อย่าลืมฉัน
แบงค์ – ณัฐพล นักกิจกรรมกลุ่มทะลุแก๊ส วัย 19 ปี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 โดยถูกกล่าวหาจากเหตุที่มีรถยนต์กระบะตำรวจเกิดเพลิงไหม้ ในการชุมนุม “ราษฎรเดินไล่ตู่” หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 ที่บริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2565 และศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมา
ข่าวขณะถูกจับกุม: ตร.ดำเนินคดีผู้ชุมนุมทะลุแก๊ส รวม 13 ราย ใน 4 คดี ก่อนไม่ให้ประกันตัว 11 ราย
รับจ็อบ ‘ส่งดอกไม้’ ตั้งแต่อายุ 12 ‘เช้าเรียน-ค่ำทำงาน’ หาเงินส่งตัวเองเรียนจนจบ ม.3
แบงค์มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน เขาเป็นลูกคนกลาง เมื่ออายุได้ 3 ขวบ พ่อและแม่ได้แยกทางกัน โดยแบงค์เลือกไปอยู่กับพ่อที่กรุงเทพฯ แต่ทุกๆ ปิดเทอมใหญ่จะได้กลับไปหาปู่ที่ จ.อุตรดิตถ์ พร้อมกับจะได้แวะไปเยี่ยมแม่ที่ประเทศลาวด้วย
ชีวิตของแบงค์เป็นเช่นนั้นเรื่อยมา กระทั่งเมื่อเรียนอยู่ชั้น ป.6 ความสัมพันธ์ของแบงค์กับครอบครัวใหม่ของพ่อไม่สู้ดีนัก เมื่อโรงเรียนปิดเทอมใหญ่อีกครั้ง แบงค์จึงเลือกที่จะไม่กลับบ้านไปหาปู่และแม่เหมือนทุกปี แต่ตัดสินใจออกไปหางานทำด้วยตัวเองครั้งแรก ในวัย 12 ปี
“ส่งดอกไม้” ตอนกลางคืน ที่ปากคลองตลาด คือ งานแรกในชีวิตของเขา ชั่วโมงลูกจ้างเริ่มตั้งแต่เวลา 6 โมงเย็น ไปจนถึงตี 5 ของอีกวัน เป็นเวลากว่า 11 ชั่วโมง กระทั่งเมื่อจัดการปิดหน้าร้านเสร็จสรรพแล้วจึงจะกลับไปนอนพักผ่อนได้
เมื่อเปิดเทอมอีกครั้ง แบงค์เลื่อนขึ้นชั้น ม.1 ขณะเดียวกันก็ยังคงทำงานที่ปากคลองตลาดไปด้วยเช่นเดิม อีกทั้งยังได้ตัดสินใจเลือกออกไปอยู่ห้องเช่าราคาพันต้นๆ เพียงลำพัง
“ห้องอยู่แค่นอนได้…”
ทว่า ยังดีที่โรงเรียนแห่งใหม่ทำการเรียนการสอนตั้งแต่เวลา 12.00 – 17.30 น. แบงค์เลยมีเวลางีบนอนเอาแรงนานขึ้นอีกหลายชั่วโมง “ไปเรียน ทำงาน นอน ผมทำแบบนี้ทุกวัน”
เงินค่าแรง 250 บาท แต่ละวันแบงค์จะแบ่งเงินไว้ซื้อข้าว 50 บาท อีก 200 บาทจะแบ่งไว้เป็นเงินออม โดยเฉพาะวันอาทิตย์ที่จะเจียดเงินเข้ากระปุกได้มากหน่อย เพราะจะได้ค่าแรงมากถึง 350 บาท 7 วันต่อสัปดาห์ แบงค์ไม่มีวันหยุดงานเลยสักวัน ถึงแม้เลือกที่จะหยุดพักได้ก็ตาม
“ผมยอมรับว่าจุดเริ่มต้นมันอาจจะมาจาก ‘ความดื้อ’ ผมชอบต่อต้าน แต่คิดกี่ทีผมก็ภูมิใจที่ผมเริ่มหาเลี้ยงตัวเองได้ตั้งแต่อายุ 12 ทำงานส่งตัวเองเรียนจนจบ ม.3 ได้ พ่อเองก็ยังเคยบอกว่า ‘ภูมิใจในตัวผม’…”
อายุ 15 ทำงานวันละ 2 จ็อบ รวม 18 ชม. เก็บเงินก้อนจนได้มีร้านอาหารของตัวเอง
หลังเรียนจบชั้น ม.3 แบงค์ย้ายไปทำงานที่ใหม่ที่ได้ค่าตอบแทนสูงกว่า โดยช่วงกลางวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. แบงค์จะทำงานเป็น ‘พนักงานขายเครื่องประดับ’ อยู่ที่ย่านสำเพ็ง ได้รับค่าแรงวันละ 350 – 400 บาท และจะได้หยุดพักทุกวันอาทิตย์ ส่วนช่วงกลางคืนตั้งแต่เวลา 18.30 – 03.00 น. จะไปทำงานส่งดอกไม้เช่นที่เคยทำมาตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนชั้น ม.1 วันอาทิตย์จะไปทำงานเป็นช่างก่อสร้าง ได้ค่าแรงวันละ 500 บาท
จะเรียกว่าทำงานจนไม่มีวันหยุดก็คงไม่ได้ เพราะแม้จะมีวันหยุดเวียนมา แต่แบงค์มักจะไม่ยอมหยุดพักเลยสักวัน กลับทำงานหามรุ่งหามค่ำ วันละกว่า 18 ชั่วโมง ฉะนั้นวันๆ หนึ่งเขาจะได้นอนพักอย่างมากที่สุดเพียง 6 ชั่วโมง เท่านั้น
หลังทำงานรับจ้างอยู่นานหลายปี แบงค์และแฟนเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งและตัดสินใจลงทุนเปิดร้านอาหารตามสั่งเล็กๆ ด้วยกัน โดยให้แฟนเป็นแม่ครัวและผู้ดูแลหน้าร้าน ส่วนแบงค์เปลี่ยนไปทำงานขับรถรับส่งอาหาร ตั้งแต่เวลาตี 5 ไปจนถึง 6 โมงเย็น ทั้งคู่ตั้งใจเก็บเงินก้อนใหญ่กว่าเดิมเพื่อไว้สร้างบ้านหลังแรกของตัวเอง ที่ จ.อุตรดิตถ์ ทว่าตั้งแต่ถูกขังในคดีนี้แบงค์ก็ไม่รู้ว่าแฟนจะทำงานไหวหรือเปล่า เพราะกำลังตั้งท้องอยู่ด้วย
ชีวิตหลังถูกขัง: เครียดจนแพทย์ชี้อาการเข้าข่าย ‘ซึมเศร้า’ – ตรวจ ATK ตามรอบเท่านั้น แม้อาการชัด สุดท้ายพบติดโควิดจริง ก่อนเพื่อนร่วมห้องทยอยติดตามหลัง
ช่วงแรกที่ถูกคุมขังแบงค์มีอาการเครียดและนอนไม่หลับอย่างรุนแรง โดยมีสาเหตุหลักมาจากความกังวลที่แฟนกำลังตั้งท้องต้องอยู่บ้านและทำงานเพียงลำพัง แบงค์ยืนยันมาตลอดว่าตัวเองเป็น ‘ผู้บริสุทธิ์’ ไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาอย่างแน่นอน แต่ที่เลือกเข้ามอบตัวกับตำรวจก็เพราะว่าต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและพิสูจน์ความรับผิดตามกระบวนยุติธรรม
ระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ “ธีรวิทย์” เพื่อนร่วมคดีและเพื่อนร่วมห้องขังเดียวกันตรวจพบว่าติดโควิด-19 ไม่นานหลังจากนั้นแบงค์พบว่าตัวเองมีอาการคล้ายกับติดโควิด โดยมีไข้และอ่อนเพลีย แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กลับปฏิเสธไม่ให้เขาตรวจหาเชื้อโควิดเบื้องต้นด้วย ATK ในทันที โดยอ้างว่ายังไม่ถึงรอบของการตรวจที่เรือนจำกำหนดไว้ ฉะนั้นแบงค์จึงถูกควบคุมตัวอยู่กับผู้ต้องขังรายอื่นในห้องเดิมต่อไป
ไม่กี่วันต่อมา เมื่อถึงรอบการตรวจของเรือนจำ ปรากฏว่าแบงค์ตรวจพบว่าติดโควิดจริง จากนั้นเพื่อนผู้ต้องขังร่วมห้องจึงทยอยตรวจพบว่าติดโควิดกันหลายราย โดยผู้ต้องขังคดีชุมนุมดินแดงในขณะนั้นที่ถูกคุมขังอยู่ในห้องเดียวกัน ติดโควิดทั้งสิ้น 6 ราย ได้แก่ ธีรวิทย์, ธนรัตน์, หนึ่ง, ใบบุญ, พุฒิพงศ์ และณัฐพล
ระหว่างเข้ารับการรักษาจากการติดเชื้อโควิด แบงค์ได้มีโอกาสเข้าพบแพทย์จิตเวชหลายครั้งด้วยกัน แม้จะหายจากการติดเชื้อโควิดแล้วแพทย์ก็ยังคงนัดติดตามและตรวจสุขภาพจิตของแบงค์อยู่เสมอ
เมื่อไม่นานมานี้แบงค์เข้ารับการตรวจสุขภาพจิตอีกครั้ง ซึ่งหมอชี้แจงว่า อาการความเครียด วิตกกังวล และเศร้าที่แบงค์เผชิญอยู่นั้นเข้าข่ายเป็น “ภาวะซึมเศร้า” และได้จ่ายยาหลายตัวให้แบงค์รับประทานเพื่อบรรเทาอาการ เป็นตัวยาจำพวกกล่อมประสาท ลดความรู้สึกเศร้า ระงับอารมณ์ คลายเครียด และยานอนหลับ