‘เรื่องนี้เป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของอนาคตพวกเราทุกคน’ — เรื่องเล่าของแบมจากพ่อ และในวันที่ลูกสาวไม่ได้สู้อยู่เพียงลำพัง

แบม อรวรรณ ก็คือ มวลชน 

มวลชน ก็คือ แบม อรวรรณ

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับชีวิตของหญิงสาวที่ยืนคู่กับตะวัน — ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ในวันที่ 16 ม.ค. 2566

เท่าที่เรารู้เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของแบม ในวัย 23 ปี เคยศึกษาในสาขาการละคร ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ก่อนจะลาออกและเดินค้นหาตัวเองในเส้นทางใหม่ และในปี 2563 จุดเริ่มต้นการชุมนุมของเธอก็เกิดขึ้นพร้อมกับมวลชนจำนวนนับหมื่นคนในการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคณะราษฎร และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 

แบม อรวรรณ เข้าร่วมชุมนุมในฐานะเยาวชนผู้ตื่นรู้ เธอร่วมเดินขบวนพร้อมมวลชนจำนวนมากไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อกดดันให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เธอเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมเรื่อยมาตั้งแต่นั้น และเคยทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มการ์ดปลดแอก เมื่อช่วงปี 2563 เธออาสาดูแลกลุ่มนักกิจกรรมและดูแลความเรียบร้อยของบริเวณพื้นที่ชุมนุมต่างๆ แบมทำกิจกรรมอยู่กับกลุ่มดังกล่าวร่วม 2 – 3 เดือน ก่อนจะลาออกและกลับมาเป็นมวลชนอิสระอีกครั้ง จนกระทั่งถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในกรณีที่เข้าร่วมกิจกรรมทำโพลขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 และ คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมกิจกรรม “Save บางกลอย” เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 รวม 2 คดี

ชีวิตของแบมผกผัน สถานภาพจากมวลชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมของเธอแปรเปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาในคดี “ร้ายแรง” ตามมาตรา 112 เพียงเพราะเข้าร่วมกิจกรรมสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จ เธอและครอบครัวเริ่มถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบตามคุกคามถึงที่บ้าน โดยแบมเคยเปิดเผยกับศูนย์ทนายฯ ว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 พ่อกับแม่เคยพบชายหัวเกรียน 2 นาย สวมเสื้อโปโลและมีตราสัญลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาตามหาแบมถึงที่บ้าน 

แบมเปิดเผยว่า ตำรวจทั้งสองคนถือเอกสารติดมาด้วยคนละ 2 ฉบับ ซึ่งเชื่อว่าเป็นรูปถ่ายของตนเอง เพราะแม่ของแบมเล่าให้ฟังว่า ลุงคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ละแวกเดียวกันถูกตำรวจทั้งสองสอบถามว่า รู้จักแบมไหม แบมเป็นลูกของ (ชื่อคุณพ่อ) ใช่หรือไม่ พร้อมกันนั้นตำรวจยังได้บอกกับลุงคนดังกล่าวด้วยว่า แบมเป็นคนถือไมค์พูดในการชุมนุม ซึ่งแบมยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

นอกจากนี้ ใบหน้าของเธอ พร้อมทั้งที่อยู่อาศัยยังเคยถูกใช้ล่าแม่มดบนโลกอินเตอร์เน็ต ในเพจที่ชื่อว่า Dr.X โดยกล่าวหาว่าเธอเป็นกลุ่มป่วนขบวนเสด็จ 

ผลกระทบจากการถูกคุมคามในครั้งนั้น ส่งผลให้เธอและครอบครัวตกอยู่ในความหวาดระแวง แบมเล่าว่าพ่อกับแม่ของเธอไม่เคยพบเจอสถานการณ์แบบนี้ในชีวิตมาก่อน ทั้งคู่มีอาการแพนิคจากการถูกติดตามและสอดส่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ

อย่างไรก็ตาม ชีวิตผกผันของแบมทำให้ครอบครัวรู้สึกเป็นห่วง ด้วยเงื่อนไขประกันตัวจากศาลอาญากรุงเทพใต้ที่กำหนดให้เธอใส่กำไล EM, ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ หรือเข้าร่วมชุมนุมกระทำการในลักษณะที่ถูกฟ้อง และห้ามออกนอกประเทศ ตลอดจนการประท้วงอาหาร – น้ำอยู่ ณ ตอนนี้ แต่พวกเขาก็เข้าใจว่าเธอกำลังเผชิญหน้าและต่อสู้กับสิ่งใดอยู่

พ่อของแบมได้เปิดเผยกับศูนย์ทนายฯ ว่าเขารู้เรื่องที่ลูกสาวของตนเองทำ ไม่อาจสำเร็จได้เพียงตัวของเธอเพียงคนเดียว กระนั้นพ่อและแม่ก็จะยังเคียงข้างเธอเสมอ

แบม อรวรรณ : คนที่พ่อกับแม่จะเข้าใจเสมอ

“ตอนนี้ แบมเขาทำอะไรไม่ได้เลย” พ่อเริ่มอธิบายถึงปัญหาเงื่อนไขประกันตัวของลูกสาว เขาเริ่มเล่าว่าในวัยที่แบมควรมีงานมีการที่ดีทำ แต่ลูกสาวของเขากลับทำอะไรไม่ได้เลยเพราะกำไล EM ที่ข้อเท้า โดยก่อนหน้าที่จะถูกกำหนดเงื่อนไขประกันตัวในคดีมาตรา 112 พ่อเล่าว่าแบมเคยมีงานทำอยู่ที่คลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง แต่เมื่อมีเงื่อนไขประกันตัวเข้ามา ที่ทำงานของแบมก็ไม่โอเคที่จะมีพนักงานที่ติดกำไล EM เนื่องจากกลัวว่าภาพลักษณ์ของคลินิกจะเสียหาย และสร้างความหวาดกลัวให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ

พ่อของแบมกล่าวว่า การมีโซ่ตรวนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นวิธีหนึ่งที่ศาลใช้ตีตราว่าลูกสาวของเขาได้กระทำผิดไปแล้ว ถึงแม้ว่าคดีจะยังไม่มีการสืบพยานหรือพิพากษา อีกทั้ง พ่อก็ได้เล่าว่าเวลาการเข้าสมัครงานในบริษัทหรือสถานที่ทำงาน แบมจะถูกกีดกันด้วยเงื่อนไขของบริษัทอยู่หนึ่งข้อ นั่นก็คือ ‘ห้ามต้องโทษในคดีอาญา”

มาตรา 112 ถูกบัญญัติขึ้นในประมวลกฎหมายอาญา พ่อกล่าวว่าเขารู้สึกไม่แฟร์และไม่เห็นด้วยที่ผู้ต้องหาในคดีการเมืองจะต้องถูกเหมารวมราวกับว่าเป็นคดีอาญาร้ายแรง เงื่อนไขของบริษัทและที่ทำงานต่างๆ เหมือนได้ทำให้ลูกสาวของเขาต้องพบเจอกับความเลวร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

“ทุกวันนี้แบมทำอะไรไม่ได้เลย แต่แบมก็บอกกับผมเสมอว่าเขาจะพยายามต่อไป คือทุกที่บอกว่าลูกผมทำผิดโทษทางอาญา แต่เขาไม่ถามว่าลูกผมได้คดีมายังไง” 

“ผมอยากให้ทุกฝ่ายทำตามข้อเรียกร้องของตะวันกับแบม พรรคการเมืองควรพิจารณา เราปล่อยให้ลูกสู้อยู่คนเดียวไม่ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องของสังคม และอนาคตของพวกเราทุกคน” 

พ่อของแบมกล่าวต่อไปว่าเขายังคงเชื่อมั่นว่าลูกสาวไม่ได้ทำอะไรผิด “แบมควรได้ใช้ชีวิตที่สดใสตามวัยของเขา “ พ่อหยุดพูดไปหลังจบประโยคนั้น เขาหยุดคิดก่อนจะพูดต่อว่า “มันคงเป็นเพราะรุ่นผมทำไว้ไม่ดีพอ เด็กๆ ถึงต้องได้มาเจออะไรแบบนี้”

พ่อบอกว่าอาการของตะวันและแบมตอนนี้กำลังเสี่ยงที่จะมีอาการหัวใจหยุดเต้น และการประท้วงของทั้งสองคนก็ไม่ต่างจากระเบิดเวลาที่ใกล้จะหมดลง ยังมีคนมากมายในสังคมนี้ที่ควรจะได้รู้ว่ามีผู้หญิงสองคนกำลังต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของทุกคน เมื่อถามว่าอยากให้ฝากอะไรถึงคนกลุ่มนั้นบ้าง พ่อก็ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า

“ผมขอฝากไว้ว่า วันนี้ลูกผม พรุ่งนี้ลูกคุณ ถ้าไม่มีใครตอบสนองข้อเรียกร้องของเด็กสองคนในวันนี้ ในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า ลูกของคุณก็คือคนถัดไป จะต้องมีคนออกมาทำอะไรแบบนี้อีกแน่นอน” 

แบม อรวรรณ : คนที่ไม่นิ่งเฉยต่อความอยุติธรรม

เมื่อแบมและครอบครัวรู้ว่าสามารถเขียนคำร้องขอถอดกำไล EM ด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องผ่านทางทนายความก็ได้ พ่อก็ได้เล่าให้ฟังว่าแบมก็พยายามเขียนคำร้องด้วยตัวเองเสมอ แต่ศาลก็ยังคงยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ถอดกำไลดังกล่าวให้เรื่อยมา “ผมไม่รู้ว่าเขาเขียนอะไรไปบ้าง แต่เพื่อนๆ เขาก็ช่วยกันทำให้ด้วย” 

ด้วยความที่เป็นคนร่าเริง สนุกสนาน ทำให้เธอไม่ใช่คนที่จะมองโลกในแง่ร้ายหรือคิดว่าชีวิตนี้อับจนหนทางไปเสียแล้ว “บางทีเขาก็โทรมาหาพ่อกับแม่ บอกว่าแบมจะไปทำนู่นทำนี่นะ คือตั้งแต่ติดกำไล EM มาเขาก็ไม่ได้ยอมแพ้ครับ ก็พยายามหางานทำตลอด” 

แต่งานที่แบมพอจะทำได้ก็เป็นเพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการออกไปขายกาแฟ หรือขายเบียร์ตามงานอีเว้นท์ลานเบียร์ต่างๆ พ่อเล่าว่าเพื่อนๆ ก็ช่วยแบมอย่างเต็มที่ในการหางานให้ทำ บางครั้งที่มีการชุมนุมเธอก็มักจะไปช่วยขายสินค้าตามบูธต่างๆ อีกด้วย เพราะอย่างน้อยลูกสาวของเขาก็ไม่อยากรู้สึกผิดที่ไม่สามารถแบ่งเบาภาระครอบครัวได้

นอกจากนี้ แบมยังเป็นคนหนึ่งที่มักอาสาติดตามสถานการณ์การคุกคามกลุ่มนักกิจกรรมต่างๆ มาบอกผ่านทนายความอยู่เสมอ โดยเธอได้เปิดเผยว่าทุกครั้งที่เห็นเจ้าหน้าที่รัฐทำไม่ถูกต้อง เธอรู้สึกว่าตัวเองน่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อเป็นหลักฐานและให้สังคมได้ประจักษ์ได้ว่าตำรวจเลือกปฏิบัติกับประชาชนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง

เมื่อได้เดินเข้ามาสู้เส้นทางของนักกิจกรรมอย่างเต็มตัว ตลอดจนนิสัยที่ไม่ยอมรับความไม่ถูกต้องได้โดยง่าย เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2565 ประชาชนได้เริ่มทำกิจกรรมรณรงค์  ‘Let’s Unlock EM’ หรือ ‘เดินปลดล็อกมัน (EM)’ จากศาลอาญากรุงเทพใต้ ถึงสยามสแควร์ เพื่อเรียกร้องให้มีการปลดกำไล EM โดยไม่มีเงื่อนไขให้นักโทษทางความคิด หรือผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แบมเข้าร่วมในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกับอุปกรณ์ดังกล่าว  โดยเธอได้ติดตั้งโซ่ตรวนพร้อมกับกำไล EM ที่ขาข้างซ้ายของตัวเอง 

แบมเคยให้สัมภาษณ์กับประชาไท ในกิจกรรมครั้งนั้นว่าอยากให้ประชาชนได้เห็น และได้รู้ว่าผู้ต้องหาในคดีการเมืองไม่ได้ทำอะไรผิด พวกเขาแค่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็เท่านั้น

นอกจากนี้ เธอยังได้กล่าวถึงผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ขออย่าเลือกปฏิบัติในการรับสมัครงานกับผู้ติดกำไล EM โดยอยากให้ลองฟังเสียงและถามเรื่องราวของพวกเขาก่อนว่า พวกเขาได้พบเจออะไรมาจากการติดเงื่อนไขดังกล่าวนี้ของศาล

ภาพกิจกรรม Let’s Unlock EM จากไข่แมวชีส

ย้อนดูสถิติผู้ติดกำไล EM ในคดีการเมือง >>> สถิตินักกิจกรรม-ประชาชน ถูกสั่งติดกำไล EM ระหว่างสู้คดี ไม่น้อยกว่า 80 คน | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ย้อนอ่านปัญหาของกำไล EM >>>  1 ปี ประกันตัวคดีการเมือง ถูกสั่งติด EM ไม่น้อยกว่า 54 คน พร้อมผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ในวันที่ 15 พ.ย. 2565 ในระหว่างการประชุม APEC 2022 แบมและตะวันได้จัดกิจกรรม “ไซอิ๋วตะลุยเอเปค” บริเวณถนนย่านเยาวราช เพื่อประท้วง คัดค้านการจัดประชุมเอเปค 2022 “ไม่เอานโยบายจีนเดียว” เพื่อเรียกร้องให้ ‘สีจิ้นผิง’ คืออิสรภาพให้กับฮ่องกง ตลอดจนได้นำป้ายผ้าและข้อความ “STOP APEC” เดินขบวนมุ่งหน้าไปที่รถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อไปยังศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งตลอดการทำกิจกรรมได้มีตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามถ่ายรูปแบมกับเพื่อนๆ ตลอดเวลา

.

ภาพกิจกรรม “ไซอิ๋วตะลุย APEC” ภาพจากไข่แมวชีส

จากการเข้าเยี่ยมของทนายในวันที่ 30 ม.ค. 2566 พบว่าทั้งสองคนยังคงรับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ขณะนี้แบมและตะวันจะยังรู้สึกตัวดี แต่ร่างกายก็อ่อนเพลียลงไปมาก โดยเฉพาะแบมที่มีอาการปวดกรามทั้งสองข้าง นอนหลับได้เป็นพักๆ 

อย่างไรก็ตามทั้งสองยังคงยืนยันที่จะทำตามเจตนารมณ์ของตนเองต่อไป โดยพวกเธอได้ฝากทนายความสื่อสารว่า พวกเธอไม่ได้กลัวตาย และหากการตายนำมาซึ่งความยุติธรรมและอิสรภาพของผู้คน ก็ยินดีเสียชีวิต 

“เยาวชนเป็นผู้ที่จะดูแลประเทศชาตินี้ต่อไป ชาติควรดูแลให้เยาวชนเติบโตต่อไปอย่างแข็งแรง เพื่อให้ดูแลประเทศ แทนการกระทำอะไรบางอย่างให้เยาวชนเกิดอุปสรรคต่อการเติบโตและพัฒนา”

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนได้ประกาศยกระดับข้อเรียกร้อง โดยการอดอาหาร – น้ำ (Dry Fasting) จนถึงวันนี้ (31 ม.ค.66 ) แบมและตะวันได้อดอาหารและน้ำเข้าวันที่ 14 แล้ว

X