นักกิจกรรม 17 คน เข้ารับทราบข้อหาคดีทำกิจกรรมหน้ากระทรวงวัฒนธรรม – หน้าพรรคเพื่อไทย – ขี่รถรณรงค์ ‘ยกเลิก 112’

ระหว่างวันที่ 16 และ 19 ก.ย. 2566 นักกิจกรรมและประชาชน รวมจำนวน 17 คน เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ห้วยขวาง และสน.พระราชวัง จากการทำกิจกรรมช่วงเดือน พ.ค. และ ส.ค. 2566 ประกอบด้วย กิจกรรมที่หน้ากระทรวงวัฒนธรรม หน้าพรรคเพื่อไทย และกรณขับจักรยานยนต์เรียกร้อง ‘ปล่อยเพื่อนเรา’

คดีชุมนุมหน้ากระทรวงวัฒนธรรมให้ถอดถอน ‘เนาวรัตน์’ นักกิจกรรมรับทราบข้อหา 15 คน และเด็กถูกแจ้งอีก 1 ราย

16 ก.ย. 2566 นักกิจกรรมจำนวน 15 คน นำโดย ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เข้ารับทราบข้อหาที่ สน.ห้วยขวาง ในคดีที่มีกระทรวงวัฒนธรรม มอบอำนาจให้นางสาวอัญชลี ทำนุรัฐ กับพวก เป็นผู้กล่าวหา จากเหตุกิจกรรมที่หน้ากระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2566 เพื่อเรียกร้องให้ถอดถอน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา ออกจากตำแหน่ง ‘ศิลปินแห่งชาติ’

นอจากนั้นยังมี ได้แก่ ‘เอียร์’ เด็กวัย 14 ปี ถูกดำเนินคดีด้วย โดยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมที่ปรึกษากฎหมายและผู้ปกครอง 

พ.ต.ต.อรรถพล คงเครือพันธุ์ พร้อมคณะพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาต่อทั้งหมด โดยกล่าวหาว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุม ซึ่งไม่ได้มีการขออนุญาตชุมนุมสาธารณะ พร้อมมีการระบุรายละเอียดของพฤติการณ์ของผู้ต้องหาแต่ละคน อาทิ การปีนข้ามรั้วเข้าไปภายในกระทรวงวัฒนธรรม, การเทสาดสีใส่ป้าย, การจุดพลุควันสี และพลุดอกไม้, การพ่นสีสเปรย์บนพื้นถนน, การโปรยกระดาษข้อความ โดยผู้ต้องหาบางรายก็ถูกระบุว่าเป็นแกนนำผู้ชุมนุม แต่ไม่ได้มีพฤติการณ์ใด ๆ ดังกล่าว ทางกระทรวงวัฒนธรรมประเมินความเสียหายในส่วนต่าง ๆ รวมทั้งหมดเป็นเงิน 64,000 บาท 

ตำรวจได้แจ้งข้อหาทั้งหมด 5 ข้อกล่าวหาต่อทั้งหมด แม้จะมีพฤติการณ์ไม่เหมือนกัน ได้แก่ 

1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 “มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ”

2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้น ไปบุกรุกอาคารเก็บรักษาทรัพย์หรือสํานักงานในความครอบครองของผู้อื่น, 

3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ร่วมกันทําให้ทรัพย์สาธารณะเสียหาย-เสื่อมค่า 

4. พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 ร่วมกันขีด เขียน พ่นสี ซึ่งข้อความ หรือรูปรอยใดๆ บนถนน หรืออยู่ในที่สาธารณะ

5. พ.ร.บ.ชุนนุมสาธารณะฯ ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะ ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง

ทั้ง 16 คน ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลายคนปฏิเสธการลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา และยังปฏิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหา ขณะที่พนักงานสอบสวนนัดหมายให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 2 พ.ย. 2566

ในคดีนี้ ยังมีผู้ที่ตำรวจออกหมายเรียกอีก 2 คน ได้แก่ ณัฐพล ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ภายหลังถูกศาลตัดสินจำคุก 3 ปีในคดีที่ถูกกล่าวหาร่วมเผารถยนต์ตำรวจ สน.ดินแดง หลังเหตุการณ์ชุมนุม #ม็อบ11มิถุนา 2565 โดยหากยังไม่ได้รับการประกันตัว ตำรวจจะเดินทางไปแจ้งข้อกล่าวหาในภายหลัง และ ‘หยก’ เยาวชนวัย 15 ปี

ย้อนแจ้งข้อหาคดีพ่นสีสเปรย์ “ยกเลิก 112”- “สนใจการเมืองหน่อย”


ในวันเดียวกันนั้น ‘นรินทร์ภัทร์’ ซึ่งเข้ารับทราบข้อหา ที่สน.ห้วยขวาง ด้วยนั้น ยังถูก พ.ต.ท.นคร ตั้งรวมทรัพย์ พนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหาในอีกคดีหนึ่ง กรณีการนําสีสเปรย์สีแดงพ่นข้อความคําว่า “ยกเลิก 112” และ “สนใจการเมืองหน่อย” ตั้งแต่ช่วงวันที่ 13 มี.ค. 2566 ในพื้นที่ป้ายรถประจำ ในเขตของ สน.ห้วยขวาง ทั้งหมดรวม 5 จุด 

ตำรวจได้แจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 เรื่องการ “ขีด เขียน พ่นสี ในที่สาธารณะ” ในคดีนี้ ทางผู้ถูกกล่าวหาได้ยินยอมให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับ เป็นเงินรวมจำนวน 5,000 บาท ทำให้คดีสิ้นสุดลง

คดีจุดพลุควันหน้าพรรคเพื่อไทย

ในวันเดียวกันนั้น ทางพนักงานสอบสวน สน.มักกะสัน ร.ต.อ.ไพศาล สุธาพจน์ รองสารวัตร (สอบสวน) ได้เดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหาเฉพาะ ‘สายน้ำ’ นภสินธุ์ และ ‘ธีรภัทร’ ในข้อหา “จุดพลุควันหรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศ โดยไม่ได้รับอนุญาต” จากกรณีกิจกรรมหน้าพรรคเพื่อไทย

ข้อกล่าวหาระบุว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2566 ขณะมีผู้ชุมนุมแสดงออกทางการเมืองหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้ต้องหาได้จุดพลุควันโดยไม่ได้รับอนุญาต ทําให้เกิดควันสีพุ่งสู่อากาศรบกวนผู้อื่น 

ทั้ง 2 คน ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ปฏิเสธจะลงลายมื่อชื่อในบันทึกแจ้งข้อหา และขอให้การเป็นหนังสืออีกครั้งภายในวันที่ 29 ก.ย. 2566

คดีโบกธงยกเลิก 112 บริเวณวัดพระแก้ว

ต่อมาวันที่ 19 ก.ย. 2566 นักกิจกรรม 5 คน ประกอบด้วย ‘สายน้ำ’ นภสินธุ์, ‘ดิว’ สมชาย, ‘บังเอิญ’ ศุทธวีร์, ‘ออย’ สิทธิชัย, ‘แก๊ป’ จิรภาส ได้เดินทางไปที่ สน.พระราชวัง เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามเรียก จากการทำกิจกรรมเขียนคำว่า ยกเลิก 112 บนธงและขับขี่ไปบริเวณรอบวัดพระแก้ว

คดีนี้มี พ.ต.ท.เสกสรรค์ ชุ่มแจ่ม เป็นผู้กล่าวหา โดยมี ร.ต.อ.เทวินทร์ พิกุลทอง พนักงานสอบสวน เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา ระบุว่าเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566 เวลาประมาณ 18.10 น. ผู้ต้องหา กับพวกรวม 5 คนได้ร่วมกันชุมนุมในที่สาธารณะ เพื่อเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นผ่านสัญลักษณ์บนธง ให้มีการยกเลิกมาตรา 112 ด้วยการร่วมกันขี่รถจักรยานยนต์โดยรอบพระบรมมหาราชวัง (ถนนสนามไชย, ถนนท้ายวัง และถนนมหาราช) ซึ่งมีระยะไม่เกิน 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง และการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาต 

ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 7 และ 27 ‘ร่วมกันชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง’ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท


อย่างไรก็ตามทั้ง 5 คน ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และนัดส่งคำให้การอีกครั้งในวันที่ 2 ต.ค. ทั้งนี้ทุกคนไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

X