“ผมยืนยันว่าผมบริสุทธิ์”: คุยกับ“อาร์ม วัชรพล” 4 พล (เมือง) ดินแดง ก่อนวันพิพากษา

“อาร์ม วัชรพล” สมาชิกกลุ่มฟันเฟืองเพื่อประชาธิปไตย วัย 21 ปี หนึ่งในสี่ผู้ตกเป็นจำเลยในคดีเผารถยนต์ตำรวจที่เกิดเหตุใน #ม็อบ11มิถุนา65 หรือ #ราษฎรเดินไล่ตู่ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2565 และยังเป็นอีกหนึ่งในจำเลยที่ไม่ได้รับการประกันตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างพิจารณาคดียาวนานกว่า 8 เดือน กินระยะเวลาถึง 248 วัน

คดีนี้เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 อัยการได้ยื่นฟ้อง ‘อาร์ม วัชรพล’ พร้อมกับ ‘เก่ง พลพล’, ‘ต้อม จตุพล’ และ ‘แบงค์ ณัฐพล’ ทั้งสิ้น 5 ข้อหา ได้แก่  1. ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น 2. ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ 3. ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง 4. ไม่เลิกชุมนุมมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน 5. ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

หลังสืบพยานในคดีเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีในวันที่ 30 ส.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ ชวนอ่านเรื่องราวของ ‘อาร์ม’ และเพื่อนๆ ก่อนที่ิคดีนี้จะมีการพิพากษา

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2565 อาร์มเข้าไปมอบตัวที่ บช.ปส. หลังทราบว่ามีหมายจับเมื่อมีตำรวจมาหาที่บ้าน ในคืนนั้นเขาก็ถูกควบคุมตัวไว้ทันที

“วันนั้นตำรวจมาหาผมที่บ้าน แต่ว่าผมไม่ได้อยู่บ้าน พ่อก็เลยเป็นคนคุยกับเขาแทน พ่อบอกว่าจะพาผมไปมอบตัวเอง วันนั้นพ่อก็เลยโทรมาหาผมว่าตำรวจเอาหมายจับมา ผมเลยกลับมาบ้าน พ่อก็ขับรถจากคลองแปดมาหาผมที่บ้าน แล้วพาผมไปมอบตัว” อาร์มเล่าเหตุการณ์วันนั้นให้ฟัง

“ที่บ้านผมเข้าใจดี เขาบอกว่าทำมาแล้วก็ต้องยอมรับให้ได้ เขาไม่เคยว่าอะไร แต่ก็จะมีเตือนบ้างพวกเรื่องที่ คฝ. ใช้ปืน ให้ผมระมัดระวังตัว..เขารู้ตลอดว่าเราไปชุมนุม”

เช้าวันต่อมาอาร์มถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา จากนั้นศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวด้วยเหตุผลว่า ‘ข้อหามีลักษณะที่ร้ายแรง อัตราโทษสูง เป็นการร่วมกันกระทำการใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะและกระทำต่อทรัพย์สินราชการ เชื่อว่าหากปล่อยตัวไปจะหลบหนี หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก’ ทำให้อาร์มถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรื่อยมา

“เข้าไปสี่วันแรกกินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะว่าเครียด เราเข้าไปในนั้นครั้งแรกด้วย ผมเข้าไปในนั้นคนแรก ส่วนคู่คดีอีก 3 คนยังไม่ได้เข้ามา ผมเข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 จากนั้นก็ทยอยเข้ามาทีละคน”

“ทำไมเราไม่ได้ประกัน.. ดูกี่รอบก็ไม่มีชื่อเรา” คดีที่ยื่นขอประกันตัวมากที่สุดในปี 2565 รวมแล้วกว่า 18 ครั้ง

“ตอนแรกผมอยู่แดน 2 ต้องกักโควิดเกือบหนึ่งเดือน ไม่ได้ลงมาข้างล่างเลย ปกติก็จะกักประมาณ 12 วัน แต่ห้องผมติดโควิดไปสี่รอบ ก็ต้องกักไปเรื่อยๆ จริงๆ แล้วตอนนั้นผมเครียดมาก เพราะคิดว่าผมจะได้ประกันตัว เราเห็นเพื่อนร่วมห้องได้ออกกันไปเจ็ดคนได้ แต่ทำไมเราไม่ได้ประกัน.. ดูกี่รอบก็ไม่มีชื่อเรา 

“มันหวังจนเครียด แต่พอนานเข้ามันก็เริ่มชินตัวเพราะว่าทำหลายอย่าง ตีปิงปองบ้าง เล่นฟุตบอลบ้าง หรือบางทีก็กวาดใบไม้แก้เซ็ง มันก็ทำให้ลืมได้บ้าง”

ในคดีนี้ ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวชั่วคราวของอาร์มและพวกรวม 4 คน ไปมากกว่า 18 ครั้ง ตลอดปี 2565 (รวมการยื่นอุทธรณ์คำสั่ง) ก่อให้เกิดคำถามต่อหลักการที่จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา “สิทธิการประกันตัว” ที่จำเลยควรจะได้รับในระหว่างการพิจารณาคดีเพื่อที่จะได้ออกมาสู้คดีอย่างเต็มที่

นอกจากถูกพรากอิสรภาพ อาร์มถูกพรากโอกาสทางการศึกษาไปด้วย

“อยู่ๆ ช่วงต้นปี 2566 ผมได้ประกันตัว ผมงงมากเพราะพึ่งตื่นนอนมาแล้วก็พับที่นอน ก็มีเสียงประกาศชื่อผมคนแรก ก็คิดว่าโดนคดีอะไรอีกไหมเนี่ย พอถึงตรงที่เขาให้ใส่กุญแจมือ มันจะมีเอกสารมาจากศาลว่าเรียกตัวไปทำอะไร ผมก็ขอดู เขาบอกว่าศาลให้ไปติดกำไล EM แล้วก็กลับบ้านตอนเย็นได้เลย”

“ตอนที่เรากำลังเดินออกมาก็คิดอยู่บ้างว่าเพื่อนจะมารับเราไหม แล้วก็มีเพื่อนมารับจริงๆ ตอนแรกมีพ่อกับแม่มารอ คือตอนที่ไปใส่กำไล EM ที่ศาล ก็มีเพื่อนไปหาด้วย ผมดีใจ มันเลยทำให้ผมออกมากินได้นอนหลับเหมือนเดิม” 

“ผมสมัครเรียน ปวส. ไว้ ก็รอเปิดเทอมอยู่ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เรียนเพราะต้องเข้าไปในเรือนจำ พอออกมาก็ตัดสินใจไม่เรียนต่อแล้ว ผมคิดว่ามันเสียเวลาแล้ว เพราะเอาเวลาที่จะเรียน ปวส. ไปหาเงินได้เยอะกว่า”

“ตอนนี้ผมก็ขับรถรับจ้างทั่วไปครับ รายได้ต่อวันก็ประมาณ 400-500 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางที่เรารับงานด้วย ปกติผมก็ทำงานทุกวัน” อาร์มเล่าชีวิตงานของเขาให้ฟัง จะเห็นได้ว่าในหนึ่งเดือนอาร์มมีรายได้โดยเฉลี่ยแล้ว 15,000 บาท ทั้งที่ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด

ทำใจไว้ครึ่งหนึ่งแล้วกับคำพิพากษา แต่ยังยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

วันที่ 30 ส.ค. 2566 นี้ ศาลนัดฟังพิพากษาคดีของอาร์มและเพื่อนร่วมคดีอีก 3 คน “จากที่ผมไปฟังการสืบพยานมาก็คิดว่า 50-50 เลย เฉพาะผมนะที่โน้มไปทางลบ ผมคุยกับศาลครึ่งชั่วโมง ส่วนเก่ง (เพื่อนร่วมคดีอีกคนหนึ่ง) คุยแค่ 3 นาที ดูเหมือนเขาเจาะจงจะเอาแค่ผม ผมอยากรู้ว่าจับคนที่เผาได้หรือยัง คนไม่ผิดจะเอามาให้ผิดได้ยังไงกัน” 

“มันอยู่ที่ปากเขา เขาพูดออกมาคำไหนก็คำนั้น เขาพูดคำเดียวทำให้ผมติดคุกได้เลย”

“คดีนี้ที่ผมโดนเป็นคดีแรก แล้วก็คดีเดียวด้วย คดีอื่นที่ไม่เกี่ยวกับม็อบก็ไม่มี”

อาร์มเล่าให้ฟังว่าสิ่งที่เป็นหลักฐานในการฟ้องเขาคือ ‘เสื้อ’ ที่ใส่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งอาร์มก็กล่าวว่าในวันนั้นไม่ได้มีเพียงเขาที่ใส่เสื้อลักษณะนั้นคนเดียว

“วันเกิดเหตุคนที่อยู่ตรงนั้นมันเยอะมาก ที่อยู่ตรงรถก็สิบกว่าคนได้ ที่ผมโดนเจาะจงมาก็เพราะว่าเสื้อที่ผมใส่ แต่หลักฐานไม่ได้มีหน้าผมตอนก่อเหตุ ถ้ามีรูปหน้าผม ผมก็จะไม่เถียงอะไรเลย คือเขาเอาลักษณะเสื้อมาเปรียบเทียบว่าเป็นผม เขาบอกว่ามีผมใส่เสื้อตัวนี้คนเดียวในกลุ่มผู้ชุมนุม ผมก็เลยถามเขาว่าเคยลงพื้นที่ไหม เขาตอบว่าไม่เคยลงพื้นที่ เขาดูจากกล้องวงจรปิดกับกล้องสื่อที่ไลฟ์สด ผมก็เลยพูดไปว่าถ้าไม่ได้ลงพื้นที่แล้วจะรู้ได้ยังไงว่ามีผมที่ใส่เสื้อแบบนั้นแค่คนเดียว” 

เมื่อถามถึงชีวิตของอาร์มหากสามารถผ่านพ้นคดีไป อาร์มก็ตอบทันทีถึงชีวิตปกติที่เรียบง่ายในแบบฉบับของเขา แต่ก็เผยถึงความกังวลเรื่องหนี้สินของครอบครัวที่ต้องคอยช่วยเหลือพ่อกับแม่อยู่

“ผมก็ทำงานเหมือนเดิม ไปชุมนุมเหมือนเดิม ผมก็จะไปจนกว่ามันจะเปลี่ยนแปลงถึงจะหยุด จริงๆ แล้วครอบครัวผมมีหนี้สิน ผมหาเงินมาช่วยพ่อแม่อยู่ด้วย เขาก็แก่แล้ว อายุ 50 กว่าแล้ว ถ้าผมต้องเข้าไปอยู่ในนั้น พ่อแม่ก็ต้องมาดูแลเราอีกทีนึง เป็นห่วงสุขภาพแม่ด้วย แม่ผมพึ่งล้มไป”

ถ้าย้อนเวลากลับไป ผมก็ยังจะเลือกออกมาชุมนุมอยู่ดี ผมทนเห็นตำรวจทำร้ายประชาชนไม่ได้

“ตอนแรกผมก็ไปม็อบตามกระแส แต่พอไปฟังเรื่อยๆ ก็เริ่มสนใจขึ้นมาจริงๆ อย่างเคสของผม จับคนที่เขาไม่ได้ทำผิดจริงๆ มาติดคุก”

“หลังจากนั้นผมก็ไปร่วมกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตย หน้าที่ของผมก็คือดูแลควบคุมมวลชนไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ดูแลการจราจรในที่ชุมนุม เวลามีการปะทะผมก็จะไปอยู่แนวหน้าตลอด ปกติแล้วผมไปทุกม็อบนะ ไม่ได้เลือกว่าต้องไปแค่ม็อบดินแดง”

“ผมมีความฝันอยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลง คนบริษัททั่วไปเขาก็มีเงินเดือนอยู่แล้ว แต่คนที่มีรายได้เป็นรายวัน ได้วันละ 300 กว่าบาท ต่างประเทศเขาไปถึงไหนกันแล้ว ทุกวันนี้ของก็แพงขึ้น ของใช้ของกินแต่ละวัน ขนาดมาม่ายังราคาขึ้นเลย ก็ไม่ต้องอยู่กันได้แล้ว”

“ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมก็ยังจะเลือกออกมาชุมนุม ถึงแม้จะรู้ว่าตัวเองจะโดนคดีในทุกวันนี้ก็ตาม ผมดูจากในข่าว ผมรับไม่ได้ ทำไมตำรวจทำร้ายประชาชนได้ ทำไมพอเป็นตำรวจทำอะไรแบบนี้แล้วไม่โดนจับ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

“ก็มีแต่ฝากถึงพวกเพื่อนๆ ถ้าได้เข้าไปจริงๆ ก็ไม่ต้องห่วง ก็พอรู้จักเพื่อนที่อยู่ข้างในอยู่บ้าง ถ้าออกมาก็เดี๋ยวเจอกันใหม่”

อาร์ม วัชรพล

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

3 ผู้ชุมนุมอิสระเข้ามอบตัวคดีถูกกล่าวหาทุบ-เผารถตำรวจ #ม็อบ11มิถุนา65 ก่อนศาลให้ประกันตัวเฉพาะเยาวชน 2 ราย

อย่าลืม 4 พล (เมือง) ดินแดง : “วัชรพล” นักศึกษา ปวส. ผู้ดิ้นรนเลี้ยงชีพเป็นไรเดอร์ และดาว Tiktok

ศาลอาญาให้ประกันตัว “4 ทะลุแก๊ส” หลังถูกขังระหว่างพิจารณาข้ามปี

X