เรื่องเล่าจาก “นัท” วัย 16 ปี เยาวชนทะลุแก็สที่ถูกคุมตัวในสถานพินิจฯ นานที่สุดถึง 145 วัน

นัท (นามสมมุติ) อายุ 16 ปี หนึ่งในเยาวชน “ทะลุแก๊ส” กลุ่มมวลชนอิสระที่ยึดครอง “สามเหลี่ยมดินแดง” เป็นพื้นที่ชุมนุม เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ปี 2564 ต่อมาเด็กหนุ่มถูกตำรวจบุกจับถึงแคมป์ก่อสร้างที่ดินแดงขณะนอนหลับอยู่และถูกเค้นให้บอกที่ซุกอาวุธด้วยการเอา “ปืนตบหน้า” 

นัทถูกกล่าวหาว่าเผาป้อมตำรวจและตู้สัญญาณไฟจราจร รวม 8 แห่ง หลายจุดในกรุงเทพฯ ในเวลาเช้ามืดของวันที่ 23 ก.ย. 2564 และถูกกล่าวหาแยกเป็น 8 คดีด้วยกัน ซึ่งต่อมาศาลเยาวชนฯ ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากไม่มีผู้ปกครองเดินทางมารับรองการให้ประกันของศาลในวันนั้น นัทจึงถูกส่งไปสถานแรกรับเด็กและเยาวชนชายบ้านเมตตา

ตลอดเวลาที่เด็กหนุ่มถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านเมตตา ทนายความพยายามติดต่อหาผู้ปกครองและญาติคนอื่นๆ ของเขาอย่างสุดความสามารถ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ กระทั่งเวลาล่วงเลยไปเกือบ 5 เดือน ทนายจึงได้ยื่นขอประกันตัวนัทเป็นครั้งแรก โดยมี ‘อดีตนายจ้าง’ ที่นัทเคยทำงานให้มาเป็นนายประกันรับไปอยู่ในความดูแล 

ในที่สุดเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 ศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนัทออกจากบ้านเมตตา เด็กหนุ่มจึงได้อิสระกลับคืนมาอีกครั้ง และกลายเป็นเยาวชนคนแรกในรอบการเคลื่อนไหวทางการเมือง 2 ปีนี้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานพินิจฯ นานที่สุด ด้วยระยะเวลา 145 วัน เพียงเพราะว่า “ไม่มีผู้ปกครองมาประกันตัว”

ถูกตำรวจ “คว้าด้ามปืนตบหน้า” เค้นให้บอกที่ซ่อนระเบิดและอาวุธ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2564 นัทถูกจับกุมพร้อมกับคนอื่นๆ รวม 14 คน ที่แคมป์ก่อสร้างในดินแดง เด็กหนุ่มนั่งทวนความจำอยู่สักครู่แล้วเล่าให้ฟังว่า 

“ตอนนั้นผมนอนอยู่กับเพื่อนในแคมป์ก่อสร้าง อยู่ๆ รุ่นน้องที่นั่งซักผ้าหน้าบ้านก็ตะโกนเสียงดังว่า ‘ตำรวจมาๆ’ จากนั้นตำรวจก็ทยอยเข้ามากันหลาย 10 คน จับน้องๆ ไปกันหมด แล้วตำรวจ 2 คนก็ถีบประตูเพิงบ้านที่ผมนอนอยู่เข้ามา ผมสะดุ้งตื่นเลย แต่ยังมึนๆ อยู่ 

“ตำรวจเข้ามาแล้วเขาก็ถามผมว่า ‘เกราะกับระเบิดอยู่ไหน’ ผมก็ตอบว่า ‘ไม่มี’ แต่เขาก็พยายามเค้นต่อ พอเขาโมโหก็ทำท่าง้างมือจะเอาปืนตบหน้า ผมก็เลยบอกไปว่า อยู่หลังต้นไม้ข้างหลังบ้าน เขาก็เลยเดินเข้าไปค้นกัน พอไม่เจอเขาก็เดินกลับมาหาผมอีก แล้วก็ง้างมือเอา ‘ปืนตบหน้า’ ผมสุดแรง ผมจำได้เลยว่าเป็นหน้าข้างขวา ตอนนั้นผมเบลอไปหมด หน้าชาไปหมด 

“แล้วเขาก็เค้นถามต่ออีกว่า ‘อยู่ไหน มึงตอแหลเหรอ เอาดีๆ’

ในเช้าวันนั้นนัทถูกจับพร้อมกับคนอื่นๆ ที่แคมป์ก่อสร้าง รวม 14 ราย ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ก่อนตำรวจจะปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม 12 รายกลับไป 

ท้ายที่สุด ตำรวจดำเนินคดีเพียง 2 ราย คือ นัทและพจน์ (นามสมมุติ) ในคืนนั้นหลังตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำจนแล้วเสร็จ ตำรวจได้บอกกับทั้งสองว่า “ถ้าจะประกันตัวก็ต้องมีญาตินะ ถ้าไม่มีก็ต้องพาไปส่งสถานพินิจฯ” 

พจน์ติดต่อญาติมาประกันตัวได้ภายในคืนนั้น แต่ขณะเดียวกันไม่มีใครเดินทางมาประกันตัวนัทเลย ไม่ว่าเขาจะโทรตามหรือร้องขอกี่ครั้งก็ตาม ในคืนนั้นเด็กหนุ่มจึงถูกคุมขังอยู่ในห้องขัง สน.บางซื่อ เป็นเวลา 1 คืน พอรุ่งเช้าตำรวจได้สอบปากคำเขาเป็นครั้งที่ 2 ก่อนจะส่งตัวไปสถานแรกรับเด็กและเยาวชนชายบ้านเมตตา 

กักตัว 14 วัน ถูกแกล้งข้าวคลุกน้ำลาย-ขนลับ มีน้ำดื่มให้แค่วันละขวดเล็ก 

เมื่อ “เด็กและเยาวชน” ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา จำเป็นจะต้องมี “ผู้ปกครอง” มาประกันตัวเท่านั้น เด็กคนนั้นจึงจะถูกปล่อยตัวชั่วคราวกลับไป ต่างจากผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ที่ไม่ว่าใครก็สามารถประกันตัวให้ได้ ด้วยเหตุนี้ นัทจึงถูกตำรวจส่งตัวไปยังบ้านเมตตาตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2564 

“วันแรกผมเดินเข้าไปตัวเปล่าเลย เสื้อผ้าที่ใส่ไปด้วยเขาก็ให้ถอดทิ้งหมด ให้เปลี่ยนเป็นชุดของบ้านเมตตาที่เขาเตรียมไว้ให้ เขาแจกเสื้อโปโลสีน้ำเงินให้ 2 ตัว เอาไว้ใส่ตอนกลางวัน เสื้อกล้ามสีขาว 1 ตัว ไว้ใส่ตอนกลางคืน กางเกงมีแจกแค่ 2 ตัว เป็นกางเกงบอลขาสั้น ‘ไม่มีกางเกงในแจก’ เพราะตลอดการอยู่ในบ้านเขาจะไม่ให้ใส่เลย 

“แล้วก็แจกผ้าขนหนู แปรงสีฟัน ส่วนสบู่จะแจกให้เดือนละครึ่งก้อน ยาสระผมไม่ได้แจก เขาจะบีบใส่หัวทีเดียวตอนจะอาบน้ำเช้า-เย็นเลย ยาสีฟันก็เหมือนกัน”

หลังเปลี่ยนเสื้อผ้า รับของใช้และเครื่องแต่งกายแล้ว นัทยังไม่ได้เข้าไปอยู่รวมกับเด็กคนอื่นๆ ในบ้านเมตตาเลยทันที เขาถูกแยกตัวออกไปกักตัวเพื่อเฝ้าสังเกตอาการโควิด-19 เป็นเวลา 14 วัน ที่อาคารกักตัวภายในบ้านเมตตา พร้อมกับ “บัง” เด็กอีกคนหนึ่งที่ถูกส่งเข้ามาพร้อมกันในคดีอื่น

“ห้องกักตัวเป็นห้องที่กว้างมาก น่าจะอยู่กันได้เกือบร้อยคน หน้าต่างติดลูกกรง ถัดจากหน้าต่างออกไปเป็นกำแพงสูงกั้นอยู่อีกชั้น ลมเลยไม่ค่อยเข้ามาในห้อง อากาศเลยจะค่อนข้างร้อน 

“ห้องน้ำมีอยู่ในห้องเลย กั้นแบ่งด้วยบล็อกเตี้ยๆ สูงประมาณเอวได้ ไม่มีประตู เวลาจะอาบน้ำ ขี้ เยี่ยว เพื่อนก็จะเห็นหมด ในห้องน้ำยังมีกล้องวงจรปิดตรงด้วย เพราะเขากลัวเด็กตีกัน โคตรไม่เป็นส่วนตัวเลย ทำอะไรคนอื่นก็เห็นหมด 

“อาทิตย์แรกไม่มีอะไรให้ทำเลย ผมได้แต่นั่งมองกำแพงเฉยๆ แล้วก็เดินวนรอบห้อง” 

เมื่อพูดถึงอาหารการกิน นัทเล่าว่าทุกมื้อจะมีคนมาวางจานข้าวไว้ที่ประตูหน้าห้อง จำนวน 3 มื้อ มื้อเช้ามักจะเป็นเมนูเดิมทุกวันก็คือ ข้าวสวยหรือข้าวต้ม เสิร์ฟมาพร้อมไข่ต้ม 1 ฟอง และนม 1 กล่อง ส่วนมื้อกลางวันและมื้อเย็นนัทบอกว่าจะมีหลากหลายเมนู สลับสับเปลี่ยนกันไปแล้วแต่วัน 

“ถ้าพูดถึงเรื่องรสชาติ บางวันก็กินไม่ได้เลยพี่ ‘รสชาติโคตรเหี้ยเลย’ บางวันก็เค็มไป บางวันก็จืดไป ยิ่งถ้าเป็นก๋วยเตี๋ยวนี่กินไม่ได้เลย เปรี้ยวปรี๊ด! 

“เนื้อหมูนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย ไม่ได้กินเลยพี่ เดือนหนึ่งถึงจะได้กินทีหนึ่ง ปกติจะได้กินแต่ ‘วิญญาณไก่’ เป็นโครงไก่บ้าง กระดูกไก่บ้าง บางวันต้องกินข้าวคลุกกับผัก บางวันผมเลยเลือกที่จะไม่กินเลยดีกว่า 

“เมนูที่ดีที่สุดในบ้านก็คือ ‘กะเพราหมูไข่ดาว’ แต่นานๆ ทีจะได้กิน ทำแค่เดือนละครั้ง 

“เมนูที่ได้กินบ่อยที่สุดแทบจะทุกวันก็คือ ‘ข้าวผัดกับไข่ต้ม’ รสชาตินี่กินไม่ได้เลย เหมือนข้าวคลุกกับซอสเฉยๆ แล้วก็ใส่โครงไก่ ไม่ใส่ไข่ ใส่ผักอะไรทั้งนั้น

“ที่เหี้ยกว่านั้นก็คือ พอเราเป็นเด็กใหม่ เด็กเก่าที่อยู่มาก่อน มันจะชอบหาเรื่องมาแกล้งพวกผมเลยมีเรื่องให้ต้องลุ้นได้ทุกวัน บางวันมันแกล้งใส่ ‘หมอย’ มาในจานข้าวเต็มไปหมด 10 กว่าเส้นได้มั้งพี่ บางวันก็ถ่มน้ำลายใส่มาบ้าง เขียวปี๋ เป็นก้อนเลย วันนั้นถึงกับข้าวจะอร่อยหรือไม่อร่อย แต่ถ้าเจอแบบนั้นก็จะกินไม่ได้เลย ต้องเททิ้งอย่างเดียว พูดแล้วอยากจะอ้วกเลยเนี่ย…

“ข้าวกินไม่เคยอิ่ม ‘เติมเพิ่มก็ไม่ได้’ น้ำก็เหมือนกัน เขาจะแจกให้เป็นขวดเล็กๆ เท่าขวดละ 5 บาท ที่ขายตามร้านข้างนอก แจกให้แค่วันละขวดเท่านั้น ต้องอยู่ให้ได้ตลอดทั้งวัน ไม่มีสิทธิขอเพิ่มอีก ผมเคยขอเพิ่มนะ แต่เขาไม่เคยให้ เวลากินผมเลยจะจิบทีละนิดเอา บางวันก็ไม่กินเลย เก็บไว้กินตอนกลางคืนแทน เพราะจะหิวน้ำมากกว่า 

“ไปเดือนแรกนี่อยู่แทบไม่ได้เลย กลางคืนหนาวมาก แต่หน้าต่างทุกบานที่มีเขาสั่งห้ามปิด ต้องเปิดไว้ตลอดเวลา เพราะเขาจะคอยฟังเสียงว่าเราทำอะไรกัน ไฟก็ห้ามปิด ต้องเปิดไว้ทุกดวงจนเช้า ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน

“เดือนแรกผมนอนไม่ได้เลย นอนไม่หลับ มันแสบตา ต้องมานอนตอนกลางวันเอา กลางวันก็ร้อนมาก ต้องเปิดพัดลมตลอด ถ้าไม่เปิดนี่อยู่ไม่ได้เลย ร้อนเหมือนโดนไฟนรกคอก (หัวเราะ)

“ยิ่งวันไหนที่ไฟดับ เพราะเด็กเก่ามันแกล้งสับคัทเอาท์ลงก็จะร้อนมาก ผมกับเพื่อน ทำอะไรไม่ได้เลย จะโวยวายก็ไม่ได้ ต้องทนอยู่อย่างนั้น แก้ปัญหาด้วยการอาบน้ำทุก 5 นาที 14 วันที่ต้องกักตัว พวกผมถูกแกล้งแทบทุกวัน อยากจะบ้าตาย!” เขาพูดพร้อมยกมือขึ้นมากุมขมับทันที

เด็กบ้านเมตตากว่าครึ่งคือเพื่อนดินแดง ต้องคดี “ขโมยไฟแช็ค 10 บาท” ไปจนถึง “พยายามฆ่า”

หลังครบกักตัว 14 วัน เขาได้ลงมาอยู่รวมกับเด็กคนอื่นๆ และได้เคลียร์ใจกันกับเด็กคนที่เขาเข้าใจว่ากลั่นแกล้งเขาตลอดการต้องกักตัวอยู่บนซอย 21 นัทยังพบอีกว่าเด็กเกือบทั้งบ้านคือเพื่อน เพื่อนของเพื่อน และคนรู้จักแทบทั้งนั้น นั่นทำให้การอยู่รวมกันไม่ใช่เรื่องน่าอึดอัดและลำบากใจเหมือนที่คิดไว้

“ทั้งบ้านมีประมาณ 60 คน ผมรู้จักไปแล้ว 40-50 คน ส่วนใหญ่เป็น ‘เด็กดินแดง’ เด็กอาชีวะที่เคยเรียนด้วยกัน แล้วก็เป็นเพื่อนของเพื่อนบ้าง แต่ทุกคนเข้ามาเพราะคดีอื่นที่ไม่ใช่การเมืองนะ ส่วนมากจะเป็นคดีพยายามฆ่า ยาเสพติด แล้วก็ลักทรัพย์…

“ที่ทำไปเพราะบางคนไม่มีเงินจริงๆ ครับพี่ พอไม่รู้จะทำยังไงก็เลยไป ‘ขายยา’ อีกพวกหนึ่งก็คือไป ‘ลักทรัพย์’ ไปขโมยของคนอื่น ‘ลักไฟแช็ค 10 บาทก็ยังมี’ ขโมยหนมปัง 20 บาทยังจับเลยพี่!

“บางคนมีครอบครัวนะ แต่เขาไม่ยอมมาประกันตัว เพราะอยากให้ดัดสันดาน น่าจะเหมือนผมนี่แหละมั้ง…  

เรารีบพูดตัดบทก่อนจะจี้ใจดำนัทไปมากกว่านี้ เราถามต่อว่าแล้วนอนยังไง ยังต้องนอนข่มตาสู้ไฟนีออนเหมือนตอนกักตัว 14 วันอยู่ไหม นัทบรรยายให้ฟังว่า “บ้านเมตตาจะแบ่งตึกนอนเป็น 2 ตึก คือ หอพักสำหรับเด็กเล็ก อายุ 14-16 ปี และหอพักสำหรับเด็กโต อายุ 17 ปีขึ้นไป 

“ผมได้อยู่หอเด็กโต คือ หอพักที่ 3 (ไม่มีหอพักที่ 1) สภาพเป็นห้องนอนรวม มีห้องน้ำในตัว ทุกอย่างเหมือนห้องตอนกักตัวเลย ฟูกนอนวางกับพื้นห่างกันกับคนข้างๆ 2 แผ่นกระเบื้อง เสื้อผ้าทุกอย่างปักเบอร์หมด ของผมเป็น ‘เบอร์ 3/5′ หมายถึง หอพักที่ 3 ลำดับที่ 5 

“พอย้ายลงมาอยู่รวมกับทุกคนข้างล่างเรื่องอาหารการกินก็จะดีหน่อย ถ้ากินไม่อิ่ม ก็เดินไปเติมอีกได้ แต่รสชาติแย่กว่าเดิม เพราะแม่ครัวคนเดิมติดโควิดตาย เลยต้องเปลี่ยนแม่ครัว 

“ส่วนน้ำดื่มให้กรอกตู้ดื่มเอง เขาจะแจกขวดให้คนละขวด เติมได้ตลอด สบู่จะแจกให้เดือนละครึ่งก้อน ถ้าไม่พอก็จะไม่มีใช้ บางคนถูกขโมยสบู่ก็มี เวลาอาบน้ำจะอาบแบบห้องรวมพร้อมกันทุกคน มีอ่างตรงกลาง ทุกคนยืนล้อมแล้วใช้ขันตักอาบ อาบครั้งหนึ่งครูจะให้เวลา 10 นาที พอหมดเวลาครูผู้คุมก็จะเป่านกหวีดให้หยุด 

จะว่าไปแล้วบ้านเมตตาก็เหมือนเป็นโรงเรียนประจำดีๆ นี่เอง มีสนามฟุตบอล สนามฟุตซอล สนามบาส ตะกร้า ห้องตัดผม มีตึกหลายตึก มีหอนอน แต่ต่างจากโรงเรียนทั่วไปตรงที่มีรั้วเป็นกำแพงสูงกว่าหลายเท่า แล้วก็มีการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดกว่า 

อีกอย่างที่ทำให้ที่นี่เป็นเหมือนโรงเรียนมากขึ้นก็คือ มีคุณครู มีการสอนหนังสือ สอนวิชาชีพสารพัด อาทิ สอนเชื่อมโลหะ ตัดผม ศิลปะ ฯลฯ

“ผมเรียนมา 2 วิชา คือ วิชาคอมพิวเตอร์ เขาสอนให้ใช้โปรแกรม Photoshop แต่งรูป อีกวิชาผมเลือกเรียน ‘เชื่อมโลหะ’ เพราะว่าผมทำเป็นอยู่แล้ว เคยรับจ้างตอนอยู่ร้านเฟอร์นิเจอร์เขาให้เชื่อมเหล็กด้วย 

“วันไหนที่ไม่มีเรียนวิชาพวกนี้พวกเราก็จะว่าง ถ้าว่างส่วนมากพวกผมก็จะเตะบอลกัน หรือไม่ก็จับวงนั่งคุยกันนั่งโม้เล่าเรื่องตัวเองเองครับ

ชีวิตแต่ละวันของนัทและเพื่อนๆ ผ่านไปวันๆ ไม่ยากนัก ทุกคนใจดีต่อกัน เป็นเพื่อนกัน อยู่กันแบบครอบครัว เขาว่าอย่างนั้น นัทย้ำว่าตลอดเวลาที่อยู่ในบ้านแทบไม่มีเรื่องทะเลาะวิวาทหรือการกลั่นแกล้งที่รุนแรงเลย มีก็แค่การหยอกล้อตามประสาเด็กผู้ชายก็เท่านั้น ทั้งหมดนี่นัทยกความดีความชอบสำคัญให้กับ ‘พ่อบ้าน’ ผู้ดูแลเด็กบ้านเมตตาที่ค่อนข้างดุคนเดียวเลย

“อยู่ข้างในนั้นไม่มีใครร้องไห้หรือเศร้าเลยนะพี่ เหมือนทุกคนได้อยู่กับเพื่อน เฮฮาสนุกสนาน 

“แต่มันมีอยู่คนหนึ่ง เขาเข้ามาใหม่ก็คิดจะฆ่าตัวตายเลยพี่ เขาคงจัดการความรู้สึกตัวเองไม่ได้ คงกลัวโดนรับน้องโหดๆ งี้มั้ง แต่ผมก็บอกเขาไปแล้วว่าที่นี่ไม่มีใครแกล้งโหดๆ ปางตายหรอกนะ แต่มันก็เครียดไปเอง ทั้งๆ ที่ยังไม่มีใครแกล้ง 

“มันเอาสายเคเบิลที่ห้อยอยู่ตรงทีวีดึงเข้ามาในห้องนอน แล้วก็เอามามัดกับลูกกรงหน้าต่าง จากนั้นก็ผูกคอแล้วนั่งห้อยตัวลงมาอยู่ในท่าเหมือนกึ่งๆ นั่ง มันยืนได้อะพี่ 

“ครั้งแรกที่มันทำแบบนี้ผมตกใจมาก รีบวิ่งไปช่วยมัน อุ้มมันออกมาเลย แต่มันก็ยังทำอีก ทำทุกวัน วันเดียวจะผูกคอตายตั้ง 7-8 รอบ ทำอย่างนั้นอยู่เกือบอาทิตย์ ผมเลยใช้วิธีด่าเอาว่า ‘จะตายมึงก็ตายเหอะ ไอ่เหี้ย กูรำคาญมึงมากแล้วเนี่ย’ จนสุดท้ายมันเลิกทำไปเอง”

ติดโควิดยกแก๊งค์ ต้องกักตัวยาวนาน 3 เดือน

หลังนัทได้อยู่รวมกับเพื่อนคนอื่นๆ เพียงสัปดาห์เศษๆ เขาก็ต้องกลับเข้า “ซอย 21” ห้องกักตัวโควิดห้องเดิมที่คุ้นเคย กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมเหมือนช่วง 2 สัปดาห์แรกที่ก้าวเท้าเข้ามาที่นี่  

“ช่วงท้ายๆ เดือนตุลาคม (ปี 2564) วันนั้นมันมีเด็กคนหนึ่งปวดหัว ไม่สบาย ครูเลยพาไปตรวจ ATK ปรากฏว่าผลออกมาเป็นบวก คือ ‘ติดโควิด’ เขาเลยให้เด็กตรวจกันทั้งบ้านเลยพี่ สรุปคือเจอเด็กติดเยอะมาก ประมาณ 15 คนได้ รวมผมด้วย 

“จากนั้นพวกผมก็โดนกักตัวเหมือนตอนแรกที่เข้ามาเลย มีน้ำให้วันละขวด ข้าวเติมก็ไม่ได้ นอนหลับสู้ไฟ มันเหมือนคุกจริงๆ กว่าตอนอยู่ข้างล่างอีกอ่ะ 

“แต่ทุกคนไม่ได้มีอาการอะไรเลยนะ กินข้าวได้ปกติ ลิ้นรับรู้รสชาติทุกอย่าง จมูกได้กลิ่นทุกอย่าง ทุกคนติดโควิด แต่ซนกันอย่างกับลิง ไม่มีใครเป็นอะไรเลย

“ต้องกักตัวอยู่อย่างนั้นเกือบ ‘3 เดือน’ นานมากกกกก (ลากเสียงยาว) 3 เดือนผ่านไปถึงได้ตรวจอีกที พอผลออกมาว่าไม่พบเชื้อแล้ว หายดีแล้ว ถึงได้ลงจากห้องกักตัวตอนประมาณต้นเดือนมกราคม” 

บอกรักทางจดหมายได้อาทิตย์ละครั้ง  

นอกจากความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนแบบแมนๆ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่หล่อเลี้ยงหัวใจของเขาและเด็กอีกหลายคนให้ยังคงยิ้มได้และสดใสสมวัยอยู่ นั่นก็คือ “ความรัก” แต่ความรักของนัทถูกส่งผ่านจดหมายได้เพียงอาทิตย์ละครั้งเท่านั้น

“อยู่ข้างในนั้นติดต่อกับคนข้างนอกไม่ได้เลย มันทรมานนะพี่ ให้ส่งจดหมายหากันได้อย่างเดียว เขาจะจำกัดด้วยว่าให้ส่งได้แค่อาทิตย์ละครั้ง ในวันเสาร์ แต่จะส่งหากี่คนก็ได้ เขียนส่งไปแล้ว ผมต้องมานั่งรออีกว่าเขาจะตอบกลับมาเมื่อไหร่” 

“ตอนอยู่ข้างในนั้นผมเขียนจดหมายถึงทนาย แล้วก็เขียนจดหมายถึงสาวบ้านปราณีครับ (อมยิ้ม) รู้จักเขาเพราะว่าตอนผมเข้าไปแรกๆ ครูสั่งให้ได้ไปเชื่อมลูกกรงหน้าต่างที่บ้านปราณี เลยได้เจอเขา เขาน่ารักมากจนผมต้องถามชื่อเขาอ่ะพี่ เพราะกลัวไม่ได้เจอเขาอีก 

“ตอนเขาตอบเราว่าชื่ออะไร ผมนี่พยายามสั่งสมองให้จำชื่อเขาให้ถึงวันเสาร์ จะได้เขียนจดหมายส่งให้ แต่นานๆ ทีถึงจะเขียนหาเขานะ เพราะเราก็ไม่ได้สนิทกันขนาดนั้น

“แล้วก็มีเขียนถึงเพื่อนผู้ชายที่อยู่บ้านหลังอื่นอีกหลายคนด้วย บ้านกรุณาบ้าง บ้านอุเบกขาบ้าง จะส่งไปบ่อยแค่ไหนก็แล้วแต่ เราอยากจะเขียนเลยครับ” 

ตลอดการถูกควบคุมตัว เด็กทั้งหญิงชายไม่ได้ใส่ ‘กางเกงใน-ชุดชั้นใน’

 

“บ้านเมตตา” ไม่ใช่สถานแรกรับเด็กและเยาวชนแห่งเดียวของสถานพินิจฯ สถานแรกรับฯ อย่างเดียวกันนี้มีอยู่ 33 แห่งทั่วประเทศ โดยมีชื่อเรียกในทำนองเดียวกัน อาทิ บ้านปราณี บ้านกรุณา บ้านมุทิตตา บ้านอุเบกขา ฯลฯ 

“ที่ผมรู้จักเด็กบ้านอื่นด้วยก็เพราะว่า มันจะมีวันหนึ่งที่ให้เด็กทุกบ้านมาเจอกัน วันนั้นจะเป็นแข่งกีฬา จัดแค่ปีละครั้ง ทุกบ้านทั้งผู้หญิงผู้ชายก็จะได้มาเจอหน้ากันก็วันนี้นี่แหละ 

“งานแข่งกีฬาของพวกเราจะมีแข่งฟุตซอลกับตะกร้อ ให้เด็กแข่งกันเองระหว่างบ้าน แข่งรวมกันเลยทั้งผู้ชายผู้หญิง บรรยากาศก็เหมือนงานกีฬาสีเลยครับ มีกองเชียร์ มีเชียร์ลีดเดอร์ เป็นวันที่สนุกมากๆ 

“วันนี้แหละที่หลายคนได้เจอเพื่อนจากต่างบ้าน ได้แอบปิ๊งสาว ได้ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ มันเป็นบรรยากาศที่ดีมากๆ เลยนะ อยากให้มีบ่อยๆ เหมือนกัน

“เหมือนที่ผมเล่าว่าอยู่ข้างในนั้น ‘เขาไม่ให้เด็กใส่กางเกงในเลย’ เด็กผู้หญิงนี่หนักเลยไม่ได้ใส่ทั้งกางเกงในทั้งเสื้อใน ผมก็เพิ่งรู้ตอนวันแข่งกีฬาสีวันนั่นแหละ… 

“ไอ้พวกผู้ชายเวลาเตะบอล ในกางเกงก็ห้อยโตงเตงไปมา ส่วนผู้หญิงก็เหมือนกัน พวกผมเห็นกันหมดอะพี่ แข่งกีฬาหรือเต้นเชียร์มันต้องขยับตัวแรง มีวิ่ง มีล้ม มันก็โป๊ไปหมด ยิ่งถ้าล้มทีหนึ่งเนี่ยนะ ‘เห็นหมดเลย’ เพราะทุกคนใส่กางเกงบอล แล้วกางเกงมันเป็นแบบขาบานด้วย

“แต่อีกมุมหนึ่งผมก็สงสารเด็กผู้หญิงนะ ขนาดมาเจอกับเด็กผู้ชายแล้วต้องมาแข่งกีฬาด้วย ครูยังไม่ใส่ชุดชั้นในเลย

“ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน…”   

หลังได้ปล่อยตัวเลือกเรียนต่อ กศน. ให้จบ ม.3 หวังเพียงได้ทำงานเฟอร์นิเจอร์ที่ตัวเองถนัด 

ตั้งแต่นัทถูกพาตัวไปอยู่ที่บ้านเมตตา ทนายความได้เข้าเยี่ยมด้วยการวิดีโอคอลผ่านแอพพลิเคชันไลน์อยู่เสมอ พร้อมกันนั้นทนายก็พยายามติดต่อหาผู้ปกครองของนัท เพื่อมารับรองการขอประกันตัวให้เขาออกจากบ้านเมตตาโดยเร็วที่สุด แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ พวกเขาให้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องความไม่สะดวก ซึ่งเป็นเรื่องภายในครอบครัวและความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ 

กระทั่งนัทถูกควบคุมตัวเข้าเดือนที่ 5 ทนายความจึงได้ร้องขอให้ ‘อดีตนายจ้าง’ ที่นัทเคยทำงานด้วยมาเป็นผู้ปกครองในการยื่นคำร้องขอประกันตัวเด็กหนุ่มเป็น ‘ครั้งแรก’ และต่อมาเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนัท โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 15,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ 

ในวันเดียวกันนั้น นัทจึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกจากบ้านเมตตาในช่วงค่ำ รวมถูกควบคุมตัวเป็นเวลาทั้งหมด 145 วัน หรือเกือบ 5 เดือน นับว่าเป็นเยาวชนคนแรกในรอบการเคลื่อนไหวทางการเมือง 2 ปีนี้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานพินิจฯ นานที่สุดก็ว่าได้

ตั้งแต่นัทได้รับการปล่อยตัวจนถึงปัจจุบัน เขาได้อาศัยและทำงานอยู่กับนายจ้างผู้ยื่นประกันตัวเขาในครั้งแรกและครั้งเดียวจนศาลให้ประกันตัว นัทมีหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ในการช่วยนายจ้างขายทอดมันในทุกวัน จนตอนนี้เขาบอกเราด้วยเสียงหัวเราะว่า “กินมันทอดจนเบื่อแล้ว” 

นอกจากนี้ นัทกำลังเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เพื่อสอบเทียบวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นด้วย เขาเคยต้องออกจากโรงเรียนกลางคันขณะเรียนอยู่ชั้น ม.2 ด้วยปัญหาทางการเงินของครอบครัว นั่นทำให้เขามีวุฒิ ป.6 เป็นวุฒิการศึกษาสูงสุดติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้

“ตอนนี้รอสอบเทียบวุฒิ ม.3 อยู่ครับ ตอนอยู่ในบ้านเมตตาก็เรียนมาครบแล้วครับ รอสอบเทียบอย่างเดียว ถ้าสอบเทียบได้แล้ว ผมคิดว่าผมก็น่าจะเรียนต่ออีก อาจจะเป็นวุฒิ ม.6 หรือ ปวช. ยังไม่ได้คิดครับ” 

เมื่อถามว่า หากสอบเทียบได้วุฒิการศึกษาที่สูงเท่าที่ตั้งใจไว้แล้ว คิดอยากจะทำอะไรต่อไป เด็กหนุ่มตอบแต่เพียงว่า “อยากทำงานเฟอร์นิเจอร์ เป็น ‘ช่างไม้’ เพราะผมทำเป็นอยู่แค่นี้” 

แม้เราจะย้ำแล้วว่า นัทตอบความฝันที่ยังไม่เคยทำ ไม่เคยเป็นมาก่อนก็ได้ แต่เขายังยืนยันคำตอบเดิมว่าเขาอยากมีชีวิตแสนธรรมดาไม่เพ้อฝัน อยากเป็นช่างไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นงานแรกของเด็กหนุ่มหลังต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ตอนนั้นหลังทำได้อยู่นานเกือบปี เขาก็เปลี่ยนไปทำงานอื่น 

นัทเปรยอนาคตตัวเองอีกว่าเมื่อโตขึ้นอีกใน 4-5 ปีนี้ก็คงต้องไปเกณฑ์ทหาร และเมื่อถูกปลดประจำการก็คงแต่งงานกับผู้หญิงคนหนึ่ง มีครอบครัว มีลูก เหมือนๆ คนอื่น ไม่มีอะไรหวือหวาหรือพิเศษกว่านี้แล้ว

“คุ้มเกล้า” ทนายสิทธิฯ เสนอ กรณีเด็กไม่มีผู้ปกครองมาประกันตัว ให้ศาลพิจารณามอบเด็กให้องค์การคุ้มครองสิทธิเด็กฯ รับไปอยู่ในความดูแลระหว่างพิจารณาคดี 

คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์” ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ดูแลคดีของนัทภายหลังจากที่ถูกควบคุมตัวที่บ้านเมตตาและเป็นผู้ตามหาผู้ปกครองของนัทมาตลอด 5 เดือนที่เด็กหนุ่มถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านเมตตา ได้ให้ความเห็นในกรณีที่เด็กไม่มีผู้ปกครอง เพราะเป็นเด็กกำพร้า หรือถูกปฏิเสธความเป็นผู้ปกครองเช่นเดียวกับนัทไว้ว่า 

“ในกรณีที่เด็กไม่มีผู้ปกครอง ทั้งในกรณีเด็กกำพร้า หรือเด็กที่ถูกปฏิเสธความเป็นผู้ปกครอง ต้องถูกดำเนินคดีอาญา หากศาลมีคำสั่งให้ควบคุมตัวเด็กไว้ในสถานพินิจฯ เป็นไปได้ หรือไม่ ที่ศาลจะใช้อำนาจตามกฎหมาย มอบตัวเด็กให้องค์การที่ศาลเห็นสมควรรับเด็กที่มีเงื่อนไขแบบนี้ไปอยู่ในความดูแล อยู่ในการอบรมหรือระเบียบขององค์การนั้นๆ ในระหว่างพิจารณาคดี 

เพราะเด็กที่มีเงื่อนไขแบบนี้ เขาไม่มีผู้ปกครองมาประกันตัวแน่นอน เมื่อไม่มีผู้ปกครองมาประกันตัวและรับไปดูแล เขาจึงเข้าไม่ถึงสิทธิประกันตัว เหมือนเด็กที่มีผู้ปกครอง ตัวอย่างของนัทเห็นชัด คู่ความในคดีเดียวกันถูกกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิด ข้อหาเดียวกัน แต่อีกคนมีผู้ปกครองมาประกันก็ได้รับการปล่อยตัว 

ข้อเสนอที่กล่าวมา คุ้มเกล้าชี้แจงว่าไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องการให้ศาลมอบตัวเด็กให้องค์การที่ศาลเห็นสมควรไปอยู่ในความดูแลได้นั้นเป็นเรื่องที่ถูกบัญญัติตามข้อกฎหมายอยู่แล้ว โดยกฎหมายได้ระบุว่า “ในระหว่างที่เด็กหรือเยาวชนถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานพินิจหรือสถานที่อื่นใด ที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชน ถ้าศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งปล่อยตัวเด็กหรือ เยาวชนชั่วคราวโดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้ หรือจะมอบตัวเด็ก หรือเยาวชนแก่…บุคคล หรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ แต่ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งมอบตัวเด็กหรือเยาวชนแก่บุคคลหรือ องค์การดังกล่าว ให้ศาลเรียกผู้อำนวยการสถานพินิจที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุม ตัวเด็กหรือเยาวชน แล้วแต่กรณีมาสอบถามความเห็นก่อน…”

แม้ปัจจุบันสถานพินิจฯ จะเป็นกลไกหนึ่งที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลสั่งให้ควบคุมเด็กหรือเยาวชนไว้ที่นั่น และสถานพินิจฯ มีหลักการควบคุมดูแลเด็กและเยาวชนที่เน้นแก้ไขบำบัดฟื้นฟูความประพฤติ แตกต่างจากเรือนจำผู้ใหญ่ที่เน้นให้หลาบจำตามทฤษฎีลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนก็ตาม แต่เราต้องยอมรับความจริงที่ว่า สถานพินิจฯ เป็นสถานที่ซึ่งจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ไม่ต่างจากเรือนจำ 

มันเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำให้เด็กที่มีเงื่อนไขชีวิตแบบนี้เข้าถึงสิทธิประกันตัว และได้รับการดูแลจากรัฐเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กและเยาวชนในระหว่างการพิจารณาคดี ไม่ควรให้เขาไปอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจฯ จนกว่าคดีจะขาดผัดฟ้องหรือจะเสร็จการพิจารณาคดี เพราะมันไม่สอดคล้องกับหลักสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ประการสำคัญมันกระทบกับสิทธิในการต่อสู้อย่างเต็มที่ของเด็กหรือเยาวชนที่ต้องตกเป็นจำเลยในคดีอาญา 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

วุฒิ ป.6-ดิ้นรนหาเลี้ยงชีพเองตั้งแต่ 14: บันทึกเยี่ยม ‘นัท’ เยาวชนผู้ถูกกล่าวหา ‘เผาตู้สัญญาณไฟจราจร’

บุกค้นแคมป์ก่อสร้างดินแดงก่อน #ม็อบ24กันยา จับ 14 ราย เป็นเยาวชน 12 ราย เด็กสุด 12 ปี สุดท้ายดำเนินคดี 3 ราย ฐานมีระเบิด-วางเพลิงตู้ไฟจราจร

บ้านเมตตาฯ ไม่อนุญาตให้ทนายเข้าพบเยาวชนที่ถูกควบคุมตัวคดีทุบตู้ไฟจราจร อ้างต้องให้ทั้งเยาวชน-ผู้ปกครองยินยอมก่อน

ม็อบทะลุแก๊ส: ภาพสะท้อน New Low สิทธิเด็กและเยาวชนในชั้นจับกุม

ส่องขั้นตอนคดีเยาวชน: เมื่อเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง มีแนวโน้มมีภาระ-ถูกละเมิดมากกว่าผู้ใหญ่

คุยเรื่องสิทธิเด็กกับวรางคณา มุทุมล: เลนส์มองปรากฏการณ์เด็กโต้กลับในวันผู้ใหญ่ยังไม่พร้อม

X