เปิดคำพิพากษายกฟ้อง‘เสงี่ยม สำราญรัตน์’ คดี ม.116 เหตุทำคลิปวีดิโอปลุกคนไทย ขับไล่ คสช. ศาลชี้ เป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องคดีของ ‘เสงี่ยม สำราญรัตน์’ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถูกฟ้องในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยกล่าวหาว่า เสงี่ยมเผยแพร่คลิปวีดิโอที่มีเนื้อหาเชิญชวนให้ประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงเดือนธันวาคม 2560 

เสงี่ยมให้การปฏิเสธทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาล โดยยืนยันว่า การทำคลิปวิดีโอซึ่งเชิญชวนให้ประชาชนออกมาเรียกร้องให้ คสช. คืนอำนาจให้กับประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้น เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยไม่ได้มีเจตนาเพื่อทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบเกิดขึ้นในราชอาณาจักรหรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินแต่อย่างใด

คำพิพากษายกฟ้อง ซึ่งมีบุญธรรม วิเศษลา และมนู มนูสุ เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน

มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

“เห็นว่า การกระทําของจําเลยเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติให้เคารพรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น ซึ่งตามวิสัยของประชาชนย่อมสามารถกระทําได้โดยปราศจากอาวุธ การที่จําเลยเชิญชวนให้ประชาชนออกมาประท้วงโดยไม่ปรากฏว่าได้ใช้กําลังประทุษร้ายหรือเป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบใด ๆ ขึ้นในบ้านเมือง น่าเชื่อว่า เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของจําเลย มิได้มีเจตนาเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน จึงเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 

ประกอบกับในชั้นสอบสวนตลอดจนในชั้นพิจารณา จําเลยให้การปฏิเสธ ยืนยันว่าตนเองแสดงความคิดเห็นในทางการเมือง ซึ่งย่อมมีความเห็นต่างกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็เป็นเรื่องธรรมดาของประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข 

พยานหลักฐานของโจทก์ที่นําสืบมายังไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอที่จะรับฟังได้ว่าจําเลยกระทําความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร และความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด พิพากษายกฟ้อง”

อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม

สำหรับข้อมูลทั่วไปของ เสงี่ยม สำราญรัตน์ ปัจจุบันอายุ 69 ปี เป็นคนจังหวัดชุมพร มีรายได้จากการประกอบอาชีพประมง เคยรับราชการตำรวจ ก่อนลาออก และได้ร่วมเคลื่อนไหวกับแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือขบวนการคนเสื้อแดง หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 จึงถูกคณะรัฐประหารออกคำสั่งเรียกรายงานตัว แต่เขาปฏิเสธไม่เข้ารายงานตัว เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ต่อมา ในวันที่ 7 เม.ย. 2563 เสงี่ยมถูกเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นำหมายจับออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 4 มี.ค. 2563 เข้าจับกุมไปแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

และหลังจากต่อสู้คดีมานานรวม 2 ปี ศาลก็ได้พิพากษายกฟ้องให้เสงี่ยมไม่มีความผิดตามที่อัยการฟ้อง อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาต่อไปว่าอัยการจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

ก่อนวันพิพากษา: สืบพยานคดี ม.116 “เสงี่ยม” ทำคลิปชวนไล่ คสช. ไม่มีพยานโจทก์บอกได้คลิปทำให้เกิดความไม่สงบฯ อย่างไร

สั่งฟ้อง “เสงี่ยม” อดีตแกนนำนปช. ม.116-พ.ร.บ.คอมฯ เหตุโพสต์คลิปชวนประชาชนไล่ คสช.

X