TW : Violence, Wound, Self – Harm, Sexual explicit
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับรายงานว่ามีการจับกุมกลุ่มนักกิจกรรมจำนวน 9 ราย ประกอบไปด้วย ตะวัน -ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, แบม อรวรรณ, สายน้ำ, มอส (นามสมมติ), ธี (นามสมมติ), ออย สิทธิชัย ,บังเอิญ, แก๊ป จิรภาส และ แบงค์ ณัฐพล จากกรณีเข้าร่วมชุมนุมที่หน้า สน.สำราญราษฎร์ ในกิจกรรม “ใครใคร่ ด่า ด่า ใครใคร่สาด สาด #Saveหยก” เพื่อทวงถามการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในคดีของ ‘หยก’ นักกิจกรรมเยาวชน วัย 15 ปี ที่ถูกคุมขังจากคดีมาตรา 112 อยู่ในขณะนี้
ในเวลา 16.00 น. มวลชนได้รวมตัวกันที่บริเวณหน้า สน.สำราญราษฎร์ โดยตะวันและเพื่อนได้พยายามเรียกให้ พ.ต.อ.ทศพล อำไพพัฒน์กุล ผกก.สน.สำราญราษฎร์ ออกมาชี้แจงกรณีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับหยก ที่สถานพินิจบ้านปรานี โดยไม่มีการแจ้งให้ผู้ปกครองและผู้ไว้วางใจของหยกทราบ อีกทั้งได้มีการใช้โทรโข่งเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและศาลปล่อยตัวหยก เพื่อให้ทันในช่วงเปิดภาคเรียนในระดับชั้นมัธยมปลายของเธอ
ต่อมาในช่วง 17.00 น. พล.ต.ต.นครินทร์ สุคนธวิท ผู้บังคับการ บก.น.6 ได้เดินทางมาที่ สน.สำราญราษฎร์ และได้ชี้แจงถึงกรณีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับหยก ต่อนักกิจกรรมและมวลชนที่อยู่ในบริเวณนั้น ทั้งนี้ตะวันได้ทวงถามต่อ พล.ต.ต.นครินทร์ ให้ชี้แจงกรณีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับเยาวชนวัย 15 ปี แต่ พล.ต.ต.นครินทร์ ไม่ได้ตอบคำถามอย่างครบถ้วนทั้งหมด โดยบอกเพียงแค่ว่าเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม และขอให้พาผู้ปกครองไปยื่นคำร้องประกันตัว
ต่อมาในเวลาพลบค่ำ (19.10 – 19.45 น.) กลุ่มตะวันและมวลชน ยังคงไม่ได้คำตอบจาก ผกก.สน.สำราญราษฎร์ จึงทำให้มีการกลับขึ้นไปบนอาคารสถานีอีกครั้ง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวตำรวจได้มีการนำโล่มาป้องกันและปิดกั้นทางเข้าในส่วนด้านในของสถานีเอาไว้ จนเกิดเป็นเหตุวุ่นวาย ตลอดจนมีการจับกุมตัวนักกิจกรรมรวม 9 ราย
เวลา 20.00 น. ทนายความติดตามเข้าไปบนอาคาร สน.สำราญราษฎร์ พบว่าผู้ต้องหาหลายคนมีใบหน้าและร่างกายสะบัดสะบอม จากการถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่ ต่อมาทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าจะมีการเคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย ไปคุมขังในพื้นที่อื่น ซึ่งเป็นนอกพื้นที่ของ สน.สำราญราษฎร์ โดยอ้างเหตุพื้นที่ของสถานีไม่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไว้ในที่เดียวกันได้
ทำให้ทั้งหมดถูกแยกควบคุมตัวไว้สถานีตำรวจต่างๆ ได้แก่ ตะวันและแบมถูกแยกไปควบคุมตัวที่ สน.ทุ่งสองห้อง ส่วนบังเอิญ, ออย และแบงค์ ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ฉลองกรุง ด้าน สายน้ำ, ธี, มอส และแก๊ป ถูกควบคุมตัวไปยัง สน.ลาดกระบัง
ในช่วงเวลา 21.00 น. ทนายความบางส่วนได้เดินทางติดตามสายน้ำและเพื่อนไปที่ สน.ลาดกระบัง ก่อนจะได้รับข้อเท็จจริงจากผู้ต้องหาว่า พวกเขาทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่รุมทำร้ายด้วยการกระทืบและใช้วาจาข่มขู่ อีกทั้งมีการยึดโทรศัพท์มือถือ โดยไม่ได้มีความยินยอมจากผู้ต้องหาทั้งหมดอีกด้วย
ส่วนที่ สน.ทุ่งสองห้อง ตะวันและแบมได้พยายามทำอารยะขัดขืนโดยการถอดเสื้อชั้นใน ออกมาผูกคอกับลูกกรงในห้องขัง ซึ่งตำรวจได้เข้าควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ทันโดยการยื้อแย่งเสื้อชั้นในของผู้ต้องหาออกมาได้ ซึ่งภายหลังแบมได้เปลี่ยนไปใช้ศีรษะตัวเองโขกเข้ากับผนังห้องขังแทน เจ้าหน้าที่ได้พยายามเข้าเจรจาและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้
ทั้งนี้ ตะวันได้เปิดเผยกับทนายความว่า ในช่วงที่เธอถูกจับกุมตัวอยู่ที่ สน.สำราญราษฎร์ ผู้กำกับได้ทำการชูนิ้วกลางใส่เธอและเพื่อนๆ ด้วย และในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวมาที่ สน.ทุ่งสองห้อง ก็ได้มีนายตำรวจชื่อ ศิริพงศ์ คงแก้ว ใช้กุญแจมือห้องขังฟาดเข้าที่บริเวณนิ้วมือของแบม ก่อนจะดึงหัวตะวันและพูดจาข่มขู่
เมื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงเรื่องการถูกคุกคามทางเพศกับแบม เธอได้อธิบายว่า ตนเองได้มีการแก้ผ้าจริงในห้องสอบสวนที่ สน.สำราญราษฎร์ โดยเป็นการตั้งใจทำอารยะขัดขืน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่แจ้งเหตุผลในการควบคุมตัวเธอและเพื่อนๆ ซึ่งในขณะที่มีการแก้ผ้านั้น ก็มีเจ้าหน้าที่ คฝ.หญิง ทำการบันทึกคลิปวิดีโอของเธอเอาไว้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ สน.ฉลองกรุง ทนายได้เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้ทนายความบางส่วนที่เดินทางมาถึงแล้วเข้าพบผู้ต้องหา โดยอ้างว่าต้องการรอให้ทนายของผู้ต้องหามาครบก่อนทุกคน โดยไม่ชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติมอีกด้วย
ในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนของวันถัดมา (11 พ.ค. 2566) พนักงานสอบสวน ได้อ่านบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาให้กับนักกิจกรรมทั้งหมด ใน 4 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าซึ่งทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์, ร่วมกันบุกรุกโดยไม่มีเหตุอันควร เข้าไปในสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น หรือไม่ยินยอมออกไปจากสถานที่ โดใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธ หรือร่วมกระทำผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป, ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น
ทั้งนี้ ในบันทึกการจับกุมได้ระบุพฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 เวลา 16.00 น. มีการประกาศนัดรวมตัวกันผ่านสื่อโซเชียล ให้มารวมตัวกันบริเวณ สน.สำราญราษฎร์ โดยจัดกิจกรรมชื่อว่า ‘ใครใคร่ด่า ด่า! ใครใคร่สาด สาด! #Saveหยก’ นำโดยตะวันและเพื่อน รวม 9 คน ตลอดจนมีมวลชนที่เข้าร่วมกิจกรรมราว 30 คน
มีการปีนขึ้นรถตำรวจ และตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่ มีการนำสีทาบ้านแบบกระป๋องสีสเปรย์มาพ่นใส่บริเวณบันไดและตัวอาคารของ สน.สำราญราษฎร์ และรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนบริเวณศาลพระภูมิที่ถือเป็นที่เคารพสักการะของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
อีกทั้งมีการจุดพลุควันแล้วปาใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจบน สน.สำราญราษฎร์ มีการใช้กำลังทำลายทรัพย์สินราชการ และปลุกระดมมวลชนให้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ โดยมีการปาสีกระป๋อง และถุงเลือดเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ก่อนจะถอยออกไปจากอาคาร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สั่งห้ามเข้ามาก่อความวุ่นวาย แต่ผู้ต้องหาก็ได้ปาสีกระป๋องใส่เจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะแตก เป็นแผลฉกรรจ์ จนทำให้เกิดความชุลมุนวุ่นวาย
อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนพนักงานสอบสวนจะควบคุมตัวทั้งหมดไว้ เพื่อเตรียมยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น โดยทนายความได้ประสงค์ยื่นคำร้องขอไต่สวนคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวนด้วย
ต่อมา ในวันที่ 11 พ.ค. 2566 เวลาประมาณ 13.00 น. รถควบคุมตัวของผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย จากสถานีตำรวจต่างๆ ได้ทยอยเดินทางมาถึงศาลอาญา แต่เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งกับทนายความว่ายังไม่สามารถไต่สวนได้ในเวลานี้ และไม่ได้บอกสาเหตุหรือแจ้งเหตุผลอื่นใด นอกจากว่าให้รอจนกว่าจะมีการเรียกตัว ก่อนจะแจ้งให้ทนายไปยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไว้ก่อนด้วย ซึ่งทนายก็ได้แจ้งกลับไปว่าผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ยืนยันที่จะให้ศาลมีการเปิดห้องพิจารณาคดี และฟังผลคำสั่งการฝากขังก่อน และจะขอไม่เซ็นคำร้องขอประกันใดๆ
ศาลเปิดห้องไต่สวนคัดค้านฝากขังหลังหมดเวลาราชการ ก่อนจะให้เลื่อนฟังผลคำสั่งออกไปเป็นวันที่ 12 พ.ค. เนื่องจากต้องส่งบันทึกไต่สวนให้ผู้บริหารศาลพิจารณาคำสั่ง
17.20 น. ราว 4 ชั่วโมงถัดมา เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าศาลจะมีการเปิดห้องพิจารณาเพื่อทำการไต่สวนคัดค้านฝากขังตามคำร้อง บริเวณหน้าห้องพิจารณาที่ 902 ยังคงมีมวลชนและครอบครัวของผู้ต้องหาจำนวนมาก ที่ต้องการจะเข้าร่วมสังเกตการณ์พิจารณาคดีในวันนี้
ในคดีนี้มี ร.ต.อ.ขจรเดช ปทุมชาติ พนักงานสอบสวน จาก สน.สำราญราษฎร์ ได้ขึ้นเบิกความในฐานะพยานผู้ร้องขอฝากขัง โดยก่อนเริ่มการไต่สวน ศาลได้ขอให้ผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย นั่งเรียงตามลำดับรายชื่อตามในสำนวนคดี เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการไต่สวน
ศาลได้ให้พยานเบิกความอธิบายเหตุของการขอฝากขังผู้ต้องหาในคดีนี้ โดยพยานได้เล่าเหตุการณ์ตามคำร้องขอฝากขัง ระบุว่าเหตุในวันที่ 10 พ.ค. 2566 ได้มีกลุ่มมวลชนเดินทางมาที่ สน.สำราญราษฎร์ เพื่อถามการแจ้งข้อกล่าวหากับหยก ซึ่งเป็นเยาวชนหญิง และเรียกร้องให้ ผกก.สน.สำราญราษฎร์ ลงมาพูดคุยให้ชัดเจนถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งผู้กำกับสถานีได้แจ้งว่าให้มวลชนส่งตัวแทนขึ้นมาพูดคุยบนอาคาร จากนั้นกลุ่มมวลชนไม่พอใจ มีการใช้โทรโข่งกล่าวด่าทอเจ้าหน้าที่ ใช้สีน้ำมันสาดตัวอาคารของสถานี และที่ศาลพระภูมิ มีการจุดพลุควัน จากนั้นผู้ต้องหาทั้งหมดก็บุกขึ้นไปบนอาคารสถานี
ภายในสถานีก็ได้มีการระดมกำลัง คฝ. ใช้โล่ปิดบังไม่ให้ผู้ต้องหาและมวลชนเข้ามาในตัวอาคาร จนมีการกระทบกระทั่ง และการใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ เช่น ไม้ และร่ม ฟาดตีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถือโล่กันบัง อีกทั้งโยนกระป๋องสีขนาดใหญ่ โดนเจ้าหน้าที่ศีรษะแตก และทำให้กระจกหน้าทางเข้าบนอาคารสถานีแตกเสียหาย
ในระหว่างนั้น ได้มีการแจ้งเตือนให้ยุติการกระทำ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงกระทำการแบบเดิม ซึ่งการกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า จึงได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไว้แยกไปคุมขังในสถานีอื่น
เมื่อศาลถามพยานว่า เหตุใดจึงต้องมีการนำตัวผู้ต้องหาไปควบคุมตัวที่สถานีอื่น และแต่ละคนถูกควบคุมตัวไปสถานีใดบ้าง พยานได้ตอบศาลว่าได้แยกผู้หญิงสองคนคือ ตะวันและแบมไป สน.ทุ่งสองห้อง ส่วนผู้ชาย 4 คนไปที่ สน.ลาดกระบัง และผู้ชายที่เหลือ 3 คน ไปที่ สน.ฉลองกรุง ซึ่งพยานได้ขยายความเพิ่มเติมว่า ทั้งสามสถานีเป็นโรงพักที่เดินทางสะดวกอยู่ตามแนวรถไฟฟ้า รถสาธารณะสามารถเข้าถึงได้
นอกจากนี้ ในสถานีดังกล่าวที่ผู้ต้องหาได้ถูกเคลื่อนย้ายไปควบคุมตัว ก็เป็นคำสั่งของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งกำหนดให้สถานีดังกล่าวเป็นสถานที่ควบคุมตัวพิเศษ โดยหลังจากมีการควบคุมตัวแล้ว ก็ได้มีการตั้งคณะพนักงานสอบสวนชุดพิเศษ ให้แยกกันไปสอบผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย ในการสอบสวนได้มีการแจ้งสิทธิให้กับผู้ต้องหาได้ทราบแล้ว
ทั้งนี้ เหตุการขอฝากขังเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยานหลักฐาน และสอบปากคำพยานบุคคลที่ยังไม่แล้วเสร็จเป็นจำนวน 10 ปาก ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ และแพทย์นิติเวชที่ตรวจร่างกายผู้ต้องหา ตลอดจนต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ของกลางและในที่เกิดเหตุ จึงขออนุญาตศาลให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นระยะเวลา 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 11 – 22 พ.ค. 2566
ในช่วงทนายความถามค้าน ทนายถามต่อพยานว่า ในคดีนี้พยานได้อยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่ และคำสั่งที่พยานได้เบิกความไปเมื่อสักครู่ว่ามีการทำหนังสือตั้งคณะพนักงานสอบสวนชุดพิเศษนั้น พยานได้มีหนังสือมาแสดงหรือไม่ โดยพยานได้ตอบว่าพยานอยู่ในเหตุการณ์จริง แต่หนังสือดังกล่าวไม่สามารถหาได้ในเวลานี้ และจะขอนำส่งศาลภายในวันพรุ่งนี้
ทนายความจึงถามต่อไปว่า ในที่เกิดเหตุของคดีนี้คือ บริเวณ สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เปิดให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ใครก็สามารถเข้าไปติดต่อราชการได้ ซึ่งพยานได้ยืนยันตามที่ทนายถาม
เมื่อทนายถามต่อว่า ในคดีนี้ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางโทรศัพท์ พยานตอบว่าตนไม่ทราบ และในการเบิกความก็มาในฐานะพนักงานสอบสวนเวร จึงไม่ทราบรายละเอียดแน่ชัด แต่ทราบว่า พนักงานสอบสวนได้ยึดโทรศัพท์ของผู้ต้องหาทั้งหมดไว้ และมีการทำบันทึกการตรวจยึดไว้แล้ว
ทั้งนี้ ทนายได้ถามต่อว่า ทนายของผู้ต้องหาได้มีการไปขอรับโทรศัพท์คืน เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งความคิดในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และไม่ใช่วัตถุในการกระทำผิดในคดีนี้ พยานได้ตอบว่าทราบ และทราบอีกว่ามีการมาแจ้งความร้องทุกข์เรื่องการที่ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายของผู้ต้องหา แต่เรื่องโทรศัพท์เป็นคำสั่งของผู้บัญชาการบอกว่าโทรศัพท์ต้องยึดไว้เป็นของกลาง และต้องนำตรวจกองพิสูจน์หลักฐาน
เมื่อถามว่าในการนำโทรศัพท์ส่งตรวจพิสูจน์ เป็นเพราะต้องการทราบเรื่องอะไรกันแน่ พยานได้ตอบทนายว่าต้องการทราบว่ามีการชักชวนให้กลุ่มมวลชนมาร่วมชุมนุมกันหรือไม่ และหากพบการกระทำผิดก็จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในภายหลัง แต่ยอมรับตามที่ทนายบอกว่าผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีในขณะจับกุม เนื่องจากเป็นการจับกุมซึ่งหน้า
แต่ที่ต้องจับผู้ต้องหาไปคุมขังไว้ที่อื่น พยานไม่สามารถตอบทนายได้ว่าระยะทางจาก สน.สำราญราษฎร์ ไป สน.อื่นๆ มีระยะทางเท่าไหร่ และใช้เวลาเดินทางนานแค่ไหน อีกทั้งไม่สามารถตอบได้ตามที่เบิกความว่าเดินทางสะดวกด้วยรถสาธารณะนั้น ต้องเดินทางด้วยรถสาธารณะหรือรถไฟฟ้าสายไหนบ้าง
ทั้งนี้ ที่เบิกความตอบศาลว่า ผู้ต้องหามีการใช้อาวุธ พยานกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ ไม่ได้มีการตรวจยึดวัตถุที่ใช้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ มีเพียงภาพที่บันทึกไว้ และวิดีโอจากกล้อง CCTV และถึงแม้จะระบุไม่ได้ว่าใครเป็นคนใช้กระป๋องสีขว้างปา แต่พยานก็มีภาพระบุว่าใครกำลังทำอะไรอยู่ ทั้งนี้ใบรับรองแพทย์ของเจ้าหน้าที่ที่ศีรษะแตก จะนำส่งในภายหลัง และได้มีปรากฏอยู่ในสำนวนสอบสวนแล้ว
ทนายได้ถามต่อว่า ในการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทั้งหมด และการดำเนินการตามกระบวนการที่เหลืออยู่ในการรวบรวมพยานหลักฐานนั้น พยานสามารถทำได้แม้ผู้ต้องหาจะถูกฝากขัง โดยทั้ง 9 คน ไม่ใช่ผู้มีอิทธิพลที่จะสามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ได้ พยานได้ยอมรับตามที่ทนายถาม
ผู้ต้องหาบางส่วนขอแถลงต่อศาลถึงอาการบาดเจ็บตามร่างกาย จากการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจรุมทำร้าย
อย่างไรก็ตาม ทนายได้ให้ผู้ต้องหาได้มีโอกาสชี้แจงอาการบาดเจ็บของตัวเอง โดยมีผู้ต้องหาบางส่วนได้ประสงค์จะชี้แจงต่อศาลและแสดงบาดแผลร่องรอยจากการถูกทำร้ายที่ สน.สำราญราษฎร์ ดังนี้
ผู้ต้องหาคนที่ 1 หรือออย ได้ลุกขึ้นชี้แจงอาการบาดเจ็บ โดยศาลขอให้ออยเดินมาให้ศาลและตำรวจผู้ร้องเห็นบาดแผลชัดๆ ที่บริเวณหน้าบัลลังก์ โดยออยแจ้งว่าตัวเองมีอาการบาดเจ็บและปวดที่บริเวณแขนและแผ่นหลัง เนื่องจากการรุมกระทืบของเจ้าหน้าที่
ผู้ต้องหาคนที่ 2 หรือสายน้ำ ชี้แจงกับศาลว่าได้รับบาดเจ็บบริเวณหัวมีอาการศีรษะบวม และเสื้อผ้าหลุดลุ่ย กระดุมขาด จากการถูกเจ้าหน้าที่รุมกระทืบ ริมฝีปากแตก จากการถูกเจ้าหน้าที่เตะเข้าที่ใบหน้า โดยตนเองกับเพื่อนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ สน.ลาดกระบัง พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ไม่ได้พาไปรับการรักษาแต่อย่างใด แม้ตนเองจะขอให้เจ้าหน้าที่พาไปพบแพทย์เพื่อบรรเทาอาการบาดเจ็บแล้วก็ตาม จนเจ้าหน้าที่จาก สน.ลาดกระบัง เป็นผู้พาไปโรงพยาบาลเพื่อรักษา
ผู้ต้องหาคนที่ 3 หรือตะวัน ลุกขึ้นชี้แจงอาการบาดเจ็บที่บริเวณข้อมือ มีแผลฟกช้ำ และถลอกที่บริเวณมือทั้งสองข้าง โดยทั้งหมดเป็นแผลจากการถูกลากเข้าไปที่ สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งศาลได้ถามในกรณีของตะวันว่าได้มีใครหายาบรรเทาอาการให้หรือยัง ซึ่งตะวันได้ตอบว่าจนถึงในเวลานี้ ก็ยังไม่มีใครหายามาบรรเทาอาการบาดเจ็บให้เธอ
ผู้ต้องหาคนที่ 4 หรือแบม ชี้แจงว่าเธอมีร่องรอยฟกช้ำตามร่างกาย มีอาการปวดบริเวณหลังและก้นกก และมีรอยแดงที่คอ สืบเนื่องจากการพยายามแขวนคอตัวเองกับลูกกรงด้วยเสื้อชั้นใน
ผู้ต้องหาคนที่ 5 หรือธี เขาชี้แจงว่าตนเองเป็นนักศึกษาในชั้นปีที่ 1 โดยได้รับบาดเจ็บบริเวณใบหน้า มีรอยแผลที่หัวคิ้ว และช้ำบริเวณต้นแขนขวา โดยธีแถลงเพิ่มเติมว่าในช่วงนี้เป็นการสอบปลายภาคที่มหาวิทยาลัยตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนอีกด้วย
ผู้ต้องหาคนที่ 6 หรือแก๊ป ได้รับบาดเจ็บบริเวณใบหน้า โดยศีรษะมีอาการปูดบวม เสื้อขาดหลุดลุ่ย จากการถูกตำรวจลากตัวไปกระทืบบนอาคารสถานี
ผู้ต้องหาคนที่ 7 หรือแบงค์ มีอาการบาดเจ็บตรงหางคิ้วด้านซ้าย หัวปูดบวม บริเวณต้นคอ มีอาการปวดมาทั้งคืนจากการถูกกดลงกับพื้น และเจ็บบริเวณหลังจากการถูกเจ้าหน้าที่กระทืบทั้งหลัง และผู้ต้องหาได้ขออนุญาตถอดเสื้อเพื่อแสดงอาการช้ำที่ซี่โครงทางด้านซ้าย ซึ่งเป็นผลจากการถูกเจ้าหน้าที่เตะ
เมื่อผู้ต้องหาทั้งหมดได้แถลงจนเสร็จแล้ว พยานได้ตอบว่าไม่ทราบถึงอาการบาดเจ็บของผู้ต้องหามาก่อน เพิ่งได้ทราบจากภาพถ่ายที่ทนายความได้แสดงให้เห็นตอนนี้ และเพิ่งได้เห็นจากร่างกายของผู้ต้องหาทั้งหมดในตอนที่เดินเข้ามาแสดงต่อหน้าบัลลังก์
ทั้งนี้ออยได้ขอแถลงเพิ่มเติมว่า ในช่วงการจับกุม เป็นช่วงที่มีการชุลมุนเป็นอย่างมาก ออยเป็นคนที่ถูกฉุดลากเข้าไปในอาคารสถานี แต่ก็หลุดออกมาได้ แต่ในตอนที่อยู่บริเวณหน้าสถานี ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาลากตัวขึ้นไปอีกครั้ง โดยมีเจ้าหน้าที่พูดกับเขาว่า ‘มึงเก่งมากใช่ไหม…’ และหลังจากนั้นก็โดนกระทืบ และเหยียบที่หลังตอนใส่กุญแจมือ โดยมีการเข้ามาเตะที่หัวซ้ำอีก
ส่วนสายน้ำได้แถลงว่า ในขณะถูกเข้าจับกุม เจ้าหน้าที่ได้เตะตัดขาให้เขาล้มลงกับพื้น จนทำให้มีการลากจนเสื้อขาด จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เตะเข้าที่หัว ตลอดจนซี่โครง และหน้าผาก และปากจนแตก ทำให้หายใจไม่ออก เมื่อเตะเสร็จก็จับใส่กุญแจมือ ก่อนจะรุมกระทืบต่อ และนำตัวเขาไปรวมกับเพื่อนๆ ที่ถูกจับ โดยถูกเจ้าหน้าที่ยึดโทรศัพท์ไปแม้ไม่ได้ให้ความยินยอม ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งกับสายน้ำว่าจะนำไปเก็บไว้เพื่อป้องกันการสูญหายเท่านั้น
และเมื่อเจอกับ ผกก.สน สำราญราษฎร์ สายน้ำจึงได้สอบถามว่าจะนำตัวเขาและเพื่อนๆ ไปควบคุมตัวไว้ที่ใดกันแน่ ผู้กำกับได้ตอบสายน้ำว่า ‘มึงมีหน้าที่ฟังก็ฟัง กูมีหน้าที่สั่ง มึงก็ทำตาม หรืออยากไปดาวอังคารไหม’ และพูดจาข่มขู่อีกหลายคำ
ทั้งนี้ สายน้ำได้กล่าวว่า ในคดีอื่นที่ สน.สำราญราษฎร์ ตนเองได้มีคดีอยู่จริงกับออย แต่ในคดีดังกล่าวยังคงอยู่แค่ในชั้นสอบสวน และอัยการยังไม่ได้มีคำสั่งฟ้องแต่อย่างใด อีกทั้งในคดีอื่นก็ยังไม่มีคดีใดของตนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด และเขาไม่มีพฤติการณ์หลบหนีคดีแต่อย่างใด
เวลา 19.40 น. หลังการไต่สวน ทนายได้สอบถามว่า ศาลจะมีคำสั่งลงมาเลยได้หรือไม่ เนื่องจากตอนนี้ล่วงเลยเวลามาพอสมควรแล้ว ศาลได้ตอบว่าตนมีหน้าที่เพียงมาบันทึกการไต่สวนคดีเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ในการออกคำสั่ง ก่อนจะเดินออกจากห้องพิจารณาคดีไป
ต่อมา 19.50 น. ศาลเดินกลับเข้ามาที่ห้องพิจารณาคดีอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะแจ้งว่า เนื่องจากล่วงเลยเวลาราชการมาเป็นระยะเวลาพอสมควร จึงขอให้เลื่อนฟังผลคำสั่งฝากขังเป็นวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค. 2566) เวลา 10.00 น. โดยให้พนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาไปไว้ที่สถานีตำรวจก่อน
เมื่อทนายสอบถามว่า จะให้นำตัวผู้ต้องหาไปควบคุมไว้ที่ใด ศาลก็ได้ตอบกลับเพียงว่าแล้วแต่พนักงานสอบสวนจะเป็นผู้จัดการ ซึ่งภายหลังผู้ต้องหาทั้งหมดยืนยันประสงค์ที่จะถูกคุมขังอยู่ร่วมกัน ทำให้ตำรวจส่งตัวไปขังอยู่ที่ สน.ทุ่งสองห้อง ทั้งหมด
ศาลอนุญาตฝากขัง แต่อนุญาตให้ประกันตัวนักกิจกรรมทั้ง 9 ราย ชี้เว้นแต่โจทก์จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาที่หนักกว่า ให้วางเงินประกันคนละ 25,000 บาท
12 พ.ค. 2566 หลังนักกิจกรรมทั้ง 9 คนถูกพาตัวมาที่ศาลอาญาอีกครั้ง เวลา 11.20 น. ศาลได้อ่านคำสั่ง โดยอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย ระบุว่าคำร้องขอฝากขังชอบแล้ว โดยระบุเหตุผลที่อนุญาตฝากขัง ดังนี้
1. ในกรณีที่ผู้ต้องหาได้แถลงต่อศาลว่ามีการทำร้ายร่างกายในขณะที่ถูกจับกุม หรือยึดทรัพย์โดยมิชอบ ศาลเห็นว่าตอนทำร้ายร่างกาย ผู้ต้องหาได้ใช้สิทธิในการร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว
2. ในกรณีที่มีการควบคุมตัวผู้ต้องหาไปไว้ที่อื่น ผู้ร้องได้แถลงว่า เนื่องจากในละแวก สน.สำราญราษฎร์ มีบ้านพักข้าราชการ บ้านพักพลเมือง เกรงว่าจะเกิดความวุ่นวายและอันตรายต่อประชาชน จึงให้มีการเคลื่อนย้ายผู้ต้องหาไปไว้สถานีอื่น ศาลเห็นชอบแล้ว
3. เนื่องจากว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เป็นการกระทำผิดทางอาญา เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะต้องตามตัวผู้ต้องหาได้ และที่คัดค้านว่าจะไม่หลบหนีนั้น มีหลักฐานพอสมควรที่จะให้ศาลเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำผิดจริง มีความจำเป็นต้องฝากขัง
จากนั้น ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด จนในเวลา 15.53 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 9 คนในชั้นสอบสวน ตลอดจนถึงชั้นพิจารณา เว้นแต่ว่าโจทก์จะฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาที่หนักกว่า โดยกำหนดให้วางเงินประกันคนละ 25,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทั้งหมดจึงได้รับการปล่อยตัวในวันนี้