การเดินทางกว่า 4 ปี ของคดีต้าน คสช.: บันทึกสืบพยานก่อนพิพากษาคดี ม.116 อดีต “13 นักกิจกรรม NDM-ดาวดิน” ชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน เมื่อปี 58

วันที่ 16 พ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของอดีตนักศึกษา-นักกิจกรรมจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และดาวดิน จำนวน 13 คน ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กรณีการชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558 หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อกลางปี 2562 และต่อสู้คดีมากว่า 4 ปี

จำเลยทั้ง 13 คนที่ถูกฟ้องในคดีนี้ ได้แก่ รัฐพล ศุภโสภณ, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, ปกรณ์ อารีกุล, ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์, อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, พายุ บุญโสภณ, ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์, ศุภชัย ภูครองพลอย, วสันต์ เสตสิทธิ์, สุไฮมี ดูละสะ, ชลธิชา แจ้งเร็ว, พรชัย ยวนยี และสุวิชชา พิทังกร 

ทบทวนไทม์ไลน์คดี

ที่มาที่ไปของคดีนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558 มีการนัดชุมนุมให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรมและผู้ชุมนุมที่ถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาจากการจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ที่บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 

ในวันดังกล่าว กลุ่มนักกิจกรรมได้เดินทางไปที่ สน.ปทุมวัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558  และปฏิเสธการเข้ารายงานตัวตามหมายเรียก เนื่องจากไม่ยอมรับการใช้อำนาจของ คสช. 

แต่เมื่อกลุ่มนักศึกษาจะเข้าไปแจ้งความ กลับถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ สน.ปทุมวัน จึงมีการตั้งเวทีปราศรัยขึ้นบริเวณหน้า สน. จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดให้ผู้จะเข้าแจ้งความเท่านั้นเข้าไปด้านใน 

โดยกิจกรรมที่หน้า สน. เป็นไปอย่างคึกคัก มีการให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรมโดยการร้องเพลง มอบดอกไม้ อ่านบทกวี ดำเนินไปตลอดบ่ายถึงค่ำ จนกระทั่งสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 21.40 น.

ต่อมา พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ (ยศขณะนั้น) เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายกฎหมาย คสช. ได้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในความผิดฐานร่วมกัน “ยุยงปลุกปั่น”และ “ช่วยเหลือผู้ต้องหา” จากเหตุการณ์ในวันดังกล่าว

ผ่านไปเกือบ 4 ปีหลังเหตุการณ์ ธนาธร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวัน ในวันที่ 6 เม.ย. 2562 โดยต่อมาทราบรายละเอียดว่า ธนาธรถูกตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวจากการไปปรากฏตัวอยู่บริเวณหน้า สน.ปทุมวันในวันที่ 24 มิ.ย. 2558

นอกจากธนาธรแล้ว ตำรวจยังทยอยออกหมายเรียกนักกิจกรรมที่อยู่ในที่เกิดเหตุอีก 16 ราย เพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งก็คือจำเลยทั้ง 13 คนในคดีนี้ และผู้ต้องหาอีก 3 ราย คือ รังสิมันต์ โรม, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” และวรวุฒิ บุตรมาตร รวมแล้วคดีนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 17 ราย

ผู้ต้องหาทั้งหมดทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาจนครบทุกคนในช่วงระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน ปี 2562 โดยพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 17 คน ใน 2 ข้อหา ได้แก่ ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เนื่องจากคำปราศรัยบางตอนของผู้ต้องหาบางรายวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจของ คสช. และเชิญชวนให้ประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาล และยังได้แจ้งข้อหาธนาธร ในฐาน “ช่วยเหลือผู้ต้องหา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 อีก 1 ข้อหาด้วย

ภายหลังจากการแจ้งข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาทั้ง 17 ราย ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวทั้ง 17 คน ไม่ได้ควบคุมตัวไว้ 

เวลาผ่านไปกว่า 3 ปี หลังจากผู้ต้องหาทั้งหมดทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 มีคำสั่งฟ้องคดี กับจำเลยทั้ง 13 คน ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เพียงข้อหาเดียว โดยในวันที่ 4 ส.ค. 2565 มีนักกิจกรรมเดินทางมารายงานตัวต่อศาล 10 คน ส่วนคนที่เหลือได้แก่ ชลธิชาและสุวิชชา ติดภารกิจ ขณะที่ พรชัยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ต่อมา วันที่ 9 ส.ค. 2565 อัยการจึงยื่นฟ้องทั้งสามคนแยกเป็นอีกคดี โดยมีชลธิชาและสุวิชชาเดินทางมารายงานตัวต่อศาล 

ส่วนผู้ต้องหาอีก 4 ราย ที่เคยถูกแจ้งข้อหาได้แก่ ธนาธร, รังสิมันต์, จตุภัทร์ และวรวุฒิ อัยการยังไม่ได้มีคำสั่งฟ้องคดีแต่อย่างใด

ในคำฟ้องที่ พีระพงษ์ พานิชสุข พนักงานอัยการ เป็นผู้เรียงฟ้องยื่นต่อศาลนั้น ระบุพฤติการณ์คดีสรุปใจความสำคัญได้ว่า 

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย 2558 กลุ่มจําเลยได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นเวทีปราศรัยชั่วคราว บริเวณใกล้กับ สน.ปทุมวัน เชิญชวนประชาชนทั่วไปให้ออกมาร่วมต่อต้านรัฐบาล พร้อมกับปลุกระดมประชาชนให้ไม่ยอมรับในอํานาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการกระทําที่ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปด้วยวาจา เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

ทั้ง 13 คน ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี โดยศาลกำหนดหลักทรัพย์ประกันคนละ 70,000 บาท รวม 13 คน เป็นหลักทรัพย์ 910,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ 

ในวันนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองคดี เนื่องจากมีข้อเท็จจริงแห่งคดีเกี่ยวพันกันและต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน พยานหลักฐานชุดเดียวกัน ศาลจึงอนุญาตให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองคดีเข้าด้วยกัน

ภาพรวมการสืบพยาน: พยานโจทก์ไม่ได้เบิกความถึงเนื้อหาคำปราศรัยของจำเลย มีเพียง “บุรินทร์” ชี้ จำเลยปราศรัย ‘ยุยงปลุกปั่น’ ด้านจำเลยต่อสู้ว่า เหตุการณ์ให้กำลังใจนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี เป็นไปโดยสงบ-ปราศจากอาวุธ ทั้งการปราศรัยวิจารณ์รัฐบาลเป็นเสรีภาพตาม รธน. 

ในการพิจารณาคดี ศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานทั้งหมด 8 นัด โดยสืบพยานโจทก์ระหว่างวันที่ 22-25 ส.ค. 2566 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 29-31 ส.ค., และ 1 ก.ย. 2566 ก่อนที่จะยกเลิกนัดในวันที่ 31 ส.ค., และ 1 ก.ย. 2566 ในเวลาต่อมา เนื่องจากสืบพยานเสร็จสิ้นครบทุกปากแล้ว 

อัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งสิ้น 10 ปาก และฝ่ายจำเลยได้นำพยานเข้าสืบจำนวน 1 ปาก เป็นนักวิจัยอาวุโสของ Human Right Watch ซึ่งเข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมในวันเกิดเหตุ

โจทก์พยายามนำสืบว่า จำเลยทั้งสิบสามผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นปราศรัยบริเวณหน้า สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558 และเชิญชวนประชาชนทั่วไปให้ออกมาร่วมต่อต้านรัฐบาล คสช. เข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์ทั้งหมดไม่ได้เบิกความว่า คำปราศรัยของจำเลยแต่ละคนมีเนื้อหาอย่างไร ทั้งยังรับว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุไม่มีความรุนแรงหรือความวุ่นวายเกิดขึ้น มีเพียง พล.ต.บุรินทร์ ผู้กล่าวหา และพนักงานสอบสวนเท่านั้น ที่เบิกความว่า คำปราศรัยของจำเลยเป็นการปลุกระดมให้ประชาชนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และเห็นว่าเป็นความผิด

ด้านจำเลยทั้งสิบสามมีข้อต่อสู้ว่า ในวันเกิดเหตุ กลุ่มของจำเลยเดินทางไปที่ สน.ปทุมวัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 โดยมีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจ พร้อมกับร้องเพลงและมอบดอกไม้ให้กับนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี ซึ่งเหตุการณ์ก็เป็นไปด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ นอกจากนี้ การปราศรัยแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ก็เป็นเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญและกติกาสากลระหว่างประเทศบัญญัติรับรองไว้ อีกทั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 ประชาชนมีสิทธิต่อต้านรัฐประหารโดยสันติวิธี

ภาพจาก ประชาไท

ผู้กล่าวหาเบิกความ แจ้งความดำเนินคดีจำเลยหลังเกิดเหตุถึง 3 ปี เหตุปราศรัยปลุกระดมให้ประชาชนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย แต่รับว่าคำปราศรัยไม่มีถ้อยคำยั่วยุ

พลตรีบุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช. ผู้กล่าวหาในคดี เบิกความว่า ก่อนวันที่ 24 มิ.ย. 2558 มีการโพสต์ในสื่อโซเชียลมีเดียว่า กลุ่มนักกิจกรรมจะเดินทางเข้ามอบตัวในวันที่ 24 มิ.ย. 2558 ที่ สน.ปทุมวัน เจ้าหน้าที่จึงมีการเตรียมการเพื่อรองรับ โดยประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ทหารรักษาความสงบ เจ้าพนักงานตำรวจ สน.ปทุมวัน และเจ้าพนักงานตำรวจสันติบาล

ต่อมา ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 12.00 น. มีมวลชนประมาณ 200 คน และผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหาร 7 คน พร้อมด้วยทนายความเดินมาด้วยกันตามท้องถนน โดยเมื่อถึงบริเวณตลาดสามย่าน ซึ่งตั้งอยู่เยื้องกับ สน.ปทุมวัน มีแกนนำได้ใช้เวทีเต้นแอโรบิกเป็นเวทีปราศรัย โดยมีการพูดปราศรัยในทำนองไม่ยอมรับอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร และมีการท้าทายให้เจ้าหน้าที่ออกมาจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 

เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารมีการประเมินกันว่าหากเข้าไปจับกุมผู้ต้องหาอาจจะทำให้เกิดการปะทะกัน พยานจึงได้ไปเจรจาต่อรองกับกลุ่มผู้ชุมนุม และได้ข้อสรุปว่า ทางกลุ่มผู้ชุมนุมจะส่งตัวแทนไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงในเหตุการณ์ชุมนุมหน้าหอศิลป์ กทม. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558

ภายหลังจากที่มีการส่งตัวแทนเข้าไปแจ้งความ กลุ่มมวลชนก็มีการปราศรัยกันอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เจ้าพนักงานตำรวจและทหารก็มีการประเมินกันอีกว่า เมื่อจบการชุมนุมแล้วจะเข้าไปจับกุมบุคคลตามหมายจับ แต่พอยุติการชุมนุมแล้ว ผู้ต้องหาก็มีการหลบหนี ไม่สามารถจับกุมตัวได้ โดยพบว่ามีคนให้ความช่วยเหลือในการหลบหนี

บุรินทร์เบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุมีการบันทึกภาพถ่ายเหตุการณ์ไว้ ซึ่งผู้รวบรวมเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองของกองกำลังรักษาความสงบ จากการตรวจสอบภาพถ่ายเทียบกับทะเบียนราษฎร์พบว่า บุคคลที่ช่วยเหลือผู้ต้องหาในการหลบหนีคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งได้เข้าร่วมชุมนุมในวันนั้นด้วย โดยใช้รถตู้มารับรังสิมันต์ โรม และพาหลบหนีไปที่มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป (สวนเงินมีมา) ซึ่งจากการสืบสวนพบว่าเป็นของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ พยานจึงได้ไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับทั้งสองในฐานะผู้ช่วยเหลือ

ต่อมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวที่เข้าไปแฝงตัวชุมนุมรายงานว่า วันที่ 24 มิ.ย. 2558 มีขบวนการต่อต้านรัฐบาล คสช. ปลุกระดมมวลชนให้เข้าไปต่อสู้กับรัฐบาล โดยขบวนการดังกล่าวมีขั้นตอนการปฏิบัติงาน 7 ข้อ โดยสรุปจะเป็นการใช้แนวร่วมที่ปลุกระดมไว้ไปสร้างสถานการณ์ตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ เพื่อปลุกกระแสและโจมตีรัฐบาล ระดมให้คนมาเข้าร่วมชุมนุม มีการบันทึกภาพการชุมนุม หากมีคนบาดเจ็บให้รีบเอาภาพลงโซเชียลมีเดียเพื่อเรียกคนมาชุมนุมเพิ่ม รวมถึงหากมีสื่อต่างชาติให้เรียกมาถ่ายภาพในที่ชุมนุม เพื่อให้ได้ภาพข่าวออกไปนำเสนอต่างประเทศ เพื่อให้องค์กรต่างชาติมาสนใจมากขึ้น ซึ่งคณะทำงานของ คสช. เห็นว่า กลุ่มผู้ชุมนุมในวันเกิดเหตุมีพฤติการณ์ตรงกันกับขบวนการดังกล่าว 

จากการตรวจสอบคลิปเหตุการณ์วันเกิดเหตุพบว่า ผู้ที่ขึ้นปราศรัย ได้แก่ วรวุฒิ บุตรมาตร, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน กับกลุ่มดาวดินอีกประมาณ 7 คน รวมทั้งกลุ่มที่ถูกออกหมายจับจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 และรังสิมันต์ โรม โดยรวมการปราศรัยของทุกคนเป็นการแสดงจุดยืนในการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร และไม่ยอมรับอำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ

พยานเบิกความต่อว่า นอกจากกลุ่มที่กล่าวไป ยังมีสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือขบวนการ PerMAS เข้าร่วมด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารให้ความสำคัญมาก เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์คือ ปลุกระดมเยาวชนให้มีแนวคิดแยกรัฐปาตานี แต่จะเป็นในเชิงการให้ความรู้ทางวิชาการ ไม่มีการใช้ความรุนแรง

อัยการโจทก์ถามพยานว่า กลุ่ม PerMAS เกี่ยวข้องยังไงกับกลุ่มนักกิจกรรมที่ขึ้นปราศรัยในวันเกิดเหตุ พยานตอบว่า เกี่ยวข้องยังไงไม่ทราบ แต่ทราบว่าประธานกลุ่ม PerMAS คือ สุไฮมี ดูละสะ จำเลยที่ 10 ในคดีนี้ขึ้นปราศรัยด้วย เลยเป็นที่น่าตกใจและคิดว่ากลุ่มเหล่านี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน

จากนั้นพยานจึงได้รับมอบอำนาจจากคณะทำงานของ คสช. ให้มาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกลุ่มดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เนื่องจากเห็นว่าเป็นการปลุกระดมให้ประชาชนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พลตรีบุรินทร์รับว่า การยึดอำนาจเรียกโดยทั่วไปได้ว่า รัฐประหาร ซึ่งก็คือการยึดอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร ไม่ได้มาตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีประชาชนทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อันเป็นเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 69 บัญญัติไว้ด้วยว่า บุคคลมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

พยานจำกลุ่มจำเลยได้แม่น เพราะจำเลยออกมาต่อต้านการรัฐประหารนับตั้งแต่ปี 2557 โดยก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่เคยใช้อำนาจกฎอัยการศึกเชิญตัวเยาวชนเหล่านี้มาชี้แจงถึงสาเหตุที่ต้องทำรัฐประหาร มีการทำประวัติและปล่อยตัวไป 

พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ในกิจกรรมครบรอบ 1 ปี รัฐประหารที่บริเวณหอศิลป์ กทม. แต่ทราบว่ามีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุม และมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ

พยานอยู่ในพื้นที่ชุมนุมวันที่ 24 มิ.ย. 2558 ทราบว่า ผู้ชุมนุมเดินทางมาที่ สน.ปทุมวัน เนื่องจากมีความประสงค์จะแจ้งความดำเนินคดีเพราะได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 โดยพยานเป็นผู้ที่เจรจากับผู้ชุมนุมให้ส่งตัวแทนเข้าไปแจ้งความ

ขณะเกิดเหตุเรามีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งมาตรา 4 ได้บัญญัติรับรองไว้ว่า ประชาชนมีสิทธิชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ภายใต้กฎหมาย รวมทั้งกติการะหว่างประเทศก็มีการรับรองสิทธิในการชุมนุมและการแสดงออก ดังนั้น ประชาชนก็มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 

ขณะนั้นกฎอัยการศึกถูกยกเลิกไปแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ยังมีอำนาจในการจับกุม โดยในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการตั้งแผงรั้วเหล็กกั้นบริเวณหน้า สน.ปทุมวัน และมีกองร้อยรักษาความสงบประมาณ 2 กองร้อย วางกำลังอยู่ด้านนอกโดยรอบ

ผู้ชุมนุมไปมอบดอกไม้ให้กำลังใจและสนับสนุนกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดี ไม่ได้มีการเตรียมเวทีและไม่มีเครื่องขยายเสียง มีเพียงโทรโข่ง และไม่ได้มีการบุกเข้าไปใน สน.ปทุมวัน หลังจากมีการตกลงกันว่าจะส่งตัวแทนเข้าไปแจ้งความแล้ว รังสิมันต์ได้อ่านแถลงการณ์ซึ่งมีเนื้อหาไม่ยอมรับอำนาจที่มาจากการรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ และได้ประกาศหลักการ 5 ประการไว้เป็นแนวทางในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ได้แก่ 1.ประชาธิปไตย 2.ความยุติธรรม 3.การมีส่วนร่วม 4.สิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน 5.สันติวิธี

พยานหลักฐานที่พยานส่งมอบให้กับพนักงานสอบสวน เป็นคลิปจากสำนักข่าว ไม่มีคลิปที่เจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจเป็นคนถ่าย พยานไม่แน่ใจว่า คลิปข่าวดังกล่าวปรากฏคำปราศรัยของจำเลยทั้งหมดหรือไม่ รวมทั้งไม่มีจัดทำบันทึกถอดเทปคำปราศรัย 

หลังเหตุการณ์พยานเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กับธนาธรและสุลักษณ์ รวมถึงผู้ชุมนุมโดยไม่ได้ระบุชื่อ ให้เป็นหน้าที่ของตำรวจในการดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิด แต่คดีไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งฝ่ายข่าวสืบทราบมาได้ ผู้บังคับบัญชาจึงมอบหมายให้พยานเข้าแจ้งความจำเลยในคดีนี้ด้วย โดยเพิ่มความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 อีก 1 ข้อหา พยานจึงเข้าแจ้งความเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2562 หลังเกิดเหตุ 3 ปี และไม่ได้แจ้งความในข้อหาชุมนุมเกิน 5 คน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เนื่องจากถูกยกเลิกไปแล้ว 

พยานไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้จัดทำเอกสารที่กล่าวถึงกลุ่มต้าน คสช. ตามที่พยานเบิกความตอบโจทก์ไป และจำไม่ได้ว่า คนที่นำมามอบให้พยานชื่ออะไร 

ในวันเกิดเหตุ ไม่มีผู้ชุมนุมที่มีอาวุธ ไม่มีการทำลายทรัพย์สิน และไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใด ๆ รวมถึงไม่พบถ้อยคำใดในคำปราศรัยที่เป็นการยั่วยุ ส่วนจะมีถ้อยคำหยาบคายหรือไม่ พยานจำไม่ได้ แต่ทราบว่า คำว่า “กฎหมา ไม่ใช่กฎหมาย” จำเลยในคดีนี้ไม่ได้เป็นผู้กล่าว

ประชาชนที่มาให้กำลังใจ มีคนที่มาจากต่างจังหวัดด้วย อย่างวสันต์ จำเลยที่ 9 ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดขอนแก่นพร้อมกับจตุภัทร์ และไม่ได้ขึ้นปราศรัย การมาให้กำลังใจ หรือมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ถือเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและเป็นการกระทำที่อยู่ในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ

พยานไม่ทราบว่า สุไฮมี จำเลยที่ 10 เป็นนายกองค์การบริหารนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาหรือไม่ หรือเคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนหรือก่อความไม่สงบหรือไม่ ที่พยานเบิกความว่า สุไฮมีเกี่ยวข้องกับการแยกรัฐปาตานี พยานก็ไม่ได้มีการประสานงานเพื่อไปดำเนินคดี เนื่องจากเป็นเรื่องของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แต่ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 10 ไม่ได้กล่าวยุยงให้มีการแบ่งแยกราชอาณาจักรไทย

บุรินทร์รับว่า การรัฐประหารเป็นการทำลายประชาธิปไตย และการชุมนุมคัดค้านรัฐประหารเป็นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งถ้ามีข้อเท็จจริงมารองรับก็สามารถทำได้ ถือว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ แต่หากเป็นการปลุกระดม บิดเบือน ก็จะถูกดำเนินคดี

พยานรับด้วยว่า ประกาศ คสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเป็นกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ดังนั้น การปราศรัยว่า คสช. จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกจึงเป็นข้อเท็จจริง โดย คสช. มีการเรียกคนเข้าไปรายงานตัวและควบคุมตัวไว้ 7 วัน โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ไม่ต้องใช้อำนาจศาล พยานเห็นว่า แม้เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เป็นความจำเป็นของ คสช.

การปราศรัยของจำเลยในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติก็เป็นข้อเท็จจริง เนื่องจาก คสช. ก็มีการออกคำสั่งเรื่องป่าไม้ และมีการอนุญาตให้สร้างโรงงานหรือเหมืองแร่จริง แต่รัฐบาลดำเนินคดีกับผู้บุกรุกป่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทุนและผู้มีอิทธิพลเท่านั้น ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับชาวบ้าน 

พยานรับว่า ตามคำฟ้องที่มีการระบุว่า จำเลยไม่ยอมรับกฎหมาย ก็คือประกาศหรือคำสั่งของ คสช. ซึ่งไม่ได้ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ และไม่ได้มีการลงพระปรมาภิไธย เป็นการออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 44 ซึ่งระบุว่า การกระทำใด ๆ ของ คสช. ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา เนื่องจากเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ตามรัฐธรรมนูญ 2557 คสช. ยังสามารถใช้อำนาจเหนือฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ โดยเคยมีการปลดผู้ว่า กทม. แต่พยานไม่ได้ติดตามข่าวว่า มีการปลดอัยการสูงสุดด้วยหรือไม่ อำนาจตามรัฐธรรมนูญของ คสช. ไม่มีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ ทั้งไม่มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอนว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ชลธิชา จำเลยที่ 11 ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันเกิดเหตุเป็นผู้คอยเจรจากับเจ้าพนักงานตำรวจ และกำหนดวิถีทางของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวเป็นการแสดงออกโดยสันติวิธี

วันเกิดเหตุ พยานได้เข้าไปพูดคุยเจรจากับฝ่ายผู้ชุมนุมซึ่งเป็นทนายความว่า ตำรวจและทหารจะไม่เข้าจับกุมผู้ต้องหาในกลุ่มผู้ชุมนุม เพียงแต่ขอร้องว่าอย่าให้ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับมาแจ้งความเพราะจะถูกจับกุม

2 ทหาร เบิกความตรงกัน ‘พรชัย’ ปราศรัยอยู่ด้านนอก สน.ปทุมวัน – การชุมนุมสงบ ปราศจากอาวุธ

จ่าสิบเอกพิชัย ชุยรัมย์ และจ่าสิบเอกทองสา หลุมทอง ขณะเกิดเหตุสังกัดกองพันทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ เบิกความคล้ายคลึงกันว่า ทั้งสองได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามบุคคลเป้าหมายคือ พรชัย ยวนยี หรือจำเลยที่ 12 ในวันที่ 24 มิ.ย. 2558 ที่หน้า สน.ปทุมวัน เนื่องจากมีข้อมูลว่า พรชัยกับพวกจะเข้ามอบตัวตามหมายจับ

ในวันเกิดเหตุ พยานทั้งสองคนได้เข้าไปติดตามเฝ้าดูเป้าหมายที่บริเวณ สน. ปทุมวัน และพบจำเลยที่ 12 กับพวกอยู่บริเวณหน้า สน. พยานทั้งสองเบิกความตรงกันว่า จำเลยที่ 12 ไม่ได้เข้าไปใน สน. แต่มีการทำกิจกรรมและมีการขึ้นปราศรัยบริเวณด้านนอก สน.

หลังจากการชุมนุมยุติ พยานทั้งสองได้ขับรถจักรยานยนต์ติดตามจำเลยที่ 12 ซึ่งขึ้นรถยนต์ออกไป โดยตามไปจนถึงด่านเก็บเงิน ก่อนจำเลยที่ 12 จะขึ้นทางด่วนไป ซึ่งไม่สามารถติดตามต่อไปได้

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานทั้งสองคนรับว่า ได้รับคำสั่งให้ติดตามจำเลยที่ 12 เพียงคนเดียว โดยแต่งกายนอกเครื่องแบบ แฝงตัวเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเจ้าหน้าที่คนอื่นในหน่วยก็ได้รับคำสั่งให้ติดตามเป้าหมายรายอื่น แต่พยานไม่ทราบว่ามีทั้งหมดกี่คน ทั้งนี้ หลังรัฐประหารปี 2557 มีการชุมนุมคัดค้านรัฐประหาร พยานก็เคยได้รับคำสั่งให้เข้าไปแฝงตัวเพื่อรวบรวมข้อมูลในกลุ่มผู้ชุมนุม 

พยานจำไม่ได้ว่า พ.อ.บุรินทร์ได้เข้าเจรจากับผู้ชุมนุมหรือไม่ เนื่องจากเฝ้าติดตามแค่จำเลยที่ 12 เพียงคนเดียว และไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารมีการประชุมกันเพื่อที่จะจับผู้ต้องหาทั้ง 7 คนหรือไม่ 

ในวันเกิดเหตุไม่มีบุคคลใดพกอาวุธ ส่วนใหญ่เป็นการร้องเพลงให้กำลังใจ และประกาศจุดยืนของกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง หรือการทำร้ายร่างกายในที่ชุมนุม

พยานเข้าใจความแตกต่างระหว่าง ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘เผด็จการ’ และทราบว่าการยึดอำนาจเป็นความผิด ทั้งยังทราบว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

พยานจำไม่ได้ว่า จำเลยที่ 12 มาถึงที่เกิดเหตุในเวลาใด แต่งกายอย่างไร หรือมีรูปพรรณสัณฐานแบบไหน ก่อนวันเกิดเหตุผู้บังคับบัญชานำภาพของจำเลยที่ 12 มาให้ดูก่อนมีจะมีคำสั่งให้ติดตาม แต่พยานไม่ได้นำภาพถ่ายดังกล่าวส่งให้กับพนักงานสอบสวน

เมื่อทนายถามถึงการติดตามจำเลยที่ 12 ออกจากที่เกิดเหตุไป จ.ส.อ.พิชัย เบิกความว่า ตนขับรถจักรยานยนต์ติดตามจำเลยที่ 12 ไปเพียงคนเดียว ขณะที่ จ.ส.อ.ทองสา เบิกความตอบทนายว่า ตนนั่งซ้อนท้ายจักรยานยนต์ซึ่ง จ.ส.อ.พิชัย เป็นคนขับ ติดตามจำเลยที่ 12 ไปจนถึงด่านเก็บเงิน ก่อนขับกลับมาที่เกิดเหตุ 

ทหารอีก 2 นาย ที่เฝ้าสังเกตการณ์ชุมนุม – ติดตาม ‘โรม’ เบิกความขัดแย้งกันเรื่องพฤติการณ์ในการติดตาม แต่รับว่า การชุมนุมไม่มีเหตุรุนแรง

จ่าสิบเอกอดิเรก ปะมา และร้อยโทอุดมทรัพย์ ทิศรัมย์ สังกัดกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ เบิกความคล้ายคลึงกันว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558 พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปเฝ้าระวังเหตุการณ์บริเวณสน.ปทุมวัน ทราบว่าจะมีการชุมนุม แต่พยานไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นการชุมนุมเกี่ยวกับอะไร 

เมื่อพยานเดินทางไปถึงพบว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่บริเวณใกล้กับ สน.ปทุมวัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แผงเหล็กกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปใน สน. ส่วนกำลังทหารกระจายกำลังเฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณรอบนอก พยานจำไม่ได้ว่า ผู้ชุมนุมปราศรัยเรื่องอะไรบ้าง และไม่ทราบว่า คนที่ปราศรัยเป็นใคร หรือมาจากกลุ่มไหน

พยานไม่ได้รับคำสั่งให้เฝ้าติดตามใครเป็นพิเศษ เป็นการเฝ้าดูเหตุการณ์โดยรวม แต่ภายหลังยุติการชุมนุม พยานได้รับคำสั่งให้ติดตามรังสิมันต์ โรม พยานจึงเดินตามโรมไปจากหน้า สน.ปทุมวัน จนถึงป้ายรถประจำทาง จากนั้นโรมได้ขึ้นรถตู้ออกไปพร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุม พยานจึงได้ขับรถจักรยานยนต์ติดตามไปจนถึงมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป (สวนเงินมีมา)

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานทั้งสองระบุว่า ในช่วงกลางวันของวันเกิดเหตุ พยานยังไม่ได้รับคำสั่งให้ติดตามจับกุมบุคคลใด พยานไม่ทราบด้วยว่า มีใครบ้างที่ถูกดำเนินคดีหรือถูกออกหมายจับ พยานแค่ได้รับคำสั่งให้เข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อยในที่ชุมนุมเท่านั้น พยานเพิ่งจะทราบชื่อของกลุ่มผู้ชุมนุมต่าง ๆ จากผู้บังคับบัญชาก่อนที่จะไปให้การกับพนักงานสอบสวน 

ที่พยานให้การในชั้นสอบสวนว่า กลุ่มผู้ต้องหาตามหมายจับเป็นกลุ่มดาวดิน 7 คน รวมทั้งที่ระบุว่า มีการพูดคุยตกลงกันก่อนว่าจะไม่จับ เพราะอาจจะเกิดการลุกฮือต่อต้านของกลุ่มมวลชนนั้น พยานทราบข้อมูลจากรายงานเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพูดคุยแต่อย่างใด 

ในวันเกิดเหตุ มีแต่ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมและทนายความเข้าไปใน สน.ปทุมวัน ผู้ชุมนุมรออยู่ด้านนอก ร้องเพลงให้กำลังใจ ไม่ได้มีอาวุธ หรือเหตุการณ์รุนแรง 

พยานได้รับคำสั่งใ่ห้ติดตามดูว่าโรมไปทำกิจกรรมที่ไหนต่ออีกหรือไม่ ไม่มีคำสั่งให้จับกุม และพยานก็ไม่ทราบด้วยว่า มีหมายจับโรม

จ.ส.อ.อดิเรก กล่าวตอบทนายว่า ตนไม่เคยรู้จัก จ.ส.อ.พิชัย แต่รู้จักกับ จ.ส.อ.ทองสา เพราะเคยอยู่กองพันเดียวกัน ซึ่งในวันเกิดเหตุ จ.ส.อ.ทองสา ก็ไปปฏิบัติหน้าที่ชุดเดียวกับพยาน แต่ต่างคนต่างไป และพยานไม่ทราบว่า จ.ส.อ.ทองสา มีหน้าที่รับผิดชอบติดตามบุคคลใด 

จ.ส.อ.อดิเรก กล่าวต่อว่า หลังยุติการชุมนุม พยานติดตามโรมออกจากพื้นที่ และขับรถจักรยานยนต์ติดตามไปจนรถตู้ขับขึ้นทางด่วน พยานจึงเปลี่ยนไปเป็นนั่งรถแท็กซี่ติดตามไป โดยให้ จ.ส.อ.ทองสา ขับรถจักรยานยนต์กลับคนเดียว พยานจำไม่ได้ว่า รถแท็กซี่ที่พยานขึ้นสีอะไร ทะเบียนอะไร และจำไม่ได้ด้วยว่า ขึ้นทางด่วนที่ด่านไหน คนที่นั่งแท็กซี่ไปด้วยคือ จ.ส.ต.เอนก มายูน 

ด้าน ร.ท.อุดมทรัพย์ กล่าวตอบทนายจำเลยว่า ขณะพยานยืนสังเกตการณ์อยู่กับตำรวจอีก 2-3 คน พยานเห็นโรมยืนอยู่ที่ป้ายรถประจำทางภายหลังจากยุติการชุมนุม จนเมื่อโรมขึ้นรถตู้ออกไป พยานจึงได้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของตำรวจติดตามไป แต่จำไม่ได้ว่า ใครเป็นผู้ขับ เมื่อไปถึงที่หมาย พยานเฝ้าดูเหตุการณ์อยู่กับ ส.อ.อดิเรก, ส.ท.เอนก (ยศขณะนั้น) และตำรวจอีก 1 นาย จนถึงเวลาประมาณ 01.00 – 02.00 น. ก่อนที่จะมีคนมาสับเปลี่ยน 

อย่างไรก็ตาม อัยการถามติง จ.ส.อ.อดิเรก โดยระบุว่า บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของพยานไม่ปรากฏชื่อ จ.ส.อ.ทองสา ซึ่ง จ.ส.อ.อดิเรก ขอยืนยันตามบันทึกคำให้การดังกล่าว

สารวัตรงานข่าว จชต. ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวกลุ่ม PerMAS รับ ไม่พบภาพ “สุไฮมี” ในที่เกิดเหตุ – ไม่ทราบเนื้อหาการปราศรัย ทั้งไม่พบ PerMas มีประวัติใช้ความรุนแรง

พันตำรวจโททวี จีนเมือง สารวัตรงานการข่าว ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า กองบังคับการสืบสวนสอบสวนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (บก.สส.จชต.) เบิกความว่า บก.สส.จชต. มีหน้าที่ในการรวบรวมข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2547-ปัจจุบัน

เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อปี 2558 พบว่ามีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้บังคับบัญชาจึงได้มอบหมายให้พยานรวบรวมข้อมูลกลุ่มเคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนใต้ โดยในช่วงเกิดเหตุพบความเคลื่อนไหวของกลุ่ม PerMAS เป็นกลุ่มองค์กรนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้

พยานได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ด้วย โดยกลุ่มมีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2551 และในปี 2558 มีสุไฮมี ดูละสะ หรือจำเลยที่ 10 เป็นประธาน มีวัตถุประสงค์ในการเตรียมมวลชนเพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีการใช้คำพูดว่า ‘กำหนดชะตากรรมตนเอง’ เพื่อสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ว่า ปาตานีเคยเป็นอาณาจักรปกครองตนเองมาก่อน แต่ภายหลังถูกสยามผนวกรวมเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ด้วยเอกลักษณ์และภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ปาตานีจึงมีสิทธิที่จะกำหนดชะตากรรมของตนเอง เพื่อนำไปสู่เอกราชด้วยการแบ่งแยกดินแดน จัดตั้งรัฐใหม่ และปกครองตนเอง

กิจกรรมของกลุ่ม PerMAS จะมีการจัดเวทีเสวนาหรือวงพูดคุยกับมวลชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยส่วนใหญ่จะหยิบยกเรื่องการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในพื้นที่มาเป็นหัวข้อในการพูดคุย 

PerMAS ยังมีการเคลื่อนไหวร่วมกับนักศึกษากลุ่มดาวดินในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงปัญหาทางการเมืองและด้านทรัพยากร ไม่พบว่ากลุ่ม PerMAS มีการใช้ความรุนแรงทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ เป็นเพียงการรวมตัวกันเพื่อต่อต้านการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ, การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อทำลายความชอบธรรมในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นในอำนาจรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

พยานกล่าวว่า ในพื้นที่ยังไม่ได้มีการดำเนินคดีกับกลุ่ม PerMAS แต่การจัดกิจกรรมชุมนุมมีความล่อแหลมต่อการละเมิดกฎหมาย ผู้บังคับบัญชาจึงได้เชิญจำเลยที่ 10 และกลุ่ม PerMAS มาพูดคุยปรับความเข้าใจ

พยานไม่ทราบรายละเอียดการปราศรัยของจำเลยที่ 10 ในวันเกิดเหตุ และภาพถ่ายที่อัยการให้ดูก็เป็นเพียงภาพสมาชิกกลุ่ม PerMAS ที่ร่วมกิจกรรม แต่ไม่ปรากฏจำเลยที่ 10 อยู่ในภาพแต่อย่างใด

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.ทวี ยอมรับว่า สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองเป็นสิทธิที่บัญญัติรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 1 รวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แต่ประเทศไทยมีการตั้งข้อสงวนไว้ว่า สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองต้องไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน นอกจากนี้ สิทธิในการแสดงออกและสิทธิในการชุมนุมโดยสงบก็ได้รับการรับรองด้วย

กฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ กฎอัยการศึก, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พยานยอมรับว่า การเรียกร้องของนักศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ขาดข้อมูลและข้อเท็จจริงครบถ้วน เช่น กรณีการซ้อมทรมาน มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงเพียงบางส่วน หากมีการร้องเรียนเข้ามา 10 เรื่อง จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง 1 เรื่อง เหตุการณ์ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดได้ถูกลงโทษไปแล้ว แต่มีการหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นวาทกรรมโจมตีรัฐไทย

พยานได้ระบุในเอกสารไว้ว่า ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 10 ได้ไปให้กำลังใจนักศึกษาที่ถูกเรียกให้ไปรายงานตัว ซึ่งมีสมาชิกกลุ่ม PerMAS ด้วย แต่พยานไม่ทราบว่าในวันนั้นจะมีเนื้อหาการปราศรัยอย่างไรบ้าง เนื่องจากไม่ได้เดินทางมาฟังคำปราศรัยด้วยตนเอง

จำเลยที่ 10 เป็นนักศึกษาและเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รวมทั้งเป็นกรรมการฝ่ายนิเทศสัมพันธ์ ของ PerMAS ด้วย วัตถุประสงค์ของกลุ่ม PerMAS มีเพียงด้านประชาชนและด้านการศึกษา ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการแบ่งแยกดินแดน การจัดกิจกรรมส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าสังเกตการณ์ได้ แต่มีบางกิจกรรมที่จัดในพื้นที่ปิด และเจ้าหน้าที่รัฐมาทราบภายหลัง  

พยานรับกับทนายว่า การเสียชีวิตของโต๊ะอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่ อ.รือเสาะ เป็นการเสียชีวิตขณะอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ และทราบว่ามีการลงโทษเจ้าหน้าที่จากเหตุดังกล่าวแล้ว ส่วนสาเหตุของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พยานเห็นว่า เกิดจากเจ้าหน้าที่บางส่วนที่บังคับใช้กฎหมายอย่างมีการละเมิดกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่ยังคงปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมาย

จำเลยที่ 10 เคยลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ปัตตานี สังกัดพรรคเป็นธรรม ในการเลือกตั้งปี 2566 ที่เพิ่งผ่านมาด้วย

สันติบาล-ชุดสืบสวนระบุ จำเลยเป็นกลุ่มต่อต้าน คสช. เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย การชุมนุมวันเกิดเหตุเป็นไปโดยสันติ ไม่มีความวุ่นวาย

พันตำรวจเอกสุรศักดิ์ เลิศไกร ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 มีหน้าที่ดูแลการข่าวด้านความมั่นคงใน กทม. เบิกความว่า พยานเป็นหัวหน้าชุดติดตามกลุ่มที่เคลื่อนไหวเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงในกรุงเทพฯ 

วันที่ 24 มิ.ย. 2558 มีประชาชนรวมตัวกันที่บริเวณ สน.ปทุมวัน เพื่อจัดกิจกรรมแสดงออกว่า ไม่ยอมรับหมายจับ จากกรณีการจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 โดยกลุ่มที่มาเคลื่อนไหวคือกลุ่มนักศึกษา เท่าที่ทราบมีจำเลยที่ 1, จำเลยที่ 11 และโรม 

หลังจากนั้นพยานได้ทำรายงานการสืบสวนและพิสูจน์ทราบตัวบุคคลเสนอผู้บังคับบัญชา โดยพบว่า บุคคลที่เข้าร่วมชุมนุมเป็นกลุ่มแกนนำนักศึกษาที่ต่อต้าน คสช. ตั้งแต่ปี 2557 กิจกรรมที่หน้า สน.ปทุมวัน มีการปราศรัยไม่ยอมรับหมายจับและไม่ยอมรับอำนาจรัฐบาล คสช. รวมถึงต่อต้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ 

กลุ่มดังกล่าวเป็นนักศึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค มีการใช้ชื่อเรียกว่า “กลุ่มส่วนกลาง” และ “กลุ่มดาวดิน” ซึ่งเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งสองกลุ่มเคลื่อนไหวร่วมกับโรมและไผ่มาก่อน 

หลังเกิดเหตุพยานได้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ซึ่งต่อมามีการประกาศตัวเป็นกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง รวมทั้งรณรงค์ให้รัฐบาล คสช. คืนอำนาจให้ประชาชน และจัดให้มีการเลือกตั้ง ในนามกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในเวลาต่อมา

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.อ.สุรศักดิ์ ยอมรับว่า กลุ่มนักศึกษาดังกล่าวเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ โดยขณะเกิดเหตุยังไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญและกำหนดวันเลือกตั้ง

ในวันเกิดเหตุ พยานพร้อมกับชุดของพยานอีก 5 คน ไปถึงที่เกิดเหตุประมาณ 13.00-14.00 น. โดยแต่งกายนอกเครื่องแบบ ภารกิจหลักคือรักษาความสงบเรียบร้อยในที่ชุมนุม หน้า สน.ปทุมวัน ตำรวจนำแผงเหล็กมากั้น มีบุคคลชุมนุมอยู่ประมาณ 100-200 คน พยานอยู่ปะปนกับประชาชนบริเวณด้านนอก และไม่ทราบว่ามีการเจรจากันระหว่างนักศึกษากับตำรวจหรือไม่

พยานพบ เกศริน เตียวสกุล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสุณัย ผาสุข ผู้แทนจาก Human Rights Watch ซึ่งเป็นองค์กรที่เฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชน อยู่ในที่ชุมนุมด้วย คนที่ไปชุมนุมส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับแนวทางและไปให้กำลังใจนักศึกษา มีการร้องเพลงเพื่อชีวิตและมอบดอกไม้ ซึ่งเป็นแนวทางสันติวิธี ไม่มีการใช้ความรุนแรงหรือยั่วยุ และไม่มีความวุ่นวาย ชุดของพยานมีการบันทึกภาพเหตุการณ์ แต่ไม่ได้บันทึกเป็นวิดีโอ 

พยานได้ส่งเอกสารให้พนักงานสอบสวน 3 ชุด เท่าที่จำได้ไม่มีคลิปและบันทึกการถอดเทปคำปราศรัย และพยานไม่สามารถยืนยันได้ว่าบุคคลใดพูดอะไรบ้าง

พยานรับว่า หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งแล้ว กลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวดังกล่าวก็ไม่มีการจัดกิจกรรมชุมนุมเรียกร้องใด ๆ อีก พยานยอมรับด้วยว่า กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากร และการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ไม่เป็นภัยแก่ความมั่นคง ชลธิชา จำเลยที่ 11 ซึ่งเป็นนักศึกษาในขณะนั้น ปัจจุบันก็ได้รับการเลือกตั้งเป็น สส.พรรคก้าวไกล

พันตำรวจเอกยุทธนา จาตุรัตน์ ขณะเกิดเหตุ รับราชการอยู่กองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สรุปรวบรวมข้อมูลด้านความมั่นคงเกี่ยวกับผู้ชุมนุม โดยพยานได้จัดทำเป็นรายงานการสืบสวนและไทม์ไลน์ของกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่ปี 2558-2562

จากการวบรวมข้อมูลพบว่า กลุ่มของรังสิมันต์ โรม เคลื่อนไหวตั้งแต่ 22 พ.ค. 2558 ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ หลังเหตุการณ์ สน.ปทุมวัน ได้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในวันดังกล่าว มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหา และออกหมายจับในเวลาต่อมา จากนั้น วันที่ 24 มิ.ย. 2558 มีกลุ่มมวลชนมาชุมนุมปราศรัยที่หน้า สน.ปทุมวัน โดยฝ่ายสืบสวนได้จัดชุดเพื่อจับกุมผู้ต้องหาตามที่ถูกออกหมายจับไว้ และสามารถจับกุมตัวได้ 1 คน ที่เหลือหลบหนี

ต่อมา พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้กล่าวหา ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่พาโรมและผู้ต้องหาอีกหลายคนหลบหนีในวันเกิดเหตุ รวมทั้งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ด้วย

พยานรับว่า กิจกรรมที่จัดในปี 2558 เป็นการคัดค้านการรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งถูกดำเนินคดีจำนวน 3 คดี ส่วนปี 2561 มี 4 คดี โดยพยานเป็นคนรวบรวมข้อมูลส่งมอบให้กับพนักงานสอบสวน

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานยอมรับว่า ในวันเกิดเหตุพยานไม่ได้ลงพื้นที่รวบรวมพยานหลักฐานด้วยตนเอง เพิ่งได้รับคำสั่งในปี 2562 ให้รวบรวมข้อมูล พยานจึงรวบรวมข้อมูลจากสำนวนคดีต่าง ๆ 

พยานทราบว่า ผู้ต้องหาตามหมายจับได้ยื่นหนังสือถึงพนักงานสอบสวน ขอเลื่อนวันเข้าพบจากวันที่ 22 มิ.ย. 2558 เป็นวันที่ 24 มิ.ย. 2558 แต่พนักงานสอบสวนกลับไปขอศาลทหารออกหมายจับแทน เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2558

การชุมนุมในวันเกิดเหตุโดยภาพไม่มีการใช้ความรุนแรง เป็นการเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ และข้อเรียกร้องเป็นไปตามกฎหมาย

พยานทราบด้วยว่า คดีของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ซึ่งมีรังสิมันต์ โรม, ชลธิชา จำเลยที่ 11, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว และณัฏฐา มหัทธนา เป็นจำเลยในข้อหาตามมาตรา 116 เช่นเดียวกับคดีนี้ และมี พ.อ.บุรินทร์ เป็นคนแจ้งความเช่นเดียวกันนั้น ศาลก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว 

หลังจากมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2562 กลุ่มคนดังกล่าวก็ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องอะไรอีก กลุ่มคนเหล่านี้เป็นนักศึกษาที่มีความคิดรักประชาธิปไตย บางคนได้รับเลือกตั้งเป็น สส. และในทางสืบสวนไม่เคยมีประวัติอาชญากรหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

ภาพโดย Panida Boonthep

รอง ผกก.สอบสวน เบิกความ จากการสอบปากคำตำรวจที่อยู่ในที่ชุมนุม ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดตาม ม.116

รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.ปทุมวัน ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ได้เข้าแจ้งความเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2558 เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งเป็นคดีสำคัญ พยานในฐานะหัวหน้างานสอบสวนจึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการสอบสวน

ต่อมาพยานได้สอบปากคำ พ.อ.บุรินทร์ ผู้กล่าวหา, ร.อ.สุดเขตต์ แคล้วภัย ผู้รวบรวมข้อมูลการสืบสวน,  พ.ต.อ.สุรศักดิ์ สันติบาล, พ.ต.ท.ทวี สารวัตรงานการข่าว และทหารที่แฝงตัวปะปนกับผู้ชุมนุม แต่เนื่องจากพยานได้เลื่อนตำแหน่ง จึงส่งมอบสำนวนให้พนักงานสอบสวนรายอื่นต่อไป โดยยังไม่ได้ทำความเห็นทางคดี 

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานกล่าวว่า เคยออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหากรณีชุมนุมหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 มาพบ ก่อนขอศาลทหารกรุงเทพฯ ออกหมายจับในวันที่ 22 มิ.ย. 2558 เนื่องจากพยานเห็นว่าคำร้องที่ผู้ต้องหาขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวนนั้นไม่สมเหตุสมผล 

มีเพียง ชาติชาย แกดำ เข้าพบพนักงานสอบสวนเพียงคนเดียวในวันที่ 22 มิ.ย. 2558 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาและนำตัวไปที่ศาลทหารเพื่อขอฝากขัง ส่วนคนที่ไม่มาตามหมายเรียกก็ขอออกหมายจับในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน

ในวันเกิดเหตุ พยานได้ออกไปพูดคุยเจรจากับจำเลยบางส่วนเกี่ยวกับหนังสือขอเลื่อนและการออกหมายจับโดยไม่ชอบ รวมทั้งการเข้าแจ้งความตำรวจที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 พยานไม่เห็น พ.อ.บุรินทร์ เข้าเจรจาด้วย และไม่ทราบว่า พ.อ.บุรินทร์ มีการพูดคุยอะไรกับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ พยานจำไม่ได้ด้วยว่า พ.อ.บุรินทร์ ได้ให้การชั้นสอบสวนว่า มีการเจรจากับผู้ชุมนุมว่าจะไม่มีการจับกุม หรือไม่

พยานเจรจาให้ผู้ต้องหาเข้ามอบตัวแล้ววันรุ่งขึ้นจะนำไปฝากขังที่ศาล และศาลอาจจะปล่อยตัวชั่วคราว แต่กลุ่มผู้ต้องหาต้องการให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันนั้น ซึ่งพยานไม่สามารถทำได้ 

ด้วยความที่มวลชนมีจำนวนมาก ตำรวจจึงขอให้ส่งตัวแทนเข้าไปแจ้งความ ส่วนมวลชนให้รออยู่หน้า สน. หลังลงบันทึกประจำวันรับแจ้งความไว้ การชุมนุมก็ยุติ ไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายใด ๆ ในวันนั้นไม่มีการจับกุมผู้กระทำความผิด และไม่พบว่ามีบุคคลใดพกพาอาวุธ รวมทั้งไม่มีการดำเนินคดีข้อหาชุมนุมขัดขืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 

กลุ่มที่มาชุมนุมในวันเกิดเหตุมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร โดยเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้ง นอกจากกลุ่มนี้ก็ยังมีกลุ่มอื่นที่ออกมาชุมนุมคัดค้านรัฐประหารด้วย

เอกสารข้อปฏิบัติ 7 ข้อของกลุ่มต่อต้าน คสช. ที่ พ.อ.บุรินทร์นำมามอบให้พยาน ไม่ปรากฏชื่อผู้จัดทำ เป็นการสรุปของการข่าวฝ่ายทหาร เนื้อหาของเอกสารไม่ได้ระบุว่าเป็นกลุ่มใด และไม่ได้ระบุถึงจำเลยทั้ง 13 คน 

พยานได้สอบปากคำ ร.ท.อุดมทรัพย์, จ.ส.อ.พิชัย และ จ.ส.อ.ทองสา ในชั้นสอบสวนและจัดทำบันทึกคำให้การไว้ แต่ไม่ปรากฎคำให้การของพยานทั้งสามปากในเอกสารที่โจทก์อ้างส่งต่อศาล ทั้งนี้ ทั้งสามได้ให้การกับพยานว่า ได้ซ้อนรถจักรยานยนต์ติดตามโรมไป แต่พยานจำรายละเอียดไม่ได้ว่าทั้งสามคนระบุว่า ใครเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ และไม่แน่ใจว่าทั้งสามได้ถ่ายภาพขณะติดตามโรมไปหรือไม่ แต่ในชั้นสอบสวนไม่ได้มีการชี้ตัวจำเลย

ตำรวจที่ไปสังเกตการณ์ในวันเกิดเหตุให้การในชั้นสอบสวนโดยมุ่งเน้นไปที่ผู้ต้องหาในคดีนี้พาผู้ต้องหาตามหมายจับหลบหนี แต่ไม่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามมาตรา 116 พ.อ.บุรินทร์ ก็แจ้งความในปี 2558 ให้ดำเนินคดีธนาธรและสุลักษณ์เฉพาะข้อหาช่วยผู้ต้องหาหลบหนีเท่านั้น พยานจึงสอบสวนเฉพาะประเด็นดังกล่าว และในขณะที่พยานรับผิดชอบสำนวนยังไม่มีการร้องทุกข์ดำเนินคดีในความผิดตามมาตรา 116

พยานทราบว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีได้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความเห็นไว้ ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องนำมาประกอบการพิจารณาในชั้นสอบสวนด้วย 

ตามรายงานการสืบสวน ปรากฏภาพที่พยานคิดว่าเป็น สุไฮมี จำเลยที่ 10 โดยมีบุคคลที่ถูกออกหมายจับยืนอยู่ด้านหลัง ซึ่งพยานเห็นว่า เป็นพฤติการณ์ในการขัดขวางไม่ให้ตำรวจเข้าจับกุมบุคคลตามหมายจับ นอกจากนี้ ยังปรากฏภาพขณะจำเลยที่ 10 ปราศรัย แต่พยานเห็นว่า คำปราศรัยไม่ใช่คำพูดที่ยั่วยุให้ประชาชนเกิดความกระด้างกระเดื่อง

ในวันเกิดเหตุพยานไม่ได้ให้คำมั่นกับจำเลยว่าจะไม่มีการจับกุม โดยได้มีการสั่งการไว้ว่า เมื่อยุติการชุมนุมแล้ว ให้ติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ แต่พยานไม่เห็นตำรวจติดตามจับกุม และพยานก็ไม่ได้เรียกตำรวจฝ่ายสืบสวนและปราบปรามมาสอบว่า มีการติดตามจับกุมหรือไม่

พยานหลักฐานที่พยานรวบรวมไม่มีบันทึกการถอดเทปคำปราศรัย ส่วนภาพเคลื่อนไหวทั้งหมดที่ได้รับมาก็เป็นพยานหลักฐานในข้อหาช่วยพาผู้ต้องหาหลบหนี แต่ไม่ได้แจ้งข้อหานี้กับจำเลยในคดีนี้

ขณะเกิดเหตุ พ.ต.อ.จารุต ศรุตยาพร ผู้กำกับการ สน.ปทุมวัน เป็นผู้ควบคุมสั่งการเหตุการณ์ แต่พยานไม่ได้สอบปากคำ พ.ต.อ.จารุต ไว้เป็นพยาน

พนักงานสอบสวนเบิกความ เชื่อว่าจำเลยปราศรัยยุยงให้ตำรวจเข้าจับ จึงเห็นควรสั่งฟ้องตาม ม.116 แม้ พ.อ.บุรินทร์ แจ้งความให้ดำเนินคดี ม.215 เท่านั้น

พันตำรวจโทเจริญสิทธิ จงอิทธิ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ปทุมวัน เบิกความว่า ในปี 2562 พยานได้รับมอบหมายให้เป็นพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมในคดีนี้ โดยรับสำนวนต่อจาก พ.ต.ท.รุ่งโรจน์ หัวหน้างานสอบสวน 

พ.อ.บุรินทร์ ผู้รับมอบอำนาจจาก คสช. ได้มาให้การเพิ่มเติมกับพยาน โดยระบุให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตามหมายจับ 7 คน และกลุ่มดาวดินอีก 7 คน รวมถึงสุไฮมี ประธานกลุ่ม PerMAS ที่ขึ้นปราศรัยเรียกร้องประชาธิปไตยในวันเกิดเหตุ โดยได้มอบคลิปวิดีโอและบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยให้กับพยานด้วย

พยานได้เรียกตำรวจมาสอบสวนเพิ่มเติมจำนวน 3 ปาก ได้แก่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ เลิศไกร, พ.ต.ท.ทวี จีนเมือง และ พ.ต.ท.ยุทธนา จาตุรัตน์ (ยศขณะนั้น) 

จากการรวบรวมพยานหลักฐาน พยานเห็นว่ามีการกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา จึงมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาจำนวน 17 คน ซึ่งรวมถึงจำเลยทั้ง 13 มาแจ้งข้อกล่าวหา และสอบคำให้การ จำเลยทั้ง 13 คน ให้การปฏิเสธ พยานได้ตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติอาชญากรรมของแต่ละคน พบว่า นอกจากสุไฮมี ทุกคนมีประวัติเคยถูกดำเนินคดี ส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง

พยานเชื่อว่า ในวันเกิดเหตุมีการปราศรัย และมีการยุยงให้ตำรวจเข้ามาจับ จึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 13 คน

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า คดีนี้มีมูลเหตุสืบเนื่องมาจากกิจกรรมหน้าหอศิลป์ กทม. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่า มีการสลายการชุมนุมและควบคุมตัวนักศึกษากว่า 30 คน ไปยัง สน.ปทุมวัน ก่อนปล่อยตัวโดยไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา มีเพียงการลงบันทึกประจำวันไว้เท่านั้น

วันเกิดเหตุพยานอยู่ใน สน.ปทุมวัน ทราบว่ามีตำรวจเข้าไปพูดคุยกับทนายของผู้ต้องหา แต่ไม่ทราบว่าคุยเรื่องอะไร และไม่ทราบว่ามีกลุ่มนักศึกษาเข้ามาแจ้งความเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 หรือไม่ แต่หลังจากทนายจำเลยให้ดูภาพ พยานรับว่ามีตัวแทนกลุ่มนักศึกษาและทนายความเข้าแจ้งความ เมื่อเสร็จแล้วก็ทยอยออกจาก สน. ปทุมวัน เหตุการณ์เป็นไปด้วยความปกติ ไม่มีความรุนแรงหรือความวุ่นวาย

พยานไม่ทราบว่า ผู้ต้องหา 7 คน ได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ทนายจำเลยให้พยานดูหนังสือขอเลื่อนลงวันที่ 17 มิ.ย. 2558 พยานกล่าวว่า ผู้ที่ลงชื่อรับหนังสือไม่ใช่พยาน จึงไม่ขอรับรองเอกสารดังกล่าว

ในครั้งแรกที่ พ.อ.บุรินทร์ มาแจ้งความ ไม่ได้มีการระบุตัวผู้ต้องหา แต่ให้รายละเอียดว่า มีรถ 5 คัน พาผู้ต้องหาหลบหนี ซึ่งภายหลังมีการระบุชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นบุคคลที่พาหลบหนี ทั้งนี้ ยังไม่ได้มีการดำเนินคดีเจ้าของรถอีก 4 คัน อย่างไรก็ตาม พ.อ.บุรินทร์ได้แจ้งความให้ดำเนินคดีเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 เท่านั้น ไม่มีมาตรา 116

พยานสอบปากคำ พ.อ.บุรินทร์ เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรา 215 บันทึกคำให้การของ พ.อ.บุรินทร์ ระบุว่า ได้มอบคลิปเหตุการณ์และบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยให้พนักงานสอบสวน แต่ในสำนวนการสอบสวนไม่มีบันทึกการถอดเทป และ พ.อ.บุรินทร์ ให้การถึงคำปราศรัยโดยรวมของกลุ่มผู้ชุมนุมเท่านั้นว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับผลกระทบจากการรัฐประหาร และการออกหมายจับนักกิจกรรม

พ.ต.ท.ยุทธนา จัดทำรายงานการเคลื่อนไหวทางการเมืองของผู้ชุมนุม หลังจาก พ.อ.บุรินทร์ มาแจ้งความเพิ่มเติมเมื่อปี 2562 โดยระบุว่า พ.อ.บุรินทร์ มาร้องทุกข์เพิ่มเติมในความผิดฐานเป็นหัวหน้าผู้สั่งการตามมาตรา 215 

มีการมาแจ้งความเพิ่มเติมให้ดำเนินคดีกับสุไฮมี จำเลยที่ 10 เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2562 ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการร้องทุกข์เกี่ยวกับจำเลยที่ 10 มาก่อน

ในปี 2561 กลุ่มของรังสิมันต์ชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งต่อมา พ.อ.บุรินทร์ ได้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำในความผิดตามมาตรา 116 โดยศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว 3 คดี 

คดีนี้พยานพิจารณามีคำสั่งทางคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงจาก พ.อ.บุรินทร์ และ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ เป็นหลัก

พยานรับกับทนายจำเลยว่า กลุ่มนักศึกษาที่มา สน.ปทุมวัน ในวันเกิดเหตุนั้น ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและการทำงานของ คสช. ซึ่งขัดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีต่ออำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ขณะเกิดเหตุ หัวหน้า คสช. ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 โดยมาตรา 44 บัญญัติให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจสั่งการทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดย พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. เคยปลดหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ ผู้ว่า กทม. ที่มาจากการเลือกตั้ง ปลดอัยการสูงสุด รวมถึงกรรมการปฏิรูปกฎหมายมาแล้ว

ทนายจำเลยถามว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการก้าวล่วงอำนาจทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งเป็นมูลเหตุให้ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ

พยานทราบจากคลิปเหตุการณ์ว่า ในวันเกิดเหตุ กลุ่มนักศึกษามีการร้องเพลง พยานไม่ทราบเนื้อหาโดยละเอียด แต่เห็นว่า ไม่ใช่เพลงที่ร้องแล้วยั่วยุหรือยุยงให้เกิดความวุ่นวาย ในภาพเหตุการณ์ยังปรากฏภาพของสุณัย ผาสุข เจ้าหน้าที่องค์กรสิทธิมนุษยชน อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย

พ.ต.ท.เจริญสิทธิ ตอบอัยการถามติง โดยยืนยันว่า แม้ว่าตามเอกสารการแจ้งความ พ.อ.บุรินทร์ ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 215 แต่ในหนังสือมอบอำนาจให้แจ้งความนั้นมีข้อความที่เป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 ด้วย

ภาพโดย Autchara Thongsawat 

ตัวแทน HRW ผู้สังเกตการณ์ ยืนยัน เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากความรุนแรง อยู่ในกรอบกติกาสากล

สุณัย ผาสุข นักวิจัยอาวุโส องค์กร Human Rights Watch เบิกความในฐานะพยานจำเลยว่มีหน้าที่ตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและจัดทำรายงานเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ และนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาของสหประชาชาติ หรือ UN และรายงานที่จัดทำก็จัดส่งให้กับ UN ด้วย

Human Rights Watch เป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งตั้งอยู่ในมากกว่า 90 ประเทศ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น และเคยมีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทยเมื่อปี 2554 แต่เมื่อมีการรัฐประหารในปี 2557 ก็มีเจ้าหน้าที่ของ คสช. เข้ามาแจ้งให้ปิดสำนักงานแบบลับ ๆ แต่ยังทำงานต่อไปได้

หลังเรียนจบจากสหราชอาณาจักร พยานได้ไปสอนเป็นอาจารย์ด้านสิทธิมนุษยชนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับเชิญให้ไปบรรยายในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งยังเคยเป็นคณะกรรมาธิการของรัฐสภาเป็นเวลาประมาณ 9 ปี 

Human Rights Watch มีจุดยืนว่า การรัฐประหารและการประกาศกฎอัยการศึก เป็นการริดรอนสิทธิมนุษยชน โดยยึดตามหลักการของกติกาสากลระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 พยานได้รับแจ้งว่าจะมีการจัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร ที่บริเวณหน้าหอศิลป์ กทม. พยานจึงไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง ได้เห็นเหตุการณ์สลายการชุมนุม มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ และมีผู้ถูกควบคุมตัวไปยัง สน.ปทุมวัน ประมาณ 30 คน โดยพยานขึ้นรถไปกับตำรวจด้วย ในคืนนั้นมีการสอบประวัติผู้ที่ถูกควบคุมตัว และปล่อยตัวกลับ โดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา

ต่อมา วันที่ 24 มิ.ย. 2558 พยานทราบในช่วงเช้าจากกลุ่มไลน์สื่อมวลชนและกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนว่า จะมีการไปแจ้งความร้องทุกข์จากเหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค. 2558 พยานจึงไปสังเกตการณ์ โดยไปถึงที่เกิดเหตุประมาณ 12.00 น. และได้พบกับเกศริน เตียวสกุล ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ในช่วงบ่าย 

เมื่อพยานไปถึงที่เกิดเหตุ พบแผงเหล็กกั้นด้านหน้าและด้านข้าง สน.ปทุมวัน พร้อมทั้งมีตำรวจตั้งแถวกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปด้านใน สน. พ.อ.บุรินทร์ มาเจรจากับผู้ชุมนุม โดยมีเกศรินเข้าร่วมด้วย มีข้อสรุปว่า ให้ส่งตัวแทนเข้าไปแจ้งความ 7 คน พยานจำไม่ได้ว่าเป็นใครบ้าง แต่มีทั้งกลุ่มนักศึกษา, เกศริน และทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส 

พยานจำได้ว่า รังสิมันต์ไม่ได้เข้าไปในโรงพัก แต่ทำกิจกรรมอยู่ข้างนอก ผู้ชุมนุมผลัดกันขึ้นเวทีปราศรัยบนเวทีเต้นแอโรบิคที่ตลาดสามย่าน โดยใช้โทรโข่ง 1 อัน เนื้อหาเกี่ยวกับกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 การถูกดำเนินคดีและต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งผิดหลักสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องประชาธิปไตย มีการเล่นดนตรีสลับ ส่วนมวลชนก็ปรบมือเชียร์ 

พยานกล่าวว่า จุดประสงค์หลักที่เข้าไปสังเกตการณ์คือไปดูว่าเจ้าหน้าที่ยอมให้เข้าไปแจ้งความหรือไม่ หลังจากมีการแจ้งความแล้ว และเหตุการณ์ปกติ ไม่มีความรุนแรง พยานจึงเดินทางกลับในเวลาประมาณ 21.00 น. 

ตามความเห็นของพยาน การชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากการใช้ความรุนแรง อยู่ในกรอบการใช้เสรีภาพตามพันธกรณีระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 

การที่ คสช. ออกประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร เป็นประเด็นที่ Human Rights Watch และองค์การสหประชาชาติวิจารณ์ว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และได้มีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จนในสุดท้าย คสช. ก็รับฟังและมีคำสั่งยกเลิกให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร

ส่วนเรื่องสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พยานเคยเขียนรายงานวิจัยให้กับกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภา และได้ไปบรรยายประเด็นดังกล่าวให้กับนักศึกษาสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งพบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนใช้ความรุนแรงนอกกรอบกฎหมาย ผู้ต้องสงสัยถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร มีการทำร้ายร่างกายระหว่างสอบปากคำ มีการทรมานในเรือนจำ โดยไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้

พยานเคยพบสุไฮมี จำเลยที่ 10 ในงานเสวนาทางสิทธิมนุษยชนที่กรุงเทพฯ ซึ่งงานเสวนาดังกล่าวเป็นการพูดคุยเรื่องสถานการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตย และการเรียกร้องเสรีภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พยานยืนยันว่า กลุ่ม PerMAS พูดสิทธิถึงในการกำหนดเจตจำนงตนเองในกรอบของการเรียกร้องประชาธิปไตย และเป็นองค์ประกอบของสันติภาพ แต่ไม่ได้ผลักดันให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน

สิทธิในการกำหนดเจตจำนงตนเองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นการรับรองให้แบ่งแยกดินแดน แต่เป็นการรับรองให้บุคคลสามารถแสดงอัตลักษณ์ทางภาษา หรือศาสนา การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ก็เป็นการตัวอย่างของการกำหนดเจตจำนงตนเอง 

สุณัยตอบอัยการถามค้านว่า จำเลยทั้ง 13 คน มักจะรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงปี 2557 – 2558 เพื่อต่อต้านรัฐประหารและการใช้อำนาจของ คสช. และไม่ยอมรับคำสั่งที่ออกมาจาก คสช.

พยานทราบว่า แกนนำ 7 คน ถูกออกหมายเรียกแล้วไม่ได้เข้าไปรายงานตัว จึงถูกศาลทหารออกหมายจับ 

ในวันเกิดเหตุมีผู้ชุมนุมไม่เกิน 300 คน พยานไม่ได้มีการบันทึกภาพไว้ แต่เป็นการสังเกตการณ์และเขียนจดบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

พยานตอบทนายจำเลยถามติงอีกว่า เหตุที่กลุ่มนักศึกษาไม่ยอมรับอำนาจของ คสช. เนื่องจากเป็นอำนาจที่ได้มาโดยการรัฐประหาร ไม่มีความชอบธรรม และมีการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ เป็นการละเมิดพันธกรณีทางสิทธิมนุษยชน ที่สำคัญรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ให้อำนาจ คสช. ครอบจักรวาล ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจและไม่สามารถเอาผิดต่อการละเมิดใด ๆ ได้ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

พยานทราบว่า ผู้ที่ถูกออกหมายจับไม่ได้เข้าไปใน สน.ปทุมวัน เนื่องจากเกรงว่าจะถูกจับและส่งขึ้นศาลทหาร ก่อนหน้านั้นพยานทราบว่าผู้ที่ถูกออกหมายจับมีหนังสือขอเลื่อน แต่ตำรวจไม่ให้เลื่อนและขอออกหมายจับ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

อดีตสมาชิกกลุ่ม NDM-ดาวดิน รับทราบข้อหา ม.116-215 เหตุชุมนุมวิจารณ์ คสช. เมื่อ 4 ปีก่อน

7 ปีผ่านไป อัยการเพิ่งสั่งฟ้อง 13 อดีตนักศึกษา NDM-ดาวดิน ม.116 เหตุชุมนุมต้านอำนาจ คสช.

X