กว่าจะมาเป็นการเดิมพันชีวิตของ “แบม อรวรรณ” 

“ชื่อแบม อรวรรณค่ะ เผยแพร่ไปแบบนั้นก็ได้” ประโยคบอกกล่าวจากแบม ภายหลังเนื้อตัวของเธอเปรอะเปื้อนไปด้วยสีแดงฉานทั้งตัว จากการประกาศถอนประกันตัวเองพร้อมกับตะวัน — ทานตะวัน เมื่อวันที่
16 ม.ค. 2566 

“การถอนประกันตัวเองครั้งนี้ เราขอแลกอิสรภาพจอมปลอม เพื่ออิสรภาพที่แท้จริงของทุกคน” แบมเปิดเผยความรู้สึกตัวเองที่ศาลอาญา และเมื่อส่งทานตะวันเสร็จแล้ว เธอก็เดินแยกไปพร้อมกับทนายเพื่อเดินทางไปศาลอาญากรุงเทพใต้ และทำการยื่นคำร้องขอถอนประกันตัวเองต่อทันที

แบม อรวรรณ (สงวนนามสกุล) หญิงสาวอายุ 23 ปี เป็นหนึ่งในจำเลยที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พร้อมกับ ‘บุ้ง – ใบปอ’ และพวกรวม 8 คน ในกรณีที่ร่วมกิจกรรมทำโพลขบวนเสด็จที่สยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565

การต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของแบม เริ่มต้นขึ้นแบบเดียวกันกับเหล่าเยาวชนผู้ตื่นรู้ในช่วงการชุมนุมใหญ่ของเยาวชนปลดแอก และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อปี 2563 หญิงสาวคนนี้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมหลายครั้ง จนกระทั่งถูกดำเนินคดีการเมือง รวม 2 คดี ได้แก่ คดีมาตรา 112 จากการเดินทำโพลดังกล่าว และคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมกิจกรรม “Save บางกลอย” เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 

นอกจากนี้ ในวันที่ 15 ก.พ. 2565 ชีวิตวัย 20 ต้นๆ ของเธอต้องถูกตำรวจตามคุกคามถึงที่บ้าน เจ้าหน้าที่ถือภาพถ่ายของแบมตามหาตัวกับเพื่อนบ้าน โดยเธอเคยเล่าว่า ตำรวจทั้งสองถือเอกสารติดมาด้วยคนละ 2 ฉบับ ซึ่งเชื่อว่าเป็นรูปถ่ายของตนเอง เพราะแม่ของแบมเล่าให้ฟังว่า ลุงคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ละแวกเดียวกันถูกตำรวจทั้งสองสอบถามว่า รู้จักแบมไหม แบมเป็นลูกของ (ชื่อคุณพ่อ) ใช่หรือไม่ พร้อมกันนั้นตำรวจยังได้บอกกับลุงคนดังกล่าวด้วยว่า แบมเป็นคนถือไมค์พูดในการชุมนุม ซึ่งแบมยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

การทำสติ๊กเกอร์ไม่กี่แผ่น และเพียงกระดาษทำโพลแค่แผ่นเดียว ดูเหมือนได้สร้างความสั่นสะเทือนต่อผู้มีอำนาจและองค์กรศาลยุติธรรมทั้งระบบ ในวัย 20 ต้นๆ ที่ควรจะได้วางแผนวาดฝันอาชีพและค้นหาตัวเองอย่างที่ควรจะเป็น แบมกลับถูกความหนักหนาของมาตรา 112 กดทับและปิดกั้นอนาคต เพียงแค่เรื่องนี้ การออกมาแสดงความคิดเห็นของเธอก็กลายเป็นราคาที่เธออาจต้องจ่ายด้วยชีวิตของตัวเอง

เดิมพันด้วยอาชีพการงาน : แบมตกงาน เพราะมีเงื่อนไขให้ติดกำไล EM 

ก่อนจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 แบมเคยมีงานทำอยู่ในคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง แต่ภายหลังได้รับการประกันตัวในคดีทำโพลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จ ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้กำหนดเงื่อนไขการประกันให้ติดกำไล EM ด้วย

อาชีพการงานของแบมก็ต้องจบลง เพียงเพราะขาเธอถูกพันธนาการไว้ด้วยกำไล EM ที่ข้อเท้า และเงื่อนไขดังกล่าวทำให้เธอกลายเป็นคนน่ากลัวสำหรับสังคมทันที ถึงอย่างนั้นแบมก็ไม่ได่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่ข้อเท้าของตัวเอง

พ่อของแบมเล่าว่า เงื่อนไขของบริษัทและที่ทำงานต่างๆ เหมือนได้ทำให้ลูกสาวของเขาต้องพบเจอกับความเลวร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า “ทุกวันนี้แบมทำอะไรไม่ได้เลย แต่แบมก็บอกกับผมเสมอว่าเขาจะพยายามต่อไป” 

พ่อของแบมเล่าว่าทุกวันนี้แบมต้องหางานชั่วคราวทำ บางทีเขาก็ได้รับสายโทรศัพท์จากลูกสาวว่าจะไปขายกาแฟ ออกบูธต่างๆ บ้าง หรือไปขายเบียร์ที่ตามงานอีเว้นท์ลานเบียร์บ้าง ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรตอนนี้ ถ้ามีโอกาสเข้ามาแบมก็เลือกที่จะรับไว้ทั้งหมด เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว

นอกจากนี้ เธอยังได้พยายามเขียนคำร้องขอถอดอุปกรณ์กำไล EM อยู่หลายครั้ง ไม่ต่างจากทานตะวันที่พยายามเขียนคำร้องขอออกจากบ้านไปใช้ชีวิตนอกบ้าน โดยในคำร้องฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 ที่แบมเขียนด้วยตัวเองมีใจความสำคัญถึงศาลว่า ‘การติดกำไล EM ส่งผลให้จำเลยต้องถูกเชิญออกจากงาน และไม่สามารถประกอบอาชีพใดๆ ได้เลย เนื่องจากเธอไม่มีประสบการณ์ทำงานมากพอที่บริษัทต่างๆ จะพิจารณารับเข้าทำงานได้โดยง่าย

‘ทั้งนี้ การถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 โดยเฉพาะในวัยที่จำเป็นต้องก่อร่างสร้างอาชีพให้ตัวเองมีรายได้ที่มั่นคง การถูกปฏิเสธจากที่ทำงานด้วยติดกำไล EM ของศาล จากเหตุคดีที่ยังมิได้ถูกตัดสินว่ามีความผิด ได้สร้างความเดือดร้อนต่อจำเลยเป็นอย่างมาก

‘และในเรื่องของเครื่องกำลัง EM ที่มีปัญหา จำเลยยังเคยแจ้งขอเปลี่ยนอุปกรณ์ดังกล่าวมาแล้วกว่า 2 ครั้งจากความผิดปกติที่ไม่ส่งสัญญาณถึงศูนย์ จึงขอให้ศาลพิจารณาปลดกำไล EM เพื่อปลดเปลื้องอุปสรรคในการสมัครงานของจำเลยในอนาคตด้วย’

แต่สุดท้าย ในคำร้องฉบับดังกล่าว ศาลอาญากรุงเทพใต้ก็ยังคงคำสั่งไม่อนุญาตให้เธอถอดกำไล EM แม้จะไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี หรือผิดเงื่อนไขประกันของศาลแต่อย่างใด 

นอกจากนี้ แบมได้เปิดเผยว่า เธอได้พยายามสมัครงานเพื่อหาเลี้ยงชีพตัวเองต่อไปอีกหลายแห่ง แต่ความเป็นจริงของสังคมกลับโหดร้ายเหลือเกิน โดยเฉพาะเงื่อนไข ‘ห้ามต้องโทษในคดีอาญา’ 

เดินพันด้วยการรณรงค์หยุดติดกำไล EM ให้ผู้ต้องหาคดีการเมือง : แบมกับกิจกรรม ‘Let’s Unlock EM’ 

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2565 ประชาชนได้เริ่มทำกิจกรรมรณรงค์  ‘Let’s Unlock EM’ หรือ ‘เดินปลดล็อกมัน (EM)’ จากศาลอาญากรุงเทพใต้ ถึงสยามสแควร์ เพื่อเรียกร้องให้มีการปลดกำไล EM โดยไม่มีเงื่อนไขให้นักโทษทางความคิด หรือผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก 

แบม เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยเธอได้ติดตั้งโซ่ตรวนพร้อมกับกำไล EM ที่ขาข้างซ้ายของตัวเอง เธอเคยให้สัมภาษณ์กับประชาไท ในกิจกรรมครั้งนั้นว่าอยากให้ประชาชนได้เห็น และได้รู้ว่าผู้ต้องหาในคดีการเมืองไม่ได้ทำอะไรผิด พวกเขาแค่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็เท่านั้น

นอกจากนี้ เธอยังได้กล่าวถึงผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ขออย่าเลือกปฏิบัติในการรับสมัครงานกับผู้ติดกำไล EM โดยอยากให้ลองฟังเสียงและถามเรื่องราวของพวกเขาก่อนว่า พวกเขาได้พบเจออะไรมาจากการติดเงื่อนไขดังกล่าวนี้ของศาล

ภาพจากประชาไท

ย้อนดูสถิติผู้ติดกำไล EM ในคดีการเมือง >>> สถิตินักกิจกรรม-ประชาชน ถูกสั่งติดกำไล EM ระหว่างสู้คดี ไม่น้อยกว่า 80 คน | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ย้อนอ่านปัญหาของกำไล EM >>>  1 ปี ประกันตัวคดีการเมือง ถูกสั่งติด EM ไม่น้อยกว่า 54 คน พร้อมผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

.

เดินพันด้วยชีวิต : แบม อรวรรณตัดสินใจยุติการพันธนาการชีวิตติด EM ประท้วง 3 ข้อเรียกร้อง คืนความยุติธรรมให้ผู้ต้องขังคดีการเมือง

ในวันที่ 16 ม.ค. 2566 แบมและตะวันตัดสินใจแถลงการณ์ประกาศอดอาหารและน้ำ พร้อม 3 ข้อเรียกร้องรวม 3 ข้อ อันได้แก่ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, ยุติการดำเนินคดีการเมืองกับประชาชน และเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองเสนอนโยบายยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116 ที่กำลังใช้ปิดกั้นเสรีภาพของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

และในวันที่ 18 ม.ค. 2566 ทั้งสองคนได้ประกาศยกระดับข้อเรียกร้อง โดยการอดอาหาร – น้ำ (Dry Fasting) โดยในวันนี้ (27 ม.ค.66) แบมและตะวันได้อดอาหารและน้ำเข้าวันที่ 10 แล้ว

จากการเข้าเยี่ยมของทนายในวันที่ 26 ม.ค. 2566 พบว่าทั้งสองคนยังคงรับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอาการปวดท้องลมตีขึ้นลิ้นปี่ และทรมานจากอาการดังกล่าวเป็นระยะ และจากความทุกข์ทรมานดังกล่าว ทำให้ทั้งสองตกลงยอมรับยาลดกรดเพื่อลดความทรมานจากอาการปวดท้อง  นอกจากนี้ทั้งคู่ยังอยู่ในอาการเสี่ยงหัวใจจะหยุดเต้น เนื่องจากในร่างกายมีโพแทสเซียมต่ำ แต่ถึงอย่างนั้น แบมและตะวันยังคงยืนยันจะไม่รับน้ำ และอาหาร ตลอดไม่ขอใส่สายน้ำเกลือ  – วิตามินเกลือแร่ หรืออาหารทางหลอดเลือดใดๆ ทั้งนั้น

จนถึงวันนี้ (27 ม.ค. 2566) ศาลอาญา – อุทธรณ์ยังคงไม่มีสัญญาณตอบรับคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหมด ตามหนึ่งในข้อเรียกร้องของตะวันและแบม

X