ศาลยกฟ้อง! คดีนักกิจกรรม NDM 13 คน ชุมนุมต้าน คสช. ปี 58 หลังต่อสู้นาน 4 ปี ชี้ชุมนุมวิจารณ์ คสช. อยู่ในกรอบสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เข้าข่าย ม.116

วันที่ 18 ธ.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีของอดีตนักศึกษา-นักกิจกรรมจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และดาวดิน จำนวน 13 คน ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กรณีการชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558 หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อกลางปี 2562 และต่อสู้คดีมากว่า 4 ปี

จำเลยทั้ง 13 คนที่ถูกฟ้องในคดีนี้ ได้แก่ รัฐพล ศุภโสภณ, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, ปกรณ์ อารีกุล, ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์, อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, พายุ บุญโสภณ, ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์, ศุภชัย ภูครองพลอย, วสันต์ เสตสิทธิ์, สุไฮมี ดูละสะ, ชลธิชา แจ้งเร็ว, พรชัย ยวนยี และสุวิชชา พิทังกร

ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ไม่มีความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือชีวิตของผู้ใด ตลอดจนการปราศรัยของจำเลยและผู้ชุมนุม เป็นการสลับกันขึ้นปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช. ไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 13 คนเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย การชุมนุมดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการสร้างความรุนแรงหรือยุยงปลุกปั่นประชาชนตามฟ้องอย่างไร พิพากษายกฟ้อง

.

คดีนี้มี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ (ยศขณะนั้น) เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายกฎหมายของ คสช. เป็นผู้กล่าวหา กรณีเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558 มีการชุมนุมให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรมและผู้ชุมนุมที่ถูกออกหมายเรียกไปดำเนินคดีจากการชุมนุมครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ทางกลุ่มนักกิจกรรมต้องการแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงในวันดังกล่าว และปฏิเสธการเข้ารายงานตัวกับตำรวจ เนื่องจากไม่ยอมรับการใช้อำนาจของ คสช. จึงไปทำกิจกรรมที่หน้า สน.ปทุมวัน

เมื่อกลุ่มนักศึกษาจะเดินทางเข้าแจ้งความกลับใน สน.ปทุมวัน กลับถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ สน. จึงมีการตั้งเวทีปราศรัยขึ้นบริเวณหน้าสถานีตำรวจ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่เปิดให้ผู้จะเข้าแจ้งความเท่านั้นเข้าไปใน สน. ขณะทำกิจกรรมมีการร้องเพลง มอบดอกไม้ อ่านบทกวี ดำเนินไปตลอดบ่ายถึงค่ำ

ต่อมามีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหารวม 16 ราย และทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ที่ สน.ปทุมวัน จนครบทุกคน เมื่อช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน ปี 2562 

ต่อมาวันที่ 4 ส.ค. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 มีคำสั่งฟ้องคดี กับจำเลยทั้ง 13 คน ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เพียงข้อหาเดียว ซึ่งมีบรรยายฟ้องโดยสรุปว่า จำเลยทั้งหมดปราศรัยเชิญชวนให้ประชาชนออกมาร่วมต่อต้านรัฐบาล พร้อมปลุกระดมให้ประชาชนไม่ยอมรับอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการกระทำที่ทำให้เกิดความปั่นป่วน และกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่อาจก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และคดีได้มีการสืบพยานไปเมื่อเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาต่อมา 

.

วันนี้ (18 ธ.ค.2566) เวลาประมาณ 09.45 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 405 จำเลย 12 ราย ทยอยเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดี โดยมีจำเลยที่ 12 (พรชัย) ที่ไม่ได้มาตามนัด ทำให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบ ตลอดจนมีประชาชนและเจ้าหน้าที่จากสถานทูตสวีเดนเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีร่วมด้วย 

ศาลเรียกให้จำเลยทั้งหมดลุกขึ้นแสดงตัว ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหมดกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยเมื่อพิเคราะห์จากคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานหลักฐานของโจทก์แล้ว พบว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นไปด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีความรุนแรง ไม่มีการเข้าสลายการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ หรือมีผู้ใดที่ได้รับความเสียหายทางทรัพย์สินหรือชีวิต การกระทำของจำเลยทั้งหมดไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง 

ทั้งได้ความจากพยานโจทก์ที่เบิกความในชั้นศาล พบว่าจำเลยทั้ง 13 ราย ได้สลับหมุนเวียนกันขึ้นเวทีชั่วคราวที่บริเวณใกล้กับ สน.ปทุมวัน เพื่อปราศรัยในโอกาสครบรอบ 1 ปีของการทำรัฐประหาร ทั้งมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล คสช. โดยเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศเลือกตั้งโดยเร็ว 

การกระทำของจำเลยทั้งหมด ไม่ปรากฏว่าเป็นการะละเมิดต่อกฎหมาย เนื่องจากการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธและความรุนแรง ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพนอกเหนือจากกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างไร แม้การปราศรัยจะปรากฏถ้อยคำหยาบคายและไม่สุภาพไปบ้าง แต่ก็ไม่พบว่าทำให้เกิดความเสียหายหรือสร้างความยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนก่อความกระด้างกระเดื่องในบ้านเมืองตามฟ้อง ศาลพิพากษายกฟ้อง 

นอกจากคดีนี้แล้ว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้รับคำสั่งไม่ฟ้องคดีตามมาตรา 116 ของอัยการในอีกคดีหนึ่งที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ คดีของ “อดีต 14 นักศึกษา” กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และดาวดิน พร้อมทั้ง ส.ศิวรักษ์-บารมี ชัยรัตน์-ทนายจูน ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ถูกกล่าวหาจากกรณีชุมนุมเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2558 โดยเป็นแสดงออกเพื่อขับไล่คณะรัฐประหารในขณะนั้น 

คดีนี้ดำเนินมากว่า 8 ปี อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งไม่ฟ้อง เห็นว่าเป็นเพียงการชุมนุมแสดงความคิดเห็นแตกต่างในทางการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นการแสดงออกทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนย่อมกระทำได้ ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 116 ทั้งนี้ คดีนี้ทั้ง 14 นักศึกษาเคยถูกศาลทหารสั่งคุมขังระหว่างการสอบสวนเป็นเวลา 12 วันด้วย 

.

ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยานคดีนี้ >>> การเดินทางกว่า 4 ปี ของคดีต้าน คสช.: บันทึกสืบพยานก่อนพิพากษาคดี ม.116 อดีต “13 นักกิจกรรม NDM-ดาวดิน” ชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน เมื่อปี 58

X