กลไกพิเศษของสหประชาชาติแสดง “ความกังวล” กรณี “ตะวัน-แบม” หลังได้มีการยื่นคำร้องเร่งด่วน

หลังจากเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แบม” อรวรรณ อนุญาตให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องเร่งด่วน (an urgent appeal) ต่อคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (United Nations Working Group on Arbitrary Detention; UN WGAD) เพื่อรายงานกรณีเธอทั้งสองถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ) ขณะนี้ทั้งสองในวัยกว่า 20 ปี กำลังถูกจองจำและเฝ้าระวังอาการทางสุขภาพอย่างใกล้ชิด จากการอดอาหารและน้ำที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์

เพียง 4 วันหลังจากที่ยื่นคำร้องเร่งด่วนให้กับคณะทำงานฯ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 Clément Nyaletsossi Voule ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการสมาคมขององค์กรสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur on the Rights to Freedom of Peaceful Assembly and of Association) ได้รับข้อมูลจากการยื่นคำร้องเร่งด่วนดังกล่าว และได้ทวีตแสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการอาการของตะวันและแบมหลังจากได้อดน้ำอดอาหารมานานกว่า 3 อาทิตย์ เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทางการเมือง โดยผู้รายงานพิเศษกล่าวว่า เขาจะคอยติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

UN ได้แสดง “ความกังวล” อย่างยิ่งหลายครั้งเกี่ยวกับการรับมือการชุมนุมโดยภาครัฐตั้งแต่ปี 2563

นอกเหนือจากการแสดงความกังวลของผู้รายงานพิเศษฯ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ตั้งแต่ปรากฎการณ์การชุมนุมของเยาวชนปลดแอกในเดือนกรกฎาคม 2563 กลไกพิเศษอื่นๆ ขององค์กรสหประชาชาติเคยได้แสดงความกังวลต่อมาตรการของรัฐไทยในการรับมือกับผู้ชุมนุมไว้หลายครั้ง

ในวันที่ 17 กันยายน 2563 ผู้รายงานพิเศษฯ ขององค์กรสหประชาชาติ 3 ท่าน ได้ส่งหนังสือถือรัฐไทย เพื่อแสดงความกังวลอย่างมาก (serious concern) กับการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะบุคคลที่ได้ร่วมปราศรัยและเข้าร่วมชุมนุมในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2563 อีกทั้งผู้รายงานพิเศษฯ ยังแสดงความกังวลกับการที่รัฐไทยมีคำสั่งให้เฟซบุ๊ก “บล็อค” (block) การเข้าถึงกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” และจะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของเฟซบุ๊กในประเทศไทย

ในวันที่ 11 มกราคม 2564 ผู้รายงานพิเศษฯ ขององค์กรสหประชาชาติ 3 ท่าน และคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ส่งหนังสือให้กับรัฐไทยเพื่อแสดงความกังวลกับการใช้กำลังและมาตรการเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุมโดยสันติ (peaceful protest) อาทิ การผสมสารเคมีเข้าไปในปืนฉีดน้ำแรงดันสูง การใช้แก๊สน้ำตา เป็นต้น ผู้รายงานพิเศษฯ และคณะทำงานฯ ยังแสดงความกังวลกับการดำเนินคดีผู้ชุมนุมหลายสิบราย โดยเฉพาะข้อหามาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา รวมทั้งการดำเนินการทางกฎหมายกับนักข่าวที่ทำหน้าที่รายงานข่าว ณ ที่ชุมนุม

ในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ผู้รายงานพิเศษฯ 2 ท่าน และคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ส่งหนังสือให้กับรัฐไทยเพื่อแสดงความกังวลกับการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุกับผู้ชุมนุม โดยเฉพาะผู้ชุมนุมโดยสันติวิธี (peaceful protestors) และนักข่าวที่ใส่ป้ายสื่อ (press ID) ไว้อย่างชัดเจน ไม่เพียงเท่านี้ หนังสือดังกล่าวแสดงความกังวลกับการจับกุมผู้ชุมนุม ที่เป็นเด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี และนักข่าว ซึ่งการจับกุมบางกรณีดำเนินการไปโดยไม่มีหมายจับ ผู้ถูกจับกุมถูกพาตัวไปยังสถานที่ที่ห่างไกลจากที่เกิดเหตุอย่างมาก และยากสำหรับการเข้าถึงโดยทนายความ

ทุกๆ ครั้งที่กลไกพิเศษยื่นหนังสือให้กับรัฐไทย ได้มีการ “เน้นย้ำ” รัฐไทยเกี่ยวกับพันธกรณีของรัฐไทยภายใต้กติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights, หรือ ICCPR) ซึ่ง ข้อ 19 ICCPR คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการวิพากษณ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ รวมถึงประมุขของรัฐ กลไกพิเศษของ UN อ้างอิงหนังสือต่อรัฐไทยหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2554 เกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 ประมวลกฎมายอาญา กับผู้เห็นต่าง โดยอธิบายว่ามาตรา 112 จะสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว (chilling effect) และเป็นการปิดกั้นไม่ให้เกิดบทสนทนา (dialogue) เกี่ยวกับประเด็นที่มีความสำคัญในสังคม

ตะวันและแบมได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

ทั้งนี้ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อให้ศาลเพิกถอนหมายขังตะวันและแบม โดยโรงพยาบาลได้แนบรายละเอียดอาการวิกฤตอาจเสียชีวิตของทั้งสองไปด้วย คำร้องขอให้ศาลยึดหลักว่าจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา ต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ออกหมายปล่อยตะวันและแบม โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัว แต่มีกำหนดให้ตะวันต้องไปรายงานตัวต่อศาลหลังครบกำหนด 1 เดือน

ทั้งนี้ ตะวันและแบมยืนยันว่า ทั้งสองไม่ได้ต้องการขออิสรภาพให้ตัวเอง และไม่รับรู้และรับทราบใดๆ กับการที่โรงพยาบาลและศาลดำเนินการสั่งถอนหมายขังครั้งนี้แต่อย่างใด และยังยืนยันการประท้วงเพื่อเรียกร้องเรื่องสิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังทางการเมืองต่อไป

X