“หากต้องกลับเข้าไป ครอบครัวผมก็จะยิ่งลำบากขึ้นไปอีก” : คุยกับ “ต้อม จตุพล” 4 พล (เมือง) ดินแดง ก่อนฟังคำพิพากษา

คุยกับ “ต้อม” จตุพล นักกิจกรรมกลุ่มทะลุแก๊สวัย 19 ปี ซึ่งถูกดำเนินคดีจากกรณีทุบและเผารถยนต์ตำรวจ สน.ดินแดง หลังเหตุการณ์ชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 และถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีเป็นระยะเวลากว่า 8 เดือน ก่อนศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 ส.ค. 2566

ในคดีนี้ ต้อมถูกกล่าวหาร่วมกับผู้ชุมนุมอีก 3 รายคือ “อาร์ม” วัชรพล, “เก่ง” พลพล, และ “แบงค์” ณัฐพล ใน 5 ข้อหา ได้แก่ 1. ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น 2. ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ 3. ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง 4. ไม่เลิกชุมนุมมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน 5. ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 ชุดจับกุมซึ่งเป็นตำรวจสืบสวนจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 จำนวน 5 นาย 

ได้ร่วมกันทำการจับกุม “ต้อม” จตุพล (ขณะเกิดเหตุอายุ 18 ปี) ตามหมายจับของศาลอาญา

ชุดจับกุมได้ควบคุมตัวต้อมบริเวณแยกสุคนธสวัสดิ์ ไปทำบันทึกจับกุมที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ภายในสโมสรตำรวจ โดยหลังจากที่ทนายความเดินทางไปถึง บช.ปส. เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยินยอมให้เข้าพบต้อมในชั้นการทำบันทึกจับกุม และได้ทำการยึดโทรศัพท์ของต้อมไปตั้งแต่ควบคุมตัว โดยตำรวจบอกให้รอเข้าพบผู้ถูกจับในชั้นสอบปากคำแทน 

เป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมงที่ทนายความไม่สามารถเข้าถึงตัวต้อมได้ เนื่องจากตำรวจอ้างว่ายังทำบันทึกจับกุมไม่แล้วเสร็จ และไม่ยอมให้ใครเข้าถึงตัวผู้ถูกจับกุม

เมื่อทนายความได้เข้าถึงตัวผู้ถูกจับกุม ต้อมได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ใน 5 ข้อกล่าวหา เช่นเดียวกับผู้ถูกดำเนินคดีอีก 3 รายก่อนหน้านี้ โดยต้อมได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ภายหลังการสอบสวน เขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บช.ปส. อีก 1 คืน

ต่อมาในวันที่ 16 มิ.ย. 2565 เวลา 13.00 น. หลังศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขังตามคำขอของพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง และมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้ต้อมต้องถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

ระหว่างที่ถูกคุมขัง ต้อมได้ร่วมปฏิบัติการอดนอน หรือ “ฝืนตื่นประท้วง” ร่วมกับ “เก็ท” โสภณ และ “แบงค์” ณัฐพล เพื่อประท้วงให้คืนสิทธิประกันตัว โดยมีเจตจำนงเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของตะวัน แบม และสิทธิโชค ซึ่งอดอาหารประท้วงในช่วงนั้น รวมถึงเรียกร้องเพิ่มเติมให้ศาลสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีผู้ต้องขังในคดีการเมืองคนใดถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมอีกในอนาคต 

ต้อมได้ทำการประท้วงโดยการอดนานเป็นระยะเวลาเกือบสัปดาห์ ก่อนจะยุติการประท้วงไป เพื่อหันมาดูแลเพื่อนคนอื่นที่ยังยืนยันจะอดนอนต่อ

หลังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีกว่า 8 เดือน ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวต้อมพร้อมกับเพื่อน ๆ ในวันที่ 17 ก.พ. 2566 พร้อมกับมีเงื่อนไขให้ติดกำไล EM

ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเปราะบางหลังออกจากเรือนจำ

 “ออกมา 2 อาทิตย์ ผมไม่มีงานทำเลยพี่ รายได้ก็ไม่มีเลย แล้วพอผมออกมาได้ 2 อาทิตย์ ยายผมก็ป่วย ทางบ้านก็มีเรื่องต้องใช้เงิน ผมก็ไม่มีเงินเลย เพราะว่าค่าใช้จ่ายสำรอง ผมเอาไปจ่ายในเรือนจำหมดแล้ว”

ต้อมเล่าต่ออีกว่า หนึ่งในเงื่อนไขการประกันตัวที่ต้องติดเครื่องติดตามตัว หรือกำไล EM ไว้ตลอดเวลา เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เขาหางานยากเข้าไปอีก เพราะเขาเกือบจะได้ทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในสถานที่แห่งหนึ่งแล้ว แต่หัวหน้างานเห็นกำไล EM ที่ขาของเขาตอนเขาเปลี่ยนเสื้อผ้า จึงตัดสินใจไม่รับเขาเข้าทำงาน

หลังจากไม่มีงานทำอยู่ 2-3 อาทิตย์ สุดท้ายต้อมก็ได้งานพาร์ทไทม์ ซึ่งได้ค่าแรงวันละ 250-300 บาท แต่งานก็ไม่ได้มีให้ทำทุกวัน บางวันก็มี บางวันก็ไม่มี ดังนั้น อีกหนึ่งอาชีพที่ต้อมเลือกทำเพื่อที่จะหาเลี้ยงชีพก็คือการเป็นคนขับรถส่งผู้โดยสารอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์รายหนึ่ง ซึ่งรายได้ก็ไม่ค่อยดี เพราะทั้งค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ พอหักลบแล้วก็แทบไม่เหลืออะไร

 “ทะลุแก๊ส” พลเมืองชั้น 2 ในกระบวนการยุติธรรมไทย 

เมื่อถามถึงปัญหาที่ต้อมต้องเจอในกระบวนการยุติธรรมของไทย ต้อมกล่าวว่า อย่างแรกเลยคือสิทธิการประกันตัว ควรมีการให้ประกันก่อนเพราะพวกเขายังไม่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิด สิทธิการประกันตัวจึงเป็นสิ่งที่พวกเขาควรจะได้รับอย่างชอบธรรม แต่ศาลกลับนำพวกเขาไปขังระหว่างพิจารณาคดีถึง 8 เดือน 

“ฝากขังไปเพื่ออะไร ฝากขังไปแล้วผมต้องสู้คดี หาหลักฐาน พอผมออกมาหลักฐานมันก็หาย แล้วผมจะสู้คดียังไง…”

นอกจากนี้ ต้อมยังอยากฝากถึงเรื่องอาหารในเรือนจำ ซึ่งเขากล่าวว่า อาหารที่ให้ผู้ถูกคุมขังกินควรจะมีคุณภาพกว่านี้ “อยากให้พวกเขาได้กินของดี ของที่มีประโยชน์ เพราะบางคนไม่มีกินจริง ๆ ก็ต้องกินข้าวหลวง ก็ควรให้เขาได้กินดี ๆ หน่อย ไม่ใช่แบบ กินอะไรก็ไม่รู้ ไม่มีอะไรเลย”

อีกเรื่องที่ต้อมมองว่าเป็นปัญหาคือ การมีอคติต่อผู้ชุมนุมกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” ซึ่งส่งผลต่อวิธีการปฏิบัติที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีต่อเขาและเพื่อนคนอื่น ๆ ต้อมเล่าว่าผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊สเหมือนเป็นพลเมืองชั้น 2 เป็นกลุ่มที่ไม่มีใครชอบ และมักจะถูกตีตราว่าไปก่อนแล้วว่าเป็นคนทำผิด ทั้ง ๆ ที่พวกเขายังไม่ถูกพิพากษาเลยด้วยซ้ำ ซึ่งต้อมเชื่อว่านี่เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาและเพื่อน ๆ ไม่ได้รับการประกันตัวสักที

การประท้วงอดนอนของเขาและเพื่อน ๆ จึงเป็นวิธีการเรียกร้องวิธีสุดท้ายที่พวกเขาจะสามารถทำได้เพื่อเรียกร้องสิทธิของพวกเขาคืนมา

“ซึ่งก็โอเคครับที่สิ่งที่เราทำมันสำเร็จ แต่ว่าผมก็ยังขอบคุณพี่ตะวัน ถ้าผมไม่ได้พี่ตะวัน พี่แบม ผมก็คงยังไม่ได้ออกมา เพราะว่าเขาก็สู้จนเขาเข้าโรงพยาบาล เขาไม่กลัวตายจริง ถ้าผมไม่ได้ 2 คนนั้น ผมก็ไม่ได้ออก แล้วก็ขอบคุณพี่เก็ทด้วย คือแบบตอนอยู่ข้างในก็ดูแลผมดีอะไรดีตลอด”

หวังให้ศาลตัดสินอย่างเป็นธรรม ชี้ ที่ต้องออกมาเพราะไม่เห็นหนทางอื่นอีกแล้ว

เมื่อถามถึงเรื่องความกังวลในคดี ต้อมเล่าว่า หากเขาต้องกลับเข้าไปในเรือนจำอีกครั้ง ครอบครัวเขาก็คงจะลำบากมากขึ้นไปอีก เพราะว่าเขาเป็นเสาหลักของครอบครัว ถ้าเขาทำงานไม่ได้ ที่บ้านก็จะขาดรายได้ตรงนี้

นอกจากนี้ต้อมยังเพิ่งออกรถมอเตอร์ไซต์คันใหม่ หากเขาต้องกลับเข้าคุกอีกครั้ง รถของเขาก็จะโดนยึด  เพราะไม่สามารถผ่อนชำระได้ ดังนั้นต้อมจึงมีความหวังว่าเขาจะได้รับการพิพากษาอย่างเป็นธรรม เพราะหากต้องกลับเข้าไปจริง ๆ ต้อมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าชีวิตเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักที่ทำให้ต้อมและเพื่อน ๆ ต้องออกมาชุมนุม เป็นเพราะความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะการจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพ ส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือเพื่อนสนิทของต้อมที่ต้องเสียชีวิตกะทันหันจากการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่รัฐบาลกลับไม่แสดงท่าทีที่จะรับผิดชอบอะไรเลย 

มิหนำซ้ำสภาพเศรษฐกิจที่มีแต่จะย่ำแย่ลงไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้ชีวิตของพวกเขายากลำบากมากขึ้นไปอีก โดยหลายคนต้องตกงาน หลายคนหมดตัว เป็นหนี้ โดนยึดบ้าน ยึดรถ ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้  การออกมาส่งเสียงเรียกร้องของพวกเขาจึงเป็นวิธีเดียวที่คิดว่าสามารถทำได้ เพราะไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครได้แล้ว

“ที่ผมต้องออกมาก็เพราะเรื่องปากท้อง แค่อยากให้ครอบครัวมีชีวิตที่ดี…”

“ผมเชื่อว่า หากเศรษฐกิจมันดี ทุกอย่างมันก็จะดีครับ ถูกไหมครับ ก็ดูต่างประเทศดิครับ อย่างญี่ปุ่น เราลองเปรียบเทียบดูนะ ญี่ปุ่น อัตรารายได้ของเขาชั่วโมงหนึ่ง 450 เยอะกว่าเรา แล้วดูของเรา 12 ชั่วโมง 350-450 แล้วของเขาชั่วโมงละ 450 มันต่างกันครับ ดังนั้นผมคิดว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ เลย

“ผมไปส่งลูกค้า แล้วผมเห็นมันเป็นม็อบชาวนา นอนอยู่ข้างวัดครับ เป็นแบบม็อบเล็ก ๆ แบบนอนกันเต็มเลย ผมก็สงสาร บางคนไม่มีมุ้ง คือเขาเรียกร้องเรื่องที่ดินครับ เค้าก็มาประท้วงเรื่องปากท้อง เรื่องการทำมาหากินของเขา ไม่มีอันนี้เขาก็ทำไม่ได้”

“ก็เหมือนผม ที่ผมออกมาก็เพราะเรื่องปากท้อง คืออยากให้แบบครอบครัวของเรามีกินมีอยู่ ไม่ใช่แบบต้องมาตกงาน หมดตัว เป็นหนี้ รถโดนยึดเพราะส่งไม่ทัน ผมว่ามันไม่ใช่” ต้อมสรุปทิ้งท้ายถึงความคาดหวังของเขา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

อย่าลืม 4 พล (เมือง) ดินแดง: “จตุพล” ดิ้นรนทำงานตั้งแต่อายุ 12 โผล่ม็อบประท้วงรัฐบาล หลังเพื่อนตายจากวัคซีนโควิด ซ้ำไร้การเยียวยาจากรัฐ

X