“ผมแค่อยากเห็นสังคมที่คนเท่ากัน” : คุยกับ “แบงค์ ณัฐพล” 4 พล (เมือง) ดินแดงก่อนฟังคำพิพากษา

คุยกับ “แบงค์” ณัฐพล นักกิจกรรมกลุ่มทะลุแก๊สวัย 21 ปี ซึ่งถูกดำเนินคดีจากกรณีทุบและเผารถยนต์ตำรวจ สน.ดินแดง หลังเหตุการณ์ชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 และถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีเป็นระยะเวลากว่า 8 เดือน ก่อนศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 ส.ค. 2566 นี้

ในคดีนี้ แบงค์ถูกกล่าวหาร่วมกับผู้ชุมนุมอีก 3 รายคือ “อาร์ม” วัชรพล, “เก่ง” พลพล, และ “ต้อม” จตุพล ใน 5 ข้อหา ได้แก่ 1. ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น 2. ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ 3. ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง 4. ไม่เลิกชุมนุมมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน 5. ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 “แบงค์” ณัฐพล (ขณะเกิดเหตุอายุ 19 ปี) ได้เข้ามอบตัวกับตำรวจหลังทราบว่ามีหมายจับที่ออกโดยศาลอาญา เช่นเดียวกับ “เก่ง” พลพล (ขณะเกิดเหตุอายุ 20 ปี) ที่เข้ามอบตัวในวันเดียวกัน แต่ต่อมาทราบว่ายังไม่ได้มีหมายจับ แต่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาในคดีเดียวกันนี้ด้วย 

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 หลังถูกนำตัวไปขอฝากขัง ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้แบงค์ต้องถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

ระหว่างที่ถูกคุมขัง แบงค์ได้ร่วมปฏิบัติการอดนอน หรือฝืนตื่นประท้วง ร่วมกับ “เก็ท” โสภณ และ “ต้อม” จตุพล เพื่อประท้วงให้ศาลคืนสิทธิประกันตัว โดยมีเจตจำนงเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของตะวัน แบมและสิทธิโชค รวมถึงเรียกร้องเพิ่มเติมให้ศาลสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีผู้ต้องขังในคดีการเมืองคนใดถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมอีกในอนาคต 

แบงค์ได้ทำการประท้วงโดยการอดนานเป็นระยะเวลาเกือบสัปดาห์ ก่อนจะยุติการประท้วงไป เพื่อหันมาดูแลเพื่อนคนอื่นที่ยังยืนยันจะอดนอนต่อ

หลังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีกว่า 8 เดือน ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวต้อมพร้อมกับเพื่อน ๆ ในวันที่ 17 ก.พ. 2566 พร้อมกับมีเงื่อนไขให้ติดกำไล EM

“กำไล EM” อุปสรรคสำคัญในการหางาน-ทำงาน

หลังออกมาจากเรือนจำ แบงค์เล่าว่า เขาต้องประสบกับความยากลำบากในการหางานทำ เขาตระเวนไปสมัครงานหลายที่ เพราะการอยู่ในเรือนจำทำให้ธุรกิจร้านอาหารตามสั่งของเขาต้องปิดตัวลงไป เนื่องจากไม่สามารถไปต่อได้ แต่การที่แบงค์ต้องมีการติดเครื่องติดตามตัวหรือกำไล EM ไว้ที่ข้อขาตลอดเวลา ก็ทำให้หลายที่ปฏิเสธที่จะรับเขาเข้าทำงาน 

ดังนั้นเขาก็เลยยังหาสมัครงานไปเรื่อย ๆ ในระหว่างนี้อาชีพที่แบงค์เลือกทำเพื่อที่จะมีชีวิตรอดในแต่ละวัน คือการเป็นคนขับรถส่งของและอาหารอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์รายหนึ่ง ซึ่งรายได้ก็ไม่ได้ดีมาก 

“ได้ไม่เกิน 200 พี่ ผมเติมน้ำมันก็หมดแล้ว เมื่อก่อนน้ำมันรถเติม 100 นึงเกือบเต็มถังนะ ตอนนี้ 100 นึงเกือบไม่ถึงครึ่งถังแล้วพี่” แบงค์กล่าว

“เวลาวิ่ง เราก็วิ่งได้จำกัดเวลาครับพี่ ถ้าแบต EM มันหมด ผมก็ต้องกลับไปชาร์จที่บ้าน พอแบตมันขึ้นสีแดง ผมก็ต้องกลับไปชาร์จแล้ว รายได้ผมก็หายไปอีก มันก็ยากลำบากพอสมควรครับในวัน ๆ หนึ่ง”

“ภาวะซึมเศร้า” สิ่งที่ยังคงหลงเหลือในตัวแบงค์แม้จะออกมาจากเรือนจำแล้ว

ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ แบงค์ได้มีโอกาสเข้าพบแพทย์จิตเวช โดยหมอเห็นว่า อาการเครียด วิตกกังวล และเศร้าที่แบงค์เผชิญอยู่นั้นเข้าข่ายเป็น “ภาวะซึมเศร้า” และได้จ่ายยาหลายตัวให้แบงค์รับประทานเพื่อบรรเทาอาการ เป็นตัวยาจำพวกกล่อมประสาท ลดความรู้สึกเศร้า ระงับอารมณ์ คลายเครียด และยานอนหลับ

เมื่อถามถึงอาการเหล่านั้นหลังออกจากเรือนจำ แบงค์เล่าว่า “ออกมาแล้วก็ดีขึ้นครับ ก็ไม่ต้องรับยาแล้ว ก็คุมอารมณ์ตัวเองได้ ไม่มีอาการหรือผลข้างเคียงอะไร แต่ก็จะมีความรู้สึกเวิ้ง ๆ ว้าง ๆ นิดหนึ่ง จากเมื่อก่อนทะเลาะกับแฟนก็จะแบบว่าปรับอารมณ์ได้ง่ายขึ้น แต่ตอนนี้ก็คือดิ่งลงมาเลย แบบจะคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง ใช้เหตุผลคุยกันก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง”

“เค้าไม่มีหลักฐานที่ชี้เป็นแบบนั้นเลย คือเค้ามองเราไม่ดีแต่แรก”

ปัญหาอีกหนึ่งเรื่องคือเรื่องของ “สิทธิการประกันตัว” ที่กว่าแบงค์และเพื่อน ๆ จะได้ประกันตัวพวกเขาต้องถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีถึง 8 เดือน แบงค์เชื่อว่าสาเหตุที่พวกเขาไม่ได้รับการประกันตัวสักทีเป็นเพราะอคติต่อผู้ชุมนุมกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” 

“เค้าให้เหตุผลที่ว่า กลัวจำเลยจะไปยุ่งกับพยานหลักฐาน แล้วก็ทำผิดซ้ำครับ ซึ่งเค้าไม่มีหลักฐานที่ชี้เป็นแบบนั้นเลย คือเค้ามองเราแบบไม่ดีแต่แรกแล้ว”

“อยู่ในนั้นพวกผมทำสารพัดเลยเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว ทั้งอดอาหาร อดนอน กรีดแขนประท้วง กว่าเขาจะอนุญาตให้ประกันตัว ผมมองว่าเราต้องออกมาทำอะไรบางอย่าง เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เค้าก็คงไม่มีวันรับฟัง”

“พอได้ประกัน ก็ดีใจครับที่ความพยายามของเราประสบผลสำเร็จ ดีใจที่เค้าเห็นความสำคัญ ต้องขอบคุณพี่ตะวัน พี่แบมด้วยที่มาช่วยอีกแรง ความพยายามของพวกเราเลยเห็นผลมากขึ้น”

“เรื่องการพิพากษา อยากให้มันซื่อตรงกว่านี้ ไม่ใช่แบบว่า จะเอาพวกผมอย่างเดียว”

เมื่อถามถึงเรื่องคดี แบงค์มีความกังวลว่าตนเองอาจจะต้องกลับเข้าไปในคุก “ไม่น่ารอดครับพี่ เค้าพูดถึงผมเยอะอยู่เหมือนกัน กลัวจะเป็นแนวโน้มว่าเค้าจะลง”

“เรื่องการพิพากษา ผมอยากให้มันซื่อตรงกว่านี้  ไม่ใช่แบบว่า จะมีแนวโน้มว่าจะเอาพวกผมอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันต้องซื่อตรงกว่านี้ บางครั้งผมก็ไม่ได้ทำ แต่เค้าตีไปก่อนแล้วว่าเป็นพวกผม คือเค้ามองเราไม่ดีตั้งแต่แรกแล้ว”

แบงค์เผยว่า หากเขาต้องกลับเข้าไปในเรือนจำอีกครั้ง ครอบครัวเขาก็น่าจะลำบากขึ้นไปอีก “ตอนนี้แฟนผมกำลังตั้งท้องอยู่พี่ เค้าก็ไม่ได้ทำงาน ผมเป็นคนหาเงินอยู่คนเดียวในบ้าน ผมก็กลัวตรงนี้ ว่าเค้าจะไหวรึเปล่า”

แบงค์ยังสรุปถึงสาเหตุที่เขาออกมาเคลื่อนไหว จนต้องนำไปสู่ความเสี่ยงของการถูกคุมขัง “การที่พวกผมออกมา พวกผมไม่ได้ใช้ความรุนแรง พวกผมแค่เรียกร้องสิทธิของพวกผม มีเพื่อนพี่น้องผมติดอยู่ข้างในมากมาย ให้ผมนิ่งดูดายคงไม่ได้ ผมก็ทำสิ่งที่ทำได้”

“ผมแค่อยากเห็นสังคมที่เท่าเทียมครับ คนเท่ากัน ไม่คดโกง แล้วก็มีน้ำใจต่อกัน แบบไม่ดูหมิ่นคนจน ไม่นินทาคนรวย คนรวยช่วยคนจน คนจนช่วยคนรวย แล้วก็ค่าแรง ไม่ต้องเพิ่มก็ได้พี่ ขอเท่าเดิม แต่ค่าครองชีพอย่าสูงขึ้นเลย”

แบงค์ ณัฐพล

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

อย่าลืม 4 พล (เมือง) ดินแดง: “ณัฐพล” ย้ำเป็นผู้บริสุทธิ์ ถูกขังนานจนเข้าข่ายเป็น ‘ซึมเศร้า’

X