เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566 ที่ปรึกษากฎหมายได้เดินทางไปที่สถานแรกรับเด็กและเยาวชนชายบ้านเมตตา สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรุงเทพฯ เพื่อเข้าเยี่ยม “ภูมิ หัวลำโพง” (สงวนชื่อสกุล) นักกิจกรรมอิสระและอาสากู้ภัย ปัจจุบันอายุ 20 ปี
ภูมิถูกควบคุมตัวมาตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา ตามคำสั่งของศาลเยาวชนฯ ที่กำหนดมาตรการพิเศษให้อยู่ที่สถานพินิจฯ เป็นเวลา 1 ปี แทนการพิพากษาในคดีมาตรา 112 ที่เขาตกเป็นจำเลยและให้การรับสารภาพในชั้นศาล กรณีร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง ซึ่งถูกจับกุมไปยัง สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564
แม้ว่าปัจจุบันภูมิจะมีอายุ 20 ปี ซึ่งเกินเกณฑ์อายุของเยาวชน 18 ปีแล้ว แต่ภูมิก็จะยังต้องถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานพินิจฯ เนื่องจากขณะเกิดเหตุในคดีนี้เมื่อปี 2564 เขามีสถานภาพเป็นเยาวชน อายุ 17 ปีเศษ
หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2565 ภูมิเคยถูกคุมขังในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกและการชุมนุมมาแล้ว 1 ครั้ง อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมกับคู่คดี รวม 8 คน นานกว่า 104 วัน ในคดีที่ศาลอาญา จากกรณีร่วมชุมนุมบริเวณดินแดง ในวันที่ 14 มิ.ย. 2565 คดีนี้ศาลสืบพยานเสร็จสิ้นไปแล้วระหว่างวันที่ 4-5 ต.ค. ที่ผ่านมา และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 ม.ค. 2567
นอกจากภูมิแล้ว ปัจจุบัน (24 ต.ค.) มีผู้ถูกคุมขังระหว่างคดี ม.112 อีกอย่างน้อย 12 ราย ได้แก่ วุฒิ, เวหา, ทีปกร, วารุณี, วัฒน์, โสภณ, อุดม, สมบัติ, อานนท์, วีรภาพ, กัลยา และภัทรชัย
บันทึกเยี่ยมจากทนายความ
ภูมิเป็นหัวหน้าครอบครัว ห่วงอาม่า น้องสาว อยู่บ้านลำพัง
เราได้เข้าเยี่ยมภูมิราว ๆ เวลา 12.40 น. ผ่านการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เนื่องจากภูมิอยู่ในระหว่างการกักกันโรค 5 วันแรก ตามมาตรการรับผู้ถูกควบคุมตัวรายใหม่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ภูมิสวมเสื้อคล้ายกีฬาสีส้ม แขนสั้น ปกคอสีฟ้ามีแถบสีขาว ผมยังเป็นทรงเดิมอยู่ ยังไม่ได้ถูกตัด ภูมิมีสีหน้าเคร่งเครียด รีบสอบถามผลการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ให้ควบคุมตัวที่สถานพินิจฯ เป็นเวลา 1 ปี เราบอกว่าคำร้องดังกล่าวนั้นศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้อง ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 180 พอภูมิรู้ แววตาเขาดูสลด และถอนหายใจเฮือกใหญ่
ภูมิอยากให้ศาลรู้ว่าที่ผ่านมาเขาทำงานเป็น ‘อาสาสมัครกู้ภัย’ มาหลายปี ดูแลคนที่ได้รับความยากลำบากหลายคน ทำประโยชน์ให้สังคมอยู่บ้าง และเขายังเป็นเสาหลักให้กับครอบครัวอีกด้วย โดยตอนนี้อาศัยอยู่กับอาม่าและน้องสาวที่กำลังเรียนหนังสืออยู่
“ผมมีหลายอย่างที่ต้องทำ มีรับปากจะไปทำไฟให้ที่วัดแขกด้วย รับปากไปช่วยงานหลาย ๆ ที่ พอต้องมาเป็นแบบนี้ทุกอย่างพังหมด
“น้องสาวน่าจะเปิดเทอมต้นเดือนหน้า ผมเป็นห่วงอาม่ากับน้องสาว ผมอยู่กับอาม่าตลอด เพราะญาติแต่ละคนก็มีครอบครัว มีภาระที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว สัปดาห์ก่อนอาม่าน้ำตาลตก ช็อก ดีที่ผมอยู่ด้วยจึงช่วยไว้ได้ทัน
“แล้วทีนี้อาม่าก็ไม่มีใครอยู่ด้วย ผมเป็นห่วงอาม่ามาก” ภูมิน้ำเสียงสั่นเครือและน้ำตาไหลเมื่อพูดถึงอาม่า
อาเจียนเป็นเลือด แต่ได้กินเพียงยาพาราเซตามอล
ย้อนกลับไปวันแรกที่เข้ามาในบ้านเมตตา เขาเล่าว่าก็พอจะนอนหลับได้อยู่ แต่ในคืนที่สอง (19 ต.ค.) ภูมิรู้สึกชาตามแขนขา ปวดหัวหนักมาก ๆ พร้อมกับได้อาเจียนเป็นเลือดประมาณ 3-4 รอบ คืนนั้นภูมิร้องขอพบหมอแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ตามหมอมาให้ ซึ่งเขาไม่รู้ว่าที่บ้านเมตตามีแพทย์ประจำการอยู่หรือไม่
เขาเล่าต่อถึงความรู้สึกในคืนนั้นว่า ตอนนั้นไม่รู้ว่าตัวเองจะอาการเป็นยังไงต่อไป อย่างน้อยแค่ขอให้ได้พบหมอก็ยังดี ให้ได้ตรวจโรคที่แน่ชัด หรือนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงก็ยังดี แต่คืนนั้นเจ้าหน้าที่กลับให้กินเพียง ‘ยาพาราฯ’ เท่านั้น ซึ่งพอกินยาไปแล้ว อาการก็ยังไม่ดีขึ้นอยู่ดี เรื่องนี้ทำให้ภูมิไม่สบายใจอย่างมาก
ก่อนหน้านี้ ภูมิเคยมีอาการลักษณะนี้มาก่อน และเคยเข้ารับการรักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ มาแล้ว 1 ครั้ง และเมื่อต้องถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อปี 2565 เขาก็เผชิญกับอาการคล้ายกันนี้ด้วย ซึ่งในตอนนั้นเรือนจำส่งตัวเขาไปรับการรักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์ โดยทันที
เรือนจำผู้ใหญ่ VS สถานพินิจฯ
ภูมิเล่าว่า สถานพินิจฯ ไม่เหมือนกับเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่เขาเคยถูกคุมขัง ที่นี่ไม่มีร้านค้าให้ทั้งคนข้างนอกและข้างในสั่งซื้อของใช้หรืออาหารให้คนข้างในได้ ถ้าอยากจะให้คนข้างในได้รับของจากข้างนอก คนข้างนอกจะต้องส่งผ่าน ‘การบริจาค’ และต้องให้ทั้ง 70 กว่าคนในบ้านได้รับเหมือนกันทั้งหมดด้วย
ต่างจากเรือนจำของผู้ใหญ่ที่ญาติสามารถฝากเงินให้ผู้ต้องขังไปซื้ออาหารและของใช้ที่ร้านค้าในเรือนจำได้ หรือญาติจะซื้อของที่ร้านค้าในเรือนจำฝากเข้าไปก็ได้เช่นกัน
ตอนนี้ภูมิอายุ 20 ปี นับว่าเป็นคนที่ ‘อายุมากสุด’ ที่อยู่บ้านเมตตานี้
ก่อนหน้านี้ภูมิจะถูกควบคุมตัวในครั้งนี้ เมื่อช่วงต้นปี 2564 เคยมี ‘เยาวชนคนแรก’ ถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านเมตตามาก่อน ในคดีที่มีเกี่ยวข้องกับการเมือง นั่นคือ “นัท” ขณะนั้นอายุ 16 ปี ถูกกล่าวหาว่า ‘เผาตู้สัญญาณไฟจราจร-ป้อมตำรวจ’ จำนวน 8 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในเวลาเช้ามืดของวันที่ 23 ก.ย. 2564
ครั้งนั้นนัทถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านเมตตา 145 วัน หรือเกือบ 5 เดือน (25 ก.ย. 2564 – 14 ก.พ. 2565) ศาลให้ประกันตัวได้รับการปล่อยตัว ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 15,000 บาท โดยมี ‘อดีตนายจ้าง’ ที่นัทเคยทำงานด้วยมาเป็นผู้ปกครองในการยื่นคำร้องขอประกันตัว