“ความเครียดถ้าเต็ม 5 ผมให้ 10…” “ภูมิ” อยากให้ศาลเห็น ไม่จำเป็นให้เขาฝึกอาชีพ เหตุมีงาน-เงินเดือนแล้ว พร้อมอัพเดตอาการป่วยดีขึ้น หลังถูกพาไปหาหมออนามัย

วันที่ 24-25 ต.ค. 2566 ที่ปรึกษากฎหมายได้เดินทางไปที่สถานแรกรับเด็กและเยาวชนชายบ้านเมตตา สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรุงเทพฯ เพื่อเข้าเยี่ยม “ภูมิ หัวลำโพง” (สงวนชื่อสกุล) นักกิจกรรมอิสระและอาสากู้ภัยวัย 20 ปี

ภูมิถูกควบคุมตัวมาตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา ตามคำสั่งของศาลเยาวชนฯ ที่กำหนดมาตรการพิเศษให้อยู่ที่สถานพินิจฯ เป็นเวลา 1 ปี แทนการพิพากษาในคดีมาตรา 112 ที่เขาตกเป็นจำเลยและให้การรับสารภาพในชั้นศาล  กรณีร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง ซึ่งถูกจับกุมไปยัง สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564

24 ต.ค. 66: จะได้พบหมอแล้ว แต่งบไม่พอไปโรงพยาบาล ทั้งต้องกลับมากักตัวอีก 5 วัน – ภูมิยังมีสีหน้ากังวลจนเห็นได้ชัด

ที่ปรึกษากฎหมายได้ยื่นเอกสารประกอบการขอเข้าเยี่ยม ก่อนเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า กำลังจะพาภูมิไปพบหมอ ตามที่ภูมิได้แจ้งอาการป่วยไว้ และแจ้งอีกว่า วันนี้เจ้าหน้าที่ได้คุยกับภูมิเห็นว่า อาการป่วยน่าจะดีขึ้นแล้ว แต่จะส่งตรวจเพื่อความสบายใจ

วันเดียวกันนี้อาม่าและน้องสาวของภูมิได้เข้ามาเยี่ยมภูมิด้วย ที่ปรึกษากฎหมายได้จัดการเรื่องเอกสารขอเข้าเยี่ยมของอาม่าเพื่อยื่นให้เจ้าหน้าที่ เนื่องจากคนที่จะเข้าเยี่ยมเยาวชนได้คือ พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ที่ปรึกษากฎหมาย และคนที่ ผอ.สถานพินิจฯ อนุญาตให้เข้าเยี่ยม ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานยืนยันการเป็นญาติด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารแล้ว จะยื่นให้ ผอ.สถานพินิจฯ อนุญาตต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา มีพยาบาลโทรไปหาอาม่าเพื่อสอบถามประวัติการเจ็บป่วยของภูมิ อาม่าเล่าว่า ตอนนั้นตนเองตกใจจึงไม่ได้ให้ข้อมูลเรื่องที่ภูมิเคยถูกรุมทำร้ายจากวัยรุ่น 10 กว่าคน จนบริเวณหูด้านขวาบวมเปล่ง วันนี้ที่ปรึกษาทางกฎหมายจึงได้ทำหนังสือให้อาม่ายื่นต่อสถานพินิจฯ เพื่อให้สถานพินิจฯ มีประวัติการเจ็บป่วยนี้และนำไปใช้ประกอบการดูแลรักษาภูมิ

ต่อมา เจ้าหน้าที่เข้ามาพูดคุยกับอาม่าและที่ปรึกษากฎหมายโดยแจ้งเรื่องการเยี่ยมว่า ที่ภูมิออกไปพบหมอวันนี้ พอกลับเข้ามาจะต้องกักตัวอีก 5 วัน ซึ่งจะทำให้เยี่ยมใกล้ชิดแบบเจอตัวไม่ได้ ต้องเยี่ยมแบบออนไลน์ไปก่อน โดยให้ผู้ที่จะเข้าเยี่ยมสแกนไลน์ “บ้านเมตตา กทม.” จากนั้นส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเข้าไปทางไลน์ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะนัดแนะวันเวลาเข้าเยี่ยมให้อีกที

ภูมิอยู่ในชุดเสื้อออกสีส้ม สีหน้าดูเคร่งเครียด ที่ปรึกษากฎหมายจึงสอบถามว่าอาการเป็นยังไงบ้าง ภูมิยิ้มก่อนพูดว่าตามสภาพ ครั้งนี้ภูมิไม่ได้อยู่ในห้องกรงขังเหมือนที่ปรึกษาฯ เข้าเยี่ยมครั้งแรก แต่อยู่ในห้องที่มีการเตรียมการสำหรับเข้าเยี่ยมโดยเฉพาะ ภูมิพูดคุยได้ตามปกติ ไม่มีอาการอ่อนแรง เหม่อลอย หรือหวาดกลัว แต่สีหน้าเคร่งเครียดยังเห็นได้ชัด โดยรวมภูมิมีอาการสงบกว่าวันแรก

ภูมิสอบถามถึงเรื่องคดีความว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เราแจ้งว่าคดีนี้ศาลไม่ได้มีคำพิพากษา แต่เป็นการใช้ดุลพินิจให้เข้ามาตรการ ซึ่งวันที่ 18 ต.ค. ที่ปรึกษาฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลไปแล้ว แต่ศาลมองว่า เป็นกรณีอุทธรณ์คำสั่งศาลที่กำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่า ห้ามอุทธรณ์ 

ส่วนคำร้องของผู้ปกครองขอให้เปลี่ยนแปลงการกำหนดให้ส่งตัวภูมิไปยังสถานพินิจฯ เนื่องจากภูมิต้องดูแลอาม่า อีกทั้งยังมีงานทำเป็นหลักแหล่ง ศาลเยาวชนฯ เห็นว่าข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และไม่มีเหตุอันสมควรให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าว จึงไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองรับเด็กไปดูแลเอง

ภูมิพูดทิ้งท้ายว่า ที่ที่เจ้าหน้าที่จะพาไปตรวจเป็นเหมือนเป็นศูนย์อนามัยหรือศูนย์บริการสาธารณสุขอะไรสักอย่าง เพราะหากพาไปโรงพยาบาลจะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เนื่องจากงบประมาณของสถานพินิจฯ มีไม่เพียงพอ จะไม่เหมือนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่มีโรงพยาบาลราชทัณฑ์เลย

25 ต.ค. 66: ภูมิยังกังวล ยืนยัน มีงานทำ-มีเงินเดือนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องฝึกอาชีพตามคำสั่งศาล

ที่ปรึกษากฎหมายได้เข้าเยี่ยมภูมิผ่าน VDO Conference เนื่องจากเมื่อวานภูมิออกไปพบหมอ จึงต้องเข้ามากักตัว 5 วัน อีกครั้ง ภูมิอยู่ในชุดเสื้อสีส้ม คอปกสีดำ ที่หน้าอกด้านขวาจะปักตัวอักษร ภาษาอังกฤษสีดำ “DJOP” สภาพร่างกายภายนอกดูปกติ แต่ยังคงมีสีหน้าเคร่งเครียดเป็นกังวลอย่างเห็นได้ชัด

ที่ปรึกษาฯ ถามถึงอาการเจ็บป่วย ภูมิแจ้งว่าดีขึ้น เมื่อวานเป็นการไปพบหมอ แต่ไม่ใช่ที่โรงพยาบาล เรียกว่าเป็นศูนย์สาธารณสุข 32 ตรงบางนา หมอไม่ได้วินิจฉัยว่าเขาเป็นอะไร แต่จ่ายวิตามินบีกับยาอีกตัว เป็นยากินก่อนอาหารและหลังอาหาร เขาไม่ทราบชื่อยา เนื่องจากไม่ได้เป็นคนไปเอายาเอง มีเจ้าหน้าที่ไปเอายาให้ แต่กินแล้วทำให้รู้สึกง่วงนอน

“ผมนอนเยอะ อาการปวดหัวดีขึ้นมาก จริง ๆ เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ได้อธิบายว่า ถ้าออกไปพบหมอ กลับมาก็ต้องกักตัว ตอนแรกผมจะไม่ไป เพราะหลังจากที่มีอาการ เจ้าหน้าที่ก็เอาแก้ปวดหัว แก้อาเจียนมาให้ ตอนนั้นก็นอนทั้งวันและดีขึ้นแล้ว และพอออกไปพบหมอ กระบวนการที่จะเริ่มทำในนี้มันก็ต้องเลื่อนออกไปอีก ผมคุยกับเจ้าหน้าที่ว่าผมไม่อยากไปหาหมอ ไม่ไปแล้วได้ไหม ผมถึงขนาดบอกว่าให้ทำเป็นบันทึกข้อความเลยว่าผมไม่ไปแล้ว ให้ผมเซ็นยินยอมได้เลย แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า มีข่าวออกไปแล้ว ผู้ใหญ่บีบมาก็เลยต้องไป”

ภูมิเล่าอีกว่า “เมื่อวันเสาร์มีพยาบาลโทรมาสอบถามเรื่องประวัติการเจ็บป่วย และหลังจากนั้นเขาก็เหมือนเอาเอกสารมาให้เซ็นว่า เราได้ให้ข้อมูลแบบนี้จริง ๆ ซึ่งหากเขาตรวจสอบแล้วไม่เป็นความจริง เขาจะได้รายงานศาล และเราอาจมีความผิดข้อหาเราก่อความวุ่นวายได้”

ที่ปรึกษาฯ จึงได้แจ้งภูมิว่า ได้ทำหนังสือให้อาม่ายื่นต่อ ผอ.สถานพินิจฯ แจ้งประวัติการเจ็บป่วยเกี่ยวกับเรื่องที่ภูมิเคยถูกวัยรุ่นทำร้ายร่างกายจนหูบวมเปล่ง และต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลกลาง ซึ่งหากมีการตรวจสอบก็มีเอกสารว่า มีข้อมูลนี้อยู่ คิดว่าไม่น่ามีปัญหา

ภูมิถามถึงเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีหรือเรื่องประกันของเยาวชนในศาล ตลอดการฟังที่เราอธิบาย ภูมิมีสีหน้ากังวล และพูดว่า “ผมคุยกับเจ้าหน้าที่หลาย ๆ คน เจ้าหน้าที่ก็มองว่า เรื่องการให้ฝึกอาชีพ มันต้องเป็นคนที่เห็นว่าไม่มีงานไม่มีการประกอบอาชีพเป็นกิจลักษณะ เหมือนเข้ามาฝึกวิชาชีพก็เพื่อออกไปแล้วใช้วิชาชีพที่อบรมไปประกอบอาชีพได้ 

“แต่ผมอยากให้ศาลเล็งเห็นว่า ผมมีอาชีพอยู่แล้ว มีฐานเงินเดือนที่ค่อนข้างโอเค เราไม่ได้แย่ที่ไม่มีงานทำ ไม่มีอะไรเป็นหลักเป็นแหล่ง คือเรามีงานทำ เราไม่จำเป็นต้องมาเรียนรู้วิชาชีพ เพื่อออกไปประกอบอาชีพ เช่น ในนี้ให้เรียนตัดผม ให้ทำขนม คือผมมีอาชีพอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องอาศัยหลักสูตรอาชีพในนี้เพื่อไปประกอบอาชีพข้างนอก

“เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าตัวใหญ่ขนาดนี้ถ้าวิ่งหนีจะทำยังไง ภูมิเลยบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า ที่นี่ให้ผมขับรถออกไปเอง ผมก็ขี่รถกลับมา คือผมสู้ในทางของผม ถ้าผมจะหนี ผมหนีไปตั้งแต่ศาลแล้ว

“ที่ผ่านมาสถานพินิจบ้านเมตตาเด็กหนีบ่อย เพราะมาตรการป้องกันการหลบหนีไม่ได้เหมือนเรือนจำ”

เมื่อถามถึงความเป็นอยู่ข้างใน ภูมิเล่าว่า อาหารที่นี่พอกินได้ ข้าวเยอะเนื้อน้อย ผักเยอะดี แตกต่างกับอาหารที่เรือนพิเศษกรุงเทพฯ เพราะที่นั่นเหมือนให้นักโทษเป็นคนทำ แต่ที่นี่จะมีแม่ครัวทำให้โดยเฉพาะ 

“เรื่องที่นอนก็มีเบาะ มีฟูก ตอนนี้กักโรคยังไม่ได้ลงไปนอนที่โรงนอนปกติ คือบนนี้ก็แล้วแต่วันที่มีเด็กถูกส่งตัวมา บางวันก็ 7 คน หรือน้อยกว่านั้น รู้จากครูว่า ถ้าห้องทั่วไปก็นอนกันประมาณ 20-25 คน แต่สภาพเป็นยังไงผมยังไม่เห็นเพราะยังกักตัวอยู่”

ส่วนเรื่องความเครียด ภูมิเล่าว่า “เต็ม 5 ผมให้ 10 เลย ตอนนี้ยังมีเพื่อนกักตัว 2 คน แต่ถ้าสองคนนั้นไปก็ต้องอยู่คนเดียว ผมบอกเขาไปแล้วว่า ถ้าอยู่คนเดียวผมอยู่ไม่ได้หรอก ผมกลัวห้ามความคิดตัวเองไม่ได้ มันฟุ้งซ่าน”

ภูมิเล่าเพิ่มเติมว่า วันแรกอยู่กัน 10 คน แล้วก็ลดลงมาเรื่อย ๆ เมื่อถามถึงเยาวชนอีก 2 รายว่าโดนคดีอะไร ภูมิเล่าว่าเป็นคดีลักทรัพย์ คดีทั่วไป “คือจะให้ไปคุยอะไรกับเขา เพราะคดีที่โดนต่างกัน อย่างของเรามันคดีการเมือง จะไปคุยกับเขาก็ไม่เมคเซนส์ ของเขาแบบรอสุดป้ายอย่างเดียว แล้วเราที่ต้องพูดเรื่องข้อมูลเสนอศาลแบบนี้ ในนี้ก็ไม่รู้จะคุยกับใคร ไม่เหมือนที่พิเศษกรุงเทพ ที่นั่นมีนักโทษทางการเมืองอื่น ๆ อีก”  

“ตอนที่กักโรคอยู่นี้ได้ดูข่าวทั่วไปเลย ไม่ได้ห้าม แต่ผมอยากดูช่อง voice ที่นี่ไม่มี เพราะมีแต่เสาก้างปลา รับได้แค่ช่องหลัก ๆ 3 5 7 รีโมทก็ไม่มี เพราะเด็กเคยเข้าเฟซบุ๊ก ทีวีมันเป็นสมาร์ททีวี เจ้าหน้าที่เลยเอารีโมทออก”

X