ในวันที่ 21 มี.ค. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ เสงี่ยม สำราญรัตน์ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถูกฟ้องในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าได้เผยแพร่คลิปวิดีโอเชิญชวนประชาชนให้ออกมาขับไล่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 2 คลิป ลงในยูทูปและเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค. 2560
คดีนี้น่าจับตาว่า จำเลยเพียงแต่จัดทำคลิปกล่าวเชิญชวนให้ประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ออกมาร่วมกันขับไล่ คสช. โดยกล่าววิเคราะห์อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของ คสช. และเสนอวิธีการชุมนุมบนท้องถนน การนัดหยุดงาน หรือการเรียกให้คณะรัฐประหารไปรายงานตัวกับประชาชนแทน โดยไม่ได้มีการกระทำอื่นใด แต่กลับถูกออกหมายจับ และตั้งข้อหาอาญา “ยุยงปลุกปั่น” ซึ่งอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ คดีใช้เวลาตั้งแต่ตำรวจไปแจ้งความกล่าวหากว่า 4 ปีแล้ว และจวนจะครบ 2 ปี หลังเสงี่ยมถูกจับกุม แจ้งข้อหา และศาลจะมีคำพิพากษาในที่สุด
จากการสืบพยานโจทก์ในคดี ยังพบว่าไม่มีพยานบอกได้ว่าคลิปถ้อยคำของจำเลยทำให้เกิดความไม่สงบหรือทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินตามองค์ประกอบของมาตรา 116 อย่างไร ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาเช่นไร คดีนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งบันทึกของการใช้ “กฎหมาย” ในหมวดความมั่นคงของรัฐอย่างพร่ำเพรื่อ และกลายไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปราบปรามผู้เห็นต่างของคณะรัฐประหาร ซึ่งยังดำรงสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งสะท้อนปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ที่ทำให้คดีเช่นนี้ ดำเนินมาจนถึงมีคำพิพากษาในชั้นศาล
.
ที่มาที่ไปแห่งคดี: เจ้าหน้าที่ ปอท. อ้างคลิปชวนไล่ คสช. อาจก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร
พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ อายุ 69 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดชุมพรและประกอบอาชีพประมง เขาเคยรับราชการตำรวจก่อนลาออก และได้ร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการคนเสื้อแดงต่อมา หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เขาถูกคณะรัฐประหารออกคำสั่งเรียกรายงานตัว แต่เขาปฏิเสธไม่เข้ารายงานตัว เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งไม่ชอบธรรมและไม่ใช่กฎหมาย
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 เสงี่ยมถูกเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นำหมายจับออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 4 มี.ค. 2563 เข้าจับกุมไปแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังจากที่เพิ่งได้รับการประกันตัวจากคดีบุกรุกอาคารรัฐสภา เมื่อเดือนเมษายนปี 2553 ซึ่งอัยการได้สั่งฟ้องต่อศาลก่อนคดีจะหมดอายุความ
เนื้อหาคลิปที่เสงี่ยมถูกกล่าวหา ระบุว่าเผยแพร่ลงในเพจ “กะลาแลนด์ แดนสนธยา” และยูทูปชื่อ “sangiam abc” มีความยาวประมาณ 6.20 นาที โดยทั้งสองคลิปมีเนื้อหาเช่นเดียวกัน โดยสรุปเสงี่ยมได้กล่าวเชิญชวนให้ประชาชนออกมาขับไล่เรียกร้อง คสช. เนื่องจาก คสช. ไม่มีท่าทีจะจัดการเลือกตั้งเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน ทั้งยังมีการออกแบบกลไกสืบทอดอำนาจ เสงี่ยมจึงต้องการพลังมวลชนเพื่อขับไล่ คสช. เชิญชวนให้ประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ออกมาบนท้องถนน หรือนัดหยุดงานสักสองสามวัน พร้อมกับเรียกให้ คสช. มารายงานตัวกับกองกำลังของประชาชน อย่าปล่อยให้ “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และนักศึกษาออกมาเรียกร้องกันอย่างโดดเดี่ยว อีกทั้งยังขอให้ตำรวจและทหารออกมาเรียกร้องเช่นกัน เพราะ คสช. ละเมิดทั้งกฎหมายไทยและสนธิสัญญาสากล ถือว่ามีความผิดเป็นกบฏ
พ.ต.ท.กังวาล ศรีวิไล ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ได้เข้าแจ้งความไว้ที่ บก.ปอท. เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2561 อ้างว่าคลิปดังกล่าวมีเจตนาไม่ให้ คสช. หรือคณะรัฐบาลได้ดำเนินการบริหารประเทศตามอำนาจหน้าที่ มีวัตถุประสงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและให้ประชาชนออกมาชุมนุมอันเป็นการละเมิดกฎหมายและอาจถึงขั้นก่อให้เกิดความไม่สงบภายในราชอาณาจักร
ก่อนวันที่ 8 เม.ย. 2563 พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาศาลอาญา และเสงี่ยมได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี โดยต้องวางหลักทรัพย์ 2 แสนบาท และอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 ใช้เวลาระยะพิจารณาในชั้นสอบสวนเพียง 1 เดือนเศษ
ในชั้นศาล คดีถูกเลื่อนนัดสืบพยานออกมาเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงปี 2564 กระทั่งได้มีการนัดสืบพยานใหม่จนเสร็จสิ้นในช่วงวันที่ 1-2 มี.ค. 2565
เสงี่ยมยังถูกตำรวจออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้ไปรายงานตัวกับ คสช. ต่อมา คดีนี้เขาถูกสั่งฟ้องที่ศาลแขวงดุสิต ต่อมาหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าประกาศเรียกรายงานตัวดังกล่าว ในส่วนของโทษขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในคดีของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ทำให้พนักงานอัยการในคดีของเสงี่ยมได้ยื่นขอถอนฟ้องคดี จนกระบวนถอนฟ้องคดีเพิ่งสิ้นสุดในช่วงเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา
.
.
ภาพรวมการสืบพยาน: ตัดพยานโจทก์เหลือ 2 ปาก จำเลยรับว่ากล่าวข้อความจริง แต่ไม่ผิดตามข้อหา
จากเดิมคดีนี้ ฝ่ายโจทก์ได้ขอสืบพยานจำนวน 7 ปาก แต่เมื่อถึงวันนัดสืบพยาน ศาลได้สอบถามจำเลยว่าโพสต์คลิปวิดีโอตามฟ้องจริงหรือไม่ ถ้ารับในเรื่องนี้ จึงจะได้ตัดลดการสืบพยานลง และให้จำเลยยื่นคำให้การเข้ามาใหม่ ในเรื่องเนื้อหาของคลิปวิดีโอว่าเข้าข่ายความผิดตามฟ้องหรือไม่
ทางจำเลยได้ยอมรับว่าเป็นผู้กล่าวถ้อยคำในคลิปจริง แต่ไม่ใช่คนเผยแพร่คลิปดังกล่าวลงในเพจเฟซบุ๊กและยูทูปตามฟ้อง รวมทั้งเนื้อหาในคลิปก็ไม่ได้เข้าข่ายความผิดตามข้อกล่าวหามาตรา 116 ฝ่ายจำเลยจึงได้รับพยานโจทก์ปากที่จะมาเบิกความยืนยันตัวจำเลยในคลิปวิดีโอ
ในที่สุด ทำให้ฝ่ายโจทก์ได้นำพยานเข้าเบิกความในศาลเหลือจำนวน 2 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.กังวาล ศรีวิไล ผู้กล่าวหาในคดีนี้ และ ร.ต.อ.หญิง ณัฐชยา วงศ์รุจิไพโรจน์ พนักงานสอบสวนกองกำกับการ 3 บก.ปอท. ผู้รวบรวมสำนวนคดี
.
ผู้กล่าวหารับไม่ทราบว่าถ้อยคำของจำเลยก่อให้เกิดจลาจล หรือความไม่สงบหรือไม่
พ.ต.ท.กังวาล ศรีวิไล รองผู้กำกับปราบปราม สภ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุช่วงเดือนธันวาคม 2560 พยานปฏิบัติหน้าที่เป็นสารวัตรกองกำกับการ 3 บก.ปอท. และได้รับการสั่งการจาก พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผกก.3 บก.ปอท. ให้ทำการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก “กะลาแลนด์ แดนสนธยา” และยูทูปชื่อ “sangiam abc” ที่มีการโพสต์คลิปวิดีโอเชิญชวนประชาชนนักศึกษาให้ไปร่วมต่อต้าน คสช.
พยานได้เป็นผู้ตรวจสอบตัวบุคคลผู้กล่าวถ้อยคำในคลิป และได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีนี้กับพนักงานสอบสวน เนื่องจากเห็นว่าเป็นความผิดต่อกฎหมาย
พ.ต.ท.กังวาล ตอบทนายจำเลยยอมรับว่า หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 จนถึงปี 2562 ที่มีการจัดการเลือกตั้งนั้น มีบุคคลหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจในครั้งนี้ และได้ออกมาต่อต้านและเรียกร้องกับ คสช. มาโดยตลอด แต่ในหลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าเกี่ยวข้องกับจำเลยโดยตรงหรือไม่ โดยพยานจำไม่ได้ว่าในช่วงเกิดเหตุในคดีนี้ คสช. ได้จัดให้มีการเลือกตั้งหรือยัง
พ.ต.ท.กังวาล ตอบคำถามรับว่า หลังจากที่คลิปของจำเลยเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2560 คสช. ก็ยังคงบริหารประเทศต่อไปได้ ถึงแม้จะมีการชุมนุมทางการเมืองหลังจากนั้น พยานก็ไม่ทราบว่าการชุมนุมนั้นเกิดจากการเชิญชวนของจำเลยจริงหรือไม่ และทาง บก.ปอท. ที่เป็นหน่วยงานของพยาน ก็ไม่ได้บอกว่ามีผู้กระทำความผิดจากคำพูดของจำเลยด้วยเช่นกัน พยานยังอ้างว่าในช่วงที่ผ่านมามีการก่อจลาจลเกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่ทราบว่าจะเกี่ยวข้องกับจำเลยโดยตรงหรือไม่
พยานรับว่าตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมได้โดยสงบและปราศจากอาวุธ ถ้าไม่มีการใช้ความรุนแรงล้มล้างรัฐบาลก็สามารถกระทำได้ แต่พยานเห็นว่าถ้อยคำที่จำเลยกล่าวในคลิป มีเจตนาชักชวนประชาชนให้ออกมาลงถนนขับไล่ คสช. และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ออกจากอำนาจ และให้มารายงานตัวต่อกองกำลังของประชาชน แต่พยานจำไม่ได้ว่า ในช่วงนั้นมีกองกำลังของประชาชนตามที่จำเลยพูดจริงหรือไม่ เนื่องจากมีหลายกลุ่มเคลื่อนไหว
.
.
พนักงานสอบสวนรับไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊กและยูทูป ทั้งรัฐบาลยังบริหารประเทศต่อได้หลังมีคลิปจำเลย
พยานโจทก์คนต่อมา ร.ต.อ.หญิง ณัฐชยา วงศ์รุจิไพโรจน์ พนักงานสอบสวนที่ บก.ปอท. และเป็นพนักงานสอบสวนในคดี เบิกความว่าในคดีนี้ ตนได้รับสำนวนมาจากพนักงานสอบสวนอีกท่านหนึ่ง ให้สอบสวนเพิ่มเติม พบว่าคลิปตามข้อกล่าวหาเป็นคลิปที่จำเลยเป็นผู้พูด แต่ไม่พบว่าใครเป็นเจ้าของหรือเป็นแอดมินเพจ “กะลาแลนด์ แดนสนธยา” ซึ่งเผยแพร่คลิป อีกทั้งไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยนั้นเป็นแอดมินหรือไม่ ส่วนบัญชียูทูป “sangiam abc” นั้น ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นเจ้าของบัญชี แต่พบว่าจำเลยกับบุคคลที่กล่าวในคลิปวิดีโอเป็นคนเดียวกัน จึงสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีดังกล่าว
พยานเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จึงได้ร้องขอศาลออกหมายจับ หลังการจับกุม พยานได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิในคดีกับจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
ร.ต.อ.หญิง ณัฐชยา ตอบคำถามทนายจำเลยถามค้านว่า ในคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย ยืนยันให้การปฏิเสธ โดยยืนยันว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในการเรียกร้องให้ คสช. คืนอำนาจให้ประชาชนโดยการจัดการเลือกตั้ง เนื่องจาก คสช. ได้อำนาจมาโดยมิชอบ และจำเลยเองนั้นพูดโดยสุจริตใจ ซึ่งเห็นว่ามีกฎหมายรองรับการกระทำนั้น
พยานรับว่าพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ตรวจสอบบัญชีและผู้จับกุมจำเลย แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดบอกว่าคำพูดของจำเลยเป็นเหตุให้ก่อจลาจลและความไม่สงบภายในบ้านเมือง หรือแม้แต่ทำร้ายเจ้าหน้าที่
ร.ต.อ.หญิง ณัฐชยา รับว่าในช่วงวันเกิดเหตุได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แล้ว และในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลจัดให้มีการเลือกตั้งสามารถกระทำได้ แต่ก็ต้องดูเงื่อนไขอื่นๆ และไม่กระทบสิทธิของผู้อื่น
ในส่วนภายหลังการกล่าวถ้อยคำในคลิปของจำเลยแล้ว พยานยอมรับว่ารัฐบาลชุดเดิมก็ยังบริหารประเทศต่อไปได้ และไม่ได้มีกฎหมายของบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด
.
.
เสงี่ยมยืนยันตนใช้สิทธิแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการแสดงออก ไม่เข้าข่าย ม.116
หลังการสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น วันที่ 2 มี.ค. 2565 เสงี่ยมได้อ้างตนเองขึ้นเบิกความเป็นพยานจำเลย โดยได้ยื่นคำเบิกความเป็นหนังสือต่อศาล
เนื้อหาโดยสรุปยืนยันว่า จำเลยยอมรับว่าเป็นผู้กล่าวเนื้อหาในคลิปวิดีโอตามฟ้อง แต่เนื้อหาที่จำเลยกล่าวเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมาตรา 44 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รวมทั้งเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี
มูลเหตุแห่งการกล่าวถ้อยคำดังกล่าว เนื่องจากจำเลยไม่ยอมรับการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ซึ่งเป็นความผิดฐานกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ที่มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ทั้งคณะรัฐประหารยังได้ออกคำสั่งเรียกรายงานตัว และให้ทหารเข้าติดตามตัวจำเลยให้ไปรายงานตัว และหลังจากที่มีการยึดอำนาจมาเป็นเวลาหลายปี คสช. ไม่มีแนวโน้มที่จะคืนอำนาจโดยจัดให้มีการเลือกตั้ง อีกทั้งมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้มีวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ซึ่งถือเป็นการสืบทอดอำนาจ คสช. ต่อไป
ทั้งเมื่อมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฝ่ายที่ไม่ให้รับร่างฉบับนี้ได้เผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชน คสช. ก็ได้ตั้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีอาญาข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ซึ่งขัดกับระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้มีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ ออกมาเรียกร้องให้ คสช. ลาออก และคืนอำนาจโดยจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว กลับถูกข่มขู่ คุกคามทำร้ายร่างกาย และถูกเฝ้าติดตาม แต่ไม่มีใครจับกุมบุคคลเหล่านี้มาดำเนินคดีได้ โดยเฉพาะกรณีของ “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่ถูกลอบทำร้ายร่างกายหลายครั้ง ซึ่งเป็นการกระทำที่รับไม่ได้
จำเลยจึงได้ออกมาอัดคลิปวิดีโอเพื่อพูดถึงสถานการณ์การบริหารของ คสช. ในตอนนั้น ปรามไม่ให้ตำรวจและทหารทำร้ายประชาชนที่ออกมาต่อต้าน คสช. เนื้อหาที่จำเลยพูดนั้นเป็นการเชิญชวนให้ประชาชนออกมาเรียกร้องให้ คสช. คืนอำนาจให้กับประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
การที่จำเลยออกมาพูดเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว เชิญชวนให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมเพื่อต่อต้าน คสช. และหยุดการสืบทอดอำนาจ จึงไม่ได้มีเจตนาเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบเกิดขึ้นในราชอาณาจักรหรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินแต่อย่างใด
จากนั้น อัยการได้ถามค้านจำเลย โดยจำเลยยืนยันว่าหลังการกล่าวถ้อยคำในคลิป ก็ไม่ได้มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในบ้านเมือง ไม่ได้มีประชาชนออกชุมนุมทางการเมืองมากขึ้นเนื่องจากคลิปวิดีโอ อาจจะมีนักศึกษาออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่เข้าใจว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่จำเลยออกมาพูดแต่อย่างใด
หลังเสร็จสิ้นการเบิกความของเสงี่ยม ฝ่ายจำเลยได้แถลงหมดพยาน โดยไม่นำพยานนักวิชาการที่ยื่นในบัญชีพยานไว้เดิมขึ้นสืบ ศาลจึงได้กำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 21 มี.ค. 2565 นี้ เวลา 9.00 น.
ข้อสังเกตในการพิจารณาคดีครั้งนี้ คือศาลได้ให้จำเลยแถลงเหตุการณ์ของคดีก่อนที่จะเริ่มการสืบพยาน และให้ฝ่ายจำเลยจัดทำคำเบิกความมายื่นเพื่อพิจารณา ก่อนให้ฝ่ายโจทก์ถามค้านต่อไป รวมทั้งยังตัดพยานฝ่ายโจทก์ให้เหลือพยานปากผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวน รวม 2 ปาก ทำให้การสืบพยานเป็นไปอย่างรวดเร็วด้วย
.