ซีรีส์ YOUNG มี หวัง
บรรยากาศกลางเดือนพฤศจิกายนที่ลมหนาวเริ่มพัดมา พอทำให้รู้สึกเย็นขึ้นบ้าง ช่วงเวลาปลายปีเช่นนี้ มักถูกพูดกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของปี หลายคนเฝ้ารอที่จะออกไปฉลองปีใหม่กับคนที่ตัวเองรัก ออกไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจเพื่อตอบแทนจากการทำงานหนักมาทั้งปี บางคนก็เลือกที่จะวางแผนกลับบ้านไปหาครอบครัว
ท่ามกลางผู้คนเหล่านั้น มีคนหนึ่งที่เขาเฝ้ารอ.. เฝ้ารอว่าจะได้ออกมาจากสถานพินิจแล้วกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม
เขาชื่อ “ภูมิ” หรือที่คนมักคุ้นเคยกันด้วยฉายา “ภูมิ หัวลำโพง” เขาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปี 2563 ในการชุมนุมหลาย ๆ ครั้งก็มักจะพบเจอภูมิอยู่เสมอ อย่างเช่นเหตุการณ์ที่นักกิจกรรมและประชาชนเดินทางไป สภ.คลองหลวง เรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง ในคืนนั้นมีการทำกิจกรรมและปราศรัยที่นั่น ซึ่งกลับกลายเป็นเหตุให้เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (ขณะนั้นภูมิอายุ 17 ปี)
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีนัดสืบพยาน ภูมิกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ จึงทำให้ศาลสั่งให้ใช้มาตรการพิเศษตามมาตรา 132 วรรค 2 กำหนดให้ส่งตัวภูมิไปที่สถานพินิจฯ เป็นเวลา 1 ปี และให้อบรมหลักสูตรวิชาชีพ 2 หลักสูตร
ถึงแม้ว่าตอนนี้เขาจะอายุเกิน 20 ปี ซึ่งพ้นจากการเป็น ‘เยาวชน’ แล้ว เขามีงานทำเป็นหลักแหล่ง และกลายเป็นเสาหลักของครอบครัว แต่ทว่าคำสั่งของศาลทำให้ภูมิต้องหยุดชะงักหน้าที่การงานของตัวเองลงอย่างกระทันหัน
ศูนย์ทนายฯ ชวนฟังเรื่องราวบางส่วนเสี้ยวของ “ภูมิ” จากเด็กชายผู้สนใจงานกู้ภัย สู่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง และกลายเป็นเสาหลักของครอบครัว
“ภูมิ” ในวัย 11 ขวบ เริ่มเรียนรู้ทำงานอาสากู้ภัย
ภาพภูมิใน 8 ปีที่แล้ว จากรายการสายสวรรค์ ขยันยิ่ง
ปกติแล้วเด็ก 11 ขวบต้องทำอะไรกันในเวลาว่าง อาจจะจับกลุ่มเล่นกับเพื่อน เล่นเกมส์ วิ่งเล่น หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ภูมิหันมาสนใจงานอย่าง “จิตอาสากู้ภัย” ตั้งแต่เขาอายุเท่านั้น ครั้งหนึ่งเขาเคยไปออกรายการของสายสวรรค์ ขยันยิ่ง ในตอน “เยาวชนอาสากู้ภัย” เพื่อบอกเล่าประสบการณ์การทำงานอาสาของตัวเองให้กับคนทั้งประเทศได้ฟัง
เขาเล่าถึงกิจวัตรหลังเลิกเรียน “ผมกลับมาถึงบ้านก็ประมาณห้า-หกโมงเย็น จัดการอะไรเรียบร้อยก็คว้ากระเป๋ายาออกไป ในกระเป๋าก็จะมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น อย่างน้ำเกลือ สำลี ผ้าก๊อซ เวลาออกไปปฏิบัติหน้าที่ก็จะใส่เสื้อกั๊กสีแดงแถบสีเหลืองอยู่ตลอด”
ภูมิในวัย 11 ขวบ เริ่มเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและช่วยเหลือคนในที่เกิดเหตุ ถ้ามีกรณีไหนที่เขาทำไม่ได้ เขาก็จะไปอำนวยการจราจร คอยโบกรถให้แทน เขาเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พอได้รับแจ้งเหตุก็จะนั่งมอเตอร์ไซค์ออกไปกับพี่ ๆ ทันที
เราได้มีโอกาสคุยกับหัวหน้างานที่รู้จักกับภูมิมาเกือบ 10 ปี “ภูมิช่วยเหลือทุกคน ผมเรียกให้ไปก็ไปหมด เจ็บไม่เจ็บก็ไป ไฟไหม้ก็ไป ..บางทีก็มีดื้อบ้างตามประสาเด็กผู้ชาย พอเราดุเขาว่าให้ปรับปรุงตัวเอง เขาก็ฟัง ภูมิเป็นคนรู้งาน
“งานนี้มันไม่ได้เงินเยอะ บางทีต้องวิ่งไปต่างจังหวัดก็มี มันทำด้วยใจ” พี่กู้ภัยเล่าให้ฟัง
ภูมิเล่าให้ที่ปรึกษาทางกฎหมายฟังว่า เขาสนใจเรื่องการกู้ภัยมาตั้งแต่เด็ก ๆ “ผมชอบทำกู้ภัย แล้วก็มีรับจ้างขับรถส่งผู้ป่วยให้โรงพยาบาลด้วย เวลาได้ทำงานเหล่านี้ผมรู้สึกว่าตัวผมมีประโยชน์ ได้ช่วยเหลือผู้คน ได้นำความรู้ความสามารถมาช่วยเหลือคนอื่น”
ภาพภูมิในปัจจุบันจากเพจร่วมกตัญญู จุด สน.ปทุมวัน
ภูมิ = เสาหลักของบ้าน
“ผมเป็นห่วงอาม่า.. ผมอยู่กับอาม่าตลอด สัปดาห์ก่อนที่ผมจะเข้ามา อาม่าน้ำตาลตก ยังดีที่ผมอยู่เลยช่วยได้ทัน ส่วนน้องสาวผมก็เปิดเทอมต้นเดือนนี้ (พ.ย.) ทีนี้อาม่าก็ไม่มีใครอยู่ด้วย ผมเป็นห่วงอาม่ามาก” ภูมิยังกล่าวต่อว่านอกจากอาม่าที่เขาต้องดูแลแล้ว เขาก็ต้องดูแลพี่ชายอาม่าที่อยู่บ้านเดียวกันด้วย พี่ชายของอาม่าป่วย ซึ่งต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
“ถ้าเขาขาดเราไปก็กลัวเขาจะลำบาก”
ภูมิได้แต่บอกอาม่าว่าเข้มแข็งเข้าไว้ เร็ว ๆ นี้เขาจะออกไปดูแล
เป็นห่วงครอบครัว อยากกลับไปเรียน-ทำงาน
ตอนนี้ในบ้านเมตตา ภูมิยังไม่ได้เริ่มเรียนหลักสูตรใด ส่วนเรื่องหลักสูตรข้างในนี้เท่าที่ภูมิรู้ก็จะสอนทำขนม คอมพิวเตอร์เบื้องต้น ซ่อมแอร์ สอนศิลปะ ซึ่งแล้วแต่ว่าหลักสูตรใดจะเปิดช่วงใด
“ส่วนตัวผมรู้สึกว่าที่ศาลให้มาฝึกอาชีพ ผมมีงานทำอยู่แล้วและมั่นคงด้วย หลักสูตรมีแต่ทฤษฎี ไม่ได้ปฏิบัติ มันไม่ได้ออกไปทำจริง ๆ หรืออย่าง กศน. ในนี้ ไม่ได้มีครูมาสอน ให้ทำกิจกรรม เก็บคะแนน และสอบ คือผมก็ไม่รู้ว่าเด็กจะเอาความรู้ที่ไหนไปสอบ”
ถ้าพูดถึงเรื่องการศึกษาของภูมิ หลังจากที่ภูมิเรียนจบจากโรงเรียนเดิมก็ย้ายไปเรียนต่างจังหวัดคนเดียว แต่ก็เข้ากับสภาพสังคมที่นั่นไม่ได้ รวมไปถึงระยะทางที่ไกลจากบ้านมาก “มันเลยทำให้ผมสะดุดเรื่องการเรียนตั้งแต่นั้นมาครับ” ภูมิกล่าว
ก่อนหน้านี้ภูมิเคยเรียน กศน. อยู่ แต่ช่วงนั้นเกิดการชุมนุมปี 2563 ขึ้นพอดี เขาไม่รู้สึกปลอดภัยเพราะ กศน. ที่เขาเรียนนั้นอยู่ในค่ายทหาร จึงทำให้ภูมิไม่ได้ไปเรียนต่อ “ไม่ใช่ว่าผมไม่อยากเรียนนะ ผมวางแผนไว้ว่าถ้าเรียน กศน. จบ จะเอาไปสมัครเรียนหลักสูตรพนักงานฉุกเฉินการแพทย์”
เขาพูดกับที่ปรึกษาทางกฎหมายอีกครั้ง “ผมจริงจังกับเรื่องเรียน กศน. แน่นอน เพราะก่อนหน้านี้ผมสอบหลักสูตรอาสาสมัครฉุกเฉินผ่านตั้ง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้เป็นเพราะมีปัญหาเรื่องวุฒิ และช่วงนั้นคดีต่าง ๆ ก็ยังไม่เรียบร้อย”
“ผมกำลังจะลงตัวและมีชีวิตที่ดีแล้ว ผมเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัว ทำประโยชน์ให้กับสังคมตามความรู้ความสามารถที่ผมมี ผมอยากให้ศาลเห็นใจ” ภูมิได้ทำงานที่ตัวเองรัก มีเงินและความสามารถที่จะดูแลครอบครัวของเขาแล้ว
“พอต้องเข้ามาอยู่ในนี้เหมือนตัดอนาคตเลย”
“ผมคิดว่าผมออกไป ผมช่วยคนได้เยอะ ผมเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าอยู่ในนี้”
จากนั้นที่ปรึกษาทางกฎหมายพูดคุยเรื่องคดีความกับภูมิต่อ บทสนทนาทิ้งท้ายของพวกเขาจากการเข้าเยี่ยมในเวลาที่มีจำกัดแค่ไม่กี่นาที ที่ปรึกษาทางกฎหมายเล่าให้ภูมิฟังว่าได้ไปที่ทำงานของภูมิ พี่กู้ภัยพาไปดูรถตู้ประจำตัวของเขา มันยังถูกจอดไว้
พี่คนนั้นพูดว่า “พอไม่มีภูมิ รถแทนที่จะได้วิ่งออกไปช่วยคน ก็จอดนิ่ง” ภูมิมีสีหน้าตื้นตันไม่ได้พูดอะไรต่อ คงเพราะเป็นอย่างที่ทีมงานกู้ภัยเล่าให้ฟังว่าเขามักจะไม่แสดงความรู้สึกอ่อนไหวให้ใครเห็น
หลายคนอาจจะรู้จักภูมิมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว ภูมิก็เป็นเด็กที่มีชีวิตธรรมดาคนหนึ่งที่สนใจและออกมาเรียกร้องทางการเมืองเหมือนหลาย ๆ คนในช่วงเวลาที่ผ่านมา จนวันนี้เขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตและหน้าที่รับผิดชอบของตัวเองมากขึ้น
ถึงแม้ว่าวันนี้ภูมิจะยังถูกคุมขังอยู่ในสถานพินิจ แต่ภูมิก็ยังมีความหวัง…ที่จะออกไปใช้ชีวิตปกติ ได้ออกมาทำงานเหมือนที่เคยทำทุกวัน และได้ออกไปดูแลคนในครอบครัว
จนถึงวันนี้ “ภูมิ” ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานพินิจมาแล้ว 32 วัน และเขาเริ่มต้นอดอาหารประท้วงบ้านเมตตามาแล้ว 4 วัน
ทั้งนี้ ซีรีส์ YOUNG มี หวัง ของภูมิชิ้นนี้ขอเป็นส่วนหนึ่งของการตระหนักรู้ถึงการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ซึ่งวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็น
“วันยุติความรุนแรง ต่อเด็กและสตรีสากล” และในประเทศไทย โดยมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี โดยจะมีการรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักและร่วมกันป้องกันปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดต่อเด็ก และสตรี ในครอบครัว รวมไปถึงความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ
หมายเหตุ: รวบรวมข้อมูลจนถึงวันที่ 17 พ.ย. 2566
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง