“หวังว่าวันนึง เราคงได้ขยับขา และเดินไปพร้อมๆ กัน”
ถ้อยประโยคข้างต้นถูกเขียนอยู่ในหน้าเว็บไซต์ส่วนตัวที่บรรจุเรื่องราวการทำงานของ ‘ต้าร์’ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ สะท้อนความหวัง ความฝัน ของเขาที่มีถึงเพื่อนๆ นักพัฒนา ว่าวันหนึ่งอาจได้ร่วมเดินทางเคียงข้างกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง บนถนนสายสิทธิและการพัฒนาที่ดูเหมือนยืดยาวไร้ที่สิ้นสุด
การมาถึงของรัฐประหารปี 2557 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญซึ่งบีบให้วันเฉลิมและผู้ตื่นตัวทางการเมืองจำนวนมากต้องระหกระเหินออกจากประเทศไทย และก่อนต้าร์จะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ลี้ภัยรายที่ 9 (2 รายถูกอุ้มหายไปและพบศพในภายหลัง) ซึ่งตกเป็นเหยื่อของการอุ้มหายเมื่อช่วงตะวันคล้อยของวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ในห้วงอดีต เขาคือคนหนุ่มผู้เติบโตและเป็นที่รู้จักของคนในวงการเดียวกันผ่านการทำงานขับเคลื่อนประเด็นคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน รวมไปถึงสิทธิผู้ติดเชื้อ HIV ในสายตาคนใกล้ชิด ต้าร์คือนักคิดเจ้าโปรเจ็กต์ที่เลือกอุทิศชีวิตให้การทำงานเพื่อสังคม
และคงยังเป็นเช่นนั้นต่อไป หากเหตุการณ์เลวร้ายเมื่อวันที่ 4 ไม่ได้เกิดขึ้นกับเขา…
เพื่อประกอบร่างให้เห็นภาพชีวิตของต้าร์ที่เป็นมากกว่าบุคคลผู้ตกเป็นเหยื่อของอำนาจมืด แต่คือปัจเจกบุคคลผู้เปี่ยมไปด้วยความฝันบนเส้นทางชีวิตที่อุทิศให้กับการสร้างความเปลี่ยนแปลง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนคุยกับ ป้ามล – ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก หนึ่งในมิตรสหายและเพื่อนร่วมงานในสายงานเยาวชน ผู้เฝ้ามองการเติบโตของต้าร์ ตั้งแต่สมัยเขายังเป็นเพียงคนหนุ่มไฟแรง จนถึงวันที่เขากลายเป็นนักต่อสู้ด้านสิทธิและการพัฒนาอย่างเต็มตัว
จุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักกับต้าร์?
น่าจะย้อนกลับไปช่วงปี 2543 ป้าจำได้ว่าตอนนั้นต้าร์อยู่ในกลุ่มนักเรียนที่สนใจการเมือง คิดว่าน่าจะมาเรียนหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย (ปนป.) ของสถาบันพระปกเกล้า ตอนนั้นป้าเป็นวิทยากรอบรมเยาวชนของสถาบันฯ เกือบทุกรุ่น ตั้งแต่ตอนนั้นเราเริ่มเห็นความโดดเด่นของต้าร์
“เรารู้สึกสะดุดตาในความเป็นคนกล้าแสดงออก กล้าพูด มีภาวะผู้นำ ถึงตอนนั้นเขายังเป็นเด็ก อายุ 20 ปีต้นๆ แต่เราสังเกตเห็นความโดดเด่นของเขาอย่างชัดเจน – ทิชา ณ นคร”
สิ่งหนึ่งที่เชื่อมให้เรารู้จักกันเพราะต้าร์ทำงานรณรงค์เรื่องเยาวชน ย้อนไปปี 2546 ป้ามาเริ่มงานที่บ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นงานดูแลเยาวชนค่อนข้างฮาร์ดคอร์ งานของเราอยู่ในความสนใจของต้าร์ด้วย เลยมีโอกาสได้เจอกัน มีประเด็นให้คุยไถ่ถามกัน
ต้าร์เติบโตขึ้นมากน้อยแค่ไหนจากในครั้งแรกที่ได้เจอกัน?
หากลองมองย้อนกลับไปในหลายปีที่รู้จักกัน ตอนต้าร์ยังเด็กกว่านี้ ภาพของเขาคือเด็กกระตือรือร้น ใฝ่เรียนรู้ในประเด็นที่เข้มข้นและน่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ จุดประกายคำถามให้เราว่า เอ…เด็กแบบนี้มาจากไหน (หัวเราะ) เขาต้องผ่านอะไรมาก่อน? เรียนอะไรมา? เพราะเด็กไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างว่านอนสอนง่าย นานๆ ครั้งเท่านั้น เราถึงจะเจอเด็กแบบต้าร์ซักคน ซึ่งการพบเจอเช่นนี้ทำให้เรารู้สึกว่าสังคมยังมีความหวังเหลืออยู่
การมาทำงานที่บ้านกาญจนาฯ ทำให้เราชอบเด็กดื้อ เด็กไม่เชื่อง เราบอกเด็กๆ ของเราตลอดว่าอย่าเชื่องนะ ไม่ใช่เจอเราแล้วต้องนั่งลงคุกเข่า ยกมือไหว้ ดังนั้นพอเราเจอเด็กอย่างต้าร์ เราเลยรู้สึกถูกจริต
นอกจากงานในสายเด็กและเยาวชน ต้าร์ยังสนใจงานด้านการพัฒนาในประเด็นแหลมคม ตอนหลังป้าเองเพิ่งรู้ว่าต้าร์สนใจผลักดันเรื่องสิทธิของผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งเป็นประเด็นยาก ถ้าไม่สนใจหรือไม่รักการทำงานด้านนี้จริงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าไปขับเคลื่อน เพราะต้องเจอแรงเสียดทาน เจอคนไม่ต้อนรับ เจอทัศนคติด้านลบของสังคม โดยเฉพาะในการทำงานตอนประเด็นที่ผลักดันยังค่อนข้างใหม่ คนทำงานต้องมีคุณสมบัติบางอย่างที่ไม่ธรรมดา
ถ้าให้ป้ามองเส้นทางการทำงานต้าร์ ป้าคิดว่าเขากำลังอยู่ในช่วงสร้างความเปลี่ยนแปลง คล้ายคนหนุ่มสาวจำนวนมาก สังคมยังต้องคอยให้งานที่พวกเขาทำเติบโต และไม่ควรมีใครกีดกันคนเหล่านี้ออกไปจากเส้นทางการต่อสู้ เราต้องมอบหมายให้เด็กที่ไม่เชื่องเหล่านี้คอยต่อหลักกิโลฯ ออกไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะปัญหาสังคมใหม่ๆ ย่อมต้องเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ และคนอย่างต้าร์นี่ล่ะที่จะปรับสมดุลให้การแก้ไขปัญหาให้ไม่กลืนกินผู้คนไปมากกว่านี้
หลังจากต้าร์ลี้ภัยไปแล้วยังติดต่อกันอยู่ไหม?
เรายังติดต่อกันทางเฟซบุ๊ก ป้าเข้าใจว่านั่นคือเส้นทางที่เขาเลือก เวลาเขาพูดอะไรเกี่ยวกับประเด็นสังคมที่เรารู้สึกว่าแหลมคมและเห็นคล้ายกัน อาจกดไลค์ กดเลิฟ หรือเวลาป้าแสดงความคิดเห็นที่ต้าร์สนใจ เขาก็แชร์สเตตัสเราบ้าง กดเลิฟบ้าง
“ป้าไม่เคยคิดจะถามต้าร์เลยว่าทำไมถึงลี้ภัย? ทำไมถึงไม่กลับมา? ทำไมถึงไม่มอบตัว? ป้าคิดว่าเราจำเป็นต้องเคารพในทางเลือกที่ต้าร์เป็นคนเลือก – ทิชา ณ นคร”
สำหรับป้า ป้ามองว่าเขาเป็นคนที่มีความกล้าหาญ กล้ารับผิดชอบในสิ่งที่เขาได้เลือก เราเชื่อว่าในสังคมไม่ได้มีคนแบบนี้เยอะนักหรอก และเราไม่เคยรู้สึกว่าเขาเป็นภัยต่อสังคมแม้แต่น้อย
ความกล้าหาญของต้าร์ ความกระตือรือร้น ความใส่ใจของเขา ทั้งหมดน่าจะเป็นคุณูปการต่อสังคมด้วยซ้ำ เขาไม่ควรถูกมองในฐานะอาชญากรหรือเป็นภัยต่อบ้านเมือง ป้ากลับมองว่าคนที่ตัดสินต้าร์จากมุมแบบนี้สะท้อนว่าตัวเขายังอาศัยอยู่ในโลกใบเก่า เป็นภาระและอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำไป
ตอนที่ได้ข่าวเรื่องต้าร์โดนอุ้มหายตัวที่กัมพูชารู้สึกอย่างไรบ้าง?
เหตุการณ์เกิดเมื่อ 4 มิถุนายน เวลาราว 17:00 น ตอนนั้นป้าไม่รู้ข่าวเลย ช่วงนั้นป้ายุ่งอยู่กับคดีการล่วงละเมิดทางเพศที่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นคดีใหญ่ ทำให้ไม่รู้ข่าวทั้งๆ ที่เป็นคนติดตามข่าวสารบ้านเมือง มารู้อีกทีตอนเช้าวันที่ 5 พอรู้ข่าวแล้วตกใจมาก ป้าถึงกับทิ้งงานที่ทำอยู่ในมือ แล้วทบทวนความทรงจำว่าเราเห็นต้าร์ เรารู้จักต้าร์ เราอยากวางท่าทีต่อเรื่องนี้แบบไหน ซึ่งเราแสดงออกชัดเจนแต่แรกแล้ว
ในภาพใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นกับต้าร์สะท้อนปัญหาใดในสังคม? อะไรคือหมุดหมายที่สังคมควรทำความเข้าใจต่อกรณีที่เกิดขึ้น?
อย่างแรกเลยสะท้อนว่าการจัดการคนคิดต่าง ในสังคมที่ยังมีภาวะอำนาจนิยมเป็นเรื่องที่คนมีอำนาจแทบไม่ได้คิด หรือคิดก็คิดแบบโง่มากๆ
เราอยากให้กรณีของต้าร์เป็นกรณีที่ทุกคนยอมไม่ได้ การเอาเรื่องความแตกต่างทางความคิดมาเป็นข้ออ้างใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องไม่อาจยอมรับได้ สังคมต้องเข้าใจได้แล้วว่า การทำลายชีวิตใครสักคนหนึ่งด้วยเหตุผลเรื่องความเชื่อทางการเมืองเป็นเรื่องโง่งมและอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยเฉพาะถ้าเราไม่พยายามหยุดตั้งแต่วันนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นกับต้าร์ทำให้สังคมหันมามองประเด็นชีวิตของผู้ลี้ภัยมากขึ้น คิดว่านอกจากประเด็นที่ว่าแล้ว สังคมยังควรเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้อย่างไรบ้าง?
ส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมหันมาสนใจเรื่องของต้าร์ เพราะเขาไม่เหมือนผู้ลี้ภัยสายฮาร์ดคอร์คนอื่นๆ ตัวตนของต้าร์คือนักพัฒนาสังคม ทำให้คนจำนวนหนึ่งในสังคมรู้สึกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องไม่แฟร์ เป็นเรื่องบ้าๆ และตั้งคำถามว่าการใช้วิธีแบบนี้มันเกินไปหรือเปล่า เราเลยเห็นแนวร่วมที่สนับสนุนต้าร์และคนกล้าบอกว่าประเด็นนี้ไม่เป็นธรรม
สิ่งหนึ่งที่สังคมต้องเรียนรู้ นั่นคือสังคมเรายังต้องการคนที่ไม่ธรรมดา คนที่กล้าแหลมออกมา คนที่พร้อมทนต่อแรงเสียดทาน เราจำเป็นต้องมีที่ทางในสังคมให้กับคนแบบนี้ เพราะถ้าเราไม่มีคนแบบพวกเขา นึกไม่ออกเลยว่าสังคมไทยจะก้าวไปถึงจุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
สิ่งที่เราอยากเห็นมากที่สุดคือการที่เรื่องของต้าร์สร้างความเปลี่ยนแปลงในวิธีคิดของคนอื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือที่มักพูดกันว่า ‘ตายสิบเกิดแสน’ เราต้องทำให้คำดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ถ้าต้าร์ได้รับรู้ว่าเรื่องราวของเขากลายเป็นทุนของสังคมขนาดมหึมา ป้าเชื่อว่าเขาน่าจะมีความสุข
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
“หัวใจมันตก มันแตก”: คุยกับเพื่อน ‘ต้าร์’ ในวันที่มิตรสหายถูกอุ้มหายไป
อ่านสเตตัส ‘วันเฉลิม’ ผู้ถูกอุ้มหาย: การลี้ภัย ต้านรัฐประหาร และความหวังในชีวิตไกลบ้าน
ทบทวน “ความผิด” ไม่รายงานตัว คสช.: แรงผลักดันสู่การลี้ภัย 6 ปีของวันเฉลิม
ครอบครัวยื่นหนังสือ กต.-กมธ. เร่งติดตาม-สืบสวน หลัง ‘วันเฉลิม’ ถูกอุ้มหายหน้าที่พัก 5 วันแล้ว