“ภูมิ” ยุติการอดอาหาร ส่วนมารดายื่นคำร้องขอให้ศาลเยาวชนฯ เปลี่ยนคำสั่งกรณีให้ควบคุมตัวในสถานพินิจ เนื่องจากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป

วันที่ 21 พ.ย. 2566 ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง “ภูมิ หัวลำโพง” นักกิจกรรมเยาวชนและอาสากู้ภัยวัย 20 ปี ที่ถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจฯ บ้านเมตตา ได้ถูกนำตัวมาศาลในคดีไปร่วมชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารที่หน้าสถานทูตเมียนมา เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2564  โดยมารดาและที่ปรึกษากฎหมายของภูมิได้ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งกรณีให้ควบคุมตัวในสถานพินิจฯ ในคดีตามมาตรา 112 ด้วย

สำหรับคดีที่เขาถูกควบคุมตัวนั้น ได้แก่ คดีร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง ซึ่งถูกจับกุมไปยัง สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 โดยเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 ภูมิตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพตามฟ้อง โดยศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งให้ใช้มาตรการพิเศษแทนการพิพากษาคดี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางฯ มาตรา 132 วรรคสอง กำหนดให้ส่งตัวจำเลยไปที่สถานพินิจฯ เป็นเวลา 1 ปี ระหว่างนั้นให้อบรมหลักสูตรวิชาชีพ 2 หลักสูตร และให้ ผอ.สถานพินิจฯ รายงานความประพฤติจำเลยให้ศาลทราบทุก 3 เดือน ทำให้เขาถูกนำตัวไปควบคุมยังบ้านเมตตาตั้งแต่วันดังกล่าว

ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 15 พ.ย. เป็นต้นมา ภูมิยังได้เริ่มอดอาหารประท้วง หลังเขาถูกควบคุมตัวมาเกือบ 1 เดือน แต่ยังคงไม่ได้อบรมวิชาชีพตามที่ศาลมีคำสั่ง โดยเจ้าหน้าที่บ้านเมตตาแจ้งว่าจะต้องรอเวลาประมาณ 60-90 วัน ถึงจะรับการอบรมได้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งเหตุผลว่าเหตุใดจึงต้องรอนานขนาดนั้น

วันนี้ ภูมิแจ้งกับผู้ปกครองและที่ปรึกษากฎหมายว่าเขาได้เริ่มกลับมารับประทานอาหารตั้งแต่เมื่อวานนี้ (20 พ.ย.) เนื่องจากสภาพร่างกายไม่ไหว รวมเวลาการอดอาหารของภูมิทั้งหมด 6 วัน

ผู้ปกครองและที่ปรึกษากฎหมายยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งกรณีให้ควบคุมตัวในสถานพินิจฯ และให้มีการไต่สวนผู้ปกครองหรือผู้รับรองความประพฤติประกอบด้วย ศาลเยาวชนฯ ได้รับคำร้องไว้

ต่อมาเวลา 16.00 น. ศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งยกคำร้องของมารดาของภูมิ ระบุคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้วกรณียังไม่มีเหตุอันสมควรให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนต่อจำเลยตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 137 จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง”

———————————————–

.

สำหรับคำร้องขอให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ขอให้ศาลให้มาตรการแทนการพิพากษาคดี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 132 วรรคหนึ่ง แทนวรรคสองนั้น มีใจความโดยสรุปดังนี้

1. ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับผู้ปกครองที่ดูแลจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากมารดา ซึ่งเป็นผู้ปกครองของจำเลยได้กลับมาพักอาศัยและทำงานที่ประเทศไทย และจะรับจำเลยกลับไปดูแล

ก่อนหน้านี้ผู้ร้อง (มารดา) ได้ไปทำงานอยู่ในต่างประเทศ และยายได้เลี้ยงดูโดยให้อิสระแก่จำเลย หลังศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 ผู้ร้องจึงตัดสินใจเดินทางกลับมาเยี่ยมลูกชายและมาแสดงตนต่อศาล เพื่อรับรองกับศาลว่าผู้ร้องจะกลับมาดูแลจำเลย ให้จำเลยเรียนหนังสือหรือฝึกอบรมวิชาชีพ ตลอดจนผู้ร้องยินยอมเข้าร่วมกิจกรรมหรือรับคำปรึกษาแนะนำตามที่ศาลสั่ง

ด้วยเหตุที่ผู้ร้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวของบุตรสองคนและเป็นหัวหน้าครอบครัว และครอบครัวประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ผู้ร้องได้รับโอกาสในการทำงานที่ต่างประเทศ หวังว่าจะเก็บเงินให้ได้สักก้อนแล้วกลับมาอยู่กับครอบครัว ทำให้ช่วงเวลาที่ผู้ร้องไปทำงานที่ต่างประเทศ จำเลยต้องอยู่ในความดูแลของยายที่มีอายุมาก และมีช่องว่างระหว่างวัยกับจำเลย ซึ่งการดูแลเอาใจใส่และความเข้มงวดกวดขันในด้านความประพฤติและการศึกษายังไม่ทั่วถึง ประกอบกับเป็นช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 การเดินทางระหว่างประเทศหยุดชะงัก ผู้ร้องก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถเดินทางกลับมายังประเทศไทยได้

มารดาของภูมิได้ยืนยันในคำร้องว่าจะกลับมาอบรมดูแลจำเลยให้เรียนหนังสือและฝึกอบรมวิชาชีพ ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องหลักสูตรการปฏิบัติงานด้านกู้ชีพ กู้ภัย เพื่อให้จำเลยสามารถประกอบอาชีพอาสากู้ภัยที่จำเลยมีความชื่นชอบ และมีเป้าหมายในชีวิตว่าจะทำธุรกิจเกี่ยวกับการรับส่งผู้ป่วยหรือผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นอาชีพต่อยอดจากงานที่จำเลยทำในปัจจุบัน และยังเป็นอาชีพที่จำเลยสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยผู้ประสบภัย คนด้อยโอกาส และคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินได้

.

2. ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับการศึกษาอบรม อาชีพ สังคมและสิ่งแวดล้อมของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากแม้จำเลยยังไม่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคปกติ แต่เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวกับหลักสูตรการปฏิบัติงานด้านกู้ชีพ กู้ภัย เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพอาสากู้ภัย

คำร้องระบุว่า ในวัยเด็กจำเลยมีความฝันที่จะประกอบอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร และมีความพยายามที่จะศึกษาต่อในหลักสูตรเตรียมนักเรียนตำรวจและทหาร นอกจากอาชีพดังกล่าวแล้วจำเลยยังอยากทำงานด้านอาสากู้ชีพ เนื่องจากได้รับแรงบันดาลใจจากผู้ปกครองของเพื่อนรุ่นพี่ ซึ่งขณะนั้นทำงานเป็นพนักงานวิทยุที่สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ และเป็นอาสากู้ภัยของร่วมกตัญญู ซึ่งได้ชักชวนและให้โอกาสจำเลยไปช่วยงานอาสากู้ภัย ซึ่งมารดาและยายของจำเลยสนับสนุนให้ทำ เพราะเป็นการใช้เวลาว่างที่เป็นประโยชน์และได้ช่วยเหลือผู้อื่น

ขณะที่จำเลยอายุ 15 ปี จำเลยมีความสนใจอย่างจริงจังในงานด้านอาสากู้ชีพ กู้ภัย และเปลี่ยนความฝันจากการประกอบอาชีพตำรวจและทหาร มาเป็นอาชีพอาสากู้ภัย มารดาและยายจึงสนับสนุนให้จำเลยเข้าอบรมหลักสูตรการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานและการใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ ของมูลนิธิป่อเต็กตี๊ง

จำเลยได้พัฒนาศักยภาพและความรู้ของตนเอง จะเห็นได้จากปี 2565 จำเลยเข้ารับการฝึกอบรมปฏิบัติหน้าที่ตรวจคัดกรองการติดเชื้อกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และปี 2566 ฝึกอบรมและทดสอบการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานโดยได้รับการแต่งตั้งเป็นอาสาสมัครกู้ชีพโรงพยาบาลศิริราชของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช  

ทำให้จำเลยได้มีโอกาสทำงานเป็นอาสากู้ภัย จนพอมีรายได้สามารถเลี้ยงดูตนเอง โดยจำเลยได้อยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมใหม่ของคนทำงานด้านอาสากู้ภัยและสาธารณะประโยชน์ทางการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมีหัวหน้าอาสาสมัคร มูลนิธิร่วมกตัญญู บริเวณจุด สน.ปทุมวัน ซึ่งดูแลและส่งเสริมผลักดันจำเลยในการทำงานอาสากู้ภัย ทำหนังสือให้การรับรองความประพฤติของจำเลยมาด้วย

.

3. ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับอายุ นิสัย และความประพฤติของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากจำเลยบรรลุนิติภาวะ มีความมุ่งมั่นรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน ไม่ได้มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง และมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

ในคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาก่อนหน้านี้ และได้รับโอกาสให้ปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู จำเลยสามารถปฏิบัติได้สำเร็จดังที่ให้สัญญากับยายและศาลไว้ในทุกคดี และในช่วงปี 2566 จำเลยไม่ได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมและกระทำความผิดอื่นใดอีก

ปัจจุบันจำเลยอายุ 20 ปี มีความมุ่งมั่นรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน ไม่ได้มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่จะกระทำผิดซ้ำอีก และมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จำเลยมีความมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่เป็นอาสาสมัคร และมีความรับผิดชอบ สามารถดูแลครอบครัวในระหว่างที่มารดาทำงานในต่างประเทศ ดูแลน้องสาวซึ่งยังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.ปลาย รวมถึงดูแลยายซึ่งป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวานและไขมัน ซึ่งต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลทุก 2 เดือน และดูแลตาซึ่งเป็นพี่ชายยายที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวานและโรคไต ปัจจุบันขาบวมไม่สามารถเดินหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ

.

4. ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 

ก่อนถูกส่งเข้าสถานพินิจ จำเลยกำลังมีงานทำ มีรายได้และกำลังมีอนาคตที่ดีขึ้น และกว่า 2 ปีที่ผ่านมาจำเลยมีความตั้งใจที่จะปรับปรุงพฤติกรรมตนเอง เมื่อจำเลยได้ทราบคำสั่งและส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ศาลให้จำเลยเข้ารับการฝึกอบรมจากเหตุที่จำเลยไม่ได้เรียนหนังสือ และยายไม่สามารถดูแลจำเลยได้ จำเลยรู้สึกเสียใจและรู้สึกมืดมนหนทางที่จะกลับไปแก้ไขในเหตุเหล่านี้ได้ และเสียใจที่ศาลไม่ได้พิจารณาความประพฤติของจำเลยในปัจจุบัน  

ประกอบกับจำเลยอยู่ในห้องกักโรคของสถานพินิจฯ ไม่ได้รับการเข้าอบรมใด ๆ เป็นเวลากว่า 1 เดือน จนจำเลยมีภาวะเครียด ทำให้จำเลยไม่รับประทานอาหารตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกับสุขภาพร่างกายจนมีอาการปวดท้องแบบท้องเกร็ง บิด วิงเวียนศีรษะตลอดเวลา และได้รับการบรรเทาอาการเจ็บป่วยด้วยการจิบน้ำและน้ำเกลือ

ผู้ร้องมีเจตนาเพื่อแจ้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ด้านสุขภาพจิตใจและร่างกายของจำเลยเท่านั้น ไม่ประสงค์ให้จำเลยซึ่งเป็นบุตรของผู้ร้องกระทำการใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทางร่างกายทั้งสิ้น แต่เหตุที่เรียนต่อศาล เพื่อให้ได้ทราบว่าจำเลยถูกส่งเข้าสถานพินิจมาเป็นเวลากว่า 1 เดือน ได้รับบทเรียนสำคัญแก่ชีวิต และทางผู้ปกครองก็ได้รับทุกข์ทางใจ

จึงขอศาลพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของการหันเหเยาวชนจากคดีอาญาในการใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคืนเยาวชนที่ดีให้สังคมยิ่งกว่าการที่จะลงโทษ โดยกำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับเยาวชน

.

5. พฤติการณ์คดีและพฤติกรรมของเยาวชนอยู่ในเกณฑ์ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี ตามมาตรา 132 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาได้

คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ และจำเลยได้ปรับปรุงแก้ไขความประพฤติโดยภายหลังจากถูกดำเนินคดีไม่ไปกระทำผิดซ้ำ ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะเกี่ยวกับอาสากู้ภัย ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง สามารถรับผิดชอบตนเองและดูแลครอบครัวร่วมกับผู้ร้องได้ เป็นเยาวชนที่มีแนวโน้มที่จะสามารถปรับปรุงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น

ประการสำคัญพฤติการณ์ในคดีตามฟ้องเป็นการกระทำผิดร่วมกันของกลุ่มผู้ชุมนุมในการชุมนุม เยาวชนไม่ได้มีพฤติการณ์เป็นหัวหน้าสั่งการและไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมเกินสมควร จึงขอศาลยกเลิกคำสั่งให้ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี ตามมาตรา 132 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ แก่จำเลย เปลี่ยนไปใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี ตามมาตรา 132 วรรคหนึ่งแทน 

.

X