ชวนย้อนการต่อสู้เพื่อใช้ชีวิตธรรมดา: เมื่อ “ทานตะวัน” พยายามเขียนคำร้องขอออกจากบ้าน

20 เม.ย. 2565 ตะวันถูกถอนประกัน และต้องเข้าเรือนจำครั้งแรก ….

26 พ.ค. 2565 ตะวันได้รับการประกันตัวหลังถูกคุมขัง 37 วัน พร้อมเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง

16 ม.ค. 2566 ตะวันและแบม ตัดสินใจถอนประกันตัวเอง เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังคดีการเมือง

18 ม.ค. 2566 ตะวันและแบม ตัดสินใจอดอาหาร -น้ำ ประท้วงเพื่อยืนหยัดตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ

.

จนถึงวันนี้ (23 ม.ค. 2566) หญิงสาวในวัย 21 ปี ตะวัน — ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ยังคงต่อสู้ผ่านข้อเรียกร้องรวม 3 ข้อ อันได้แก่ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, ยุติการดำเนินคดีการเมืองกับประชาชน และเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองเสนอนโยบายยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116 ที่กำลังใช้ปิดกั้นเสรีภาพของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

หากนับตั้งแต่ 26 พ.ค. 2565 อาจกล่าวได้ว่าในทุกๆ วัน ชะตาชีวิตของเธอขึ้นอยู่กับกระดาษคำร้อง และคำสั่งศาลมากกว่าหลายสิบฉบับ แม้จะได้รับการประกันตัว แต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ศาลกำหนดไม่ให้เธอออกจากเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง มานานกว่า 279 วัน จนกระทั่งในวันที่ 16 ม.ค. 2566 เงื่อนไขดังกล่าวก็สิ้นสุดลง พร้อมกับข้อเท้าของเธอที่ได้หลุดพ้นจากพันธนาการของกำไล EM เป็นครั้งแรก แต่ไม่ใช่การปลดเพื่อเดินสู่อิสรภาพตามที่วาดหวังไว้ หากเป็นการปลดออกที่ห้องฝากขังใต้ศาลอาญา เพื่อพาตัวเองไปต่อสู้ในกรงขังของทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ 

18 ม.ค. 2566 ในวันนั้นเองที่ทุกคนได้รู้ว่าอาวุธเพียงอย่างเดียวที่เธอนำติดตัวไปด้วยก็คือร่างกายของเธอเอง ตะวันเดินพันชีวิตด้วยวิธีการต่อสู้แบบอดอาหารและน้ำ จนถึงวันนี้ก็ล่วงเลยเข้าวันที่ 6 แล้ว

การประท้วงด้วยวิธีการอดอาหารและน้ำ หรือ Dry Fasting คือการอดอาหารที่ผู้ประท้วงปฏิเสธการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำแม้เพียงหยดเดียว ซึ่งเป็นวิธีการที่พบได้น้อยที่สุดในหมู่กลุ่มผู้ประท้วง และเป็นกรณีศึกษาที่หาได้ยากในทั่วโลก

อ่านบทความการประท้วงอดอาหาร เพิ่มเติม >>> โดยปราศจากน้ำและอาหาร: การอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหาย เดิมพันขั้นสุดท้ายของผู้เรียกร้องทางการเมือง

ตลอดทั้งชีวิตของตะวันในวัย 21 ปี อาจไม่ต้อง ‘แลก’ กับอะไรเลยเพื่อเดินออกจากบ้านไปกินข้าวมื้อกลางวันกับเพื่อนๆ อาจไม่ต้อง ‘แลก’ กับอะไรเลยเพียงแค่อยากออกไปเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์กับครอบครัว แต่ในรอบเกือบปีที่ผ่านมา เพื่อได้มีชีวิตธรรมดาของวัยรุ่นคนหนึ่ง เธอต้องคอยนั่งเขียนคำร้องบรรยายอย่างยืดยาวบนหน้ากระดาษเอสี่ครั้งแล้วครั้งเล่า และต้องคอยรอฟังคำสั่งจากบุคคลที่ไม่เคยรู้จักชีวิตจริงของกันและกัน การมีชีวิตธรรมดาขึ้นอยู่กับกระดาษคำร้องขอให้ตัวเองได้ออกไปใช้ชีวิตอย่างเช่นคนสามัญ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนย้อนอ่านคำร้องและเรื่องราวของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ว่าเธอ
‘ต้องแลก’ อะไรบ้างเพื่อให้ตัวเองได้ออกไปใช้ชีวิตธรรมดาบ้าง ผ่านคำร้องขอออกนอกเคหสถาน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเธอพยายามเขียนด้วยตนเอง เพื่อขอออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิต

แลกโอกาสที่จะได้ชมงานดนตรี : ตะวันเขียนคำร้องขอไปชมงานดนตรี ‘Demo Expo Music Art and People’

จากคำบอกเล่าของแฟรงค์ (เพื่อนของตะวัน) ตะวันเขียนคำร้องต่อศาลในวันที่ 20 ส.ค. 2565 เธอขอออกไปชมงานดนตรี Demo Expo ซึ่งภายในงานได้มีการแสดงศิลปะประกอบดนตรี งานศิลปะ, Performance art ตลอดจนการตั้งบูธต่างๆ เพื่อขายสินค้าและอาหารหลากหลายชนิด

ทั้งนี้ ตะวันประสงค์ที่จะชมงานดนตรีดังกล่าว เพื่อให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตอย่างเช่นวัยรุ่นทั่วไป เธอเพียงแค่ต้องการออกไปรับชมการแสดงดนตรีสด ซื้ออาหารจากบูธ พบปะเพื่อนๆ ในงานดนตรี แต่แล้วศาลก็มีคำสั่งไม่อนุญาตให้เธอออกจากบ้าน

ภาพงานดนตรี Demo Expo (ภาพจากไข่แมวชีส)

แฟรงค์ได้กล่าวปิดท้ายว่า ในขณะที่ตะวันและแบมยังคงต่อสู้และเผชิญหน้ากับอำนาจอยุติธรรมอยู่ในเรือนจำ เขายังคงสนับสนุนให้องค์กรศาลยุติธรรมและสถาบันการเมืองได้ออกมาตอบรับข้อเรียกร้องทั้ง 3 ประการของตะวันและแบม โดยเฉพาะองค์กรศาลที่ผู้บริหารศาลไม่ควรมาแทรกแซงการพิจารณาคดี หรือทำตัวเป็นคู่กรณีกับผู้ต้องหาในคดีการเมือง

นอกจากนี้ เขายังได้ฝากถึงพรรคการเมืองทุกพรรคว่าควรมีกระดูกสันหลัง และควรรับฟังเสียงของประชาชนที่สนับสนุนทุกพรรคอยู่ในขณะนี้ สุดท้ายแฟรงค์ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมและผู้ต้องขังในคดีการเมืองทุกคน เพราะประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพที่ถูกรับรองไว้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างเท่าเทียมกันทุกประการ 

กว่าจะได้ดูนิทรรศการ : ตะวันเขียนคำร้องขอออกมาชมนิทรรศการ “คืนยุติธรรม” จัดบูธขายอาหารหาเลี้ยงชีพ

ในระหว่างวันที่ 20-25 ก.ย. 2565 เวลา 13.00 น. – 20.00 น. ตะวันยังพยายามเขียนคำร้องขอออกไปงานนิทรรศการ “คืนยุติธรรม Dawn of Justice” บริเวณช่างชุ่ย ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ อาทิเช่น Imnersive Art, Performance Art ตลอดจนงานเสวนา และการจัดบูธขายอาหารสินค้า

เธอระบุความประสงค์ที่จะไปขายขนมกับพี่สาวแท้ๆ ของตัวเองเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เนื่องจากเธอต้องการแบ่งเบาภาระของครอบครัว อีกทั้งเธอมีอายุ 21 ปีแล้ว จึงต้องการที่จะพึ่งพาตัวเองให้ได้ ในงานนิทรรศการดังกล่าวจึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะสร้างโอกาสและรายได้ให้กับตัวของเธอเอง 

ครั้งนี้ศาลได้อนุญาตตามคำร้อง

กว่าจะเป็นโอกาสที่ได้ออกจากบ้าน : ตะวันเขียนคำร้องขอออกมาใช้ชีวิต

เมื่อถามถึงชีวิตทั่วไปในขณะที่ต้องติดเงื่อนไขห้ามออกจากบ้านตลอด 24 ชั่วโมง ตะวันทำอย่างไรหากเธออยากจะกินอาหารที่หน้าปากซอยบ้านแค่สักมื้อหนึ่ง แฟรงค์เล่าให้ฟังว่า แค่เพียงเรื่องนั้นก็แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว  แต่เธอไม่เคยยอมแพ้ ตะวันยังคงปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเคร่งครัด เมื่อศาลให้เขียนเธอก็เขียน 

ในวันที่ 24 – 25 ก.ย. 2565 เวลา 12.00 น. – 21.00 น. มีการจัดงานคราฟท์เบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในรอบปี 2565 ของกรุงเทพฯ ตะวันได้ขอไปร่วมงานดังกล่าว เนื่องจากเป็นงานที่เปิดให้เข้าชมฟรีและไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งเป็นการรณรงค์เพื่อผลักดันนโยบายสุราก้าวหน้า เพื่อให้การผลิตสุราในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

และในวันที่ 6 – 11 ธ.ค. 2565 ตะวันได้เขียนคำร้องต่อศาล โดยเธอได้ขออนุญาตออกจากบ้านเพียงเพื่อจะได้ไปกินข้าวและเที่ยวกับครอบครัวและเพื่อนๆ กระนั้นศาลยังมีคำสั่งไม่อนุญาตตามความประสงค์ของเธอทั้งหมดโดยอนุญาตให้ใช้ชีวิตนอกรั้วบ้านได้เพียงแค่ 2 วันเท่านั้น คือวันที่ 7 ธ.ค. และ 8 ธ.ค. 

แฟรงค์บอกว่าตอนที่ได้รู้ข่าวคราวนั้น แค่จะใช้ชีวิต ‘ธรรมดา’ ยังยากเลยสำหรับตะวันเพื่อนของเธอ

กว่าจะได้ความสุขในช่วงเทศกาลปีใหม่ : ตะวันเขียนคำร้องขอออกจากบ้านเพื่อไปซื้อของขวัญวันปีใหม่

ทนายความยังได้คำร้องขอออกจากบ้านของตะวันในช่วงการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2566 ที่ผ่านมา โดยในคำร้องมีใจความสำคัญ ระบุว่าจำเลยมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางออกนอกเคหสถานเพื่อไปทำกิจธุระโดยมีกำหนดเวลาที่แน่นอน ปรากฏรายละเอียด ดังต่อไปนี้

  • วันที่ 29 ธ.ค. 2565 ระหว่างเวลา 10.00 น. – 22.00 น. จำเลยต้องเดินทางไปห้างสรรพสินค้าและร้านค้าตามที่ต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อซื้อของขวัญปีใหม่ และจำเลยต้องเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวันและอาหารเย็นกับครอบครัวและเพื่อน
  • วันที่ 4 ม.ค. 2566 ระหว่างเวลา 10.30 น. – 23.00 น. จำเลยต้องเดินทางออกนอกบ้าน เพื่อไปสวัสดีปีใหม่ 2566 ต่อญาติผู้ใหญ่และบุคคลที่จำเลยนับถือเป็นญาติ อีกทั้งมีแผนการจะเดินทางไปรับประทานอาหารร่วมกับญาติผู้ใหญ่และบุคคลในครอบครัว

ศาลอนุญาตให้ตะวันออกไปใช้ชีวิตตามคำร้องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566 ทนายความได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ถึงอาการล่าสุดของตะวันและแบม พบว่าทั้งสองมีสภาพอิดโรย ตะวันมีอาการเป็นลมและล้มหัวฟาดพื้น นอนไม่หลับและทรมานจากการอดอาหารค่อนข้างมาก โดยสภาพล่าสุดน้ำหนักตัวของตะวันลดลงไปเกือบ 5 กิโล แบมน้ำหนักตัวลดไปกว่า 6 กิโล แต่ทั้งสองคนก็ยังคงยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะอดอาหารและน้ำต่อไป โดยขอปฏิเสธรับการรักษา จนกว่าทั้ง 3 ข้อเรียกร้องจะได้รับการตอบรับ

.

อ่านคำชี้แจงของตะวัน – แบม วันที่ 22 ม.ค.66 >>> ประกาศ คำชี้แจงทนายความเข้าเยี่ยม “ตะวัน-แบม” เมื่อเช้าวันที่ 22 ม.ค. 2566

X