ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโทษคดี “ภูมิ ศศลักษณ์” ร่วมชุมนุมกับ #คณะราษฎรอีสาน แต่แก้เป็นให้รอลงอาญา 2 ปี

4 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ในคดีของ “ภูมิ ศศลักษณ์” นักกิจกรรมวัย 20 ปี กรณีถูกสั่งฟ้องจากเหตุเข้าร่วมชุมนุมกับ #คณะราษฎรอีสาน ใน #ม็อบ13ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 โดยศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่าจำเลยกับพวกกระทำผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกรวม 2 ปี 5 วัน แต่ให้แก้เป็นให้รอการลงโทษจำคุกไว้

ในคดีนี้ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 เป็นผู้สั่งฟ้องจำเลยทั้งหมด 8 ข้อกล่าวหา ประกอบไปด้วย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวาย, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 114, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ทำให้เสียทรัพย์, มาตรา 368 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน, มาตรา 391 ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น และมาตรา 140 ร่วมกันต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงาน 

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2565 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษาว่ามีความผิดใน 3 กระทง ได้แก่ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เห็นว่าเป็นการชุมนุมที่จำเลยและพวกร่วมกันจัดขึ้นเป็นการมั่วสุมที่มีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ลงโทษจำคุก 1 ปี, ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ลงโทษจำคุกรวม 1 ปี ตลอดจนข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ให้จำคุก 5 วัน รวมลงโทษจำคุก 2 ปี 5 วัน

และศาลได้ให้เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นคุมประพฤติ โดยให้นำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยศาลให้ประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์คดี

.

วันนี้ที่ห้องพิจารณาคดี ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยสรุปศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เห็นว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ส่วนโทษจำคุกจำเลย 2 ปี 5 วัน ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องว่าเป็นการลงโทษที่เหมาะสมแล้ว

ในส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ให้รอการลงโทษจำเลยนั้น เนื่องจากจำเลยกระทำผิดครั้งแรกขณะนั้นอายุเพียง 17 ปี ศาลอุทธรณ์ให้แก้โทษเป็น ‘ไม่เปลี่ยนโทษจำคุก’ เป็นการส่งจำเลยไปควบคุมศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน แต่ให้ ‘รอการลงโทษ’ จำคุกไว้ โดยมีกำหนด 2 ปี ให้ควบคุมประพฤติภายในระยะเวลาดังกล่าวภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

1. ให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน และให้ตรวจปัสสาวะ

2. ให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน นำผลการเรียนมารายงาน หากผลการเรียนไม่ดีให้พนักงานคุมประพฤติรายงานต่อศาล

3. ให้จำเลยไม่คบค้าสมาคมกับบุคคลไม่ดี ควบคุมประพฤติไม่ออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืนหรือออกตระเวนราตรี เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง

4. ให้จำเลยทำกิจกรรมหรือบริการสาธารณะบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมภายในกำหนดเวลา 24 ชั่วโมงภายใน 1 ปี

อนึ่ง เหตุในคดีนี้สืบเนื่องมาจาก “คณะราษฎรอีสาน” ได้ปักหลักชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 เพื่อรอการชุมนุมใหญ่วันที่ 14 ต.ค. 2563 ซึ่งกลุ่มราษฎรนัดหมายเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาล 

ผู้มาปักหลักชุมนุมเป็นกลุ่มราษฎรจากอีสานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเรียกการรวมตัวในวันนั้นว่า “นอนรอม็อบ” ผู้ชุมนุมมีการติดป้ายผ้าที่แผงเหล็กมีข้อความว่า “หยุดคุกคามประชาชน” “มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง” “ยกเลิก ม.112” และ “ยกเลิกรับบริจาคโดยราชกุศล” แต่ในวันดังกล่าวตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุมโดยอ้างว่าจะมีขบวนเสด็จผ่าน ทำให้มีผู้ถูกจับกุมจำนวน 21 คน และเยาวชนอีก 1 ราย 

ในคดีของผู้ใหญ่ 19 คน ที่ถูกฟ้องคดีที่ศาลอาญานั้น ยังอยู่ระหว่างการสืบพยาน นอกจากนั้นยังมีคดีของ 6 นักกิจกรรมที่เข้าติดตามสถานการณ์ในวันดังกล่าวและถูกตำรวจออกหมายเรียกไปแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ในภายหลัง อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ไปแล้ว

X