โดยปราศจากน้ำและอาหาร: การอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหาย เดิมพันขั้นสุดท้ายของผู้เรียกร้องทางการเมือง

เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์

ใบหน้าที่เคยเปล่งปลั่งมีชีวิตชีวา บัดนี้กลับซูบตอบ ดวงตาฝ่อไร้แววจมลึกลงไปในเบ้ากะโหลก ริมฝีปากแห้งแตกเกินกว่าจะเปล่งคำ ผิวหนังสีเข้มขึ้นราวกับเกรียมแดด เรือนร่างที่ซูบซีดกำลังนอนแน่นิ่งคล้ายซากไม้ไร้สติสัมปชัญญะอยู่บนเตียงพยาบาล นี่คือสภาพของผู้อดอาหารประท้วงที่ขาดน้ำอย่างรุนแรง ลมหายใจของพวกเขากำลังโรยริน เวลาของชีวิตกำลังถูกนับถอยหลัง และแน่นอนในอีกไม่ช้า พวกเขากำลังจะตาย !!!

การอดอาหารประท้วงเป็นการตัดสินใจด้วยความมุ่งมั่นและเด็ดเดี่ยวที่จะนำชีวิตของตนเองมาต่อรอง มันค่อนข้างห่างไกลจากความปรารถนาที่จะตาย และดูจะใกล้เคียงกว่ากับ “การนำชีวิตมาวางเป็นเดิมพัน” เพื่อให้ได้รับการตอบสนองในข้อเรียกร้องมากกว่า (เสกสิทธิ์, 2565) 

การอดอาหารประท้วงเป็นการแปลงเปลี่ยนเรือนร่างที่ซูบผอมและความทุกข์ทรมานให้กลายเป็นพาหนะของการสื่อสาร (Machin, 2016 pp.169-170) แน่นอนว่าโดยทั่วไปไม่ว่าจะในสภาวะใด ความทุกข์ทรมานอย่างรุนแรงสำหรับมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่พึงปรารถนา  ดังนั้นในบรรดารูปแบบยุทธวิธีของการต่อต้านทั้งหมด การประท้วงที่สร้างความทนทุกข์แก่ตัวผู้ประท้วงจึงมักไม่ถูกเลือกใช้  โดยเฉพาะการอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหายที่ก่อให้ความทุกข์ทรมานอย่างอุกฤษฏ์และเสี่ยงต่อชีวิตอย่างยิ่ง

บทความชิ้นนี้จะเริ่มต้นด้วยการสำรวจตำแหน่งแห่งที่ของการอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหายจากประเภทของการอดอาหารประท้วงต่างๆ สาเหตุที่มันมักไม่ถูกเลือกใช้  และคำถามสำคัญที่ว่า มันสร้างแรงกดดันต่อผู้ถูกเรียกร้องอย่างไร และอะไรคือปฏิกิริยาการตอบสนองที่มักเกิดขึ้นจากรัฐต่อการอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหาย 

ตำแหน่งแห่งที่ของการอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหาย

การอดอาหารประท้วง (Hunger Strike) คือการปฏิเสธที่จะกินอาหารหรือสารอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตโดยสมัครใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อกดดันฝ่ายที่ถูกเรียกร้องให้ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง (เสกสิทธิ์, 2565) โดยในบรรดารูปแบบการเคลื่อนไหวต่อต้านทั่วโลก การอดอาหารประท้วงเป็นหนึ่งในรูปแบบการต่อต้านที่พบได้ไม่บ่อยมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวประเภทอื่น อย่างการแขวนป้าย การชุมนุมประท้วง หรือการเดินขบวน  ดูเหมือนการอดอาหารประท้วงมักถูกใช้ในสถานการณ์ที่เหลือทางเลือกจำนวนไม่มากนัก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มากไปด้วยกลไกการควบคุมกดขี่ อย่างการถูกจองจำ หรือการติดอยู่ในค่ายกักกันผู้ลี้ภัย (Scanlan, Stoll, & Lumm, 2008 pp.303-304)

ในกรณีการอดอาหารประท้วงทั้งหมดทั่วโลก การอดอาหารประท้วงแบบไม่ทั้งหมด (Non-Total Hunger Strike/Fasting) เป็นประเภทของการอดอาหารที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเป็นการอดอาหารที่ผู้ประท้วงมักปฏิเสธการนำเข้าอาหารแข็ง (Solid Foods) ส่วนใหญ่เข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร แต่อาจยังคงทานอาหารแข็งบางประเภท เช่น เนย น้ำตาล รวมถึงทานอาหารเหลว (Liquid food) ที่ให้พลังงานแก่ร่างกายบ้าง เช่น น้ำหวาน หรือน้ำผึ้ง  

ขณะที่การอดอาหารประท้วงที่พบได้บ่อยรองลงมาคือ การอดอาหารประท้วงทั้งหมด (Total Hunger Strike/Fasting) ซึ่งหมายถึง การที่ผู้อดอาหารประท้วงไม่ทานอาหาร หรือสารอาหารใดๆ ที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่จะรับประทานเพียงเครื่องดื่มที่อาจมีหรือไม่มีเกลือแร่ ซึ่งหมายความว่า ผู้อดอาหารจะยังคงได้รับน้ำเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะช่วยยืดอายุของผู้อดอาหารให้ยาวนานออกไปได้หลายสัปดาห์ ในระหว่างที่ร่างกายค่อยๆ ดึงพลังงานที่สะสมอยู่มาใช้  

ทั้งนี้การอดอาหารประท้วงที่พบได้น้อยที่สุดได้แก่ การอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหาย (Dry Hunger Strike/Fasting) ซึ่งหมายถึง การอดอาหารที่ผู้ประท้วงจะไม่นำสิ่งใดเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารเลย แม้แต่สารอาหารเหลว (Reyes, Allen & Annas, 2013)  ซึ่งหมายความว่า แม้แต่น้ำ (Liquids) ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างยิ่ง ก็จะไม่ถูกนำเข้าสู่ร่างกายของผู้อดอาหารประท้วงแม้แต่หยดเดียว

กรณีการอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหายเป็นกรณีเฉพาะที่ค่อนข้างหายากอย่างมากทั่วโลก ไม่เฉพาะแต่ในสังคมไทย กรณีการอดอาหารประท้วงในเรือนจำของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และ อรวรรณ (แบม) สองผู้ถูกกล่าวหาด้วยคดีมาตรา 112 ซึ่งตัดสินใจประกาศการอาหารประท้วงโดยปราศจากน้ำ ในวันที่ 18 มกราคม 2566 ซึ่งถือเป็นกรณีแรกๆ ที่มีการอดอาหารประเภทนี้ในบริบทการเมืองไทยร่วมสมัย

เหตุใดจึงมีกรณีการอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหายไม่มาก

ข้อเท็จจริงที่สำคัญประการหนึ่งคือ น้ำเป็นองค์ประกอบกว่าร้อยละ 60 ของร่างกายมนุษย์ มันอยู่ในแทบทุกระบบอวัยวะ ดังนั้นมันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการธำรงชีวิต มนุษย์ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานนักโดยปราศจากทั้งน้ำและอาหาร World Medical Association กล่าวถึงการอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหายไว้อย่างชัดเจนว่า 

“การอดอาหารอย่างหิวกระหาย โดยปราศจากของเหลวใดๆ ในระยะเวลาหนึ่ง อยู่ในคำจำกัดความประเภทหนึ่งของ ‘การอดอาหารประท้วง’ เดชะบุญที่การอดอาหารจำพวกนี้แทบไม่เกิดขึ้น เนื่องจากร่างกายของผู้อดอาหารจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่กี่วันโดยปราศจากของเหลว การตายจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในสัปดาห์แรก” (World Medical Association, 2006)

การอดอาหารอย่างหิวกระหายจึงเป็นรูปแบบการเรียกร้องที่จะนำพาความตายมาสู่ตัวผู้ประท้วงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่น่ากังวลคือ บ่อยครั้งเวลาที่กระชั้นชิดมักจะเร็วเกินไปกว่าการตอบสนองของรัฐที่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา เนื่องจากในเชิงปฏิสัมพันธ์การตอบสนอง การอดอาหารประท้วงมักเกิดขึ้นในบริบทที่ผู้เรียกร้องมีอำนาจต่อรองต่ำกว่า และถึงแม้พวกเขาจะใช้ร่างกายเป็นอาวุธ และเพิ่มอำนาจต่อรองด้วยความตาย แต่ข้อเรียกร้องของพวกเขาก็มักเป็นเรื่องที่รัฐยากจะปลงใจยินยอมได้โดยง่าย  ในกระบวนการต่อรองและส่งแรงกดดัน ระยะเวลาจึงเป็นตัวแปรที่สำคัญไม่แพ้พลังการกดดันที่ถูกส่งออกไป 

ทางเลือกการตัดสินใจของรัฐต่อการอดอาหารประท้วง

กล่าวคือ เมื่อพิจารณาผ่านมุมมองของกระดานการตัดสินใจ การอดอาหารประท้วงเป็นเกมที่มีตัวแสดงหลายฝ่าย โดยมีรัฐและผู้อดอาหารประท้วงเป็นตัวแสดงหลักในเกมการตัดสินใจนี้ มันเป็นกระดานของการตัดสินใจที่ทั้งรัฐและผู้อดอาหารประท้วงต่างกะเกณฑ์คาดคะเนกันและกันตลอดเวลา  เมื่อผู้ประท้วงมีความประสงค์ที่ต้องการให้รัฐตอบสนอง พวกเขามีทางเลือกระหว่างการเริ่มต้นอดอาหารประท้วง หรือเลือกที่จะไม่ใช้มัน 

ในกรณีที่การอดอาหารประท้วงเริ่มต้นขึ้น รัฐในฐานะผู้ตอบสนอง ในเบื้องต้นพวกเขามีทางเลือกระหว่าง การยอมตอบสนองข้อเรียกร้อง หรือเลือกที่จะไม่ตอบสนองมัน ซึ่งแน่นอนว่า ทางเลือกแรกมักไม่ใช่สิ่งที่รัฐปรารถนา (Biggs, 2004 pp.5) และหากพวกเขาเลือกในอย่างหลัง รัฐยังมีทางเลือกต่อไปอีก ว่าพวกเขาจะนิ่งเฉย โดยยอมปล่อยให้ผู้อดอาหารประท้วงตายลงอย่างช้าๆ หรือตัดสินใจที่จะเข้าแทรกแซงการอดอาหาร (Denny, 2021)  

ทั้งนี้ หากรัฐตัดสินใจที่จะไม่ตอบสนองข้อเรียกร้อง การตัดสินใจจะกลับมาที่ผู้อดอาหารประท้วงอีกครั้งว่าพวกเขาจะเลือกเดินหน้าต่อ หรือจะยุติการอดอาหารประท้วง บนกระดานนี้ จึงเป็นเกมของการวัดใจที่มีปฏิสัมพันธ์การตัดสินใจตอบสนองระหว่างกันไม่สิ้นสุดจนกว่าจะจบเกม 

ถึงแม้ความตายของผู้อดอาหารจะไม่ใช่สิ่งที่น่าพึงปรารถนานักสำหรับรัฐ แต่การยอมตอบสนองข้อเรียกร้องก็ไม่ใช่สิ่งที่รัฐปรารถนาเช่นกัน ดังนั้นทางออกส่วนมากที่รัฐเลือก คือ การประวิงเวลาให้ยาวนานออกไป จนจบกระดานการตัดสินใจสุดท้าย ที่การยุติการอดอาหารไปเองของผู้ประท้วง หรือยอมลดข้อเรียกร้องลงจนอยู่ในระดับที่รัฐยอมรับได้  รัฐตระหนักดีว่า ทุกๆ ช่วงเวลาที่ทอดยาวออกไป ย่อมหมายถึงสุขภาพร่างกายที่ทรุดโทรมลงของผู้อดอาหาร  การตกอยู่ในห้วงของความทนทุกข์ที่ดูจะไม่สิ้นสุด พร้อมๆ กับการขยับเข้าใกล้ความตายเรื่อยๆ อาจจะทำให้ผู้อดอาหารประท้วงยอมอ่อนลง ซึ่งคือสิ่งที่รัฐต้องการ  

ขณะเดียวกันในมุมของผู้อดอาหารประท้วง แน่นอนว่า ความตายหรือการยุติการอดอาหารไปเอง ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาปรารถนา การยืดระยะเวลาการอดอาหารประท้วงออกไปให้ยาวนานที่สุด ด้วยการอดอาหารประท้วงแบบไม่ทั้งหมด และการอดอาหารประท้วงทั้งหมด จึงมักเป็นทางเลือกที่ถูกใช้  ในทางกลับกัน การอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหาย ที่แม้จะมีพลังกดดันมาก แต่ก็อาจนำพามาซึ่งความตายที่รวดเร็วเกินกว่าที่รัฐจะตอบสนองข้อเรียกร้องได้ทัน โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่มีประสบการณ์ต่อการอดอาหารรูปแบบนี้ หรือเห็นว่ามันไม่ต่างจากการอดอาหารรูปแบบอื่นๆ หรือมีแนวโน้มที่จะเฉยชาต่อการอดอาหารประท้วง  ในกรณีเหล่านี้ หากผู้อดอาหารยังคงเดินหน้าต่อ พวกเขาจะเผชิญกับความตายในไม่ช้า

ภาพ ขบวนศพของ James Byrne ในปี 1913

กรณีโด่งดังของการอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหายที่จบลงที่ความตาย คือกรณีการอดอาหารประท้วงของ James Byrne ในปี 1913 ซึ่งดูเหมือนจะเกิดขึ้นจากการประเมินที่ผิดพลาดจากการประเมินว่า รัฐบาลจะยอมประนีประนอมและปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของพวกเขาอย่างรวดเร็วก่อนที่พวกเขาจะถึงจุดวิกฤติ การอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหายจึงถูกเลือกใช้เพื่อเร่งระยะเวลาในการได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้อง แม้จะมีความเสี่ยงสูงก็ตาม (Biggs, 2004 pp.16) หลังการอดอาหารไม่นาน เบิร์นถูกนำตัวออกมารักษาที่โรงพยาบาล Monkstown County ก่อนที่จะเสียชีวิตในที่สุด 

ย้อนกลับไปที่กระดานการตัดสินใจ เนื่องจากการอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหายน้ำพามาซึ่งการเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อผู้ประท้วงมีความประสงค์ที่ต้องการให้รัฐตอบสนอง และเลือกที่จะใช้ยุทธวิธีการอดอาหาร การอดอาหารอย่างหิวกระหายจึงมักเป็นวิธีที่ถูกตัดออกแต่แรก หรือถูกเลือกใช้เฉพาะในกรณีสุดท้ายเมื่อวิธีการอดอาหารแบบอื่นทั้งหมดไม่ได้ผล  ด้วยเหตุนี้ การอดอาหารรูปแบบอื่นๆ จึงถูกเลือกใช้มากกว่า เพราะมันสามารถรักษาความสมดุลระหว่างแรงกดดันกับระยะเวลาซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อพวกเขาจะได้ไม่เสียชีวิตไปก่อนที่จะได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้อง โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญหน้ากับรัฐที่มีประสบการณ์ต่อการอดอาหารประท้วง และ/หรือ มีประสบการณ์ต่อตัวผู้อดอาหาร 

อะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกายของผู้อดอาหารประท้วงอยากหิวกระหาย

มีคำกล่าวที่ว่า “น้ำคือชีวิต” คำกล่าวนี้ดูเหมือนจะยิ่งทวีความสำคัญขึ้นสำหรับผู้อดอาหารประท้วง มีความแตกต่างกันมากในเชิงระยะเวลาที่ผู้ประท้วงจะมีชีวิตอยู่ระหว่างผู้อดอาหารที่ปฏิเสธทั้งน้ำและอาหารกับ ผู้อดอาหารที่ปฏิเสธเพียงอาหารอย่างเดียว ในขณะที่ผู้อดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหายมักมีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่กี่วัน โดยมักเสียชีวิตก่อนสิ้นสุดสัปดาห์แรก โดยขึ้นกับกิจกรรมและระดับความชื้นในอากาศ  ผู้อดอาหารประท้วงที่ยังคงดื่มน้ำอาจมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานถึงราว 10 สัปดาห์ (ระหว่าง 55-75 วัน) (Reyes, Allen & Annas 2013) 

ในการอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหาย ผู้อดอาหารจะเผชิญกับสภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ซึ่งหมายถึง สภาวะที่ร่างกายเกิดการสูญเสียหรือกำจัดของเหลวออกจากร่างกาย มากกว่าการได้รับ โดยไม่สามารถทดแทนการสูญเสียของเหลวในร่างกายได้อย่างเต็มที่ (Brooker, 2008) แม้จะมีกรณีไม่มากที่ผู้อดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหายปฏิเสธของเหลวไปจนถึงขั้นเสียชีวิต เนื่องจากพวกเขาอาจถอดใจยุติการประท้วง หรือถูกแทรกแซงทางการแพทย์ไปก่อน แต่ในกรณีที่ผู้ประท้วงปฏิเสธการรับเข้าของเหลวอย่างถึงที่สุด เมื่อพวกเขาสูญเสียน้ำในร่างกายไปกว่า 9–15% เขาจะต้องเผชิญกับสภาวะขาดน้ำรุนแรง (severe dehydration)

เมื่อร่างกายขาดน้ำ น้ำตาลในเลือดจะต่ำ และไขมันในเลือดจะสูงขึ้น เพื่อความอยู่รอด ร่างการจะค่อยๆดึงน้ำออกจากส่วนที่จำเป็นน้อยที่สุดก่อน หากยังไม่เพียงพอ ร่างกายจะเริ่มดึงน้ำกลับจากอวัยวะที่สำคัญขึ้น เพื่อรักษาความดันโลหิตที่จำเป็นต่อการมีชีวิต ดวงตาของผู้อดอาหารจะฝ่อเล็กลง เนื้อตัวและผิวหนังของผู้อดอาหารประท้วงจะดำคล้ำและสูญเสียความชุ่มชื้นคล้ายกับถูกแผดเผาด้วยแดด เลือดในหลอดเลือดใหญ่และในหัวใจจะข้นขึ้นอย่างน่าตกใจ ซึ่งส่งผลต่อการลำเลียงสารอาหารไปยังอวัยวะต่างๆ ความดันโลหิตของพวกเขาจะลดลงจนน่าใจหาย เมื่อเกิดการดึงน้ำออกจากเซลล์สมองจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของสภาพจิตใจ เช่น อาการสับสน วิตก กังวล และเห็นภาพหลอน 

การสูญเสียน้ำเกิน 15% จะนำไปสู่การเสียชีวิตเนื่องจากความไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์ สภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาการช็อค ไตวาย และหัวใจล้มเหลว (Zilg,2019)  ซึ่งกล่าวกันว่า อาการที่เกิดขึ้นจากสภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงจะทำให้ผู้อดอาหารประท้วงเผชิญกับความตายที่ทุกข์ทรมานอย่างมาก 

พลังของการอดอาหารอย่างหิวกระหาย

แม้จะถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของระยะเวลา แต่การอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหายก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือต่อต้านที่สร้างแรงกดดันได้อย่างทรงพลัง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ประท้วงมีทางเลือกในการใช้เครื่องมือที่จำกัด เหลือทรัพยากรไม่มาก และต้องการระดมให้เกิดแรงกดดันขนาดใหญ่อย่างรวดเร็ว 

ร่างกายของผู้อดอาหารประท้วงถูกใช้ในฐานะเครื่องมือของการต่อต้าน พวกเขาแปลงเปลี่ยนความทุกข์ทรมานและความตายที่อาจเกิดขึ้นจากการอดอาหารให้กลายเป็นอาวุธ อาวุธที่จะค่อยๆ ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐ พร้อมๆ กับที่ค่อยๆ บั่นทอนชีวิตของผู้อดอาหารประท้วงอย่างช้าๆ แต่นั่นไม่ใช่กับการอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหาย ‘เวลาที่กระชั้นชิด’ เป็นกุญแจที่สำคัญของการอดอาหารประเภทนี้ สภาวะวิกฤติและความตายจะเกิดขึ้นกับผู้อดอาหารอย่างรวดเร็ว ด้วยเวลาที่จำกัดลงในระดับสัปดาห์ สำหรับรัฐ ไม่ว่าพวกเขาจะปรารถนาหรือไม่ แต่พวกเขาจำเป็นต้องตัดสินใจอะไรสักอย่าง

แน่นอนว่า รัฐสมัยใหม่ทั้งหลายยังมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้การอดอาหารประท้วงเกิดขึ้นจนถึงจุดวิกฤติ เนื่องจากรัฐมีพันธะทางกฎหมายระหว่างประเทศในการดูแลสุขภาพและการมีชีวิตอยู่ของพลเมืองซึ่งรวมไปถึงผู้ต้องขัง (Lines 2008) โดยไม่แต่รัฐที่ไม่สนใจในสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมากนัก แต่ด้วยความที่การอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหายเป็นกรณีที่คอขาดบาดตาย มันจึงมักได้รับความความสนใจจากเวทีและองค์กรระหว่างประเทศ 

กรณีเมื่อไม่นานมานี้ คือการอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหายในเรือนจำของ Alaa Abdel Fattah ต่อรัฐบาลอียิปต์ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการประชุม COP27 ซึ่งมันได้กระตุ้นให้ผู้นำโลกหลายคนได้ยื่นเรื่องโดยตรงถึงประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตาห์ อัล ซีซี แห่งอียิปต์ ต่อกรณีดังกล่าว (Grady 2022) 

ภาพ Alaa Abdel Fattah ผู้อดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหายระหว่างการประชุม COP27, จาก DW 

นอกจากนี้ หากการอดอาหารประท้วงดำเนินไปถึงจุดที่พวกเขาเสียชีวิต ศพของผู้อดอาหารเป็นภาพที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อสาธารณะ ขบวนศพของพวกเขาจะเป็นหายนะของรัฐบาล โดยเฉพาะหากรัฐต้องการการยอมรับจากอารยประเทศ เพื่อแก้ไขสถานะป่าเถื่อนและล้าหลัง (Anderson 2004 pp.831) สุขภาพและความตายของผู้อดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหายจึงเป็นประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งสำหรับรัฐ

นอกจากนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหายเป็นนาฏกรรมทางการเมืองที่ไม่ได้ปราศจากผู้ชม เรือนร่างและความทุกข์ทรมานของผู้อดอาหารประท้วงถูกใช้เพื่อการสื่อสารทางการเมืองมันเป็นการส่งข้อความไปยังสาธารณชนผู้สังเกตการณ์ (Orzeck 2016 pp.42) ความทุกข์ทรมานของผู้อดอาหารเป็นสิ่งซึ่งประชาชนโดยเฉพาะมิตรสหายและผู้ที่อยู่ข้างผู้อดอาหารประท้วงไม่อาจเฉยเมย ภายใต้การเมืองของความสงสาร (Politics of Pity) ความตายที่ใกล้เข้ามากดดันให้พวกเขาจำเป็นต้องมีส่วนร่วมเพื่อทำอะไรสักอย่าง (Siméant, Traïni & Jasper 2016a pp.39) 

ในแง่นี้ยิ่งผู้อาหารประท้วงเผชิญความทุกข์ทรมาน เข้าใกล้สภาวะวิกฤติ หรือถูกมองว่าได้รับการปฏิบัติอย่างทารุณจากรัฐมากเท่าไหร่ มันยิ่งระดมความเห็นอกเห็นใจจากสาธารณชน แปลงเปลี่ยนเป็นโทสะทางศีลธรรม และชักนำความโกรธแค้นไปสู่รัฐบาล (Wee 2007 pp.63-64) 

ดังนั้นสำหรับรัฐ ความน่ากังวลจากการอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหาย จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของสุขภาพหรือความตายของผู้ประท้วง แต่คือเรื่องของศักยภาพในการต่อต้านที่อาจปะทุขึ้นจากความเห็นอกเห็นใจ และโทสะทางศีลธรรมของสาธารณชนที่ไม่อาจเฉยเมยต่อความทุกข์ทรมานของผู้อดอาหารประท้วง

ปฎิกิริยาตอบสนองของรัฐต่อการอดอาหารอย่างหิวกระหาย

สุขภาพที่ทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็วและความตายที่ใกล้เข้ามาของผู้อดอาหารประท้วง สิ่งเหล่านี้ได้บีบคั้นให้การตอบสนองของรัฐต้องเกิดขึ้นอย่างฉับไว  อย่างไรก็ดี แน่นอนว่ารัฐส่วนใหญ่เป็นพวกหัวแข็ง—หาไม่แล้วผู้ประท้วงคงไม่มาถึงจุดที่จำเป็นต้องเลือกใช้การอดอาหารอย่างหิวกระหาย  การยอมให้ในสิ่งที่ผู้อดอาหารประท้วงต้องการก็ไม่ใช่สิ่งที่พึงปรารถนาสำหรับรัฐ แต่ขณะเดียวกันรัฐส่วนใหญ่ก็เป็นกังวลต่อโทสะทางศีลธรรมของสาธารณชนและภาพลักษณ์ต่ออาณารยประเทศเกินกว่าที่จะปล่อยให้ผู้อดอาหารประท้วงตาย หรือใช้ความรุนแรงเพื่อยุติการอดอาหาร (Siméant, Traïni & Jasper 2016b pp.92-93) 

ดังนั้นสำหรับรัฐ การตอบสนองที่ชาญฉลาดที่สุดที่มักถูกเลือกใช้ คือการพยายามยืดระยะเวลาการมีชีวิตอยู่ของผู้อดอาหารประท้วงให้ยาวนานออกไป  การแทรกแซงทางการแพทย์อย่างละมุนละม่อม อย่างการให้ของเหลวทางหลอดเลือด มักถูกเลือกใช้เพื่อให้ผู้อดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหายอยู่ในสถานะเสมือนผู้อดอาหารประท้วงทั่วไป สิ่งนี้จะประวิงเวลาชีวิตของผู้อดอาหารออกไปได้อีกเป็นเดือนๆ โดยรัฐก็ไม่จำเป็นต้องตอบสนองข้อเรียกร้อง 

อย่างไรก็ดีในกรณีที่ผู้อดอาหารประท้วงยืนยันและต่อต้านอย่างเด็ดขาดที่จะไม่ยอมรับการแทรกแซงทางการแพทย์ต่อเนื้อตัวร่างกายของพวกเขา การปล่อยตัวชั่วคราว หรือการใช้กำลังเล็กน้อย พร้อมกับการร่วมมือกับแพทย์เพื่อนำผู้อดอาหารประท้วงไปเข้ารักษายังโรงพยาบาลภายนอก เป็นอีกหนึ่งในกลวิธีที่ถูกเลือกใช้ ก่อนที่จะจับพวกเขากลับเข้าเรือนจำเมื่ออาการดีขึ้น 

ภาพ การอดอาหารประท้วงของ Mohammad Sadiq Kabudvand, จาก Amnesty International

กรณีเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น กรณีการอดอาหารประท้วงของ Mohammad Sadiq Kabudvand นักโทษทางความคิดชาวอิหร่าน ซึ่งอดอาหารประท้วงอยากหิวกระหายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2555 ก่อนที่จะถูกนำตัวส่งไปรักษายังโรงพยาบาล Modarres ด้วยอาการปวดไตอย่างรุนแรง และถูกพากลับมายังเรือนจำเมื่ออาการของเขาดีขึ้น (Amnesty International, 2012) 

ยุทธวิธีนี้ยังถูกใช้ปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยที่อดอาหารประท้วงอยากหิวกระหายในเยอรมนี ซึ่งรวมตัวอาหารประท้วงอยู่ ณ จัตุรัสสาธารณะ  เมื่อการเจรจาไม่เป็นผล เจ้าหน้าที่ได้อ้างประเด็นความปลอดภัยทางสุขภาพของผู้ประท้วงอย่างหิวกระหาย ก่อนที่จะเข้าบังคับขับไล่โดยไม่มีการประกาศล่วงหน้าโดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยบริการฉุกเฉินสาธารณะเพื่อนำตัวพวกเขาส่งโรงพยาบาล (Haselwarter, Wild & Kuehlmeyer. 2022)

ดังนั้น ในเชิงผลต่อกลไกการทำงานของการอดอาหารประท้วง ปฎิกิริยาตอบสนองของรัฐอย่างการนิ่งเฉยหรือแม้แต่การกดขี่อย่างโจ่งแจ้ง แม้อาจจะนำพามาซึ่งความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส หรือแม้กระทั่งนำความตายมาสู่ตัวผู้อดอาหาร แต่กระนั้น ตราบใดที่ความทุกข์ทรมานและการเคลื่อนเข้าใกล้ความตายของผู้อดอาหารประท้วงยังคงดำเนินต่อไป พลังของการอดอาหารประท้วงย่อมยังคงดำรงอยู่  

หากการนำชีวิตเข้าแลกเพื่อการบรรลุเข้าเรียกร้องของผู้อดอาหารประท้วงเป็นสิ่งที่สำคัญ การกดปราบการอดอาหารประท้วงอย่างแนบเนียน ด้วยการร่วมมือกับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อการแทรกแซงการอดอาหารอย่างละมุนละม่อม ย่อมเป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กัน เพราะมันจะเป็นการขัดขวางกลไกการทำงานของการอดอาหารประท้วง แช่แข็งพลังในการอดอาหาร และทำให้มันอ่อนกำลังลงจนแทบไม่เหลือแรงกดดันต่อรัฐอีกต่อไป

อ้างอิงท้ายบทความ

เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์. (2565) วางชีวิตเป็นเดิมพัน: พลังของการอดอาหารประท้วง กลไกการทำงานในฐานะปฏิบัติการทางการเมือง ผลลัพธ์และการตอบสนองจากรัฐ, https://tlhr2014.com/archives/44370

Anderson, p. (2004) ‘To lie down to death for days’, Cultural Studies, 18(6), 816-846, DOI: 10.1080/0950238042000306882

Amnesty International. (2012). Iranian journalist Ends Hunger Strike: Mohammad Sadiq Kabudvand

Biggs, M. (2004). Hunger Strikes by Irish Republicans, 1916-1923.

Brooker, C. (2008). Churchill Livingstone Medical Dictionary E-Book. Elsevier Health Sciences.

Denny, B. S. (2021). The Warden’s Dilemma as Nested Game: Political Self-Sacrifice, Instrumental Rationality, and Third Parties. Government and Opposition, 56(1), 82-101.

Grady, S (2022). Egyptian dissident had ‘near death’ experience while on hunger strike, family says, https://www.washingtonpost.com/world/2022/11/17/egypt-alaa-hunger-strike-family/

Haselwarter, D., Wild, V., & Kuehlmeyer, K. (2022). Providing health care in politically charged contexts: a qualitative study about experiences during a public collective hunger strike of asylum seekers in Germany. International journal of qualitative studies on health and well-being, 17(1), 2018770. https://doi.org/10.1080/17482631.2021.2018770

Lines, R (2008) The right to health of prisoners in international human rights law. International Journal of Prison Health 4(1): 3–53.

Machin, A. (2016). Hunger Power: The embodied protest of the political hunger strike. Interface: a journal for and about social movements, 8(1), 157-180.

Orzeck, R. (2016). Hunger Strike: The Body as Resource. In Body/State, edited by Cameron, Angus, Jen Dickinson, and Nicola Smith, New York

Reyes, H., Allen, S. A., & Annas, G. J. (2013). Physicians and hunger strikes in prison: Confrontation, manipulation, medicalization and medical ethics. World Medical Journal, 59(1), 27–36

Scanlan, S. J., Stoll, L. C., & Lumm, K. (2008). Starving for change: The hunger strike and nonviolent action, 1906–2004. In Research in social movements, conflicts and change. Emerald Group Publishing Limited. pp.291-292

Siméant, J., Traïni, C., & Jasper, J. (2016a). The Meaning of Bodily Violence. In Bodies in Protest: Hunger Strikes and Angry Music (pp. 35-46). Amsterdam University Press. doi:10.1017/9789048528264.005

Siméant, J., Traïni, C., & Jasper, J. (2016b). When Hunger Strikes Arise. In Bodies in Protest: Hunger Strikes and Angry Music (pp. 77-96). Amsterdam University Press. doi:10.1017/9789048528264.008

Wee, L. (2007). The Hunger Strike as a Communicative Act: Intention without Responsibility. Journal of Linguistic Anthropology, 17(1), 61–76. http://www.jstor.org/stable/43104132

World Medical Association. (2006). WMA declaration of Malta: A background paper on the ethical management of hunger strikes. World Medical Journal, 52 (2), 36–43. https://www.wma.net/wp-content/uploads/2016/11/wmj10.pdf [Google Scholar] [Ref list]

Zilg B. (2019). A Case of Fatal Dehydration During Police Custody. Journal of forensic sciences, 64(3), 917–919. https://doi.org/10.1111/1556-4029.1393

X