บันทึกเยี่ยมตะวัน: บทกวีจากหลังลูกกรง กับการอดอาหารที่ยังยืนยันต่อไป

“หนูแอบแต่งกลอนแล้วนะ พอเดินขึ้นห้องมันคิดมาเอง แต่ไม่กล้าบอกสักที เขินอะ”

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 ทนายความเข้าเยี่ยม “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ที่ทัณฑสถานหญิงกลางอีกครั้ง หลังเธออดอาหารเรียกร้องสิทธิการประกันตัวมาแล้ว 17 วัน (และนับจนถึงวันนี้เป็น 20 วัน) หลังศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขังเธอต่อไปเป็นระยะเวลาอีก 12 วัน เป็นครั้งที่ 6 แม้ตำรวจที่ร้องขอฝากขัง จะให้การในการไต่สวนว่า เธอไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้

ตะวันดูซูบลงไปพอสมควร เธอรีบบอกว่าตัวเองยังไหว แม้เริ่มมีอาการรู้สึกหน้ามืดบ้างแล้ว แต่ไม่ได้บ่อยมาก เธอขยายความว่าวานนี้ เธอมีอาการหน้ามืดเหมือนจะเป็นลม ตอนอยู่ในเรือนนอน จึงแจ้งเพื่อนที่นอนด้วยกัน เพื่อนก็พาให้นั่งพักและช่วยชงโอวัลตินมาให้ดื่ม

ตะวันเล่าว่าแต่ละวัน จะมีหมอที่ทางราชทัณฑ์ให้มาตรวจอาการเธอ โดยมีการตรวจเช็คน้ำตาลในเลือดทุกวัน โดยพบว่าเธอมีค่าน้ำตาลต่ำลงบ้างแล้ว

“จริงๆ ก็หิวนะ หิวทุกวันแหละ เห็นอาหารก็อยากกิน คือหนูรู้สึกว่าหนูอยากจะต่อสู้ไง แต่ข้างในนี้ ทางเดียวที่หนูจะทำได้ คืออดอาหาร จริงๆ ถ้าหนูไม่อดอาหาร ก็อยู่ได้สบายขึ้นนะ แทบจะไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่หนูอยากอดอาหารประท้วงจนกว่าจะได้ประกัน” ตะวันยืนยันเจตนารมณ์ของเธอต่อไป แม้หลายคน จะฝากบอกเธอว่าหากร่างกายไม่ไหว ก็สามารถยุติการเรียกร้องด้วยวิธีนี้ได้

ตะวันเล่าถึงผู้คนที่เธอพบเจอในเรือนจำ อาทิ มีผู้ต้องขังที่ท้องมาช่วยถักเปียให้เธอ, มีผู้ต้องขังที่ป่วยเป็นจิตเวช ดูแลตัวเองไม่ค่อยได้ จนเธอต้องไปช่วยอาบน้ำให้ เพราะมีเวลาแค่ 15 วินาที เขาอาบไม่ทัน หรือมีผู้ต้องขังรายหนึ่งถูกจำคุกเพราะไปขโมยปลาแซลมอนกิน

“คือเค้าอยากกินแต่ไม่มีตังค์ ก็เลยขโมยเลย ถูกจับติดคุก 8 เดือนเลย คือจริงๆ มันก็มาจากปัญหาการเมืองนี่แหละ”

ตะวันยังบอกว่าเธอได้เห็นเพื่อนอีก 2 คน คือ “ใบปอ” และ “ผักบุ้ง” (เนติพร) ผ่านลูกกรงแล้ว แต่ยังไม่ได้พูดคุยกับทั้งสองคน เธอยังทราบว่าทั้งสองคนถูกนำตัวไปร่วมการไต่สวนคัดค้านฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ แต่ส่วนของเธอ ศาลไม่เคยให้เบิกตัวไปที่ศาลเลย แม้ทนายจะร้องขอแล้วก็ตาม จึงไม่ทราบว่าทำไมถึงมีความแตกต่างกัน

“เมื่อวานหนูนอยด์นะ คือหนูไม่มีโอกาสได้ออกมาคอนเฟอเรนซ์ ไม่มีโอกาสได้รู้ว่าตำรวจอ้างอะไรในการขอฝากขังต่อ ไม่มีสิทธิรู้เรื่องการฝากขังต่อเลยว่ามาจากเหตุอะไร ไม่มีโอกาสได้โต้แย้งเลย หนูโดนฝากขังต่อโดยที่ไม่รู้ว่าตำรวจ ศาล พูดอะไรกับหนู”

เธอยังแจ้งว่า เพิ่งได้รับจดหมายสองฉบับ ฉบับหนึ่งเขียนมาจากอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเธอฝากขอบคุณผู้ส่งจดหมายมาให้กำลังใจ “จดหมายและข้อความกำลังใจที่ได้รับ มันเป็นกำลังใจมากๆ นะ” เธอย้ำ

นอกเหนือจากกำลังใจจากข้างนอก เพื่อนๆ ที่ได้รู้จักในเรือนจำยังพยายามหาวิธีต่างๆ ช่วยให้เธอได้ออกมา โดยการสวดภาวนาหรือทำสมาธิในรูปแบบของศาสนาต่างๆ

“เพื่อนในเรือนพยายามช่วยให้หนูได้ออกจากคุกทุกศาสนาเลย มีคนมาบอกว่า ‘พี่นั่งสมาธิให้เราแล้วนะ เดี๋ยวเราก็ได้ออก’ มีม๊ะที่เป็นอิสลาม และพี่ที่เป็นคริสต์ บอกหนูว่า ‘พี่ขอพระเจ้าให้เราทุกวันเลยนะ’ หนูแบบหัวใจพองมาก” ตะวันเล่า

ก่อนจากกัน ตะวันแจ้งว่าเธอเพิ่งลองแต่งบทกวีขณะอยู่ในเรือนจำ ด้วยความไม่เคยแต่งมาก่อน เลยยังรู้สึกว่าแต่งให้คล้องจองสัมผัสไม่ได้ เลยยังไม่กล้าฝากเป็นบทกวีออกมาสักเท่าไร แต่กระนั้น เธอก็อ่านบทกวีสั้นๆ บทหนึ่งให้ฟัง บทกวีที่มีข้อความสั้นๆ ง่ายๆ ของมือใหม่ แต่เต็มไปด้วยการยืนยันเจตนารมณ์ของนักสู้อีกคนหนึ่งไว้อย่างหนักแน่น…

“เพียงกรงขัง เพียงผนัง เพียงขวางกั้น

เพียงกักกัน เพียงกัดกัน เพียงกีดขวาง

แม้ทุกข์ทน แม้หนทาง แม้เลือนลาง

แม้ปลายทาง แม้ต้องแลก ก็ไม่กลัว”

.

6 พฤษภาคม 2565

ทัณฑสถานหญิงกลาง

——————

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

บันทึกเยี่ยม “ตะวัน”: 24 ชั่วโมงแรกในเรือนจำ กับการประกาศเริ่มอดอาหาร 

บันทึกเยี่ยมปฏิมา-ทานตะวัน: “หนูไม่รู้ว่าทำไมหนูถึงไม่ได้ประกัน”

เสียงจาก ‘ทานตะวัน’: “ขอบคุณคนภายนอกที่ยังไม่ลืมกัน ทำให้ยังมีกำลังใจจะสู้”

บันทึกเยี่ยม: “ตะวัน” ยังคงอดอาหารต่อ กินน้ำหวานตามคำขอหมอ – “ปฏิมา” นอนไม่หลับมียาแก้แพ้เป็นตัวช่วย ฝันถึงแฟนหนุ่ม-บ้านแทบทุกคืน

.

X