ศาลให้ประกัน “ตะวัน” หลังถูกขังพร้อมอดอาหาร 37 วัน มีกำหนด 1 เดือน ตั้งพิธาเป็นผู้กำกับดูแล ตั้งเงื่อนไขให้อยู่บ้าน 24 ชม. – ติด EM – ห้ามสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์

26 พ.ค. 2565 เวลา 10.00 น. ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัว “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ในคดีมาตรา 112 จากการถูกกล่าวหาว่าไลฟ์สดก่อนจะมีขบวนเสด็จ โดยใช้ตำแหน่งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หลังไต่สวนแล้วเสร็จ ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวตะวันมีกำหนดเวลา 1 เดือน และให้แต่งตั้งพิธาเป็นผู้กำกับดูแล รวมทั้งตั้งเงื่อนไขอื่นๆ อีก 5 ประการ

ในคดีนี้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกันตะวัน เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 ทำให้เธอถูกฝากขังระหว่างสอบสวนมาตั้งแต่ผัดที่ 4 และศาลอนุญาตให้ฝากขังเรื่อยมาจนถึงผัดที่ 8 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวตะวันโดยใช้ตำแหน่ง ส.ส. ของพิธา เป็นครั้งที่ 2 และศาลได้นัดไต่สวนคำร้องดังกล่าวในวันนี้ โดยให้พิธาเข้าร่วมและให้เบิกตัวตะวันมาจากเรือนจำมาร่วมไต่สวนที่ศาลด้วย

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการไต่สวนเช้าวันนี้ (26 พ.ค. 2565) เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งว่า จะไม่เบิกตัวตะวันมาศาลแล้ว โดยจะให้เบิกตัวผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เช่นทุกครั้งแทน โดยให้เหตุผลว่า หากเบิกตัวตะวันมาศาลเกรงว่าตะวันจะอ่อนล้าเกินไป เพราะอดอาหารมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม ทนายความเคยยื่นเหตุผลเกี่ยวกับการเบิกตัวจำเลยมาศาลแล้วว่าสะดวกต่อการพูดคุยและสื่อสารกว่า เพราะพบว่าศาลอาญาประสบปัญหาทางเทคนิคทำให้การสื่อสารภาพและเสียงทางคอนเฟอร์เรนซ์ขัดข้องบ่อยครั้ง

ขณะเดียวกัน พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาแล้วเมื่อวานนี้ (25 พ.ค. 2565) โดยยื่นฟ้องตะวันในข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ทำให้ตั้งแต่เมื่อวานนี้ตะวันถูกคุมขังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี

.

ไต่สวนขอประกันตะวัน “พิธา” แถลงพร้อมทำหน้าที่ผู้กำกับดูแล “ตะวัน” ยอมรับเงื่อนไขปล่อยตัวจากศาลทุกประการ ศาลยันอยากให้ประกันนานแล้ว แต่ต้องเพิ่มเติมเงื่อนไขประกัน

เวลา 10.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 716 มีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ประมาณ 17 คน อาทิ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, พ่อและแม่ของตะวัน, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, สุรีรัตน์ ชิวารักษ์, เบนจา อะปัญ ฯลฯ และยังมีตัวแทนจากสถานทูตอเมริกา เยอรมัน และสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ยังมีประชาชนอีกประมาณ 15 รายที่เดินทางให้กำลังใจ แต่ไม่สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนภายในห้องพิจารณาได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลได้จำกัดจำนวนคนที่ในห้องพิจารณาคดีตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

ระหว่างรอศาลนั่งบัลลังก์ พิธาได้พูดคุยกับตะวันผ่านทางจอภาพ โดยถามว่าสภาพร่างกายจากการอดอาหารเป็นอย่างไรบ้างและกล่าวชมว่าตะวันมีความกล้าหาญมาก พิธาพูดอีกว่าวันนี้มายื่นประกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎรของประชาชนที่พึงกระทำอยู่แล้ว

สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถามตะวันว่า อยู่ในเรือนจำได้เจอกับ “ใบปอ” และ “เนติพร” หรือไม่ ตะวันตอบว่าทั้งสองยังอยู่ในระหว่างการกักตัว จึงยังไม่ได้เจอกัน แต่เห็นทั้งสองแบบผ่านๆ เท่านั้นในตอนอาบน้ำ 

ตะวันบอกอีกว่าตอนนี้อยู่แดนแรกรับ วันเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมาได้ลดปริมาณการกินนมลงจากเดิม จึงรู้สึกอ่อนเพลียมากๆ แต่ในวันจันทร์ได้กลับมาดื่มนมมากขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์และเพื่อนผู้ต้องขัง ขณะนี้จึงรู้สึกดีขึ้นมาบ้างแล้ว ส่วนอาการเลือดออกตามไรฟัน ตะวันเล่าว่าได้เข้าพบทันตแพทย์ในเรือนจำแล้ว พบว่าเป็นอาการที่เกิดจากการขาดวิตามินซีและสารอาหารเป็นเวลานาน 

จากนั้นการไต่สวนเริ่มต้นขึ้น โดยศาลจะดำเนินการไต่สวนพยาน 3 ปาก ได้แก่ พิธา ในฐานะผู้ยื่นคำร้องขอประกัน รวมถึงพ่อและแม่ของตะวัน

พิธาแถลงว่า จริงๆ แล้ววันนี้ตนมีนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่อยากมาร่วมการไต่สวนขอประกันตัวตะวันในวันนี้มากกว่า โดยในคดีนี้มีความเกี่ยวข้องกับจำเลยเป็นผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของจำเลย

ศาลได้สอบถามว่า “หากปล่อยตัวชั่วคราวตะวัน ในฐานะนายประกันจะให้ความมั่นใจต่อศาลได้อย่างไรว่าจะกำกับดูแลจำเลยได้”

พิธาตอบว่า ตนยินดีทำหน้าที่เป็น “ผู้กำกับดูแล” เพื่อให้ตะวันปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล จะทำหน้าที่คอยตักเตือนและดูแลตะวันเอง โดยพ่อและแม่ของตะวันยินยอมให้ศาลแต่งตั้งพิธาเป็นผู้กำกับดูแลของตะวันด้วย

ศาลถามว่า หากตะวันได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกไปแล้วและทำผิดเงื่อนไขของศาลอีก พิธาในฐานะนายประกันและผู้กำกับดูแลจะทำอย่างไร พิธาตอบว่า “จะรับผิดชอบอย่างเต็มที่ตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจรับรองไว้”

ศาลตอบกลับว่า การรับผิดชอบดังกล่าวศาลจะถือว่าเป็นการทำผิดเงื่อนไขสัญญาประกันของศาล ซึ่งอาจจะถูกปรับเงินหรืออาจจะเป็นอย่างอื่นก็ได้ ทั้งนี้ต้องพิจารณาพฤติการณ์ของจำเลยที่จะกระทำผิดเงื่อนไขของศาลในเวลานั้นก่อน

ศาลกล่าวอีกว่า จริงๆ อยากมีคำสั่งให้ประกันตัวตะวันตั้งแต่ยื่นประกันครั้งก่อนๆ แล้ว เพราะศาลมีความมั่นใจและเชื่อใจ ในการยื่นประกันด้วยตำแหน่ง ส.ส. ของพิธา แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องเพิ่มเติมเงื่อนไขบางประการอีก จึงนัดไต่สวนในวันนี้

ทนายจำเลยแถลงว่า ตามที่ศาลมีคำสั่งในครั้งที่แล้วว่าให้เสนอพฤติการณ์พิเศษอื่น คดีนี้อัยการมีคำสั่งยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวานนี้ แต่ในคำฟ้องดังกล่าวอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยไว้ นี่คือพฤติการณ์พิเศษ

ศาลกล่าวว่า เหตุผลที่ขังตะวันไว้ในครั้งนี้เป็นเพราะตะวันทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ใช่เพราะอัยการหรือตำรวจคัดค้านการให้ฝากขังหรือให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ศาลกล่าวอีกว่า ในคดีนี้จำเลยและทนายความยื่นขอประกันตัวเรื่อยมา การยื่นขอประกันครั้งล่าสุดโดยใช้ตำแหน่ง ส.ส. ของพิธา ซึ่งต่อมาศาลมีคำสั่งว่าไม่สามารถพิจารณาคำร้องได้เนื่องจากไม่มี “สลิปเงินเดือน” นั้น ศาลสอบถามข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ศาลแล้วได้ความว่า ในวันนั้นเจ้าหน้าที่ศาลได้บอกกับทนายจำเลยแล้วว่า “สามารถยื่น ‘สำเนาสลิปเงินเดือน’ ไว้ก่อนได้ โดยยังไม่ต้องแนบสลิปเงินเดือนฉบับจริง” แต่ทนายความยืนยันที่จะไม่ยื่นสำเนาสลิปเงินเดือนเอง จึงทำให้เวลาล่าช้ามาจนถึงวันนี้

จากนั้นศาลได้ทำการไต่สวนตะวัน โดยเธอเบิกความตอบว่า รู้จักกับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตนยินดีที่จะปฏิบัติตนตามเงื่อนไขหากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว และจะเชื่อฟังพิธาในฐานะผู้กำกับดูแลให้สามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ และหากตนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล ตนยินดีจะมาศาลพร้อมกับพิธา ในฐานะผู้กำกับดูแล หากตนได้ปล่อยตัวชั่วคราวออกไปจะพักอยู่อาศัยกับพ่อแม่ ผู้ซึ่งเป็นผู้อบรมสั่งสอนและดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตและเล่าเรียนทั้งหมด

จากนั้นศาลเสนอเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวกับตะวันว่ายินดีรับเงื่อนไขต่างๆ ของศาลหรือไม่ ตะวันตอบรับว่ายินดีหากศาลกำหนดเงื่อนไขให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM), จำกัดสถานที่, ให้เรียนผ่านระบบออนไลน์, จำกัดการเดินทาง, ให้อยู่ในเคหสถาน, แต่งตั้งให้พิธาเป็นผู้กำกับดูแล และจะไม่กระทำทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอีก

จากนั้นศาลบอกว่าหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และศาลกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าตะวันจะถูกควบคุมด้วยเงื่อนไขเหล่านั้นตลอดไป หลังได้ปล่อยตัวแล้วให้ตะวันค่อยยื่นคำร้องขอเพิกถอนเงื่อนไขทีละประการเหล่านั้นต่อไปได้

ทนายได้แถลงต่ออีกว่าหากจะกำหนดเงื่อนไขด้านเวลากับจำเลยขอให้ศาลมีดุลยพินิจด้วย เนื่องจากมหาวิทยาลัยของจำเลยได้เปิดทำการสอนโดยให้เรียนในห้องเรียนตามปกติ ไม่ได้ให้เรียนผ่านทางออนไลน์แล้ว

ศาลยังกล่าวว่า ในตอนแรก ศาลจะนัดฟังคำสั่งหลายวันจากนี้ แต่หลังได้ไต่สวนแล้ว ตัดสินใจว่าจะนัดฟังคำสั่งภายในวันนี้เลย โดยในวันนี้ ผู้บริหารศาลอาญาติดภารกิจอยู่ แต่ศาลจะใช้วิธีการ “โทร” ไปเพื่อปรึกษาในการมีคำสั่งว่าจะให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ เพราะเห็นว่าการปล่อยหรือไม่ปล่อยนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ อีกทั้งเห็นว่าตะวันถูกขังมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว

ระหว่างที่รอรายงานกระบวนการพิจารณา ศาลยังได้เรียกพ่อและแม่ของตะวันขึ้นมาสอบถามเพิ่มเติมอีก โดยทั้งสองเบิกความตอบว่าหากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไม่ขัดข้องกับเงื่อนไขที่ศาลจะให้ดูแลตะวันอย่างเข้มงวด และยินยอมให้ตั้งเป็นผู้กำกับดูแล

ศาลกล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอชมว่าตะวันเป็นเด็กดีไม่ก้าวร้าว แต่ยังไงก็ขอฝากพ่อแม่ช่วยดูแลด้วย”

หลังการไต่สวนแล้วเสร็จ ศาลกำหนดนัดฟังคำสั่ง ในเวลา 13.30 น.

.

ศาลให้ประกันตะวัน ให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีกำหนด 1 เดือน- ตั้งพิธาเป็นผู้กำกับดูแล และอีก 5 เงื่อนไข

เวลา 13.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตะวัน โดยแต่งตั้งให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้กำกับดูแล คำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีกำหนดเวลา 1 เดือน และเงื่อนไขอื่นๆ อีก 5 ประการ มีรายละเอียดคำสั่งโดยสรุป ดังนี้ 

พิเคราะห์คำเบิกความของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวและจำเลยประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแล้วเห็นว่า ผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวรับรองและยืนยันว่าจะเป็นผู้กำกับดูแลจำเลยไม่ให้ผิดเงื่อนไขตามที่ศาลกำหนด แสดงความรับผิดชอบว่าหากจำเลยผิดเงื่อนไข ผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวยินยอมรับผิดตามที่ศาลเห็นสมควร 

ประกอบกับจำเลยรับรองว่าจะไม่ทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดอีกดังเช่นที่เคยผิดเงื่อนไขมาแล้ว และไม่ขัดข้องที่ศาลจะกำหนดเงื่อนไขในการติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ EM รวมทั้งการจำกัดเวลาในการอยู่ในเคหสถาน 

แสดงว่าจำเลยรู้สึกสำนึกถึงการกระทำผิดเงื่อนไขในครั้งก่อนมาพอสมควรแล้ว ประกอบกับผู้ร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือว่าจะกำกับดูแลและควบคุมจำเลยได้ กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย

อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยมีกำหนด 1 เดือน นับแต่วันนี้โดยกำหนดเงื่อนไข

  1. ให้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เครื่องติดตามตัว (EM)
  2. ห้ามออกนอกเคหสถานตลอดระยะเวลาที่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เว้นแต่กรณีเจ็บป่วยหรือได้รับอนุญาตจากศาล หากเป็นกรณีเจ็บป่วยให้แสดงหลักฐานทางการแพทย์ต่อศาลภายใน 3 วัน
  3. ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาหรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
  4. ห้ามจำเลยกระทำการใดๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเกิดความกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
  5. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

โดยตั้งนาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวเป็นผู้กำกับดูแลความประพฤติของจำเลย มีอำนาจในการว่ากล่าวตักเตือนและควบคุมมิให้จำเลยกระทำผิดเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด หากมีการกระทำผิดเงื่อนไขถือว่าผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวผิดสัญญาประกัน

ลงนามคำสั่งโดย นายพริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา 

ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 27 มิ.ย. 2565 เวลา 09.00 น.

ทั้งนี้ หลังตะวันถูกเพิกถอนประกันในคดีนี้ ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนประกัน 1 ครั้ง ยื่นคัดค้านการขอฝากขังของพนักงานสอบสวนและอัยการ 4 ครั้ง และยื่นขอประกันตัวรวม 3 ครั้ง 

จากคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าวในวันนี้ทำให้ตะวันจะถูกปล่อยตัวในช่วงเย็นของวันนี้ ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง รวมระยะเวลาถูกคุมขังระหว่างชั้นสอบสวนและระหว่างพิจารณาคดี พร้อมกับอดอาหารประท้วง ทั้งสิ้น 37 วัน 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

รายละเอียดในคดีนี้

รายละเอียดการถูกถอนประกันในคดีนี้

การไต่สวนคัดค้านฝากขังทั้ง 4 ครั้ง

คัดค้านฝากขังผัดที่ 5

คัดค้านฝากขังผัดที่ 6

คัดค้านฝากขังผัดที่ 7 

คัดค้านฝากขังผัดที่ 8 

X