มีอะไรในคำร้องขอปล่อยตัว “ตะวัน – แบม”  ก่อนศาลบังคับคืนเสรีภาพ

ณัฐฐา อัชฌานุเคราะห์

ได้รับการสนับสนุนการผลิตจากโครงการ Journalism that Builds Bridges

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 ศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งถอนหมายขังของตะวัน-แบม ตามคำร้องของ ผอ.รพ.มธ. ที่ไปยื่นต่อศาล ส่งผลให้ตะวันและแบม สองนักกิจกรรมทางการเมือง ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันใดๆ โดยทนายความ ครอบครัว และจำเลยทั้งสองไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเลย

ภายหลังการได้รับการประกันตัว ทั้งสองได้ตัดสินใจเดินทางออกจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ไปประท้วงอดอาหารอย่างต่อเนื่องที่บริเวณหน้าศาลฎีกา เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2566 เพื่อเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ยังเหลืออยู่ในเรือนจำ 

ก่อนที่ในวันที่ 11 มี.ค. 2566 ภายหลังการปักหลักหน้าศาลฎีกา ตะวัน – แบม ได้เผยแพร่คำชี้แจงว่าพวกเธอได้ยุติการประท้วงอดอาหารแล้ว เพื่อรักษาชีวิตของตนเอง ซึ่งทำให้เป็นการสิ้นสุดปฏิบัติการประท้วงอดอาหารนานกว่า 53 วัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทั้งสองคนจะไม่ได้อยู่ในการควบคุมของราชทัณฑ์จากการที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัว เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 ซึ่งมีนัยบางอย่างที่น่าสนใจ จากการออกคำสั่งอนุญาตดังกล่าว ที่แม้แต่ตัวจำเลย ญาติ หรือทนายความ ล้วนไม่ได้รับรู้หรือแสดงความยินยอมแต่อย่างใด 

บทความฉบับนี้ จึงอยากชวนย้อนไล่เรียงไทม์ไลน์เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติการอดอาหาร – น้ำ ซึ่งเป็นกรณีแรกๆ ของการประท้วงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะของสองนักกิจกรรมหญิงที่พร้อม ‘แลกทั้งชีวิต’ เพื่อเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้

ศาลให้ประกันตัวตะวัน – แบม จากกรณีที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยื่นคำร้องขอประกันด้วยตนเองแม้ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย ชี้ทั้งสองอยู่ในอันตรายถึงชีวิต

ระหว่างแบมและตะวันถูกส่งตัวไปดูแลอาการจากการอดน้ำและอาหารในโรงพยาบาล ในวันที่ 6 ก.พ. 2566 นายแพทย์พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้เขียนรายงานคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวตะวันและแบม เพื่อทำการรักษาชีวิตของจำเลยทั้งสองคนที่อยู่ในสภาวะวิกฤติทางชีวิต โดยในคำร้อง ได้มีใจความสำคัญระบุว่า จำเลยทั้งสองคนยังคงไม่รับประทานอาหารแต่จิบน้ำ ผลตรวจเลือดพบภาวะโซเดียมต่ำ ภาวะโปแทสเซียมต่ำ และอาการโดยรวม เลวร้ายลงมาก จนอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากภาวะคีโตนในเลือดสูงมาก จึงส่งผลกระทบกับการทำงานของไตลดลงอย่างมาก 

จึงขอให้ศาลเพิกถอนหมายขังและปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสองคน โดยไม่มีเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในเรื่องการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา และหลักการที่ว่าการควบคุมจำเลยจะให้กระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้มีการหลบหนี ซึ่งหากศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสองคน โดยไม่ต้องมีหลักประกันใดๆ เพื่อจะได้ให้การรักษาตัวและฟื้นฟูสภาพร่างกายของจำเลยทำได้สะดวก และอาจลดความเสี่ยงจากวิกฤติที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

จากนั้นในซึ่งในวันถัดมา 7 ก.พ. 2566 ศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวตะวันและแบม โดยตัวคำสั่งของศาลอาญากรุงเทพใต้ ในฐานะเจ้าของสำนวนคดีของแบม ได้ระบุรายละเอียดของผลคำสั่งตามความเห็นของแพทย์ โดยระบุว่า 

“พิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ร้องเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ทำการรักษาจำเลย ผู้ร้องจึงมิใช่ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106 แต่เมื่อความปรากฏตามคำร้อง ทำนองว่า จำเลยยืนยันปฏิเสธการรักษาและแจ้งความประสงค์ที่รับการรักษาจากโรงพยาบาลภายนอก โดยยังคงไม่รับประทานอาหาร อาการโดยรวมของจำเลยเลวร้ายลงมากจนอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ 

เนื่องจากมีภาวะคีโตนในเลือดสูงมากขึ้น และประสิทธิภาพการทำงานกรองของเสียของไตลดลงอย่างมาก จำเลยอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะแก่การควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดี และสุขภาพร่างกายอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างยิ่ง หากยังคงควบคุมตัวจำเลยเอาไว้ มีโอกาสที่จำเลยอาจเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวได้ สอดคล้องกับรายงานการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ และหนังสือของทัณฑสถานหญิงกลางที่อ้างถึงแถลงการณ์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จึงน่าเชื่อว่า อาการเจ็บป่วยของจำเลยอยู่ในขั้นวิกฤติ 

ศาลเห็นด้วยว่า หากขังจำเลยต่อไป อาจอันตรายถึงชีวิต การกำหนดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวในการปล่อยชั่วคราวใด ๆ ในช่วงเวลานี้ จึงมิใช่สาระอันสำคัญและจำเป็นยิ่งไปกว่าการคุ้มครองดูแลชีวิตของจำเลย ทั้งจำเลย เจ็บป่วยถึงขั้นเป็นอันตรายถึงชีวิตโอกาสที่จำเลยจะก่อภัยอันตรายหรือสร้างความเสียหาย หลังจากการประกันตัวจึงเป็นไปได้ยากมาก

อีกทั้ง จำเลยเคยได้รับการประกันตัวมาแล้วในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี เมื่อความปรากฏต่อศาลเช่นนี้ อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรค 3 และมาตรา 108 วรรคสอง จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยจำเลยโดยไม่มีหลักประกัน”

ผลของคำสั่งดังกล่าว ทำให้ตะวันกับแบมได้รับการประกันตัวในทันที และไม่ได้อยู่ในการควบคุมของราชทัณฑ์ อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวอยู่นอกเหนือความคาดหมายจากจำเลยทั้งสองคน เนื่องจากการยื่นขอประกันตัวของนายแพทย์พฤหัส เป็นการยื่นขอประกันด้วยดุลยพินิจของโรงพยาบาลเอง

บริบทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2566 มีการพยายามของนักกิจกรรม นักวิชาการทางกฎหมาย และประชาชน เรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมพิจารณาข้อเรียกร้องของตะวัน-แบม หนึ่งประการ คือการคืนสิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี แต่ทั้งหมดก็ไม่ได้รับการตอบรับในทันที แม้ทั้งสองคนจะตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อชีวิต 

ทั้งนี้ การให้ประกันของศาลจึงมีนัยบางอย่างที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในวันที่ 31 ม.ค. 2566 ที่โฆษกศาลยุติธรรมแถลงชี้แจงเกี่ยวกับกรณีที่ถอนประกันของตะวันผ่านรายการ The Standrad Now โดยมีใจความสำคัญในช่วงหนึ่งที่กล่าวว่า 

“ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายคงไม่อยากให้น้องทั้งสองคนได้รับความเดือดร้อนหรือว่าประสบความทุกข์ยากอะไรก็แล้วแต่ เพียงแต่ว่าขั้นตอนตรงนี้ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ยังไม่มีใครนำข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการเข้ามาสู่สำนวนคดีว่าจริงๆ แล้วสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งคนที่ทำได้จริงๆ อาจจะไม่ใช่น้องทั้งสองคนเอง แม้กระทั่งบิดา มารดา ญาติพี่น้องคนที่เกี่ยวข้องหรือแม้กระทั่ง สมมติว่าหน่วยราชการที่ดูแลไม่ว่าจะเป็นราชทัณฑ์ หรือโรงพยาบาลอะไรก็แล้ว ถ้ามีการทำข้อเท็จจริงตรงนี้ขึ้นมา กระบวนการพิจารณาของศาลตรงนี้ ก็จะเริ่มต้นไปต่อได้” 

“ถ้าบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือญาติพี่น้องมีความเป็นห่วงน้อง และไม่อยากให้สภาพอย่างนี้ดำเนินต่อไป ทางที่ดีที่สุด และไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเลย คือสามารถเดินทางไปที่ศาล ไม่จำเป็นต้องเป็นศาลอาญาที่ถนนรัชดาภิเษก จะเป็นศาลอาญากรุงเทพใต้ก็แล้วแต่ ยื่นคำร้อง 1 ใบ ไม่ต้องมีเงินทอง ไม่ต้องมีหลักประกันใดๆ ขอเพียงแค่ยื่นคำร้องและบรรยายพฤติการณ์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง 

และอยากจะให้ศาลพิจารณาในลักษณะไหน อย่างไรบ้าง เรื่องต่างๆ ก็จะดำเนินการต่อไปได้ ในทางกฎหมาย ศาลไม่สามารถจะไปหยิบข่าวจากสื่อมวลชนมาดำเนินการได้เอง เพราะว่าข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นต้องมีการตรวจสอบ ต้องดูอย่างเป็นทางการ ไม่สามารถหยิบอะไรมาวินิจฉัยโดยพลการ ต้องมีเรื่องอย่างเป็นทางการเข้ามาในสำนวนคดี ซึ่งไม่ใช่ขั้นตอนที่ยุ่งยาก” 

ย้อนดูการชี้แจงของโฆษกศาลยุติธรรม >>> พิสูจน์ตำรวจไทย แผลลึกดาราสาวไต้หวัน – เปิดใจ โฆษกศาลยุติธรรม กรณีตะวัน-แบม | THE STANDARD NOW

ผู้ร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องที่สามารถขอประกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา  106 

แม้คำร้องขอประกันดังกล่าว และคำชี้แจงของโฆษกศาลยุติธรรมจะมีความขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของจำเลยทั้งสองคน และในผลคำสั่งประกันจากศาลอาญากรุงเทพใต้ ก็ได้ระบุว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ทำการรักษาจำเลยทั้งสองคน ไม่ใช่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106 กล่าวคือ ในมาตราดังกล่าวได้ระบุไว้ว่า ผู้ขอประกันต้องมีความเกี่ยวข้องกับจำเลยเท่านั้น ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ยื่นคำร้องขอประกัน ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องตาม ป.วิ.อาญา มาตราดังกล่าว  

ถึงแม้นายแพทย์พฤหัส จะไม่ได้มีอำนาจในการยื่นคำร้องขอประกัน แต่เมื่อความปรากฏว่าตะวันและแบมอยู่ในอาการวิกฤติที่อาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นศาลจึงได้ใช้อำนาจตาม ป.วิ.อาญา ตามมาตรา 71 วรรค 3 ที่ระบุว่า หากความมาปรากฎแก่ศาลว่าถ้าผู้ต้องขังมีอาการเจ็บป่วยจะถึงอันตรายแก่ชีวิต ศาลสามารถออกหมายปล่อยจำเลยที่ถูกขังอยู่ได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า นายแพทย์พฤหัสไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 71 วรรค 3 แต่อย่างใด ดังนั้นการให้ประกันตัวของทั้งสองคนจึงอยู่ในข้อเท็จจริงที่แพทย์ได้แถลงในคำร้องขอประกันต่อศาล

อีกทั้งยังมีข้อซึ่งเป็นที่น่าสังเกตต่อไปว่า ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 71 วรรค 3 ที่ระบุว่า ถ้าความมาปรากฏต่อศาลว่าผู้ต้องขังมีอันตรายถึงชีวิต ศาลสามารถออกหมายปล่อยผู้ต้องขังได้ โดยไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้วินิจฉัยเท่านั้น แต่ศาลสามารถเห็นด้วยตนเองได้  ตลอดจนโทรทัศน์หรือช่องทางสื่อสารของสำนักข่าวและช่องทางสื่อสารของโรงพยาบาลก็ย่อมได้เช่นเดียวกัน

หากแพทย์ผู้รักษาจำเลยจะทำการแถลงหรือชี้แจงอาการ ก็ย่อมสามารถส่งเป็นรายงานต่อศาลได้ โดยไม่ต้องเขียนคำร้องขอประกันตัวจำเลยทั้งสองคน และศาลก็ย่อมสามารถติดตามอาการของตะวันและแบมได้ผ่านแถลงการณ์เรื่องอาการของจำเลยทั้งสองผ่านเพจเฟซบุ๊กโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

เปรียบเทียบกับกรณีของนักกิจกรรมคนอื่น ที่ประท้วงอดอาหาร ในปี 2565  ศาลไม่เคยใช้อำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 71 วรรค 3 ในการให้ประกันตัวจำเลยในคดีการเมือง หรือออกหมายปล่อยตัวมาก่อน

เมื่อเปรียบเทียบกรณีของนักกิจกรรมรายอื่นที่มีการประท้วงอดอาหารในเรือนจำ เมื่อปี 2565 อย่างกรณีของ “บุ้ง – ใบปอ” สองนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ที่ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 และถูกศาลสั่งถอนประกันหลังเข้าร่วมกิจกรรมทำโพลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 

พวกเธออยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2565  จนกระทั่งในวันที่ 2 มิ.ย. 2565 บุ้งและใบปอ ได้ตัดสินใจทำการประท้วงศาลด้วยการอดอาหาร เพื่อเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวเป็นเวลาร่วมกว่า 64 วัน ก่อนที่จะได้ประกันตัว ในวันที่ 4 ส.ค. 2565

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเช่นเดียวกันว่า ในนัดตรวจพยานหลักฐานของคดีทำโพล เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 ศาลได้เบิกตัวบุ้งและใบปอ ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มาขึ้นศาล และในขณะที่อยู่ในห้องพิจารณาคดี จำเลยทั้งสองคนมีอาการไม่สู้ดีตลอดเวลาและไม่สามารถควบคุมตัวเองให้มีสติตลอดเวลาได้ ตลอดจนไม่สามารถให้ความร่วมมือในการฟังเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีได้

เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงได้เดินไปแถลงต่อศาลที่หน้าบัลลังก์ว่าจะต้องนำตัวทั้งสองคนกลับไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่ทนายความและเพื่อนของจำเลยที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในวันดังกล่าว ต้องการให้ส่งทั้งคู่ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ศาลที่สุดในเวลานั้น ศาลจึงได้ตัดสินใจส่งบุ้งและใบปอไปที่โรงพยาบาลเลิดสิน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณา และเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้ออกไปก่อน 

ย้อนอ่านเหตุการณ์ บุ้ง – ใบปอในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน >>> เลื่อนตรวจพยานหลักฐานคดีทำโพลขบวนเสด็จ พร้อมให้ฟังผลประกันตัว บุ้ง-ใบปอ ครั้งที่ 7 พรุ่งนี้ แม้ทั้งสองอาการทรุดกลางห้องพิจารณาคดี จนต้องส่ง รพ. | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้ปรากฏว่าศาลจะมีวี่แววใช้อำนาจตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 71 วรรค 3 เพื่ออนุญาตให้ประกันตัวบุ้งและใบปอแต่อย่างใด  แม้จำเลยจะมีอาการทรุดต่อหน้าศาล หรือศาลมีรายงานทางการแพทย์ของทั้งสองคนอยู่ในสำนวนคดีแล้วก็ตาม 

หรือในกรณีของ “สิทธิโชค” ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ที่ทำการอดอาหารประท้วงในช่วงเวลาเดียวกับตะวันและแบม เพื่อเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดี ก็ได้ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เช่นเดียวกับหญิงสาวทั้งสองคน และก็ไม่ได้มีแพทย์มายื่นคำร้องขอประกันตัวเขาแต่อย่างใด และมากไปกว่านั้นสิทธิโชคเองก็ได้รับการประกันตัวหลังจากที่ตะวัน-แบม ได้รับการปล่อยตัวแล้ว 

ย้อนอ่านการประท้วงอดอาหารของสิทธิโชค >>> ชีวิตและเลือดเนื้อของไรเดอร์-อาสากู้ภัยที่ชื่อ ‘สิทธิโชค’: “สู้แบบหมาจนตรอก ก็ดีกว่าสู้ในกรง” | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

แม้ในคำชี้แจงของโฆษกศาลยุติธรรม จะกล่าวถึงการยื่นคำร้องขอประกันตัวของตะวัน-แบมว่า บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยสามารถยื่นคำร้องขอประกันได้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับในกรณีของผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 คนอื่นๆ โดยเฉพาะในคดีของกลุ่มนักกิจกรรมทะลุฟ้าที่ปรากฏความลักลั่นของคำสั่งอย่างชัดเจนว่าศาลไม่ต้องการให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยมายื่นประกันตัว

อ่านข่าวความลักลั่นของคำสั่งการประกันตัวกรณีของแซม แม็ก และมิกกี้บัง  >>>  ความลักลั่นของคำสั่งประกันตัวคดีการเมืองในปี 2565

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีของการยื่นประกันตัวตะวันและแบม นอกเหนือจากเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของจำเลยทั้งสองคนแล้ว  ยังไม่เคยปรากฏกรณีที่ทางโรงพยาบาล หรือหน่วยงานราชการ ทำหน้าที่ไปยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังรายใดมาก่อน  

อีกทั้งการยื่นคำร้องดังกล่าวยังสอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ของโฆษกศาลยุติธรรมซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้าการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวตะวันและแบม การทำหน้าที่อย่างกระตือรือล้นเพื่อคุ้มครองสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวประชาชนจะสามารถเป็นมาตรฐานโดยทั่วไปได้หรือไม่ จึงเป็นที่น่าตั้งหรือเป็นได้เพียงคำถามต่อไปว่า ศาลเองก็มีการพยายามใช้กระแสทางสังคมหาลู่ทางลดความเกรี้ยวโกรธของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการเมือง และมาตรา 112 ด้วยหรือไม่

.

ย้อนดูไทม์ไลน์ปฏิบัติการประท้วงอดอาหาร – น้ำ ของ “ตะวัน -แบม”

16 ม.ค. 2566 — ที่ศาลอาญา รัชดา  “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์  และ “แบม” อรวรรณ  (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมอิสระ เดินทางมาที่ศาลอาญา เพื่อแสดงเจตจำนงขอถอนประกันของตนเองเพื่อประท้วงความอยุติธรรมของศาลด้วยข้อเรียกร้อง 3 ประการ ได้แก่ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม พรรคการเมืองเสนอนโยบายประกันสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง  และทวงคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังในคดีจากแสดงออกทางการเมือง โดยตะวันขอถอนประกันตัว ในคดีไลฟ์สดหน้า UN ก่อนเวลาที่ขบวนเสด็จจะผ่านถนนราชดำเนินนอก เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 และแบมถอนประกันจากคดีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565

18 ม.ค. 2566 — ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ ตะวันและแบม ประกาศยกระดับการประท้วงอดอาหารและน้ำ หลังแถลงการณ์ประกาศ 3 วันแล้วพรรคการเมืองและองค์กรศาลยุติธรรมไม่ตามสนองข้อเรียกร้อง

20 ม.ค. 2566 — ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ภายหลังปฏิบัติการอดอาหาร-น้ำ ตะวันและแบมได้ถูกส่งตัวเข้าไปรับการเฝ้าดูอาการต่อที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก่อนที่ทั้งสองคนจะยืนหยัดปฏิเสธการรักษาต่อมา

24 ม.ค. 2566 — ภายหลังการอดอาหาร – น้ำ ประท้วงต่อกระบวนการยุติธรรมร่วม 7 วันและทั้งสองอยู่ในภาวะเสี่ยงทางร่างกาย ราชทัณฑ์ได้ตัดสินใจส่งตัวให้ทั้งสองคนเข้ารับการดูแลสภาพร่างกายจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ภายใต้การควบคุมของราชทัณฑ์ ซึ่งในขณะนั้น ตะวันและแบมได้ยืนยันที่จะปฏิเสธการรับประทานอาหาร – น้ำอย่างต่อเนื่อง

30 ม.ค. 2566 — ตะวันและแบม ออกคำชี้แจงยอมรับการประคับประคองชีวิต และบรรเทาอาการเจ็บปวดทางร่างกายด้วยการยอมจิบน้ำตามคำขอของแพทย์และพยาบาล แต่ยังคงยืนยันที่จะประท้วงด้วยการไม่ยอมรับประทานสารอาหารใดๆ

31 ม.ค. 2566 — นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ได้ออกมาแถลงกรณีข้อเท็จจริงแนวทางพิจารณาและยกเลิกการปล่อยชั่วคราว “ตะวัน-แบม” กับรายการข่าว the Standrad Now

6 ก.พ. 2566 — นายแพทย์พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้เข้ายื่นคำร้องขอประกันตัวจำเลยทั้งสองคน ต่อศาลอาญา หลังอาการของทั้งคู่อยู่ในสภาวะวิกฤต และจากการประเมินของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตะวันและแบม อาจไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ผ่านวันพรุ่งนี้ (7 ก.พ. 2566) ไปได้ เนื่องจากภาวะคีโตนในเลือดสูงมากเกิน จึงขอให้ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสองเพื่อเข้ารับการรักษาชีวิต 

7 ก.พ. 2566 — ศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งถอนหมายขังของตะวัน-แบม ตามคำร้องของ ผอ.รพ.มธ. ที่ไปยื่นต่อศาล ส่งผลให้ตะวันและแบมได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกันหรือเงื่อนไข โดยทนายความ ครอบครัว และจำเลยทั้งสองไม่ทราบเรื่องดังกล่าว

ภายหลังการได้รับการประกันตัว ทั้งสองได้ตัดสินใจเดินทางออกจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ไปประท้วงอดอาหารอย่างต่อเนื่องที่บริเวณหน้าศาลฎีกา เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2566 เพื่อเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ยังเหลืออยู่ในเรือนจำ 

ก่อนที่ในวันที่ 11 มี.ค. 2566 ภายหลังการปักหลักหน้าศาลฎีกา ตะวันและแบม ได้เผยแพร่คำชี้แจงว่าพวกเธอได้ยุติการประท้วงอดอาหารแล้ว เพื่อรักษาชีวิตของตนเอง ซึ่งทำให้เป็นการสิ้นสุดปฏิบัติการประท้วงอดอาหารนานกว่า 53 วัน

X