1 ปี เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมโควิด แต่คดีจากการชุมนุมอีกกว่า 464 คดี ยังไม่สิ้นสุด

1 ปีก่อนหน้านี้ นับแต่วันที่ 30 ก.ย. 2565 เป็นวันสุดท้ายที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 หลังคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิก ทำให้นับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 จนถึงวันดังกล่าว ถือเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งประเทศยาวนานที่สุด รวมระยะเวลา 919 วัน หรือ 2 ปี 6 เดือน กับอีก 6 วัน (ขณะที่เฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงบังคับใช้ต่อเนื่องมากว่า 18 ปีแล้ว)

1 ปี ผ่านไป คดีความของนักกิจกรรมและประชาชนจากการชุมนุมทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้สิ้นสุดลงไปด้วย แต่ยังพัวพันเป็นชนักและภาระสำหรับหลาย ๆ คนให้ต้องไปต่อสู้คดีอย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางการชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, เรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในระยะปี 2563-65 นับได้ว่าเป็นช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองมากครั้งที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่ก็ติดตามมาด้วยคดีความจำนวนมากเช่นกัน รวมทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็กลายเป็นเครื่องมือและข้อกล่าวหาในการดำเนินคดีเช่นกัน

.

ผ่านไปหนึ่งปี คดีสิ้นสุดไปเพิ่ม 112 คดี แต่อีกกว่า 464 คดี ยังดำเนินอยู่

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระหว่างการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสถานการณ์โควิด-19 ในระยะสองปีครึ่งดังกล่าว มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมืองไม่น้อยกว่า 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (หลายคนถูกดำเนินคดีในหลายคดี) ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 241 คน ใน 157 คดี

จนถึงวันที่ 29 ก.ย. 2566 พบว่ามีคดีที่สิ้นสุดไปแล้ว 199 คดี ทำให้ยังคงเหลือคดีอีกไม่น้อยกว่า 464 คดี ที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินในชั้นต่าง ๆ หากเทียบกับเมื่อช่วงสิ้นสุดสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี ก่อนหน้านี้ พบว่าคดีสิ้นสุดไปเพิ่มเติม 112 คดี 

ในส่วนคดีที่ยังดำเนินอยู่และยังไม่สิ้นสุดนั้น พบว่าอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ ดังนี้

  • คดีที่อยู่ในชั้นสอบสวน จำนวน 277 คดี
  • คดีที่อยู่ในศาลชั้นต้น จำนวน 82 คดี
  • คดีที่อยู่ระหว่างชั้นอุทธรณ์ หรือรอว่าจะมีการอุทธรณ์คดีหรือไม่ จำนวน 94 คดี
  • คดีที่อยู่ระหว่างชั้นฎีกา หรือรอว่าจะมีการฎีกาคดีหรือไม่ จำนวน 11 คดี

สำหรับผลของคดีที่สิ้นสุดแล้ว มีจำนวนราว 51 คดี ที่จำเลยให้การรับสารภาพ ไม่ได้ต่อสู้คดี (นับรวมกรณีจำเลยบางคนในคดีเดียวกันให้การรับสารภาพ แต่บางรายยังต่อสู้คดีต่อ) ส่วนใหญ่ศาลพิพากษาลงโทษปรับ หรือหากลงโทษจำคุก ก็ให้รอการกำหนดโทษไว้

.

.

อัยการสั่งไม่ฟ้องอย่างน้อย 49 คดี

ขณะเดียวกัน มีอย่างน้อย 49 คดี ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ทำให้คดีสิ้นสุดลง ในจำนวนนี้อาจพอแยกประเภทได้คร่าว ๆ เป็น

  • คดีจากการชุมนุมขับไล่ประยุทธ์ ของเครือข่ายราษฎร จำนวน 16 คดี
  • คดีจากคาร์ม็อบช่วงปี 2564 จำนวน 11 คดี
  • คดีของนักกิจกรรมและประชาชนที่ไปสังเกตการณ์การชุมนุมที่ดินแดงช่วงปี 2564 จำนวน 16 คดี
  • คดีจากการชุมนุมกรณีเครือข่ายชาวบ้านด้านทรัพยากร เช่น กรณีบางกลอย, จะนะ หรือ P-move จำนวน 6 คดี

ที่น่าสนใจคือชุดคดีเกี่ยวกับประชาชนที่ไปสังเกตการณ์ชุมนุมที่ดินแดง ซึ่งตำรวจใช้วิธีการดำเนินคดีแยกเป็นรายวัน โดยในแต่ละวัน มีการรวบรวมรายชื่อบุคคลที่ถูกจับตา และถูกพบเห็นในที่ชุมนุม ก่อนออกหมายเรียกมาดำเนินคดี แม้บุคคลดังกล่าวจะไม่ได้มีบทบาทอะไร เพียงไปยืนดู ถ่ายรูปสังเกตการณ์ หรือไปสนับสนุนเรื่องน้ำ-อาหาร-การรักษาพยาบาล ก็ถูกดำเนินคดีไปด้วย โดยมีคดีลักษณะนี้เกือบ 50 คดี  บางรายถูกดำเนินคดีถึง 28 คดี ไล่ไปตามวันที่พบบริเวณการชุมนุม

คดีชุดนี้ พบว่าอัยการแขวงพระนครเหนือ ซึ่งรับผิดชอบเขตอำนาจในพื้นที่ดังกล่าว ทยอยสั่งไม่ฟ้องคดีอย่างต่อเนื่อง และจนถึงปัจจุบัน มีเพียงคดีเดียว ที่อัยการสั่งฟ้องต่อศาล แต่คดีก็ยังค้างคาในชั้นสอบสวนอีกกว่า 30 คดี

การดำเนินคดีลักษณะนี้ของตำรวจ ทั้งสร้างภาระให้ประชาชน และทำให้เกิดคำถามต่อการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานจนเกินกว่าเหตุ

ขณะที่ชุดคดีคาร์ม็อบ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อระมัดระวังการแพร่ระบาดของโรคในช่วงปี 2564 ก็มีอัยการในบางจังหวัดที่สั่งไม่ฟ้องคดี ทั้งในกรุงเทพฯ, ตาก, มุกดาหาร, สกลนคร, ลำพูน, นนทบุรี, นราธิวาส แต่แนวโน้มคดีส่วนใหญ่กลับถูกสั่งฟ้องให้ไปต่อสู้ในชั้นศาล ซึ่งคดีคาร์ม็อบหลายคดีก็ยังดำเนินอยู่ต่อไป 

แนวทางการพิจารณาคดีลักษณะใกล้เคียงกันเหล่านี้ยังมีความลักลั่น-ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนอยู่อย่างมาก

.

.

ศาลยกฟ้องมากกว่าเห็นว่าผิด สัดส่วนราว 3:2 

ส่วนคดีที่มีการสั่งฟ้องต่อศาล และจำเลยเลือกจะต่อสู้คดีนั้น พบว่ามีผลของคำพิพากษาที่ศาลยกฟ้องในสัดส่วนมากกว่าคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด (หลายคดียังไม่สิ้นสุดในศาลชั้นต้น แต่มีอุทธรณ์และฏีกาตามมา)

  • คดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง อย่างน้อย 81 คดี
  • คดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด อย่างน้อย 54 คดี 

หากเทียบสัดส่วนคดีที่ต่อสู้คดีแล้วศาลยกฟ้อง จะเทียบได้เท่ากับร้อยละ 60 ของคดีที่มีคำพิพากษาทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ 40 ต่อสู้คดีแล้วศาลพิพากษาเห็นว่ามีความผิด เทียบเป็นสัดส่วนราว 3 ต่อ 2 

ทั้งนี้ในช่วงปี 2565 และ ต้นปี 2566 มีแนวโน้มที่ศาลจะยกฟ้องมากกว่าเห็นว่าผิดราวหนึ่งเท่ากว่า แต่อัตราส่วนดังกล่าวลดลงในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ที่มีศาลวินิจฉัยไปในแนวว่ามีความผิดเพิ่มมากขึ้น รวมถึงศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาในบางคดี

แนวคำวินิจฉัยของศาลต่าง ๆ แยกเป็นสองทิศทางอย่างชัดเจน ระหว่างแนวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน และจำกัดการใช้อำนาจตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ตามความจำเป็นและพอสมควรแก่เหตุ พิจารณารายละเอียดของกิจกรรมและการชุมนุม หากไม่แออัดหรือสร้างความเสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค ก็เห็นว่ายังเป็นการใช้สิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ

กับแนวทางคำพิพากษาที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางสาธารณสุข โดยรับรองการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินของฝ่ายบริหาร ขณะที่ปัดปฏิเสธสิทธิอื่น ๆ ในสถานการณ์เช่นนั้นไป แม้สถานการณ์การระบาดของโรคจะขึ้นลง-เปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกันในแต่ละช่วงเวลาตลอดสองปีเศษก็ตาม

คำพิพากษาจะเป็นไปในทิศทางไหนนั้น ดูเหมือนจะเกี่ยวพันกับการชั่งน้ำหนักให้คุณค่า หรือกระทั่ง “อุดมการณ์” ของศาลในแต่ละคดีอย่างมาก

ดูตาราง สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

คดีที่ศาลเห็นว่าผิด ส่วนใหญ่ลงโทษปรับ

หากพิจารณาเฉพาะคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่าที่ทราบข้อมูล โทษที่ศาลลง สามารถแยกได้เป็นสถิติดังนี้

  • ศาลลงโทษปรับเพียงอย่างเดียว จำนวน 30 คดี
  • คดีที่ศาลให้รอกำหนดโทษ จำนวน 3 คดี
  • คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยให้รอลงอาญา จำนวน 17 คดี
  • คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา จำนวน 3 คดี (ในจำนวนนี้ 2 คดี เป็นคดีที่ถูกฟ้องพ่วงกับข้อหามาตรา 112 ทำให้ศาลไม่รอลงอาญา แต่มีคดีของนักศึกษาธรรมศาสตร์กรณีชุมนุมที่หน้าสถานทูตเมียนมา ที่ศาลพิพากษาลงโทษข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ่วงกับข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยไม่รอลงอาญษ คดีทั้งหมดยังอยู่ระหว่างอุทธรณ์) 
  • และมีคดีเยาวชน 1 คดี ที่ศาลกล่าวตักเตือน

ในจำนวนนี้ มีจำนวน 4 คดีที่ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่เคยให้ยกฟ้องคดี แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีความผิด และอีก 1 คดี ที่ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ ได้แก่ คดีคาร์ม็อบกำแพงเพชร

แต่ก็มี 1 คดี ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่ามีความผิด แต่ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาให้ยกฟ้อง ได้แก่ คดีคาร์ม็อบอุตรดิตถ์

สำหรับประเด็นการกำหนดอัตราโทษ ความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 นั้น กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พบว่าในช่วงที่ผ่านมา อัตราโทษที่ศาลกำหนดในคดีที่เห็นว่ามีความผิดนั้น สูงที่สุดคือ โทษจำคุก 1 ปี ซึ่งปรากฏในสองคดี ได้แก่ 

  • คดีของประชาชน 7 ราย กรณีชุมนุม #ม็อบ11สิงหาไล่ล่าทรราช ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปี 2564 โดยศาลอาญาให้รอลงอาญาไว้ 
  • คดี “ภูมิ” ศศลักษณ์ ร่วมชุมนุมคณะราษฎรอีสาน วันที่ 13 ต.ค. 2563 ซึ่งในตอนแรกคดีนี้ ศาลเยาวชนฯ พิพากษาไม่ให้รอลงอาญา แต่ใปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นนำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เป็นระยะเวลา 6 เดือน แต่ศาลอุทธรณ์ได้กลับเป็นว่าให้รอลงอาญาแทน

ในส่วนโทษปรับที่สูงที่สุด พบว่ามี 3 คดีที่ศาลลงโทษปรับในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเงิน 30,000 บาท ส่วนโทษปรับที่ต่ำที่สุดคือ 2,000 บาท

.

.

คดีที่ยังไม่สิ้นสุด กับปัญหาการเมืองที่ยังคงอยู่ต่อไป

ตลอดปีที่ผ่านมา ในแต่ละเดือนมีนัดหมายการสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษาคดีจากการชุมนุมทางการเมืองหลายสิบคดีอย่างต่อเนื่อง สร้างภาระให้กับทั้งผู้ถูกดำเนินคดีและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องใช้เวลา ค่าใช้จ่าย มันสมอง เรี่ยวแรง หรือจิตใจ ไปกับคดีลักษณะเหล่านี้ และยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงทั้งหมดเมื่อใด ยิ่งคดีต้องต่อสู้ยืดเยื้อไปในศาลชั้นต่าง ๆ ก็ยิ่งใช้ต้นทุนมากขึ้น

ทั้งที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นไปตาม “กระบวนการทางกฎหมาย” แต่คดีเหล่านี้ในปัจจุบันดูเหมือนไม่ได้เป็น “ประโยชน์ต่อสาธารณะ” เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็สิ้นสุดไปแล้ว และการกระทำที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่คดีอาญาโดยแท้ 

ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีก็เพียงออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาล ต่อปัญหาการจัดการบ้านเมืองในช่วงดังกล่าว หลายคนระมัดระวังเรื่องการป้องกันโรคแล้ว หรือออกแบบกิจกรรมที่พยายามลดความเสี่ยง ไม่ว่าในสถานการณ์แบบไหน ผู้คนก็ยังต้องการพื้นที่ในการแสดงออก แม้ในสถานการณ์ที่ถูกอ้างว่า “ฉุกเฉิน” การปิดกั้นอย่างสิ้นเชิงและไล่ดำเนินคดีจำนวนมากแบบที่เป็นอยู่ รั้งแต่จะเป็นการสร้างเงื่อนไขของความขัดแย้งทางการเมืองต่อไป

.

ย้อนอ่าน 9 ข้อสังเกต กับ 2 ปี การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อการชุมนุม

.

X