ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาคดี ‘คาร์ม็อบอุตรดิตถ์’ เป็นยกฟ้อง ชี้เป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมตาม รธน.

11 ก.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีของอนุรักษ์ แก้ไข คนทำสวนขายผลไม้วัย 27 ปี และ ทองแสง ไชยแก้ว คนทำงานด้านการเรียนรู้ของเยาวชน อายุ 31 ปี  ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการทำกิจกรรมคาร์ม็อบของกลุ่มอุตรดิตถ์ปลดแอก เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564

คดีนี้ ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565 เห็นว่าจำเลยทั้งสองคนมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกคนละ 2 เดือน โดยไม่รอลงอาญา โดยศาลเห็นว่ากิจกรรมไม่ได้มีการขออนุญาตจากเจ้าพนักงาน จึงเป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย บุคคลที่เข้าร่วมก็ผิดกฎหมายด้วย และแม้พยานโจทก์ปากสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ จะเบิกความว่าการชุมนุมจะมีลักษณะขับขี่รถไปตามท้องถนน เป็นที่โล่งแจ้ง มีความเสี่ยงต่ำ แต่ศาลก็เห็นว่ายังมีความเสี่ยงอยู่และสามารถแพร่โรคได้เช่นกัน ขณะที่ศาลเชื่อว่าจำเลยที่ 2 คือทองแสง มีบทบาทเป็นผู้จัดกิจกรรม ผ่านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในเพจเฟซบุ๊ก “อุตรดิตถ์ปลดแอก” แม้จะไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมเลยก็ตาม

จำเลยยื่นอุทธรณ์ กิจกรรมไม่ได้เสี่ยงโรค แม้แต่จนท.สาธารณสุขยังเบิกความว่า “ความเสี่ยงต่ำ”

จำเลยทั้งสองคนได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี โดยต้องวางหลักทรัพย์คนละ 30,000 บาท และได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา โดยโต้แย้งว่าการบังคับใช้ข้อกำหนดควบคุมการชุมนุมในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องมีลักษณะเป็นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด-2019 เป็นวงกว้าง ไม่ใช่เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมหรือห้ามการชุมนุมทางการเมือง

พยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจังหวัด ได้ระบุความเห็นว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นระดับเดียวกับการใช้ชีวิตอย่างปกติของประชาชน อย่างการเดินตลาด หรือการขับขี่รถไปตามท้องถนนตามปกติ และไม่มีข้อมูลว่าติดเชื้อจากการรวมกลุ่มชุมนุมกันดังกล่าว สถานที่จัดกิจกรรมยังเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ผู้เข้ารว่มต่างคนต่างขับรถไปตามท้องถนน เปิดไฟ บีบแตร แสดงสัญลักษณ์สามนิ้ว ติดป้ายวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและอยู่เฉพาะแต่ในยานพาหนะของตนเอง ระหว่างการเคลื่อนขบวนไม่มีการจอดพูดคุย หรือปราศรัย ไม่มีกิจกรรมใดที่ต้องมีการสัมผัสใกล้ชิดอันอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิดเป็นวงกว้างได้

นอกจากนั้น พยานโจทก์ทุกปากก็ไม่สามารถระบุยืนยันได้โดยตรงและไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 2 เป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “อุตรดิตถ์ปลดแอก” ทำให้การกล่าวอ้างของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ “ริเริ่ม” ให้มีการชุมนุมเกิดขึ้น ไม่ปรากฏชัดเจน 

ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา ชี้เสี่ยงโควิดต่ำ ไม่กระทบความสงบ เป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุม

วันนี้ ทั้งอนุรักษ์และทองแสงเดินทางมาศาล ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นยกฟ้องจำเลยทั้งสองคน

สำหรับเนื้อหาโดยสรุป ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยความจำเป็นของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและออกข้อกำหนดซึ่งห้ามการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่ม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เห็นว่าการชุมนุมใดๆ ที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) นั้น จะต้องกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง ตามคำนิยามของ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ใน พ.ร.ก. ฉบับนี้

แต่ในคดีนี้ ได้ความจากพยานโจทก์ปากนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งทำหน้าที่หัวหน้างานกลุ่มควบคุมโรคติดต่อว่า ในช่วงวันที่ 1-15 ส.ค. 2564 ในจังหวัดอุตรดิตถ์ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพียง 1-5 ราย และหลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น แสดงว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในท้องที่เกิดเหตุมิได้อยู่ในภาวะคับขันและมีความร้ายแรง เหมือนกับในระยะเริ่มแรก 

พยานยังมีความเห็นต่อการชุมนุม “คาร์ม็อบ” ในคดีนี้ ว่ามีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคในระดับต่ำ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง และผู้เข้าร่วมใส่หน้ากากอนามัย ทั้งตามบันทึกข้อความของ สภ.เมืองอุตรดิตถ์ ที่ผู้กำกับการของสถานีรายงานสถานการณ์การชุมนุม ยังระบุว่าผลการตรวจสอบเบื้องต้นว่า ไม่พบว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่อย่างใด 

ศาลจึงวินิจฉัยว่ากิจกรรมคาร์ม็อบในวันเกิดเหตุ มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับต่ำ และมิได้กระทบต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันแต่อย่างใด ทั้งการชุมนุมไม่พบว่ากลุ่มผู้เข้าร่วมได้ทำการปิดถนน หรือมั่วสุมกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย 

การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายหรือข้อกำหนดหรือคำสั่งหรือประกาศใดๆ ซึ่งออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงต้องนำมาบังคับใช้อย่างระมัดระวัง โดยต้องคำนึงถึงเสรีภาพในการชุมนุมของบุคคลตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่ได้บัญญัติรับรองไว้ด้วย 

ศาลเห็นว่าแม้การชุมนุมของจำเลยที่ 1 กับพวก จะเป็นการรวมตัวกันมากกว่า 20 คน และไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม ก็ยังไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) และไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด หรือไม่

ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง และพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลงนามโดย นายสังคม เมฆอรุณลักษณ์, นางรุ่งรัตน์ วิจิตรจงกล และ นายสุรพล ศุขอัจจะสกุล 

ดาวน์โหลดคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฉบับเต็ม

ย้อนอ่านเรื่องราวของจำเลยทั้งสองและบันทึกการสืบพยานในคดี

คุยกับ “ก็อต-อ๊อด” สองจำเลยคดีคาร์ม็อบอุตรดิตถ์ เมื่อศาลลงโทษจำคุก 2 เดือน

ปากคำพยานคดี “คาร์ม็อบอุตรดิตถ์” รูปแบบกิจกรรมไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ รายหนึ่งเพียงขับรถนำขบวน รายหนึ่งไม่ได้ไปชุมนุมด้วย

X