ประมวลข้อถกเถียงนักกฎหมาย โต้ข้อกำหนดศาล รธน. “ห้ามวิจารณ์โดยไม่สุจริตฯ”

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้พ้นจากสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีการถือหุ้นในบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนอย่างอื้ออึง หลายสำนักข่าวรวมทั้งผู้ใช้สื่อโซเชียลเอง ได้นำข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการ “การห้ามวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัย มิเช่นนั้นจะถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล” มาเผยแพร่และแชร์ในโลกออนไลน์ซ้ำอีก ซึ่งหากอ่านเพียงพาดหัวข่าวอาจทำให้ “เข้าใจผิด” ได้ว่ามีกฎหมาย “ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ” อยู่

โดยความเป็นจริงแล้ว ตัวข้อกำหนดดังกล่าวเอง ก็ไม่ได้ห้ามวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญหรือคำวินิจฉัยของศาลแต่อย่างใด แต่มีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ระบุไว้ว่าถ้าละเมิดแล้ว จะทำให้มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ได้แก่ การวิจารณ์โดยไม่สุจริต หรือใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี ปลุกปั่น ยุยง หรืออาฆาตมาดร้าย

ขณะเดียวกัน ตั้งแต่มีบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และมีข้อกำหนดของศาลดังกล่าวออกมา ในวงการนิติศาสตร์เองก็ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้อย่างแหลมคม ทั้งโดยนักวิชาการทางกฎหมายและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม โดยหลายคนเห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อหลักการเรื่องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลโดยทั่วไปเอง กระทั่งมีความพยายามฟ้องร้องศาลปกครองให้เพิกถอนข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้วด้วย

รายงานชิ้นนี้ประมวลข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นต่อประเด็นปัญหาเรื่องการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญเองที่เข้ามาใช้อำนาจตัดสินชี้ขาดประเด็นทางการเมืองอย่างเข้มข้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

 ภาพข้อความที่นิสิตชั้นปีที่ 1 สอบถามอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หลังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

.

ข้อกำหนดละเมิดอำนาจศาลรธน. ไม่เคยมีมาก่อน รธน. 60

แม้ในระบบกฎหมายไทย จะมีการบัญญัติเรื่องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไว้อยู่แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30-33 ซึ่งเป็นพื้นฐานให้การตั้งข้อหานี้ในศาลยุติธรรม  แต่สำหรับข้อหาเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญนั้น ไม่เคยมีบทบัญญัติไว้โดยตรงมาก่อน นับตั้งแต่มีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540  จนกระทั่งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 อันเป็นที่มาของการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2561

พ.ร.ป.ฉบับนี้เอง ที่เริ่มมีการบัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้เป็นครั้งแรก ในมาตรา 38 และ 39

“มาตรา 38 ศาลมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่เข้ามาหรือจะเข้ามาในที่ทำการศาล หรือบริเวณที่ทำการศาล หรือเข้าฟังการไต่สวนของศาล หรือในกรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อย และรวดเร็ว

ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดของศาลเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

การวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยคดีที่กระทำโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล”

ในส่วน[simple_tooltip content=’

มาตรา 39 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลหรือคำสั่งศาลตามมาตรา 38 ให้ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล และให้ศาลมีอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) ตักเตือน โดยจะมีคำตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้

(๒) ไล่ออกจากบริเวณศาล

(๓) ลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาเท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี

การสั่งลงโทษตาม (๓) ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของตุลาการทั้งหมด เท่าที่มีอยู่

ในการดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาลตาม (๓) ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญามาใช้บังคบด้วยโดยอนุโลม’]มาตรา 39[/simple_tooltip] เป็นการกำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลหรือคำสั่งศาลตามมาตรา 38 ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล โดยให้ศาลมีอำนาจกำหนดโทษได้ 3 ระดับ ได้แก่ การตักเตือน, การไล่ออกจากบริเวณศาล และการลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยส่วนการลงโทษจำคุกนี้ ศาลต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

ความในมาตรา 38 วรรคสอง ของพ.ร.ป.ฉบับนี้ ยังนำไปสู่การที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 และให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวัน นั่นคือมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

เนื้อหาที่ถูกไฮไลต์และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ตามมา คือในข้อ 10 และ ข้อ 11 ของข้อกำหนดนี้นี่เอง

ข้อ 10 ระบุว่า  “ห้ามมิให้ผู้ใดบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลหรือวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลโดยไม่สุจริต หรือใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี ปลุกปั่น ยุยง หรืออาฆาตมาดร้าย”

ส่วนข้อ 11 ได้กำหนดว่าผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดหรือคำสั่งในข้อ 10 ให้ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล ตาม พ.ร.ป. ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 39

 

ความจำเป็นต้องมีข้อหาละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ?

สำหรับ “คำอธิบาย” ถึงความจำเป็นต้องมีการบัญญัติข้อหาละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และออกข้อกำหนดของศาลดังกล่าวนั้น ทางศาลรัฐธรรมนูญเองก็ได้พยายามชี้แจงเอาไว้

ดังในเอกสารข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 62 ระบุเกี่ยวกับกรณีการวิพากษ์วิจารณ์การพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่อาจเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล โดยให้รายละเอียดของเนื้อหาตามมาตรา 38 พร้อมระบุว่าการบังคับใช้บทบัญญัติละเมิดอำนาจศาลมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่กรณี และให้กระบวนการพิจารณาคดีดำเนินต่อไปได้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งในบริเวณศาลและนอกศาล และป้องกันการประวิงคดีและการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่เกินขอบเขตและไม่สุจริต[i]

ขณะที่นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ก็เคยอภิปรายถึงความจำเป็นต้องมีบทบัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เหตุเพราะคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมีผลกระทบในวงกว้างที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะคู่ความในคดีเช่นศาลอื่น แต่ผูกพันองค์กรของรัฐอื่นๆ ด้วย  การบัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาล เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอิสระในการวินิจฉัยคดี ไม่ถูกข่มขู่ คุกคามให้เกรงกลัว และสามารถอำนวยความยุติซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงของระบบกฎหมายและการคุ้มครองหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ[ii]

 

คดีที่อานนท์ มาเม้า อาจารย์มธ. ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ขอเพิกถอนข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ 

.

ข้อกำหนดศาล รธน. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย: ข้อโต้แย้งจากวงการนิติศาสตร์

ทั้งเนื้อหาใน พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ และข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ยังนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมในวงกว้าง ขณะเดียวกันในแวดวงนิติศาสตร์ ก็ได้มีนักวิชาการทางกฎหมายและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เผยแพร่ความคิดเห็นโต้แย้งแนวคิดในการกำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และการออกข้อกำหนดในลักษณะนี้

ผู้นำเสนอข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่น่าสนใจ ได้แก่ อานนท์ มาเม้า รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กรณีของ รศ.อานนท์ มาเม้า ยังได้ดำเนินการยื่นคำฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนข้อ 10 และข้อ 11 ของข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เนื่องจากเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลปกครองไม่รับฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำประเภทหนึ่งขององค์กรฝ่ายตุลาการ ไม่ใช่เรื่องของการใช้อำนาจทางปกครอง ที่จะอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง[iii]

ทั้งจากข้อวิพากษ์วิจารณ์ของนักกฎหมาย และจากคำฟ้องของนักวิชาการทางนิติศาสตร์ท่านนี้ เราอาจพอประมวลข้อถกเถียงว่าทำไมข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการละเมิดอำนาจศาลถึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อหลักการได้ ดังต่อไปนี้

1.ข้อกำหนดศาล รธน. ขัดกับหลักการในความผิดฐาน “ละเมิดอำนาจศาล”

ตามหลักการทางกฎหมาย ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ถือว่าเป็น “ความผิดต่อศาล” เพราะเหตุที่เป็นการกระทำผิดที่กระทบกระเทือนต่อ “การดำเนินกระบวนพิจารณาและรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล” มีขึ้นเพื่อมุ่งคุ้มครองการพิจารณาคดีให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ป้องกันการขัดขวางหรือรบกวนการปฏิบัติหน้าที่ของศาลในการพิจารณาคดี การกระทำที่จะถือเป็นการละเมิดอำนาจศาลจึงต้องเป็นการกระทำในบริเวณศาล หากเป็นการกระทำภายนอกศาล ก็ต้องเกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบกับการพิจารณาคดีที่ดำเนินอยู่ในศาล

ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด[iv] ได้ชี้ให้เห็นว่าตามคำพิพากษาศาลฎีกาไทย มีแนวการพิจารณาเรื่องการละเมิดอำนาจ ว่าต้องเป็นการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล หรือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล หากเป็นการกระทำภายนอกบริเวณศาลต้องมีความชัดเจนว่าการกระทำนั้นจะส่งผลกระทบกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาล เช่น การเอาเงินไปให้ผู้พิพากษาเพื่อเป็นอามิสสินจ้างในการดำเนินคดี, การสับเปลี่ยนผู้ต้องหา เป็นต้น

ข้อกำหนดข้อที่ 10 ของศาลรัฐธรรมนูญนั้น จึงเป็นการบัญญัติที่ไม่เป็นไปตามหลักการและแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาเรื่องละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากใช้บังคับรวมไปถึงการกระทำอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในการพิจารณาคดีในศาล หรือบริเวณที่ทำการศาล และที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลด้วย

ในส่วนข้อกำหนดข้อ 10 ที่ใช้บังคับกับการบิดเบือนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาล หรือการวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาล ซึ่งได้มีการชี้ขาดตัดสินคดีไปแล้วนั้น ย่อมไม่มีกรณีของการกระทำที่จะส่งผลกระทบกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาล อันจะถือเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้อีกต่อไป เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุดเด็ดขาด ไม่มีการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา

ขณะเดียวกัน แนวโน้มการบัญญัติตัวบท ที่ขัดกับหลักเรื่องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น ยังเกิดขึ้นภายใต้บริบทการตีความและใช้ข้อหานี้อย่างขยายความขึ้นในวงการตุลาการไทย โดยเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่าปกติข้อหาละเมิดอำนาจศาลมีเพื่อคุ้มครองกระบวนพิจารณาและรักษาความสงบเรียบร้อยในศาล แต่ในช่วง 2-3 ปี หลัง มีการขยายการตีความใช้ข้อหานี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในลักษณะการแสดงออกในทางวิพากษ์วิจารณ์ศาล เช่น ทำกิจกรรมหน้าศาล ถูกตีความว่าเป็นการกดดันหรือไม่เคารพศาล หรือการไปมองหน้าศาล ด้วยท่าทีที่ไม่เคารพ ก็ถูกตั้งเรื่องพิจารณาละเมิดอำนาจศาลด้วย เป็นต้น[v]

 

2. ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของบทบัญญัติใน พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ

จากทั้งบทความและคำฟ้องของอานนท์ มาเม้า[vi] เห็นว่ามาตรา 38 วรรคสอง ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ เป็นบทบัญญัติที่เป็นบ่อเกิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการออกข้อกำหนด ในวรรคนี้ส่วนท้าย ได้กำชับว่าข้อกำหนดที่จะออกนั้นต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล การออกข้อกำหนดใดๆ จึงต้องอยู่ทั้งภายใต้กรอบของมาตรา 38 วรรคสอง ส่วนท้าย และวรรคหนึ่งด้วย

ข้อกำหนดซึ่งมาตรา 38 ให้อำนาจไว้นี้ เป็นเครื่องมือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยใน “การพิจารณาคดี” ข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่สามารถออกมาบังคับกับการกระทำของบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดี หรือที่ยังไม่ปรากฏเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา หรือที่เป็นคดีซึ่งการพิจารณาของศาลได้จบลงแล้วได้แต่อย่างใด

ข้อกำหนดที่ศาลออกบังคับใช้โดยมิได้เป็นไปเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยในการพิจารณาคดี จึงย่อมเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์การออกตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง  

อานนท์ยังยกตัวอย่างถึงข้อกำหนดที่ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ถ้อยคำหยาบคายวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัย ว่าแม้การใช้ถ้อยคำลักษณะนั้นเป็นเรื่องไม่เหมาะสมอยู่แล้ว แต่การบังคับมิให้ผู้ใดใช้ถ้อยคำหยาบคายดังกล่าว โดยอาศัยข้อกำหนดศาลเป็นการบังคับกับการกระทำของบุคคลที่เกิดขึ้นภายหลังการพิจารณาคดี เพราะเหตุว่าการพิจารณาคดีได้ยุติลงจนปรากฏออกกมาเป็นคำวินิจฉัยแล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์การออกข้อกำหนดตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง

ด้านอัยการธนกฤต ก็เห็นว่าข้อกำหนดในข้อ 10 ที่ออกโดยศาลรัฐธรรมนูญนี้ น่าจะเกินเลยไปจากที่มาตรา 38 วรรคหนึ่งและสอง ของพ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้เช่นกัน

ภาพจาก ispacethailand

.

3. ไม่สามารถตีความ วรรคสาม ของมาตรา 38 แห่งพ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ ในทางกลับกันได้

ในวรรคสามของมาตรา 38 นั้น กำหนดเรื่อง “การวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยคดีที่กระทำโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล”

ทั้งอานนท์และธนกฤตต่างเห็นว่าการนำบทบัญญัติดังกล่าวมาตีความในทางกลับกัน หรือตีความในทางตรงกันข้าม เพื่อออกข้อกำหนด สร้างเป็นความผิดแก่บุคคลในเรื่องละเมิดอำนาจศาล จะกระทำมิได้ เพราะขัดแย้งกับหลักเกณฑ์เรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้เฉพาะในมาตรา 38 วรรคหนึ่ง และวรรคสองเท่านั้น

นอกจากนั้นการตีความในทางตรงกันข้าม ตามที่บัญญัติไว้ในข้อกำหนดข้อที่ 10 ยังเป็นการขัดต่อหลักการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ที่ต้องเป็นไปเฉพาะเท่าที่มีกฎหมายบัญญัติอย่างชัดแจ้ง และจำต้องใช้และตีความอย่างเคร่งครัด

อานนท์ยังพิเคราะห์ไว้ในบทความเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่า การบัญญัติมาตรา 38 วรรคสาม ว่าผู้ร่างกฎหมายน่าจะสับสนและไม่แม่นยำเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และความผิดฐานดูหมิ่นศาล ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน การบัญญัติวรรคนี้โดยการกล่าวถึงกรณีวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องห้าม ขึ้นมาลอยๆ แล้วกำหนดว่าไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ย่อมเป็นการร่างกฎหมายที่เอาความคิดเรื่อง “ความผิดฐานดูหมิ่นศาล” เข้าไปปะปน[vii]

 

4. มีกฎหมายคุ้มครอง “การดูหมิ่นศาล” อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว

ส่วนข้อกล่าวอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีเครื่องมือในการปกป้องตนเอง คุ้มครองความมีอิสระในการวินิจฉัยคดี ไม่ให้ถูกข่มขู่ คุกคามให้เกรงกลัวนั้น นักกฎหมายหลายคนต่างเห็นว่าในระบบกฎหมายไทย ยังมีกลไกความผิดฐาน “ดูหมิ่นศาล” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 ซึ่งสามารถจะนำมาบังคับใช้ได้ หากถือว่าเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดีได้

ข้อหา “ดูหมิ่นศาล” นั้น มีลักษณะเป็นการกำหนดความผิดต่อผู้ดูหมิ่นเกียรติของผู้ที่ทำหน้าที่ตุลาการ หรือขัดขวางการใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งถูกกำหนดเป็นความผิดทางอาญา ต้องดำเนินการเอาผิดตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั่วไป มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ มีการพิจารณาทำความเห็นในชั้นสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการ และมีการสั่งฟ้องต่อศาล พร้อมพิจารณาต่อหน้าโจทก์และจำเลย

ในขณะที่ข้อหา “ละเมิดอำนาจศาล” ถูกกำหนดให้เป็น “อำนาจของศาลโดยเฉพาะ” ไม่อาจมีบุคคลใดอ้างสิทธิเป็นผู้เสียหายจากการละเมิดอำนาจศาลได้ ศาลที่พบเห็นการกระทำที่จะกระทบต่อความสงบเรียบร้อยภายในศาล สามารถตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล พร้อมพิพากษาลงโทษเองได้ โดยไม่ต้องมีการไต่สวนก็ได้ หรือหากไม่ได้กระทำต่อหน้าศาล ศาลก็สามารถตั้งเรื่องไต่สวนหาข้อเท็จจริงได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องกระทำต่อหน้าจำเลย

ทั้งในบทบัญญัติวรรคสาม ของมาตรา 38 แห่งพ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ และในข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญข้อที่ 10 จึงมีลักษณะปะปนกันระหว่างหลักการความผิดเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล และการดูหมิ่นศาล

 

รายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน

 

5. การพิจารณาคดีผู้ถูกกล่าวหาละเมิดอำนาจศาล อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องขาดความเป็นกลาง

จากกระบวนการพิจารณาข้อหาละเมิดอำนาจศาล ที่ศาลสามารถตั้งเรื่องพิจารณาเอง และพิพากษาลงโทษเองได้ นำไปสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการการขาดความเป็นกลางในการดำเนินคดี องค์คณะที่ตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลเพื่อพิจารณาพิพากษาเอง อาจถูกมองว่ามีสถานะเป็นคู่กรณีพิพาทกับผู้ถูกกล่าวหา และมีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องที่กำลังพิจารณาลงโทษ

ในกรณีการละเมิดอำนาจศาลในศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง สามารถหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้ โดยการที่ศาลอาจจะตั้งองค์คณะอีกองค์คณะหนึ่งที่ไม่ได้เป็นผู้ตั้งเรื่อง ให้ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาเป็นอีกคดีต่างหากก็ได้ เพราะจำนวนผู้พิพากษาและตุลาการในศาลมีอยู่เป็นจำนวนมากพอ

แต่ในกรณีของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีสภาพของจำนวนตุลาการที่ต่างจากศาลอื่น คือมีจำนวนตุลาการอยู่ 9 คน ตามกฎหมาย และองค์คณะหนึ่งของศาลต้องมีอย่างน้อย 7 คน การที่จะตั้งองค์คณะใหม่ขึ้นพิจารณาพิพากษาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีตุลาการคนที่อยู่ในองค์คณะที่ถูกละเมิดอำนาจเลย จึงเป็นไปไม่ได้ การพิจารณาข้อหานี้ในศาลรัฐธรรมนูญจึงอยู่ในสภาพที่ตุลาการที่ตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลเอง จะเป็นผู้พิจารณาและพิพากษาลงโทษเอง[viii]

 

6. ข้อกำหนดของศาล รธน. ไม่ได้เหมือนกับบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลในศาลปกครอง

ในบทความของอานนท์ มาเม้า ยังชี้อีกประเด็นสำคัญหนึ่ง ที่นักกฎหมายบางคนเห็นว่าในวรรคสาม ของมาตรา 38 แห่งพ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มีต้นฉบับมาจากพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 65 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดวิจารณ์การพิจารณาหรือการพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยสุจริตด้วยวิธีการทางวิชาการ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล หรือดูหมิ่นศาล หรือตุลาการ”

แต่อานนท์เห็นว่าหากพิจารณามาตรา 65 จะพบว่าบทบัญญัตินี้ พูดถึงการวิจารณ์ต่อ “การพิจารณาคดี” และ “การพิพากษาคดี” ซึ่งการวิจารณ์การพิจารณาคดี อาจเป็นกรณีการวิจารณ์การพิจารณาคดีที่ยังไม่สิ้นสุด ซึ่งอาจเป็นความผิดได้ทั้งฐานละเมิดอำนาจศาลและดูหมิ่นศาล หรือกรณีการวิจารณ์การพิจารณาคดีภายหลังจากที่คดียุติออกจากศาลไปแล้ว ก็อาจเป็นได้เฉพาะความผิดฐานดูหมิ่นศาล บทบัญญัตินี้จึงกวาดทั้งกรณี “ความผิดฐานละเมิดอำนาจและดูหมิ่นศาล” ไว้ด้วยกัน ว่าไม่เป็นความผิดหากการวิจารณ์เป็นไปโดยสุจริตตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในขณะที่มาตรา 38 วรรคสาม ชองพ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ บัญญัติถึงการวิจารณ์ต่อ “คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ” กับ “คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ” มิใช่บัญญัติถึงการวิจารณ์ต่อ “การพิจารณาคดี” หรือ “การวินิจฉัยคดี” ของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ทั้งยังไม่ได้ระบุเฉพาะว่าไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาลด้วยแต่อย่างใด บทบัญญัติในวรรคนี้จึงเป็นไปแบบ “ขาดๆ หาย” หรือ “หัวมังกุ ท้ายมังกร”[ix]

 

7. การวิพากษ์วิจารณ์ศาลไม่จำเป็นต้องในทางวิชาการ แต่ “ชาวบ้าน” ก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้

อีกข้อถกเถียงหนึ่ง ที่แม้ไม่ได้สัมพันธ์กับตัวบทเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่เกี่ยวข้องกับแนวทางการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อการใช้อำนาจศาลโดยภาพรวม คือบุคลากรของศาลเอง มักจะย้ำว่าการวิพากษ์วิจารณ์ศาลสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เห็นว่าแนวทางดังกล่าวจำกัดให้การวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นได้เฉพาะนักวิชาการ ซึ่งเป็นคนจำนวนน้อย ทำให้ประชาชนทั่วไปหรือคนที่ไม่ได้เรียนมาทางนิติศาสตร์ไม่สามารถวิจารณ์ได้ แม้แต่กรณีของสฤณี อาชวานันทกุล ที่เขียนงานด้วยภาษากึ่งวิชาการ ก็ยังสามารถถูกตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลได้ ในมุมมองของเข็มทอง การเปิดให้ทุกคนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ทั้งนักวิชาการ คอลัมนิสต์ และคนทั่วๆ ไป เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ศาลสามารถยึดโยงกับประชาชนได้ สร้างช่องทางให้ความคิดเห็นจากประชาชนสะท้อนไปยังศาลได้[x]

ภาพจาก Workpoint News

 

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า คาบเกี่ยวกับที่ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 จะมีผลบังคับใช้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ “เชิญ” รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ และยุทธเลิศ สิสปภาค ผู้กำกับภาพยนตร์ ไปพบและชี้แจงกับเลขาธิการสำนักงานศาล หลังจากทวิตข้อความวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ[xi] โดยไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญอาศัยอำนาจตามกฎหมายใดในการดำเนินการดังกล่าว โดยไม่ได้มีการตั้งเรื่องหรือดำเนินคดีเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด หลังจากนั้น ผู้ถูกเชิญทั้งสองคนจึงได้ออกมาขอโทษการแสดงความคิดเห็นที่เกิดขึ้น

การดำเนินการที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดคำถามว่านอกจากการดำเนินคดีละเมิดศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ศาลรัฐธรรมนูญมีการติดตามการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และสามารถ “ใช้อำนาจ” ที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นไปตามบทบัญญัติใด มาดำเนินการให้บุคคลไปชี้แจงการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวได้หรือไม่ และหากไม่ไปแล้วจะมีความผิดหรือไม่

การใช้อำนาจในลักษณะนี้ และการตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่อาจมีขึ้นในระยะต่อไป จึงยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามจับตาต่อไป

 

—————————————————————- 

[i] มติชนออนไลน์ (25 กรกฎาคม 2562) “ศาลรธน.ร่อนเอกสาร เตือน วิจารณ์คำวินิจฉัยศาล ต้องสุจริต อย่าเสียดสี ฝ่าฝืนติดคุกได้” ใน https://www.matichon.co.th/politics/news_1597391

[ii] ผู้จัดการออนไลน์ (10 กรกฎาคม 2562) “ศาล รธน.ระบุกำหนดบทละเมิดอำนาจศาลฯ เหตุคำวินิจฉัยมีผลกระทบวงกว้าง” ใน https://mgronline.com/politics/detail/9620000065795

[iii] ดูใน The Standard (21 ตุลาคม 2562) “ศาลปกครองไม่รับคำฟ้องอาจารย์ มธ. ปมศาล รธน. ออกข้อกำหนดละเมิดอำนาจศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ใน https://thestandard.co/law-protects-constitutional-court-from-criticism/

[iv] มติชนออนไลน์ (21 กันยายน 2562) “ติง ‘ปม’ วิจารณ์คำสั่งศาล รธน.ผิด ชี้คดีละเมิดมีหลักการรักษาความเรียบร้อยศาล ใช้กฎหมายระวังกระทบสิทธิ” ใน https://www.matichon.co.th/local/crime/news_1679837

[v] ดูใน The Matter (7 กันยายน 2562) “จะยุติธรรมได้ควรรับฟังผู้อื่นด้วย คุยเรื่องคดีละเมิดอำนาจศาล กับ อ.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง” ใน https://thematter.co/social/talk-with-khemthong-tonsakulrungruang/84558

[vi] บทความ “ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” โดย รศ.อานนท์ มาเม้า ลงพิมพ์ใน “นันทวัฒนาจาริยบูชา” หนังสือครบรอบ 60 ปี ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ตีพิมพ์ปี 2561 ดาวน์โหลดไฟล์บทความได้ใน https://bit.ly/37Bx75a และดูรายละเอียดการฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งรศ.อานนท์ มาเม้า เผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยตั้งค่าเป็นสาธารณะใน https://www.facebook.com/arnon.mamout/posts/10217692159527459

[vii] บทความ “ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” โดย ผศ.อานนท์ มาเม้า หน้า 26

[viii] อ้างแล้วใน vii, หน้า 33

[ix] อ้างแล้วใน vii, หน้า 27

[x] อ้างแล้วใน v

[xi] ดูใน ข่าวสดออนไลน์ (11 ตุลาคม 2562) “ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ “พ่อจอห์น วิญญู” ขอโทษ พร้อมเยียวยา ป้องกันคนเข้าใจผิด” ใน https://www.khaosod.co.th/politics/news_2964619 และ มติชนออนไลน์ (28 ตุลาคม 2562) ““ต้อม ยุทธเลิศ” ขอโทษศาลรัฐธรรมนูญ หลังวิจารณ์ ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม” ใน https://www.matichon.co.th/politics/news_1730662

 

X