5 กรกฎาคม 2564 ศาลอาญา รัชดาฯ กำหนดนัดพร้อมในคดีของ พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และอดีตที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเขาถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) เหตุจากการโพสต์คลิปวิดีโอลงบนเว็บไซต์ยูทูปและเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคม 2560 จำนวน 2 คลิป โดยมีเนื้อหากล่าวเชิญชวนประชาชนและนักศึกษาให้ออกมาชุมนุมขับไล่ คสช. จากกรณีที่ไม่ยอมจัดให้มีการเลือกตั้ง และการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมในช่วงดังกล่าว
ในช่วง 13.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ศาลกำหนดนัดไว้ ผู้สังเกตการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า ศาลอาญาได้ตั้งจุดตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาศาล บริเวณลานจอดรถด้านข้างอาคารศาล ผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าศาลอาญาจะต้องถูกตรวจดูบัตรประชาชน โดยมีตำรวจศาลทำการจดเลขบัตรประชาชน และคอยบันทึกภาพด้วยกล้องวิดีโอ คาดว่ามาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะในวันเดียวกันนี้ ยังมีนัดสอบคำให้การในคดีของผู้ชุมนุม #ม็อบ28กุมภา ทั้งหมด 19 ราย
เมื่อศาลนั่งพิจารณา ได้แจ้งคู่ความว่า จำต้องกำหนดนัดสำหรับการสืบพยานในคดีนี้ใหม่ จากเดิมที่ถูกกำหนดไว้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น ทำให้ต้องเลื่อนคดีออกมา และกำหนดวันนัดพร้อมใหม่ในวันนี้
โจทก์ยังแถลงว่าจะนำสืบพยานทั้งหมด 7 ปาก ในขณะที่จำเลยจะนำสืบพยานทั้งหมด 2 ปาก คือตัวจำเลยเอง และชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์พิเศษด้านการเมืองและกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานให้จำนวน 3 นัดเช่นเดิม คู่ความได้ตกลงวันนัดสืบพยานในคดีใหม่เป็นวันที่ 1 – 3 มีนาคม 2565
.
เสงี่ยม สำราญรัตน์: “ประชาชนย่อมมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการต่อต้านรัฐประหาร”
สำหรับ พ.ต.ต.เสงี่ยม ถูกดำเนินคดีทางการเมืองรวม 3 คดีแล้ว สำหรับคดีแรก เสงี่ยมถูกพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารสังกัดมณฑลทหารบกที่ 44 ค่ายเขตอุดมศักดิ์ เข้าจับกุมเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2563 ที่บริเวณบ้านพักที่จังหวัดชุมพร ตามหมายจับของศาลอาญา จากกรณีถูกกล่าวหาเป็นผู้ต้องหาในคดีบุกรุกอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 โดยเจ้าหน้าที่ได้นำตัว พ.ต.ต.เสงี่ยม ไปแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ
ต่อมาในวันที่ 7 เมษายน 2563 อัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีเสงี่ยมในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น, ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว, ร่วมกันบุกรุก, ร่วมกันทำร้ายร่างเจ้าพนักงาน และทำให้เสียทรัพย์ฯ ทางทนายจำเลยได้ขอยื่นประกันตัวจำเลย และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว
ภายหลังจากได้รับการประกันตัว ปรากฎว่า ในวันเดียวกันนั้นเอง เจ้าหน้าที่จาก บก.ปอท. ได้เข้าจับกุมเสงี่ยมตามหมายจับ จากเหตุกรณีโพสต์คลิปวิดีโอลงเว็บไซต์ยูทูปและเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคม 2560 จำนวน 2 คลิป
>>> สั่งฟ้อง “เสงี่ยม” อดีตแกนนำนปช. ม.116-พ.ร.บ.คอมฯ เหตุโพสต์คลิปชวนประชาชนไล่ คสช.
.
นอกจากนั้น เขายังถูกดำเนินคดีในข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 โดยคดีนี้เขาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ภายหลังจากถูกกล่าวหาในสองคดีแรก ก่อนถูกสั่งฟ้องที่ศาลแขวงดุสิตในเดือนถัดมา
ต่อมา เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าคำสั่งเรียกรายงานตัวดังกล่าวของ คสช. ขัดกับรัฐธรรมนูญ ในคดีของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาเดียวกันนี้ ทำให้อัยการในคดีของเสงี่ยมได้ยื่นขอถอนฟ้องคดี และขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างรอการอนุมัติการถอนฟ้องคดีของอัยการ
>>> แม้ไร้ คสช. แต่ ‘เสงี่ยม’ อดีตแกนนำ นปช. ยังถูกหมายเรียกไปแจ้งข้อหาไม่รายงานตัว คสช.
.
จากการได้พูดคุยกับเสงี่ยม เขาได้ยืนยันถึงเจตนารมณ์เบื้องหลังการอัดคลิปทั้ง 2 คลิป ระบุว่า ในฐานะที่เขาเคยรับราชการเป็นตำรวจมาก่อนที่จะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่ม นปช. เขายืนยันว่าการรัฐประหารของ พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชานั้น เป็นการกระทำที่มีความผิดทางกฎหมาย และประชาชนมีความชอบธรรมในการแสดงออกถึงการต่อต้าน โดยเป็นสิทธิที่ถูกให้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ
“หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจการปกครองไปเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ผมในฐานะที่เคยเป็นตำรวจ เป็นผู้ใช้กฎหมายมาก่อน ผมยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต มันคือการฉีกรัฐธรรมนูญ”
“ตามหลักการของกฎหมาย เมื่อผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดแล้ว จะนำสิทธิต่างๆ มาใช้ในทางกฎหมายหรือในทางที่อ้างว่าถูกต้องตามกฎหมายนั้นมิได้ ถือสภาพว่าเป็นโมฆะ อันนี้เป็นเนื้อหาโดยหลักการ”
“ในส่วนของเนื้อหาในคลิป มันสืบเนื่องจากการที่พลเอกประยุทธ์ได้สั่งให้ผมและพี่น้องฝ่ายประชาธิปไตยไปรายงานตัว แต่ผมเลือกที่จะไม่ไป เพราะผมยืนยันว่าประยุทธ์เป็นผู้ที่ทำผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญาดังที่กล่าว จึงเลือกที่จะหลบหนี แล้วผมก็ถูกดำเนินคดีในคดีนี้”
“ผลที่ได้รับคือผมถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผมก็ต่อสู้ เพราะว่าภายใต้สิทธิของประชาชน – เจ้าของอำนาจการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การแสดงออกของประชาชนย่อมได้รับรองภายในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ โดยเฉพาะถ้าเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนโดยฝ่ายประชาธิปไตย ผมยืนยันว่า ผมพูดในสิ่งที่ได้รับการยอมรับโดยรัฐธรรมนูญ เป็นการแสดงออกด้วยความบริสุทธิ์ใจ”
“ขณะนี้ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ประยุทธ์อยู่ในสถานะที่เป็นผู้กระทำผิด ไม่สามารถถูกตรวจสอบได้ ผมก็พร้อมจะยืนยันความบริสุทธ์ของตัวเองในกระบวนการยุติธรรม”
เมื่อสอบถามไปว่า มองทิศทางของคดีความตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง เสงี่ยมยืนยันอย่างหนักแน่นว่าเขาไม่กังวลและพร้อมจะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อยืนยันถึงเจตนาบริสุทธิ์ของตัวเอง
“ผมไม่หนักใจ เพราะเราสู้ในตัวบทกฎหมาย สู้ในเจตนาที่ไม่ได้มุ่งหมายหรือหวังร้ายต่อประเทศชาติ แต่ขณะเดียวกัน เรามุ่งหวังที่จะให้ผู้ที่ยึดอำนาจการปกครองยอมคืนอำนาจและจัดให้มีการเลือกตั้ง แล้วปล่อยให้ผู้ที่ประชาชนไว้วางใจ พรรคการเมืองใดก็แล้วแต่ ให้เข้ามาจัดตั้งเป็นรัฐบาล หากว่าบริหารไม่ดี ก็ให้ยุบสภาหรือรอหมดวาระไป ถึงคราวเลือกตั้ง ประชาชนก็จะได้เลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา ไม่ใช่ให้ทหารเข้ามายึดอำนาจในการปกครอง”
.