คุมตัวแจ้ง 112 – บุกรุก “สายน้ำ-ออย” 2 นักกิจกรรม กลางดึก หลัง ศปปส. แจ้งความ เหตุพบภาพชู 3 นิ้ว ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า 

วันที่ 14 เม.ย. 2566 ช่วงเวลา 22.00 น. “สายน้ำ” นภสินธุ์ และ “ออย” สิทธิชัย สองนักกิจกรรมทางการเมืองวัย 18 และ 25 ปี เดินทางไปที่ สน.ดุสิต เพื่อเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน หลังทราบว่า พวกเขาถูกออกหมายจับข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คาดมาจากเหตุโพสต์ภาพชูสามนิ้วบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566  

แต่เมื่อทั้งสองและกลุ่มเพื่อนไปถึง สน.ดุสิต พนักงานสอบสวนเวรกลับแจ้งว่า จะไม่ดำเนินการรับมอบตัว เมื่อเป็นเช่นนั้นสายน้ำและออยจึงตัดสินใจเดินทางกลับ โดยได้ถ่ายรูปและโพสต์เป็นหลักฐานว่า ได้เดินทางมาที่ สน.ดุสิต แล้ว ขณะจะออกจาก สน. ตำรวจชุดสืบจากกองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้เดินทางมาพร้อมหมายจับ ก่อนจะมีการพูดคุยกับทั้งสอง แจ้งว่าจะทำบันทึกจับกุม และนำตัวไปสอบสวนที่ สน.ฉลองกรุง ที่อยู่ห่างออกไปราว 40 กิโลเมตร แม้สายน้ำและออยจะขอให้สอบสวนที่ สน.ทุ่งสองห้อง ซึ่งอยู่ใกล้กว่า แต่ชุดสืบไม่ยินยอม

ก่อนทำบันทึกจับกุม ชุดสืบจากกองกำกับการสืบสวนสอบสวนฯ ได้แสดงหมายจับศาลอาญา ลงวันที่ 11 เม.ย. 2566 ซึ่งกล่าวหาว่าทั้งสอง 

1. ร่วมกันดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ พระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

2. ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ  ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

3. ร่วมกันบุกรุกตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365(2)

4. ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 7

5. ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10

บันทึกจับกุมระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมสืบทราบว่า ทั้งสายน้ำและออยอยู่ระหว่างการเดินทางไปยัง สน.ดุสิต จึงรีบติดตามมาที่สถานีตำรวจ แสดงตนว่า เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอตรวจสอบ ก่อนแสดงหมายจับและอ่านให้ฟัง

โดยทั้งสายน้ำและออยต่างให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงชื่อในบันทึกจับกุมดังกล่าว ก่อนที่เวลา 02.30 น. ทั้งสองถูกคุมตัวขึ้นรถผู้ต้องขังเพื่อไปสอบปากคำที่ สน.ฉลองกรุง 

พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต เดินทางตามมาและเริ่มแจ้งพฤติการณ์พร้อมทั้งข้อกล่าวหาในเวลาประมาณ 04.00 น. โดยระบุพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ ผู้กล่าวหา เปิดเฟซบุ๊กของสายน้ำและออย ปรากฏภาพทั้งสองคนยืนถ่ายภาพรวมกันบริเวณหน้าอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า ภายในลานพระราชวังสวนดุสิต และแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว โดยมีฉากหลังเป็นอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระราชินี 

ผู้กล่าวหาเห็นว่า การแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว ดังกล่าว เป็นการสื่อความหมายถึง สันติภาพ เสรีภาพ และ ภราดรภาพ ซึ่งเป็นการแสดงสัญลักษณ์เรียกร้องอย่างใดอย่างหนึ่งในพื้นที่เขตพระราชฐาน รวมถึงได้นำภาพดังกล่าวเผยแพร่ต่อสาธารณะในเฟซบุ๊ก โดยการสื่อความหมายดังกล่าวย่อมทำให้สมาชิกกลุ่มหรือประชาชนโดยทั่วไปที่เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเข้าใจไปในลักษณะเป็นการแสดงออกในการเรียกร้องตามหลักสันติภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ โดยใช้สถานที่แสดงออกสัญลักษณ์ในพื้นที่เขตพระราชฐาน อันเป็นการดูหมิ่นหรือด้อยค่าต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รวมถึงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน จึงมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าว 

พนักงานสอบสวนยังแจ้งอีกว่า ต่อมา พ.ต.อ.ไตรเทพ แพทย์รัตน์ ผู้กำกับ สน.ดุสิต ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์เพิ่มเติมให้ดำเนินคดีกับสายน้ำและออยในข้อหา ร่วมกันบุกรุกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในเวลากลางคืน, ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป และร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งการชุมนุมภายใน 24 ชั่วโมง โดยระบุว่า พฤติการณ์ของทั้งสองเป็นการเข้าไปกระทําการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข

พนักงานสอบสวนระบุว่า การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองที่เข้าไปในเขตพระราชฐาน ซึ่งไม่ใช่สถานที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปได้ โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าสักการะพระบรมรูป ร.5 เฉพาะช่วงเวลา 06.00- 22.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ทางสำนักพระราชวังกำหนด โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย และเพื่อให้การเข้าไปสักการะของประชาชนเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทำในสิ่งที่มิบังควร หรือขัดต่อขนบธรรมเนียมศีลธรรมอันดี ตลอดจนต้องสำรวมกิริยาเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อสถานที่อันเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป 

แต่ผู้ต้องหาทั้งสองคนที่ถูกติดตามพฤติกรรมมาตั้งแต่แสดงสัญลักษณ์เรียกร้องชู 3 นิ้ว พร้อมตะโกน “ยกเลิกมาตรา 112” หรือการแสดงออกในรูปแบบอื่น ๆ ในสถานที่ต่าง ๆ เข้าไปแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว โดยมีฉากหลังเป็นพระบรมรูปทรงม้า พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 ช่วงเวลาประมาณ 19.22 น.- 19.34 น. เชื่อว่า ย่อมมีเจตนาเข้าไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ซึ่งรู้ดีอยู่แล้วว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นเขตพระราชฐาน แต่ยังเข้าไปแสดงออกซึ่งการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งประทับอยู่ในบริเวณดังกล่าว

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาสายน้ำและออยรวม 5 ข้อหา ตามหมายจับ ทั้งสองยืนยันให้การปฏิเสธเช่นเดิม โดยจะให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน 

การสอบปากคำเสร็จสิ้นในราว 05.30 น. พนักงานสอบสวนแจ้งกับทนายความว่า จะนำตัวสายน้ำและออยไปยื่นฝากขังที่ศาลอาญาเช้าวันที่ 15 เม.ย. 2566 ระหว่างนี้ทั้งสองจะถูกคุมตัวอยู่ที่ สน.ฉลองกรุง ก่อน

ที่ศาลอาญา สายน้ำและออยถูกคุมตัวมาถึงช่วง 10.00 น. หลังพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาล ระบุมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ประกอบกับการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นต้องสอบสวนพยานอีก 6 ปาก รวมถึงรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา จึงขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาทั้งสอง รวมถึงคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว ระบุคดีมีอัตราโทษสูง หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนีและยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีภายหลัง

ก่อนที่ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังและขอให้ศาลไต่สวน แต่เมื่อศาลไต่สวนแล้วก็มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ทนายความจึงยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว 

ก่อนเวลา 12.30 น. ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองระหว่างสอบสวนตลอดจนถึงชั้นพิจารณา เว้นแต่โจทก์ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาที่หนักกว่า โดยให้วางหลักประกันในวงเงินคนละ 90,000 บาท พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข ห้ามมิให้ผู้ต้องหาทั้งสองกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และกิจกรรมหรือกระทำใดๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มิฉะนั้นจะถือว่าผู้ต้องหาทั้งสองผิดสัญญาประกัน นัดรายงานตัวที่ศาล ในวันที่ 2 มิ.ย. 2566

ทั้งนี้ ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ ซึ่งเป็นสมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีนักกิจกรรม รวมถึงสื่ออิสระในข้อหาตามมาตรา 112 มาแล้วหลายคดี โดยมีผู้ถูกออกหมายเรียกหรือจับกุมมาดำเนินคดีรวมคดีของสายน้ำและออย 5 คดีแล้ว

สำหรับทั้ง  “สายน้ำ” นภสินธุ์ และ “ออย” สิทธิชัย ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2566 เพิ่งถูกจับกุมและถูกแจ้ง 3 ข้อหา จากการพ่นสีสเปรย์ตัวเลข 112 พร้อมขีดฆ่าทับ เครื่องหมายอนาคิสต์ และข้อความ “หยกโดน 112 ตรงนี้” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเสาชิงช้า ภายหลังจับกุมและถูกส่งไปขอฝากขัง ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฝากขัง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องออกหมายขัง 

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจจับ “สายน้ำ-ออย” สองนักกิจกรรม แจ้งข้อหากรณีพ่นสีสเปรย์ไม่เอา 112 ใน 4 คดีรวด ก่อนศาลไม่ออกหมายขัง

.

X