วันที่ 30 ส.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ 4 ผู้ร่วมชุมนุมทะลุแก๊ส ได้แก่ “อาร์ม” วัชรพล (จำเลยที่ 1), “เก่ง” พลพล (จำเลยที่ 2) “ต้อม” จตุพล (จำเลยที่ 3) และ “แบงค์” ณัฐพล (จำเลยที่ 4) กรณีถูกฟ้องร่วมเผารถยนต์ตำรวจ สน.ดินแดง หลังเหตุการณ์ชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา2565 โดยศาลเห็นว่าจำเลยสามรายมีความผิดตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องเรื่องการร่วมวางเพลิงเผาทรัพย์
ในคดีนี้ จำเลยทั้งสี่ถูกฟ้อง ใน 5 ข้อหา ได้แก่ 1. ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น 2. ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ 3. ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง 4. ไม่เลิกชุมนุมมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน 5. ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ทั้งนี้ ในการชุมนุมวันดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2565 เพจเฟซบุ๊กชื่อ “ราษฎรไล่ตู่ คนแดงปฏิวัติ” นัดหมายชุมนุมเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิไตยไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 300-400 คน การชุมนุมเป็นไปอย่างเรียบร้อยโดยตำรวจกั้นถนนให้เดินทางถนนหลานหลวง ไม่ให้ไปทางถนนราชดำเนินนอก และถนนพิษณุโลก หลังยุติการชุมนุมในเวลาเกือบ 18.00 น. ยังมีผู้ชุมนุมหลงเหลือที่แนวตำรวจที่แยกดินแดง ก่อนมีการปะทะด้วยประทัด พลุ ด้านตำรวจยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม ทำให้เหตุการณ์ยืดเยื้อถึงช่วงดึก และมีรถยนต์ตำรวจของ สน.ดินแดง ถูกเพลิงไหม้บริเวณตรงข้ามตลาดศรีวานิชก่อนลงอุโมงค์สามเหลี่ยมดินแดง
ดูเหตุการณ์การชุมนุม>> #ม็อบ11มิถุนา65 : ราษฎรเดินไล่ตู่ : Mob Data Thailand
ช่วงเช้าก่อนพิจารณาคดี 907 “ต้อม-อาร์ม-เก่ง-แบงค์” ได้ทยอยมาขึ้นศาลพร้อมทนายความ นอกจากนี้ยังมีญาติ สื่อมวลชน นักกิจกรรมมาให้กำลังใจจำเลยทั้งสี่จนเต็มห้องพิจารณา
เวลา 9.00 น. ศาลออกนั่งพิจารณาอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า พิเคราะห์จากพยานหลักฐาน จำเลยทั้งสี่อยู่ในที่ชุมนุมเกิดเหตุจริง และการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ยุติการชุมนุมก็ไม่เลิกแต่อย่างใด
ที่สำคัญพยานหลักฐานโจทก์ที่เป็นคลิปวิดีโอก่อเหตุเผารถตำรวจ พนักงานสืบสวนได้นำมาตรวจสอบ เทียบรูปพรรณสัณฐานกับจำเลยจนพิสูจน์ทราบตัวบุคคลจนแน่ชัดแล้วว่า จำเลยที่ 1, 3 และ 4 เป็นผู้ก่อเหตุ ในส่วนของจำเลยที่ 2 นั้นไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้ร่วมก่อเหตุเผารถดังกล่าว มีเพียงพฤติการณ์ที่ร่วมชุมนุมมั่วสุม และเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกแต่ไม่เลิกเพียงเท่านั้น
ศาลจึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1, 3 และ 4 มีความผิดในฐาน ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์, ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์, ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, ไม่เลิกชุมนุมมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ขณะที่จำเลยที่ 2 มีความผิดในฐานร่วมชุมนุมมั่วสุม, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแต่ไม่เลิก และ ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักที่สุด ตามมาตรา 217 “วางเพลิงเผาทรัพย์ฯ” จำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 4 ปี ด้านจำเลยที่ 2 ลงโทษจำคุก 2 ปี ในฐานความผิดเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกการชุมนุมมั่วสุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216
เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงมีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษจำเลย 1, 3 และ 4 เหลือจำคุกคนละ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ลดเหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา
หลังศาลมีคำพิพากษา “ต้อม-อาร์ม-เก่ง-แบงค์” ได้กอดร่ำลาครอบครัวและเพื่อนที่มาให้กำลังใจ ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาควบคุมตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลในทันที โดยมีครอบครัวและเพื่อนตามลงไปให้กำลังใจ ก่อนที่ทนายความจะยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
ต่อมาหลังยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์คดีในเวลา 16.42 น. ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 2-3 วัน ทำให้ในวันนี้ “ต้อม-อาร์ม-เก่ง-แบงค์” ถูกนำตัวไปควบคุมยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ก่อนหน้านี้ทั้งสี่คนเคยถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและชั้นพิจารณา โดยเป็นกลุ่มผู้ต้องขังที่มีการขอยื่นประกันตัวมากที่สุดในปี 2565 รวมกว่า 18 ครั้ง โดยเริ่มถูกคุมขังในช่วงวันที่ 14-17 มิ.ย. 2565 เป็นต้นมา รวมระยะเวลาถูกคุมขังมากว่าคนละกว่า 240 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2566 พร้อมมีเงื่อนไขให้ติดกำไล EM ก่อนคดีจะมีการสืบพยานไปในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ในระหว่างถูกคุมขัง “ต้อม” จตุพล และ “แบงค์” ณัฐพล ยังได้ร่วมปฏิบัติการอดนอนเพื่อประท้วงให้ศาลคืนสิทธิประกันตัว ร่วมกับ “เก็ท” โสภณ ก่อนจะยุติการประท้วงไป
.
.
อ่านเรื่องราวของทั้งสี่คน