ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ของ “อดีต 14 นักศึกษา” กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และดาวดิน พร้อมทั้ง ส.ศิวรักษ์-บารมี ชัยรัตน์-ทนายจูน จากกรณีชุมนุมเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2558 โดยเป็นแสดงออกเพื่อขับไล่คณะรัฐประหารในขณะนั้น หลังคดีดำเนินมากว่า 8 ปี
คำสั่งดังกล่าวเป็นการพิจารณาของทางอัยการสูงสุด เห็นว่าการกระทำเป็นเพียงผู้มีความคิดเห็นแตกต่างในทางการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นการแสดงออกทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนย่อมกระทำได้
.
ภาพการชุมนุมวันที่ 25 มิ.ย. 2558 (ภาพจากประชาไท)
.
ที่มาที่ไปของคดี: 14 นศ. ถูกจับกุม ศาลทหารสั่งขัง 12 วัน – ส.ศิวรักษ์ ก็ถูกเรียกไปแจ้งข้อหาด้วย
การชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นขณะคณะรัฐประหารมีการประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองจํานวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทั้ง 14 คน ซึ่งถูกออกหมายจับ จากการไม่ไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวน หลังถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ และที่จังหวัดขอนแก่น ได้แถลงข่าวแสดงอารยะขัดขืนไม่ยอมรับอำนาจของ คสช. ไม่เข้ามอบตัว
สำหรับทั้ง 14 นักศึกษาดังกล่าว ได้แก่ รังสิมันต์ โรม, พรชัย ยวนยี, รัฐพล ศุภโสภณ, ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์, ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์, ปกรณ์ อารีกุล, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, สุวิชชา พิทังกร, ศุภชัย ภูครองพลอย, อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, พายุ บุญโสภณ, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, วสันต์ เสตสิทธิ์ และ ชลธิชา แจ้งเร็ว
ในช่วงเย็น ได้มีการเดินขบวนรำลึกถึงวีรชนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมือง โดยเริ่มจากที่อนุสรณ์ 6 ตุลา ภายใน มธ.ท่าพระจันทร์, อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม และอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา พร้อมประกาศสานต่อเจตนารมณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก่อนไปชุมนุมปราศรัยกันอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีการขึงผ้าดำรอบอนุสาวรีย์ และแสดงป้ายผ้าข้อความ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”
ในวันถัดมา (26 มิ.ย. 2558) ในช่วง 16.00 น. ศาลทหารกรุงเทพฯ อนุมัติหมายจับกลุ่มนักศึกษาทั้ง 14 คน ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบจึงได้นำกำลังไปยังสวนเงินมีมา ที่กลุ่มนักศึกษาปักหลักอยู่ พร้อมแสดงหมายจับ ก่อนควบคุมตัวทั้ง 14 คน ไปที่ สน.พระราชวัง ก่อนส่งตัวขอฝากขังที่ศาลทหารในคืนนั้นทันที แม้เป็นเวลานอกราชการ
ในการไต่สวนคัดค้านฝากขัง นักศึกษาแต่ละคนได้แถลงคัดค้านการฝากขัง และการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือน รวมทั้งการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ก่อนในเวลา 22.50 น. ศาลทหารมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังนักศึกษาทั้ง 14 คน เป็นระยะเวลา 12 วัน ทำให้ทั้งหมดถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำ
ก่อนที่วันที่ 7 ก.ค. 2558 ในการครบกำหนดฝากขังผัดแรก ศาลทหารได้มีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังในผัดที่ 2 เห็นว่าไม่มีเหตุให้ควบคุมตัวต่อไป ทั้งหมดจึงได้รับการปล่อยตัวในช่วงเช้าวันที่ 8 ก.ค. 2558 รวมเวลาถูกคุมขัง 12 วันเศษ
ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ยังมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาไปแจ้งข้อกล่าวหาในคดีเดียวนี้อีก 3 คน กล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนการชุมนุมของ 14 นักศึกษาดังกล่าว ได้แก่ บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน, สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการกระทำของทั้งสามเข้าข่ายความผิดในสองข้อหาดังกล่าวอย่างไร
รวมจึงมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 17 คน โดยพบว่าคดีนี้มี พ.ท.พงศฤทธิ์ ภวังคะนันท์ ผู้อำนวยการกองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน เป็นผู้กล่าวหา
.
ภาพวาดเหตุการณ์การไต่สวนคัดค้านฝากขังในศาลทหารกรุงเทพฯ ช่วงคืนวันที่ 26 มิ.ย. 2558
.
หลังผ่านไป 8 ปี อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งไม่ฟ้อง ชี้แค่ชุมนุมไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ต่อมาหลังผ่านมากว่า 6 ปี และแม้ คสช. จะสิ้นสุดบทบาทไป แต่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ เพิ่งมีการส่งสำนวนคดีให้กับพนักงานอัยการในช่วงเดือนตุลาคมปี 2564 โดยอัยการมีการนัดฟังคำสั่งราว 2-3 เดือนต่อครั้งเรื่อยมากว่า 2 ปี
ล่าสุด พนักงานอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ ในส่วนของผู้ต้องหา 15 คน ยกเว้น รังสิมันต์ โรม และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งยังอยู่ระหว่างพิจารณาของอัยการ โดยได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดส่งมายังผู้กำกับการสน.สำราญราษฎร์ ลงวันที่ 20 ก.ย. 2566
เนื้อหาคำวินิจฉัยในการสั่งไม่ฟ้อง ระบุว่าอัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว จากพฤติการณ์การกระทำของผู้ต้องหา ที่ร่วมกันชุมนุมต่อต้านรัฐบาล โดยมีการปราศรัยโจมตีรัฐบาล คสช. ในขณะนั้น ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวมตลอดถึงได้ร่วมกันนำป้ายพลาสติกสีดำพันรอบอนุสาวรีย์ แล้วร่วมกันใช้สีสเปรย์พ่นข้อความเป็นตัวอักษรสีขาวบนป้าย ว่า “คสช. ออกไป คืนอำนาจให้ประชาชน หยุดสัมปทาน NO COUP หยุดคุกคามชาวบ้าน ยกเลิกมาตรา 44 คืนอำนาจให้ประชาชน” รวม 7 ข้อความ
ในส่วนของฐานล่างใต้ผ้าสีดำมีสติ๊กเกอร์เขียนข้อความไว้เช่น “เอาประชาธิปไตยคืนมา หยุดคุกคามประชาชน เราเลือกได้ NO COUP” และมีข้อความในกระดาษรูปกำปั้นระบุ “หลักกำปั้น 4 ประการ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การมีส่วนร่วมและสันติวิธี” นั้น
พฤติการณ์การแสดงออกดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งตลอดระยะเวลาในการชุมนุม ไม่มีพฤติการณ์ที่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้ความรุนแรง มีหรือได้ใช้อาวุธในการก่อความวุ่นวายหรือมีการพูดปราศรัยด้วยถ้อยคำหรือการกระทำที่แสดงออกด้วยวิธีการที่มิชอบด้วยกฎหมาย อันจะเป็นการบังคับรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้กระทำตามข้อเรียกร้อง
ทั้งถ้อยคำที่เขียนในแผ่นผ้าแต่ละข้อความ ไม่มีเนื้อหาในลักษณะของการปลุกระดมให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในกลุ่มผู้ชุมนุมหรือประชาชน อันเป็นการยุยงให้ก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรแต่อย่างใด
การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นเพียงผู้มีความคิดเห็นแตกต่างในทางการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นการแสดงออกทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนย่อมกระทำได้ โดยสงบและปราศจากอาวุธ
กระทำของผู้ต้องหาที่ไม่ปรากฏว่ามีการยุยงให้ประชาชนใช้กำลังประทุษร้ายหรือใช้กำลังข่มขืนใจหรือให้กระทำด้วยวิธีการใดต่อรัฐบาล ถึงขนาดให้ประชาชนทำการอันไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือให้ประชาชนล้มล้างรัฐบาลด้วยการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย กระทำของผู้ต้องหาจึงยังไม่ครบองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
ลงนามคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดโดย พัชรา ดีเพ็ง อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ
.
ภาพการปล่อยตัว 14 นักศึกษาออกจากเรือนจำ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2558 (ภาพจากประชาไท)
.
คดีชุมนุมในเวลาใกล้เคียงกัน อัยการสั่งฟ้อง กล่าวหาว่าเชิญชวนให้ไม่ยอมรับอำนาจ คสช. เข้าข่าย ม.116
ขณะเดียวกัน ในการชุมนุมในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งถูกทหารกล่าวหาในลักษณะเดียวกัน ได้แก่ การชุมนุมวันที่ 24 มิ.ย. 2558 ที่หน้า สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นการชุมนุมให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรมและผู้ชุมนุมที่ถูกออกหมายเรียกไปดำเนินคดีจากการชุมนุมครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ต่อมา พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ (ในขณะนั้น) ได้รับมอบอำนาจจาก คสช. ไปแจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาลักษณะเดียวกันกับคดีข้างต้น
ปรากฏว่า เมื่อช่วงปี 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้มีคำสั่งฟ้องคดีของ 13 นักศึกษา-นักกิจกรรม จากอดีตขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และดาวดิน ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
โดยคำฟ้องในคดีดังกล่าว อัยการอ้างว่าจําเลยกับพวกยังได้เชิญชวนประชาชนทั่วไปให้ออกมาร่วมต่อต้านรัฐบาล พร้อมกับปลุกระดมประชาชนให้ไม่ยอมรับในอํานาจการปกครองของ คสช. เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116
คดีนี้ มีการสืบพยานที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา และศาลกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 พ.ย. 2566 นี้
ทั้งนี้ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เป็นข้อหาในหมวดความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ถูกนำมาใช้จำนวนมากในยุค คสช. มีการนำมาใช้ตีความอย่างกว้างขวาง โดยใช้กล่าวหานักกิจกรรมและนักกิจกรรมที่แสดงออกต่อต้านอำนาจจากการรัฐประหาร และ คสช. และยังถูกให้พิจารณาคดีในศาลทหารอีกด้วย โดยส่วนใหญ่คดีมาตรา 116 หลังการต่อสู้คดีหลายปี ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเป็นส่วนใหญ่ แต่จนถึงปัจจุบัน การใช้ข้อหามาตรานี้ในทางการเมืองก็ยังคงดำเนินต่อมา
.