“ภูมิ หัวลำโพง” นักกิจกรรมและอาสากู้ภัยวัย 20 ปี ถูกควบคุมตัวที่สถานแรกรับเด็กและเยาวชนชายบ้านเมตตา สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กำลังจะครบ 2 เดือนแล้ว
การควบคุมตัวภูมิดังกล่าว ไม่ใช่การลงโทษตามคำพิพากษา แต่เป็นการกำหนดมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยในคดีจากการแสดงออกทางการเมืองหลายคดีก่อนหน้านี้ ที่เด็กและเยาวชน พร้อมกับครอบครัว ตัดสินใจให้การรับสารภาพ ศาลมักจะมีคำสั่งให้เข้ามาตรการพิเศษ โดยไม่ต้องมีการควบคุมตัวไว้ แต่กรณีของภูมิแตกต่างออกไป เมื่อศาลเห็นว่าควรใช้มาตรการควบคุมตัวไว้ด้วยเป็นระยะเวลา 1 ปี และให้เข้าอบรมหลักสูตรวิชาชีพระหว่างนั้นจำนวน 2 หลักสูตร
แม้ที่ปรึกษากฎหมายและครอบครัวได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเปลี่ยนคำสั่งดังกล่าว ไปแล้วจำนวน 2 ครั้ง เนื่องจากมีข้อเท็จจริงในกรณีของภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปจากการพิจารณาของศาลในตอนแรก แต่ศาลยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งจนถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ภูมิยังเคลื่อนไหวอดอาหารเป็นช่วงระยะเวลา 6 วัน เพื่อประท้วงสถานการณ์ที่เขาต้องรอคอยการฝึกอบรมฯ ตามคำสั่งศาล เนื่องจากพบว่าสถานพินิจฯ บ้านเมตตายังไม่สามารถจัดการอบรมให้เขาได้ในระยะเข้าไปใหม่นี้ ต้องรอคอยอีกช่วงเวลาหนึ่ง โดยภูมิคิดว่าหากเขาได้รับการฝึกอบรมตามที่ศาลสั่งได้สำเร็จ ก็อาจจะมีโอกาสร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ และไม่จำเป็นต้องควบคุมตัวจนครบ 1 ปี
ท่ามกลางความสงสัยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีของภูมิ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพูดคุยกับ “ป้ามล” ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ในฐานะที่ทำงานกับกรณีเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดในคดีอาญาต่าง ๆ มากว่า 20 ปี
ชวนป้ามลแลกเปลี่ยนถึงปัญหาของคำสั่งศาลให้เข้ามาตรการพิเศษในคดีเยาวชน ทำความเข้าใจโครงสร้างของหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องคดีเด็กและเยาวชน ที่ส่งผลให้เจตนาของการฟื้นฟูบำบัดให้ผู้ที่ถูกมองว่ากระทำความผิดอาจไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ และมุมมองต่อมาตรการฝึกอาชีพต่าง ๆ ที่อาจไม่ใช่การแก้ไขปัญหาของเด็กเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีได้
.
ทบทวนคำสั่งศาลในคดี ม.112 ของภูมิ คดีของ “ภูมิ หัวลำโพง” ซึ่งเป็นที่มาของการทำให้ถูกควบคุมตัวนั้น เหตุเกิดจากกรณีที่เขาไปร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง ซึ่งถูกจับกุมไปยัง สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 กรณีนี้ทำให้เขาถูกดำเนินคดีใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหามาตรา 112, ข้อหามั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ตามมาตรา 215, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และดูหมิ่นเจ้าพนักงาน โดยขณะเกิดเหตุนั้น เขามีอายุ 17 ปี ทำให้ถูกดำเนินคดีแยกจากนักกิจกรรมคนอื่น ๆ มายังศาลเยาวชนฯ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 หลังภูมิแถลงกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจฯ แล้วเห็นว่า คดียังไม่สมควรจะมีคำพิพากษา เนื่องจากจำเลยไม่ได้อยู่กับบิดามารดา มีเพียงยายเลี้ยงดูโดยให้อิสระแก่จำเลย อีกทั้งจำเลยไม่ได้เรียนหนังสือ และกระทำความผิดทางอาญารวมคดีนี้เป็น 8 คดี ในคดีนี้จำเลยกับพวก ถูกฟ้องว่าได้ร่วมกันก่อให้เกิดความวุ่นวายในบริเวณสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ และเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ดูหมิ่นเจ้าพนักงานตำรวจด้วยคำพูดและการกระทำที่หยาบคาย และกระทำการไม่สมควรต่อพระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์ที่เป็นประมุขของประเทศและเป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทย แสดงว่าผู้ปกครองไม่สามารถดูแลจำเลยได้ ศาลจึงให้ใช้มาตรการพิเศษแทนคำพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มาตรา 132 วรรค 2 แก่จำเลย ส่งตัวจำเลยไปสถานพินิจฯ กำหนดเงื่อนไขให้จำเลยอบรมหลักสูตรวิชาชีพอย่างน้อย 2 หลักสูตร โดยกำหนดระยะเวลาให้จำเลยอยู่สถานพินิจ 1 ปี โดยให้ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ รายงานความประพฤติจำเลยให้ศาลทราบทุก 3 เดือน ต่อมา วันที่ 21 พ.ย. 2566 ที่ปรึกษากฎหมายและครอบครัวได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแก้ไขคำสั่ง ให้ศาลเปลี่ยนไปใช้การกำหนดมาตรการพิเศษตามมาตรา 132 วรรค 1 เนื่องจากมีข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไป ประการสำคัญคือมารดาของภูมิ ที่เดิมไปทำงานต่างประเทศ ได้เดินทางกลับมา และแสดงตัวว่าพร้อมจะดูแลภูมิในฐานะผู้ปกครองอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งมีหัวหน้าอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู ซึ่งดูแลและส่งเสริมผลักดันภูมิในการทำงานอาสากู้ภัย ทำหนังสือให้การรับรองความประพฤติ และพร้อมจะดูแลการประกอบอาชีพของจำเลยด้วย แต่ศาลเยาวชนฯ ยังคงเห็นว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม |
.
มาตรา 132 ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรานี้มีเนื้อหาถึงการกำหนดมาตรการพิเศษให้กับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด โดยศาลไม่ต้องมีคำพิพากษา โดยวรรค 1 ให้อำนาจศาลใช้ดุลยพินิจกำหนดเงื่อนไข ตามแผนฟื้นฟูเยาวชน เช่น เข้าร่วมกิจกรรมบำบัด หรือเข้ารับคำปรึกษา ฯลฯ เพื่อให้เด็กสามารถกลับสู่สังคมได้ และจะไม่ถูกควบคุมตัว แตกต่างจากมาตรา 132 วรรค 2 กำหนดให้ศาลที่เห็นว่าไม่ควรกำหนดเงื่อนไขตามวรรคแรก ให้ส่งเด็กหรือเยาวชนเข้าสถานพินิจฯ หรือสถานที่อื่นก็ได้ ซึ่งทำให้เยาวชนต้องถูกส่งเข้าไปควบคุมตัวอยู่ในสถานพินิจฯ เป็นเวลาตามที่กำหนด วรรคหนึ่ง ระบุว่า “ในกรณีที่ศาลเห็นว่าตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรจะมีคำพิพากษาหรือบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วยร้องขอ เมื่อศาลสอบถามผู้เสียหายแล้ว ศาลอาจมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวแล้วมอบตัวจำเลยให้บุคคลดังกล่าวโดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้ โดยกำหนดเงื่อนไข เช่น ให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติหรือเจ้าพนักงานอื่นหรือบุคคลใดหรือองค์การด้านเด็ก เข้ารับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูรับคำปรึกษาแนะนำ เข้าร่วมกิจกรรมบำบัดหรือกิจกรรมทางเลือก หรือให้ใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร แต่ต้องไม่เกินกว่าจำเลยนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ ในการนี้ศาลมีอำนาจสั่งให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วยเข้าร่วมกิจกรรม หรือรับคำปรึกษาแนะนำด้วยก็ได้ วรรคสอง ระบุว่า “ในกรณีศาลเห็นว่าจำเลยไม่สมควรใช้วิธีการตามวรรคหนึ่ง ศาลจะส่งตัวจำเลยไปยังสถานพินิจหรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและตามที่ศาลเห็นสมควรที่ยินยอมรับตัวจำเลยไว้ดูแลชั่วคราว หรือจะให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนไปพลางก่อนก็ได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าจำเลยนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์” |
.
สถานพินิจ กับ ศูนย์ฝึกอบรม
ก่อนเริ่มสนทนากับ “ป้ามล” ชวนทำความเข้าใจ “สถานที่ควบคุมตัวเด็กและเยาวชน” ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
หน่วยงานแรก คือ “สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน” คือ หน่วยงานที่ดําเนินการด้านการสืบเสาะ ประมวลข้อเท็จจริงในคดีอาญา ตามคําพิพากษาหรือคําสั่งศาล และดําเนินการด้านการควบคุม ดูแล แก้ไข บําบัด ฟื้นฟู ป้องกัน พัฒนาพฤตินิสัย และสงเคราะห์เด็กและเยาวชนระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี
อีกหน่วยงานหนึ่งคือ “ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน” คือ หน่วยงานดำเนินการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเยาวชนที่กระทำความผิดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เข้ารับการฝึกอบรม โดยการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเป็นมาตรการที่กำหนดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือสนับสนุนเด็กหรือเยาวชนให้สามารถอยู่กับครอบครัวและชุมชนได้ เช่น การรับคำปรึกษา แนะนำ การเข้าร่วมกิจกรรมบำบัด การเข้าร่วมกิจกรรมทางเลือก การศึกษา หรือการฝึกอาชีพหรือวิชาชีพ
ทั้งสองหน่วยงานอยู่ภายใต้กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม (ดู “กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2561”)
นอกจากนั้นยังมีหน่วยที่เรียกว่า “สถานแรกรับเด็กและเยาวชน” ภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนอีกฉบับหนึ่ง ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำหนดให้เป็นสถานที่รับเด็กไว้อุปการะเป็นการชั่วคราวเพื่อสืบเสาะและพินิจเด็กและครอบครัว เพื่อกำหนดแนวทางในการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพที่เหมาะสมแก่เด็กแต่ละราย
ตามโครงสร้างของกรมพินิจฯ ได้จัดวางให้สถานแรกรับฯ อยู่ภายใต้สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ทั้งในกรุงเทพมหานครฯ และต่างจังหวัด โดยโครงสร้างแล้ว สถานพินิจฯ และสถานแรกรับฯ จึงถูกออกแบบมาให้ดำเนินการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีในกระบวนการระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณาคดี ส่วนศูนย์ฝึกและอบรมฯ ดำเนินการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เข้ารับการฝึกอบรบ
.
.
ปัญหาโครงสร้างของหน่วยงานดูแลเด็ก–เยาวชนที่ถูกดำเนินคดี
ป้ามลเริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นลักษณะโครงสร้างของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่แยกเป็นสถานพินิจฯ หรือสถานแรกรับฯ ที่เมื่อเด็กและเยาวชนถูกจับกุมตัว และเมื่อหมดอำนาจควบคุมตัวของตำรวจ จะต้องถูกไปควบคุมตัวที่สถานแรกรับฯ ซึ่งเด็กเยาวชนอาจจะได้ประกันตัวหรือไม่ได้ประกันตัวก็ได้ เมื่อไปถึงชั้นศาลและมีคำพิพากษา ศาลอาจจะยกฟ้อง หรือมีคำสั่งเข้าฝึกอบรมในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนฯ ซึ่งก็จะเป็นสถานที่จัดมาตรการต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูเด็กและเยาวชนตามที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว รวมทั้งการฝึกอบรมวิชาชีพ
“พอเป็นแบบนี้ เราดูในเชิงโครงสร้าง รัฐก็จะออกแบบให้ทางสถานแรกรับฯ ไม่ค่อยมีอะไร ในเชิงระบบ ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีนักวิชาชีพฝึกวิชาชีพเด็ก โดยปกติ มันก็รวมอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรมฯ ทั้งหมด จะฝึกอาชีพอะไรก็ว่ากันไป ก็มีเยอะแยะ จะเป็นอาชีพช่างไฟฟ้า ช่างแอร์ ช่างไม้ ช่างคอมฯ แต่ในความเป็นจริง อาชีพในนี้มันก็ไม่ได้อัปเดต อาชีพ Start up มันไปไกลถึงไหนแล้ว ในนี้ก็ตามไม่ทัน”
“แล้วในสถานแรกรับฯ ในเชิงระบบใหญ่ของมัน ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้รองรับเด็กที่จะอยู่ยาว แต่ออกแบบมาสำหรับที่อยู่สั้น ๆ รอการประกันตัว รอคำพิพากษา เป็นการบำบัดฟื้นฟูเบื้องต้น รัฐไม่ได้มีงบประมาณลงทุนให้กับแรกรับฯ ที่จะให้มีฝึกอาชีพ เท่ากับที่ศูนย์ฝึกฯ”
“สถานพินิจฯ หรือสถานแรกรับ มันจึงไม่ใช่ที่ฝึกอาชีพฯ แต่เป็นสถานที่พักตัวชั่วคราว ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ดูแลเด็กระยะยาว อาจจะมีให้ทำกิจกรรมวาดรูป ระบายสี ทดสอบ สัมภาษณ์พูดคุย แต่จะบอกให้ไปเรียนอาชีพนั่นนี่ มันไม่มี ในเชิงบุคลากร ก็จะมีแค่คุมประพฤติ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ก็วนแค่นั้น”
ภายใต้ลักษณะทางโครงสร้างเช่นนี้ ทำให้ป้ามลเห็นว่า คำสั่งของศาลในคดีที่สั่งตามมาตรา 132 วรรคสอง ซึ่งเป็นมาตรการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการมีคำพิพากษา ให้ควบคุมตัวเยาวชนในสถานพินิจฯ พร้อมกับให้เยาวชนไปเลือกฝึกอบรมวิชาชีพตามความสนใจ มันจึงดูจะขัดกับระบบโครงสร้างของหน่วยงานหรือสถานที่แบบที่เป็นอยู่
“เมื่อมีคำสั่งให้เด็กอยู่ที่แรกรับฯ แต่ให้ฝึกอาชีพด้วย มันก็จะย้อนแย้งกับสภาพที่เป็นจริง เจ้าหน้าที่สถานแรกรับฯ เมื่อศาลสั่ง เขาก็ได้หมด แต่ถ้าเข้าไปดู Job Descriptions ของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในแรกรับฯ ว่ามีนักฝึกอาชีพอะไรบ้าง นักวิชาอาชีพอะไรบ้าง คำตอบคือไม่ได้มีหรอก เพราะโครงสร้างมันไม่ได้ออกแบบรองรับ
“ตรงนี้เราไม่ได้กล่าวหาแรกรับฯ แต่มันถูกดีไซน์ให้เป็นที่อยู่ระยะสั้น มันก็เลยไม่จำเป็นต้องมีบุคลากร ถ้าเราไปดูศูนย์ฝึกฯ หลังคำพิพากษา ในนั้นอาจจะมีช่างแอร์ ช่างไม้ ช่างเทคนิคคอมพิวเตอร์ เพราะเด็กต้องอยู่กันเป็นปี
“แล้วในทางพัฒนาการการเรียนวิชาชีพจากในนั้น มันก็อาจจะเป็นไปไม่ได้ สมมติว่าภูมิอยู่ในแรกรับฯ กับเพื่อน ในนั้น มันจะหมุนเร็วมาก เช่น คนนี้เดี๋ยวก็ไปละ คนนี้เข้ามาใหม่ แต่เดี๋ยวก็ไปละ มีแต่ภูมิที่เหลืออยู่ ในระบบการฝึก มันไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อเคยมีเด็กอยู่สามคน แต่อีกอาทิตย์เหลือคนเดียว อีกคนปล่อยไปแล้ว อีกคนถูกตัดเข้าศูนย์ฝึกฯ หรือถูกยกฟ้อง แล้วก็มีคนใหม่เข้ามาอีก เด็กที่อยู่ยาว ก็อาจจะงงมากเลย เพราะระบบมันไม่เอื้อต่อเขาเลย
“ศาลอาจจะไม่เข้าใจสภาพนี้ ว่ามันส่งผลต่อเด็กด้วย แทนที่เราจะได้เด็กคนหนึ่ง ซึ่งสงบ calm down แต่เด็กกลับจะรู้สึกต่อต้าน และเจ็บแค้น”
.
.
การใช้มาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษา ตาม ม.132 ต้องใช้อย่าง “มีพลัง”
หากกลับมามองเฉพาะตัวบทกฎหมายตามมาตรา 132 ป้ามลเห็นว่ามีเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ดี ก็คือการให้ศาลมีช่องทางใช้มาตรการอื่น ๆ แทนการมีคำพิพากษาในคดี ทำให้เด็กเยาวชนที่กระทำความผิด ไม่ต้องมีประวัติในคดีอาญา และกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้
“เจตนารมณ์คือทำให้เด็ก ๆ ที่หลุดเข้ามาในกระบวนยุติธรรม ปลิวออกไปโดยไม่มีราคาแต่ในทางเทคนิค มันก็พบว่าเป็นไปไม่ได้เหมือนกันหมด แต่ละคนต้นทุนไม่เหมือนกัน บางคนมีครอบครัว บางคนไม่มีหรือไม่อยู่โดยทั่วไป เขามักใช้วรรคหนึ่ง อาจจะมองว่าเด็กมีผู้ปกครอง สิ่งที่เด็กทำ โทษไม่ได้สูง ศาลก็เลยอาจจะให้เด็กคืนสู่ครอบครัวได้ โดยมีแผนบำบัดฟื้นฟู หรือไปพบกับผู้เชี่ยวชาญ”
แต่ป้ามลก็มีความเห็นว่าการใช้วรรคแรกนี้ ก็ควรกำหนดมาตรการที่มีพลัง มีส่วนเสริมให้ป้องกันการที่เด็กเยาวชนจะไปกระทำความผิดซ้ำ ไม่ใช่กำหนดมาตรการอะไรก็ได้
เธอยกตัวอย่างกรณีที่ศาลแห่งหนึ่ง เคยสั่งให้กลุ่มเด็กเยาวชนที่พกพาอาวุธ เช่น พวกระเบิดปิงปอง หรือมีด แต่ยังไม่ได้ทำอะไรต่อกัน รวม 13 คน เข้ามาตรการพิเศษตามวรรคหนึ่งนี้ แต่กำหนดให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองมาเข้าร่วมการอบรมที่บ้านกาญจนาภิเษกเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน เพื่อให้ออกแบบกระบวนการที่สร้างการเรียนรู้ให้กับแต่ละครอบครัว
ป้ามลบอกว่า กรณีเยาวชนกลุ่มนี้ บ้านกาญจนาฯ ได้ออกแบบกระบวนการให้มีเยาวชนอีก 13 คนที่อยู่ในบ้านกาญจนาฯ ตามคำพิพากษา จากกรณีการกระทำความผิดที่ค่อนข้างรุนแรงอื่น ๆ มาเป็นลักษณะโค้ช แต่ละครอบครัว ให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมทั้งมีกิจกรรมและการบรรยายของป้ามลเพิ่มเติม ซึ่งค่อนข้างประสบความสำเร็จ เด็กเยาวชนกลุ่มนี้ออกไปแล้ว ก็ไม่ได้มีการกระทำผิดซ้ำ
“ตอนนั้น มีผู้ปกครองคนหนึ่งที่ขับแท็กซี่ หลังอบรมครึ่งเช้า แล้วพักเบรก เขาก็หายไป เราก็นึกว่าเขาจะต่อต้านเรา แต่ปรากฏว่าเขาไปซื้อช่อดอกไม้ที่ศาลายา มาให้เรา กระบวนการครึ่งวัน ทำให้เขารู้สึกว่าเขาพลาดตรงไหนในการเลี้ยงลูก แล้วเขาอยากได้ลูกคืนต้องทำยังไง เขารู้สึกอินมาก
“ตอนนี้เด็ก 13 คน ก็ออกไปสู่สังคม บางคนไปเรียนวิศวะ บางคนเป็นช่างทำ build in ให้บ้านกาญจนาฯ ไม่มีใครทำผิดซ้ำ อันนี้คือการใช้มาตรา 132 วรรคหนึ่ง แต่มันต้องถูกใช้อย่างมีพลัง ไม่ใช่อะไรก็ได้ เพราะก็ต้องระวังไปกระทำผิดซ้ำ หลายคนก็จะมองว่าเรื่องนี้เป็นคุณ เพื่อช่วยให้เด็กไม่มีรอยด่างพร้อยในทางคดี
“แต่ประเด็นก็คือ ในประเทศไทย มันไม่ได้มีกลุ่มนักวิชาชีพไปจัดการกับ dead lock ทางความคิดของเด็ก เด็กที่ถูกใช้มาตรการพิเศษตาม 132 จำนวนหนึ่ง ก็ยังทำผิดอยู่ แค่ศาลเหมือนเรียกมาอบรม หรือส่งไปให้คนอบรม แล้วคิดว่าของพวกนี้เป่ากระหม่อมแล้วจะหายเลย”
.
.
ปัญหาการสั่งให้ควบคุมตัวในสถานพินิจ/ศูนย์ฝึกอบรม ตาม ม.132 วรรคสอง
ส่วนกรณีการสั่งให้ควบคุมตัวตามมาตรา 132 วรรคสองนั้น ป้ามลก็พบว่ามีอยู่บ้าง แถมในหลายกรณีถูกศาลสั่งให้เข้ามาในศูนย์ฝึกอบรมฯ ซึ่งเป็นสถานที่ดูแลเยาวชนที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วอีกด้วย ทำให้เกิดสภาพการควบคุมตัวที่ดูเหมือนจะขัดกับวัตถุประสงค์ของสถานที่ขึ้นมา เนื่องจากศูนย์ฝึกอบรมฯ นั้นควรจะดูแลเฉพาะเยาวชนที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
“ที่บ้านกาญจนาฯ ตอนนี้ก็มีเด็กตามมาตรา 132 อยู่คนหนึ่ง น่าแปลกใจว่าคดีนี้ มีเด็กอยู่สองคน แต่ศาลพบว่าหนึ่งในสอง มีผู้ปกครองอยู่ เขาก็เลยไม่ได้ให้เด็กคนหนึ่งเข้าศูนย์ฝึกฯ แต่เด็กอีกคน ไม่มีผู้ปกครอง เขาก็ให้เข้ามาอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ
“พอเด็กคนนี้มาอยู่กับเราแล้ว ไอ้ที่บอกว่าเด็กคนนี้ไม่มีผู้ปกครองนั้น เราตามได้ มีตั้ง 4 คน ทั้งตา ยาย พี่สาว ทุกคนก็มาหมดเลย มาปฐมนิเทศก็มา มาทำกลุ่ม empower ก็มา สรุปก็คือเด็กคนนี้ก็ควรจะถูกใช้ 132 วรรคหนึ่ง เหมือนกับเด็กอีกคน แต่ไปถูกสั่งตามวรรคสอง เพื่อให้มาอยู่ในการควบคุม ทั้งที่ตามกติกา ก็น่าจะผิด เพราะเด็กที่ถูกสั่งตาม 132 วรรคสอง ไม่น่าจะเข้ามาอยู่รวมกับเด็กที่ถูกตัดสินและมีคำพิพากษาแล้ว
“เรื่องนี้ เด็กสองคนก่อคดีด้วยกัน เรื่องลักวิ่งชิงปล้นเล็ก ๆ คนที่เสนอว่าศาลว่าเด็กคนหนึ่งมีผู้ปกครอง อีกคนไม่มี ก็คือเจ้าหน้าที่สืบเสาะ ของสถานพินิจฯ คำถามก็คือเขาสืบเสาะยังไง ไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้ ทำไมถึงได้ข้อมูลมาไม่เท่ากัน แต่พอเด็กมาอยู่กับเรา เราตามหาผู้ปกครอง ไม่นานเลยก็เจอ แสดงว่าการสืบเสาะมันไม่ได้มีประสิทธิภาพจริง”
ในแง่นี้ ดูเหมือนเด็กและเยาวชนที่ถูกสั่งให้ควบคุมตัวและฝึกวิชาชีพ ตามมาตรา 132 วรรคสอง โดยไม่ได้มีคำพิพากษา จะกลายเป็นช่องว่าง เชิงระบบและโครงสร้างของหน่วยงานแบบที่เป็นอยู่ โดยไม่รู้ว่าจะจัดกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ถูกสั่งให้เข้ามาตรการตามมาตรานี้ ลงไว้ในพื้นที่ใด และลักษณะใดดี
“การสั่งตามมาตรา 132 วรรคสอง มันเลยมีช่องว่างอยู่ ตามหลักแล้ว ในศูนย์ฝึกฯ ต่าง ๆ เด็กตาม 132 มันต้องไม่ให้เข้าไปอยู่ข้างใน เพราะถือว่าไม่ใช่คำพิพากษา ถ้าเข้าไปศูนย์ฝึกฯ มันต้องมีคำพิพากษาแล้ว แต่ปรากฏว่าในศูนย์ฝึกฯ หลายแห่ง มีเด็กตาม 132 เป็นร้อยเลย ซึ่งอันนี้ถ้าดูตามเจตนารมณ์กฎหมาย มันน่าจะผิดกันนะ ที่ราชบุรีเหมือนจะมีเกือบร้อยคน ที่บ้านกรุณาก็มี บ้านกาญจนาฯ ก็มี 1 คน
“คือมันเหมือนจะช่วยให้เด็กไม่ต้องคำพิพากษา ไม่มีประวัติฯ แต่เขาไม่รู้ว่าในชีวิตประจำวัน พอเด็กไปถูกขังอยู่ข้างใน อารมณ์ความรู้สึก เวลาที่มันหายไป นาฬิกาชีวิตที่มันหยุดเดิน จะรับผิดชอบเขายังไง ถึงแม้คำตอบสุดท้าย คือไม่มีประวัตินะ แต่มันไกลเกินไป ที่เด็กจะจับต้องได้ วันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง มันทำร้ายเขาไปแล้ว แต่พยายามให้เขาไปดูบนยอด เขาอาจจะไม่เห็นหรอก อารมณ์ความรู้สึกเขาไปไม่ถึงไอ้ยอดนั้น อันนี้เป็นความไม่เข้าใจของคนที่มีอำนาจ”
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาปลีกย่อยอีกบางส่วน เช่น ในการฝึกอบรมวิชาชีพ หากเด็กเยาวชนสนใจหลักสูตรอาชีพใหม่ ๆ หรืออาชีพที่สถานพินิจฯ/ศูนย์ฝึกอบรมฯ ไม่เคยมีการฝึกอบรมมาก่อน และอาจจะไม่สามารถจัดหาให้ได้ จะทำอย่างไรต่อไป เมื่อเด็กและเยาวชนเลือกความสนใจเช่นนั้นด้วยตนเอง
นอกจากนั้น หากเยาวชนบางรายถูกฟ้องในหลายคดี อย่างในกรณีของภูมิ ที่ในคดีที่ไม่ใช่มาตรา 112 ก่อนหน้านี้ ศาลองค์คณะอื่น ๆ ได้สั่งให้ภูมิเข้ามาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษา ตามมาตรา 132 วรรคหนึ่ง และได้มีกระบวนการอบรมหรือฟื้นฟูอยู่ภายนอก แต่ยังไม่เสร็จสิ้นระยะเวลาตามที่ศาลกำหนด หากเมื่อมีคดีที่ถูกศาลในคคีใหม่ สั่งให้ควบคุมตัวในสถานพินิจฯ ตามวรรคสอง ทำให้กระบวนการอบรมฟื้นฟูในคดีเดิมนั้นก็ต้องสะดุดหยุดลง และเกิดปัญหาการปฏิบัติตามมาตรการตามที่ศาลกำหนดตามมา
.
.
ยังไม่มีสถานที่อื่นในการควบคุมตัวตามกฎหมาย ที่ไม่ใช่สถานพินิจฯ
ป้ามล ยังกล่าวถึงสถานที่อื่นตามกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่สถานพินิจฯ แต่อาจใช้เป็นสถานที่ควบคุมตัวเยาวชนตามคำสั่งศาลได้ ก็ยังมีปัญหาเรื่องการไม่มีกฎกระทรวงออกมารับรองสถานะ ทำให้ไม่มีสถานที่ประเภทนั้นที่สามารถใช้ได้
“ตาม ม.132 วรรคสอง จริง ๆ ก็เปิดช่องให้ศาลสั่งไปอยู่ที่อื่น ที่ไม่ใช่สถานพินิจฯ ก็ได้ คือเขียนว่า ‘สถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย’ แต่สถานที่อื่นนี้ ก็คงจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมพินิจฯ ซึ่งนาทีนี้อาจจะไม่มี แต่ในอนาคต บ้านกาญจนาฯ ก็พยายามผลักดันตัวเองออกจากระบบของรัฐ ที่เราทำอะไรได้เยอะแยะ เพราะว่าเราดื้อ แต่เราก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ตอนนี้ส่วนหนึ่ง เราก็พยายามต่อสู้เรื่องนี้
“ตอนแรกที่ป้ามาอยู่ที่นี่ โจทย์ของป้าก็คือว่าทำยังไง ให้เด็กที่เราดูแล ออกไปกระทำผิดซ้ำน้อยที่สุด เพราะตัวเลขใหญ่มันเยอะไง 30-40% แล้วเราก็คิดว่าเราเจอเครื่องมือนั้นแล้ว แล้วเราจะส่งเครื่องมือนี้คืนให้กับรัฐไป แต่เราก็พบว่ามันไม่รอดหรอก เพราะระบบของรัฐ มันเป็นระบอบอำนาจนิยม แต่เครื่องมือมันเหมาะจะอยู่ในความสัมพันธ์แนวราบ รัฐไม่ได้ถูกออกแบบให้พอดีกับเครื่องมือเรา มันเป็นระบบเสื้อโหล
“แล้วเรามาดูว่าใน พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มันมีมาตรา 55 เขียนว่า ให้อธิบดีกรมพินิจฯ มีอำนาจออกใบอนุญาตให้เอกชนจัดตั้งสถานฝึกและอบรมเด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด เป็นจำเลย หรือเป็นผู้ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง ประเด็นก็คือกฎกระทรวงมันยังไม่ถูกเขียน ไม่มีกฎกระทรวงรองรับ ข้อเสนอของบ้านกาญจนาฯ ก็คือขอให้มีกฎกระทรวง แล้วให้บ้านกาญจนาฯ ออกมา
“คือตอนนี้เราอาจจะมี NGOs ที่รับดูแลเด็กที่ถูกทิ้ง เด็กที่ไม่ได้กระทำผิดตามกฎหมาย แต่มีความสุ่มเสี่ยง แต่ไม่ใช่บ้านที่ดูแลเด็กหลังมีคำพิพากษาของศาล ซึ่งตอนนี้ก็ไม่มีกฎกระทรวงเรื่องนี้ เราก็ยื่นขอเรียกร้องไป”
.
สิ่งสำคัญไม่ใช่การอบรมวิชาชีพ แต่คือสร้างการเรียนรู้วิชาชีวิต และความคิดที่ดี
ปัญหาอีกระดับหนึ่ง ในการสั่งฝึกอบรมวิชาชีพในมุมมองของป้ามล ผู้ทำงานกับเด็กเยาวชนที่กระทำความผิด และต้องคำพิพากษาในคดีที่มีโทษรุนแรงต่าง ๆ มานับสิบปี คือ บ้านกาญจนาภิเษกไม่ได้มองว่าการฝึกอบรมอาชีพเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุดที่จะใช้แก้ปัญหาของเด็กเยาวชนที่กระทำความผิดได้
“ที่บ้านกาญจนาฯ ไม่เน้นฝึกอาชีพ เพราะเราไม่เชื่อว่าการมีอาชีพ จะพาเด็กไปสู่ชีวิตที่ดี แต่เราเชื่อว่าวิธีคิดที่ดี จะพาเด็กไปสู่อาชีพที่ดี เมื่อเราเซ็ทลำดับความสำคัญแบบนี้ เราก็เลยทำเรื่องความคิดที่ดี หรือว่า mindset แล้วให้เด็ก ๆ พา mindset ออกไปหาอาชีพ แต่ฐานคิดของรัฐก็คือให้อาชีพ แต่ไม่ให้ความคิด
“ความจริงเราก็ประจักษ์กันอยู่แล้ว ว่าสามแสนกว่าคนในเรือนจำ ที่มาติดคุก มีอาชีพกันเยอะแยะไปหมด มีทั้งตำรวจ ทหาร ข้าราชการ ทนายความ หมอ เจ้าอาวาส ก็มาติดคุก เราก็เลยเชื่อว่ามนุษย์ต้องมีความคิดที่ดีก่อน แล้วเอาความคิดที่ดีออกเดินทางเพื่อไปหาอาชีพ บ้านกาญจนาฯ ก็เลยไม่เน้นฝึกอาชีพ
“พอไม่มี เกิดอะไรขึ้น พอเด็กไปศาลวันที่จะเขาได้รับการปล่อยตัว ศาลมักจะมีคำถามกับเด็กที่ได้ปล่อยตัว เช่นว่าคุณฝึกอาชีพอะไรที่บ้านกาญจนาฯ บ้าง เขาบอกว่าผมไม่ได้ฝึก ศาลก็ถามว่าได้ยังไง แล้วจะออกไปทำงานอะไร เด็กก็บอกว่าผมเรียน ‘วิชาชีวิต’ ครับ ผมเรียนเรื่องความคิด เรื่องการตัดสินใจ เรื่องการจัดการกับอารมณ์ตัวเอง ศาลก็มักจะงง
“เด็กบางคน พอศาลถาม แล้วเขาบอกไม่ได้ฝึกวิชาชีพ เด็กก็บอกว่าบ้านผมมีรีสอร์ตครับ กลับไป ผมไปช่วยที่บ้านทำงาน ช่วยดูแลแขก ทำความสะอาด จัดระบบ ทั้งหมดนี้ มันสะท้อนว่าศาลไม่ได้รู้ว่าโลกมันกว้างแบบไหน เด็กแบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องไปเรียนวิชาชีพ แต่ศาลก็มักจะคิดว่าเมื่อเข้ามาในศูนย์ฝึกฯ หรือแรกรับฯ ก็ตาม เด็กต้องเรียนอาชีพใดอาชีพหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริง ไม่จำเป็น
“ที่บ้านกาญจนาฯ เราไม่ทำเรื่องวิชาชีพแบบ 100% เราทำแค่ 25% แม้แต่องค์ภาฯ ก็เคยถามป้าว่าอยากฝึกอาชีพอะไรเพิ่มไหม ป้าก็ตอบว่าไม่ต้องการเรื่องนี้ เพราะไม่เชื่อเรื่องฝึกอาชีพ ลองดูนักโทษในเรือนจำสามแสนกว่าคน ส่วนใหญ่ก็มีอาชีพหมด แสดงว่าอาชีพไม่ได้เป็นเครื่องมือที่พาคนไปสู่หลักประกันว่าเขาจะไม่ติดคุก เราเชื่อว่าความคิดที่ดี โดยเฉพาะกับวัยรุ่น จะมีพลังพอที่จะพาเขาไปหาอาชีพได้ ดังนั้น ที่บ้านกาญจนาฯ ในเชิงโครงสร้าง เราจะลดขนาดการฝึกอาชีพ หมายถึงจำนวนวันสำหรับการฝึกอาชีพของที่นี่จะเหลือนิดหน่อย
“แล้วปัญหาเรื่องฝึกอาชีพ คืองบประมาณ และคุณภาพของเจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งให้มาฝึกอาชีพ มันก็ไม่ได้ขนาดนั้น งบก็น้อยมาก อาชีพก็ไม่ได้อัปเดตกับโลกข้างนอก เราก็เลยไม่ให้น้ำหนักกับเรื่องฝึกอาชีพ
“เรื่องเรียนหนังสือก็เหมือนกัน หลายที่ก็จะบอกว่าเด็กเรียนหนังสือไม่จบ ก็ต้องให้เรียน กศน. ข้างใน แต่บ้านกาญจนาฯ เราเชื่อว่าเด็กก็เรียนหนังสือกันมาเยอะ ก็ยังมาติดคุก เราก็จะหักให้มันน้อยลง แต่มาเรียนวิชาชีวิตกัน ฝึกให้เด็กคิด วิเคราะห์ มีให้เด็กดูหนังด้วยกัน แล้วก็ชวนกันวิเคราะห์หนัง เราเชื่อว่า mindset ที่ดี จะพาเขาไปสู่อาชีพได้เองในอนาคต ซึ่งตัวเลขของเด็กที่กระทำความผิดซ้ำหลังออกจากบ้านกาญจนาฯ ก็น้อยมาก”
“นี่เป็นข้อค้นพบของบ้านกาญจนาฯ ถ้าเด็กคนใดจะมาอยู่บ้านกาญจนาฯ ความที่เราเลือกหลักเรื่องการเปลี่ยน mindset เวลาที่เด็กจะมาอยู่กับเรา ต้องมากกว่าปีครึ่งขึ้นไป มันจะไปพ้องกับคดีอุจฉกรรจ์ เราค้นพบเรื่องนี้มาเป็นสิบปีแล้ว
“ไม่กี่เดือนก่อน ศาลสั่งให้เด็กคนหนึ่งมาอยู่บ้านกาญจนาฯ ซึ่งมีระยะเวลาควบคุมตัว 8 เดือน เราก็บอกว่าเราไม่รับ เราก็พยายามอธิบาย ว่าเราใช้เครื่องมือที่พยายามเปลี่ยน mindset ซึ่งใช้เวลาไม่เท่ากัน เมื่อเราเลือกเส้นทางนี้แล้ว เราก็ต้องคุมหลักคิดให้อยู่ ไม่ให้ปัจจัยภายนอกเข้ามาทำลายปัจจัยภายในของเรา เราก็เถียงกันอยู่ เราไม่ได้มีปัญหากับเด็ก แต่เราก็พยายามรักษาหลักการ หรือข้อค้นพบของเราให้ได้ ในที่สุด เคสนี้เราก็ไม่ได้รับ ก็มีการไปพูดกันว่าบ้านกาญจนาฯ เป็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขตด้วยนะ (หัวเราะ)”
.
.
คำพิพากษาแบบใดที่ศาลเยาวชนฯ ไม่ควรตัดสิน
ในเรื่องการเรียนหนังสือ ป้ามลยังมีประเด็นบอกเล่าถึงคำถามที่ผู้พิพากษาซึ่งเคยมาประจำอยู่ที่ศาลเยาวชนฯ และเธอได้มีโอกาสไปอบรม ตั้งคำถามขึ้นมาอย่างชวนแปลกใจ ว่าคำพิพากษาแบบไหนที่ควรจะตัดสินในคดีเยาวชน และคำพิพากษาแบบไหนที่ไม่ควรตัดสิน
“ป้าบอกว่า คำพิพากษาที่ไม่ควรเขียน ก็คือไปบอกว่าให้เด็กคนนั้นเรียนให้จบ ม.ต้น หรือ ม.ปลาย แล้วแต่ เพราะไปเห็นว่าการก่อคดีของเขา มาจากการที่เขาเรียนไม่จบ เขายากจน ไม่มีผู้ปกครองที่สนับสนุนการศึกษาได้ แต่เด็กหลายคนที่ถูกตัดสินหรือสั่งแบบนี้ พอเด็กเข้าไปอยู่ข้างใน สิ่งแรกที่เขาจะไม่ได้เลย คือเขาจะไม่ได้รับการลดโทษ เพราะคำสั่งมันไปผูกพันอยู่กับการเรียนให้จบ
“ในขณะที่มีเด็กเป็นร้อย และไม่ได้ถูกตัดสินด้วยคำสั่งแบบนี้ พอถึงเวลาเขาจะได้ลดโทษ ของบ้านกาญจนาฯ ปีละหกครั้ง เมื่อก่อนประมาณสี่ครั้งต่อปี ที่อื่น ๆ ก็อาจจะต่างกันไป ในช่วงขอการลดโทษ เด็กทุกแห่งก็จะตื่นเต้นกัน ว่าผมได้เสนอหรือยัง นักสังคมฯ ได้เสนอให้ผมไหม แล้วก็จะประกาศว่าได้ลดโทษ 10 วัน, 15 วัน, 1 เดือน เป็นต้น แต่กลุ่มคนที่ถูกตัดสินว่าให้เรียนให้จบด้วย ก็จะไม่ได้สิ่งเหล่านี้ แล้วเรื่องแบบนี้ บางทีมันทำให้เด็กรู้สึกต่อต้านระบบ รู้สึกอยุติธรรม เจ็บปวด ไม่นิ่ง หรือไม่สงบ
“แล้วที่สำคัญ คือการเรียนข้างใน มันไม่ได้โดดเด่นขนาดนั้น แล้วบางทีเด็กก็ขาดเอกสาร จะติดต่อกับคนข้างนอกก็ยาก ระหว่างรอเอกสารสำคัญอยู่สักใบ ช่วงเวลาของการสมัครหมดไป ทำให้เทอมนั้นหายไปทั้งเทอมเลย ยังไม่ได้เรียนเลย ต้องไปรออีกเทอมหนึ่ง คนที่รับสมัครก็บอกไม่มีเอกสาร แต่เขาติดต่อพ่อแม่ไม่ได้ เขาก็งงมาก
“บางคนเจอสภาพพวกนี้ จากเทา ๆ เทาอ่อน กลายเป็นดำไปเลย เพราะระบบมันอยุติธรรมสำหรับเขา เราก็ฟังเรื่องพวกนี้จากเด็ก คำพิพากษาแบบนี้ ป้าก็บอกว่าเขาไม่ควรตัดสิน”
.
นอกจากคดีของ “ภูมิ” แล้ว ปัจจุบัน ยังมีกรณีของ “ภัทรชัย” (นามสมมติ) เยาวชนที่ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง จากกรณีวางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติ บริเวณทางด่วนดินแดง ระหว่างชุมนุม #ม็อบ12กันยา2564 โดยขณะเกิดเหตุเขามีอายุ 14 ปี เศษ เป็นอีกหนึ่งผู้ถูกควบคุมตัวในสถานพินิจฯ บ้านเมตตาเช่นกัน คดีนี้ ทางที่ปรึกษากฎหมายทราบข้อมูลในภายหลังว่าเยาวชนให้การรับสารภาพ และศาลเยาวชนฯ สั่งให้เข้ามาตรการพิเศษตามมาตรา 132 วรรค 2 โดยให้ส่งตัวเข้าสถานพินิจฯ เป็นระยะเวลา 6 เดือน มาตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 2566 |
.