9 มิ.ย. 2560 ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำพิพากษา คดีที่นายวิชัย (สงวนนามสกุล) พนักงานขายของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการปลอมเฟซบุ๊กแล้วโพสต์ข้อความ 10 ข้อความ ซึ่งคดีนี้อาจจะเป็นคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่มีโทษสูงสุด นับจากคดีของพงษ์ศักดิ์ โพสต์เฟซบุ๊ก 6 ข้อความ ที่ถูกศาลทหารกรุงเทพพิพากษาวางโทษจำคุก 60 ปีไปเมื่อ 7 ส.ค. 2558
ศาลทหารพิพากษาว่านายวิชัยกระทำความผิดตามมาตรา 112 จริง การโพสต์ข้อความจำนวน 10 ข้อความนับเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ ศาลพิพากษาให้ลงโทษวิชัยกรรมละ 7 ปี นับโทษรวมเป็น 70 ปี เเต่เนื่องจากวิชัยให้การรับสารภาพในชั้นศาลอันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษให้เหลือกรรมละ 3 ปี 6 เดือน รวมโทษที่วิชัยต้องรับทั้งหมดจากการกระทำความผิดทั้งหมด 10 กรรม เป็น 30 ปี 60 เดือน (35 ปี) ส่วนการกระทำอีก 1 กรรม ที่คำฟ้องของอัยการทหารระบุว่านายวิชัยได้ทำการปลอมแปลงเฟซบุ๊กเป็นบุคคลอื่นในการโพสต์ข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาท ศาลเห็นว่าการกระทำของนายวิชัยไม่ครบตามองค์ประกอบความผิดในมาตรา 14 (1) ซึ่งแก้ไขตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ศาลพิพากษายกฟ้องในข้อหานี้
เหตุเกิดจากความขัดแย้งส่วนตัว
คำฟ้องลงวันที่ 16 มี.ค. 2559 ระบุว่าวิชัยได้นำชื่อและภาพถ่ายของเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งมาใช้เปิดบัญชีเฟซบุ๊ก เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเฟซบุ๊กของเพื่อนร่วมงานคนดังกล่าว ก่อนโพสต์ข้อความ ภาพ และคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จำนวน 10 ข้อความ
วิชัยเล่าให้ทนายความฟังว่า เพื่อนร่วมงานคนดังกล่าวหลอกขายพระเครื่องปลอมให้เขา และเคยไปแจ้งความกับตำรวจไว้แล้ว แต่คดีไม่มีความคืบหน้า เขาจึงตัดสินใจใช้วิธีปลอมเฟซบุ๊กของเพื่อนร่วมงานที่หลอกขายพระเครื่องปลอมให้ แล้วโพสต์
หนึ่งสัปดาห์หลังจากวิชัยปลอมเฟซบุ๊กและโพสต์หมิ่นฯ ดังกล่าว เพื่อนร่วมงานที่ถูกปลอมเฟซบุ๊กได้ไปแจ้งความไว้ที่ สภ.แม่ปิง หลังจากนั้นตำรวจได้ติดต่อขอให้เขานำโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กไปตรวจสอบที่ สภ.แม่ปิง จ.เชียงใหม่ และยึดอุปกรณ์เหล่านั้นไว้เป็นของกลาง โดยที่เขาเองก็ไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ปิดเครื่อง และเก็บอุปกรณ์ไว้ตรวจสอบตามหลักการเก็บพยานหลักฐานหรือไม่
การควบคุมตัว
หลังจากนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปให้ตำรวจ สภ.แม่ปิง ตรวจสอบประมาณ 4-5 วัน พนักงานบริษัทเอกชนรายนี้ก็ถูกจับกุมในช่วงค่ำวันที่ 22 ธ.ค. 2558 บริเวณลานจอดรถของหอพักใน จ.เชียงใหม่ ขณะนั้นเขาอายุ 33 ปี
แม้บันทึกการจับกุมจะระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงหมายจับให้เขาดู แล้วจึงแจ้งข้อหา และแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับกุมให้ทราบ ก่อนจะพามาทำบันทึกจับกุมที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 5 (บก.สส.ภ.5) แต่วิชัยบอกกับทนายความว่า เขาถูกจับกุมโดยไม่มีการแสดงหมายจับ เจ้าหน้าที่ 7-8 คนไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ใดๆทั้งนั้น เพราะทั้งหมดมาในชุดนอกเครื่องแบบ และเมื่อวิชัยถูกนำตัวไปสอบปากคำโดยไม่มีทนายความอยู่ร่วมด้วย ที่ บก.สส.ภ.5 เขาจึงเพิ่งจะได้เห็นหมายจับที่ออกโดยศาลทหารกรุงเทพที่นั่น
วิชัยถูกควบคุมตัวที่ บก.สส.ภ.5 หนึ่งคืน ก่อนถูกพาตัวมาที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เขาให้การปฏิเสธในชั้นตำรวจมาโดยตลอด แล้วจึงถูกฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2558 วิชัยถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเรื่อยมานับแต่นั้นจบครบฝากขังครั้งที่ 7 เป็นเวลา 84 วัน อัยการทหารก็มีคำสั่งฟ้องคดี โดยวิชัยไม่เคยยื่นขอประกันตัวเลย เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ประกัน
คดีขึ้นสู่ศาลทหาร
หลังจากอัยการสั่งฟ้องสามเดือนกว่า ศาลทหารกรุงเทพก็นัดถามคำให้การวิชัยเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2559 อัยการทหารแถลงขอให้พิจารณาคดีโดยลับ เนื่องจากข้อความและภาพที่ปรากฏในข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่าเป็นคดีที่เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ จึงสั่งพิจารณาลับตลอดทั้งคดีเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อย อนุญาตเฉพาะโจทก์ จำเลย ทนายความจำเลย พนักงานศาล และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ในห้องพิจารณา
ในวันนั้นวิชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอต่อสู้คดี แม้จะถูกคุมขังมามากกว่าหกเดือน
ทนายความของวิชัยได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 1 ก.ค. 2559 คัดค้านคำสั่งพิจารณาคดีลับดังกล่าว เนื่องจากคำสั่งพิจารณาคดีลับของศาลทหารกรุงเทพขัดต่อหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย ตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อ 10, 11, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ที่บัญญัติให้การพิจารณาและสืบพยานในศาลให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ แม้คดีจะเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ แต่ศาลยังไม่เคยได้พิจารณาคดี จะถือว่าข้อความและภาพที่ปรากฏในคดีนี้เป็นความผิด ขัดต่อความสงบเรียบร้อยไม่ได้ เพราะจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด การที่ศาลสั่งพิจารณาคดีลับด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเท่ากับพิพากษาแล้วว่าข้อความและภาพที่ปรากฏในคดีนี้เป็นความผิด ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลทหารกรุงเทพยกคำร้อง
อีกเกือบสี่เดือนต่อมา ศาลทหารกรุงเทพจึงนัดตรวจพยานหลักฐาน
18 ต.ค. 2559 โจทก์แถลงขอสืบพยานจำนวน 9 ปาก จำเลยมีพยานที่จะนำสืบ 3 ปาก คือตัวจำเลยเอง และพยานผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2 คน ศาลนัดสืบพยานปากแรก 27 ก.พ. 2560
ทว่านัดสืบพยานปากแรกซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของวิชัยที่ถูกปลอมเฟซบุ๊ก พยานกลับไม่มาศาลในวันนัด อัยการทหารอ้างว่าไม่สามารถติดต่อพยานได้ ศาลทหารกรุงเทพจึงเลื่อนนัดสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 22 พ.ค. 2560 และในวันนั้นพยานก็ยังคงไม่มาศาลอีกครั้ง
วิชัยจึงตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ หลังถูกจองจำมาราวปีครึ่ง โดยที่กระบวนการพิจารณาคดีไม่คืบหน้าไปไหน
คำร้องประกอบคำรับสารภาพระบุว่า วิชัยไม่เคยทำความผิดอาญามาก่อน และเป็นเสาหลักของครอบครัว หารายได้เลี้ยงดูทวดอายุ 96 ปี พ่อที่เป็นผู้พิการซ้ำซ้อน และป่วยโรคความดันโลหิตสูง และแม่ที่สุขภาพไม่ดีจึงไม่ได้ประกอบอาชีพ ขณะที่พี่สาวซึ่งแต่งงานมีครอบครัวก็ต้องดูแลสามีซึ่งประสบอุบัติเหตุเป็นอัมพาต และเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของลูกอีก 2 คน โดยมีรายได้เพียงเดือนละ 8,000 บาท
แม้จะไม่สามารถลบล้างความผิดที่เขาทำลงไปได้ แต่วิชัยก็ขอให้ศาลลงโทษเขาในสถานเบาที่สุด เพื่อให้เขาได้กลับตัวกลับใจ และมีโอกาสกลับไปประกอบอาชีพสุจริตเพื่อนำรายได้มาอุปการะเลี้ยงดูครอบครัว
คดีนี้ ศาลทหารกรุงเทพอาจลงโทษได้สูงสุด 155 ปี โดยความผิดตามมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ขณะที่การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 10 ข้อความ มีโทษสูงสุดข้อความละ 15 ปี
คดีแห่งยุคสมัยที่กลายเป็นเครื่องมือใช้กลั่นแกล้งกัน
ด้วยความที่คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เป็นคดีที่มีโทษจำคุกสูงระหว่าง 3-15 ปี ผู้ต้องหาหรือจำเลยมักจะไม่ได้รับโอกาสในการประกันตัว เนื่องจากต้องใช้หลักทรัพย์ประกันสูง และศาลมักจะไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยมักจะยกเหตุผลว่าเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง กระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี มีอัตราโทษสูง จึงกลัวว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับตำรวจเจ้าของสำนวนมักจะคัดค้านการประกันตัว ทำให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวในคดีนี้มีความหวังที่กลับสู่อิสรภาพอย่างริบหรี่
นอกจากคดีของวิชัย ในอดีตก็เคยมีการแจ้งความฐานความผิดนี้ โดยมีเบื้องหลังจากความขัดแย้งส่วนตัว เช่นคดีของยุทธภูมิ1 (สงวนนามสกุล) ที่ถูกพี่ชายซึ่งมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งรุนแรง ไปแจ้งความว่ายุทธภูมิกล่าวถ้อยคำไม่เหมาะสมขณะดูโทรทัศน์ โดยมีพี่ชายเป็นประจักษ์พยานเพียงคนเดียว และคดีช่วงหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีผู้ไปแจ้งความที่ สภ.กันตรัง จ.ตรัง ว่าถูกปลอมเฟซบุ๊กไปใช้โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นผู้ที่เคยมีปัญหาส่วนตัวกัน2 และคดีที่เยาวชนชาย อายุ 16 ปี ปลอมเฟซบุ๊กของแม่เลี้ยงของแฟนเพื่อกลั่นแกล้ง เนื่องจากแฟนกับแม่เลี้ยงมีปัญหากัน ที่ จ.สุราษฎร์ธานี3
หมายเหตุ – พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา14 (1) ระบุว่า “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”