“ผมจะสู้จนกว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ถ้าวันไหนชนะขึ้นมาก็คือวันนั้นที่ผมหยุด”: คุยกับ ‘เก่ง พลพล’ 4 พล (เมือง) ดินแดง ก่อนวันพิพากษา

TW : Suicide / Self – harm

“เก่ง พลพล” นักกิจกรรมกลุ่มทะลุแก๊ส วัย 21 ปี เป็นหนึ่งในสี่ผู้ถูกดำเนินคดีจากเหตุที่มีรถยนต์กระบะตำรวจเกิดเพลิงไหม้ หลังจากที่เข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ11มิถุนา65 หรือ #ราษฎรเดินไล่ตู่ ที่บริเวณแยกดินแดง โดยหลังจากนั้น เก่งถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีนานถึง 8 เดือน ชวนรับฟังเรื่องราวของเก่งก่อนศาลจะพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 30 ส.ค. 2566 ที่จะถึงนี้

วันที่ 16 มิ.ย. 2565 เก่งเข้าไปแสดงตัวกับตำรวจ หลังทราบว่าเพื่อนๆ ที่ไปร่วมชุมนุมของเขาถูกออกหมายจับ แต่ไม่พบว่ามีการออกหมายจับเก่ง หากตำรวจก็ยังแจ้งข้อกล่าวหาต่อเขา แม้ไม่ได้ควบคุมตัวไว้ แต่เช้าวันต่อมาตำรวจก็นัดเก่งไปขอฝากขัง และศาลอาญาก็ไม่ให้ประกันตัวเขา เก่งจึงถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ยาวมาจนกระทั่งวันที่ 17 ก.พ. 2566 จึงได้รับประกันตัว รวมแล้วทั้งสิ้น 245 วัน  (17 มิ.ย. 2565 – 17 ก.พ. 2566) หรือกว่า 8 เดือน 

คดีนี้ ‘เก่ง พลพล’ ถูกตั้งข้อกล่าวหาร่วมกับผู้ชุมนุมอีก 3 คน ได้แก่ ‘อาร์ม วัชรพล’, ‘ต้อม จตุพล’ และ ‘แบงค์ ณัฐพล’ รวมทั้งสิ้น 5 ข้อหา ได้แก่ 1. ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น 2. ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ 3. ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง 4. ไม่เลิกชุมนุมมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน 5. ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

ย้อนไปเมื่อวันที่ ‘เก่ง’ เข้าไปมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ “ของผมไม่ได้มีหมายจับ ตอนนั้นก็บอกพี่ไปว่าถ้ามีรายชื่อผมก็บอกด้วย ผมไม่หนี ผมจะเข้าไป พอเขาโทรมาบอกว่ามีรายชื่อผมอยู่ ผมก็เลยเลือกเข้าไปมอบตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าเราไม่หนี เราไม่ใช่คนทำอยู่แล้ว 

“ผมก็ตกใจนะที่สุดท้ายแล้วคืนนั้นก็โดนแจ้งข้อหาจริงๆ แต่ก็ได้กลับมานอนที่บ้านคืนนึง เขานัดผมมาอีกในเช้าวันต่อมา แล้วเย็นวันนั้นก็เข้าเรือนจำเลยแบบที่ไม่ได้ตั้งตัวมาก่อน” เก่งเล่าเหตุการณ์วันนั้นให้ฟัง

“ตอนเข้าไปในเรือนจำผมทำใจไม่ได้ คือผมไม่เคยมีประวัติ ไม่เคยมีคดี แต่เรามาโดนคดีทั้งๆ ที่ไม่ใช่คนก่อเหตุ มันก็เลยทำให้ผมเครียดหลายอย่าง เมื่อก่อนผมเคยเกเร แล้วครั้งนี้ผมคิดว่าผมทำพลาดครั้งใหญ่ ครอบครัวคงไม่เอาเราแล้ว ความคิดฟุ้งๆ ในหัวว่าอยากไปให้มันจบๆ ก็เกิดขึ้นมา วันนั้นก็เลยกินยาพาราไป 60 กว่าเม็ด เพื่อหวังว่าจะไปเลย” 

ย้อนอ่านสถานการณ์ของเก่ง “ผมเป็นผู้บริสุทธิ์” – นาทีชีวิตจากปาก ‘พลพล ทะลุแก๊ส’ หลังพยายามฆ่าตัวตายในคุกประท้วงศาลสั่งไม่ให้ประกัน

“พลพล ทะลุแก๊ส” พยายามกินยาฆ่าตัวตายในคุก ก่อนถูกส่งล้างท้อง จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม

“คือคิดว่าเราจะได้กลับบ้าน เลยไม่ได้บอกพ่อแม่ไว้ พอรู้ตัวอีกทีว่าไม่ได้ประกันตัว ก็โทรฝากพี่กับน้องไปบอกพ่อ.. ตอนแรกไม่ได้คุยกับพ่อแม่เลย ได้มาคุยอีกทีก็ตอนที่ผมกินยาเข้าโรงพยาบาลไปแล้ว ผมดีใจนะที่เขามาหา มันทำให้ผมรู้ว่าถึงผมจะเป็นยังไง เขาก็ไม่ได้ทิ้งผม ตอนผมอยู่ในเรือนจำ เขาก็มาเยี่ยมผมตลอด”

“ปลอบใจตัวเองตลอดว่าอีกแป๊บเดียวก็ได้กลับบ้านแล้ว..ผมพูดมันตลอด”

“หลังจากที่พ่อมาหาผม ก็สภาพจิตใจดีขึ้น แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมดเพราะเรายังอยู่ในเรือนจำ มันกดดัน ตอนอยู่ข้างนอกเราใช้ชีวิตแบบไหน แต่พอเข้ามาอยู่ในเรือนจำแล้วมันทำใจไม่ได้ ผมนอนร้องไห้อยู่ประมาณ 3 เดือนกว่าจะทำใจอยู่ในนั้นได้บ้าง เพื่อนที่อยู่ด้วยกันข้างในก็พยายามเล่นกัน หาเรื่องคุยกันไม่ให้ผมเครียด เพราะผมเป็นคนที่เครียดมากกว่าคนอื่นตอนอยู่ในนั้น ก็จะพูดปลอบใจตัวเองตลอดว่าอีกแป๊บเดียวก็ได้กลับบ้านแล้ว…พูดตลอด”

คดีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่คนถูกฝากขังตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2565 เรื่อยมา แม้ญาติและทนายความยื่นขอประกันตัวมากถึง 18 ครั้ง (รวมการยื่นอุทธรณ์คำสั่ง) ทั้งสี่คนก็ยังไม่ได้ประกันตัวออกมา 

“มันก็หดหู่ พอเป็นคดีอื่นเขายื่นประกันแล้วก็ได้ แต่พอเป็นคดีเรากลับไม่ได้ประกัน ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เป็นคนทำผิด ผมก็คิดว่าถูกเอามาแกล้งหรือเปล่า เพราะเรายื่นแล้วยื่นอีก เสนอเงื่อนไขไปหลายอย่างเขาก็ไม่ให้เราเลย ขอติด EM อยู่บ้าน 24 ชั่วโมง เขาก็ไม่ให้” เก่งเล่าถึงความรู้สึกในตอนนั้น

แล้ววันที่รอคอยก็มาถึง เช้าวันที่ 17 ก.พ. 2566 “ผมตื่นเช้าเป็นปกติอยู่แล้ว มีประกาศรายชื่อออกศาล มารู้อีกทีว่าไปติด EM แล้วกลับบ้าน ผมก็งงๆ ปนตกใจด้วย เพราะมันนานจนเราลืมไปแล้วจนเริ่มหมดหวัง แต่มันมาแบบไม่ทันได้ตั้งตัว ก็เฮลั่นเลยว่าได้กลับบ้านแล้ว” ความรู้สึกของเก่งในเวลานั้นที่ได้ประกันตัวออกมาหลังจากอยู่ในเรือนจำยาวนานกว่า 8 เดือน 

การได้ประกันตัวในครั้งนี้ นอกจากจะวางเงินเป็นหลักประกันแล้ว ยังต้องติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) และมีเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ

“วันที่ออกมาก็กลับไปนอนบ้านเลย..นอนไม่หลับ มันไม่ชินเลย อย่างเวลาเราอยู่ข้างในเขาจะเปิดไฟตลอด แต่พอเรากลับมาอยู่ที่บ้าน ที่บ้านปิดไฟนอน แต่ผมกลับนอนไม่หลับ ก็ใช้เวลาสักพักกว่าจะชินกับข้างนอก”

‘รถ’ คือความสุขของเก่ง

“ก่อนที่จะเข้าไปในเรือนจำ ผมก็ขับรถรับจ้าง ทำกู้ภัยส่งศพ ตอนนี้ก็ยังขับรถรับจ้างอยู่เหมือนเดิม แต่งานกู้ภัยผมอยากรอให้คดีจบก่อน แล้วกลับไปทำทีเดียว งานขับรถรับจ้างที่ผมทำอยู่ ถ้าขยันหน่อยก็ได้วันละเป็นพัน พันกว่าบาทเลย แต่ว่าช่วงนี้ฝนตกก็ทำให้เรามีรายได้น้อยลง แต่ก็ยังพอใช้กินใช้จ่ายได้” เก่งเล่าว่าเพื่อนๆ เป็นคนช่วยปลอบประโลมให้เก่งกลับมาทำงาน ซึ่งมันทำให้เขาเริ่มกลับมามีความสุขมากขึ้น

“ส่วนใหญ่ทุกวันนี้ผมอยู่กับรถ พอผมอยู่กับมันแล้วผมมีความสุข ก็เลยเลือกที่จะอยู่กับมัน อย่างพวกงานขับรถ แต่งรถ ความฝันที่ผมอยากเปิดร้านซ่อม-แต่งรถมอเตอร์ไซค์ ตอนนี้ผมยังไม่ได้ทำมันจริงจัง แต่ว่าก็มีร้านเพื่อนๆ ที่รู้จักกันที่ทำกันอยู่ พอลูกค้าไม่มีก็มาทำรถรื้อรถกันเอง แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว” 

เก่งเล่าว่าหลายอย่างในชีวิตเคยหลุดหายไปจากตัวเขา จากนั้นเขาก็เริ่มมาสนใจดูแลรถคู่ใจที่มันไม่เคยหลุดหายไปเหมือนสิ่งอื่น มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รถกลายมาเป็นความสุขเล็กๆ

เมื่อถามถึงสภาพจิตใจ หลังจากที่ผ่านสถานการณ์การถูกคุมขัง เก่งก็ตอบว่าสภาพจิตใจดีขึ้นมากแล้ว สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ แต่ว่าก็เริ่มกลับมากังวลอยู่บ้าง เพราะใกล้ถึงวันที่จะตัดสินคดีแล้ว 

“ผมเลิกกินยาไปนานแล้ว ตั้งแต่ออกจากเรือนจำมาเดือนนึง ที่จริงหมอสั่งให้หยุดตั้งแต่อยู่ในเรือนจำแล้ว แต่ผมเลือกกินต่อ เพราะว่ายังไม่ชินกับข้างนอก พอดีขึ้น ก็หยุดกินยา..สภาพจิตใจตอนนี้ผมก็ดีขึ้นแล้ว แต่พอมันใกล้ตัดสินคดีก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่.. ผมทำใจไว้แล้วครึ่งนึงว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เราไม่หนีอยู่แล้ว ก็ยอมรับมันไป”

“ถ้าพวกเขาเห็นหัวประชาชนบ้างมันจะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ แต่เขาไม่ได้สนใจประชาชนเลย”

เก่งเริ่มหันมาสนใจการเมืองจากผลกระทบโควิดที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเขา “พอมันมีโควิดมา ผมเป็นห่วงหลานผมเพราะโรงเรียนมันปิด ถ้ามันเป็นแบบนี้หลานผมไม่ได้เรียนแน่ โตมาก็จะไม่มีอนาคต จากนั้นผมเลยเลือกออกมาเรียกร้องจริงจัง”

“อีกอย่างนึง ช่วงที่มีโควิดผมทำงานจนแทบไม่ได้นอน บางวันที่ทำงานก็โทรมาตีสองตีสามให้ไปเผาศพโควิด บางทีมันมีเยอะก็ต้องวางไว้แล้วเผาทีละโลง ต่อโลงก็ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ก็ต้องนั่งอยู่แบบนั้น ศพนี้เสร็จก็เอาศพนั้นมาเผาต่อ เผาจนเตาเมรุพังไปเตานึง จนต้องซ่อมใหม่”

“บางคนตกงาน บางคนก็ไม่มีบ้านต้องอาศัยข้างทางนอน ไม่มีใครอยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ถ้าพวกเขาเห็นหัวประชาชนบ้าง มันจะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ แต่เขาไม่ได้สนใจประชาชนเลย”

“ช่วงแรกผมก็ดูไลฟ์สดอย่างเดียว ไม่ได้สนใจอะไรเป็นพิเศษ แต่พอเริ่มเห็นมันเกิดความรุนแรง ผมก็ทนไม่ไหว เลยชวนเพื่อนๆ ออกไปม็อบด้วยกัน ตอนม็อบดินแดงผมก็ไปนะ คือเราจะไปถึงจุดหมายให้ได้ อย่างเช่นจุดหมายของพวกผมคือบ้านนายกฯ แต่ผมรู้ว่าไปยังไงก็ไปไม่ถึงหรอก แต่ว่าผมก็ยังเชื่อว่าซักวันนึงมันก็ต้องถึงได้”

“ผมอยากเห็นทุกอย่างมันดีขึ้น ผมไม่อยากเจออะไรลำบากๆ แบบนี้ อยากให้ค้าขายดีขึ้น อยากให้เด็กมีอนาคตที่ดี เรียนโรงเรียนดีๆ โตมามีงานมารองรับ”

หลายคนพูดกันว่าม็อบดินแดงคือความรุนแรง ?

“ผมคิดว่าให้ย้อนกลับไปช่วงแรกๆ เราขอสันติเขา แต่เขากลับรุนแรงกับพวกเราก่อน แล้วก็รุนแรงมาเรื่อยๆ จนมันมีม็อบดินแดง อยากให้มองว่าทำไมตำรวจถึงกลัวทะลุแก๊ซ คือถ้าเป็นม็อบปราศรัยทั่วไป เขามาสลายการชุมนุมคนก็จะหนีกัน ไม่ได้มีใครวิ่งเข้าไปปะทะกับ คฝ. แต่ถ้าเป็นม็อบดินแดงคนกล้าวิ่งเข้าใส่ตำรวจ เข้าหาตำรวจ มันทำให้เห็นว่าตำรวจกลัวเด็กพวกนี้มากกว่า มันเหมือนเป็นสัญชาตญาณครับว่าถ้าเราโดนมา เราไม่ยอม” เก่งตอบคำถามนี้อย่างจริงจัง แต่ก็เต็มไปด้วยความจริงใจ

ชวนอ่านบทความ วิเคราะห์การกลับมาของชุมนุมมวลชนอิสระที่แยกดินแดง

“ผมมาแสดงความบริสุทธิ์ใจแล้วว่าผมไม่ใช่คนทำ ถ้ายังจะเอาผมเข้าคุก ก็หมดคำที่จะพูดแล้ว”

วันที่ 30 ส.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีของเก่งและเพื่อนร่วมคดีอีกสามคน และสิ่งนี้คือความคาดหวังของเก่งต่อคำพิพากษาที่จะถึงนี้ “ผมว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เพราะผมมาแสดงความบริสุทธิ์ใจแล้วว่าผมไม่ใช่คนทำ ถ้ายังจะเอาผมเข้าคุก ก็หมดคำที่จะพูดแล้ว ผมไม่มีหมาย ไม่ได้ก่อเหตุ ไม่ได้หนีด้วยซ้ำ”

“ก่อนหน้านี้ผมเรียน กศน. แต่ว่าเข้าเรือนจำไปก่อน ก็เลยเรียนไม่จบ เลยตั้งใจว่าพอจบคดีนี้จะกลับไปเรียนพร้อมกับทำงานไปด้วย อีกอย่างนึง ผมอยากจะสร้างบ้านซักหลังไว้..มันเป็นความฝันของผม” 

เมื่อปีที่แล้ว เก่งถูกพรากอิสรภาพของตัวเองไปเกือบ 1 ปี จนทำให้ต้องเสียโอกาสในการใช้ชีวิต แต่แล้ว ความฝันของเก่งที่จะเรียนต่อตามที่ตั้งใจไว้จะถูกพรากไปอีกหรือไม่ เก่งก็ยังคงหวังแต่ว่าการพิพากษาครั้งนี้จะมีความยุติธรรมอยู่จริง เหมือนวันที่เก่งเลือกเข้าไปแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรม

“สุดท้ายนี้ ผมขอฝากข้อความถึงคนที่ยังอยู่ข้างในเรือนจำว่าคนข้างนอกยังไม่ได้ลืม ยังหาทางช่วยกัน รออีกนิดนึงนะ หวังว่าอีกไม่นานจะได้กลับบ้านทุกคนแน่นอน เพราะผมไม่ทิ้งใครไว้ข้างใน ผมได้กลับบ้านทุกคนก็ต้องได้กลับบ้านเหมือนกัน ผมก็จะสู้จนกว่าทุกอย่างมันจะดีขึ้น ถ้าวันไหนชนะขึ้นมาก็คือสำเร็จแล้ว ก็คือวันนั้นที่ผมหยุด”

เก่ง พลพล

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

3 ผู้ชุมนุมอิสระเข้ามอบตัวคดีถูกกล่าวหาทุบ-เผารถตำรวจ #ม็อบ11มิถุนา65 ก่อนศาลให้ประกันตัวเฉพาะเยาวชน 2 ราย

อย่าลืม 4 พล (เมือง) ดินแดง : “พลพล” เสียงจากในเรือนจำที่ยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

ศาลอาญาให้ประกันตัว “4 ทะลุแก๊ส” หลังถูกขังระหว่างพิจารณาข้ามปี

X