อีก
“ฟังพยานโจทก์ คือจะบอกว่าถ้าน้ำหนักวัดเป็นกิโล เป็นขีด เขาแทบจะเป็นอากาศ คือเอาอะไรไปวาง มันก็ไม่มีน้ำหนัก เป็นปุยนุ่น อะไรแบบนี้ ในความรู้สึกผม คือจะบอกว่ามันเข้าข่ายยุยงปลุกปั่น ก็ไม่ใช่ นำไปสู่ความรุนแรง ก็ไม่ใช่ นำไปสู่การล้มล้างการปกครอง ก็ไม่ใช่ มันไม่มีตรงไหนเลยที่เข้าข้อกฎหมาย แม้แต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่แบบว่าเป็นความเท็จ ที่จะนำไปสู่ผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ มันก็ไม่เข้าทั้งหมด มันไม่มีตรงไหนเลยที่มันมีน้ำหนัก
“พอมาดูทางพยานจำเลย ยิ่งมีน้ำหนักที่ชัดเจนที่อธิบาย ว่าการทำประชามติมันเป็นวิถีทางประชาธิปไตย แล้วการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับระบอบการปกครอง มันก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่จะทำได้อยู่แล้ว
“ถ้าสังเกต ผมอยู่ในศาล ผมจะใส่อารมณ์ แล้วก็ผมพูดๆ ออกมาจากข้างใน ผมคิดยังไง ผมรู้สึกยังไง ผมพูดออกมา มันเป็นความหวังดีต่อชาติบ้านเมืองโดยแท้จริง หวังดีต่อสถาบันกษัตริย์ด้วย อย่าลืมว่าการที่จะหาทางออกให้กับประเทศ ในลักษณะของรูปแบบการปกครองนี้ คือถ้าปฏิรูป มันก็ใช้วิธีทางแห่งรัฐสภาถูกไหม การทำประชามติ มันก็เป็นประชาธิปไตยทางตรง คือถ้าพวกเขา อยากจะเอาแนวทางพวกนี้มันจะดีกว่า มันซอฟท์กว่า มันเป็นแนวทางสันติ ไม่มีการนองเลือด
“เพราะฉะนั้นคุณไม่ควรปิดกั้นแนวทางประชามติ โอเค แนวทางปฏิรูปคุณปิดกั้นตัวเองแล้ว แต่ว่าคุณปิดกั้นทางประชามติอีก มันจะไม่เหลือทางแล้ว นี่ผมเป็นห่วงๆ สถาบันกษัตริย์จริงๆ”
.
ย้อนอ่านเรื่องราวและบทสัมภาษณ์ของทิวากร
กว่าจะ ‘หมดศรัทธาฯ’: เรื่องราวของ ‘ทิวากร วิถีตน’ กับวิถีการต่อสู้ที่ตนเลือกเอง
“ผมตกต่ำได้มากกว่านี้ แต่ผมจะไม่สยบยอม”: เบื้องหลัง “ทิวากร” ประกาศไม่ประกันตัวชั้นอุทธรณ์
.